1/16/2561

NGOs พฤติกรรมลำเอียงที่ทำร้าย



            ทำไม????  CSOs หรือองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งบางครั้งก็ถูกเหมารวมว่ากลุ่ม NGOs (องค์กรพัฒนาเอกชน) ที่มีมากกว่า 30 องค์กร จึงถูกทำร้าย โดยการถูกกล่าวถึงในแง่ลบของภาพลักษณ์ ทั้งสื่อถึงลักษณะของความเลวร้าย เป็นพวกรับเงินจากต่างประเทศ ทรยศ เนรคุณแผ่นดิน สร้างปัญหาให้กับทุกรัฐบาล อะไรคือสิ่งที่ทำร้ายองค์กรนี้!!

            CSOs และ NGOs เป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีแนวความคิด และ อุดมการณ์ที่คล้ายกัน ซึ่งรวมตัวกันเพื่ออาสาเข้ามาทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อเชื่อมต่อระหว่างชุมชนหรือสังคมกับรัฐ  และได้รับหลักประกันจากกฎหมาย    ซึ่งมีบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาสังคมไว้อย่างชัดเจน   ไม่ว่าจะเป็นบทบัญญัติที่ ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่ทำให้ภาครัฐ ต้องปรึกษาหารือกับประชาชนก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการใหญ่ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งบทบัญญัติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิของชุมชน


            พฤติกรรมและความเข้าใจในประเด็น เพื่อส่วนรวม ที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมนี่เองที่เป็นสิ่งทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของ CSOs และ NGOs  ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งเงื่อนไขสำคัญของคำว่าเพื่อส่วนร่วม คือ ความเท่าเทียมกันหรือความเสมอภาค   หากมองพลวัตรของเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากในช่วง  พ.ศ.2547 2551 ซึ่งถือเป็นช่วงที่รุนแรงที่สุด อันเป็นผลมาจากความพยายามแก้ไขปัญหาของรัฐบาล  จะเห็นว่ายิ่งสถานการณ์ลดความรุนแรงลงจะยิ่งขับเน้นให้เห็นพฤติกรรมที่แบ่งฝ่าย เลือกข้าง ของ CSOs และ NGOs ในพื้นที่ได้ชัดเจนมากขึ้น  โดยเฉพาะประเด็นการเคลื่อนไหวในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และการอนุรักษ์สิ่ง แวดล้อม ซึ่งพฤติกรรมที่แสดงออก จะดำเนินไปเชิงต่อต้านรัฐบาล (social protest movement)  และคัดค้านนโยบายการพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐ ซึ่งบางองค์กรก็จะผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ การก่อตั้งองค์กร มีการเลือกปฏิบัติ เคลื่อนไหวและใช้อิทธิพลที่มีขององค์กรตน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ เรื่องสิทธิมนุษยชน องค์กรที่เคลื่อนไหวในประเด็นนี้ มักมีสิ่งที่เป็นเรื่องเล่าเป็นธงในใจ เช่น มักคิดไปก่อนว่ามีการซ้อมทรมาน มีการข่มขู่  ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเผยแพร่ความคิดของตนผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย  เพื่อสร้างกระแสความรู้สึกทางอารมณ์ให้สังคม ปลุกปั่นความคิดให้ผู้อ่านคล้อยตาม โดยมองข้ามข้อเท็จจริงในเรื่องของพยาน และการพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุที่ทำให้ผู้ต้องหาจำต้องยอมรับสารภาพ  ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์รวบรวม และดำเนินการ ซึ่งถึงแม้ว่าภายหลังฝ่ายเจ้าหน้าที่จะได้จัดแถลงข่าวแสดงถึงพยาน หลักฐานและการยอมรับสารภาพของผู้ต้องหา ก็จะไม่ให้ความสำคัญ แสดงการไม่ยอมรับ ไม่มีการออกมาขอโทษสังคมในสิ่งที่ตนเองได้เผยแพร่ออกไป และเมื่อถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ ก็เข้าหาผู้มีอำนาจในพื้นที่  เรียกร้องไม่ให้เอาความเพื่อให้ได้อิสระ  ดีอกดีใจให้สัญญาสารพัดเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่เอาความแต่ก็ไม่สามารถรักษาได้ หรือไม่มีเจตนารักษาสัญญาตั้งแต่ต้น  แต่หากเมื่อใดที่ เจ้าหน้าที่ เด็ก และประชาชน ถูกทำร้าย โดยน้ำมือผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่  ตากลับมองไม่เห็น หูกลับไม่ได้ยินเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของเด็กๆ และในประเด็นของสิ่งแวดล้อมก็เลือกข้างอยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐไว้ก่อน โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง  ยึดเอาส่วนน้อย  มากกว่าส่วนใหญ่และส่วนรวม  ยั่วยุให้เกิดเหตุรุนแรง เมื่อถูกดำเนินคดี ก็เข้าหาผู้มีอำนาจในพื้นที่ ผู้มีอำนาจที่สูงกว่า  เรียกร้องไม่ให้เอาความ ยึดกฎหมู่เหนือกฎหมาย  หาทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีหรือแม้กระทั่งการถูกควบคุมในช่วงเวลาสั้นๆ

            พฤติกรรมที่เลือกข้าง  เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน  ไม่รับผิดชอบต่อสังคมของ  CSOs   และ NGOs ในพื้นที่นี่เอง ที่เป็นตัวการทำร้ายตนเอง ทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือส่วนตนและองค์กร ฉุดรั้งการพัฒนาพื้นที่ของรัฐและทำลายการเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชนในระยะยาว

--------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น