หน้าเว็บ

5/14/2555

OIC เยือนภาคใต้ไทย ชี้ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ประณามผู้ก่อเหตุรุนแรง ย้ำขัดหลักศาสนา






ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC  เยือนภาคใต้ไทย ชี้จุดยืนของโอไอซีไม่มีนโยบายแทรกแซงทางการเมือง  ย้ำไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และขอประณามการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ที่กระทำต่อประชาชนทุกศาสนิกว่าขัดกับหลักการทางอิสลาม และเห็นว่าการทำลายชีวิตหนึ่งชีวิตเปรียบได้กับการฆ่ามนุษย์ทั้งมวล ขณะที่การใช้กฎหมายความมั่นคงต้องไม่ละเมิดสิทธิ

ในโอกาสที่ นายซาเยด คาสเซม เอล-มาสรี (H.E.Mr.Sayed  Kassem El-Masry) ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC (Organization of Islamic Cooperation) พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ของไทย เมื่อวันพุธที่ 9 พ.ค.2555
ได้มีการพบปะหารือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และบุคคลสำคัญอีกหลายราย รวมทั้งร่วมกิจกรรมหลากหลายในพื้นที่

          ที่ห้องประชุม ศอ.บต. คณะของ นายซาเยด คาสเซม ได้ประชุมร่วมกับ พ.ต.อ.ทวี สมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) ประธานคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัด ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน ภาค 4 สน.) และผู้แทนจากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ในพื้นที่และทิศทางการแก้ไขปัญหา 

          ทั้งนี้ ก่อนเข้าประชุม นายซาเยด คาสเซม ยังได้พบและพูดคุยกับบัณฑิตอาสาประมาณ 200 คนที่มารอต้อนรับด้วย
          นายซาเยด คาสเซม กล่าวตอนหนึ่งว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว แต่เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งที่ 2 ได้มีโอกาสเข้าพบบุคคลระดับสูงในรัฐบาล ทำให้มีความประทับใจในการพัฒนาการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นไปในทางบวก รู้สึกประทับใจที่รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา เริ่มให้ความสำคัญกับภาษาถิ่น (มลายู) ในสถาบันการศึกษาของรัฐ รวมทั้งเป็นสิ่งที่ดีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในเรื่องการพูดคุยกับทุกฝ่าย ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในอนาคต
          "ปัญหาภาคใต้ไม่ได้เป็นปัญหาทางศาสนา ปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องปกติในประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยทั่วๆ ไปในโลกนี้ เพราะฉะนั้นแนวทางการแก้ปัญหาคือการใช้แนวทางสันติวิธีสร้างความเข้าใจและให้เกียรติ ยอมรับซึ่งกันและกัน ถือเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริงได้ ทราบว่าในอนาคตรัฐบาลจะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และจะกลับมาใช้กฎหมายปกติ ก็รู้สึกดีใจ เพราะทราบดีว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีส่วนที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางโอไอซีเป็นห่วง"

ไม่แทรกแซงไทย-ไม่หนุนแยกดินแดน-ประณามพวกก่อเหตุร้าย
          นายซาเยด คาสเซม กล่าวอีกว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น โอไอซีได้ให้ความสนใจเพื่อศึกษาและแสวงหาแนวทางสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับโอไอซี กระทั่งปี 2550 เลขาธิการโอไอซี (นายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลู ; Ekmeleddin Ihsanoglu) กับรัฐบาลไทย ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือบนพื้นฐานของการให้เกียรติ เพราะโอไอซีไม่ได้เข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย แต่ให้ความสนใจกับปัญหาของประเทศไทยอย่างมาก ไม่เฉพาะแต่คนมุสลิมเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญทั้งหมดกับคนทุกศาสนา

          จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่  โอไอซีขอประณามผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงทุกระดับ การฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไทยพุทธ คัมภีร์อัลกรุอานบอกไว้ว่า การฆ่าหนึ่งชีวิตเหมือนกับฆ่าคนทั้งโลก อยากให้ทางรัฐบาลใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหานี้ และโอไอซีไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนออกจากประเทศไทย

 ถกเลขาฯ สมช.เห็นพ้องปมขัดแย้งไม่ใช่เรื่องศาสนา      
          วันเดียวกัน นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี ยังได้นำเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโอไอซี เข้าพบและหารือกับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่อาคารสภาความมั่นคงแห่งชาติ ภายในทำเนียบรัฐบาลด้วย

          ภายหลังการหารือ พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า โอไอซีมีหน้าที่ติดตามดูแลความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมทั่วโลก การเยือนไทยครั้งนี้ก็เพื่อติดตามดูความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการหารือก็ได้ชี้แจงถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2555-2557 ว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้อง ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน มีการทำประชามติร่วมกับชาวมุสลิมของประเทศปากีสถานและมาเลเซียด้วย ที่สำคัญนโยบายนี้ได้ผ่าน สมช. ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐสภา โดยคณะผู้แทนพิเศษโอไอซีได้ชื่นชมนโยบายฉบับนี้ด้วยเช่นกัน

          ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดคุยถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่หรือไม่  พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า ทางโอไอซีได้ทราบถึงสถานการณ์อยู่แล้ว ส่วนมากจะถามถึงเรื่องการดำเนินนโยบายในการแก้ปัญหา และอยากเห็นความสงบสุขเกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งโอไอซีเองก็พร้อมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
          "การหารือในครั้งนี้เห็นตรงกันคือ ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา แต่เป็นความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งสะสมมานานโดยไม่ได้รับการแก้ไขในทางที่ถูกต้อง" เลขาฯสมช.กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น