8/02/2561

ยุทธวิธี!? บีอาร์เอ็นเปลี่ยน...แต่ยุทธศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยน


"Ibrahim"


คำว่า ยุทธวิธีและ ยุทธศาสตร์ เรามักจะได้เห็นหรือได้อ่านผ่านตาอยู่บ่อยครั้งของคำทั้งสอง ซึ่งส่วนมาก มักจะใช้อยู่ในแวดวงทหาร แต่สำหรับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วการวางแผน ยุทธวิธี (tactics) และยุทธศาสตร์ (strategic) นั้นมีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐเองในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายบีอาร์เอ็นที่ต่อต้านรัฐไทยก็มีการวางแผนยุทธวิธีและกำหนดยุทธศาสตร์เช่นเดียวกันในการมุ่งไปสู่เอกราช หรือ Merdeka

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปนั่งฟังผู้ที่ช่ำชองและคร่ำหวอดในวงการสื่อซึ่งเกาะติดสถานการณ์ชายแดนใต้ ได้วิเคราะห์ถึงท่าทีขบวนการบีอาร์เอ็นในการเดินเกมต่อสู้ห่ำหั่นกับรัฐไทยและได้กล่าวไว้น่าสนใจทีเดียวนั่นคือ ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานับจากวันเสียงปืนแตกที่ค่ายปิเหล็งจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้หลายฝ่ายต่างออกมายืนยันว่าสถานการณ์ดีขึ้น เหตุการณ์ลดลงอย่างต่อเนื่องแต่ความเคลื่อนไหวของขบวนการบีอาร์เอ็นที่วางยุทธศาสตร์ไว้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นคือการต่อสู้เพื่อต้องการแบ่งแยกดินแดนแยกตัวเป็นเอกราชจากรัฐบาลไทย แต่ยุทธวิธีการปฏิบัติย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์


เมื่อกล่าวถึงยุทธวิธี (tactics) ของกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนไปสู่เอกราชนั้นมีอยู่ 2 ยุทธวิธีด้วยกันคือ ยุทธวิธีในการแบ่งแยก และยุทธวิธีในการชี้ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ

ยุทธวิธีในการแบ่งแยกคือการดึงมลายูมุสลิมออกมาเพื่อโดดเดี่ยวคนต่างศาสนา ใช้ความเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ประเพณีเดียวกัน เชิดชูความเป็นหนึ่งเดียวปาตานี (Satu Patani) ปลุกระดมในเรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน การไม่ได้รับความเป็นธรรม และความไม่เท่าเทียมในสังคม

ยุทธวิธีการแบ่งแยกมลายูมุสลิมจะเห็นได้จากการสร้างความหวาดกลัว ความหวาดระแวงของพี่น้องในพื้นที่ ขบวนการบีอาร์เอ็นทำการก่อเหตุสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนต่างศาสนา กระทำต่อพี่น้องชาวไทยพุทธต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานหนีตายออกนอกพื้นที่ ต้องการสังคมเชิงเดี่ยวที่มีแต่ผู้นับถือศาสนาอิสลามศาสนาเดียวเท่านั้น


ส่วนยุทธวิธีในการชี้ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงมีให้เห็นโดยต่อเนื่อง จะมีปีกการเมืองคอยกระทุ้งยามที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงานผิดพลาด ทำการขยายผลสร้างการรับรู้ในสื่อสังคมออนไลน์ ปล่อยข่าวลือในร้านน้ำชา หรือในที่ชุมนุมคนหมู่มาก เก็บภาพความรุนแรงในที่เกิดเหตุเพื่อสื่อไปยังองค์กรระหว่างประเทศ โจมตีนโยบาย แผนงานโครงการรัฐบาล แย่งชิงมวลชนกับรัฐด้วยการกระทำทุกรูปแบบเพื่อหาสมาชิกแนวร่วมสนับสนุนขบวนการ กล้าแม้กระทั่งลงมือเข่นฆ่าคนศาสนาเดียวกัน จัดตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อทำงานมวลชนเอาใจชาวบ้าน ข่าวเชิงลึกจิตอาสาเหล่านี้รวมกลุ่มขึ้นมาทำแม้กระทั่งขุดหลุมฝังศพให้กับผู้ที่เสียชีวิต นำยุทธวิธีของ จคม.ในอดีตมาปัดฝุ่นปรับใช้

จะเห็นได้ว่า ยุทธวิธี บีอาร์เอ็นเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่ ยุทธศาสตร์ Merdeka ไม่เคยเปลี่ยน ถึงแม้ว่าจะมีการพูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทยบนโต๊ะเจรจาก็ตามที ยุทธวิธีที่ใช้ในการเคลื่อนไหวยังคงเดินหน้าตลอดเวลาถึงแม้ภาพรวมสถานการณ์ไฟใต้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง การต่อสู้ทางการเมืองก็จะต้องยังต่อสู้กันไปอีกนาน แต่วิธีการที่จะไปสู่สันติสุขนั้นไม่มีที่ไหนในโลกนี้ได้มาซึ่งสันติสุขจากการใช้กำลัง ใช้ความรุนแรงแลกมา วิธีการเดียวเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขนั่นคือ การพูดคุย
*****************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น