1/31/2557

10 ปีกับวิถีคนแดนใต้ บทวิจัยเปื้อนอคติ เปลวเทียนในพายุ

  

 นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่เป็นเสมือนระฆังส่งสัญญาณเริ่มการปะทุของไฟใต้ระลอกใหม่ส่งเสียงขึ้นด้วยเหตุการณ์ปล้นปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ซึ่งผู้ก่อเหตุรุนแรงนับร้อยคนบุกเข้าไปในค่ายทหารแล้วลงมือสังหารเจ้าหน้าที่เสียชีวิตไป 4 นาย พร้อมนำอาวุธปืนจำนวนมากไปด้วยนั้น ฝันร้ายของพี่น้องประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ก็เริ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน 

          เวลาผ่านไป 10 ปี กับหลายร้อยพันเหตุร้ายที่เกิดขึ้น พร้อมกับชีวิตทั้งของเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ปลิดปลิวไป เป็นไปตามสัจธรรมที่ว่าภายใต้ภาวะการรบพุ่งที่ต่างฝ่ายต่างใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกันย่อมมีการสูญเสีย เปรียบเสมือนการสาดน้ำเข้าหากันย่อมต้องเปียกปอนกันไปทั้งสองฝ่าย แต่ชีวิตของประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องย่อมไม่สมควรที่จะต้องได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งประเด็นนี้คงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยมโนธรรมของคู่ขัดแย้งเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีหรือไม่
          การวิพากษ์ถึงทางออกรวมถึงรากเหง้าของปัญหาถูกถ่ายทอดออกมาเป็นบทวิเคราะห์จากนักวิชาการผู้ทรงภูมิ การระดมสมองหาทางออกด้วยการกำหนด Road Map มากมายนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งผลงานการวิจัยจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงอีกจำนวนมากเพื่อหาบทสรุปในการแก้ปัญหาที่ลงตัว  แต่สุดท้ายก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ด้วยเหตุผลสำคัญที่มองเห็นได้ง่ายที่สุดคือ บรรดาผู้รู้เหล่านั้นไม่ได้ลงมาสัมผัสกับวิถีชีวิตภายใต้ภาวะความขัดแย้งอย่างแท้จริง มีการใช้ความรู้สึกหรือทัศนคติของตนเองเข้าสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์   ผลที่ออกมาจึงมีความคลาดเคลื่อนตั้งแต่เล็กน้อยไปถึงมากและมากขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือในท้ายที่สุด ซึ่งสำหรับผลงานทางวิชาการที่มีกระบวนการหาคำตอบอย่างมีหลักการแล้วนับว่าน่าเสียดายแรงกายแรงใจที่ตั้งใจจะใช้ความรู้ความสามารถมาเพื่อช่วยแก้ปัญหา แต่กลับกลายเป็นมาสร้างปัญหาไปซะได้
          ผมมีโอกาสได้อ่านงานวิจัยของท่านผู้รู้ท่านจากมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย และนำเสนอในเว็บไซต์ต่างๆ เป็นเรื่องราวที่ท่านผู้วิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนโดยมีพื้นฐานข้อมูลเดิมคือ ความแยกขาดจากวิถีชุมชนและการใช้ชีวิตที่ผูกติดกับศาสนาและวัฒนธรรมของคนที่นี่ ภาพของการก่อการร้ายและความรุนแรงในพื้นที่พร้อมๆ กับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจที่ลงมาปฏิบัติงานจำนวนมากมายซึ่งเป็นเพียงข้อมูลอันน้อยนิดที่ท่านผู้วิจัยมี ประกอบกับท่านเป็นหญิงมุสลิมซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่สามจังหวัดที่ได้รับรู้เพียงเถ้าธุลีของควันระเบิดจากสื่อต่างๆ เท่านั้น ผลงานวิจัยจึงออกมาในเชิงสะท้อนเพียงภาพความขัดแย้งและติดกับอยู่เพียงภาพลบที่ได้จากการเก็บข้อมูลเพียงไม่กี่วัน
          นี่จึงเป็นการ “ติดกับดักทางความคิดแบบคู่ตรงข้าม” อย่างแท้จริง

 คุยกับทหาร 2 นายตีค่าทหาร 20,000 นาย
          ตามแนวทางของงานวิจัยแล้ว การได้พูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูลที่มีคุณค่าเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการเชิงตรรกมีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างแน่ชัด แต่การเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างจากหน่วยสันติพัฒนาเพียงสองนายซึ่งกล่าวถึงการอบรมก่อนลงมาประจำการในภาคใต้ว่ามีระยะเวลาเพียงสองวัน  แล้วนำมาสรุปว่าเป็นสาเหตุสำคัญของความไม่เข้าใจในวิถีชุมชน ศาสนาและวัฒนธรรม
คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด จริงอยู่ว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนนอกพื้นที่ได้เข้าใจทุกเรื่องราวด้วยเวลาอันสั้น แต่การเรียนรู้จากการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงที่เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันต่างหากที่มีคุณค่า และได้ผลมากกว่าการเรียนรู้จากการอบรม และแน่นอนที่สุดคือ ทหารสองท่านนั้นน่าจะอยู่ในพื้นที่นานกว่าท่านผู้วิจัยอย่างแน่นอน
การด่วนสรุปว่าไม่มีความเข้าใจนี้จึงอาจหมายรวมถึงตัวผู้วิจัยเองด้วย  และการได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้องนั้นสมควรที่จะต้องใช้จำนวนของกลุ่มตัวอย่างอย่างเพียงพอแล้วจึงมาประมวลผลรวมในเชิงสถิติ นั่นจะเป็นการรวบรวมที่ได้ผลใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด การชิงฟันธงว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจถึงวิถีชุมชนจึงเป็นการตีความที่ไร้หลักการโดยสิ้นเชิง 

บทสรุปความขัดแย้งในมโนสำนึก
          การนำเสนอภาพความขัดแย้งในลักษณะ “พวกเขา” และ “พวกเรา” ในที่นี้หมายถึงสองกรณี คือ ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ และ คนไทยพุทธกับคนมุสลิม บ่งชี้ให้เห็นถึงภาพในจิตใจของผู้วิจัยที่มองเห็นเพียงภาพความแปลกแยกแตกต่างในมโนสำนึกตั้งแต่เริ่มแรก ทำให้บทสรุปของความรักความสามัคคีระหว่างคนที่มีความเชื่อถือศรัทธาแตกต่างแต่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้มาช้านานต้องเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งบทสรุปที่บิดเบี้ยวนี้เมื่อถูกสื่อผ่านสื่อมวลชนย่อมส่งผลให้ผู้ที่ไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงจินตนาการเห็นภาพความขัดแย้งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงหรือมีเพียงส่วนน้อยให้เป็นไปตามเจตนาที่ผู้วิจัยได้ตั้งธงไว้ก่อนแล้วล่วงหน้า ส่วนผสมระหว่าง “อคติ” กับ “ความเป็นจริง” จึงไม่สามารถเขย่ารวมกันได้อย่างกลมกลืน เนื่องจากอคติที่มาบดบังหลักวิชา

          ถึงวันนี้ภาพการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าอกเข้าใจของคนสองศาสนาบนพื้นฐานของความพยายามเข้าใจซึ่งกันและกันยังมีให้เห็นอยู่มากมาย การร่วมกิจกรรมของเพื่อนบ้านต่างศาสนายังมีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ น่าเสียดายที่ท่านผู้วิจัยมิได้หยิบยกมานำเสนอในลักษณะรักษาสมดุลอย่างมีจิตเป็นกลาง

การสนับสนุนการศึกษาทางศาสนาที่ถูกมองข้าม
          ข้อสังเกตุความคลาดเคลื่อนที่มิใช่ความจริงทั้งหมดอีกประการที่ถูกหยิบยกมานำเสนอเพียงด้านเดียวคือ การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ การกล่าวอ้างคำบอกเล่าของชาวบ้านซึ่งเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นที่พัก  และโรงเรียนด้วยเหตุสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบทำให้ฝ่ายชาวบ้านไม่พอใจ  จริงอยู่ว่าจากการปฏิบัติ หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาไม่พบสิ่งต้องห้ามในสถานศึกษาที่เข้าตรวจค้น ซึ่งทราบว่าทุกครั้งได้มีการชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อความเข้าใจร่วมกัน และเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผลกระทบทางจิตใจของผู้บริหารสถานศึกษาย่อมมีอยู่ในใจ แต่หากมองด้วยใจเป็นธรรมคงไม่มีใครต้องการที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพื่อสร้างผลกระทบต่อการเรียนของลูกหลานหากไม่มีสิ่งชี้นำที่พาดพิงไปถึง และหลายครั้งเช่นเดียวกันที่การตรวจค้นพบทั้งตัวผู้ต้องหาที่มีหมาย  ป วิอาญา ระเบิด อุปกรณ์ประกอบระเบิด หรือแม้กระทั่งอาวุธปืนสงครามมากมาย จนถึงขนาดมีคำสั่งปิดโรงเรียนไปหลายแห่งนี่เป็นความจริงอีกเรื่องที่อยากจะสื่อให้สังคมทราบ
          ความจริงอีกประการที่อยากจะเสริมเพิ่มเติมให้กับงานวิจัยดังกล่าวคือ การสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนมุสลิมในสามจังหวัดแห่งนี้ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนเป็นจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นบาทต่อคนต่อปี ซึ่งการสนับสนุนเช่นนี้ไม่มีในโรงเรียนของรัฐทั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศ นี่ย่อมแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานโดยรัฐบาล และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การศึกษาทางศาสนาในสามจังหวัดได้รับการพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐานในโรงเรียนขนาดใหญ่
 แต่อีกมุมมองหนึ่งก็ทำให้เกิดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขึ้นอีกมากมายราวดอกเห็ด สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเงินสนับสนุนของรัฐบาลนี่เอง
          เรื่องราวที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ทั้งผลดีและผลเสียจากการสนับสนุนข้างต้นจะยังไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ เป็นแต่เพียงสงสัยว่าเหตุใดเรื่องราวการสนับสนุนดีๆ เช่นนี้ไม่ถูกนำเสนอในผลงานวิจัย
          ผมเคยถามบาบอหลายท่านถึงสภาพความทรุดโทรมของห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ในพื้นที่ว่าเหตุใดจึงไม่ได้รับการปรับปรุงทั้งที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวนมาก คำตอบคือ เป็นความต้องการให้เยาวชนได้เรียนรู้สภาพความเป็นอยู่ตามวิถีที่เรียบง่ายของมุสลิม ซึ่งก็เป็นคำตอบที่ฟังดูมีเหตุผลแต่จะมีเหตุผลอื่นอีกหรือไม่ฝากท่านผู้วิจัยลองลงมาทำวิจัยเรื่องนี้ดูซักครั้ง

ความยุติธรรมกับการก่อการร้าย
          หลายปีที่ผ่านมาการติดตามจับกุมผู้กระทำผิดที่ก่อเหตุในพื้นที่มีเป็นจำนวนมาก ภายหลังการจับกุมสิ่งหนึ่งที่เขาเหล่านั้นเรียกร้องเป็นเสียงเดียวกันคือ “ความยุติธรรม” พร้อมกับการช่วยเหลืออย่างออกนอกหน้าขององค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและสิทธิมนุษยชนซึ่งมักเรียกร้องเฉพาะกรณีผู้กระทำผิดจากการก่อความไม่สงบเท่านั้น ที่ต้องบอกว่าเท่านั้นเพราะไม่มีการเรียกร้องสิทธิให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการกระทำของเขาเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อยนอกจากการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ การกล่าวอ้างเรียกร้องความเป็นธรรมจากการสังหารประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องจึงไม่ใช่การเรียกร้องความยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสเป็นธรรมต่างหากที่พวกเขาต้องเข้าไปสู่กระบวนการตามครรลองของกฎหมาย
          การเรียกร้องหาเอกราชตามท้องถนนและป้ายจราจรวันนี้ยังมีปรากฎให้เห็นโดยทั่วไปพร้อมๆ กับการก่อเหตุร้ายเพื่อกดดันรัฐบาลควบคู่กับการพูดคุยตามแนวทางสันติที่กำลังดำเนินไป แต่สำหรับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงแล้ว เขาจะไปเรียกร้องความยุติธรรมได้กับใคร

วิจัยปี 50 นำมาเสนอปี 56
          จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมทราบว่างานวิจัยดังกล่าวทำไว้ตั้งแต่ปี 50 และมีการนำเสนอผลงานการวิจัยนี้ผ่านสื่อในสมัยนั้นไปแล้ว แต่การนำข้อมูลเดิมซึ่งล้าสมัยมาเผยแพร่ใหม่โดยไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องเวลาที่ล่วงเลยและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของสภาพสังคมจิตวิทยาในพื้นที่จึงอาจสร้างความสับสนต่อผู้อ่านซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สมควร  เว้นแต่ผู้รวบรวมจะมีเจตนาแฝงอื่นๆ

           

          ตลอด 10 ปีที่ผมเฝ้าติดตามความเป็นไปในวิถีชีวิตของคนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ได้เห็นการโหมกระพือสถานการณ์ใต้จนเกินจริงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ต้องการมากมาย ชีวิตและความตายกลายเป็นสิ่งหอมหวลสำหรับบุคคลและกลุ่มบุคคลหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่เข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เสมือนพายุร้ายที่โหมกระหน่ำเข้าใส่เปลวเทียนที่ริบหรี่ใกล้มอดดับ เราจะช่วยกันปกป้องให้ผ่านพ้นไปในวันที่สามารถทำได้ตามบทบาทของแต่ละคน หรือจะเฝ้าดูมันดับลงพร้อมๆ กับชีวิตของคนชายขอบแห่งนี้ พระเจ้าเท่านั้นที่รู้...อามีน

ซอเก๊าะ  นิรนาม

1/28/2557

เมื่อความจริงปรากฎ อูลามะ BRN ชี้เหตุร้ายใน จชต. คือ “ญิฮาด” เสี้ยมสมุนฆ่าได้ไม่เว้นมุสลิม



ยังถกเถียงกันไม่จบว่า ความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทยระหว่างฝ่ายรัฐและขบวนการก่อเหตุรุนแรงที่ถึงขณะนี้อาจเรียกได้ว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่ส่งผลให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก โดยฝ่ายแรกเป็นผู้ปกป้องกับฝ่ายหลังเป็นผู้ก่อเหตุนั้น ในมุมมองของศาสนาเป็นการต่อสู้ตามที่หลักศาสนาอิสลามเรียกว่า “ญิฮาด หรือไม่  

โดยเฉพาะฝ่ายขบวนการได้นำหลักการต่อสู้ในแนวทางของอัลลอฮ์ (สุบหฺฯ) มาบิดเบือนโดยมุ่งหวังใช้ความศรัทธาอันบริสุทธิ์ของบ่าวของพระองค์ ให้แนวร่วมปฏิบัติการที่ติดอาวุธเข้าใจผิดว่ากำลังถูกละเมิดสิทธิ     ในความเป็นมุสลิมของตน และต้องจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้เหมือนที่กำลังเป็นอยู่ในพื้นที่แห่งนี้

ซึ่งจากเอกสารการบิดเบือนศาสนาที่เจ้าหน้าที่ได้จากการตรวจค้นมีส่วนหนึ่งเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดของ     อูลามะของขบวนการต่อการญิฮาดที่ปัตตานี ส่วนใหญ่กล่าวถึงการขับไล่ เข่นฆ่าคนศาสนาอื่นโดยเฉพาะคนไทยพุทธว่าสามารถทำได้โดยชอบธรรม ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่พี่น้องมุสลิมด้วยกันหากมีความพยายามทำลายการต่อสู้ ของพวกเขาก็สามารถฆ่าได้เช่นกัน นี่อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวร่วมปฏิบัติการรุ่นใหม่กระทำการอย่างอุกอาจโดยไม่เลือกหน้า ที่อยากจะยกตัวอย่างให้เห็น เช่น

นายมุคตาร์ กีละ นักการเมืองผู้มีนิสัยโอบอ้อมอารี มีความจริงใจที่จะช่วยเหลือประชาชนโดยการตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคประชาธรรม” ที่เคยมีอุดมการณ์ร่วมกับขบวนการในช่วงหนึ่ง แต่กลับมาต่อสู้ตามแนวทางสันติซึ่งผิดหลักการของขบวนการ จึงถูกสังหารและมีความพยายามโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ แต่โชคดีที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านในที่เกิดเหตุสามารถยิงคนร้ายเสียชีวิต และพบว่าเป็นคนของขบวนการเอง ทำให้ไม่สามารถบิดเบือนกล่าวหาได้สำเร็จ (รายละเอียดเพิ่มเติม http://pulony.blogspot.com/2012/01/blog-post_13.html )  

หรืออีกกรณีที่ยังเป็นที่กล่าวถึงความเลวทรามของขบวนการในหมู่ประชาชนทั่วไปคือ อิหม่ามยะโก๊บ    หร่ายมณี ผู้นำทางจิตวิญญาณของพี่น้องมุสลิมซึ่งมีบทบาทในการเป็นอิหม่ามที่ต่อต้านการบิดเบือนคำสอน     ทางศาสนาและการใช้ความรุนแรงมาโดยตลอด ได้ถูกลอบสังหารพร้อมๆ กับความเชื่อมโยงที่ชี้ชัดว่าเป็นฝีมือของฝ่ายขบวนการ (รายละเอียดเพิ่มเติม http://pulony.blogspot.com/2013/08/blog-post.html )

ฆ่าคนมุสลิมที่เป็นที่รักของประชาชนทั่วไปเพราะขัดแย้งทางความคิดกับกลุ่มของตนโดยกล่าวหาว่าเป็น “มูนาฟิก” จะเรียกได้อย่างไรว่าเป็น “ญิฮาด”

การก่อเหตุร้ายโดยอ้างการญิฮาดข้างต้นจึงขัดกับหลักการต่อสู้ในแนวทางของพระเจ้าโดยสิ้นเชิง เพราะในความเป็นจริงการญิฮาดนั้น ผู้รู้ทางศาสนาอิสลามได้วินิจฉัยแล้วว่าสามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ถูกกดขี่และขับไล่อย่างอยุติธรรม ถูกลิดรอนสิทธิ์ทางศาสนา และจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางจริยธรรมในการทำสงคราม   เพราะฉะนั้นการก่อความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ย่อมไม่ถือว่าเป็นการญิฮาด

และการญิฮาดจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางจริยธรรมในการทำสงคราม คือ การต่อสู้กับบรรดาผู้เป็นศัตรู แต่อย่าเริ่มเป็นศัตรูก่อน...ดังอายะห์อัลกุรอาน ความว่า แท้จริงอัลลอฮ์(สุบหฺฯ)ไม่ทรงรักผู้รุกราน(2:190) นอกจากนั้นต้องไม่ทำลายศพ ไม่ฆ่าเด็ก สตรี คนชรา พลเรือน ผู้บริสุทธิ์และกลุ่มบุคคลที่ทำสัญญาสงบศึก   ไม่ทำลายทรัพย์สิน ไม่ตัดโค่นหรือเผาทำลายต้นไม้ ไม่ฆ่าสัตว์ แต่จะต้องให้ความเมตตาและการเอาใจใส่ เช่น ให้การบริการทางการแพทย์หรือพยาบาลต่อเชลยศึก
แต่ที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกระทำในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ล้วนขัดต่อหลักการข้างต้นทั้งสิ้น 


แม้แต่ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ท่านสะมะแอ   เบ็นอับดุลลาติป ฮารี ผู้นำศาสนาในพื้นที่ยังได้ออกมาให้คำวินิจฉัยว่า เหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้มิใช่การ “ญิฮาด” แต่เป็นความพยายามของผู้ก่อความไม่สงบที่นำหลักการนั้นมาใช้ ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับว่าการต่อสู้ของพวกเขานั้นเป็นการต่อสู้แบบหนึ่งของญีฮาด โดยเฉพาะจากประชาชนผู้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการสอนของศาสนาอิสลาม ตรงกันข้ามกลับสร้างความ       มัวหมองให้แก่ภาพลักษณ์ของศาสนาอิสลามจากการที่พยายามเชื่อมโยง การต่อสู้ของพวกตนเข้ากับศาสนา

ผลจากการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงข้างต้นส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรงทั้งการสูญเสียชีวิตและทำลายสภาพสังคมจิตวิทยา สร้างความหวาดระแวงระหว่างพี่น้องมุสลิมและประชาชนผู้นับถือศาสนาอื่นๆ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนและยากที่ประสานรอยร้าวกลับมาได้ในเวลาอันสั้น หรืออาจไม่สามารถนำสังคมที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในอดีตให้กลับมาได้อีกก็เป็นได้

อย่างทราบกันดีว่าจากยอดผู้เสียชีวิต ( ธ.ค.56 ) สรุปแล้วมีจำนวนถึง 4,884 คน ไม่รวมผู้บาดเจ็บอีกกว่าหมื่นคน ผู้ที่เสียชีวิตมากที่สุดคือชาวมลายูผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งประชาชนทราบดีว่าเกิดจากการกระทำของขบวนการแต่กลับทำไม่รู้ไม่เห็น และมักจะปฏิเสธที่จะพูดถึงการต่อต้านพวกก่อความไม่สงบ อันเนื่องมาจากความกลัวในเรื่องความปลอดภัยของตนเองเพราะถูกข่มขู่จากขบวนการซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญ

จากหลายพันหลายหมื่นเหตุการณ์ที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามนำเสนอภาพบุคคลเหล่านี้ในฐานะนักสู้หรือวีรบุรุษก็ตาม แต่จากประจักษ์พยานหลักฐานที่ชี้ชัดว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุร้าย และหลักการของศาสนาอันดีงามที่ถูกบิดเบือน กำลังสร้างให้เกิดกระแสที่อาจเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของคนมลายูมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรง ที่จะลุกขึ้นมารวมพลังต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรงของพวกเขาต่อไป  การฆ่าฟันกันได้ไม่เว้นแม้แต่คนมุสลิมมลายูด้วยกันพี่น้องมุสลิมเราส่วนใหญ่ไม่มีใครหรอกที่จะเห็นดีด้วย  ใครก็ตามที่เข่นฆ่าประชาชนเหมือนผักปลา อัลเลาะห์จะเป็นผู้ตัดสินลงโทษเอง  อย่าว่าแต่เข้าสวรรค์เลยแม้แต่ประตูนรกก็จะไม่เปิดรับพวกเขา  อีกไม่นานหรอก  อามีน...  


          ซอเก๊าะ    นิรนาม

1/24/2557

ถอดสลัก PerMAS กับการกำหนดใจตนเอง ผิดหลักการ ฝันที่เป็นไปไม่ได้



การขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ความขัดแย้งเช่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในหลายมิติในปัจจุบัน รวมถึงความพยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองของปีกสนับสนุนทางการเมืองอย่างกลุ่ม PerMAS ที่ชี้นำชักจูงให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมให้เชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้    โดยกล่าวอ้างขั้นตอน “การกำหนดใจตนเอง” ผ่านการเสวนาสาธารณะ  โดยใช้เหตุความเป็นชาติพันธ์ ศาสนาที่แตกต่าง เพื่อเชื้อเชิญหรือนำไปสู่การเข้ามาแทรกแซงภายในขององค์กรระหว่างประเทศ ถึงวันนี้แม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องทั้งภายในและนอกประเทศ แต่ผลของกลุ่มคนที่พยายามชักศึกเข้าบ้านเหล่านี้ ถึงวันนี้ไม่เพียงแต่จะหริบหรี่มิหน่ำซ้ำยังมีวี่แววว่าจะดับลง  เพราะในความเป็นจริงนอกจากไม่สามารถทำได้แล้ว ยังถูกบิดเบือนและผิดวิถีข้อตกลงระหว่างประเทศขององค์กรระดับโลกอย่างสหประชาชาติอย่างชัดเจน

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น “ที่นี่มีคำตอบ”

ความพยายามจัดการเสวนา 200 เวทีอย่างที่ทุกท่านทราบโดยการสนับสนุนเงินทุนจากต่างประเทศนั้น  โดยหลักใหญ่ใจความแล้ว กลุ่มคนเหล่านั้นทราบดีว่าไม่มีทางเป็นไปได้ในการกำหนดใจตนเองตามมติสหประชาชาติซึ่งจะกล่าวต่อไป แต่ด้วยผลประโยชน์มหาศาลที่สร้างความอยู่ดีกินดีให้มวลสมาชิกที่อ้างว่าทำเพื่อประชาชนฟาตอนีกำลังทำให้เขาและเธอเหล่านั้นใช้โอกาสในการระดมเงินทุนมหาศาลเพื่อตนเองและพวกพ้องอย่างที่เราเห็นว่า สมาชิกของกลุ่ม PerMAS ทุกคนมีชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย โดยใช้ความทุกข์ยากของพี่น้องเป็นเครื่องแลกเปลี่ยนต่อรอง
ผมมีโอกาสได้ศึกษาผลงานวิจัยของท่านผู้รู้ท่านหนึ่ง  ซึ่งได้ทำผลงานวิจัยเกี่ยวกับมูลเหตุของการเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในพื้นที่ จชต. และความพยายามของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงทั้งในส่วนของกองกำลังติดอาวุธและปีกสนับสนุนด้านการเมืองซึ่งในวันนี้ใช้ชื่อว่า PerMAS  ซึ่งได้กล่าวถึงภาพรวมของความพยายามนำเหตุร้าย (ที่พวกเขาก่อขึ้นเอง) มาเป็นปัจจัยชักจูงให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซงเพื่อนำไปสู่การใช้กลไกของการกำหนดใจตนเองที่สหประชาชาติได้บัญญัติเป็นกฎหมายระหว่างประเทศให้กับประเทศที่เป็นภาคีต้องปฏิบัติ

สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง (right to self-determination)

อาจฟังไม่คุ้นเคยสำหรับผู้ที่ไม่เคยศึกษามาก่อน  แต่เป็นประเด็นหลักที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงโดยเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองสนับสนุนการก่อเหตุซึ่งในที่นี้คือกลุ่ม PerMAS  นำมาใช้สร้างกระแสบิดเบือนด้วยคาดหวังว่าจะใช้กลไกกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาขับเคลื่อน แต่สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง

ตามที่บัญญัติไว้ในกฏหมายระหว่างประเทศ  โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ได้เคยมีคำพิพากษาให้สิทธิประชาชนในพื้นที่ขัดแย้งเช่น ติมอร์ตะวันออกสามารถกำหนดเจตจำนงตนเองได้ แต่ก็เป็นกรณีที่แตกต่างไปจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสิ้นเชิง เนื่องจากติมอร์ตะวันออกเป็นดินแดนอาณานิคมของโปรตุเกสที่ถูกครอบครองโดยอินโดนีเซีย ดังนั้นจึงมีสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะเลือกว่าจะเป็นดินแดนปกครองตนเองภายใต้อินโดนีเซียต่อไป หรือจะแยกตัวเป็นรัฐเอกราช แต่ในขณะที่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดนภายใต้อธิปไตยของไทยตั้งแต่ในอดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ประชาชนในพื้นที่จึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกกำหนดเจตจำนงของตนเองเพื่อแยกออกเป็นรัฐอิสระและประชาคมระหว่างประเทศก็ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงอธิปไตยของไทยได้ 

นอกจากนั้น ไทยยังได้ทำถ้อยแถลงตีความในกฏหมายสิทธิมนุษยชนทุกฉบับที่ไทยได้เป็นภาคีไว้แล้วว่า สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองนั้นไม่ให้ตีความอนุญาตหรือสนับสนุนการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการแบ่งแยกหรือทำลายบูรณภาพแห่งดินแดน หรือเอกภาพทางการเมืองของรัฐเอกราชอธิปไตย ทั้งนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงแต่บางส่วน จึงเป็นการเน้นย้ำให้เห็นชัดเจนว่าการแยกดินแดนตามยุทธศาสตร์ฝ่ายก่อความไม่สงบดังกล่าวไม่สามารถที่จะกระทำได้ตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน

น่าคิดว่า...แล้วคนกลุ่มนี้กำลังทำอะไรอยู่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดหลักการและเป็นไปไม่ได้  ผลประโยชน์หรืออุดมการณ์ ผมว่าผู้อ่านน่าจะคาดเดาได้ครับ

เงื่อนไขชาติพันธ์และศาสนา

ท่านผู้วิจัยได้หยิบยกเหตุผลถึงการใช้กรณีชาติพันธ์และศาสนามานำเสนอได้อย่างน่าฟังว่า ด้วยเงื่อนไขความไม่คำนึงถึงผลกระทบของความแตกต่างที่จะตามมาของเจ้าอาณานิคมที่เคยปกครองดินแดนต่างๆ ทำให้เกิดปัญหากับประชาชนในพื้นที่มากมาย แต่สำหรับพื้นที่ภาคใต้ของไทยมีความพยายามโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทั้งสองฝ่ายคือทหารและการเมือง ที่จะหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขสำคัญโดยอ้างถึงอัตลักษณ์ความแตกต่าง ซ้ำร้ายยังใช้การข่มขู่เข่นฆ่าเพื่อให้ผู้ศรัทธาต่างศาสนาซึ่งในที่นี้คือประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธให้ออกจากพื้นที่

ไม่มีตัวตน ไม่ประกาศความรับผิดชอบ

อีกประการที่แตกต่างกับกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลกโดยสิ้นเชิงคือ การก่อการร้ายโดยทั่วไปมักมีวัตถุประสงค์ที่ประจักษ์ชัด และการประกาศความรับผิดชอบว่าเป็นผู้กระทำ เพื่อสื่อให้คู่ขัดแย้งและประชาคมโลกได้รับรู้ว่าเขาเหล่านั้นต้องการอย่างไร แต่สำหรับพื้นที่ภาคใต้ของไทย ยังไม่เคยมีองค์กรใดๆ ประกาศความรับผิดชอบ ยิ่งกว่านั้นยังโยนความผิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นผู้กระทำ ด้วยเหตุนี้จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ของคู่ขัดแย้งต่อรัฐ ความต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจึงไม่ได้รับความชอบธรรมโดยหลักการ เช่นความขัดแย้งในภูมิภาคอื่นๆ ที่พื้นที่เหล่านี้มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างเปิดเผยเป็นระยะเวลานานและมีความรุนแรงกว่าในขณะที่ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่ปรากฏแม้แต่กลุ่มผู้นำที่รับผิดชอบในการเรียกร้องแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระอย่างเปิดเผย
เป็นอีกมุมมองของผู้วิจัยที่มีความชัดเจน นำเสนอด้วยเหตุและผลที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่จริง

ก่อเหตุหวังผลการทางการเมืองในอนาคต

เรื่องน่าเศร้าอีกประเด็นคือ การก่อเหตุร้ายจนทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากมายทุกวันนี้ เกิดขึ้นเพราะความมักใหญ่ใฝ่สูงของบรรดาแกนนำและแนวร่วม ซึ่งพิจารณาอย่างไรก็ผิดหลักการ การแอบอ้างอุดมการณ์ ใช้หลักศาสนาและความแตกต่างทางอัตลักษณ์มาเป็นเงื่อนไข เพื่อใช้ประชาชนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ ขณะที่ตนเองและพวกพ้องเสวยสุขอย่างหน้าชื่นตาบาน ทำเหมือนกับว่าประชาชนโง่เขลาเบาปัญญาไม่รู้ในสิ่งที่พวกเขากำลังกระทำอยู่

ในบทสรุปของงานวิจัยได้กล่าวถึงความเป็นไปไม่ได้ทั้งมวลของการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวได้ทั้งหมดด้วยพื้นที่ที่มีน้อยนิด แต่ผมอยากสะท้อนให้สังคมเห็นถึงการนำเสนอบนหลักการอย่างเป็นขั้นตอนของท่านผู้วิจัยว่ามีเหตุผลสนับสนุนที่สอดคล้อง อย่างน้อยผมอยากให้ทุกท่านลองศึกษาดูเพื่อให้รู้เท่าทันกับกลุ่มผู้ไม่หวังดีเหล่านี้ เพื่อจะได้ทราบว่าเกมส์ที่เขาเหล่านั้นกำลังเล่นโดยใช้ประชาชนเป็นตัวประกันสุดท้ายผลจะเป็นอย่างไร.... เดาได้ไม่ยากครับ

          ซอเก๊าะ  นิรนาม

1/20/2557

จดหมายเปิดผนึก สมาคมผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้


 เรียน     ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
ความเป็นมาของสมาคม

          ก่อนอื่นขอเรียนให้ท่านทราบว่า สมาคมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงเป็นผลทำให้บุคคลในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นสามี  ภรรยา บุตร หรือญาติพี่น้องในครอบครัวเสียชีวิต หรือทุพลภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เนื่องจากขาดผู้นำครอบครัว ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ และการศึกษาของบุตรแม้ว่าจะได้รับการดูแลเยียวยาจากภาครัฐก็ตาม แต่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเหตุรุนแรงให้เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ได้รวมตัวกันขึ้น เพื่อเรียกร้องให้สันติสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดิม

วัตถุประสงค์ของสมาคม
          ๑. เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับผู้ให้การสนับสนุนเงินทุน และการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ แก่ขบวนการ BRN ทราบว่า  การสนับสนุนดังกล่าว เป็นการสนับสนุนการก่อการร้าย โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำอันเนื่องมาจากการถูกกดขี่ บังคับ และเป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
          ๒. เรียกร้องให้ยุติการสนับสนุนในทุกรูปแบบให้กับผู้ก่อความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติด้วยกำลังของกลุ่มขบวนการ BRN และการสนับสนุนทางด้านดำเนินการทางด้านการเมืองของกลุ่ม PerMAS ซึ่งแอบอ้างอุดมการณ์ แต่แท้จริงแล้วมุ่งแสวงหาความร่ำรวยและความสุข บนความทุกข์ทรมานของผู้อื่น
          ๓. เรียกร้องให้ยุติการสนับสนุนเงินทุน สำหรับการผลิตสื่อ และบทความต่าง ๆ ในสังคมออนไลน์
๔. เรียกร้องให้ทุกฝ่ายแสวงหาทางออกในแนวทางสันติ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม

พฤติกรรมการก่อการร้ายของขบวนการ BRN
๑. นับตั้งแต่ขบวนการ  BRN  ได้ทำการปล้นปืนไปจาก  กองพันพัฒนาที่ ๔  ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราช
นครินทร์ได้ปืนไป จำนวน ๔๑๓ กระบอก เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ หน่วยดังกล่าวมิได้เป็นหน่วยรบ และเป็นหน่วยที่นำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งโครงการพัฒนาต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาพื้นที่ให้มีความเจริญ   BRN ได้นำปืนดังกล่าวไปก่อเหตุรุนแรง จนถึงปี ๒๕๕๖ จากคำชี้แจงของหน่วยงานของรัฐ ฯ ระบุว่า  มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ ดังนี้.-
- ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ครู ผู้นำศาสนา ประชาชน  รวม  ๑๐,๔๕๕  ราย
( นับถือศาสนาอิสลาม ๓,๗๖๑ ราย, นับถือศาสนาพุทธ ๖,๖๙๔ ราย )
- ผู้เสียชีวิต ๕,๘๙๒ ราย ( นับถือศาสนาอิสลาม ๓,๔๖๑ ราย,  นับถือศาสนาพุทธ  ๒,๔๓๑ ราย )
          ๒. การลอบฆ่าผู้นำศาสนา, การฆ่าครู และการลอบเผาโรงเรียน
              - จากเหตุรุนแรงในห้วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ได้มีจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษา  เสียชีวิตจากเหตุรุนแรง จำนวน  ๑๘๗ ราย ผู้นำศาสนา จำนวน  ๓๗ ราย
    - การลอบฆ่าผู้นำศาสนาอิสลาม
                   นับเป็นการก่อเหตุอันรุนแรงที่อยู่นอกเหนือความคาดฝัน เมื่อคนร้ายกลุ่มหนึ่งใช้อาวุธปืนสังหารนายยะโก๊บ หร่ายมณีอิหม่ามมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นห้วงแห่งการถือศีลอด นำมาซึ่งความรู้สึกเศร้าสลดให้แก่คนไทยทั้งประเทศ  โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ส่วนราชการทั้งหลาย เนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นบุคคลอันเป็นที่เคารพรักและนับถือของคนทั่วไปในพื้นที่     นับเป็นการสูญเสียบุคคล ที่มีคุณค่า และสำคัญคนหนึ่งของประเทศ
                
                 - การลอบฆ่าครู และบุคลากรทางการศึกษา มีมากถึง ๑๘๗ ราย ไม่เลือกว่าจะเป็นครูไทยพุทธ-มุสลิมหญิง หรือชาย   บางรายเป็นลักลอบเข้าไปในโรงเรียน     และฆ่าครูต่อหน้านักเรียน   เป็นการกระทำที่เหี้ยมโหด ไร้มนุษยธรรม และเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
          ๓. BRN กระทำการอันสุดโต่ง เป็นการก่อการร้าย ซึ่งทำลายเศรษฐกิจ และความผาสุกของประชาชน   การก่อการร้ายครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๖ ได้เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ บริเวณย่านเศรษฐกิจ อ.สะเดาจังหวัดสงขลา ทำให้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน ๒๔ นาย สำหรับ อ.สะเดา เป็นอำเภอชายแดนของจังหวัดสงขลา  มีเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย เป็นด่านศุลกากรที่สำคัญ ทั้งด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของด่านชายแดนทุกด่านทั่วประเทศ การกระทำดังกล่าวสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำของขบวนการ BRN เนื่องจากสามารถพิสูจน์ได้ว่ารถยนต์ที่ใช้ทำคาร์บอมบ์นั้น ได้นำมาจากการฆ่าประชาชนในพื้นที่ปัตตานีเสียชีวิตอย่างทารุณ ๕ ศพ และปล้นรถยนต์เพื่อนำไปประกอบวัตถุระเบิด

พฤติกรรมการดำเนินการทางด้านการเมืองของกลุ่ม PerMAS
          - เป็นการดำเนินงานรุกทางด้านการเมือง โดยใช้ กลุ่มสมาพันธ์ นิสิต นักศึกษา ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่ม PerMAS จัดเวทีเสวนา “Bicara Patani” เป็นเวทีเสวนาที่ มักตามมาด้วยการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่ม BRN ซึ่งการจัดการเสวนาแต่ละครั้ง  เป็นการชี้นำในเรื่อง เขตปกครองพิเศษ/การแยกตัวเพื่อปกครองตนเอง ซึ่งเป็นการบ่มเพาะความแตกแยก สร้างความเกลียดชัง และหวาดระแวง ให้เกิดแก่ตัวนักศึกษา และประชาชน การจัดเวทีเสวนาในแต่ละครั้งสร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มผู้นำการเสวนา เสมือนการทำธุรกิจโดยไม่ต้องลงทุน เนื่องจากได้รับเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ก่อประโยชน์อันใดเลยแก่ประชาชน และนอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นการเปิดช่องทาง ให้กลุ่มผู้ก่อความรุนแรงแฝงตัวเข้ามาร่วมเสวนา เพื่อพบปะ และวางแผนการก่อเหตุรุนแรง ซึ่งมักปรากฏบ่อยครั้งว่า ภายหลังการเสวนามักจะมีการก่อเหตุรุนแรงติดตามมาเสมอ

ข้อเรียกร้อง เพื่อสันติภาพ
          - ขอให้ทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนการปฏิบัติของขบวนการ BRN และกลุ่ม PerMAS ยุติการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์  การเงิน และที่พักพิง รวมทั้งการสนับสนุนในด้านอื่น ๆ   อันเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรง หรือบ่มเพาะความเกลียดชัง สร้างความแตกแยก ให้เกิดขึ้นในสังคม และประเทศชาติ
         
ขอแสดงความนับถือ
สมาคมผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรง
จังหวัดชายแดนภาคใต้

1/01/2557

ร่างทรง NGOs กับวาทกรรม “เพื่อสันติภาพ” หรือเพื่อ “Patani Merdeka”



         แล้วความพยายามในการขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งที่อ้างตัวว่าทำเพื่อพี่น้องประชาชนโดยมีบทบาทบังหน้าในรูปของความพยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้ชื่อว่า “สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี” (PerMAS) และ “สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา”(Lempar) ก็ปรากฎชัดถึงเจตนาที่แท้จริงในวันที่โต๊ะพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มกบฎเฒ่า BRN ทำท่าจะพังครืน

          การนำเสนอด้วยบทความของนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ว่าด้วยวาทกรรมเพื่อสันติภาพในวงการ NGOs ไทย ที่เผยแพร่ผ่านสื่อซึ่งเป็นกระบอกเสียงของขบวนการมาโดยต่อเนื่องอย่างเว็บไซต์ Deepsouthwatch.org หรือ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้แสดงออกถึงแนวความคิดในการนำไปสู่ความแตกแยกภายในตามที่กล่าว แม้ว่าบทบาทของบุคคลและกลุ่มบุคคลนี้จะเกี่ยวพันกับปีกการก่อเหตุรุนแรงโดย BRN หรือโดยกลุ่มอื่นๆ ที่พยายามเข้ามามีเอี่ยวเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ภายในผ่านความทุกข์ยากของประชาชนก็ตาม แต่เสียงปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงก็ยังปรากฎผ่านสื่อของตนเองและพวกพ้องโดยต่อเนื่อง

          การถูกเปิดโปงความเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับ BRN ของกลุ่มอดีตนักศึกษาที่ผันตัวเองมาเป็น NGOs เพื่อความอยู่ดีกินดีของตนกลุ่มนี้เริ่มเห็นภาพชัดเมื่อสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งได้นำเสนอความเชื่อมโยงกับขบวนการอย่างปฏิเสธได้ยาก การมีสมาชิกในกลุ่ม PerMAS ร่วมอยู่ในกลุ่มก่อเหตุรุนแรงที่พยายามเข้าโจมตีฐานปฏิบัติการของนาวิกโยธินจนถูกวิสามัญตาย 16 ศพที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับคลิ้ปวีดีโอของนักศึกษากลุ่มนี้นำโดยด้วยนาย ซูไฮมี ดูละสะ แกนนำอีกหนึ่งคนที่ถูกนำเสนอในเว็บไซต์ยูทูปที่สมาชิกคนที่เสียชีวิตนี้ได้ปลูกฝังเยาวชนให้เกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐโดยใช้โครงการอบรมจริยธรรมเยาวชนในโรงเรียนปอเนาะและตาดีกาบังหน้า ซึ่งมีเนื้อหาที่นักศึกษาเหล่านี้ไม่กล้าเถียงยังคงปรากฎให้เห็นด้วยการเข้าชมจำนวนไม่น้อย ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เห็นด้วยของประชาชนส่วนใหญ่ไม่เว้นแม้แต่พี่น้องมสุลิมที่รู้ผิดรู้ชอบ (ดูรายละเอียดตามลิ้ง) http://www.youtube.com/watch?v=Izw4H6-CILk

         สุดท้ายก็จบลงด้วยกฎหมู่โดยการประท้วงและขู่จะปิดสำนักข่าวที่นำเสนอ โดยไม่ได้ชี้แจงเรื่องที่กลุ่มของตนเข้าไปเกี่ยวพันกับโจรแต่อย่างใด 

         อย่างไรก็ดีการเปิดโปงครั้งนั้นได้ช่วยให้สังคมได้รับทราบพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้มากขึ้น แต่ถามว่าพวกเขาได้สำเหนียกตนเองในการบ่อนทำลายสังคมหรือยัง แน่นอนว่า “ยัง”

         ความพยายามในการใช้วันที่ 4 ม.ค.57 ซึ่งเป็นวันสัญลักษณ์ของการเริ่มไฟใต้ระลอกใหม่ได้แก่การปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 และเป็นวิธีการเดียวกับขบวนการก่อเหตุรุนแรงที่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อปลุกเร้ามวลชน ซึ่งมีการปฏิบัติควบคู่กับกลุ่ม BRN อย่างสอดประสานและแสดงออกถึงความเป็นพวกพ้อง 

         การใช้สื่อนำเสนอความคิดเห็นเป็นเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งผิด แต่การให้ข้อมูลที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่ต้องกระทำด้วย

         วาทกรรม “เพื่อสันติภาพ” ในวงการ NGOไทย” ที่กล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยโดยแกนนำกลุ่ม จึงมิใช่เป็นของ NGOS ทั้งหมด แต่เป็นเพียงของกลุ่มคนที่มีเจตนาไม่หวังดี ใช้คำว่าสันติภาพ เพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน โดยใช้คำสวยหูรว่าการกำหนดใจตนเอง ซึ่งได้มีการเตรียมการโดยให้ข่าวสารที่คลาดเคลื่อนกับประชาชนผ่านเวทีเสวนาสาธารณะมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งมีเฉพาะพี่น้องมุสลิม พร้อมด้วยการสอดแทรกความเชื่อถือศรัทธาทางศาสนาเพื่อแบ่งกลุ่มแบ่งพวก แล้วก็บอกกับสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการป่าวประกาศให้ประเทศมุสลิมที่ไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงเชื่อตามในคำพูดของตน 

          แล้วคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนที่นักศึกษาเหล่านี้จะเกิด ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยและถูกบีบบังคับให้อพยพออกนอกพื้นที่ด้วยการข่มขู่และฆ่ารายวัยโดยไม่มีสิทธิโต้เถียงล่ะ เขาเหล่านั้นได้ถูกสอบถามถึงความต้องการกำหนดใจตนเองหรือยัง การกล่าวอ้างนี้จึงเป็นเพียงการพูดเอาแต่ได้

         “ผลประโยชน์” กับ “เสรีภาพ” ของประชาชนในพื้นที่นี้จึงยังคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถนำมากล่าวรวมกันได้ในวันที่ความเดือดร้อนของประชาชนจากการก่อกรรมทำเข็ญของขบวนการยังมีอยู่ แต่หากวันใดที่ขบวนการหยุดสร้างความเดือดร้อน หยุดฆ่าประชาชน หยุดเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทั้งจากธุรกิจผิดฎหมาย และการต้องการเป็นใหญ่ในอนาคตเพื่อกระทำในสิ่งที่อ้างว่าทำตามความต้องการของประชาชนได้ การเคลื่อนไหวเพื่อกำหนดใจตนเองก็น่าจะนำกลับมาใช้ได้ แต่จากที่เห็น..ความเลวร้ายทั้งปวงยังเกิดขึ้นโดยขบวนการ พร้อมๆ กับการไม่เคยออกมาประกาศความรับผิดชอบ แถมยังโยนบาปให้คนอื่นอีก อย่างนี้ใครจะไปเชื่อด้วยความจริงใจ..นอกเหนือจากกระบอกปืนที่คอยจี้ประชาชนไว้เพื่อให้เชื่อด้วยความกลัว กับการบิดเบือนอย่างน่าละอายทั้งๆ ที่รู้ 

           แล้วคำว่าสันติภาพที่แท้จริงมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อคนกลุ่มนี้ต้องการมากกว่าสันติภาพอย่างที่ทุกฝ่ายรู้ แต่มันจะเกิดขึ้นได้ในยุคที่ประชาชนเลือกรับข่าวสารที่แท้จริงจากหลายๆ ทางได้มากกว่าการปลิ้นปล้อนมดเท็จ ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้โง่อย่างที่คิดหรอกนะ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว


บูเก๊ะ บือซา