10/04/2561

รัฐเยียวยาผู้เสียหายกรณีการฟ้องร้องละเมิดสิทธิใน จชต.


"Ibrahim"


          จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สิบกว่าปีที่ผ่านมา ในการปฏิบัติการเชิงรุกเปิดแผนยุทธการหรือการบังคับใช้กฎหมายเพื่อติดตามบุคคลต้องสงสัย นำไปสู่การปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมาย ในบางเหตุการณ์เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัตินำไปสู่ความสูญเสียซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อได้เกิดเหตุการณ์ที่ใครๆ ต่างไม่คาดคิด ผู้เสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบย่อมจะมีสิทธิที่เรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาผู้เสียหายได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลในคดีละเมิด 4 คดีสำคัญด้วยกัน ในเบื้องต้นเมื่อมีการตรวจสอบการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐต่อผู้เสียหายที่ฟ้องศาลเพื่อนำไปหักลบในกรณีศาลฎีกาให้ชดใช้เงินแก่ผู้เสียหาย แต่มีบางคดีศาลได้พิพากษายกฟ้อง

          คดีแรก นายยา ดือราแม กับพวกรวม 5 คน ซึ่งเป็นผู้เสียหายดำเนินการฟ้อง จากเหตุการณ์ทหารพรานยิงรถกระบะต้องสงสัยจนมีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย บาดเจ็บอีก 4 ราย และรอดตายหวุดหวิด 1 คน เหตุเกิดในพื้นที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อกลางดึกคืนวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2555 สถานะทางคดี อยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ผู้เสียหายได้รับเงินเยียวยาแล้ว รายละ 500,000 บาท

          คดีที่สอง  ผู้ฟ้อง น.ส.คอรีเยาะ มะมิง มารดาของผู้ตาย ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบกและสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีนายมะกอเซ็ง ลาแซ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2555     ที่หมู่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลบาโร๊ะ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา สถานะทางคดี ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ผู้เสียหายได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว 1,500,000 บาท

          คดีที่สาม เหตุเกิดในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ผู้ฟ้อง น.ส.แยนะ สะอะ ได้ฟ้องแพ่งเรียกค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 1 กองทัพบกจำเลยที่ 2 และสำนักนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 3 ให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 3,255,954 บาท จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ภายในบังคับบัญชาของจำเลยทั้งสามใช้อาวุธปืนยิง นายอับดุลอาซิ สะอะ เสียชีวิต โดยอ้างว่าได้กระทำไปในขณะปฏิบัติหน้าที่ สถานะทางคดีศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ส่วนเงินเยียวยาที่ผู้เสียหายได้รับอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ

          คดีที่สี่ จากเหตุการณ์ปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 จากกรณี นปพ.ร่วม ฉก.ทพ.41 สนธิกำลังร่วม 3 ฝ่าย เข้าทำการปิดล้อมตรวจค้นติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมาย/กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และถูกควบคุมตัว 22 คน ผู้ฟ้อง นางแวลีเมาะ กาหามะ กับพวกรวม 8 คน สถานะทางคดี อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลนัดสืบพยานไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 ญาติผู้เสียชีวิตได้รับเงินเยียวยาไปแล้วดังนี้คือ ผู้เสียหาย นายสูไฮมี เซ็นและ ญาติได้รับเงินเยียวยาแล้ว จำนวน 1,852,000 บาท ผู้เสียหาย นายซัดดัม วานุ ญาติได้รับเงินเยียวยาแล้ว จำนวน 2,500,000 บาท ผู้เสียหาย นายมะดาวี แม้เราะ ญาติได้รับเงินเยียวยาแล้ว จำนวน 1,500,000 บาท และผู้เสียหาย นายคอลิด สาเม็ง ญาติได้รับเงินเยียวยาแล้ว จำนวน 1,622,000 บาท

          จะเห็นได้ว่าการฟ้องร้องต่อศาลคดีละเมิดของผู้ฟ้องทั้ง 4 คดีดังกล่าวข้างต้น เกิดจากความเคลือบแคลงใจสงสัยของญาติหรือผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือบางคดีเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานโดยตรง นำมาซึ่งการฟ้องร้องละเมิดสิทธิต่อศาล บางคดียังไม่สิ้นสุดทางคดีความยังมีการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ หรือฎีกา แต่ก็มี 2 คดี ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ในส่วนของการดำเนินการเยียวยาต่อผู้เสียหายรัฐได้ดำเนินการดูแลอย่างดีพร้อมให้ความเป็นธรรมกับประชาชนอย่างเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ในส่วนการบังคับใช้กฎหมายทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ผู้กระทำความผิดต้องถูกดำเนินคดีได้รับโทษตามกฎหมายไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ย่อมถูกลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาหากกระทำความผิด
*****************




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น