ถึงชั่วโมงนี้การติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกำลังเป็นที่สนใจของทุกฝ่ายทั้งฝ่ายความมั่นคง ศอ.บต. และประชาชาชนทั่วไปในทั้งและนอกพื้นที่ และแน่นอนว่าฝ่ายขบวนการเองก็ต้องติดตามความเป็นไปนี้ในลักษณะเกาะติด เพราะนี่จะเป็นจุดหักเหสำคัญของสถานการณ์ว่าจะดีขึ้นหรือเลวร้ายลงไปอีก
ที่ว่าดีขึ้นคือ ความร่วมมือระหว่างแกนนำระดับปฏิบัติการของขบวนการกับฝ่ายความมั่นคงครั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีบทสรุปที่แน่ชัดว่าจะพบทางออกร่วมกันหรือไม่ แต่เชื่อได้ว่าระหว่างนี้สถานการณ์ความรุงแรงจะเบาบางลง แม้ว่าจะยังมี ผกร. กลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยและยังคงปฏิบัติการจองเวรกับเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ต่อไป แต่อย่างน้อยๆ ความเคลื่อนไหวก่อเหตุในพื้นที่รับผิดชอบของกลุ่ม “เจ๊ะอาลี” หรือ นายแวอาลี คอบเตอร์ วาจิ ก็น่าจะลดน้อยลง และที่ว่าจะเลวร้ายลงก็เพราะแกนนำระดับนโยบายที่อาจไม่เห็นด้วยจะสั่งการให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงกลุ่มอื่นๆ เร่งก่อเหตุรุนแรงเพื่อแสดงให้เห็นว่ายังคงมีศักยภาพในการเข่นฆ่าประชาชนต่อไป ซึ่งตรงนี้น่าเป็นห่วง
แต่ที่แน่ๆ จากผลของการตัดสินใจของ “เจ๊ะอาลี”และสมาชิกรวม 93 คนครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการดิ้นทุรนทุรายของฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อของขบวนการขนานใหญ่ กระแสการบิดเบือนข่าวสารชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้าถูกส่งผ่านสื่อชนิดต่างๆ โดยเฉพาะสื่อเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศราวห่ากระสุนซึ่งรวมถึงเว็บไซต์ http://www.ambranews.com ซึ่งเป็นของคนไทยขายชาติบางคนที่ไปเช่าSever ของประเทศมาเลเซีย ที่คนในวงการสื่อรู้ดีว่ามักจะเสนอข่าวเผาบ้านตัวเองโดยมุ่งโจมตีฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลไทยเป็นการเฉพาะในขณะที่ข้างฝ่ายมาเลเซียแสร้งทำไม่รู้ไม่เห็น ด้วยการสร้างภาพของ “เจ๊ะอาลี” แกนนำระดับสั่งการในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ผู้ก่อคดีความมั่นคงมาอย่างโชกโชน และเป็นผู้ร่วมวางแผนสั่งการให้แนวร่วมนำกำลังเข้าปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อ 4 ม.ค.47 ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตไป 4 นาย และเพื่อนร่วมขบวนการที่ออกมารายงานตัวพร้อมกันครั้งนี้ให้กลายเป็นชาวสวนยาง เรียกว่าจากสหายร่วมรบกลายเป็นศัตรูในทันทีเลยที่เดียว
ขณะเดียวกันก็กุข่าวว่าทั้ง 93 คนที่มาพบปะพูดคุยเพื่อสร้างแนวทางสันติในวันนั้นได้รับค่าจ้างจากฝ่ายความมั่นคงมาแสดงละคร นี่ย่อมแสดงถึงทาสแท้ในอุดมการณ์จอมปลอมของขบวนการที่ไม่เคยให้ความจริงใจกับใครแม้คนที่เคยร่วมอุดมการณ์ ด้วยความกลัวว่าจะเสียมวลชน
นี่จึงเป็นการดิ้นรนของขบวนการเพื่อรักษามวลชนไว้ให้มากที่สุด เพราะรู้กันอยู่ว่าการต่อสู้ในพื้นที่นี้ใครเพลี่ยงพล้ำงานด้านมวลชน ประตูแพ้ก็อยู่ไม่ไกล
ด้านกลุ่มพูโลก็เข้าร่วมผสมโรงกับเค้าด้วยแบบไม่ทิ้งลาย “เสือกระดาษหิวเงิน” ตั้งหน้าตั้งตาเก็บเกี่ยวการปฏิบัติของกลุ่มอื่นๆ มานำเสนอแบบบิดเบือนตามถนัดผ่านเว็บไซต์ของกลุ่ม เพื่อแอบอ้างหาผลประโยชน์ใส่ตนเองและพวกพ้องโดยการแบมือขอเงินจากต่างประเทศเหมือนขอทานที่ไร้ยางอายต่อไป
และที่น่าขำคือ งานนี้พูโลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลยสักนิด ไม่รู้จะออกมาเสนอหน้าทำไม
ในข้อเท็จจริงการเข้ารายงานตัวของ 93 แกนนำ/แนวร่วมนั้น เกิดขึ้นจากการดำเนินการเครือข่ายสานเสวนาระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับสมาชิกเครือข่ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำศาสนา เจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา อดีตนักศึกษาชมรม PNYS รามคำแหงและอดีตนักศึกษาอินโดนีเซีย ผู้ซึ่งไม่นิยมความรุนแรงและต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มที่ต่อสู้ด้วยอาวุธหันมาใช้แนวทางสันติวิธีด้วยการตัวกลางเชื่อมประสาน อันเป็นเหตุให้มีการตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคประชาธรรม” ซึ่งชูธงว่าเป็น “พรรคของคนมลายูเพื่อคนมลายู” โดยมีนายมุคตาร์ กีละ เป็นหัวหน้าพรรค
แต่การดำเนินการดังกล่าวได้สร้างความแตกแยกให้กับกลุ่มมวลชนของขบวนการ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการสร้างความรุนแรงด้วยวัตถุประสงค์ในการเรียกร้องเงินบริจาคจากประเทศในโลกมุสลิมโดยอ้างว่าเอามาใช้ในการต่อสู้ แต่ในความเป็นจริงกลับนำไปใช้จ่ายบำรุงความสุขกันเฉพาะพวกพ้อง ทำให้นายมุคตาร์ กีละ ต้องถูกกำจัดด้วยการลอบยิงเมื่อ 15 ธ.ค.54 พร้อมๆ กับการเตรียมสร้างสถานการณ์ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่โชคยังดีที่โจรที่ยิงนาย มุคตาร์ฯ ถูกชุดคุ้มครองหมู่บ้านยิงตายซะก่อน และตรวจสอบภายหลังก็พบว่าก็เป็นคนในหมู่บ้านตันหยงลิมอ ต.เฉลิม อ.ระแงะ นราธิวาส บ้านเดียวกับที่รุมทำร้ายครูจูหลิง ปงกันมูล ครูสาวผู้เสียสละจนเสียชีวิตนั้นเอง ส่งผลทำให้แผนชั่วสาดโคลนใส่ฝ่ายความมั่นคงต้องพังทลายลง
แต่แม้ว่านายมุคตาร์ฯ จะถูกลอบสังหารไปแล้ว กลุ่มสมาชิกก็ยังคงดำเนินการเพื่อสานต่ออุดมการณ์ต่อไป โดยการติดต่อกับแกนนำให้เข้ามาแสดงตนต่อทางราชการเพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ตามแนวทางสันติ จนนำมาสู่การรายงานตัวของ 93 แกนนำ/แนวร่วมในที่สุด
การเข้ามารายงานตัวของแกนนำ/แนวร่วมครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นความสำเร็จจากความพยายามบนพื้นฐานการต่อสู้ตามแนวทางสันติของรัฐบาลไทยในระดับหนึ่ง และสร้างความสั่นคลอนให้กับขบวนการทั้งต่อแกนนำ/แนวร่วม และบุคคล/องค์กรทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงกลุ่มธุรกิจผิดกฏหมายที่ให้การสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงซึ่งล้วนมีผลประโยชน์ร่วมกันในลักษณะต่างตอบแทน ตลอดจนองค์กรภาคประชาชนหรือ NGOs ในพื้นที่บางองค์กรที่มีพฤติกรรมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการในพื้นที่ จชต. ของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเข้ารายงานตัวของ 93 แกนนำแนวร่วมในวันที่่ 11 เดือน 9 ซึ่งแม่ทัพภาค 4 เปรียบเปรยว่าเป็นเหตุการณ์ 911 จะลงเอยอย่างไรชั่วโมงนี้คงยากจะคาดเดา แต่นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คงเริ่มมองเห็นแสงแห่งความสงบสุขที่แม้จะอยู่ลิบๆ ที่ปลายอุโมงค์ แต่ก็ยังดีกว่าอยู่แบบมืดมนภายใต้การข่มขู่ด้วยปากกระบอกปืนของขบวนการอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างทุกวันนี้มิใช่หรือ
ขอเป็นกำลังให้ก็แล้วกัน
ซอเก๊าะ นิรนาม
|
หน้าเว็บ
▼
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น