12/21/2560

PerMAS ต้องการอะไร? ในการเคลื่อนไหว

"แบดิง โกตาบารู"


เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.60 ณ อาคารสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ม.อ.ปัตตานี สหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี (PerMAS) จัดกิจกรรม "มหกรรมนิทรรศการเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล" เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งมีการอภิปรายและเสวนาบนเวที และได้มีการถ่ายทอดสดผ่านทาง facebook Live โดยเพจสื่อแนวร่วม อีกทั้ง PerMAS ยังได้ออกแถลงการณ์ ขอให้ประชาชนจับตาสถานการณ์ด้านสิทธิฯ ในปาเลสไตน์ เฝ้าระวังและร่วมขับเคลื่อนเพื่อสิ่งแวดล้อมกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ย้ำการแสวงหาทางออกความขัดแย้งในพื้นที่ คู่สงครามต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

ส่วนการเสวนาบนเวทีภายใต้หัวข้อ Respect-Right-Dignity of PATANI อาจารย์ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในผู้อภิปรายได้กล่าวว่า PerMAS คือองค์กรทางการเมือง ไม่ใช่แนวร่วมขบวนการ เป็นองค์กรทางเลือกที่เคลื่อนไหวให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทำอย่างไร? เมื่อ PerMAS เสนออะไร? รัฐและกลุ่มขบวนการจะต้องรับฟัง เหตุและผลเป็นเช่นไร!! ผู้เขียนไม่สามารถทราบได้ว่าเหตุใด ผู้อภิปรายจึงมีความเชื่อมั่นขนาดนั้น แต่เมื่อมีการการันตีว่า PerMAS ไม่ใช่แนวร่วมขบวนการ หรือเป็นปีกการเมืองขบวนการ เป็นแค่องค์กรทางการเมืองที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มเยาวชนที่ผู้ใหญ่ต้องฟัง อีกทั้งยังได้กล่าวการมีส่วนร่วมที่องค์กรอื่นๆ จะต้องให้มีความร่วมมือ การกล่าวดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์อะไร? จะต้องตั้งคำถามกลับไปว่าแท้จริงแล้ว PerMAS ต้องการอะไรมากกว่า ซึ่งจะต้องถอดแนวความคิดและวิเคราะห์พฤติกรรมที่ผ่านมาของ PerMAS แท้จริงแล้วที่เคลื่อนไหวมีใครให้การสนับสนุน และในการทำกิจกรรมมีอะไรที่แอบแฝงอยู่? หากเราไปไล่เรียงเรื่องราวเก่าๆ ปะติดปะต่อดู พบว่าจุดหมายที่แท้จริงขององค์กรนี้ ต้องการเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ “เอกราช” ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากจุดหมายของ BRN เลย แต่ที่ต่างกันคือรูปแบบและวิธีการต่างหาก แทนที่ PerMAS จะหยิบอาวุธลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐไทยก่อความรุนแรง แต่กลับใช้งานการเมืองโดยไม่ใช้กำลัง (nonviolent) มุ่งสร้างเครือข่ายในพื้นที่และต่างพื้นที่ สร้างการมีส่วนร่วม สร้างการรับรู้ของประชาชน มีการใช้ วาทกรรม ปลุกกระแสชาตินิยมปาตานี รณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องกฎหมาย เรื่องสิทธิ ความเหลื่อมล้ำ (ความไม่เท่าเทียม) ทางสังคมในพื้นที่ปาตานี อีกทั้งชูประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรียกร้องการเคารพความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสิทธิในความเป็นเจ้าของ เพื่อมุ่งไปสู่สิทธิการกำหนดใจตนเองด้วยการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นความหวังหนึ่งเดียวที่จะประสบความสำเร็จโดยใช้ปีกทางการเมือง ยิ่งในพื้นที่ จชต.น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ทั้งในเรื่องปัญหาที่รุมเร้า รากเหง้าในเรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องการนับถือศาสนา เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เชื่อฟังผู้นำศาสนา ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ที่ผ่านมา ชี้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2559 จากผลการลงประชามติใน 3 จชต.ออกมาเช่นไร? เป็นที่ทราบกันดี ส่วนบนเวทีเสวนา นายสุไฮมี ดุลสะ รองผู้อำนวยการสถาบันปาตานี ได้ตอกย้ำผลการทำวิจัยด้วยการทำแบบสอบถามผู้คนในพื้นที่ โดยตั้งคำถามว่าเป็น คนไทย หรือ คนมลายูปาตานี ซึ่งผลที่ออกมาผู้ตอบแบบสอบถาม 80% ตอบว่าเป็น “คนมลายูปาตานี” นี่คือผลพวงทางการเมืองของ PerMAS มิใช่หรือ?


การสร้างเครือข่ายของ PerMAS ซึ่งเป็นองค์กรทางการเมือง ที่มีการการันตีจากนักวิชาการว่าไม่ใช่แนวร่วมขบวนการ เป็นองค์กรทางเลือกที่เคลื่อนไหวให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม นอกจากในพื้นที่แล้วยังมีการเชื่อมต่อไปยังการเมืองส่วนกลางและภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ จะเห็นได้ว่าอดีตประธาน PerMAS แต่ละคนถึงแม้พ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงยังคงมีบทบาท ร่วมวางแผนยุทธศาสตร์งานการเมืองร่วมกัน อย่างเช่นผู้ก่อตั้ง PerMAS รุ่นแรก นายอาเต๊ฟ โซ๊ะโก และ นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ยังคงทำงานในบทบาทองค์กรภาคประชาสังคม ในนามสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) และเป็นที่ปรึกษาให้กับ PerMAS อีกด้วย ส่วน นายสุไฮมี ดุลสะ ที่เพิ่งพ้นวาระประธาน PerMAS ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถาบันปาตานี ก็ยังคงทำงานประสานเนื้อเดียวกัน เสมือนหนึ่งแยกร่างออกจาก PerMAS เพื่อทำงานควบคู่และเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หากตีแผ่ยุทธศาสตร์ของสถาบันปาตานี ซึ่งมี 4 ด้าน ด้วยกัน (1) สนับสนุนแนวทางสันติวิธีของขบวนการในการต่อสู้ไม่ให้ใช้ความรุนแรง ชี้นำแนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธี ต้องมีพัฒนาการแนวทางการเมืองนำการทหาร กองกำลังมีไว้เพื่อใช้อำนาจการต่อรองเท่านั้น (2) ยุทธศาสตร์กลไกระหว่างประเทศ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการต่อสู้ เป็นเครื่องมือให้เกิดการยอมรับจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น (3) องค์กรในพื้นที่จะต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองส่วนกลาง กับเครือข่ายองค์กรอื่นๆ ภายในประเทศ ซึ่งการต่อสู้ไม่ใช่แค่ผูกขาดเฉพาะแค่คนในพื้นที่เท่านั้น (4) การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ประชาชนจะต้องรู้สิทธิของตนเอง การมีความรู้สึกร่วม ความเป็นเจ้าของ การตระหนักรู้ และเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนในพื้นที่

จากข้อมูลข้างต้นคงพอจะเห็นเจตนา ด้วยเหตุและผลในมุมองของอาจารย์ ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้กล่าวไว้บนเวทีเสวนาว่า PerMAS คือองค์กรทางการเมือง ไม่ใช่แนวร่วมขบวนการ เป็นแค่องค์กรทางเลือกที่เคลื่อนไหวให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ผู้เขียนเชื่อตามที่ อาจารย์ ซากีย์ฯ ได้กล่าวซึ่งอาจจะเป็นความจริง แต่ที่ไม่ได้กล่าวถึงคือ PerMAS ต้องการอะไร? ในการเคลื่อนไหวและเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร? เชื่อเหลือเกินว่าอาจารย์ ซากีย์ฯ ย่อมรู้ดีแต่ละเว้นไว้ในฐานที่เข้าใจ หรือเป็นเครื่องหมายคำถาม? ให้สาธารณชนได้ฉุกคิด ซึ่งหลายๆ ครั้งที่จับประเด็นได้จากการเคลื่อนไหวของ PerMAS คงมิได้แตกต่างจาก BRN สักเท่าไหร่ยังคงมีจุดหมายเดิมๆ นั่นคือ เอกราช แต่ต่างกันตรงที่ไม่ใช้อาวุธ ไม่ใช้ความรุนแรง ใช้งานการเมืองในการขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายด้วยการลงประชามติกำหนดใจตนเอง คนเหล่านี้ส่วนมากแล้วสักที่อยากจะได้ เห็นแก่ประโยขน์กลุ่มตน เห็นต่างประเทศเรียกร้องจะเอาแบบเขาบ้าง!! ไม่เคยเหลียวมองตนเองว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน!! ยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจถามว่าจีดีพีมวลรวม 3 จชต.มีเท่าไหร่!! และที่สำคัญถามใจประชาชนในพื้นที่หรือยัง!! ว่าความต้องการที่แท้จริงต้องการอะไร!!....

----------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น