หน้าเว็บ

6/14/2555

ลมปากนักการเมืองที่ดีแต่พูด....“ให้ชาวบ้านลำบาก”



              ปัญหาการก่อเหตุรุนแรงพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครรินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 มกราคม 2547 ทำให้รัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคงรีบดำเนินการค้นหาต้นตอ และสาเหตุที่แท้จริงรวมถึงกลุ่มขบวนการที่สร้างสถานการณ์ ความรุนแรง ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพื่อหาวิธีและดำเนินการหยุดยั้งปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยุติโดยเร็ว และยั่งยืน
จากความพยายามของรัฐไทยทุกสมัยจนถึงปัจจุบันในสมัยของพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล และมีนายกยิ่งลักษณ์   ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยเป็นนายกรัฐมนตรีและการทำงานของฝ่ายความมั่นคงพร้อมด้วยหน่วยงานทุกส่วนที่พยายามหาสาเหตุและรากเหง้าของกลุ่มขบวนการ
ที่ก่อเหตุสร้างสถานการณ์ความแตกแยก ความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้เงื่อนไขประวัติศาสตร์ความแตกต่างศาสนา เชื้อชาติ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และประเพณีรวมทั้งการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่รัฐในอดีต ความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐในปัจจุบัน เป็นเงื่อนไขในการโฆษณาชวนเชื่อต่อชาวไทยพุทธมุสลิม โดยใช้วิธีการกระทำแบบขบวนการก่อการร้าย สร้างสถานการณ์เหตุรุนแรง โดยดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีองค์กรต่างๆคอยสอดแทรก สนับสนุนร่วมปฏิบัติการเพื่อให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย ลดความเชื่อมั่นของประชาชนต่ออำนาจรัฐและกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศจนสถานการณ์ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติในที่สุด เพื่อให้เกิดแรงส่งของประชาชน และองค์กรนอกประเทศให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนในที่สุด

ทั้งนี้ปัญหาความไม่สงบในดินแดนจังหวัดภาคใต้ยังสอดแทรกด้วยมิติที่ซับซ้อนหลากหลายกรณีที่ส่งผลให้เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยความละเอียดอ่อน และการตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มขบวนการ เช่น ปัญหายาเสพติด, สินค้าหนีภาษี, น้ำมันเถื่อน, ที่ดินทำกิน, อิทธิพลและการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นตัวแปลสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นลง อ่อนไหวไปตามสถานการณ์
จากความพยายาม และความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งความเสถียรภาพรัฐบาลปัจจุบันและความเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของฝ่ายความมั่นคง พร้อมการประสานความร่วมมือกันอย่างเป็นเอกภาพของทุกส่วนได้แก่ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งชาติ รวมทั้งกระทรวง  ทบวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยงข้องได้แก่ กระทรวงการยุติธรรม กระทรวงการศึกษาธิการ เป็นต้น จัดทำแผนร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจนเป็นผลสำเร็จทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ เช่น องค์กรต่างประเทศไม่แทรกแซงจากผลการเยือนและแถลงการณ์ของที่ปรึกษา เลขาฯ OIC    เมื่อวันที่ 7 – 13 พ.ค.55 ที่ผ่านมานั้นเองเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงว่า ในสงครามความขัดแย้งท่ามกลางประชาชนการร่วมมือจากทุกฝ่ายจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขแก่ประชาชนในที่สุด

แต่ก็นั่นแหละความเข้มแข็งและมั่นคงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกลับมาของกลุ่มวาดะห์ที่ปลดล็อกจากบ้านเลขที่ 111 ซึ่งสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคเพื่อไทยจะส่งผลให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามเสียประโยชน์ จึงไม่แปลกเลยที่นักการเมืองบางคนที่มีภูมิหลังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวมของประชาชน โดยไม่แคร์ความจริงหรือคิดว่าจะเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มขบวนการที่พ่นลมจากปากหวังลดเครดิตของรัฐบาล
 กรณี OIC เดินทางมาเยือนประเทศไทยผ่านสื่อมวลชนท้องถิ่นบางฉบับว่า “การที่ตัวแทนโอไอซีมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ได้แต่พียง“ลมปาก”เท่านั้น โดยนักการเมืองผู้นี้ถึงกับหน้ามืดนำข่าวลือในพื้นที่สร้างความแตกแยก เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มขบวนการ มาเป็นประเด็นสร้างวาทะกรรมโจมตีรัฐบาล
          เรื่องที่เผยออกมาโดยอดีต ส.ส.ของพี่น้องชาวนราธิวาสผู้นี้พวกเราไม่ปฏิเสธว่าในฐานะที่ อดีต ส.ส. ผู้นี้เป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศ ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ความคิดเห็นควรตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง และนำไปสู่การแก้ไข มิใช่เพิ่มความสงสัยคลุมเครือ ตัวอย่างเช่น           เรื่องเหตุการณ์บ้านปุโล๊ะ ปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ที่ไม่บอกความจริงว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารพรานในเหตุการณ์ถูกสั่งพักราชการและคดีอยู่ในขบวนการของศาล รวมทั้งญาติผู้เสียชีวิต ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลทันที ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนทำอย่างนี้มาก่อน และการให้ข้อมูลในด้านลบ ซึ่งเป็นกับดักหลุมพรางวิธีการโฆษณาชวนเชื่อ ของกลุ่มขบวนการในพื้นที่ ซึ่งเป็นเพียงข่าวลือ ที่นักการเมืองท่านนี้ยังหน้ามืดจับมาเป็นประเด็น เช่น ทหารพรานรุมโทรมนักเรียนหญิงมุสลิมในอำเภอยะรัง ซึ่งไม่มีการแจ้งความในพื้นที่แต่อย่างใด รวมทั้งทุกส่วนราชการในพื้นที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในอำเภอยะรังต่างช่วยกันหาความจริงก็ไม่ปรากฏเหตุการณ์ดังกล่าว ยิ่งข้อมูลที่ว่าข้าราชการหญิงมุสลิมคนหนึ่งไม่ได้เลื่อนเป็นผู้อำนวยการ หรือ รองผู้ว่า แม้กระทั่งข่าวลือที่บริษัทขายรถยนต์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่อนุญาตให้พนักงานหญิงมุสลิมคลุมฮิญาบในขณะทำงาน นักการเมืองผู้นี้ไม่รู้เลยหรือว่าอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีท่านก็เป็นมุสลิม ซึ่งถูกกลุ่มขบวนการลอบวางระเบิดจนแทบเกือบไม่รอด ยิ่งอดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในอดีต ก็คือหัวหน้าพรรคการเมืองกลุ่มวาดะห์ และผู้นำกลุ่มมวลชน กลุ่มสตรี ผู้นำท้องที่ใน 3 จังหวัด ก็ล้วนแต่เป็นสตรีมากมาย จะมีก็แต่แวดวงการเมืองเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น อบต., เทศบาล, อบจ. หรือสนามการเมืองใหญ่ ที่สตรีมุสลิมไม่มีโอกาสลงแข่งขันก็ด้วยการกีดกันเพราะหากสตรีมุสลิมคนไหนกล้าลงชิงแช่งขันการเมืองก็จะถูกอำนาจมืดกดดัน หรือพวกนักการเมืองบางกลุ่ม ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงเข้ากดดัน ซึ่งก็เป็นการจำกัดสิทธิสตรีของคนในศาสนาอิสลามด้วยกันเอง จึงทำให้ยิ่งรู้ใส้ เห็นชาติอดีต ส.ส.คนนี้ทันทีว่าไม่เคยมาสัมผัสคลุกคลี รับรู้ข้อมูลความจริงใน 3 จังหวัดภาคใต้เลย เพียงแต่นั่งบนหอคอยงาช้างดูประชาชนตาดำๆ พี่น้องมุสลิม และพี่น้องชาวพุทธที่ต้องเดือดร้อนจากข้อมูลข่าวลือพวกนี้อยู่ทุกเมื่อทุกวัน

          น่าแปลกใจที่นักการเมืองท่านนี้กล้าหยิบยกข่าวลือในพื้นที่มาเป็นประเด็นการเมืองโดยไม่กลัวเลยว่าจะเป็นเครื่องมือของกลุ่มขบวนการที่ใช้ข่าวลือ และการโฆษณาชวนเชื่อเป็นยุทธวิธีในการสร้างความหวาดระแวงลดความเชื่อมั่นประชาชนจากอำนาจรัฐตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ สร้างความขัดแย้งมากขึ้นในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เหตุการณ์ความจริงในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสในพื้นที่ตนเองเคยเป็นอดีต ส.ส.ซึ่งโดยสถานะแล้วคือ ผู้อาวุโสผู้ทรงเกียรติจากชายแดนภาคใต้
     ที่ควรต้องหยิบยกมาเป็นประเด็นมากที่สุด เช่น เรื่องที่นายมุกตาร์ กีละ หัวหน้าพรรคประชาธรรมถูกผู้ก่อเหตุขบวนการยิงเสียชีวิต ณ.บ้านพักของตนเอง ซึ่งเป็นเกมส์การเมืองที่ใช้ขบวนการก่อเหตุรุนแรงเป็นเครื่องมือ เมื่อคืนวันที่ 15 ธ.ค.54  และเตรียมโยนความผิดใส่ร้ายว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่โชคดีที่ผู้ลงมือสังหารถูกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านยิงเสียชีวิต พร้อมอาวุธที่ใช้สังหารมุกตาร์ฯ จึงรู้ความจริงว่าเป็นขบวนการก่อเหตุรุนแรงที่ลงมือฆ่าคนดีๆที่ทำเพื่อชาวนราธิวาส พี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จริงๆ ที่ชาวบ้านพร้อมที่จะให้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวแทน ของพี่น้องมลายูมุสลิมที่ช่วยเหลือชาวบ้านด้วยแนวทางสันติวิธี ในการเมืองระดับชาติ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล หาได้เหมือนกับนักการเมืองบางคนที่มีภูมิหลัง เห็นคนอื่นดีกว่าตนไม่ได้ ไม่เคยมาช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริงประชาชนจึงอยากจะถามนักการเมืองผู้นี้ว่าท่านอยากเห็นพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เดินทางไปสู่สันติสุข ในเมื่อทุกฝ่ายกำลังทำงานโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก หรืออยากจะเห็นความแตกแยกที่ผู้จะได้รับความทุกข์ยากคือ “ประชาชน” ผู้ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่ด้วยเลย
   น่าเสียใจแทนชาวบ้านจริงๆ ที่ผู้อาวุโสทางการเมือง ผู้แทนประชาชนหลายสมัย ที่พึ่งยามยากของประชาชนในอดีต ความหวังของพี่น้องชาวมลายูมุสลิมจะเปลี่ยนไปได้ถึงขนาดนี้ เอาละครับ อย่างไรเสียท่านอดีต ส.ส. ท่านนี้ก็เคยต้องสู้สร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของพวกเรามานาน
                  พวกเราจึงหวังที่ท่านจะได้ใช้ความรู้ ประสบการณ์อันมากหลาย มุ่งสร้างสรรค์ความเจริญ ความผาสุกถาวรให้เกิดขึ้นในดินแดนผืนนี้เสียที และเราก็เชื่อว่าท่านเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่สามารถทำได้สำเร็จ เพราะท่านเป็นอดีต ส.ส. ที่ประชาชนมีความศรัทธาเชื่อถือมากที่สุดอีกท่านหนึ่ง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น