หน้าเว็บ

11/28/2555

เด็กหญิงปากีสถานถูกยิงหัวเพราะอยากไปโรงเรียน



            
        บทสารคดีนี้ได้คัดสำเนามาจากวารสารคู่สร้างคู่สม ฉบับที่ ๗๗๒ ประจำวันศุกร์ที่๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งมีเนื้อหาสาระกล่าวถึง บทบาทของเยาวชนชาวปากีสถาน ผู้หนึ่ง ชื่อ เด็กหญิงมาลาลา ยูซาพไซ อายุ ๑๔ ปี เป็นชาวเมืองมิงโกรา อำเภอสวัต จังหวัดไคเบอร์พัคทุงหวา ประเทศปากีสถานโดยเป็นเยาวชนที่รักใฝ่หาความรู้ ชื่นชอบในเรื่องการศึกษาและมีอุดมการณ์ในการพัฒนาบทบาทของสิทธิสตรีมุสลิม ถึงแม้จะเป็นเยาวชนที่มีอายุเพียง ๑๔ ปี แต่ได้รับการยกย่องมีชื่อเสียงไปทั่วโลก จากการได้รับรางวัล”สันติภาพแห่งชาติ” ของรัฐบาลปากีสถาน และ “รางวัลสันติภาพเด็กนานาชาติ” ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกจากอาร์คบิชอบ เดสมอนด์ ตูตู แห่งประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ แต่แล้วเพราะความใฝ่หาความรู้ เป็นผู้ใฝ่สันติภาพ และมีอุดมการณ์ในการส่งเสริมสิทธิของสตรีได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจ แก่กลุ่ม “นักรบตอลีบัน” จึงถูกทำร้ายร่างกายด้วยการจ่อยิงบนรถรับ-ส่งนักเรียนเมื่อ วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ผลการจ่อยิง เด็กหญิง มาลาลา ยูซาฟไซ ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ศรีษะและคอ ผู้เห็นเหตุการณ์ได้นำเด็กหญิงมาลาลา ยูซาฟไซ ส่งโรงพยาบาล ช่วยชีวิตเป็นผลสำเร็จ ขณะนี้เด็กหญิง มาลาลา ยูซาฟไซ มีอาการดีขึ้น และอยู่ในการดูแลของรัฐบาลปากีสถาน และรัฐบาลอังกฤษ ที่โรงพยาบาลควีนเอลิซาเบธ เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ


         ข้าพเจ้าได้นำเรื่องมาเผยแพร่ด้วยมีเหตุผลสำคัญคือ ประสงค์ให้พี่น้องประชาชนชาวไทย ที่นับถือศาสนาอิสลาม ทั้งที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งพี่น้องมุสลิมในทุกภาคส่วนได้ใช้ดุลยพินิจต่อการที่ จะยินยอมให้สังคมมุสลิมของเรามีแนวความคิดของความเป็น “สุดขั้ว” ปิดกั้นการพัฒนาทั้งวิถีชีวิต คุณภาพชีวิต และสิทธิเสรีภาพภายในกรอบของศาสนารวมทั้งสถานะที่ควรจะเป็นดังบทสารคดีที่นำเสนอต่อไปนี้

มาลาลา  ยูซาฟไซ
เด็กหญิงปากีฯถูยิงหัวเพราะอยากไปโรงเรียน
         ในขณะที่รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้”เด็กนักเรียนไทย”ทั้งหญิงชายได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่เท่าเทียมกัน และมีอิสระในการเลือกเรียนตามความต้องการกลับมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ละเลย ไม่สนใจเรียน วันๆ เอาแต่เที่ยวเตร่มั่วสุมอยู่ในสถานเริงรมย์ ติดยา ติดเกม ติดการพนัน แต่ในทางตรงกันข้ามได้มี “เด็กหญิง”ผู้รักเรียนคนหนึ่งในประเทศ”ปากีสถาน”พยายามต่อสู้เรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธ “ตอลีบัน” ยกเลิกกฎข้อบังคับ “ห้ามผู้หญิงเรียนหนังสือ” เพื่อตัวเองและเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ จะได้มีโอกาสเรียนหนังสือเช่นเด็กผู้ชายดังเดิม และเด็กหญิงชาวปากีฯผู้กล้าหาญที่พูดถึงคนนี้คือเด็กหญิงมาลาลา ยูซาฟไซ


         เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ กลุ่มตอลีบันได้จ่อและกราดยิง ด.ญ.มาลาลา อายุ ๑๔ ปี ขณะเดินทางกลับบ้าน เมื่อสื่อมวลชนเผยแพร่ข่าวนี้ไปทั่วโลก ก็ได้สร้างความสะเทือนขวัญให้แก่สาธารณชนทั่วโลกเป็นอย่างยิ่ง ผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า กลุ่มคนร้ายได้โบกให้รถนักเรียนหยุดแล้วขึ้นไปถามเด็กนักเรียนที่โดยสารมาในรถว่า “คนไหนคือ...มาลาลา ?” เมื่อผู้ก่อการร้ายรู้ว่ามาลาลานั่งอยู่ตรงไหนจึงจ่อยิงตรงที่ “ศรีษะ” และ “คอ” ของเด็กหญิงผู้เคราะห์ร้ายอย่างโหดเหี้ยมทันที นอกจากจะเป็นเป้าหมายหลักแล้วเพื่อนอีก ๒ คนของเธอก็ได้รับบาดเจ็บด้วย

...........................................................
           หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้นำร่างของมาลาลาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปส่งที่โรงพยาบาล ทหารในเมืองเปชวาร์เพื่อเข้ารับการผ่าตัดด่วน ซึ่งแพทย์บอกกับผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมาว่า “โชคดีที่วิถีกระสุนไม่ได้ผ่านสมอง” “สมองของเธอปลอดภัย” แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เมื่อประธานาธิบดี อาซีฟ อาลี ซาร์ดารี ของปากีสถานทราบข่าว ก็ได้ให้ความสนใจกับเหตุการณ์ในครั้งนี้มาก ขณะนั้นท่านได้เตรียมการไว้ว่าหากเธออยู่ในขั้นโคม่า ต้องได้รับการผ่าตัดที่ยุ่งยากซับซ้อน ท่านก็จำเป็นต้องส่งตัวเธอไปรักษาที่ประเทศอังกฤษ และจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเพื่อช่วยชีวิตเธอให้ได้ หลังเกิดเหตุ โฆษกของกลุ่มตอลีบันได้ออกมายอมรับในเรื่องที่เกิดขึ้นทันที แถมขู่สำทับด้วยว่า...จะโจมตีเธออีก หากเธอรอดชีวิต



           กลุ่มตอลีบันโกรธแค้นมาลาลามากที่ไปสนับสนุนประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา มีความนิยมชมชอบในตัวประธานาธิบดีบารัก โอบามา ส่งเสริมวัฒนธรรมทางตะวันตกในบริเวณพื้นที่ พัชทุน (Pashtun areas) และยังชอบพูดต่อต้านกลุ่มตอลีบัน เด็กหญิงมาลาลา ยูซาฟไซ มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองมิงโกรา (Mingora) ในเขตอำเภอสวัต (Sawat District) จังหวัดไคเบอร์ พัคทูงหวา (Khyber Paktoonkhwa) ซึ่งเป็นเมืองชายแดนในหุบเขาสวัต (Sawat Valley) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน พ่อของเธอ ไซอุดดิน ยูซาฟไซ เป็นเจ้าของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง และเป็นนักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษามาตลอดจนเคยถูกกลุ่มตอลีบันขู่ฆ่ามาแล้ว พ่อกับแม่ต่างสนับสนุนให้ลูกสาวเขียนบล็อกรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีให้เด็กผู้หญิงสามารถเข้าเรียนหนังสือได้เช่นเดียวกับเด็กผู้ชาย มาลาลาในวัยเพียง ๑๑ ขวบ เริ่มพูดอังกฤษได้บ้างแล้วได้ใช้วิธี “รณรงค์เพื่อสิทธิสตรี” ด้วยการให้ข่าวต่อสื่อมวลชนเธอได้เขียน “บันทึกประจำวัน” บอกเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ภายใต้การถูกกดขี่ของกลุ่มตอลีบันทางตะวันตกเฉียงเหนือที่มักเผาและสั่งปิดโรงเรียนในแถบนั้นทั้งหมดไว้ในเว็บไซต์ของบรรษัทการกระจายเสียงแห่งอังกฤษ (บีบีซี) ภาคภาษาอูรดู โดยใช้นามแฝงว่า “กัลป์ มาไค (GUL MAKAI)” ด้วย ในช่วงเดือนมกราคม ปี๕๒ เด็กหญิงนักต่อสู้ผู้นี้ได้ส่งข้อความในไดอารีไปยังสื่อติดต่อกันหลายครั้ง เช่น บันทึกไดอารี่ของ วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒, วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒, วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒ และวันที่ ๑๕ ม.๕.๕๒ ปรากฏรายละเอียดของข้อความดังนี้


ฉันกลัว
(๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒)
           เมื่อคืนที่แล้วหนูหลับไปและฝันด้วยความหวาดกลัวเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์ของทหารและนักรบตอลีบัน หนูเคยฝันเช่นนี้ตั้งแต่มีการปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่หุบเขาสวัต หนูกลัวเรื่องการเดินทางไปโรงเรียน เพราะพวกตอลีบันเคยประกาศห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าเรียน ปัจจุบันที่โรงเรียนของหนูมีนักเรียนหญิง ๑๑ คน (จากทั้งหมด ๒๗ คน) ที่เข้าเรียนอยู่ และจำนวนนักเรียนก็ลดลงเรื่อย ๆ จากประกาศ (คำสั่ง) ห้ามดังกล่าวของตอลีบัน
           เมื่อหนูเดินทางกลับบ้าน หนูได้ยินชายคนหนึ่งพูดว่า “ฉันจะฆ่าแก” ทำให้หนูต้องวิ่งหนีโดยเร็วด้วยความกลัว และได้ยินทหารพูดทางโทรศัพท์เคลื่อนที่สร้างความตระหนกตกใจแก่นักเรียนคนอื่นอย่างมาก
           ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๒ทหารตอลีบันเข้าควบคุมหมู่บ้านในหุบเขาสวัตได้ทั้งหมดและเข้มงวดกวดขันในเรื่องการแปลหรืออธิบายกฎหมายอิสลาม (SHARIA LAW) ตลอดจนห้ามผู้หญิงไปตลาดหรือซื้อสิ่งของในตลาดด้วย                                                                                                                                
อย่าแต่งกาย
ด้วยเสื้อผ้าสีฉูดฉาด
(๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒)
          หนูเตรียมตัวจะไปโรงเรียน และกำลังแต่ตัวด้วยเครื่องแบบนักเรียน แต่หนูจำได้ว่าอาจารย์ได้บอกนักเรียนว่าอย่าแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียน แต่ให้แต่งเสื้อผ้าธรรมดาแทน ดังนั้นหนูจึงตัดสินใจแต่งชุดสีชมพูที่หนูชอบไปแทน นักเรียนคนอื่นๆ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าหลากสี แต่พอไปถึงโรงเรียน คุณครูก็สั่งพวกเราไม่ให้ใส่เสื้อผ้าที่มีสีสันฉูดฉาด เพราะจะเป็นเป้าให้พวกตอลีบันโจมตีได้

ฉันอาจไม่ได้ไปโรงเรียนอีก
(๑๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๒)
          หนูอารมณ์ไม่ดีเลยขณะเดินทางไปโรงเรียน เพราะวันหยุดเรียนในฤดูหนาวจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ อาจารย์ใหญ่ประกาศให้หยุดเรียน แต่ไม่ได้บอกว่าจะเปิดเรียนอีกเมื่อใด
          เด็กนักเรียนส่วนมากไม่ได้ตื่นเต้นที่จะได้หยุดเรียน เพราะรู้ดีว่าถ้าพวกตอลีบันมีประกาศห้ามไม่ให้นักเรียนหญิงเรียนหนังสือ พวกเราก็ไม่สามารถไปโรงเรียนได้อีก หนูมีความเห็นว่าโรงเรียนควรเปิดเรียนได้ใหม่ภายในวันเดียว แต่ขณะที่หนูเดินออกจากโรงเรียน (กลับบ้าน) หนูหันมองไปที่อาคารเรียนแล้วเหมือนมีลางสังหรณ์คล้ายกับว่าหนูจะไม่มีโอกาสกลับมาเรียนที่นี่อีก

            มาลาลาได้ดำเนินกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีให้ได้รับการศึกษาเรื่อยมาจนกระทั่งนิตยสารไทมส์ (TIMES) ได้นำเรื่องราวของเธอและครอบครัวไปพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ บรรยายเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ บุคลิกของเธอ (ใบหน้ามนนัยน์ตาสีเหลืองอ่อน ชอบสะพายกระเป๋าหนังสือที่มีรูปแฮรี่ พอตเตอร์ติดอยู่) จึงทำให้เธอมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

          เรื่องที่ทำให้มาลาลามีชื่อเสียงก้องโลกคือ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ อาร์คบิชอป เดสมอนต์ ตูตู แห่งแอฟริกาใต้และมูลนิธิสิทธิเด็กได้เสนอชื่อเธอเข้ารับรางวัล “สันติภาพเด็กนานาชาติ” และก่อนนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓  รัฐบาลปากีสถานได้มอบรางวัล “สันติภาพแห่งชาติ” ให้แก่มาลาลา แล้วได้นำชื่อของเธอไปตั้งเป็นชื่อรางวัล รางวัลสันติภาพแห่งชาติมาลาลา (THE  NATIONAL  MALALA  PEACE  PRIZE) เพื่อมอบให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า ๑๘ ปีด้วย

            สิ่งที่มาลาลาทำและได้ผลตอบรับทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้กลุ่มตอลีบันไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งจึงหาทางกำจัดเธอ และในที่สุดก็ได้ก่อความรุนแรงขึ้นเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น หลังเกิดเหตุการณ์ ประธานนาธิบดีปากีสถาน องค์กรสิทธิมนุษย์ชน และผู้นำต่างประเทศต่างๆ ได่ร่วมกันประณามกลุ่มติดอาวุธตอลีบันว่า เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนโหดร้ายทารุณ ไร้มนุษยธรรม และทางรัฐบาลปากีสถานประกาศให้รางวัล ๑๐๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ราว ๓.๒๕ ล้านบาท) แก่ผู้ที่สามารถจับกุมมือปืนที่ยิงมาลาลา ยูซาฟไซได้ และต่างภาวนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอพรให้เธอปลอดภัยจากเหตุการณ์ร้ายครั้งนี้.

“สิ่งที่หนูเบื่อที่สุดคือ.....การที่ไม่มีหนังสือให้อ่าน”
          นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของมาลาลา ซึ่งจะเห็นได้ว่า เด็กหญิงคนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนทั่วโลกจริงๆ เพราะเธอสนใจการเรียนและการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ นอกจานี้เธอยังเคยบอกด้วยว่าจะต่อสู้เพื่อการศึกษาและการทำงานให้แก่เด็กหญิงชาวปากีฯ ไปเรื่อยๆ รวมถึงเธอยังฝันอยากเป็น “นักการเมือง”อีกด้วย  โชคดีที่ขณะนี้อาการของมาลาลาดีวันดีคืนขึ้นแล้ว เชื่อว่าผู้คนทั่วโลกคงได้เห็นเด็กหญิงผู้กล้าหาญคนนี้ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “การศึกษา” ของเด็กผู้หญิงปากีสถานอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น