หน้าเว็บ

12/02/2556

เมื่อมีผู้กล่าวหา “รัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพ” กีดกันภาษามลายู

     
             นับจากวันที่มีการเรียกขานว่าโจรกระจอก จนสถาปนาตัวเองเป็นกลุ่มขบวนการ ตั้งตนเป็นตัวแทนชาวปาตานี หลายกลุ่มก้อนไม่อยากตกขบวนในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับแกนนำ BRN ที่มีนายฮัสซัน ตอยิบเป็นแกนนำ เรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของคืน กล่าวหารัฐลิดรอนสิทธิเสรีภาพทุกรูปแบบ

          นับจากการเกิดปัญหาเหตุความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา งบประมาณได้หลั่งไหลมาสู่พื้นที่แห่งนี้อย่างไม่ขาดสาย กับโครงการต่างๆ ที่หลายหน่วยงานได้ทุ่มเทเพื่อแก้ปัญหาทุกมิติให้ครอบคลุมตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ วันนี้ข้อเรียกร้องเริ่มดังถี่ขึ้น บ่อยขึ้น มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กร แอบอ้างเป็นตัวแทนประชาชนทำงานเพื่อสังคม สร้างอำนาจต่อรองกับหน่วยงานภาครัฐ เลยเถิดไปถึงข้อเรียกร้องเรื่องอัตลักษณ์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่กล่าวหารัฐลิดรอนสิทธิเสรีภาพ

          ประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคนเศษ ในแต่ละภูมิภาคจะมีอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม ที่แตกต่างกันออกไป มีความหลากหลายด้านชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่สลับซับซ้อน แต่ไม่เคยมีปัญหาการลุกขึ้นมาเรียกร้องที่มาของภูมิหลัง เหมือนดั่งช่นชาวปาตานีแห่งนี้
          สำหรับหัวเมืองทางปักษ์ใต้ เมื่อเหตุการณ์คุกกรุ่น เกิดความขัดแย้ง มีกลุ่มคนที่คิดเห็นต่างจากรัฐ ได้เดินเกมส์เล่นยุทธวิธีทางทหารก่อเหตุสร้างสถานการณ์ ควบคู่กับการทำงานทางการเมืองปลุกปั่นมวลชน หาแนวร่วม ขุดผีความเป็น ชาติปาตานีมาหลอกหลอนผู้คน เขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่เพื่อสั่งสอนลูกหลานให้จงเกลียดจงชังรัฐไทย

          ที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้มีการก่อตั้งสถาบันภาษามลายูขึ้น รัฐท่านใจดีเหลือหลายที่พี่น้องมุสลิมขออะไรได้หมด ดำเนินการให้อย่างไม่รอรี ซึ่งต่างกับชนไทยพุทธกลุ่มน้อยที่ได้แต่นั่งมองตาละห้อยกลายเป็นชนชั้นที่สองถูกหลงลืม เมื่อได้คืบจะเอาศอกไม่มีความพอดี มีการเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายรับรองให้ภาษามลายูเป็นภาษาหนึ่งของชาติ สำหรับคนที่กล่าวอ้างว่าเป็นชาวมลายูปาตานี กล่าวหารัฐกีดกัน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ หลอกหลอนเงาตัวเองว่ารัฐกำลังจ้องมองอริยบถในการจัดกิจกรรมสาธารณะ กล่าวหาตำราศาสนาถูกกวาดล้างทำลาย ห้ามใช้ภาษามลายูในโรงเรียนและสถานที่ราชการ น่าขำสิ้นดีนี่หรือวิธีคิดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แล้วการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียงภาคภาษามลายูซึ่งทำการออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ใครก็ได้ช่วยตอบที  นี่หรือ???....คือการกีดกัน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และห้ามไม่ให้มีการใช้ภาษามลายู
          อยากจะถามว่าขอบเขตความพอดีมันอยู่ตรงไหน เมื่อไหร่ข้อเรียกร้องที่ได้ไปจะจบสิ้น ทุกวันนี้สิ่งที่ชาวปาตานีได้รับมากมายกว่าประชากรในพื้นที่อื่นของประเทศ กับอภิสิทธิชนในหลายด้านที่ชาวมลายูแห่งนี้ได้รับ ซึ่งผู้เขียนเองมานั่งหลับตามองภาพการเดินทางไปประชุมเสวนาบังหน้าที่หน่วยงานภาครัฐจัดให้ โดยมีการไปทัศนศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปคนแล้วคนเล่า นี่คือประสบการณ์ของใครอีกหลายคนในประเทศนี้ที่ยังไม่มีโอกาสได้ลิ้มลอง

          การมีพหุวัฒนธรรมเป็นข้อดีของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ดำรงอยู่คู่กับดินแดนแห่งนี้ การที่จะสูญสิ้นเสื่อมสลาย ไม่ได้เกิดจากการถูกกลืนอัตลักษณ์และชาติพันธุ์ แต่เกิดจากการกระทำของคนในพื้นที่เองที่ปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ กับการเปลี่ยนไปของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ไร้พรหมแดน อีกไม่นานจะเข้าสู่สังคมอาเซียนจะเกิดการหลั่งไหลทางวัฒนธรรม หากพหุทางสังคมเสื่อมถอยกับการอยู่ภายใต้หลังคาแห่งเมืองพุทธ แล้วประเทศเพื่อนบ้านของเราละที่มากมายด้วยประชากรที่มีความต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา ไม่เห็นมีปัญหาในการที่จะอยู่ร่วมกัน สุดท้ายข้อเรียกร้อง ปาตานีมลายูจะดังถี่ขึ้น ถี่ขึ้นตราบใดที่คนเหล่านี้คอยตั้งแง่และเงื่อนไขไม่มีวันจบสิ้น....
                   

ตนไทยปลายด้ามขวาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น