หน้าเว็บ

12/18/2555

ไฟใต้จักมอดดับได้ด้วยประชาชน



 
สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในต้นปี 2547  โดยทวีความรุนแรง จากเหตุการณ์การบุกโจมตีที่ตั้งหน่วยกองพันพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เข้าปล้นอาวุธปืนสงครามไปจำนวนมาก พร้อมสังหารเจ้าหน้าที่อย่างโหดเหี้ยม 4 ศพ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานเกือบ 9 ปี 

ในช่วงแรกของสถานการณ์นั้นเป้าหมายในการลอบทำร้ายคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ  โดยเฉพาะทหารและ ตำรวจ ด้วยข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงว่า  ต้องการตอบโต้รัฐไทยที่ไม่ให้ความยุติธรรมต่อประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามซึ่งเป็นคนมลายูและที่สำคัญ คือ การแบ่งแยกดินแดนตอนใต้ของไทยใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพื่ออิสระในการปกครองตนเอง  พร้อมๆ กับการปลุกระดมสร้างความหวาดกลัว และหวาดระแวงให้เกิดขึ้นกับกลุ่มคนไทยต่างศาสนามาเป็นเงื่อนไขอย่างต่อเนื่อง

โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ได้ใช้ประเด็นที่มีความอ่อนไหวในเรื่องความแตกต่างทางศาสนา  วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และขยายแนวร่วม จากกลุ่มมุสลิมในพื้นที่โดยการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเรื่องชาติพันธุ์การเป็นคนมลายูปัตตานี  และบีบบังคับให้คนต่างศาสนาออกนอกพื้นที่โดยวิธีการข่มขู่ต่างๆนานา เข่น ก่อเหตุรุนแรงใช้อาวุธสงครามฆ่าคนไทยพุทธอย่างโหดเหี้ยม และระเบิดในสถานที่ขุมชนสร้างความสะพรึงกลัวให้กับคนไทยพุทธในพื้นที่จนต้องตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นออกนอกพื้นที่  โดยเฉพาะการบิดเบือนคำสอนอันดีงามของศาสนาอิสลามว่าการทำร้ายคนต่างศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่ผิด   จึงกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญให้สถานการณ์ภาคใต้ของไทยกลับเลวร้ายมากยิ่งขึ้นและขยายขีดความรุนแรงขึ้นตามลำดับ 

ถึงวันนี้รูปแบบของสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงได้มีการพัฒนาความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในลักษณะการบ่อนทำลาย การก่อวินาศกรรมด้วยการลอบวางระเบิดขนาดใหญ่เพื่อสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจในเขตชุมชนเมือง  การลอบสังหาร และลอบวางเพลิง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไปทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธและมุสลิมจนถึงปัจจุบันมีจำนวนตัวเลขพุ่งสูงขึ้นตามลำดับ  ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพสังคมจิตวิทยา  ระบบเศรษฐกิจทั้งในพื้นที่และของประเทศโดยรวมอย่างมาก 

และแน่นอนว่าสถานการณ์ในภาคใต้ของไทยกำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่ายทั้งภายในและนอกประเทศว่าบทสรุปของความรุนแรงนี้จะจบลงได้หรือไม่  เมื่อไหร่และอย่างไร

          สำหรับคำถามนี้เชื่อว่าผู้ที่อยากรู้คำตอบมากที่สุดคงไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาพุทธที่ต้องทนอยู่กับการก่อเหตุรุนแรงสารพัดชนิด  เห็นภาพของความสูญเสียอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ซ้ำร้ายหลายคนต้องประสบพบเจอกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก  ในขณะที่ไม่สามารถหนีออกจากพื้นที่ได้เพราะที่นี่เป็นเสมือนบ้านที่อยู่มาตั้งแต่ปู่ยาตายาย  การอพยพออกนอกพื้นที่จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่ไม่สมควรกระทำในขณะที่สามารถทำให้ปัญหาความรุนแรงนี้ลดน้อยลงหรือหมดไปได้ด้วยวิถีทางอื่น

          จากความยืดเยื้อยาวนานของปัญหาความรุนแรง  ความยากลำบากในการดำรงชีวิตประจำวัน  การอยู่ร่วมกันแบบหวาดระแวงทำให้กระแสความเบื่อหน่ายและไม่สนับสนุนการก่อเหตุเริ่มปรากฏทุกหย่อมหญ้าไม่เว้นแม้แต่พี่น้องมุสลิมที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงอ้างกับเขาเหล่านั้นว่าทำเพื่อปกป้องศาสนา  แต่สุดท้ายก็ยังไม่วายที่ต้องถูกเข่นฆ่าไปด้วยเมื่อไม่ให้ความร่วมมือ  เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงได้สร้างผลกระทบด้านลบต่อพี่น้องประชาชนทุกคนเป็นส่วนรวมในทุกด้าน

และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อมวลชนต่างออกมานำเสนอข่าวสารความเป็นไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสร้างสรรค์เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ ด้วยการสะท้อนภาพที่แท้จริงถึงความพยายามในการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วน  รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อหาหนทางช่วยกันทำให้เหตุการณ์ยุติลงโดยเร็วซึ่งดูจะเป็นเค้าลางที่ดีหากได้รับความร่วมมือในลักษณะนี้ต่อไปในฐานะสื่อที่เปี่ยมล้นด้วยจรรยาบรรณ 

          ในฐานะเป็นคนในพื้นที่ที่รู้เห็นปัญหานี้มาโดยตลอดจึงอยากใช้เวทีนี้ขอบคุณไปยังท่านสื่อมวลชนเหล่านั้นด้วยความจริงใจ
          เพราะการปล่อยให้ฝ่ายความมั่นคงเป็นฝ่ายแก้ปัญหาอยู่ฝ่ายเดียวไม่สามารถทำให้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้จบลงได้  เพราะปัญหาที่เป็นรากเหง้าฝังลึกนั้นมิได้มีเพียงกลุ่มขบวนการเท่านั้น  หากยังมีตัวแปรส่งเสริมอื่นๆ อีกที่เป็นปัจจัยสนับสนุน

การยุติความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ยังดำเนินไปอย่างไม่มีทีท่าว่าสิ้นสุดลงนี้ ได้ปรากฏ เสียงเรียกร้องต้องการความสงบสุขจากพี่น้องประชาชนมาโดยต่อเนื่อง  ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ด้วยการลุกขึ้นร่วมกันต่อต้านโดยไม่แบ่งแยก  ปฏิเสธและไม่สนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงอย่างสิ้นเชิง ด้วยความสามัคคีร่วมกันสอดส่องดูแลและแสดงพลังของประชาชนออกมา  ภายใต้การใช้บทบาทนำของผู้นำท้องถิ่นเท่านั้นที่จะช่วยให้ฝันร้ายนี้จบสิ้นลง   เพราะวันนี้ในต่างประเทศยังเข้าใจสถานการณ์และความเป็นไปของภาคใต้ของไทย หลายฝ่ายทั้งองค์กรระดับชาติรวมถึงสื่อมวลชนในต่างประเทศยังพร้อมใจกันประณามการก่อเหตุด้วยข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นของผู้ก่อเหตุรุนแรงว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

ลองนึกดูว่าหากไฟกำลังไหม้บ้านเรา  แล้วพวกเราซึ่งเป็นคนอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันไม่ช่วยกันตักน้ำมาดับไฟแล้วจะรอให้ใครมาช่วย  เราคงไม่อยากให้บ้านของเรามอดไหม้ไปกับตาทั้งๆ ที่ยังสามารถช่วยกันได้มิใช่หรือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องร่วมมือกัน   ตอบได้เลยตอนนี้ว่าพลังของพวกเราประชาชนในพื้นที่เท่านั้นที่จะยุติไฟที่กำลังเผาไหม้บ้านของเราลงได้  คำถามต่อไปคือ  เราจะรออะไรอยู่ 

ซอเก๊าะ   นิรนาม

12/13/2555

ยูนิเซฟเรียกร้องให้ยุติการกระทำรุนแรงต่อเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้



กรุงเทพมหานคร – 12 ธันวาคม 2555 – วันนี้เจ้าหน้าที่องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เรียกร้องให้ยุติการกระทำรุนแรงต่อเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศ ไทยในทันที หลังทารกหญิงวัย 11 เดือนเป็นหนึ่งในบรรดาผู้เสียชีวิตห้ารายจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ ร้านขายน้ำชาแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

พิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย ประนามการสังหารครั้งนี้ว่าเป็น การกระทำที่น่าเศร้าสลดใจ ไร้เหตุผล และไม่สามารถยอมรับได้” ทั้งยังเรียกร้องให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย “ร่วมกันทำทุกวิถีทางที่จะหยุดยั้งการกระทำรุนแรงและทำให้แน่ใจว่าเด็กทุกคน ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทั้งหลายเหล่านั้น

ทารกเพศหญิง อินฟานี สาเมาะ ถูกสังหารขณะกลุ่มชายใช้อาวุธปืนสงครามกราดยิงเข้าใส่ร้านน้ำชาในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสเมื่อตอนสายของวันอังคารที่ผ่านมา เด็กกว่า 50 คนถูกสังหาร และกว่า 340 คนได้รับบาดเจ็บนับตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดน ภาคใต้ของประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงรวมทั้งหมดแล้วกว่า 5,000 คน

เมื่อปลายเดือนตุลาคมของปีนี้ เด็กชายวัย 11 ขวบคนหนึ่งถูกสังหารพร้อมพ่อในรถกระบะระหว่างถูกลอบทำร้ายโดยกลุ่มชายติด อาวุธที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา  

ทุกครั้งที่มีเด็กถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บ ทุกครั้งที่เด็กสูญเสียพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง และทุกครั้งที่โรงเรียนและครูของพวกเขาถูกโจมตี เด็กๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องทนทุกข์ทรมานมากขึ้นเท่านั้น” ราชภัณฑารีกล่าว “การยุติความรุนแรงทั้งหมดเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าสิทธิของเด็ก ทุกคนที่อยู่ในภาคใต้ได้รับความคุ้มครองและเอาใจใส่อย่างสมบูรณ์เต็มที่

12/05/2555

ผู้ทำร้ายครู เขาเหล่านั้นหาใช่อิสลามไม่


การเสียชีวิตของนางสาวฉัตรสุดา นิลสุวรรณ ครูโรงเรียนบ้านยาโงะ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส  นับเป็นเหตุคร่าชีวิตครูผู้หญิงรายที่ 2 ในรอบ 12 วัน เนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งจะเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนสังหาร นางนันทนา แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่ากำชำ    อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เสียชีวิตขณะขับรถยนต์ออกจากโรงเรียนเพื่อเดินทางกลับบ้าน จนทำให้สมาพันธ์ครูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องประกาศปิดการเรียนการสอนโรงเรียนกว่า 300 แห่งใน จ.ปัตตานี อย่างไม่มีกำหนด เพื่อกดดันให้รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงปรับแผนรักษาความปลอดภัยครูให้รัดกุมกว่าที่เป็นอยู่  จนเมื่อมีการประชุมหารือกับฝ่ายความมั่นคงจนเป็นที่พอใจจึงได้ประกาศเปิดการเรียนการสอนอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา  แต่แล้วผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งเป็นฝ่ายจ้องกระทำก็ก่อเหตุยิงครูซ้ำขึ้นอีกครั้ง  การก่อเหตุซ้ำซ้อนในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงยังตั้งตัวไม่ติดอีกครั้งนี้  แน่นอนว่าย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงบรรดาครูน้อยใหญ่ผู้ที่ยังมุ่งมั่นที่จะสั่งสอนให้เด็กนักเรียนที่นี่ให้มีความรู้ต่อไป 

จากการก่อเหตุร้ายที่ไม่สามารถคาดเดาจิตใจที่ไร้มนุษยธรรมของผู้ที่เรียกตัวเองว่ามนุษย์ได้ว่า พวกเขาคิดทำเรื่องเลวทรามนี้ได้อย่างไร  ได้สร้างความสลดใจให้กับผู้ที่ได้รับรู้ข่าวทั้งในและต่างประเทศ จนหลายฝ่ายต่างออกมาประณามการกระทำที่มิได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมโดยรวมนี้โดยถ้วนหน้า   เพราะไม่มีสนามรบใดเลยในโลกนี้ที่ฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐฯ จะกระทำต่อครูผู้ซึ่งเป็นผู้ให้ความรู้หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ซึ่งเป็นนักบวช 
นอกจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่กล้าเรียกตัวเองว่านักรบ   ที่สร้างความเดือนร้อนอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทยในเวลานี้....เท่านั้น 

และเช่นเคยเสมอมาที่ยังไม่มีองค์กรภาคประชาสังคมใดออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ครูที่เสียชีวิตไปเลย  แม้แต่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่มักออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกระบวนการมุ่งสู่สันติภาพของฝ่ายความมั่นคงและ ศอ.บต. ในทุกกรณีก็ยังคงวางตัวนิ่งเฉย  ซึ่งกรณีนี้อยากฝากไว้ให้คิดว่าเหตุผลที่นิ่งเงียบคืออะไร

ด้านฝ่ายผู้นำศาสนา ท่านฮัญยีแวดือราแม  มะมิงจิ  ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานียังได้ออกมากล่าวถึงการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงเหล่านี้ว่าเป็นพวกที่บิดเบือนศาสนาและไม่ใช่ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นอิสลาม โดยเฉพาะการบิดเบือนคำสอนอันดีงามของศาสนาอิสลามว่าการทำร้ายคนต่างศาสนาเป็นสิ่งที่ไม่ผิดนั้นยิ่งเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์

เพราะความสำคัญของครูในทัศนะอิสลามจากท่านอะบีอุมาอะมะฮ์ ท่านนบีกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ บรรดามะลาอิกะฮฺของพระองค์และชาวฟ้าและแผ่นดิน  จนแม้กระทั่งมดในรูของมันและแม้กระทั่งปลา  ต่างก็ปราสาทพรแก่ครูผู้ที่สอนมนุษย์ทั้งหลายให้ประสบความดี”  และเพราะครูคือผู้ให้  ครูคือผู้เติมเต็ม  ครูคือผู้มีเมตตา  ดังนั้นอาชีพครูจึงเป็นอาชีพที่มีเกียรติ  ท่านนบี (ซ.ล.) นั้นให้เกียรติผู้ที่ทำหน้าที่ครู  แม้ว่าจะเป็นคนต่างศาสนานิกหรือศัตรู  ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ  ท่านได้ไถ่ตัวเชลยศึกในสงครามบะดัร  ซึ่งเป็นมุชริกีนชาวมักกะฮฺ  โดยให้เป็นครูสอนเด็กมุสลิมชาวนครมะดีนะฮฺจำนวนสิบคน  แบบอย่างของท่านนบีฯ (ซ.ล.) นี้เป็นแบบอย่างที่งดงามที่มุสลิมทุกคนควรตระหนัก  หากมุสลิมได้ตระหนักแล้ว  กรณีการฆ่าครูหรือทำร้ายครูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

แต่แม้ว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับครูนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์ในปี 47 เป็นต้นมาจะทำให้ครูต้องสังเวยชีวิตไปเป็นรายที่ 155 แล้วก็ตาม  ยังไม่ปรากฏว่าครูในพื้นที่จะมีการขอย้ายออกนอกพื้นที่แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามครูกับยังคงอดทนทำหน้าที่อย่างเสียสละ  ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากอุดมการณ์ที่แน่วแน่ในฐานะแม่พิมพ์ของชาติ  และส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ  ครูก็คือผู้ที่เกิดและเติบโตมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้  พื้นที่ที่เหล่านักรบขี้ขลาดที่ทำร้ายได้แม้คนไม่มีทางสู้เรียกว่า  “แผ่นดินมลายู”  เพราะครูก็คือลูกหลานคนไทยเชื้อสายมลายูที่เกิดและโตในแผ่นดินนี้ที่ต่างกันเพียงความเชื่อถือศรัทธาเท่านั้น

คำถามคือสิ่งที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงทำกับครู ซึ่งก็คือลูกหลานมลายูนั้นมันถูกต้องและยุติธรรมแล้วหรือ  พี่น้องมลายูเห็นด้วยหรืออย่างไรว่า  การกระทำที่ชั่วช้าของผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งขัดต่อคำสอนอันดีงามของท่านนบีฯ (ซ.ล.) นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง 

แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร  ในฐานะที่ได้ติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนมาโดยตลอดขอเป็นกำลังใจให้ครูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกท่านได้รักษาความเสียสละ  มุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติและเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  และของแผ่นดินไทยไว้ให้ได้อย่างมั่นคง  ซึ่งนั้นคงเป็นความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครองและความใฝ่ฝันของเด็กนักเรียนในพื้นที่นี้ทุกคนด้วย

เพราะในส่วนของผู้ก่อเหตุรุนแรงแล้ว  จากการกระทำที่ขัดกับหลักศาสนาราวฟ้ากับเหวโดยไม่สนใจคุณธรรมความถูกต้องของเขาเหล่านั้น  ตามหลักศาสนาแล้วพี่น้องมุสลิมทุกคนทราบดีว่าพวกเขาคือผู้ที่ “ตกศาสนา” ไปแล้ว  และพวกเขาเหล่านั้นหาใช่อิสลามไม่
---------------------------------------------
 ซอเก๊าะ   นิรนาม