หน้าเว็บ

4/10/2557

SATU PATANI


แบมะ ฟาตอนี

การใช้กำลังและอาวุธในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ปาตานีในช่วงตั้งแต่ต้นปี 47 มาจนถึงทุกวันนี้ ได้เริ่มสุกงอมนับเป็นเวลาสิบปีแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวแทบจะไม่เคยมีวันไหนเลยที่ไร้เสียงระเบิดหรือเสียงอาวุธปืนที่กองกำลังติดอาวุธได้สร้างสถานการณ์ก่อเหตุร้าย 

            นับตั้งแต่เกิดเหตุปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สื่อมวลชนกระแสหลัก สื่อมวลชนกระแสรอง และสื่อทางเลือกบางสำนักได้นำเสนอข่าวสารที่ไร้จรรยาบรรณ นำเสนอข้อมูลด้านลบเพียงด้านเดียว ทำการวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาลอย่างสุดซอย โดยปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน และได้เสนอความคิดเห็นที่พยายามเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อสนับสนุน เอนเอียงเข้าข้างกลุ่มขบวนการอย่างเปิดเผย ซึ่งมีสื่อมวลชนเพียงไม่มากเท่านั้นที่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ในการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบที่ก่อให้เกิดการสูญชีวิตผู้คนไปแล้วนับพันรายนั้นเป็นไปในทิศทางบวก ทั้งที่ความสงบ สันติสุข คือความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

            ขณะที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพกำลังดำเนินอยู่บนโต๊ะเจรจา นักต่อสู้ในพื้นที่ (Juwae) กลับไม่เห็นด้วยกับแนวทางสันติ ยังคงดำเนินการก่อเหตุอย่างต่อเนื่องด้วยการเข่นฆ่าเป้าหมายอ่อนแอ ผู้หญิง เด็ก สตรี คนชรา และผู้นำศาสนา เพื่อสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างไทยพุทธ ไทยอิสลาม กลุ่มองค์กรบางกลุ่มในพื้นที่ความขัดแย้งยังได้ซ้ำเติมเชื้อไฟใต้ ด้วยการสร้างเงื่อนไข อัตลักษณ์ เชื้อชาติ และศาสนา ด้วยการโหมปลุกกระแสความรักชาติปาตานี ขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ นำความขมขื่นในอดีตมาเผยแพร่ สร้างการรับรู้ให้ประชาชนปาตานีเกลียดชังรัฐสยาม

            มีคนกล่าวว่า ปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องแก้ไขด้วยงานการเมืองคำกล่าวนี้ไม่สามารถนำมาใช้ได้ในพื้นที่แห่งนี้กับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศอาจจะได้ผล สำหรับนักการเมืองท้องถิ่น ต่างอยู่ภายใต้ร่มเงาการอุปถัมภ์ของพรรคการเมืองใหญ่ที่ช่วยปูพื้นฐานให้กับขบวนการ BRN
           

         กลุ่ม PerMAS ซึ่งเป็นปีกหนึ่งของขบวนการ BRN รับผิดชอบงานมวลชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดเวทีเสวนา “BICARA PATANI” มีการกล่าวถึง “SATU PATANI” ความเป็นหนึ่งเดียวของปาตานี นำประวัติศาสตร์ชนชาติชาวมลายู จุดกระแสรัฐปาตานี เพื่อก้าวไปสู่การแบ่งแยกชาวมุสลิมปาตานี ออกจากชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และคริสต์ เพื่อต้องการขับไล่กาเฟร (คนต่างศาสนา) เหล่านี้ออกนอกพื้นที่ สอดรับกับการสร้างความหวาดกลัวด้วยการกระทำของกองกำลังโจรติดอาวุธที่ก่อเหตุฆ่ากาเฟรอย่างเลือดเย็น


            นอกเหนือจากชาวมลายูปาตานีที่ได้เรียกร้องเอกราชทางภาคใต้แล้ว จากปัญหาความขัดแย้งของการเมืองในส่วนกลางประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายในช่วงหลังมานี้คือความเป็นไปได้ที่กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ทางภาคเหนือของประเทศจะทำการเรียกร้องเอกราชเช่นกัน ซึ่งตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นเคยมีอาณาจักรล้านนาที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่ ในปัจจุบันนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย นั่นคือปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิทางการเมืองของไทยวันนี้จึงดูวุ่นวาย หากจะมองจากตรงนี้จากการเรียกร้องของขบวนการ BRN ที่ต้องการเอกราช เอกราช เอกราช อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว พื้นที่อื่นๆ ของประเทศเค้าก็มีประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ อัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมของตนเองเช่นเดียวกัน อีกหน่อยจะมี สปป.ล้านนา อาณาจักรศรีวิชัยฯลฯ ตามมาอีกนับไม่ถ้วน

            “SATU PATANI” ที่กลุ่ม PerMAS สร้างกระแสความเป็นหนึ่งเดียวปาตานี นำไปสู่การกำหนดใจตนเอง เพื่อก้าวไปสู่เอกราช คงจะไม่ต่างจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ความแตกต่างอย่างชัดเจนของปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้คือความพยายามสร้างความแตกแยก ความเกลียดชังในเรื่องของชาติพันธ์ และศาสนา ให้เกิดขึ้น เพื่อแยกเขา แยกเรา ซึ่งเป็นความพยายามของกลุ่มขบวนการมาโดยตลอดมีการก่อเหตุสร้างความรุนแรงกับพระภิกษุสงฆ์ ชาวไทยพุทธ ให้อีกฝ่ายลุกฮือสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างศาสนิกชน 2 ศาสนา ซึ่งตรงกับหลักการ 5 ข้อ ของ BRN ในการต่อต้านรัฐไทย หนึ่งในนั้นก็คือข้อที่ 2 อย่าอยู่ร่วมกันระหว่างไทยพุทธ-กับมลายูมุสลิม (No Assimilation)

             “SATU PATANI” ความหมายที่แท้จริง คือ ความเป็นหนึ่งของประชาชนชาวมุสลิม ชาวพุทธ ชาวจีนและคริสต์ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหนึ่งเดียวทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น การอยู่ร่วมกันอย่างพหุวัฒนธรรม ที่ไม่ใช่เป็นแค่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว ดั่งเช่นคำกล่าวของ ผศ.ดร.อิสมาอิลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฎอนี ที่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อไว้ว่า อยากให้คนในพื้นที่มีความรักใคร่กัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน หรือพี่น้องต่างศาสนิกต่างๆ อยู่ร่วมกัน รู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกัน ดั่งในสายเลือดการอยูร่วมกันอย่างพหุสังคม ของประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ กับประเพณีวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย อย่างเช่นประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวของชาวไทยเชื้อสายจีน เทศกาลรายอของพี่น้องมุสลิม และประเพณีชักพระแห่เทียนเข้าพรรษาของชาวไทยพุทธ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา คือต้นแบบของความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ และวัฒนธรรม กับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของประชาชน
  การก่อเหตุความรุนแรงฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้วสร้างความหวาดกลัว หวาดระแวงต่อกันของพี่น้องประชาชนด้วยกันเอง หรือมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ มาถึงวันนี้น่าจะผ่านยุคของมุสลิมสุดโต่งได้แล้ว เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ.2558 ที่จะถึงนี้ดีกว่า และการที่กลุ่ม PerMAS ยังมีแนวความคิดเดิมๆ ในการปลุกระดมแนวความคิด “SATU PATANI” ในเวทีเสวนา เท่ากับว่ากลุ่ม PerMAS ยังล้าหลังไม่ยอมรับการก้าวไปสู่สังคมเศรษฐกิจ ยัดเยียดความเป็นหนึ่งเดียวปาตานีให้กับประชาชนอย่างชนิดลืมหูลืมตา  

***********************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น