หน้าเว็บ

7/23/2555

จากกระบวนการยุติธรรม ถึงบทบาทของ NGOs ใน จชต. “ความพยายามที่สวนทาง”


           การตัดสินคดีของศาลจังหวัดนราธิวาส ให้ประหารชีวิตนายมะธาฮา ยะสีงอ ผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงหลายคดีในพื้นที่ จชต. เมื่อวันที่ 16 ก.ค.55 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงกระบวนการศาลยุติธรรม ที่มีการพิจารณาคดีอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีความมั่นคงในพื้นที่ จชต. ที่มีความละเอียดอ่อน และมักถูก หยิบยกประเด็นที่มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาแล้วศาลต้องพิจารณาสั่งยกฟ้องเนื่องจากขาดหลักฐานที่จะนำไปสู่การยืนยันตัวผู้กระทำผิดได้อย่างชัดเจน 

        ที่สำคัญคือ การได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรภาคประชาสังคมหรือ NGOs ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ต้องหาหลายรายที่ฝ่ายความมั่นคงมีข่าวสารหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นผู้กระทำผิด แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแล้วมักจะถูกยกฟ้องด้วยเหตุผลข้างต้น และเมื่อใดก็ตามที่เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้น องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่ไม่ต้องเอ่ยชื่อแต่เป็นที่ทราบกันดีถึงบทบาทในการให้การช่วยเหลือผู้เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรง ก็จะรีบเร่งออกมาช่วงชิงเพื่อสร้างความเหนือกว่าด้านข่าวสารด้วยการโจมตีฝ่ายความมั่นคงในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนทันที 

      ซึ่งถ้ายังจำกันได้ถึงกรณี นายซูลกิฟลี ซิกะ ผู้ต้องสงสัยซึ่งมีพฤติกรรมเป็นสมาชิกผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือ RKK ที่ถูกฝ่ายความมั่นคงควบคุมตัว โดยในระหว่างเจ้าหน้าที่เข้าทำการควบคุมตัว นายซูลกิพลีฯ ได้ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือทิ้งและยังใช้หลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนของคนอื่นมาแสดงตน ได้ร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานระหว่างควบคุมตัว จนองค์กรภาคประชาสังคมได้ออกมาโหมกระพือเรื่องราวโจมตีฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในท้ายที่สุดจากผลการตรวจร่างกายของแพทย์ถึง 3 คนยืนยันได้ว่าไม่มีการซ้อมทรมานแต่อย่างใด และท้ายที่สุด นายซูลกิฟลีฯ ก็ถูกจับกุมอีกครั้งในข้อหาร่วมกับพวกเข้าโจมตีฐานพระองค์ดำ ซึ่งก็ก่อเหตุพร้อมกับนายมะธาฮา ยะสีงอ นั้นเอง 

      และนี่เป็นอีกหนึ่งในหลายๆ ครั้งที่ NGOs เหล่านั้นไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่ตนเองได้กระทำลงไปอีกเช่นเคย 

         กรณีนายมะธาฮา ยะสีงอ ซึ่งถูกศาลตัดสินประหารชีวิตครั้งนี้ ด้วยเหตุแห่งความผิดโดยเมื่อวันที่ 19 ม.ค.54 ได้ร่วมกับพวกอีกประมาณ 40 คนโจมฐานปฏิบัติการ ร้อย ร.15121 หรือฐานพระองค์ดำ ทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บและเสียชีวิต และยังได้นำอาวุธจากคลังอาวุธไปได้จำนวนมาก จนเมื่อวันที่ 11 ก.พ.55 ได้เกิดการปะทะระหว่างผู้ก่อเหตุรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อ.บาเจาะ นราธิวาส ส่งผลให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิตจำนวน 1 คน จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบของกลางจำนวนมากทั้งอาวุธและกระสุน ในจำนวนนั้นมีกระเป๋าสตางค์ซึ่งมีบัตรประชาชนของ นายมะธาฮา ฯ ตกอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งจากการตรวจสารทางพันธุกรรมหรือ DNA พบว่าตรงกันกับนายมะธาฮา ฯ เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าทำการจับกุมเมื่อวันที่ 5 ก.ค.55 ซึ่งก็ได้พบหลักฐานสำคัญที่มัดตัวผู้ต้องหาแบบดิ้นไม่หลุดคือ พบอาวุธปืน M16 อีกจำนวนหนึ่งกระบอกที่บ้านของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นปืนที่ถูกปล้นไปจากฐานพระองค์ดำนั้นเอง 

        เจอหลักฐานชัดเจนอย่างนี้นายมะธาฮา ฯ ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาจึงให้การรับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงจริง จนนำไปสู่การตัดสินให้ประหารชีวิตโดยศาลจังหวัดนราธิวาสในข้อหาก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร พยายามฆ่าในที่สุด 

 ถึงกระนั้นการจับกุมดังกล่าวก็ยังมีการร้องเรียนของผู้ต้องหาว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานให้รับสารภาพไปยังองค์กรสิทธิมุนษยชนแห่งชาติ จนเป็นเหตุให้คำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องที่ฝ่ายความมั่นคงต้องถูกตรวจสอบ และด้วยวัตถุพยานต่างๆ ที่ฝ่ายความมั่นคงได้ตรวจสอบและชี้แจงไปยังองค์กรสิทธิมุนษยชนแห่งชาติ ทำให้คำร้องนั้นกลายเป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาพยายามดิ้นรนหนีความผิดเพื่อผลทางรูปคดีและลดความเชื่อมั่นในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งเมื่อศาลพิจารณาจากหลักฐานและสำนวนการสอบสวนแล้วตัดสินลงโทษให้ประหารชีวิต จึงย่อมเป็นการแสดงให้เห็นถึงประสิทธภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่จับกุมได้ถูกคน ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่กล่าวหา 

    คดีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสตรงไปตรงมา และการพิทักษ์รักษาความศักสิทธิ์ของกระบวนการศาลยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ตามครรลอง 

       ที่สำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยผดุงความยุติธรรมทางคดีให้เกิดขึ้นได้คือ ความร่วมมือขององค์กรภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องไม่คำนึงแต่เรื่องการให้ความช่วยเหลือโดยไม่พิจารณาถึงผลเสียทางรูปคดีโดยไม่มองถึงประโยชน์ส่วนรวม เพราะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้สำหรับบทบาทของ NGos บางองค์กรกำลังตกเป็นเครื่องมือของผู้ก่อเหตุรุนแรงทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว นี่คือความจริงที่ NGos ต้องตระหนัก เพราะการให้ความช่วยเหลือผู้ก่อเหตุรุนแรงทั้งๆ ที่รู้ว่ามีความผิดจริงไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ล้วนเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ในพื้นที่เลวร้ายลงจนยากจะแก้ไข 

    เพราะจากสถิติการจับกุมในคดีความมั่นคงนั้น มีจำนวนไม่น้อยที่ผู้ต้องหาที่ได้รับการช่วยเหลือจนหลุดคดีไป ย้อนกลับมาก่อเหตุเข่นฆ่าประชาชนได้ตามอำเภอใจต่อไป มิหน่ำซ้ำยังใช้ความรุนแรงและข่มขู่สร้างความเกรงกลัวให้กับชาวบ้านมากยิ่งขึ้น เพื่อแสดงให้ชาวบ้านในพื้นที่เห็นว่าอำนาจรัฐไม่สามารถเอาผิดตนเองได้ 

         แล้วเมื่อถึงตรงนี้ใครล่ะที่จะเป็นผู้แก้ปัญหาและดูแลความปลอดภัยให้กับชาวบ้านต่อไป บอกได้เลยว่าไม่ใช้ NGos หรอก 

       ได้เคยเสนอแนวทางการในการแก้ไขปัญหาการไม่บูรณาการกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับ NGos มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงเวลานี้ก็ยังจะขอเสนอแนวทางนั้นต่อไป เพราะจะเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงนั้นคือ “การสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกัน” ของทั้งสองฝ่ายคือ องค์กรภาคประชาสังคมกับฝ่ายความมั่นคงมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ เพิ่มโอกาสในการพบปะพัฒนาสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดความเห็นที่ตอนนี้อาจมีความแตกต่างเนื่องจากวัฒนธรรมองค์กรหรือเหตุผลอื่นใด เพื่อสร้างความเข้าใจปัญหาร่วมกัน ทำงานร่วมกันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลโดยมุ่งสู่ประชาชนเป็นสำคัญ ความสงบสุขก็จะกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืนในอีกไม่นาน 

จากที่เฝ้าสังเกตและติตดามการดำเนินการแก้ไขปัญหาภาคใต้ตามแนวทางที่ต่างกันของทั้งสองฝ่ายมาพอสมควร ถึงวันนี้เชื่อ่ได้ว่าฝ่ายความมั่นคงน่าจะพร้อมแล้วที่จะประสานความร่วมมือกัน คงเหลือแต่องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่นี่แหละว่ามองเห็นโอกาสบนวิกฤตนี้หรือไม่ 

ถอยหลังคนละก้าวแล้วเริ่มได้เลย....ยังไม่สาย สันติสุขของพี่น้องประชาชนรออยู่ข้างหน้าแล้วครับ 

ซอเก๊าะ นิรนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น