หน้าเว็บ

5/27/2556

ปราบโจรใต้ต้องเด็ดขาด

  


           โจรใต้เหิมเกริมขึ้นเรื่อย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 5,469 ราย และบาดเจ็บอีก 9,653 ราย {1} รัฐบาลใช้เงินแก้ปัญหาไปถึง 145,000 ล้านบาท ณ ปี 2554 {2} เมื่อถึงสิ้นปี 2555 อาจใช้เงินถึง 200,000 ล้านบาท จะแก้ปัญหาโจรใต้อย่างไรดี



          ปัญหาโจรใต้มองได้ในหลายแง่มุม บ้างก็ว่าเป็นปัญหาเชื้อชาติและศาสนา แต่ในประวัติศาสตร์พื้นที่นี้ก็ไม่มีใครผูกขาด เปลี่ยนคนเปลี่ยนศาสนามาหลายครั้งแล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีปัญหารุนแรงทางเชื้อชาติ ศาสนาเช่นที่เกิดขึ้นในมาเลเซียหรืออินโดนีเซียที่กดขี่ เข่นฆ่าและขูดรีดคนจีนและคนฮินดู นอกจากนี้หลายคนยังตั้งข้อสังเกตว่าปัญหานี้แก้ไม่ตกก็เพราะการ “เลี้ยงไข้” คือพยายามให้ปัญหาคงอยู่นานๆ เพื่อกอบโกยงบประมาณแผ่นดินเข้าตัว ฯลฯ



          แต่เศรษฐกิจก็เป็นแง่มุมหนึ่งที่พึงพิจารณา มาเลเซียมีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงกว่าไทยถึงเกือบเท่าตัว ในสมัยที่ไทยมีฐานะดีกว่า ตนกู อับดุล ระห์มัน อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยังเคยมาศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ {3}  ถ้ามาเลเซียจนเช่นพม่า ลาว กัมพูชา ปัญหาคงไม่เกิด ชาวมาเลย์คงเต็มใจอยู่และทำงานในไทยเช่นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอื่น


          ทางออกของปัญหาโจรใต้ก็มองได้ในหลายแง่มุม บางท่านไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามเพราะเกรงปัญหาลุกลาม กลัวละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ประสบการณ์ทั่วโลกชี้ว่าการปราบเป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหา
          1. กรณีกบฎอาเจะห์ ชาวอาเจะห์เคยเป็นอิสระและสมัครใจรวมกับอินโดนีเซียในปี พ.ศ.2502 แต่พอต้องการแยกตัว ซึ่งพวกเขามีความชอบธรรมที่จะทำเช่นนั้น อินโดนีเซียกลับไม่ยอม ส่งทหารเข้าปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิต 15,000 คน หลายคนเข้าใจผิดว่ากบฏอาเจะห์สงบลงเพราะการเจรจาและการล้างปัญหาโดยสึนามิ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่า ในช่วงปี พ.ศ.2545-2547 กบฎถูกปราบหนักจนแทบราบคาบ ผู้นำใหญ่เสียชีวิต และพอเกิดสึนามิเมื่อปลายปี พ.ศ.2547 ที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปราว 200,000 คนจาก 4,400,000 คน ไฟกบฎก็มอดสนิทในที่สุด {4}
          2. กรณีกบฎพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 ระหว่างชาวทมิฬผู้นับถือศาสนาฮินดูกับชาวสิงหลผู้นับถือศาสนาพุทธจนลุกลามเข้ากรุงโคลอมโบ มีอยู่ช่วงหนึ่งตำรวจต้องถือปืนกลคอยตรวจตราตามสี่แยกเพราะอาจถูกโจมตีได้ตลอดเวลา สนามบินก็ปิดในช่วงค่ำด้วยฝ่ายกบฏซึ่งมีสนามบินของตนเอง อาจใช้ความมืดลอบบินมาถล่มได้ มีการเจรจาสงบศึกในประเทศไทย 2-3 หน แต่ในที่สุดรัฐบาลศรีลังกาก็ส่งทหารเข้าปราบเด็ดขาด หัวหน้ากบฎและพลพรรคถูกปลิดชีพเป็นจำนวนมาก ในครั้งนั้นองค์การสหประชาชาติ “เต้น” อยู่พักหนึ่ง หาว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” แต่ก็เงียบไปและศรีลังกาก็คืนสู่ความสงบในที่สุด {5}
          3. กรณีคอมมิวนิสต์ไทย นับแต่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในปี พ.ศ.2508 คอมมิวนิสต์ไทยก็ขยายตัวต่อเนื่อง ยิ่งเกิดกรณีการปราบปรามนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็ยิ่งทำให้มีแนวร่วมเพิ่มขึ้น แต่ไม่กี่ปีต่อมาการต่อสู้ก็จบสิ้นลง หลายคนเข้าใจว่าความสงบเกิดจากนโยบาย 66/2523 {6} ที่ประนีประนอม แต่ความจริงคอมมิวนิสต์ไทยหมดโอกาสชนะแล้วเพราะเกิดความขัดแย้งในหมู่ประเทศสังคมนิยม และรัฐบาลไทยยังสามารถเจรจากับรัฐบาลจีนได้สำเร็จ ดังนั้นพวกเขาจึงยอมวางอาวุธในที่สุด

          ต่อกรณีโจรใต้ของไทย การใช้ไม้นวม-เจรจาเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ แต่อย่าไปหลงใหลเพราะเป็นการซื้อเวลาบ่มเพาะโจรให้เติบใหญ่ คนไทยต้องสามัคคีกันให้เกิดพลังเข้มแข็ง หากอ่อนแอตีกันเอง ก็จะเกิดการแยกตัวเช่นกรณีรัสเซีย หรือยูโกสลาเวีย หากจีนอ่อนแอ ป่านนี้คงมีการแยกเป็นประเทศทิเบต ซินเกียง หรือมองโกเลียในไปแล้ว

        ในปัจจุบันประเทศตะวันออกกลาง ก็ไม่ได้มีเอกภาพเช่นแต่ก่อน ไม่ได้ส่งเสริมการก่อการร้ายเช่นพวกผู้เผด็จการเดิม และต่างพยายาม “กวาดบ้านตนเอง” มากกว่าที่จะมาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องปราบโจรใต้อย่างเด็ดขาด แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจริงจังกับการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทำให้อริราชศัตรูเพื่อนบ้านที่หนุนหลังโจรใต้ครั่นคร้าม ไม่กล้าเสี่ยงกับสงครามโดยไม่จำเป็น และทำให้โจรใต้หมดไปในที่สุด

          อย่าให้ใครมาแบ่งแยก ทุกเชื้อชาติศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้ใต้ร่มธงไทย


ที่มา ดร.โสภณ พรโชคชัย 

5/22/2556

กฎหมายให้โอกาสท่าน แล้วท่านเคยให้โอกาสเหยื่อหรือไม่....??


        

        กรณีหลายๆ กรณีที่กลุ่มโจรใต้ถูกจับกุม ไม่ว่าจะเป็นแนวร่วมระดับปฏิบัติการ แกนนำ หรือแม้แต่กลุ่มสนับสนุนโจรที่มีส่วนรู้เห็นก็ตาม ความจริงคือ โอกาสที่มอบให้คนกลุ่มนี้มีอยู่มากมายในการสู้คดี บ้างก็หลุดคดี บ้างก็ได้รับการเว้นโทษ บ้างก็ได้รับการประกันตัว บ้างก็ได้รับการลดโทษ.... ไปกว่านั้นท่านได้รับฉายาใหม่ “ผู้หลงผิด” ทุกอย่างก็สิ้นสุดลงไปในพริบตา...

เมื่อกฎหมายให้โอกาสท่านแล้ว ทำไมท่านไม่สำนึกถึงความยุติธรรมที่ศาลมอบให้...ชีวิตคนที่พวกคุณมีส่วนรู้เห็น มันมากกว่าการจำคุกเสียอีก...

มองเขามองเรา ท่านจะเห็นเองว่าชีวิตท่านท่านรัก ชีวิตเขาเขาก็รักเช่นกัน... 

       จากกระแสต่อต้านคำพิพากษาศาลเกิดขึ้น เมื่อผู้สื่อข่าวอิสระที่ชอบสร้างมวลชนต่อต้านรัฐ กลายเป็นนักโทษจำคุกเสียเอง และมันจะเป็นเช่นนั้นเสมอไปเมื่อมีการตัดสินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง นั่นก็เพราะโจรใต้ได้สร้างมวลชนมานานแล้ว ผ่านนักข่าว ผ่านนักการเมือง ผ่านครูสอนศาสนา....

       กรณีคดีความมั่นคงนายมูฮาหมัดอัณวัร ผู้สื่อข่าวอิสระ ที่ถูกจับกุมนั้น หากไม่เกริ่นนำอาจจะมองไม่เห็นภาพว่าทำไมถึงต้องตกเป็นจำเลย...

          เหตุเกิดเมื่อเวลา 20.30 น.วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เกิดเหตุยิง ด.ต.สัมพันธ์ อ้นยะลา อายุ 43 ปี หัวหน้าสถานียุทธศาสตร์ ตำบลสะนอ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในหมู่บ้านบาซาเวาะเซ็ง หมู่ที่ 2 ตำบลปิตูมูดี อำเภอยะรัง มีคนร้ายบุกเข้ามาใช้อาวุธสงครามกราดยิงใส่ กระสุนเข้าลำตัว ด.ต.สัมพันธ์ หลายนัดเสียชีวิต จากนั้นคนร้ายใช้มีดปลายแหลมตัดศีรษะจนขาดแล้วนำศีรษะหลบหนีไป พร้อมกับเรือใบตลอดทางด้วย...

       เจ้าหน้าที่ได้นำกำลังไปตรวจสอบพบศพ ด.ต.สัมพันธ์ แต่ส่วนศีรษะหายไป จึงได้ออกตามหาทันที พร้อมระดมกำลังตำรวจ ทหาร และสุนัขออกไล่ล่าคนร้ายทางไปบ้านเกาะหวาย ต่อมาพบศีรษะของ ด.ต.สัมพันธ์ บริเวณมัสยิดแห่งหนึ่ง

เหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ จำนวน 11 คน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิพากษา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 ให้จำคุกคนละ 12 ปี จำนวน 9 คน คือ

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คือ นายมะกอรี ดาโอ๊ะ, นายอัรฟาน บินอาแว, นายมูฮำหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ จำเลยที่ 5 นายหามะ สือแม และจำเลยที่ 11 นายอับดุลเลาะ กาโบะในความผิดก่อความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร

     โดยจำเลยทุกคดีจะมีสิทธิในการร้องขอความยุติธรรมได้รวม 3 ชั้น และสิ้นสุดที่ศาลฎีกา จึงเห็นได้ว่า ศาลของประเทศไทยได้ยึดหลักสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรมในการให้โอกาสต่อทั้งจำเลย และฝ่ายผู้ฟ้อง คือ อัยการ นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ถูกตั้งข้อกล่าวหาร่วมกับพวกอีก 11 คน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 48 จากพฤติกรรมร่วมกันซ่องสุมผู้คนทำการฝึกเพื่อต่อต้าน ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาจากหลักฐาน และพยานบุคคลแล้วพิพากษาให้ลงโทษจำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เป็นเวลา 12 ปี

      หลังจากนั้น นายมูฮาหมัดอัณวัร และเครือญาติมีความเห็นว่า ศาลชั้นต้นมิได้ให้ความยุติธรรมเพียงพอ จึงได้ดำเนินการร้องขอความยุติธรรมผ่านศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้อง ต่อมา ฝ่ายอัยการซึ่งเป็นทนายความของรัฐเห็นว่า รูปคดีของนายมูฮาหมัดอัณวัร ยังมีข้อสงสัยในพฤติกรรมอันมีผลต่อความมั่นคงสันติสุขของประชาชน ชุมชนและประเทศ จึงได้เสนอเรื่องให้พิจารณาในระดับสูงสุดคือ ศาลชั้นฎีกา ด้วยพยานหลักฐานที่ครบถ้วน และมีความชัดเจนมิอาจโต้แย้งได้ ศาลฎีกาจึงได้พิพากษายืนตามศาลขั้นต้นคือ จำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เป็นเวลา 12 ปี นับว่าเพียงพอต่อการให้ความยุติธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย แล้ว...

5/14/2556

เงาแห่งสันติภาพที่เลือนลางกับข้อต่อรองที่มืดมน อาชญากรก็คืออาชญากร


 แล้วความเคลือบแคลงใจของหลายฝ่ายเกี่ยวกับบทบาทท่าทีและความจริงใจของผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็นก็ปรากฏชัดและแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงซึ่งแอบแฝงอยู่ภายใต้วาทะกรรม “สันติสนทนา” ด้วยเกมส์รุกที่เหนือชั้นของฮาซัน ตอยิบ และอับดุลการิม คอลิบ ผู้แทนบีอาร์เอ็นซึ่งได้แถลงข้อเสนอ 5 ข้อเผยแพร่ผ่านยูทูบก่อนวันที่จะมีการพูดคุยรอบที่ 3 เพียง 1 วัน  แน่นอนว่าด้วยข้อเสนอทั้ง 5 นั้น ได้สร้างกระแสความไม่เห็นด้วยและได้รับการปฏิเสธจากหลายฝ่าย  ขณะที่ระดับนโยบายรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเจรจาไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธอย่างชัดเจน

          ตามมาด้วยกระแสวิพากษ์แสดงทัศนะของนักวิชาการอีกหลายท่าน โดยเฉพาะท่านที่มีบทบาทชี้นำความเป็นไปในพื้นที่ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยเป็นนักวิชาการที่มีเชื้อสายมลายูและส่วนที่อยู่ในสถาบันส่วนกลาง  จากน้ำเสียงของท่านเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ได้แสดงทัศนะในเชิงสร้างสรรค์ พร้อมชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างมีนัยสำคัญที่น่าสนใจ  ภายใต้ความมุ่งหวังเดียวกันคือ ร่วมกันแสวงหาทางออกด้วยแนวทางสันติเพื่อให้ปัญหาที่ยื้ดเยื้อมานานจบลงโดยเร็ว

          ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ เริ่มตั้งแต่ให้ยอมรับประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา (ซึ่งจริงๆ เวลานี้ต้องเรียกว่าพูดคุย)  การให้มีพยานจากอาเซียน องค์การความร่วมมืออิสลามหรือเอ็นจีโอเข้ามาร่วมพูดคุย รวมถึงการที่ฝ่ายไทยต้องยอมรับว่าบีอาร์เอ็นไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกแต่เป็นขบวนการปลดปล่อยชาวปาตานีนั้น  หากพิจารณาถึงสาระแล้วไม่ใช่เรื่องใหญ่หากทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก  เพราะในทุกเวทีที่มีการเจรจาเพื่อสันติภาพในประเด็นความขัดแย้งใดๆ ก็จำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้เพื่อให้เกิดความพึงพอใจร่วมกันของคู่เจรจา แม้ว่าเจตนาของบีอาร์เอ็นต้องการที่จะยกระดับการพูดคุยเป็นการเจรจาที่สูงขึ้นก็ตาม

          แต่วันนี้กระบวนการสันติภาพยังอยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยเพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายไทยและกลุ่มขบวนการยังไม่ถึงขั้นการเจรจา  ข้อเสนอข้างต้นจึงยังเป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ  เพราะหากกระบวนการมีการพัฒนาไปถึงขั้นการเจรจาแล้วข้อเสนอซึ่งวันนี้ยังพิจารณาร่วมกันได้จะกลายเป็น “ข้อต่อรอง ซึ่งหากถึงเวลานั้นจริงๆ  คู่เจรจาและองค์ประกอบข้างต้นจะเป็นองคาพยศสำคัญในการร่วมกันทำให้บรรลุวัตถุประสงค์สามารถนำไปสู่สันติภาพที่ต้องการ  หรือหนทางแห่งสันติภาพอาจพังทลายลงอย่างไม่เป็นท่าหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลง  ทั้งสองหนทางนี้มีความเป็นไปได้เท่าๆ กันซึ่งนับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งโดยมีชะตากรรมของประชาชนในพื้นที่เป็นเดิมพัน

          โดยรวมแล้วก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณาร่วมกันพร้อมฟังเสียงของประชาชนเจ้าของประเทศด้วย ซึ่งนั้นเป็นวิถีแห่งประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
        ยกเว้นข้อเสนอข้อที่ 4  ที่ดูเหมือนนักวิชาการเหล่านั้นไม่ได้วิพากษ์และให้เหตุผลอย่างชัดเจนคือ       ต้องปล่อยตัวผู้แกนนำแนวร่วมในคดีความมั่นคงโดยไม่มีเงื่อนไข ที่ฟังอย่างไรก็รู้สึกคับข้องใจระคนสงสัยว่านี่คือข้อเสนอที่จะนำไปสู่สันติภาพได้กระนั้นหรือ  เพราะตั้งแต่เหตุการณ์รุนแรงที่ปะทุขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 47 เป็นต้นมา การเสียชีวิตของพลเรือน เจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบกฏหมาย ประชาชนทุกสาขาอาชีพทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม  ไม่เว้นแม้แต่คนแก่ เด็กผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสาต้องสูญเสียชีวิตไปด้วยการก่อเหตุร้ายหลายรูปแบบ เป็นการก่ออาชญากรรมต่อพี่น้องประชาชนอย่างร้ายแรง  แล้วด้วยข้อเสนอข้อนี้หากรัฐบาลไทยยอมรับ แล้วปล่อยให้อาชญากรเหล่านั้นออกมาเดินลอย ชายเสมือนไม่ได้ก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนไว้  รัฐบาลไทยจะตอบคำถามนี้กับประชาชนโดยเฉพาะกับญาติพี่น้องของผู้สูญเสียเหล่านั้นได้อย่างไร

          ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นในข้อนี้จึงไม่ใช่หนทางไปสู่สันติภาพ  แต่เป็นความแข็งกร้าวที่ต้องการกดดันรัฐบาลไทยให้ยอมรับด้วยคิดว่ากลุ่มตนมีแต้มต่อที่สำคัญ กล่าวคือ หากไม่ยอมรับก็ก่อเหตุร้ายต่อไป  และแน่นอนว่าบีอาร์เอ็นนอกจากไม่เคยประกาศความรับผิดชอบต่อการกระทำแม้แต่ครั้งเดียวแล้ว ยังโยนความผิดให้ฝ่ายรัฐทุกครั้งหากเห็นว่าจะเสียมวลชน

          และหากการเสนอตนออกมาเป็นผู้แทนการพูดคุยของบีอาร์เอ็นมีความจริงใจตามที่กล่าวอ้างแล้ว การเปิดเผยตัวตนและขบวนการครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเหตุร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นบีอาร์เอ็นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและต้องรับผิดชอบต่อการก่อเหตุจนนำไปสู่การสูญเสียทั้งหมด ซึ่งผู้ที่ก่อเหตุซึ่งกำลังถูกคุมขังและขบวนการเสนอให้ปล่อยตัวนั้นย่อมต้องเกี่ยวข้องกับบีอาร์เอ็นด้วยเช่นกัน

          ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยการตัดสินใจเรื่องใดๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องต้องนำบทบัญญัติมายึดถือและนำมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการบังคับใช้กฏหมาย เพราะท้ายที่สุดแล้วประชาชนในพื้นที่จะตัดสินใจได้เองว่า ใครที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ใครที่ต้องการให้สันติสุขเกิดขึ้นในพื้นที่  ใครเป็นอุปสรรคขัดขวาง  และใครคืออาชญากร  เพราะอาชญากรก็คืออาชญากร

ซอเก๊าะ  นิรนาม