หน้าเว็บ

6/29/2557

การก่อเหตุรุนแรงเดือนรอมฎอนได้ผลบุญทวีคูณจริงหรือ?


นักรัก ปัตตานี
วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1435 ปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2557 เดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ถือได้ว่าเป็นบุญใหญ่แห่งปีที่พี่น้องชาวไทยมุสลิมได้ประกอบศาสนกิจกัน แต่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแสวงโอกาสในห้วงเดือนแห่งศรัทธา ได้โฆษณาชวนเชื่อ และปลุกระดมให้มวลสมาชิกและแนวร่วมผู้หลงผิดเข้าใจว่า การก่อเหตุในเดือนรอมฎอนจะได้บุญมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการลงมือก่อเหตุต่อเจ้าหน้าที่รัฐ

          ย้อนรอยไปดูสถานการณ์การก่อเหตุในห้วงเดือนรอมฎอนในรอบ 9 ปี ที่ผ่านมา พบว่ามีการก่อเหตุค่อนข้างมาก ลักษณะการก่อเหตุจะเน้นหนักยิงรายบุคคล ตามด้วยลอบวางระเบิด ลอบวางเพลิง และเหตุก่อกวน เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อปี 56 ได้มีกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยกับฝ่าย BRN โดยได้มีข้อตกลงที่จะลดเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอน ซึ่งในห้วงแรกของเดือนแห่งการถือศีลอดการก่อเหตุได้ลดลงจนหลายฝ่ายต่างออกมาชื่นชมว่ากระบวนการพูดคุยได้ผล แต่เหตุการณ์ได้พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อมีการก่อเหตุรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในห้วง 10 วันสุดท้ายก่อนจะละศีลอด

เหตุความรุนแรงเดือนรอมฏอน ปี 56 ทั้งที่มีข้อตกลงลดการก่อเหตุ
          วิเคราะห์ได้ว่า BRN ไม่สามารถควบคุมสั่งการสมาชิกระดับปฏิบัติการที่ทำการเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ได้ทุกกลุ่ม เนื่องจากมีการแตกออกไปหลายกลุ่มด้วยกัน บางกลุ่มไม่เห็นด้วยในแนวทางกระบวนการสันติภาพที่กำลังมีการพูดคุยกันอยู่ ซึ่งในภายหลังขบวนการ BRN ได้ออกมากล่าวอ้างผ่านสื่อกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยทำผิดข้อตกลงในการลดเหตุรุนแรง ข่าวบางกระแสได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเดือนรอมฎอนเกิดจากการกระทำของกลุ่ม PULO ที่ต้องการแสดงศักยภาพเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ หลังจากนั้นได้มีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนไปในทิศทางเดียวกัน กลุ่ม PULO ได้มีที่นั่งบนโต๊ะเจรจาร่วมกับขบวนการ BRN เพื่อทำการพูดคุยกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทย

เหตุจูงใจการก่อเหตุเดือนรอมฎอน เดือนแห่งการถือศีลอด
          เดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดเป็นเดือนแห่งประเสริฐของมวลพี่น้องมุสลิมที่ประกอบศาสนกิจ เป็นเดือนแห่งบุญ เป็นเดือนแห่งการมุ่งทำความดี เหตุไฉนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ละเว้นในการก่อเหตุ สืบเนื่องจากได้มีการบิดเบือนหลักคำสอนศาสนา และมีความเชื่อแบบผิดๆ โดยระดับแกนนำขบวนการ BRN ได้ปลุกระดมทางความเชื่อทางความคิดให้กับสมาชิกและแนวร่วม เข้าใจว่าการก่อเหตุในห้วงเดือนรอมฎอน เป็นการต่อสู้เพื่อแผ่นดินมาตุภูมิปาตานีดารุสลาม เป็นการทำสงครามต่อผู้รุกรานหรือสงครามญีฮาด ซึ่งจะได้รับผลบุญทวีคูณสองเท่า
          การอ้างให้สมาชิกและแนวร่วมทำสงครามญีฮาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไม่ถูกต้อง  การที่จะกำหนดว่าเป็นสงครามญีฮาดได้นั้น จะต้องเป็นดินแดนดารุลอิสลาม หรือดารุสสลาม ดินแดนของชนชาวอิสลามปกครองด้วยศาสนาอิสลาม เมื่อคนต่างศาสนามารุกราน พี่น้องร่วมชาติอิสลามจะต้องต่อสู้ปกป้องประเทศและปกป้องศาสนา หรือเป็นดินแดนดารุลฮัรบี คือดินแดนที่เมื่อก่อนเป็นประเทศที่ปกครองด้วยคนอิสลามแล้วถูกคนนอกศาสนารุกราน ทุกคนต้องเข้าร่วมต่อสู้เป็นสงครามญีฮาด แต่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว มีแต่การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหลอกลวงให้สมาชิกและแนวร่วมผู้หลงผิดทำการก่อเหตุในห้วงเดือนรอมฎอน ว่าจะได้รับบุญทวีคูณ

ใครได้ ใครเสีย หากยังมีการก่อเหตุรุนแรงในเดือนรอมฎอน
          สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศในขณะนี้ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอาจจะนำมาเป็นประเด็นในการก่อเหตุเชิงสัญลักษณ์ในห้วงเดือนรอมฎอน เพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้ทหารจะมีอำนาจในการปกครองประเทศก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไฟใต้ได้ อีกทั้งยังมีความต้องการเรียกความเชื่อมั่นจากสมาชิกแนวร่วม มีการสร้างแรงจูงใจในการก่อเหตุ โดยทำการบิดเบือนหลักคำสอนศาสนา นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือนักการเมืองระดับชาติที่เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อาจจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการก่อเหตุสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในเดือนแห่งการถือศีลอด
          ในส่วนของปัญหาภัยแทรกซ้อน ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน และสินค้าหลบหนีภาษี ยังคงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนหรือเป็นแหล่งเงินทุน ท่อน้ำเลี้ยงให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในการก่อเหตุอยู่ต่อไป และที่สำคัญในห้วงเดือนรอมฎอน พี่น้องชาวไทยมุสลิมที่ไปทำมาหากิน ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ จะเดินทางกลับภูมิลำเนามาประกอบศาสนกิจกับครอบครัวจำนวนมาก กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่อาศัยอยู่ยังประเทศเพื่อนบ้านอาจจะอาศัยจังหวะและโอกาสนี้ในการแฝงตัว แทรกซึมเข้ามาทำการก่อเหตุป่วนเมือง
          หน่วยงานความมั่นคงยังคงให้ความสำคัญกับบทบาทผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไปสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ไม่ให้ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด จากการบิดเบือนหลักคำสอนศาสนาของกลุ่มขบวนการ มีการหารือหาทางออกของปัญหาร่วมกัน และเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมาได้มีพิธีละหมาดฮายัต ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี โดยมีผู้นำศาสนาและพี่น้องประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลามเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เนื้อหาสาระสำคัญให้ทุกคนเห็นว่า เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งความดีงาม
          อย่าให้กลุ่มบุคคลที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือมาทำลายศาสนาอิสลาม เดือนรอมฎอน คือเดือนแห่งประเสริฐ เดือนแห่งการทำความดี อย่าให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมาทำลายบรรยากาศเดือนแห่งบุญ ที่มีการเข่นฆ่าผู้คนล้มตายกันอีกเลย พี่น้องชาวปาตานีอย่าไปหลงกับคำโฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวง บิดเบือนข้อเท็จจริงจะต้องรู้เท่าทัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหากพี่น้องชาวปาตานีอยากเห็นสันติสุข ความสงบที่แท้จริงปราศจากเสียงปืนและเสียงระเบิด แค่ระยะเวลาหนึ่งเดือนซึ่งพี่น้องมุสลิมถือศีลอด ร่วมกันต่อต้านไม่เอาความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงกระทำต่อผู้บริสุทธิ์แบบสุดโต่ง ในเมื่อประชาชนร่วมมือกัน เป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องดูแลความผิดปกติ กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงก็คงไม่กล้าที่จะลงมือทำการก่อเหตุ หากทำไปมีแต่เสียกับเสียไม่คุ้มทุนที่ต้องเสียมวลชนไปให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ..คอยติดตามรอมฎอนปี 57 ปีนี้ เหตุจะลดหรือจะเพิ่มกว่าเดือนรอมฎอนปีที่ผ่านๆ มาหรือไม่ อย่างไร มาดูกัน...

@@@@@@@@@@@@@

6/27/2557

เบื้องหลังการจัดตั้งของขบวนการ BRN

"นักรัก ปัตตานี"
ขบวนการแบ่งแยกดินแดนใต้เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่สมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ สมัย ร.5 ในครั้งที่ ตนกูอับดุลกาเดร์ บินตวนกู รอมารุดดิน หรือ พระยาวิชิตภักดี เจ้าเมืองปัตตานี ในขณะนั้นไม่พอใจที่ ร.5 ส่งเจ้าเมืองคนใหม่ที่เป็นมุสลิมจากกรุงเทพมาปกครองปัตตานี ทำให้เจ้าเมืองเดิมไม่พอใจฝักใฝ่อังกฤษ ในที่สุดพระยาวิชิตภักดี ถูกทางการสยามจับกุมตัวในข้อหากบฏ

จากการศึกษาข้อมูลกลุ่มขบวนการที่ได้เคลื่อนไหวเพื่อต้องการเอกราชจากรัฐไทย ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีได้แก่ ขบวนการ กัมปา (GAMPAR) หรือ สมาคมรวมเผ่ามลายูที่ยิ่งใหญ่ ขบวนการยุคที่ 2 ขบวนการ บีเอ็นพีพี BNPP (Barisan National Pembebasar Pattani) ขบวนการยุคที่ 3 ขบวนการ บีอาร์เอ็น หรือ กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี BRN (Barisan Revolusi Nasional) ซึ่งได้แยกตัวออกมาจากขบวนการ บีเอ็นพีพี ขบวนการยุคที่ 4 ขบวนการ พูโล PULO (Patani United Liberation Organization) แยกตัวมาจาก ขบวนการ บีอาร์เอ็น ขบวนการยุคที่ 5 ขบวนการ มูจาฮีดีน (มูจาฮีดีน ปัตตานี หรือ BBMP, มูจาฮีดีน อิสลามปัตตานี หรือ GMIP) นอกจากนั้นยังมีขบวนการ เบอร์ซาตู ขบวนการ เปอร์มูดอ และขบวนการ RKK


ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือ ขบวนการปฏิวัติได้วางแผนและสั่งการอำนวยการ กำหนดให้กลุ่มแนวร่วมขบวนการรับผิดชอบในเขตพื้นที่ 2 – 3 อำเภอ ที่เรียกว่า สะกอมซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการหลายคณะ ทั้งฝ่ายทหาร (ระดับกองร้อย) และฝ่ายมวลชน (ระดับสะกอม) ฝ่ายเยาวชน ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายสตรี และฝ่ายศาสนา (อูลามา)โดยกลุ่มคนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาจากเยาวชนในโรงเรียนสอนศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ที่คัดเลือกเยาวชนที่มีผลการเรียนอยู่ในระดับแนวหน้ามีความประพฤติดี ใฝ่ใจในศาสนาอิสลาม ซึ่งขบวนการปฏิวัติได้ใช้เวลาบ่มเพาะพร้อมให้การศึกษาด้านงานปฏิวัติอีก 4-5 ปี จึงนำไปสู่การปฏิวัติ เพื่อขับเคลื่อนงานมวลชน และงานด้านการทหารของขบวนการปฏิวัติมลายูในแต่ละเขตงาน (สะกอม)

ข้อพิจารณาในการคัดเลือกของกลุ่มคนในระดับนี้

1. กลุ่มคนในระดับนี้เป็นนักคิดนักปฏิวัติที่มุ่งมั่นต่อต้านรัฐบาลไทยทุกๆ รัฐบาลตลอดเวลาไม่ว่ารัฐบาลจะทำถูกทำดี ต่อประชาชนมลายูก็จะถูกต่อต้านในทุกรูปแบบด้วยแนวคิดที่คาดไม่ถึง
2. กลุ่มนักคิดนักปฏิวัติเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นนักปลุกระดม นักจัดตั้งมวลชนซึ่งมีพื้นฐานการปลูกฝังอุดมการณ์ในการต่อสู้ทั้งด้านการทหารและด้านการเมืองดังนั้นกลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้จึงสามารถวิเคราะห์งานการเมืองและการทหารได้อย่างตรงไปตรงมาและมีคุณภาพ
3. กลุ่มนักคิดนักปฏิวัติเหล่านี้ มีความสามารถในการบริหารองค์กรปฏิวัติให้เกิดผลงาน ด้วยการบริหารคน เวลา ทรัพยากรที่มีอยู่ใน 3 จชต. อย่างจำกัด โดยไม่หวังผลตอบแทนเพียงเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจว่าตนเองเป็นนักปฏิวัติในอุดมคติของขบวนการปฏิวัติมลายู
4. ในแง่ของศาสนา กลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้มีความรู้ทางด้านศาสนาสูงกว่าชั้น 10 (ซานาวี) โดยจะแฝงตัวเข้าไปเรียนศาสนาในขั้น 11-14 ที่โรงเรียนสอนศาสนาชื่อดังในตัวเมืองยะลา และโรงเรียนสอนศาสนาในตัวเมืองปัตตานี ทำให้กลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้สามารถใช้ศาสนานำไปเป็นเงื่อนไขปลุกเร้าให้ RKK และมวลชนในหมู่บ้านจัดตั้ง (อาเจ๊าะ) พร้อมที่จะต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลไทยได้ตลอดเวลาโดยผ่านทางฝ่ายอูลามา (ศาสนา) ในระดับสะกอม
5. กลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้มักจะถูกจำกัดในเรื่องการเรียนสายสามัญ และสายศาสนาให้อยู่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรีเกือบทุกคน ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มที่มีผลการเรียนดีมาตั้งแต่เด็ก ทำให้กลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้ปฏิเสธการมีใบปริญญาแต่ยอมรับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานมากกว่า ดังนั้นกลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้จะเปิดตัวมาทำงานในโลกของการแข่งขันด้วยใบปริญญาจึงมีน้อยมาก แต่ก็ทำให้นักปฏิวัติเหล่านี้ได้คิดได้เปรียบเทียบ และพบว่าทำไมกลุ่มผู้นำขององค์กรปฏิวัติมลายูส่วนใหญ่จึงส่งลูกหลานไปเรียนต่อในระดับสูง จบถึง ป.โท ป.เอก ทั้งสายสามัญ และสายศาสนา ทั้งในและต่างประเทศ ตรงกันข้ามกับกลุ่มพวกเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวบ้านมลายูธรรมดาเท่านั้นเอง กลับไม่มีโอกาสเช่นนั้น
6. ด้วยความเป็นนักปฏิวัติในอุดมคติของบุคคลเหล่านี้ที่ถูกสร้างมาจากองค์กรปฏิวัติมลายู ทำให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีความฝันในอุดมคติ เหนือกว่าความได้เป็นเอกราชของรัฐปัตตานี นั่นคือการทำให้พี่น้องมลายูมีความสุขสันติตามแนวทางอิสลาม ดังนั้นนักปฏิวัติเหล่านี้มักจะไม่สนใจความสุขสบายเป็นส่วนตัว ไม่หวังตำแหน่งลาภยศใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้นักรบเหล่านี้ถูกองค์กรนำ DPP หลอกใช้ทำงานปฏิบัติได้อย่างง่ายดายโดยปราศจากสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
7. กลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่บริเวณบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองเป็นหลัก เพราะมีความคุ้นเคยกับคนกับชุมชน และกับภูมิประเทศ รวมถึงลมฟ้าอากาศเป็นอย่างดี จึงสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบได้เป็นอย่างดี ดังนั้นนักปฏิวัติเหล่านี้ จึงสามารถแฝงและฝังตัวอยู่ในพื้นที่ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ตลอดเวลาจนฝ่ายรัฐไม่คาดคิดว่าบุคคลกลุ่มนี้เป็นสมาชิกของขบวนการปฏิวัติมลายู
8. กลุ่มนักปฏิวัติมักมีความมั่นใจในการบริหารงานในองค์กรปฏิวัติว่าสามารถต่อต้านรัฐไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะงานด้านการจัดตั้งมวลชนมลายู เพราะด้วยการปฏิวัติตัวเองให้เป็นตัวอย่างที่ดีในทุกมิติของสังคมมลายูในพื้นที่นั้นๆ จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนมลายูในพื้นที่ตลอดเวลา ดังนั้นกลุ่มนักปฏิวัติเหล่านี้มีความเชื่อว่าพวกเขาสามารถควบคุมประชาชนมลายูในพื้นที่รับผิดชอบในทุกๆ มิติ โดยเฉพาะมิติทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองในระดับท้องถิ่นหรือในระดับชาติ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ระดับ 3 ปฏิบัติการ

ขบวนการปฏิวัติมลายูได้สร้างสมาชิกระดับปฏิบัติการเอาไว้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มทหาร และกลุ่มมวลชน กลุ่มทหารที่รู้จักกันภายใต้ชื่อว่า RKK มีหน้าที่ปฏิบัติการทางทหารในรูปแบบของกองโจรและการก่อการร้าย ส่วนกลุ่มมวลชนที่รู้จักกันในชื่อว่า อาเจ๊าะ (หมู่บ้านจัดตั้ง) มีหน้าที่ให้การสนับสนุนการรบและช่วยรบ ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้มีข้อแตกต่างกัน คือ กลุ่มสมาชิก RKK จะเป็นเยาวชนมลายูที่ผ่านการฝึกมาเป็นอย่างดี ส่วนมากจะเป็นเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษาของโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลุ่มสมาชิกอาเจ๊าะ จะเป็นประชาชนมลายูที่อยู่ในหมู่บ้านชนบท มีความศรัทธาในศาสนาแต่ไม่มีความรู้ในเรื่องศาสนามากนัก ขบวนการปฏิวัติมลายูจึงฉวยโอกาสใช้ศาสนาบิดเบือนเจือปนกับงานปฏิวัติของขบวนการปฏิวัติ เข้าไปปลุกระดมบ่มเพาะชักชวนให้เป็นสมาชิกของขบวนการปฏิวัติมลายู


ข้อพิจารณาของกลุ่มคนระดับปฏิบัติการ
1. กลุ่มปฏิบัติการทั้ง 2 กลุ่ม มีความเชื่อว่าการปฏิบัติงานของตนเองนั้น เป็นการปฏิบัติงานเพื่อศาสนา เพื่อพระเจ้า แต่จะเป็นการสนับสนุนงานปฏิวัติของขบวนการปฏิวัติมลายูหรือไม่นั้นยังไม่สำคัญ เพราะกลุ่มปฏิวัติทั้ง 2 กลุ่ม มีความเชื่อว่าสถานการณ์ใน 3 จชต. อยู่ในภาวะสถานการณ์สงครามศาสนา (ดารุลฮารบี) ซึ่งเป็นข้อบังคับ (วาญิบ) ที่มุสลิมทุกคนใน 3 จชต. ต้องปฏิบัติถ้าไม่เชื่อจะเป็นบาป แต่ถ้าปฏิบัติจะได้บุญมากกว่าปกติ และถ้าเสียชีวิตในการทำสงครามศาสนาจะได้สถานะฮีด คือไปสู่สวรรค์โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบสวนของเทวทูต และไม่ต้องอาบน้ำศพและไม่ต้องละหมาด เมื่อ RKK เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่จะเห็นได้ว่าญาติๆ จะกีดกันไม่ให้โต๊ะอิหม่ามทำพิธีละหมาดและอาบน้ำศพก่อนนำไปฝังที่กุโบร์ ดังนั้นการวินิจฉัยการปฏิบัติขิง RKK ที่เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่แล้วไม่อาบน้ำศพและทำพิธีละหมาดนั้น ถูกหรือไม่ในหลักศาสนาอิสลามซึ่งผู้รู้ศาสนาอิสลามใน 3 จชต. ส่วนใหญ่รู้ว่าสถานการณ์ใน 3 จชต. ยังไม่เข้าสถานะสงครามศาสนา (ดารุลฮารบี) แต่ไม่มีใครกล้าออกมาพูดเพราะกลัวขบวนการปฏิวัติมลายูจะสังหารเหมือนบาบอหรือโต๊ะครูบางท่านที่ออกมาคัดค้านจนถูกฆ่าตาย

2. ด้านการเงินสนับสนุนของขบวนการปฏิวัติมลายูกลุ่มปฏิบัติการทั้ง 2 กลุ่ม จะต้องสละเงินวันละ 1 บาท/คน สำหรับกลุ่มมวลชน (อาเจ๊าะ) และสละเงินวันละ 2 บาท/คน สำหรับกลุ่ม RKK ด้วยความเต็มใจ ซึ่งขบวนการมิได้บังคับแต่อย่างใด จะเห็นได้ว่าตราบใดที่ขบวนการปฏิวัติมลายูยังคงสามารถสร้างสมาชิกแนวร่วม (อาเจ๊าะ) และสมาชิก RKK ได้อยู่ตลอดเวลา ระบบการเงินสนับสนุนของขบวนการ ก็ยังคงมีอยู่เช่นนั้นเป็นระบบการเงินพื้นฐานของขบวนการปฏิวัติมลายูนอกเหนือจากระบบการเงินสนับสนุนวันละ 1 บาท และ 2 บาท ของกลุ่มปฏิบัติการนี้แล้ว ขบวนการปฏิวัติมลายูระดับนโยบาย (DPP)  จะไปใช้จ่ายอย่างไรสมาชิกกลุ่มปฏิบัติการทั้ง 2 กลุ่ม ไม่มีสิทธิ์ไปทวงถามแต่อย่างใด

3. กาตอบแทนการปฏบัติงานของกลุ่มปฏิบัติการทั้ง 2 กลุ่มนี้ ขบวนการปฏิวัติมลายูไม่ได้ให้ค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นเงินหรือสิ่งของแต่อย่างใด แต่จะให้ตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในงานปฏิวัติเท่านั้น ซึ่งผลตอบแทนคือจะได้บุญมากกว่าบุญปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อกลุ่มปฏิบัติการทั้ง 2 กลุ่ม มีความเบื่อหน่ายอ่อนล้าจาการปฏิบัติงานมานาน ขบวนการปฏิวัติจะใช้ฝ่ายศาสนา (อูลามา) เข้าไปปลุกระดมด้วยเงื่อนไขศาสนา (ดารุลฮารบี) ซ้ำๆ อีก ก็จะทำให้สมาธิปฏิบัติการทั้ง 2 กลุ่ม มีกำลังใจในการปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของขบวนการปฏิวัติมลายูต่อไป

4. ความเป็นคนดีของสังคมมลายู ขบวนการปฏิวัติมลายูจะคัดเลือกคนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มปฏิบัติการด้วยคุณสมบัติของความเป็นคนดีในมิติของศาสนาอิสลามเป็นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม RKK หรือกลุ่มอาเจ๊าะ (หมู่บ้านจัดตั้ง) ก็ตาม บุคคลเหล่านี้จะมีลักษณะเด่นในหมู่เยาวชน หรือในหมู่ประชาชนมลายูในหมู่บ้าน เช่น ไม่ติดยาเสพติด ชอบเล่นกีฬา ชอบละหมาด หรือถ้าเป็นประชาชนก็จะเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวม ขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพการงานสอนศาสนา ไม่ทำตัวเป็นนักเลงอันธพาล หรือเป็นผู้มีอิทธิพลค้ายาเสพติด


ดังนั้นขบวนการปฏิวัติมลายูจึงเลือกบุคคลเหล่านี้ในหมู่บ้านเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มปฏิบัติการเพราะโดยพื้นฐานของสังคมชุมชนมลายูแล้ว คนมลายูทั่วๆ ไปต่างก็ยอมรับความเป็นคนดีของคนเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ได้เป็นสมาชิกกลุ่มปฏิบัติการของขบวนการปฏิวัติมลายู ก็ถูกขบวนการปฏิวัติมลายูปรับเปลี่ยนความคิดเพิ่มเติม คือ ความคิดให้เกลียดคนไทยพุทธ และต่อต่านรัฐบาลไทยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่เจ้าหน้าที่รัฐไทยถูกกล่าวหาว่าไปจับกุมคนดีของชุมชนมลายูอยู่เสมอกับการปฏิบัติการ ลับ ลวง พราง ของขบวนการปฏิวัติมลายูทำให้ผลการดำเนินคดีต้องฟ้องหรือปล่อยตัวในที่สุุด

นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจึงต้องกลายเป็นจำเลยของสังคมโดยเฉพาะสังคมมุสลิมว่าเจ้าหน้าที่จับกุม ทำร้ายประชาชนมลายูมุสลิมผู้บริสุทธิ์ที่มีแต่มือเปล่า

@@@@@@@@@@@@@

6/26/2557

ยาเสพติด-นักการเมืองกับขบวนการ BRN

"แบมะ ฟาตอนี"
ความเข้มข้นของการตรวจเข้ม ขยายผลของเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติด รวมทั้งภัยแทรกซ้อนต่างๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศจากการประกาศใช้กฎอัยการศึก อีกทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ใส่เกียร์ว่าง สนองนโยบายในการปฏิรูปประเทศ คืนความสุขให้กับคนไทย ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน จากการครอบงำของนักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติผู้กำหนดชะตากรรมของประชาชนในพื้นที่ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าเตะผลประโยชน์มหาศาลที่ผิดกฎหมายของนักการเมืองเหล่านี้




            ณ วันนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการกวาดล้างขบวนการค้ายาเสพติด ธุรกิจผิดกฎหมายทุกชนิดให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินแห่งนี้ซักที ใครๆ ต่างรู้ดีว่าเงินสะพัดจำนวนมหาศาล ตกอยู่ในกำมือของนักธุรกิจ นักการเมือง ผู้ทรงอิทธิพลในพื้นที่ เสวยสุขอยู่บนกองเงินกองทอง รัฐต้องสูญเสียรายได้ปีหนึ่งหลายหมื่นล้าน ที่สำคัญธุรกิจเหล่านี้เป็นแหล่งเงินทุน เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับโจรใต้ในการก่อเหตุความรุนแรง
            การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านภัยแทรกซ้อนได้ดำเนินการเป็นจริงเป็นจังมีการประสานงานด้านการข่าวที่แน่นอน เข้าจู่โจมทำการจับกุมแบบไม่ทันตั้งตัวหลายจุดด้วยกัน สามารถทะลายแหล่งซุกซ่อนยาบ้าได้เป็นจำนวนมาก เมื่อมีการขยายผลมีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองท้องถิ่นหลายคนด้วยกันโดยส่วนใหญ่เป็นหัวเมืองเศรษฐกิจที่มีนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาท่องเที่ยว




            การดำเนินการกวาดล้างดำเนินการจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายเดือน พฤษภาคม 2557 เมื่อวันที่ 27 พ.ค.57 โดยจุดตรวจในเขตเทศบาลตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ได้จับกุมผู้ต้องหาจำนวน ๒ ราย คือ นายฮาซัน ยาบาลา และนายนิเฮง สาแมง พร้อมของกลางยาบ้า จำนวน 18,000 เม็ด อาวุธปืนขนาด.357 จำนวน 1 กระบอก พร้อมกระสุน 12 นัด ซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายในรถยนต์ BMW ทะเบียน กง 3391 นราธิวาส โดยนายฮาซัน ยาบาลา ให้การว่าขนยาบ้ามาจากพื้นที่ ม.3 ต.ผดุงมาตร อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เพื่อนำไปเก็บและพักของไว้ที่บ้านพักของ นายนิเฮง สาแมง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งทั้งสองคนได้รับการว่าจ้างจาก นายอาลาฟัส บากา ด้วยเงินจำนวน 10,000 บาท ปัจจุบัน นายอาลาฟัส ถูกจับกุมคดียาเสพติดเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57
            เมื่อวันที่ 28 พ.ค.57 เจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการตรวจค้นบ้านเป้าหมายเลขที่ 77 ม.2 ต.ปูโย๊ะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส สามารถจับกุม นายรอเซ๊ะ อาแวโซ๊ะ ซึ่งเป็นรองนายกองค์การบริหารตำบลปูโย๊ะ และนายมูฮะมะฮัชรี อาแวโซ๊ะ (น้องชาย) พร้อมยาบ้า จำนวน 8,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ภายในบริเวณบ้าน และได้ทำการตรวจยึดวัตถุพยานหลายรายการด้วยกัน ประกอบด้วยปืนพกขนาด .45 นิ้ว พร้อมซองกระสุน 9 นัด ปืนพกขนาด .357 นิ้ว พร้อมกระสุน 16 นัด ปลซ.เบอร์ 12 พร้อมกระสุน 18 นัด รถยนต์ฮอนด้า รุ่นแอคคอร์ด ทะเบียน กอ 5260 สงขลา รถจักรยานยนต์ 1 คัน โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง แทปเล็ต 1 เครื่อง และสมุดบัญชีธนาคาร จำนวน 5 เล่ม นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
            เมื่อ 9 มิ.ย57 เจ้าหน้าที่ได้ขยายผลจาการจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดของ นางรัชนีย์ แซ่ฉิน โดยได้ทำการตรวจคันและจับกุม นางอรพรรณ จิหามาตร นายสตาวีเด็น สูหลง น.ส.มานูเน๊าะ สูหลง และ
น.ส.เสาวณีย์ ฉิมวิเศษ พร้อมของกลางยาบ้า จำนวน 33,800 เม็ด พร้อมเงินล่อซื้อ จำนวน 240,000 บาท รถยนต์ 2 คัน รถจักรยานยนต์ 1 คัน และสิ่งของอื่นๆ อีกหลายรายการ นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ธารโต เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป




            เป็นที่น่าสังเกตจากการจับกุมนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ๆ ในพื้นที่ 3 จชต. พบว่ามีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นหลายคนในพื้นที่ อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อีกทั้งจากการตรวจพบข้อมูลมีการพบบัญชีการใช้เงินซื้อเสียง รายละ 2,500 บาท จำนวน 175 ราย แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของนักการเมืองท้องถิ่นที่มีพฤติกรรมค้ายาเสพติดที่ทำมาค้าขายกันเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ มีกลุ่มนายทุน เครือข่ายการค้า กลุ่มเก็บสะสมยาเสพติด และกลุ่มที่ทำหน้าที่ขนย้ายยาเสพติด มีการนำรายได้จากการค้ายาเสพติดไปซื้อเสียงจนได้รับเลือกตั้งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างอิทธิพลสำหรับป้องกันตนเองจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐ
            เครือข่ายค้ายาเสพติดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีความเชื่อมโยงกันเป็นอาชญากร
ข้ามชาติ มีการโอนเงินไปมาข้ามประเทศ เพื่อทำการฟอกเงินโดยการประกอบธุรกิจบังหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านอาหาร กิจการรับเหมาก่อสร้าง บริษัททัวร์ จองตั๋วเครื่องบินเพื่อใช้ในการอำพรางสถานะ




            ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่น้ำจิ้มเรียกน้ำย่อยของขบวนการค้ายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
แต่ไฮไลน์จริงๆ อยู่ที่ขบวนการค้ายาเสพติดมีความเชื่อมโยงกับปัญหาไฟใต้ชนิดแยกกันไม่ออก จากการติดตามตรวจสอบกลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด กลุ่มขบวนการ
BRN เป็นเนื้อเดียวกันมีอยู่หลายครั้งเมื่อมีการจับกุมผู้ค้ายาเสพติดกลับพบว่ามีประวัติพัวพันในการก่อเหตุ มีหมายจับในคดีความมั่นคงอยู่ด้วย ข้อมูลเชิงลึกเมื่อมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการ BRN กลับพบว่าเงินที่ใช้ในการก่อเหตุได้รับการสนับสนุนมาจากพ่อค้ายาเสพติด ก็เท่ากับว่าผู้ที่ทำลายสังคมให้มีความเสื่อมโทรมมอมเมาเยาวชนลูกหลานชาวมลายูปาตานีให้ติดยาจนถอนตัวไม่ขึ้น คือ พ่อค้ายาเสพติด แต่ในขณะเดียวกันพวกชั่วช้าเห็นแก่ได้พวกนี้ยังเป็นแหล่งเงินทุน เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับโจรใต้ BRN นำไปซื้ออาวุธ อุปกรณ์ประกอบวัตถุระเบิดกลับมาเข่นฆ่าพี่น้องมลายูปาตานีอีกทางหนึ่งด้วย แต่เป้าหมายเดียวกันคือมอบความตายให้กับพี่น้องพวกเดียวกันเอง ตายแบบผ่อนส่ง กับตายแบบฉับพลัน




            นี่คือความชั่วช้าของขบวนการยาเสพติดที่ยึดครองจังหวัดชายแดนใต้ด้วยการมอมเมาให้ลูกหลานติดยา ผสมโรงด้วยขบวนการ BRN สุดโต่งมุ่งทำลายล้างสร้างความรุนแรง สร้างความขัดแย้งทางความคิด แยกไทยพุทธ-ไทยมุสลิมออกจากกัน ทำลายการอยู่ร่วมกันอย่างพหุวัฒนธรรมลงอย่างสิ้นเชิง สันติภาพ สันติสุข ยังไม่เกิด ตราบใดที่หน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถทำลายล้างขบวนการชั่วช้าหากินบนความเดือดร้อนของประชาชนไม่หมดสิ้น ตราบนั้นโจรใต้ BRN ยังมีเชื้อไฟที่คอยเติมลงบนกองเพลิงที่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อค้ายาไม่ให้ไฟใต้มอดดับ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันบนความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าของประชาชนชาวปาตานีพ่อค้ายาเสพติด นักการเมือง และขบวนการ BRN คือ 3 ประสานผู้จุดไฟใต้และคอยเติมเชื้อเพลิงไม่ให้มีวันดับ แล้วใครล่ะ? จะเป็นผู้ดับไฟคืนความสันติ คืนความสงบสุขให้กับประชาชนเจ้าของพื้นที่แห่งนี้..
           
@@@@@@@@@@@@@



6/25/2557

เมื่อแนวร่วมโจรใต้โดนจับอาวุธปืนพร้อมของกลาง

แบมะ ฟาตอนี
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 เวลา 18.50 น. กลุ่มโจรใต้ใช้อาวุธปืน สงคราม ซุ่มยิงรถยนต์กระบะ ของ ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 4903 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 49 ก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหารพรานชุดดังกล่าวได้เดินทางกลับจากการแข่งขันกีฬา และมอบรางวัลให้แก่โรงเรียนตาดีกาในพื้นที่ บ้านไอร์แตแต และกำลังมุ่งหน้าจะกลับฐานที่ตั้ง เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่ารกทึบห่างจากฐานปฏิบัติการประมาณ 1 กิโลเมตร ได้มีกลุ่มคนร้ายประมาณ 4-5 คน ใช้อาวุธปืนสงครามยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ก่อนที่จะเกิดการยิงปะทะกันนานประมาณ 5 นาที หลังเสียงปืนสงบลง เจ้าหน้าที่ทหารพรานได้รับบาดเจ็บ จำนวน 7 นาย และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา จำนวน 2 นาย คือ อส.ทพ.นัฐพงศ์ พิมรัตน์ และ อส.ทพ.วิษนุ นวลแก้ว

               ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2557 เวลา 04.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารได้จัดกำลังขยายผลเข้าทำการตรวจค้นบ้านเป้าหมายในพื้นที่ บ้านสกูปา หมู่ที่ 8 ตำบลศรีสาคร อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส และพื้นที่ บ้านบาโงปะแต หมู่ที่ 1 ตำบลโคกสะตอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย  จำนวน 3 คน คือ นายมาหะมะรอยาลี  แมะเฮาะอีเล พร้อม ปลย.M-16 จำนวน 1 กระบอก นายอิบรอเฮม  แมเฮาะอีเล และ นายอิสมาแอ  มันธนาพร พร้อมของกลาง จำนวน 12 รายการ

               การลงมือปฏิบัติการลอบยิงเจ้าหน้าที่ทหารพรานในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าผู้ที่ลงมือก่อเหตุคือกลุ่มแนวร่วมโจรใต้ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ รู้ความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เวลาในการออกปฏิบัติงานการไปร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนตาดีกา แอบซุ่มลอบทำร้าย ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต่างทุ่มเททำงานเพื่อชุมชนเพื่อพี่น้องประชาชนชาวปาตานีโดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา
               ของกลางที่เจ้าหน้าที่ทำการตรวจยึดได้ มีทั้งอาวุธปืนสงคราม M-16 ซองกระสุน กระสุนขาด 5.56 และ เสื้อชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ชุดลายพรางเจ้าหน้าที่ทหาร และวิกผม ซึ่งเสื้อผ้าเครื่องแบบทหารดังกล่าวผู้ต้องสงสัยมีไว้เพื่อปิดบังอำพรางตนเองในการเคลื่อนไหวลงมือก่อเหตุ แต่งตัวคล้ายเจ้าหน้าที่ไม่ให้เป็นที่ต้องสงสัย และที่สำคัญเมื่อมีการก่อเหตุแล้วโยนความผิด สร้างสถานการณ์ให้เห็นว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ในการเข่นฆ่าประชาชน

               เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ผ่านมาจากการจับกุมผู้ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรมได้มีการยกฟ้อง ปล่อยตัว คดีที่สามารถเอาผิดจริงๆ ที่มีหลักฐานเพียงพอมีเพียงไม่กี่คดี น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเก็บรวบรวมหลักฐานวัตถุพยานต่างๆ ต้องมีความละเอียดรอบคอบ อีกทั้งการทำสำนวนส่งตัวฟ้องศาลมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างมีให้เห็นหลายต่อหลายครั้งผู้ต้องสงสัยที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเอาผิดได้ กลุ่มองค์กร NGOs จะนำประเด็นดังกล่าวมาเคลื่อนไหว กล่าวหาโจมตี เจ้าหน้าที่รัฐรังแกประชาชน มีการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีความเป็นธรรมและเท่าเทียม แต่ที่น่าสลดใจคือกลุ่มแนวร่วมที่เคยก่อเหตุโดนจับกุมตัวเมื่อเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรมหลักฐานมีไม่เพียงพอ แนวร่วมเหล่านั้นมีความเหิมเกริมกลับไปเคลื่อนไหวทำการก่อเหตุอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า
               กรณีการขยายผลเข้าทำการจับกุมกลุ่มแนวร่วมที่ลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหารพรานในครั้งนี้ หากการจับกุม เป็นตัวจริงเสียงจริงถือได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ทำงานเชิงรุก เอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย พร้อมทั้งสร้างบรรทัดฐานไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างของผู้ที่กำลังบ่อนทำลายความสงบสุขของพี่น้องประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และลบข้อกล่าวหาว่ากระบวนการยุติธรรมว่ามีความลำเอียง เลือกปฏิบัติ ไม่มีความเท่าเทียม
               ตามปกติแล้วการใช้กำลังทางทหารของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าทำการพิสูจน์ทราบค่อนข้างไม่ได้ผล เนื่องจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงซึ่งเข้ามาพักอาศัยกินอยู่ชั่วคราวนั้นมักจะไม่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่พวกเขาไม่พร้อมรบ ส่วนใหญ่จะหลบหนีออกจากหมู่บ้านไปก่อนล่วงหน้า หรืออำพรางตัวอยู่ในสถานะประชาชนมลายูทั่วๆ ไป กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจะปฏิบัติต่อฝ่ายเราก็ต่อเมื่อฝ่ายเราเข้าไปแย่งชิงมวลชนประชาชนมลายูในหมู่บ้านให้กลับมาร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ หรือเมื่อฝ่ายเราเสียเปรียบหรืออ่อนแอเท่านั้น ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มีการปฏิบัติการทางการทหารรูปแบบเดิมๆ ยุทธวิธีในการลอบโจมตีต่อเป้าหมายที่อ่อนแอ เจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ระมัดระวังตัว

               หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐได้ให้ความสำคัญทุ่มเทในการปฏิบัติการจิตวิทยาประชาสัมพันธ์มุ่งเน้นให้พี่น้องมลายูเข้าใจและไว้วางใจ ชี้ให้เห็นผลกระทบของการก่อเหตุรุนแรงมีแต่จะนำเรื่องเดือดร้อนมาสู่หมู่บ้าน ชุมชนของพี่น้องมลายูเอง คนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการ BRN ได้แจ้งเบาะแสข่าวสารจนนำไปสู่การจับกุมแนวร่วมขบวนการที่ทำการหลบซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านได้จำนวนมาก ซึ่งนับเป็นนิมิตรหมายที่ดีของจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความสันติสุข ความเข้าใจกันของพี่น้องมลายูปาตานีกับเจ้าหน้าที่รัฐและทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาไฟใต้อย่างเป็นจริงเป็นจัง ที่ทุกคนต่างตั้งตารอคอยแสงสว่างแห่งสันติภาพให้เกิดขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้

@@@@@@@@@@@@@

6/21/2557

ดินแดนปัตตานีไม่ใช่ญีฮาดสงครามรอมฎอนอันบริสุทธิ์ เข่นฆ่าชีวิตมนุษย์บาปเป็น ๒ เท่าทวีคูณ

บินหลา   ปัตตานี

          เดือนรอมฎอนเป็นห้วงการปฏิบัติศาสนกิจที่สำคัญของพี่น้องประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามโดยกำหนดขึ้นในเดือนที่ ๙ ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งในปี ฮ.ศ.๑๔๓๕ อยู่ในห้วงประมาณวันที่ ๒๙ มิ.ย.-๒๘ ก.ค.๒๕๕๗ ซึ่งในคืนวันที่ ๒๗,๒๘ มิ.ย.๕๗ จะมีการดูดวงจันทร์ถ้าดวงจันทร์มืด (แรม ๑๕ ค่ำ) เช้าวันรุ่งขึ้นจุฬาราชมนตรี  จะประกาศวันเริ่มต้นเดือนรอมฎอนที่ชัดเจนในห้วงนี้ผู้นับถือศาสนาอิสลามจะมีการปฏิบัติศาสนกิจที่สำคัญคือการถือศีลอดโดยงดบริโภคอาหารเครื่องดื่ม และการร่วมประเวณีระหว่างรุ่งสางจนตะวันลับขอบฟ้า         


         
การถือศีลอด เป็นข้อที่ ๓ ของหลักปฏิบัติ ๕ ประการของศาสนาอิสลาม การถือศีลอดเป็นการทดสอบและฝึกหัดร่างกายให้รู้จักอดกลั้นให้รู้สภาพอันแท้จริงของผู้ที่อัตคัดขัดสนทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน เป็นการขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ ผ่องแผ้วพ้นจากอำนาจใฝ่ต่ำและมีคุณธรรมในห้วงเดือนรอมฎอนจะมีการปฏิบัติศาสนกิจและปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด เช่น ตั้งมั่นในดูอาร์ ละทิ้งสิ่งไร้สาระ บริจาคทานอ่านอัลกุรอานมากๆ ละหมาดญะมาอะห์ทุกเวลา ซิกรุลลอฮ นึกถึงอัลลอห์มากๆ และละหมาดตอนกลางคืนมากๆ หรือละหมาดตาราเวียะห์ ผู้ปฏิบัติจะได้บุญและเพิ่มพูนความดีงามเท่าทวีคูณโดยเฉพาะในห้วง ๑๐ วัน สุดท้ายของการถือศีลอดหรือห้วงเอี๊ยะติกาฟจะได้บุญมากขึ้น



          กลุ่มขบวนการใช้การบิดเบือนหลักศาสนาอิสลามและประวัติศาสตร์ปลุกระดมบ่มเพาะสร้างกระแสสงครามญีฮาดเพื่อสร้างแนวร่วมขบวนการรุ่นใหม่ และแนวร่วมมวลชนโดยอ้างว่า เป็นหน้าที่ของคนมลายูทุกคนต้องต่อสู้เพื่อแยกรัฐปัตตานี เป็นเอกราชถ้าใครไม่ปฏิบัติจะเป็นบาป โดยเฉพาะปฏิบัติในห้วงเดือนรอมฎอนจะได้บุญเป็น ๒ เท่า ถ้าปฏิบัติในห้วงเอี๊ยะติกาฟจะได้บุญมากขึ้นทวีคูณเมื่อปฏิบัติแล้วตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์โดยไม่มีข้อแม้จึงเป็นแรงจูงใจให้ผู้ที่ถูกหลอกหรือหลงผิดก่อเหตุรุนแรงในห้วงเดือนรอมฎอนโดยปลูกฝังหรือบ่มเพาะความคิดที่ผิดๆ ตั้งแต่เด็กในครอบครัวหมู่บ้านหรืออาเยาะห์เมื่อโตขึ้นในวัยเรียนจะปลูกฝังในโรงเรียนตาดีกา, โรงเรียนปอเนาะ, โรงเรียนเอกชนสอน ศาสนา และในระดับมหาวิทยาลัยทั้งในพื้นที่ จชต. ต่างจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการปลูกฝังแบบเป็นระบบ          เป็นขบวนการ หยั่งรากลึกยากที่จะลบล้างและเปลี่ยนแปลงความคิดดังกล่าวได้


          ผู้เขียนขอเรียนให้ผู้อ่านได้ทราบว่าการแอบอ้างศาสนาว่าเป็นญีฮาดสงคราม และเข่นฆ่าชีวิตมนุษย์   ในห้วงเดือนรอมฎอนได้บุญเป็น ๒ เท่าไม่เป็นความจริงโดยอธิบายเหตุผลพอสังเขปดังนี้
          ประการแรก ไม่มีบัญญัติและหลักของศาสนาอิสลามที่กำหนดว่าการฆ่ามนุษย์หรือทำสงครามในห้วงรอมฎอนจะได้บุญเป็น ๒ เท่า มีแต่ทำความดีปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดจึงได้บุญมากขึ้นจะเห็นว่าในเดือนรอมฎอน แม้ในสงครามเช่นสงครามครูเสดคือ การทำสงครามระหว่างพวกคริสเตียนในยุโรปกับพวกมุสลิมที่ยึดครองนครเยรูซาเล็มในปาเลสไตน์ใน ค.ศ.๑๐๙๖-๑๒๙๑ ยังหยุดการต่อสู้พยายามที่จะหลีกเลี่ยงการต่อสู้  จะต่อสู้ก็เมื่อจำเป็นหรือเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น


          ประการที่สอง การอ้างว่าเป็นสงครามญีฮาดในพื้นที่ จชต. ไม่ถูกต้อง  การที่จะกำหนดว่าเป็นสงครามญีฮาดได้ต้องเป็นดินแดนดารุลอิสลาม หรือดารุสสลาม คือ เป็นดินแดนของอิสลามปกครองด้วยศาสนาอิลาม เมื่อถูกรุกรานจะต้องต่อสู้ปกป้องประเทศและศาสนา หรือเป็นดินแดนดารุลฮัรบี คือดินแดนที่เมื่อก่อนเป็นประเทศที่ปกครองด้วยคนอิสลามแล้วถูกคนนอกศาสนารุกราน ทุกคนต้องเข้าร่วมต่อสู้เป็นสงครามญีฮาด แต่ในพื้นที่ จชต. ไม่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง       ๒ กรณี ความจริงแล้วดินแดน ๓ จชต.หรือรัฐปัตตานีในสมัยเก่าไม่ได้ปกครองโดยคนมลายูหรืออิสลามมาก่อน เดิมคนพื้นเมืองอาศัยในดินแดนนี้มาก่อน พ.ศ. ๗๐๐ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและพราหมณ์ ณ เวลานั้น    คนมลายูยังไม่เข้ามา ศาสนาอิสลามยังไม่กำเนิด ศาสนาอิสลามกำเนิด พ.ศ.๑๑๒๒ ประเทศสยามหรือประเทศไทยเข้ามาปกครองและอาศัยอยู่ที่ปรากฎหลักฐานชัดเจนคือสมัยสุโขทัย ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๓๖ เรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาปกครองในระบบเจ้าเมือง ซึ่งปรากฏหลักฐานทางโบราณวัตถุปรากฏในพื้นที่ จชต. จนถึงปัจจุบัน


          กำเนิดเมืองปัตตานีในปี พ.ศ.๑๙๙๘ ในช่วงต้นสมัยอยุธยาจะเห็นว่ารัฐปัตตานีและคนมลายูเข้ามาใน จชต. ที่หลังประเทศสยามจึงอ้างสิทธิว่าถูกรุกรานเพื่อทำสงครามญีฮาดไม่ได้ สำหรับในเรื่องผู้ปกครองเมืองไม่ได้เป็นคนมลายูทั้งหมดในสมัยที่คนมลายู       เข้ายึดครอง เมืองไหนมีประชาชนนับถือศาสนาพุทธมากกว่าก็ให้คนไทยพุทธเป็นเจ้าเมือง เมืองใดประชาชนนับถือศาสนาอิสลามมากกว่าก็ให้คนมาลายูเป็นเจ้าเมือง จึงไม่สามารถอ้างความเป็นเจ้าของดินแดนเพื่อทำสงครามญีฮาดเพื่อแยกดินแดนเป็นเอกราชได้
          ท้ายนี้ ตามที่ได้กล่าวแต่ต้นแล้วว่าไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ไม่เข้าหลักการที่จะกำหนดเป็นสงครามศาสนาหรือสงครามญีฮาดเพื่อแยกดินแดนได้แต่กลุ่มขบวนการพยายามบิดเบือนให้เป็นสงครามญีฮาดซ้ำร้ายยังปฏิบัติผิดหลักการทำญีฮาดอีก ในหลักของสงครามญีฮาดกำหนดไว้ว่า ๑)จะไม่ทำร้ายเด็กสตรีและคนชรา ๒) ไม่ทำร้ายผู้นำศาสนาอื่น ๓) ไม่ทำลายศาสนสถาน ๔) ต้องดำรงอยู่ในข้อตกลง ๕) ไม่เป็นผู้รุกรานหรือเริ่มต้นก่อน ๖) ห้ามทำลายสัตว์เลี้ยงและพื้นที่การเกษตรจะเห็นว่า ผกร. ในพื้นที่ จชต. ละเมิดเกือบทุกข้อแบบนี้จะมาอ้างทำญีฮาดได้อย่างไรไม่อายผู้นำศาสนาหรือผู้รู้เขาบ้างหรือ ในส่วนของผู้นำศาสนาขออย่าได้นิ่งเฉยอย่าได้กลัวเมื่อมีผู้มาบิดเบือนศาสนาถือว่าเป็นผู้ทำลายศาสนาอิสลามจะต้องรวมพลังกันต่อสู้เพื่อขับไล่พวกมารศาสนาให้หมดไปเพื่อให้ศาสนาอิสลามบริสุทธิ์แผ่นดินบ้านเกิดมีความสงบสุข ตลอดไป

---------------------------------------------