หน้าเว็บ

11/30/2555

ถึงครู จชต. "คุณครูขา...อย่าทิ้งหนู"


        
         ย้อนหลังกลับไป 8 ปี ตั้งแต่ปี 2547 เหตุการณ์ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สงขลาบางส่วน การจากไปด้วยการถูกยิงของครูนันทนา  แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนท่ากำชำ ปัตตานี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 คือรายที่ 154 ชีวิตของครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สูญเสียไป เป็นเครื่องมือที่กลุ่มผู้ไม่หวังดี หรือที่เราเรียกทั่วไปว่าผู้ก่อเหตุรุนแรง ใช้ได้ผลในระดับยุทธศาสตร์ ที่ใช้ต่อสู้กับรัฐ นับตั้งแต่การสูญเสียครูจูหลิน  ปงกันมูล ครูช่วยสอนบ้านกูจิงรือปะ เมื่อปี 2549 ทุกฝ่ายเริ่มตื่นตัว และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลชีวิตครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเสียงเรียกร้องออกมามากมาย ทั้งฝ่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรครู และนักการเมือง ซึ่งรัฐบาลทุกยุค ทุกสมัย ก็ต้องรีบเร่งสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงเข้าปฏิบัติทันที นั่นเองที่ฝ่ายกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงรู้จุดกระทบของฝ่ายรัฐว่า “ครูคือยุทธศาสตร์ที่เป็นจุดอ่อนของรัฐ” และ “ครูคือเหยื่อที่ดีที่สุด” ด้วยเพราะสังคมไทยผูกพันกับครูอย่างใกล้ชิดตั้งแต่อดีต ฉะนั้นเองเมื่อมีการสูญเสียครูไม่ว่าเหตุใด จะนำมาซึ่งความเสียใจกับคนไทยที่ใกล้ชิดครู ซึ่ง 3 จังหวัดภาคใต้ก็เช่นกัน

         การปรับเปลี่ยนกลยุทธ ตั้งแต่ฝ่ายทหารเข้าไปดูแลในโรงเรียน และครู โดยใช้โรงเรียนบางแห่งที่เป็นพื้นที่สีแดงเป็นฐานที่ตั้ง ก็ถูกฝ่ายสิทธิมนุษยชนมองว่าเกิดความเสี่ยงต่อครูและนักเรียน ในการถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ฝ่ายทหารจึงจำเป็นต้องย้ายฐานออกห่างโรงเรียนโดยไม่มีองค์กรครู หรือครูคนไหนออกมาคัดค้านสักคนเดียว ทุกครั้งที่มีครูเสียชีวิตจำเลยคนแรกคือฝ่ายความมั่นคง และ ทหาร แม้จะเพิ่มหรือมีวิธีการใดเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ครู แต่ฝ่ายความมั่นคงรู้ว่านั่นคือการตั้งรับไม่ใช่การรุก ซึ่งผู้ตั้งรับย่อมมีวันเสียเปรียบไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทุกครั้งที่มีครูสูญเสีย สิ่งแรกที่เกิดขึ้น คือ “ปิดโรงเรียน” เป็นวิธีบั่นทอนอำนาจรัฐที่ใช้มาโดยตลอดของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ทั้งภาพข่าว และสถานการณ์ ภาครัฐทุกฝ่ายต่างมีความเห็นใจครู และตั้งใจจริงที่จะร่วมปกป้องครู แต่ทุกครั้งเมื่อครูถูกกระทำจากฝ่ายที่ไม่เคยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และศาสนา ครูจะสั่งปิดโรงเรียนทุกพื้นที่ทันที และการกระทำเช่นนี้ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดคือนักเรียน ลูกหลานของพวกเรา และยิ่งสร้างความไม่เข้าใจให้กับผู้ปกครองและนักเรียน ต่อเจ้าหน้าที่และโรงเรียนที่ปิด เสริมด้วยการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ฝ่ายผู้ก่อเหตุต้องการอยู่แล้วก็เท่ากับว่า เมื่อปิดโรงเรียนทุกครั้งที่ครูถูกกระทำ ก็เท่ากับว่า “ขุนหลุมไว้ฝังศพตัวเองหรือไม่”

         คงไม่มีฝ่ายไหนกล้าบอกให้ครูลุกขึ้นมาสู้กับโจร เพราะครูนั้นมีหน้าที่อบรมสั่งสอนให้คนเป็นคนดี แต่ก็ยังมีครูใจเด็ดจังหวัดปัตตานีที่กล้าขับรถชนผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มาลอบยิง โจรต้องหลบหนีทิ้งรถมอเตอร์ไซต์เมื่อ 9 พฤศจิกายน  2555 ที่ผ่านมา แต่ถ้าวันนี้เมื่อครูถูกคนร้ายกระทำแล้วปิดโรงเรียน ต้องถามว่านี่คือหนทางที่ถูกต้องหรือไม่ แล้วสุดท้ายก็ต้องมาเปิดเรียนอีกใช่ไหม เพื่ออะไร 

      หากต้องการให้กำลังฝ่ายความมั่นคงเพิ่มเติมกำลังในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเพิ่มส่วนตั้งรับในการดูแลครู แต่เมื่อองค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรนักศึกษาบางองค์กรออกมาต่อต้านการเพิ่มเติมกำลังทหารในพื้นที่ การเพิ่มเติมกำลังทหารพรานในพื้นที่ ทำไมไม่เห็นครูสักคนเดียวมาคัดค้านหรือให้กำลังใจทหารแม้แต่คนเดียวหรือแม้แต่แสดงการสนับสนุนให้เพิ่มเติมกำลังทหารพรานในพื้นที่ก็ยังไม่เคยมีสักครั้งเดียว ทุกครั้งที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นฝ่ายรุกไล่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจนไม่สามารถเคลื่อนไหวก่อเหตุได้ เช่น วางระเบิด เผาโรงเรียน ตรวจยึดอุปกรณ์เตรียมก่อเหตุระเบิดได้ จับกุมผู้ก่อเหตุได้หลายราย  สิ่งที่ฝ่ายขบวนการจะแก้ยุทธศาสตร์จากการตั้งรับมาเป็นฝ่ายรุก นั่นก็คือ ยิงครูไทยพุทธ 1 คน ซึ่งก่อนจะยิงครู 1 คน ต้องยิงอุซตาส หรือ โต๊ะอิหม่าม ก่อน 1 คน เพื่อเป็นข้ออ้างในการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความชอบธรรมในการแก้แค้นให้ฟาฎอนี ด้วยการยิงครูไทยพุทธ ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ทุกครั้ง แล้วเมื่อครูหยุดโรงเรียน ฝ่ายความมั่นคงก็ต้องกลับมาเป็นฝ่ายเพิ่มมาตรการทุกครั้ง นี่เองจึงเป็นยุทธศาสตร์ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ใช้ได้ผลดีทุกครั้ง “เมื่อครูปิดโรงเรียน ครู จึงเป็นเหยื่อที่มุ่งหมายที่สุด ในสงครามนี้” 
        และไม่เคยเห็นองค์กรสิทธิมนุษยชนประเทศไทย องค์กรนักศึกษาทุกระดับออกมาประณามการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่กระทำต่อครูแม้แต่สักครั้งเดียว แต่จะโจมตีว่าฝ่ายความมั่นคงมีกำลังทหารตั้งมาก แต่คุ้มครองครูไม่ได้ ใช่ไหม??

         สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะมีครูรายที่ 155 หรืออีกกี่รายต่อไป ผลที่ปิดโรงเรียน และส่งผลกระทบโดยตรงที่สุด คือ เด็กนักเรียน เยาวชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งด้อยในเรื่องการศึกษาที่สุดขณะนี้ในประเทศไทย เพราะไม่มีครูไทยพุทธคนไหนจะต้องการอยู่ในพื้นที่ แล้วจะหาความตั้งใจในการสอนมาจากไหน ความผูกพันระหว่างครูกับนักเรียนจะเกิดได้อย่างไร ครูไทยพุทธจำนวนลดน้อยลง ครูที่เก่งไม่ต้องการมาสอนในพื้นที่ ล้วนเป็นเหตุเป็นผลที่องค์กรทางการศึกษา และครูทุกคนต้องลองไปตรึกตรองดู ล้วนเป็นสิ่งที่ฝ่ายกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงต้องการใช่หรือไม่ แล้วเราต้องยอมไปตามทางที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกำหนดเช่นนั้นหรือ ฉะนั้นจึงต้องขอวิงวอนครูโปรดอย่าหยุดโรงเรียน เด็กนักเรียน เยาวชน ลูกหลานของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างรอคอยคุณครู ผู้ที่นำทางสันติสุขให้กับพวกเขาทุกคน นักเรียนเปรียบเสมือนลูก หลานของครูที่เฝ้ารอคอย ศึกษาหาวิชาความรู้จากครู ผู้เปรียบประดุจแม่คนที่สองของเด็กนักเรียนทุกคน ความใกล้ชิดระหว่างครูกับนักเรียนดั่งครอบครัวเดียวกัน ฉะนั้นครูคือความหวังของเด็กนักเรียนชาวใต้ทุกคนที่กำลังรอคอย และร่วมสู้ฝ่าฟันไปด้วยกัน

         ขอวิงวอนกรุณาอย่าปิดโรงเรียน ที่ใดมีโรงเรียน ที่นั้นย่อมมีนักเรียน และมีครู หากโรงเรียนปราศจากครู ก็ย่อมขาดชีวิต จิตวิญญาณของโรงเรียน ประดุจต้นไม้ที่ขาดแสงสว่างเพื่อเจริญเติบโต และในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อไม่มีครูอยู่กับโรงเรียน ย่อมแสดงถึงการสูญเสียจิตวิญญาณที่จะหล่อเลี้ยง กำลังสำคัญในการสร้างสันติสุขในอนาคต และความว่างเปล่าของโรงเรียนที่ไร้ครู จะเป็นช่องทางให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างโอกาสในการก่อเหตุ ปลุกระดม ทำลาย เผาผลาญ ทั้งตัวโรงเรียน และจิตวิญญาณความรู้สึกของโรงเรียนให้สูญหายไปจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครูทุกคนยอมได้หรือ พวกเราทุกคนคงยอมไม่ได้ที่จะให้โรงเรียนไร้ซึ่งบุคลากรครู โรงเรียนถูกทำลาย เผาผลาญไปสิ้น หากวันนี้โรงเรียนปิด นักเรียนจะไปพึ่งพาใคร สุดท้ายโรงเรียนก็ต้องกลับมาเปิดเพื่อลูกหลานของเราทุกคน แต่หากเกิดกลุ่มผู้ไม่หวังดีได้กระทำการอันชั่วร้ายต่อครูอีก โรงเรียนก็ต้องปิดอีกอย่างนั้นหรือ นั่นเองเท่ากับทุกคนเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีใช้ครูเป็นเครื่องมือ เพื่อให้โรงเรียนหยุดตามที่ฝ่ายขบวนการต้องการคือ “ก่อเหตุต่อครูแล้วจะมีการปิดโรงเรียน” 

        วันนี้ทุกคนต้องไม่ยอมให้โรงเรียนปิด ขอส่งพลังใจให้ครูทุกคนต้องมาร่วมกันฝ่าฟันสถานการณ์ร่วมกันเพื่อลูกหลาน เพื่อจิตวิญญาณของแม่พิมพ์ พ่อพิมพ์ ที่ช่วยพายเรือส่งเด็กเยาวชนชายแดนใต้ไปให้ถึงฝั่ง เราต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือตามที่ฝ่ายผู้ไม่หวังดีต้องการ หากเมื่อไหร่ที่ครูถูกทำร้าย แล้วโรงเรียนต้องปิดการศึกษา นั่นเองที่เป็นส่วนที่ทำให้ผู้ก่อเหตุลงมือกระทำต่อครูผู้บริสุทธิ์อีกไม่มีวันจบสิ้น เท่ากับว่าเข้าทางกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง เพราะเขารู้ว่าถ้ายิงครูเมื่อไหร่ โรงเรียนปิดเมื่อนั้น รัฐเองก็ถูกครูร้องเรียน รัฐก็เอากำลังมาป้องกันครู พวกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ก็เคลื่อนไหววางระเบิดได้สบาย และเหตุนี้ใช่ไหมที่ครูถึงเป็นเหยื่อของสงครามแย่งชิงมวลชน และเมื่อรู้เช่นนี้แล้ว “ครูกรุณาอย่าทอดทิ้งนักเรียน”
                                         ----------------------------------------
        
บุหงา  ตานี

11/28/2555

หุ่นยนต์สังหาร (คนเหล็ก 2029) คืนชีพ กับ แนวร่วมขบวนการก่อเหตุรุนแรงในภาคใต้


             
         เห็นข้อความบางตอนของการบรรยายปลุกระดมโดยกลุ่มก่อเหตุรุนแรงที่ถอดบันทึกจากคลิปมือถือ อดไม่ได้ที่จะนึกถึงการหลอมตัวฟื้นคืนชีพของหุ่นยนต์สังหารที่มีหน้าที่ไล่ล่า จอน คอนเนอร์ เด็กชายอายุ ขวบใน ภาพยนตร์เรื่องคนเหล็ก 2029 หลังจากถูกหุ่นยนต์ผู้พิทักษ์ทำลายครั้งแล้วครั้งเล่า

          เช่นเดียวกับการปลุกระดมของ ขบวนการโดยอาศัยการบิดเบือนเรื่องต่างๆ ที่มีผู้นำข้อเท็จจริงมาหักล้างจนหมดสิ้นแล้ว แต่ก็ยังอุตสาห์ที่จะนำมา ใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยล่าสุดผู้บรรยายใช้การสื่อสารออนไลน์สมัยใหม่เป็นคลิปใส่ในโทรศัพมือถือส่งต่อ ๆ กัน ดังที่พบจากผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื้อหาการบรรยายยังคงใช้ประเด็นเก่า ๆ เช่นด้านประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนา และรัฐปัตตานีในอดีต และนำความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่สร้างภาพเป็นเจตนาร้ายต่อคนมลายูและศาสนาอิสลามเพื่อนำไปสู่เงื่อนไขการญีฮาดอันเป็นความจำเป็นและบังคับสำหรับมุสลิมทุกคน (ฟัรดูอีน) ซึ่งครั้งนี้ผู้บรรยายได้เน้นความเป็นฟัรดูอีนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การนำการญีฮาดมาเชื่อมโยงกับฟัรดูอีน เป็นการนำหลักตรรกมาอธิบายว่า เมื่อคนมลายูถูกรังแก ศาสนาอิสลามถูกทำลาย แผ่นดินถูกยึดครอง การญีฮาดก็เป็นฟัรดูอีนของคนมุสลิมทั้งหลาย แต่ในเมื่อเงื่อนไข ทั้งสามประการดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ฟัรดูอีนในการญีฮาดก็ไม่เกิดขึ้น จึงเป็นตรรกที่นำมาซึ่งบทสรุปว่า การญีฮาดที่ผู้บรรยายพยายามเชิญชวนนั้นไร้ความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง

หากเปรียบเทียบการต่อสู้ระหว่างหุ่นยนต์ทั้งสองตัวที่ใช้อาวุธประหัตประหารโดยมุ่งไปที่ชีวิตเด็กชายจอนฯ เพียงคนเดียว ซึ่งเปรียบได้กับการต่อสู้เพื่อแย่งมวลชนในสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงที่อาศัยข้อเท็จจริง ด้านประวัติศาสตร์และศาสนาเป็นอาวุธเพื่อทำลายสติปัญญาเยาวชนจำนวนมาก

การปลุกระดมด้วยการบรรยายในคลิปดังกล่าวนี้ ผู้บรรยายอาศัยจิตวิทยาขั้นสูงด้วยการหว่านล้อมให้คล้อยตาม ร้องขอเชิงบังคับแถมข่มขู่ให้หวาดกลัว เรียกได้ว่าทั้งวิชามารและวาทศิลป์อย่างครบเครื่อง แต่ก็มีข้อที่น่าสังเกตสองประการจากเนื้อหาการบรรยายครั้งนี้

ประการที่หนึ่ง ผู้บรรยายได้ยอมรับเรื่องประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปไกลถึงยุคลังกาสุกะว่าดินแดนแห่งนี้ในอดีตไม่ใช่ดินแดนอิสลามอย่างที่เคยกล่าวอ้าง แต่ผู้บรรยายยังคงหาเหตุผลโยงใยถึงความเจริญรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นหลังอิสลามถูกเผยแผ่ในสมัยพระยาอินทิรา ซึ่งเข้ารับอิสลามและเปลี่ยนชื่อเป็นสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ จนกระทั่ง ถูกสยามยึดครองในเวลาต่อมา

ประการที่สอง ผู้บรรยายยอมรับว่าการฆ่านั้นคนผิดหลักศาสนาดังบทบัญญัติที่ว่าถ้าใครฆ่าคนหนึ่งคนเปรียบเสมือนได้ฆ่าคนทั้งโลกซึ่งการยอมรับในสองประเด็นดังกล่าวนี้เป็นผลสืบเนื่อง จากการนำข้อเท็จจริง ทั้งทางด้านศาสนาและประวัติศาสตร์มาหักล้างจนประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจยิ่ง และที่สำคัญที่สุดการยอมรับในสองประเด็นดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าในห้วงที่ผ่านมานั้น ทั้งการบรรยายในเรื่องศาสนาและเรื่องประวัติศาสตร์ รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ผู้บรรยายมีเจตนาที่จะบิดเบือนและหลอกลวงให้คนหลงผิดอย่างปฏิเสธไม่ได้

แม้จะจำนนด้วยข้อเท็จจริงตามที่กล่าวแล้วก็ตาม แต่ผู้บรรยายยังไม่ยอมยุติอย่างง่าย ๆ เช่นเดียวกับหุ่นยนต์สังหารที่มุ่งมั่นไล่ล่าเด็กน้อยอย่างไม่หยุดหย่อน โดยการสรรหาสำนวนโวหารมาเสริมเพื่อให้ได้ความหมายว่า แม้ว่าการฆ่าคนหนึ่งคนเปรียบเสมือนฆ่าคนทั้งโลกก็ตาม แต่เราต้องดูด้วยว่าห้ามไม่ให้ฆ่าใคร และเรากำลังฆ่าใคร เรากระทำเพื่อสิ่งใด” เหมือนจะบอกว่า ในโลกนี้ยังมีคนที่เขาสามารถเลือกฆ่าได้อย่างชอบธรรมและไม่ผิดศาสนา เท่านั้นยังไม่พอ ยังฝืนหลักศาสนาเรื่องการปฏิบัติต่อศพ ซึ่งตามหลักศาสนาไม่ว่าจะเป็นศพของผู้ใดก็ตามต้องปฏิบัติอย่างให้เกียรติเสมอกัน แต่พวกเขาได้กระทำการอย่างโหดเหี้ยม เชือด เผา ผิดหลักศาสนาอย่างร้ายแรง และหากจะเปรียบเทียบบัญญัตในการสงครามญีฮาด ซึ่งศาสดาได้เคยประกาศใช้ในอดีต กลับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะในสมัยศาสดานั้นเมื่อมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำสงคราม ศาสดาได้ประกาศเป็นกฎเกณฑ์อย่างชัดเจนว่า ห้ามทำร้ายคนชรา เด็ก และสตรี รวมทั้งห้ามทำลายต้นไม้ แม่น้ำลำธาร รวมทั้งสิ่งสาธารณ ประโยชน์ทั้งหลาย

มีผู้กล่าวไว้ว่าแท้จริงคำว่าญีฮาดเป็นคำที่สูงส่งในอิสลาม  น่าเสียดายวันนี้ คำ ๆ นี้ได้ถูกคนบางคนได้สร้างภาพแห่งความน่ากลัว สยดสยอง มาละเลงสี ให้กับความบริสุทธ์ของญีฮาดสูญเสียความงดงามไปอย่างไม่น่าให้อภัย พฤติกรรมของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ปฏิบัติในทางตรงข้ามกับบัญญัติทั้งหลาย รวมทั้งการบรรยายที่บิดเบือนบทบัญญัติต่าง ๆ อย่างเช่น การนำประโยคคำว่า ถ้าใครฆ่าคนหนึ่งคนเปรียบเสมือนได้ฆ่าคนทั้งโลกแล้วนำมาต่อด้วยประโยคที่ว่า แต่เราต้องดูด้วยว่าห้ามไม่ให้ฆ่าใคร และเรากำลังฆ่าใคร เรากระทำเพื่อสิ่งใด เท่ากับเป็นการปฏิเสธบทบัญญัติดังกล่าวอย่างชัดเจน การปฏิเสธบทบัญญัติใดบทบัญญัติหนึ่งในกุรอ่าน ก็มีค่าเท่ากับการปฏิเสธกุรอ่านทั้งเล่ม และการปฏิเสธกุรอ่าน เท่ากับการปฏิเสธหลักการอิสลามอย่างไม่มีเงื่อนไข ในทางศาสนาเรียกบุคคลดังกล่าวว่า ตกศาสนา” ซึ่งมุสลิมทั้งหลายต่างวิงวอนขอพรจากพระเจ้าให้ห่างไกลจากสิ่งนี้ 

ก่อนถึงวาระสุดท้ายหากหุ่นสังหารไม่ยอมวางอาวุธ เฉกเช่นเดียวกันผู้บรรยายคนเดิมไม่ยอมยุติการกระทำดังกล่าวและเดินออกมาเพื่อขออภัยโทษต่อพระเจ้า ในวันอาคีเราะห์หลังการพิพากษา จุดจบคงไม่ต่างไปจากหุ่นยนต์สังหารในภาพยนตร์คนเหล็ก 2029 ที่ร้องโหยหวนก่อนร่างจะแหลกสลายในกองไฟอันแดงเดือดจากเตาหลอมรุ่นพิเศษ ซึ่งเตรียมไว้สำหรับเขาโดยเฉพาะ  

เด็กหญิงปากีสถานถูกยิงหัวเพราะอยากไปโรงเรียน



            
        บทสารคดีนี้ได้คัดสำเนามาจากวารสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ ๗๗๒ ประจำวันศุกร์ที่๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งมีเนื้อหาสาระกล่าวถึง บทบาทของเยาวชนชาวปากีสถาน ผู้หนึ่ง ชื่อ เด็กหญิงมาลาลา ยูซาพไซ อายุ ๑๔ ปี เป็นชาวเมืองมิงโกรา อำเภอสวัต จังหวัดไคเบอร์พัคทุงหวา ประเทศปากีสถานโดยเป็นเยาวชนที่รักใฝ่หาความรู้ ชื่นชอบในเรื่องการศึกษาและมีอุดมการณ์ในการพัฒนาบทบาทของสิทธิสตรีมุสลิม ถึงแม้จะเป็นเยาวชนที่มีอายุเพียง ๑๔ ปี แต่ได้รับการยกย่องมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จากการได้รับรางวัล”สันติภาพแห่งชาติ” ของรัฐบาลปากีสถาน และ “รางวัลสันติภาพเด็กนานาชาติ” ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกจากอาร์คบิชอบ เดสมอนด์ ตูตู แห่งประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ แต่แล้วเพราะความใฝ่หาความรู้ เป็นผู้ใฝ่สันติภาพ และมีอุดมการณ์ในการส่งเสริมสิทธิของสตรีได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจ แก่กลุ่ม “นักรบตอลีบัน” จึงถูกทำร้ายร่างกายด้วยการจ่อยิงบนรถรับ-ส่งนักเรียนเมื่อ วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ผลการจ่อยิง เด็กหญิง มาลาลา ยูซาฟไซ ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ศรีษะและคอ ผู้เห็นเหตุการณ์ได้นำเด็กหญิงมาลาลา ยูซาฟไซ ส่งโรงพยาบาล ช่วยชีวิตเป็นผลสำเร็จ ขณะนี้เด็กหญิง มาลาลา ยูซาฟไซ มีอาการดีขึ้น และอยู่ในการดูแลของรัฐบาลปากีสถาน และรัฐบาลอังกฤษ ที่โรงพยาบาลควีนเอลิซาเบธ เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ


         ข้าพเจ้าได้นำเรื่องมาเผยแพร่ด้วยมีเหตุผลสำคัญคือ ประสงค์ให้พี่น้องประชาชนชาวไทย ที่นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพี่น้องมุสลิมในทุกภาคส่วนได้ใช้ดุลยพินิจต่อการที่ จะยินยอมให้สังคมมุสลิมของเรามีแนวความคิดของความเป็น “สุดขั้ว” ปิดกั้นการพัฒนาทั้งวิถีชีวิต คุณภาพชีวิต และสิทธิเสรีภาพภายในกรอบของศาสนารวมทั้งสถานะที่ควรจะเป็นดังบทสารคดีที่นำเสนอต่อไปนี้

มาลาลา  ยูซาฟไซ
เด็กหญิงปากีฯถูยิงหัวเพราะอยากไปโรงเรียน
         ในขณะที่รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้”เด็กนักเรียนไทย”ทั้งหญิงชายได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่เท่าเทียมกัน และมีอิสระในการเลือกเรียนตามความต้องการกลับมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ละเลย ไม่สนใจเรียน วันๆ เอาแต่เที่ยวเตร่มั่วสุมอยู่ในสถานเริงรมย์ ติดยา ติดเกม ติดการพนัน แต่ในทางตรงกันข้ามได้มี “เด็กหญิง”ผู้รักเรียนคนหนึ่งในประเทศ”ปากีสถาน”พยายามต่อสู้เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธ “ตอลีบัน” ยกเลิกกฎข้อบังคับ “ห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือ” เพื่อตัวเองและเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ จะได้มีโอกาสเรียนหนังสือเช่นเด็กผู้ชายดังเดิม และเด็กหญิงชาวปากีฯผู้กล้าหาญที่พูดถึงคนนี้คือเด็กหญิงมาลาลา ยูซาฟไซ


         เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ กลุ่มตอลีบันได้จ่อและกราดยิง ด.ญ.มาลาลา อายุ ๑๔ ปี ขณะเดินทางกลับบ้าน เมื่อสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวนี้ไปทั่วโลก ก็ได้สร้างความสะเทือนขวัญให้แก่สาธารณชนทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง ผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า กลุ่มคนร้ายได้โบกให้รถนักเรียนหยุดแล้วขึ้นไปถามเด็กนักเรียนที่โดยสารมาในรถว่า “คนไหนคือ...มาลาลา ?” เมื่อผู้ก่อการร้ายรู้ว่ามาลาลานั่งอยู่ตรงไหนจึงจ่อยิงตรงที่ “ศรีษะ” และ “คอ” ของเด็กหญิงผู้เคราะห์ร้ายอย่างโหดเหี้ยมทันที นอกจากจะเป็นเป้าหมายหลักแล้วเพื่อนอีก ๒ คนของเธอก็ได้รับบาดเจ็บด้วย

...........................................................
           หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้นำร่างของมาลาลาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปส่งที่โรงพยาบาล ทหารในเมืองเปชวาร์เพื่อเข้ารับการผ่าตัดด่วน ซึ่งแพทย์บอกกับผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมาว่า “โชคดีที่วิถีกระสุนไม่ได้ผ่านสมอง” “สมองของเธอปลอดภัย” แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เมื่อประธานาธิบดี อาซีฟ อาลี ซาร์ดารี ของปากีสถานทราบข่าว ก็ได้ให้ความสนใจกับเหตุการณ์ในครั้งนี้มาก ขณะนั้นท่านได้เตรียมการไว้ว่าหากเธออยู่ในขั้นโคม่า ต้องได้รับการผ่าตัดที่ยุ่งยากซับซ้อน ท่านก็จำเป็นต้องส่งตัวเธอไปรักษาที่ประเทศอังกฤษ และจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อช่วยชีวิตเธอให้ได้ หลังเกิดเหตุ โฆษกของกลุ่มตอลีบันได้ออกมายอมรับในเรื่องที่เกิดขึ้นทันที แถมขู่สำทับด้วยว่า...จะโจมตีเธออีก หากเธอรอดชีวิต



           กลุ่มตอลีบันโกรธแค้นมาลาลามากที่ไปสนับสนุนประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา มีความนิยมชมชอบในตัวประธานาธิบดีบารัก โอบามา ส่งเสริมวัฒนธรรมทางตะวันตกในบริเวณพื้นที่ พัชทุน (Pashtun areas) และยังชอบพูดต่อต้านกลุ่มตอลีบัน เด็กหญิงมาลาลา ยูซาฟไซ มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองมิงโกรา (Mingora) ในเขตอำเภอสวัต (Sawat District) จังหวัดไคเบอร์ พัคทูงหวา (Khyber Paktoonkhwa) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนในหุบเขาสวัต (Sawat Valley) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน พ่อของเธอ ไซอุดดิน ยูซาฟไซ เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง และเป็นนักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษามาตลอดจนเคยถูกกลุ่มตอลีบันขู่ฆ่ามาแล้ว พ่อกับแม่ต่างสนับสนุนให้ลูกสาวเขียนบล็อกรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีให้เด็กผู้หญิงสามารถเข้าเรียนหนังสือได้เช่นเดียวกับเด็กผู้ชาย มาลาลาในวัยเพียง ๑๑ ขวบ เริ่มพูดอังกฤษได้บ้างแล้วได้ใช้วิธี “รณรงค์เพื่อสิทธิสตรี” ด้วยการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนเธอได้เขียน “บันทึกประจำวัน” บอกเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ภายใต้การถูกกดขี่ของกลุ่มตอลีบันทางตะวันตกเฉียงเหนือที่มักเผาและสั่งปิดโรงเรียนในแถบนั้นทั้งหมดไว้ในเว็บไซต์ของบรรษัทการกระจายเสียงแห่งอังกฤษ (บีบีซี) ภาคภาษาอูรดู โดยใช้นามแฝงว่า “กัลป์ มาไค (GUL MAKAI)” ด้วย ในช่วงเดือนมกราคม ปี๕๒ เด็กหญิงนักต่อสู้ผู้นี้ได้ส่งข้อความในไดอารีไปยังสื่อติดต่อกันหลายครั้ง เช่น บันทึกไดอารี่ของ วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒, วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒, วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒ และวันที่ ๑๕ ม.๕.๕๒ ปรากฏรายละเอียดของข้อความดังนี้


ฉันกลัว
(๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒)
           เมื่อคืนที่แล้วหนูหลับไปและฝันด้วยความหวาดกลัวเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์ของทหารและนักรบตอลีบัน หนูเคยฝันเช่นนี้ตั้งแต่มีการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่หุบเขาสวัต หนูกลัวเรื่องการเดินทางไปโรงเรียน เพราะพวกตอลีบันเคยประกาศห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าเรียน ปัจจุบันที่โรงเรียนของหนูมีนักเรียนหญิง ๑๑ คน (จากทั้งหมด ๒๗ คน) ที่เข้าเรียนอยู่ และจำนวนนักเรียนก็ลดลงเรื่อย ๆ จากประกาศ (คำสั่ง) ห้ามดังกล่าวของตอลีบัน
           เมื่อหนูเดินทางกลับบ้าน หนูได้ยินชายคนหนึ่งพูดว่า “ฉันจะฆ่าแก” ทำให้หนูต้องวิ่งหนีโดยเร็วด้วยความกลัว และได้ยินทหารพูดทางโทรศัพท์เคลื่อนที่สร้างความตระหนกตกใจแก่นักเรียนคนอื่นอย่างมาก
           ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๒ทหารตอลีบันเข้าควบคุมหมู่บ้านในหุบเขาสวัตได้ทั้งหมดและเข้มงวดกวดขันในเรื่องการแปลหรืออธิบายกฎหมายอิสลาม (SHARIA LAW) ตลอดจนห้ามผู้หญิงไปตลาดหรือซื้อสิ่งของในตลาดด้วย                                                                                                                                
อย่าแต่งกาย
ด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด
(๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒)
          หนูเตรียมตัวจะไปโรงเรียน และกำลังแต่ตัวด้วยเครื่องแบบนักเรียน แต่หนูจำได้ว่าอาจารย์ได้บอกนักเรียนว่าอย่าแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียน แต่ให้แต่งเสื้อผ้าธรรมดาแทน ดังนั้นหนูจึงตัดสินใจแต่งชุดสีชมพูที่หนูชอบไปแทน นักเรียนคนอื่นๆ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหลากสี แต่พอไปถึงโรงเรียน คุณครูก็สั่งพวกเราไม่ให้ใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันฉูดฉาด เพราะจะเป็นเป้าให้พวกตอลีบันโจมตีได้

ฉันอาจไม่ได้ไปโรงเรียนอีก
(๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒)
          หนูอารมณ์ไม่ดีเลยขณะเดินทางไปโรงเรียน เพราะวันหยุดเรียนในฤดูหนาวจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ อาจารย์ใหญ่ประกาศให้หยุดเรียน แต่ไม่ได้บอกว่าจะเปิดเรียนอีกเมื่อใด
          เด็กนักเรียนส่วนมากไม่ได้ตื่นเต้นที่จะได้หยุดเรียน เพราะรู้ดีว่าถ้าพวกตอลีบันมีประกาศห้ามไม่ให้นักเรียนหญิงเรียนหนังสือ พวกเราก็ไม่สามารถไปโรงเรียนได้อีก หนูมีความเห็นว่าโรงเรียนควรเปิดเรียนได้ใหม่ภายในวันเดียว แต่ขณะที่หนูเดินออกจากโรงเรียน (กลับบ้าน) หนูหันมองไปที่อาคารเรียนแล้วเหมือนมีลางสังหรณ์คล้ายกับว่าหนูจะไม่มีโอกาสกลับมาเรียนที่นี่อีก

            มาลาลาได้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีให้ได้รับการศึกษาเรื่อยมาจนกระทั่งนิตยสารไทมส์ (TIMES) ได้นำเรื่องราวของเธอและครอบครัวไปพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ บรรยายเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ บุคลิกของเธอ (ใบหน้ามนนัยน์ตาสีเหลืองอ่อน ชอบสะพายกระเป๋าหนังสือที่มีรูปแฮรี่ พอตเตอร์ติดอยู่) จึงทำให้เธอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

          เรื่องที่ทำให้มาลาลามีชื่อเสียงก้องโลกคือ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ อาร์คบิชอป เดสมอนต์ ตูตู แห่งแอฟริกาใต้และมูลนิธิสิทธิเด็กได้เสนอชื่อเธอเข้ารับรางวัล “สันติภาพเด็กนานาชาติ” และก่อนนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓  รัฐบาลปากีสถานได้มอบรางวัล “สันติภาพแห่งชาติ” ให้แก่มาลาลา แล้วได้นำชื่อของเธอไปตั้งเป็นชื่อรางวัล รางวัลสันติภาพแห่งชาติมาลาลา (THE  NATIONAL  MALALA  PEACE  PRIZE) เพื่อมอบให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปีด้วย

            สิ่งที่มาลาลาทำและได้ผลตอบรับทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้กลุ่มตอลีบันไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งจึงหาทางกำจัดเธอ และในที่สุดก็ได้ก่อความรุนแรงขึ้นเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น หลังเกิดเหตุการณ์ ประธานนาธิบดีปากีสถาน องค์กรสิทธิมนุษย์ชน และผู้นำต่างประเทศต่างๆ ได่ร่วมกันประณามกลุ่มติดอาวุธตอลีบันว่า เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนโหดร้ายทารุณ ไร้มนุษยธรรม และทางรัฐบาลปากีสถานประกาศให้รางวัล ๑๐๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๓.๒๕ ล้านบาท) แก่ผู้ที่สามารถจับกุมมือปืนที่ยิงมาลาลา ยูซาฟไซได้ และต่างภาวนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอพรให้เธอปลอดภัยจากเหตุการณ์ร้ายครั้งนี้.

“สิ่งที่หนูเบื่อที่สุดคือ.....การที่ไม่มีหนังสือให้อ่าน”
          นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของมาลาลา ซึ่งจะเห็นได้ว่า เด็กหญิงคนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนทั่วโลกจริงๆ เพราะเธอสนใจการเรียนและการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ นอกจานี้เธอยังเคยบอกด้วยว่าจะต่อสู้เพื่อการศึกษาและการทำงานให้แก่เด็กหญิงชาวปากีฯ ไปเรื่อยๆ รวมถึงเธอยังฝันอยากเป็น “นักการเมือง”อีกด้วย  โชคดีที่ขณะนี้อาการของมาลาลาดีวันดีคืนขึ้นแล้ว เชื่อว่าผู้คนทั่วโลกคงได้เห็นเด็กหญิงผู้กล้าหาญคนนี้ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “การศึกษา” ของเด็กผู้หญิงปากีสถานอีกครั้ง

11/08/2555

นักรบฟาตอนีอ้างทำสงครามเพื่อศาสนา ที่แท้เลวทรามทำสงครามฆ่าประชาชน



       
              เมื่อวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา เหล่านักรบฟาตอนีได้ลอบวางระเบิด 2 จุด ภายในพื้นที่เขตเทศบาลอำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส จุดที่ 1 บริเวณหน้า ร.ร.บ้านยะบะอุปการวิทยา และจุดที่ 2บริเวณสี่แยกหลัง สภ. รือเสาะ ทั้งสองจุดเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 3ราย บาดเจ็บจำนวน 17 ราย ที่โดนระเบิดล้วนเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นเด็ก และผู้หญิง แต่..ที่น่าเศร้าสลดมากที่สุด มีเด็กหญิงมุสลิมอายุแค่ 3 ขวบโดนระเบิดที่ศีรษะเละ ตายคาทีต่อหน้าผู้เป็นพ่ออย่างน่าเวทนา
         นับว่า..นักรบฟาตอนีเลว โหดร้ายเหลือเกิน เนื่องจากกระทำแรงเกินไป ทำให้ญาติผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรับไม่ได้กับเหตุการณ์ เพราะเหตุการณ์นี้ไม่มีเจ้าหน้าที่สักคนที่โดนระเบิด ล้วนเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น  มันสนุกมากใช่ไหมกับการกระทำชั่วๆ ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน พยายามจะสร้างข่าวให้มันใหญ่ แต่..รู้ใหมว่าประชาชนที่โดนระเบิดเดือดร้อนขนาดไหน เหตุการณ์ครั้งนี้ประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บต่างพากันประนามสาปแช่งนักรบฟาตอนี เพราะเสียใจที่ครอบครัวของเขาต้องประสบเหตุอย่างนี้ ขอถามพี่น้องทุกคนว่าไปวางระเบิดฆ่าประชาชน พวกเขาไม่ใช่คู่ต่อสู้มันถูกต้องหรือ..  สงครามของนักรบฟาตอนีต่อสู้แบบนี้หรือ ไปวางระเบิดมั่วๆอย่างนี้ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลามหรือ.? หัวใจนักรบฟาตอนีเยี่ยงสัตว์เดรัจฉานแบบนี้หรือที่กล้าพูดกล้าอ้างว่าทำสงครามเพื่อศาสนา.......
             ฉะนั้นขอให้ชาวมลายูทุกคนใช้สมองคิด และรับรู้ด้วยว่า การกระทำอย่างนี้มันไม่ใช่หนทางของอิสลาม และไม่ใช่หนทางไปสู่ความสำเร็จของการต่อสู้(ญิฮาด) อย่าหวังเลยว่าจะได้รับปัตตานีเอกราช เพราะการฆ่าและทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย  อิสลามเป็นศาสนาที่ปฏิเสธความรุนแรง การละเมิด การคร่าชีวิตมนุษย์ และการรุกรานทุกรูปแบบ อิสลามเป็นศาสนาที่กำชับให้เกิดความยุติธรรมเพื่อนำสู่เส้นทางแห่งสันติภาพ การกระทำความดี ห้ามปรามความชั่ว และการให้อภัย ดังบัญญัติไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน.. “ ผู้ใดฆ่าชีวิตมนุษย์คนหนึ่งโดยมิใช่เป็นการชดเชยอีกชีวิตหนึ่ง หรือมิใช่เนื่องจากการบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล” ( 5 : 32 )  ......(ขอร้องอย่าให้มีเหตุการณ์ฆ่าประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กแบบนี้อีก)......
จาก..คนมลายูฟาตอนี

11/07/2555

มาตรา 21 กฏหมายทางเลือกสู่เส้นทางสันติ


       การกล่าวเปิดเผยถึงการตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ของนายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจะหมะ สองผู้ต้องหาคดีความมั่นคงซึ่งมีหมายจับตามกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา ในคดีร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และคดีพยายามฆ่าผู้อื่นตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งทั้งสองยินยอมที่จะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ด้วยความสมัครใจซึ่งต้องผ่านขั้นตอนจากคณะกรรมการตามมาตรา 21 ทั้ง 4 คณะประกอบด้วย คณะกรรมการรับรายงานตัว คณะกรรมการสอบสวนพิเศษ คณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดี และคณะกรรมการกลั่นกรองชุดสุดท้าย นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสองมาแถลงต่อศาลว่า ให้อภัยต่อผู้ต้องหาทั้งสองและต้องการให้กลับมาเป็นคนดีอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข และหากศาลพิจารณาแล้วไม่ขัดกับเงื่อนไขในการนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการต่อไป ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการดำเนินการทางคดีตามปกติที่ต้องใช้เวลาพิจารณาในชั้นศาลนานหลายปีและท้ายที่สุดอาจถูกพิพากษาให้จำคุก 

         บทบัญญัติมาตรา 21 นับเป็นมิติใหม่ในการบริหารงานยุติธรรม ซึ่งช่วยปูแนวทางเชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นกับผู้ต้องหาและผู้ได้รับผลกระทบ และต้องเกิดจากความยินยอมของผู้ต้องหาที่จะเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกคุมขัง ไม่มีบุคคลใดมีอำนาจบังคับใช้ได้โดยเด็ดขาด มาตรา 21 จึงเป็นกฏหมายที่มุ่งสู่ความสมานฉันท์เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับนโยบายสานใจสู่สันติของพลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องการให้ผู้เห็นต่างจากรัฐทุกคนกลับสู่สังคม อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องหลบหนีคดีอีกต่อไป 

         นายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจะหมะ เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 ที่ค่ายพระปกเกล้า กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 5 จังหวัดสงขลาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนครบกำหนด 6 เดือนตามคำสั่งศาลในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งทั้งสองเล่าให้ฟังว่าระหว่างเข้ารับการอบรม ได้รับการดูแลเอาใจจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดีแบบไม่คาดคิดมาก่อน เพราะตัวของพวกเขาเองก่อนเข้ารับการอบรม เขามีความรู้สึกเป็นศัตรูกับเจ้าหน้าที่รวมทั้งชาวไทยพุทธทุกคน แต่เมื่อได้เข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันทำให้รู้สึกว่าที่ผ่านมาตนเข้าใจผิด เพราะระหว่างการอบรมมีโอกาสได้ศึกษาหลักศาสนาที่ถูกต้องจากผู้นำศาสนาที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งแตกต่างจากที่เขาได้รับการปลูกฝังโดยการบิดเบือนคำสอนของศาสนาจากขบวนการอย่างสิ้นเชิง      

  นอกเหนือจากความรู้ด้านศาสนาที่ถูกต้องแล้วการช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมแทนการจำขังตามมาตรา 21 สามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขหลังการอบรมและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพด้วยการฝึกฝนอาชีพโดยศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งได้ให้การสนับสนุนการฝึกอาชีพด้านช่างตัดผม และช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ซึ่งนอกจากได้รับวุฒิบัตรในการฝึกอบรมวิชาชีพแล้ว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ยังได้มอบอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้อีกด้วย 

      โดยผู้ผ่านการอบรมทั้งสองคนยังได้กล่าวก่อนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาว่าตนเองคิดถูกที่ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการมาตรา 21 เพราะหากต่อสู้คดีตามกฏหมาย ป.วิอาญาคงต้องใช้เวลานานและสุดท้ายก็ต้องติดคุกเพราะได้กระทำความผิดไว้จริง และรู้สึกดีใจที่จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติหลังการอบรมเพียง 6 เดือน 

        กรณีการใช้กฏหมายทางเลือกมาตรา 21 ของนายรอยาลี บือราเฮง และนายยาซะ เจะหมะ คงเป็นการเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรม ในการใช้กฏหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความมุ่งหวังสุดท้ายคือการใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา การออกมารายงานตัวของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐโดยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีหมายตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ต้องหาที่หมายจับตามกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น การก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของมาตรา 21 คือการให้ผู้ผ่านการอบรมทั้งสองคนในวันนี้ จึงน่าจะเป็นการจุดประกายให้กับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐได้พิจารณาว่า การต้องใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือต้องหลบหนีไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยทิ้งพ่อแม่ลูกเมียไว้ข้างหลังกับอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่ยังมองไม่เห็นความสำเร็จ กับการเลือกที่เข้ารายงานตัวกับฝ่ายความมั่นคงแล้วใช้การเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แล้วกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขว่า ทางเลือกใดจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด