หน้าเว็บ

11/03/2557

เหตุ ‘ฮูแตยือลอ’ กับการฉวยโอกาสของแนวร่วมขบวนการ

นักรัก ปัตตานี

จากการที่หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ทหารเรือ (ฉก.นย.ทร.) ได้ทำการเปิดแผนยุทธการเพื่อควบคุมสถานการณ์ในห้วงที่ผ่านมา  โดยมุ่งเน้นการใช้กำลังเชิงรุกในลักษณะการลาดตระเวน และตั้งจุดตรวจไม่ประจำที่ (ด่านลอย) บริเวณรอบหมู่บ้านที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มเป้าหมาย

การปฏิบัติมีการลาดตระเวนจรยุทธ์เกาะติดพื้นที่ ในพื้นที่รับผิดชอบ อำเภอบาเจาะ และ อำเภอยี่งอ  โดยได้รับการแจ้งข่าวสารจากประชาชนในพื้นที่ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดด้วยรถยนต์กระบะเข้ามายังพื้นที่รับผิดชอบ ในค่ำคืนของวันที่ 23 ตุลาคม 2557 จากบ้านกาเยาะมาตี ตำบลกาเยาะมาตี เข้าไปที่ บ้านฮูแตยือลอ ตำบลบาเระใต้ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส

ซึ่งจากข้อมูลของแหล่งข่าวที่แจ้งมานั้น กลุ่มแนวร่วมขบวนการจะใช้เส้นทางในการลำเลียงวัตถุระเบิดจาก บ้านกาเยาะมาตี บ้านชูโว บ้านคลอแระ บ้านบูเกะสูดอ บ้านฮูแตยือลอ  เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ทหารเรือ จึงได้จัดกำลังเพื่อเข้าทำการสกัดกั้นการขนย้ายวัตถุระเบิดดังกล่าว โดยจัดเป็น 3 ชุดปฏิบัติการด้วยกัน ได้แก่
1. ชุดเฝ้าตรวจแจ้งเตือนการเข้ามาบริเวณแยก โรงเรียนบ้านบูเกะสูดอ
       2. ชุดเฝ้าตรวจแจ้งเตือนการเข้ามาบริเวณมัสยิดบ้านฮูแตยือลอ
       3. จุดสกัดบริเวณก่อนถึงสามแยกเข้าบ้านกระทุง



จนกระทั่งเวลา 22.30 น. จุดเฝ้าตรวจที่ 1 ตรวจพบรถกระบะ 2 คัน ลักษณะคล้ายรถที่ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าว มาจอดคุยกันบริเวณ สามแยกบ้านบูเก๊ะสูดอ แล้วออกรถมุ่งหน้าไปยังจุดตรวจที่ 2 จึงวิทยุแจ้งให้จุดตรวจที่ 2 ทราบ เมื่อผ่าน จุดเฝ้าตรวจที่ 2 ตรวจพบรถกระบะเพียง 1 คัน จึงวิทยุแจ้งให้จุดตรวจ จุดตรวจที่ 3 ให้เตรียมตรวจสอบรถคันดังกล่าว เมื่อมาถึงจุดตรวจที่ 3 เจ้าหน้าที่จึงได้ขอเข้าทำการตรวจค้น โดยมีกำลังประจำจุดตรวจ จำนวน 6 นาย แสดงตัวบนถนน ฉายไฟฉายให้ทำการหยุดรถเพื่อขอเข้าทำการตรวจค้น  แต่รถคันดังกล่าวไม่มีทีท่าว่าจะหยุด หัวหน้าชุดจึงได้ตัดสินใจใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า เพื่อจะให้รถหยุด แต่รถคันดังกล่าวกลับไม่หยุด  ชุดระวังป้องกันจึงยิงบริเวณล้อรถเพื่อให้หยุด  รถต้องสงสัยคันดังกล่าวได้วิ่งไปหยุดบริเวณกลุ่มบ้านประชาชน ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร จากจุดที่เกิดเหตุ

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการตรวจสอบกลับพบว่าไม่ใช่รถเป้าหมาย และมีประชาชนที่โดยสารมากับรถคันดังกล่าวได้รับบาดเจ็บ จำนวน 3 ราย คือ นายรอมือซี แตเมาะ, เด็กหญิงอัชมี แตเมาะ, เด็กหญิงอาซูลา แตเมาะ จึงได้นำผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดส่งรักษาตัว โรงพยาบาลบาเจาะ  และส่งตัวรักษาต่อที่ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ แต่เด็กหญิงอาซูลา แตเมาะ ได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ในเวลาต่อมา

จากการเข้าทำการตรวจสอบวิถีกระสุนพบว่า รถยนต์กระบะตอนครึ่งได้รับความเสียหาย ยางหลังสองข้างแตก และมีรอยกระสุนที่ตัวถังในแนวล้อรถ และมีกระสุนบางส่วน สูงกว่าแนวล้อรถ ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนในรถบาดเจ็บและเสียชีวิต

วันที่ 24 ตุลาคม 2557 หลังจากเกิดเหตุเพียงวันเดียว ผู้บังคับกองร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ได้แสดงความรับผิดชอบ ต่อการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดของหน่วย ในเวลาต่อมา ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 ร่วมกับ นายอำเภอบาเจาะ ได้สร้างความเข้าใจ และชี้แจงแนวทางช่วยเหลือต่อครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ หลังจากนั้นเข้าพบปะแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสีย และได้มอบเงินเยียวยาในเบื้องต้น และร่วมในพิธีอาบน้ำศพของ ด.ญ.อาซูลา  แตเมาะ จัดตัวแทนเข้าเยี่ยมและอำนวยความสะดวกแก่ นายรอมือซี  แตเมาะ ซึ่งรักษาตัวอยู่ที่ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์

ในส่วนของ ผบ.ฉก.นย.ทร. ได้เข้าพื้นที่เกิดเหตุทันที เพื่อทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนาที่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนใน อำเภอบาเจาะ ได้แก่ นายมะกาแม  อิสอ โต๊ะอิหม่ามมัสยิดบ้านคลอแระ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส และนายมุคตาร์  เจะเลง ประธานชมรมโรงเรียนตาดีกา อำเภอบาเจาะ/เลขานุการชมรมโรงเรียนตาดีกา จังหวัดนราธิวาส เพื่อแสดงความรับผิดชอบ พร้อมกับขอคำชี้แนะ และขอความร่วมมือในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนและญาติผู้เสียหายใน โดยทำการชี้แจงเหตุการณ์ และเร่งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา ยืนยันการให้ความเป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที  

หลังจากนั้น ผบ.ฉก.นย.ทร. พร้อมด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, นายอำเภอบาเจาะ, นายอำเภอยี่งอ และประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ร่วมชี้แจงทำความเข้าใจ ถึงความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และชี้แจงการให้การช่วยเหลือและการเยียวยา และในโอกาสนี้  ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส, ผบ.ฉก.นย.ทร. ได้มอบเงินเยียวยาขั้นต้น  ให้กับนางอัสรูฮา สนิ มารดาและภรรยาผู้ได้รับผลกระทบ และร่วมกับ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายอำเภอบาเจาะ  อยู่ร่วมในบริเวณการจัดพิธีศพ เพื่อร่วมแสดงความเสียใจ  จนเสร็จสิ้นพิธีกรรมตามหลักศาสนาอิสลาม

จากการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ  นำไปสู่การได้รับบาดเจ็บของคนในครอบครัว นายรอมือซี ตาเมาะ รวม 3 คน และบุตรสาววัย 10 ปี ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น

เจ้าหน้าที่ที่ได้กระทำการในค่ำคืนวันนั้น มีความกล้าที่แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ ต่อครอบครัวของผู้เสียหาย ขอโทษในสิ่งที่ได้กระทำลงไป พร้อมยอมรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น และหน่วยงานต่างๆ ได้มอบเงินเยียวยาเพื่อทำการช่วยเหลือต่อครอบครัว นายรอมือซี ตาเมาะ

ทันทีที่ได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นเนื่องจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มองค์กรที่แสวงผลประโยชน์ หากินบนความตายของพี่น้องมุสลิมมลายูปาตานี โดยเฉพาะกลุ่ม PerMAS และองค์กรภาคประชาสังคม ได้ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวกดดันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ก่อเหตุ พ่วงด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ประกาศใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

จะเห็นได้ว่าปีกการเมืองของขบวนการ BRN ที่แฝงตัวอยู่ในมุมมืด โดยเฉพาะกลุ่ม PerMAS รีบชิงลงพื้นที่เกิดเหตุ ใช้รูปแบบเดิมๆ ระดมเครือข่ายมวลสมาชิก PerMAS ลงพื้นที่เก็บข้อมูลของครอบครัวผู้เสียหาย สอบถามเหตุการณ์ซึ่งนำมาสู่ความสูญเสีย สร้างภาพให้มีการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน วางแผนแยบยลด้วยการทิ้งใบปลิวในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ขยายผลต่อในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ด้วยการประณามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรี โน้มน้าวให้พี่น้องมลายูปาตานีเกลียดชัง เจ้าหน้าที่รัฐสยามสุดท้ายเยียวยาด้วยเงิน โยนผิดให้นักรบปาตานี

ฮาร่า ชินทาโร่ อาจารย์ มอ.ปัตตานี ขาประจำนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูถิ่น ไม่ยอมน้อยหน้า รีบทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนโจรใต้ BRN ด้วยการเรียกร้องรัฐศึกษาทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทันที กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน มิใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรง
คอยจับตาลิ่วล้อ ภาคประชาสังคม NGOs องค์กรเครือข่ายแนวร่วมที่เหลือคอยรับลูก นำข้อมูลทำการขยายผล คงใช้หากินในการปลุกระดมมวลสมาชิกแนวร่วมและประชาชนให้เกิดความเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐ และกำหนดเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวในเวทีเสวนา สภากาแฟ

เป็นการกระทำที่ขาดความยั้งคิด จงใจใช้ความรุนแรง แบ่งแยกไทยพุทธ-มุสลิม ขาดอุดมการณ์ มุ่งสร้างสถานการณ์โดยอาศัยความผิดพลาดในการปฏิืบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

ในความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียน เห็นใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความกดดัน ที่จะต้องอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง มีความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ไม่รู้เมื่อไหร่จะถูกลอบทำร้ายจากกลุ่มขบวนการ แต่ก็ขอชื่นชมเมื่อกระทำความผิดก็ออกมายอมรับผิดต่อสิ่งที่ได้กระทำลงไป ใช่ว่าการเยียวยาเป็นยาพารารักษาได้ทุกโรค ผู้ได้รับผลกระทบกับสิ่งที่ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไป อย่างไรก็ไม่คุ้มค่า เกิดกับครอบครัวไหนมีแต่น้ำตาและความเสียใจ แต่ใครบ้างที่อยากให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เคยมีบ้างมั๊ยกลุ่มขบวนการโจรใต้ บีอาร์เอ็น เมื่อได้กระทำการเข่นฆ่าผู้คนบริสุทธิ์ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ กล้ายืดอกแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำ แต่น่าแปลกผ่านมาสิบกว่าปีไม่เคยเห็นมีใครหน้าไหนกล้าโผล่หน้าออกมาแสดงความรับผิดชอบเลย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในเวลาต่อมาได้มีการเคลื่อนไหวของบุคคลบางกลุ่มนำข้อผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไปเปิดประเด็นโจมตีว่ารัฐสังหารประชาชน ถือเป็นบาปหรือไม่?  ได้รับคำอธิบายจากท่านนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา และประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดยะลา ได้กล่าวไว้ดังนี้ครับ ในแนวทางของศาสนาอิสลามในข้อของความขัดแย้ง 2 ฝ่าย เมื่อฝ่ายหนึ่งสำนึกผิดและได้กล่าวคำขอโทษ อีกฝ่ายที่เป็นมุสลิมด้วยกันก็มีหน้าที่อย่างเดียวคือต้องรับคำขอโทษ จบเรื่องนี้โดยไม่ติดใจซึ่งกันและกัน แต่ในเรื่องของค่าเสียหายทดแทนหรือเยียวยานั้นเป็นเรื่องที่จะต้องตกลงเรียกร้องกันตามสมควร แต่ไม่อาฆาตหรือเจ็บแค้นอีกฝ่ายหนึ่งอีกต่อไป ท่านใช้คำกล่าวว่า มีเตาะอาลาล ทั้งนี้หากคนอื่นหรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้เสียหาย พยายามยกประเด็นนี้ใส่ร้ายหรือว่ากล่าวทำให้เพิ่มความขัดแย้ง หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดใส่ร้ายต่อไปอีก ในวิถีมุสลิมไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเขาถือว่าเป็นการรบกวนวิญญาณผู้เสียชีวิต และจะนอนไม่หลับในกุโบร์ ซึ่งท่านนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา และประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดยะลา ได้แนะนำให้ใช้แนวทางของศาสนาอิสลามดังกล่าวข้างต้น ในการอธิบายสร้างความเข้าใจต่อผู้เสียหาย และประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงต้องดำเนินต่อไป ตราบใดที่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบยังไม่สามารถนำสันติสุขกลับคืนมาสู่พี่น้องมลายูปาตานี  จากสถานการณ์ความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังคงมีความจำเป็นในการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่แห่งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ควรให้ความสำคัญในการเคารพกฎหมาย กฎกติกาของสังคมอย่างเคร่งครัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ที่ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้าย การขนย้ายอาวุธและวัตถุระเบิด ในการเตรียมการก่อเหตุรุนแรงของแนวร่วมขบวนการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสงขลา แม้ว่าการเดินทางสัญจรจะไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร แต่เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยส่วนรวม ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ต้องยอมเสียสละเวลา เพื่อนำพาสันติสุขที่ทุกคนใฝ่หากลับคืนมาสู่ดินแดนด้ามขวานทองแห่งนี้..ร่วมกัน



-----------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น