หน้าเว็บ

2/29/2555

อ้างทหารอุ้มซ้อม บีบลูกอัณฑะ ให้รับเป็นโจรใต้ โวยเรียกร้องความเป็นธรรม องค์กรสิทธิฯ มั่วรับลูก มุขเดิมๆ กลบเกลื่อนความผิด



ชาวบ้านรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ร้องแม่ทัพภาค 4  อ้างทหารอุ้มซ้อม  บีบลูกอัณฑะ ให้รับเป็นโจรใต้   โวยเรียกร้องความเป็นธรรม  องค์กรสิทธิฯ มั่วรับลูก  มุขเดิมๆ กลบเกลื่อนความผิด  
กลายเป็นข่าวอีกครั้งในกรณีชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกร้องขอความเป็นธรรมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าถูกทหารซ้อมทรมานระหว่างการถูกควบคุมตัวเพราะเหตุต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่  ซึ่งข่าวนี้ภายหลังจากถูกโหมประโคมจากสื่อมวลชนหลายสำนักก็กลายเป็นประเด็นร้อนที่ฝ่ายความมั่นคงต้องออกมาชี้แจงด้วยว่า  เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่  เหตุใดข่าวการร้องเรียนลักษณะนี้จึงออกมาบ่อยครั้งขึ้น  ทั้งๆ ที่ฝ่ายทหารได้ชี้แจงอยู่เสมอว่าได้ปฏิบัติตามกรอบที่กฏหมายกำหนดและไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษชน   

เรื่องแบบนี้หากฟังความข้างเดียวตามที่สื่อต่างๆ ช่วยกันป่าวร้องก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่จะพยายามจะสร้างความสงบในพื้นที่  ลองกลับไปดูที่มาที่ไปของการร้องเรียนครั้งนี้ตามลำดับเหตุการณ์กันหน่อยเป็นไง  แล้วค่อยพิจารณาว่าความจริงเป็นอย่างไร

เมื่อวันที่ 10 ก.พ.55  ฝ่ายทหารได้รับข่าวสารว่า  นายซูลกิพลี  ซิกะ ภูมิลำเนาอยู่ที่      บ.พงยือติ ม.9     ต.ลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งมีพฤติกรรมเป็นสมาชิกผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือที่เรียกว่า RKK ได้กลับมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านพี่สาวคือนางซาเร๊าะ  ซิกะ จึงได้สนธิกำลังเข้าควบคุมตัวนายซูลกิพลีฯ  โดยในระหว่างเจ้าหน้าที่เข้าทำการควบคุมตัว  นายซูลกิพลีฯ  ได้ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือทิ้งและไม่ยอมออกมามอบตัว  เจ้าหน้าที่จึงใช้กำลังเข้าควบคุมตัวทั้งที่นายซูลกิพลีฯ  ยังขัดขืนจึงจำเป็นต้องใช้กุญแจมือเพื่อป้องกันการหลบหนี 

หลังควบคุมตัวได้แล้วจึงได้สอบถามชื่อและนามสกุลเพื่อยืนยันตัวบุคคล  แต่นายซูลกิพลีฯ  กลับแสดงตนโดยใช้บัตรประชาชนของนายมะรอสือดี  ซิกะ  ซึ่งเป็นน้องชาย  นั้นแสดงให้เห็นว่าการถอดซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือทิ้งและมีพฤติกรรมอำพรางตัวตนที่แท้จริงโดยใช้บัตรประชาชนของคนอื่นของนายซูลกิพลีฯ  ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาปกปิดความจริงบางอย่าง  เจ้าหน้าที่จึงได้อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวมาซักถามจนที่สุดก็ยอมรับสารภาพจนเองเป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่พยายามติดตามจับกุมตัวมาโดยตลอดจึงได้ต้องทำลายหลักฐานความเชื่อมโยงกับสมาชิกคนอื่นๆ โดยการถอดซิมการ์ดโทรศัพทิ้ง
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการควบคุมตัวนายซูลกิพลีฯ  ไว้ตั้งแต่วันที่ 10 – 16 ก.พ.55 ซึ่งจากการซักถามก็ยอมรับสารภาพเพิ่มเติมว่าตนเองเป็นสมาชิก RKK จริง และได้นำเจ้าหน้าที่ไปชี้จุดที่เคยเป็นที่ซุกซ่อนอาวุธบริเวณที่ต่างๆ  ซึ่งอาวุธเหล่านั้นได้ถูกเคลื่อนย้ายไปแล้วก่อนที่นายซูลกิพลีฯ  จะนำเจ้าหน้าที่มาชี้จุดซุกซ่อนอาวุธ  โดยระหว่างการถูกควบคุมตัวนั้น  ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่าไม่ได้ซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้สารภาพตามที่นายซูลกิพลีฯ  ได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนแต่อย่างใด   และระหว่างการตรวจค้นที่ซ่อนอาวุธเมื่อวันที่ 13 ก.พ.55 นางซาเร๊าะ  ซิกะ  พี่สาวก็ได้ร่วมสังเกตการณ์ด้วย   ดังนั้นการที่นายซูลกิพลีฯ อ้างว่าเจ้าหน้าที่  นำไปชี้จุดต่างๆแล้วยัดเยียดข้อหาโดยที่ตนไม่รู้เรื่องจึงฟังไม่ขึ้น

ข้อมูลที่สนับสนุนคำกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ซ้อมทรมานอีกเรื่องหนึ่งที่มีน้ำหนักเชื่อถือได้คือ   การตรวจร่างกายของแพทย์ของโรงพยาบาลค่ายอิงยุทธบริหารซึ่งได้ตรวจร่างกายนายซูลกิพลีฯ  ในวันที่ 17 ก.พ.55 ภายหลังจากถูกควบคุมตัวมาแล้วหนึ่งสัปดาห์  ผลการตรวจไม่พบบาดแผลที่นายซูลกิพลีฯ  กล่าวอ้างอาทิ  ถูกจับเอาศรีษะโขกพื้นจนศรีษะแตก  ถูกตีด้วยของแข็งบริเวณใบหน้า  ถูกถีบบริเวณหน้าอก หรือหนักถึงกระชากที่อวัยวะเพศจนสลบแต่อย่างใด  เพราะการเกิดบาดแผลด้วยการทำร้ายร่างกายถึงขนาดนั้น  ด้วยเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ย่อมจะปรากฏร่องรอยให้เห็นบ้าง   นอกจากนี้ระหว่างการถูกควบคุมตัวนายซูลกิพลีฯ  ยังได้ถูกตรวจร่างกายเพิ่มเติมโดยแพทย์ทั้งของโรงพยาบาลค่ายอิงยุทธบริหาร และแพทย์ของโรงพยาบาลศูนย์ยะลา อีกถึง 4 ครั้งรวมกับครั้งแรกเป็น 5 ครั้ง   ซึ่งผลการตรวจทุกครั้งก็ออกมาตรงกันว่านายซูลกิพลีฯ  มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงและไม่พบบาดแผลจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามที่กล่าวอ้าง
ผลการตรวจข้างต้นจึงยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีการซ้อมทรมานนายซูลกิพลีฯ  ระหว่างถูกควบคุมตัว  เพราะเรื่องแบบนี้แพทย์ทั้งสองท่านย่อมใช้จรรยาบรรณในการตรวจร่างกายและให้ความเห็นแพทย์ตามความเป็นจริงอย่างแน่นอน  แล้วอย่างนี้พอจะเดาได้หรือไม่ว่าใครกันล่ะที่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

การร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและส่งเอกสารร้องเรียนไปยัง พลโทอุดมชัย  ธรรมสาโรรัช แม่ทัพภาคที่ 4  เพื่อให้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งขณะนี้ทราบว่ากำลังดำเนินการอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงจะต้องทำความจริงให้ปรากฏตามขั้นตอนในฐานะที่ถูกกล่าวหาพาดพิง 

แต่จากเนื้อความในจดหมายร้องเรียนที่ถูกพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์โดยพี่สาวของนายซูลกิพลีฯ  และการส่งเอกสารถึงแม่ทัพภาคที่ 4 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ก็ยังมีกลิ่นทะแม่งๆ ของการจงใจสร้างประเด็นความขัดแย้งโดยการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ  ทั้งสำนวนภาษาในเอกสารร้องเรียนของนางซาเร๊าะ ซิกะและการกล่าวถึงการที่ประเทศไทยผูกพันต่อพันธกรณีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน   ที่ดูอย่างไรก็ทราบได้ว่านี่ไม่ได้เกิดจากการเขียนโดยชาวบ้าน  แต่เป็นการร่างให้โดยผู้มีความรู้ด้านกฎหมาย 

 และเช่นเคยองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมซึ่งเป็นองค์กรที่มักหยิบยกเรื่องไม่ดีของฝ่ายความมั่นคงออกมานำเสนอโดยไม่เคยตรวจสอบข้อมูลก่อน ก็รีบเร่งออกมาช่วงชิงเอาความดีความชอบในทันที  ซึ่งถึงเวลานี้ด้วยผลยืนยันการตรวจร่างกายของแพทย์    ก็น่าจะรู้ได้แล้วมั้งว่าการเอาข้อมูลผิดๆ มาทำเป็นประเด็นเป็นเรื่องไม่ควรทำ  เพราะหากต้องการสร้างชื่อเสียงและผลประโยชน์ให้องค์กร  ยังมีวิธีอื่นๆ ที่สร้างสรรค์และง่ายกว่านี้อีกตั้งเยอะ  หรืออาจเป็นเพราะคิดเรื่องดีๆ ไม่เป็น?

แต่งานนี้ไม่ว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของแม่ทัพภาคที่ 4 จะสรุปผลจะออกมาเป็นอย่างไรในอีกมุมหนึ่งก็สามารถชี้ให้เห็นได้ว่า  จากคำรับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงของนายซูลกิพลีฯ  ซึ่งหมายความว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ก่อกรรมทำเข็ญกับชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องบาดเจ็บ/สูญเสียชีวิตมายาวนาน โดยสรุปก็คือเขาเป็นโจรนั้นเอง   และผลการตรวจที่ยืนยันตรงกันของแพทย์ทั้งสองท่านว่าไม่มีบาดแผลที่เกิดจากการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่ก็สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน    แต่เหตุใดบุคคลและองค์กรเหล่านี้ซึ่งเป็นหน้าเดิมๆ  ถึงมีความพยายามที่จะปกป้องผู้ที่ทำผิดกฎหมายและสร้างประเด็นความแตกแยกให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ต้องการความสงบแห่งนี้นัก 

และเช่นเคยกรณีเช่นนี้สื่อมวลชนที่ได้นำเสนอผ่านสื่อในมือของตนควรจะได้ระมัดระวัง  และใช้จรรยาบรรณในฐานะฐานันดร 4 อย่างมีสำนึกรับผิดชอบ  ความรวดเร็วในการนำเสนอเป็นสิ่งพึงประสงค์ในโลกยุคที่มีการแข่งขันด้านสังคมข่าวสารสูง  แต่ในความรวดเร็วนั้นต้องมีองค์ประกอบอันสำคัญที่จะขาดเสียมิได้คือความถูกต้องชัดเจนของข้อมูล  การนำเสนอด้านเดียวโดยไม่ตรวจสอบก่อนแล้วสร้างผลเสียที่ไม่เอื้ออำนวยต่อบรรยากาศในการเสริมสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่น่าเสียดายความมุ่งมั่นทุ่มเท  เสียสละแม้กระทั่งเลือดเนื้อและชีวิตของเจ้าหน้าที่จำนวนมาก    รวมถึงชีวิตของประชาชนตาดำๆ ที่ต้องมารับกรรมที่ไม่ได้ก่อซึ่งต้องมาสังเวยให้กับเหตุการณ์ในพื้นที่แห่งนี้  ในฐานะที่เป็นสื่อเหมือนกัน   อยากขอร้องว่าอย่าเอาวิชาชีพที่มีเกียรติไปแลกกับเศษเงินเล็กๆน้อยๆ เลย  ชาวบ้านที่นี่ยังรอความเห็นใจและความร่วมมือของพวกท่านอยู่   


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น