3/29/2556

อย่าฝากความหวังไว้แค่..."โต๊ะเจรจา"

    คำถามแรกที่ผู้แทนฝ่ายความมั่นคงไทยต้องถามในวงพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้อย่างเป็นทางการนัดแรกในวันที่ 28 มี.ค.นี้กับกลุ่มที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ก็คือ เหตุใดความรุนแรงที่กระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอยังคงเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะแม้ฝ่ายความมั่นคงไทยจะอ้างว่า การพบปะหารือจนถึงขั้นลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา จะยังไม่ได้มีการเสนอเงื่อนไขใดๆ ระหว่างกัน แต่ข่าววงในจากคนที่ไปร่วมวงพูดคุยลับๆ อีกครั้งหลังจากนั้น คือในวันที่ 5 มี.ค.ก็ยืนยันชัดเจนว่ามีการ "ร้องขอ" กันเบื้องต้นแล้วว่าให้ช่วยลดการก่อเหตุรุนแรงโดยเฉพาะระเบิดในเขตชุมชนเมืองซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินสูงมาก รวมทั้งลดการกระทำต่อเป้าหมายอ่อนแอ เช่น ผู้หญิง เด็ก และครู

ทว่าตลอดห้วงเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมากลับมีเหตุรุนแรงในเขตเมืองเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ และยังมีเป้าหมายอ่อนแอได้รับผลกระทบด้วย ไล่ตั้งแต่

- 1 มี.ค. คาร์บอมบ์และมอเตอร์ไซค์บอมบ์ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส มีผู้บาดเจ็บ 6 ราย
- 2 มี.ค. คาร์บอมบ์ในเขต อ.เมืองยะลา ทำให้ทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย มีผู้บาดเจ็บอีก 12 ราย
- 21 มี.ค. มอเตอร์ไซค์บอมบ์ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ทำให้เด็ก 9 ขวบเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 10 ราย

ยังไม่นับเหตุระเบิดครั้งรุนแรงในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ทำให้สูญเสียนายตำรวจน้ำดีไปถึง 3 นาย และเหตุการณ์ในลักษณะป่วนเมืองครั้งละหลายจุดอีกหลายครั้ง

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงไทยต้องได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าสถานการณ์ความรุนแรงยังทรงตัวอยู่เช่นนี้เพราะอะไร หรือยังไม่ได้สื่อสารกับระดับปฏิบัติในพื้นที่ หรือมีเหตุผลอื่น หรือทางฝ่ายขบวนการจะสรุปว่าจำนวนเหตุร้ายขนาดนี้ถือว่าลดระดับลงแล้ว ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อนำคำตอบที่ได้มาประเมินผลต่อไป เนื่องจากหลายเสียงจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ติดตามสถานการณ์ภาคใต้อย่างใกล้ชิดยังคงตั้งคำถามว่า กลุ่มบุคคลที่ทางการไทยไปเปิดหน้าเจรจาด้วยนั้นเป็น "ตัวจริง" หรือเปล่า


แม้ความเป็น "ตัวจริง" ในทัศนะของผมจะไม่ได้สลักสำคัญอะไรมากมาย แต่สำหรับในกระบวนการสันติภาพที่ใช้การตั้งโต๊ะเจรจาเป็นเครื่องมือแล้ว ความเป็น "ตัวจริง" มีผลต่อความเชื่อมั่นไม่น้อย โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของสังคมที่เฝ้ามองอยู่ หากความเชื่อมั่นนี้หมดไป ความสำเร็จย่อมหดหายตามไปด้วย

จะว่าไปแล้ว ความเป็น "ตัวจริง" ซึ่งหมายถึงการมีศักยภาพสั่งการกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ได้จริงๆ ในบางมิติอาจมีความสำคัญ เช่น มิติที่กลุ่มต่อต้านรัฐมีเพียงกลุ่มเดียวหรือน้อยกลุ่ม และมีตัวตนชัดเจน มีโครงสร้างการบังคับบัญชาที่รับรู้ได้ ดังเช่น ขบวนการอาเจะห์เสรี หรือ กัม (GAM) ในกรณีอาเจะห์กับอินโดนีเซีย หรือขบวนการปลดปล่อยอิสลามโมโร (เอ็มไอแอลเอฟ) ในกรณีมินดาเนากับรัฐบาลฟิลิปปินส์

แต่หากพิจารณาในอีกบางมิติ ความเป็น "ตัวจริง" หรือ "ตัวปลอม" ก็อาจไม่ใช่สาระอะไรมากนัก โดยเฉพาะหากเราเชื่อในทฤษฎีที่ว่า กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้มีมากมายหลายกลุ่ม
ที่สำคัญ "กลุ่มหลัก" ที่ใช้ความรุนแรงมาตลอด (เชื่อกันว่าเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต) ยังเลือกใช้วิธีจัดโครงสร้างแบบ "องค์กรลับ" ส่งผลให้โครงสร้างองค์กรไม่มีความชัดเจน และเมื่อการต่อสู้มีความยืดเยื้อยาวนาน ย่อมมีโอกาสสูงที่กลุ่มติดอาวุธอาจขยายวงไปมาก คือแตกกลุ่มแตกสาขากันไปตามอุดมการณ์ความเชื่อของแต่ละพวกแต่ละคน ทำให้เกิดภาวะ "ไร้เอกภาพ" อย่างสิ้นเชิง และองค์กรนำ (เดิม) ไม่อาจบังคับบัญชาได้ 100%

หากเราเชื่อว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในสภาพนั้น การเจรจากับใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งย่อมแทบจะไร้ผลในการยุติความรุนแรงในภาพรวม ฉะนั้นการที่เราตั้งความหวังกับกระบวนการพูดคุยเจรจามากๆ สุดท้ายอาจจะผิดหวังก็ได้

ส่วนตัวผมมองว่าทฤษฎีที่หยิบยกมาใกล้เคียงกับสภาพจริงในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากได้ลองให้คนในพื้นที่ช่วยสอบถามกลุ่มติดอาวุธที่ถูกเรียกว่า "อาร์เคเค" หลายครั้ง หลายคน ได้คำตอบใกล้เคียงกันว่าไม่รู้จักเลยว่ารัฐไทยไปเจรจากับใคร และไม่ได้รับสัญญาณไม่ว่าจากทางใดให้ลดระดับการก่อเหตุรุนแรงลง

ด้วยเหตุนี้ผมจึงคิดว่าทางที่ดีและรอบคอบที่สุด คือเราควรใช้กระบวนการพูดคุยเจรจาเป็นเพียง "กลไก" หรือเครื่องมือหนึ่งในหลายๆ เครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ทุ่มเทความหวังไปที่การพูดคุยเจรจาเสมือนหนึ่งว่าเป็นคำตอบเดียวของปัญหาชายแดนใต้ แล้วลืมการแก้ไขปัญหาพื้นฐานต่างๆ ที่เป็น "เงื่อนไข" ของความขัดแย้งและยังปรากฏอยู่อย่างดาษดื่น

เพราะท่ามกลางปัญหาที่มีมิติซับซ้อนสูงและมีกลุ่มที่เห็นต่างกับรัฐค่อนข้างหลากหลายเช่นนี้ หัวใจของการแก้ปัญหาย่อมหนีไม่พ้นการลดทอน "เงื่อนไข" ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกใช้ความรุนแรงให้ลดลงเรื่อยๆ นั่นก็คือการมียุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติที่หลากหลาย แล้วขับเคลื่อนงานไปพร้อมๆ กัน

หลายเรื่องผมไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องรอการพูดคุยสันติภาพแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องที่คนทำงานภาคใต้ก็ทราบๆ กันดีอยู่แล้วว่าควรทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นธรรมทางคดี การลดการใช้กฎหมายพิเศษ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ไม่เลือกพุทธ-มุสลิม ไม่เลือกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชน การคลี่คลายคดีคาใจต่างๆ รวมไปถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (ที่เป็นการปกครองท้องถิ่นจริงๆ) ก็สามารถเดินหน้าไปได้เลย หากเป็นความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง

เท่าที่ผมเคยร่วมเวทีพูดคุยวงปิดกับประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ พบว่าสิ่งที่ประชาชนอยากได้มากๆ ไม่ใช่ "เขตปกครองพิเศษ" ในความหมายของการปกครองตนเอง หรือในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ แต่เป็นการเพิ่มช่องทางให้ "คนดีๆ" ได้เข้าสู่ระบบตัวแทนเพื่อเข้าไปเป็นผู้บริหารในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ เช่น เพิ่มคุณสมบัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งระดับต่างๆ โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต.ต้องจบปริญญาตรี เพื่อแก้ปัญหาการใช้ระบบเครือญาติผูกขาดเก้าอี้ และมีกลไกลดความขัดแย้งในการเลือกตั้ง อาทิ ใช้ระบบประชาคมที่อิงกับหลักการทางศาสนา หรือการมี "สภาซูรอ" คอยคัดกรองผู้สมัคร เป็นต้น

เรื่องเหล่านี้ผมว่าไม่เห็นต้องรอ นายฮัสซัน ตอยิบ หรือแกนนำบีอาร์เอ็นคนไหนมาเรียกร้อง เพราะสามารถทำได้ทันที และยังเป็นการแสดงความจริงใจด้วยว่ารัฐต้องการให้เกิดสันติสุขอย่างแท้จริงโดยมี "ประชาชน" เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ถูกครหาว่ามี "ผลประโยชน์ทางการเมือง" เป็นตัวตั้งดังที่เป็นอยู่!

ที่มา http://m.southdeepoutlook.com/news_content.php?id=10000361





3/13/2556

ถอยคนละก้าว ให้ที่ยืนแก่กัน ร่วมสร้างสันติสุขในบ้านเรา


           
       เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ทั้งคณะได้ไปประชุมที่ ศอ.บต. ยะลา โดยเชิญทหารตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ค่ายนาวิกโยธินถูกโจมตีที่บาเจาะ นราธิวาสเมื่อ 13 ก.พ. 2556 มาเล่าข้อมูลและแลกเปลี่ยนซักถามกัน  ผู้การฯ นาวิกโยธินเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า มักถูกนักข่าวถามว่าไล่ล่าพวกโจรไปถึงไหนแล้ว  ตอบว่าตนไม่ได้คิดจะทำอย่างนั้นเลย เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่โจร เขาเป็นเพียงพี่น้องที่เห็นต่างและเคยมีประสบการณ์ถูกกระทำจากรัฐมาก่อน  แทนที่จะไล่ล่าตนกลับจะต้องรีบรุดไปหาญาติพี่น้องของเขาเหล่านั้นแทน เพื่อแสดงความเสียใจและเห็นอกเห็น
          อันที่จริงการสู้รบทั้งสองฝ่าย ต่างผลัดกันได้เปรียบเสียเปรียบกันมาโดยตลอด ความสูญเสียทุกครั้ง ไม่ว่าของฝ่ายใดล้วนเป็นเรื่องที่น่าเศร้าโศกเสียใจทั้งสิ้น เพราะทุกคนคือพี่น้องคนไทย ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ ไม่ควรที่เราจะมายินดีหรือยินร้ายกับใคร ไม่ควรสะใจหรือโกรธแค้นเหมือนคนเชียร์มวย  แต่เราควรต้องช่วยกันภาวนาให้ทั้งสองฝ่ายหยุดสู้รบกัน โดยส่งเสียงดังๆ ว่าขอสันติภาพกลับคืน
    
          วันนี้ผมมีข้อเสนอรูปธรรมการถอยคนละก้าวและให้ที่ยืนแก่กันและกัน  เป็นเสียงเพรียกเพื่อสันติภาพจากภาคประชาสังคมครับ

1. สร้างเงื่อนไขการหยุดยิง สร้างบรรยากาศสันติภาพ (Peace Building)
          การหยุดใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน การเกิดความรู้สึกที่ปลอดภัย การสามารถใช้วิถีชีวิตที่เป็นปกติสุขได้ เหล่านี้คือรูปธรรมของสันติภาพ ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพังหรือการใช้กำลังที่เหนือกว่าไปบังคับอีกฝ่าย จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างบรรยากาศสันติภาพ ดังนี้
          1) รัฐบาล ต้องประกาศเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ในการสร้างสันติภาพ พร้อมทั้งแสดงความจริงใจด้วยการนำ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ มาใช้แทน พ.ร.ก.การบริหารราชการในภาวะฉุกเฉินฯ แบบเต็มทั้งพื้นที่ โดยทันที  นี่เป็นงานการเมืองและงานนโยบายเชิงรุกที่น่าจะเหมาะสมที่สุดสำหรับสถานการณ์ขณะนี้ นักการเมืองไม่ควรไปแย่งฝ่ายปฏิบัติทำในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ ไม่ควรกลัวว่าใครจะมาแย่งซีน ไม่ฉวยโอกาสหาเสียงกันแบบมักง่าย ความมั่นคงไม่ใช่เรื่องเล่น จะต้องทำให้เรื่องนี้พ้นจากความเป็นขั้วเป็นฝ่ายทางการเมืองเสียที
          2) ฝ่ายขบวนการ  (BRN Coordinate, RKK, Juwae) ต้องหยุดระเบิด หยุดเข่นฆ่าทำร้ายผู้บริสุทธิ์ที่ไร้ทางสู้ โดยทันทีเช่นกัน เพราะการปฏิบัติการณ์เช่นนั้นรังแต่จะเสียการเมือง ทำลายความชอบธรรมในการต่อสู้  พื้นที่สำหรับยืนในระยะยาวจะยิ่งหดแคบ ความกลัวของสาธารณชนในท้องถิ่นเมื่อถึงขีดสุด จะเปลี่ยนเป็นความเกลียดและกล้าที่จะเป็นปฏิปักษ์
          3) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการเมืองของฝ่ายรัฐ ต้องเดินหน้ากระบวนการพูดคุยและเจรจาสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างในระดับผู้ตัดสินใจอย่างหวังผลสัมฤทธิ์ ต้องใช้การข่าวและหลักวิชาชีพที่เป็นจุดแข็งของสถาบันและความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองมาใช้เป็นเครื่องมือจนเสียการ
          4) กอ.รมน. ในฐานะหน่วยงานหลักด้านปฏิบัติการด้านการทหาร ต้องเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายและรักษาความสงบปลอดภัยของบ้านเมือง ต้องใช้มาตรการการเมืองนำการทหารอย่างเข้มข้นและเตรียมการรองรับการคืนสู่เหย้าเข้าร่วมพัฒนาชายแดนใต้ของพี่น้องผู้เห็นต่าง
          5)ศอ.บต.ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนา ต้องเดินหน้าการเยียวยาเชิงสมานฉันท์ในเชิงรุกและสนับสนุนการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่ สร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ โดยทุกกิจกรรมทุกขั้นตอนต้องสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในเชิงคุณภาพอย่างจริงจัง
          6) ภาคประชาสังคม ในฐานะเป็นพลังที่เป็นกลาง ต้องทำหน้าที่กำกับ สนับสนุนและตรวจสอบทุกฝ่าย รวมทั้งร่วมสร้างบรรยากาศสันติภาพอย่างจริงจัง ในทุกรูปแบบ

2. เสริมสร้างบทบาทและพลังชุมชนในงานพัฒนา (People Empowerment)
          การพัฒนาที่ถูกทิศทางและมีความสมดุล สามารถป้องกันปัญหาความขัดแย้งได้ จึงนำมาซึ่งสันติภาพและสันติสุข ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การพัฒนาที่ยั่งยืนคือการพัฒนาที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลักและประชาชนมีบทบาทสำคัญ  จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนภาคประชาชนในงานพัฒนา ดังนี้
          1) รัฐบาล ควรจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อเป็นกลไกการทำงานเสริมให้กับ ศอ.บต.ในการสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนชายแดนใต้ ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณและกำกับดูแลให้เป็นองค์กรเสริมสร้างพลังชุมชนท้องถิ่นที่ปลอดจากการเมืองและมีความเป็นมืออาชีพในด้านงานพัฒนาอย่างแท้จริง
          2) ภาคประชาสังคม ควรก่อตั้งกลไกและพัฒนาระบบมูลนิธิกองทุนชุมชน (community foundation) เพื่อระดมการบริจาคสาธารณะและจัดการทุนสนับสนุนแก่กลุ่มและองค์กรอาสาสมัครที่หลากหลายในพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาชายแดนใต้เคียงคู่กับภาครัฐด้วยระบบการพึ่งตนเอง

3. ส่งเสริมการกระจายอำนาจเพื่อการจัดการตนเอง (Decentralization)
          การพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากเป็นการเปิดพื้นที่สันติให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความเห็นต่างได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมั่นใจแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนในระดับฐานรากได้มีโอกาสเปิดโลกทัศน์รับข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ  ถึงแม้นว่าการหาข้อยุติในรูปแบบการเมืองการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับท้องถิ่นชายแดนใต้ยังคงต้องใช้ระยะเวลา แต่การเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีเช่นนี้ก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ทุกฝ่ายสนับสนุน ดังนี้
          1) สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีเวทีวิชาการเพื่อพัฒนารูปแบบทางเลือกการกระจายอำนาจที่หลากหลาย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่องต่อไป
          2) สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ควรจัดทำสรุปประเด็นสำคัญความต้องการของภาคประชาชนด้านการกระจายอำนาจที่ได้จากการจัด 200 เวที เสนอต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนกิจกรรมการเสนอกฎหมายกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นชายแดนใต้สามารถจัดการตนเองได้มากขึ้น  ทั้งนี้ให้เป็นไปตามขั้นตอนและกติกาของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด

ที่มา  พลเดช  ปิ่นประทีป 
หมายเหตุ: เขียนให้โพสต์ทูเดย์ 6 มีนาคม 2556