หน้าเว็บ

4/18/2558

จำคุกตลอดชีวิตโจรใต้‘อับดุลเลาะ ปูลา’ต้องสิ้นอิสรภาพ

อิมรอน

การบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่กระทำความผิดเริ่มเห็นผล คนชั่วไม่ลอยนวลอีกต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้การดำเนินคดีส่งตัวจำเลยฟ้องศาลเพื่อเอาผิดต่อผู้ก่อเหตุรุนแรง ศาลได้พิจารณายกฟ้องเกินครึ่งของคดีความทั้งหมด เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

ในปัจจุบันความเจริญด้านวิทยาศาสตร์ได้มีบทบาทในการติดตามหาตัวคนร้ายด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคล โดยมีหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจ เป็นหน่วยงานหลักในการพิสูจน์หลักฐานวัตถุพยานต่างๆ และหาความเชื่อมโยงกับคดีความต่างๆ ที่ได้มีการเก็บไว้ในสารบบ ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญในการส่งตัวผู้ต้องสงสัยฟ้องต่อศาล

และนับว่าคงเป็นนิมิตหมายที่ดีนับต่อจากนี้ไปการติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุรุนแรง เมื่อส่งตัวฟ้องศาลดำเนินคดี สามารถเอาผิดจำคุกเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้ชดใช้กรรมจากการกระทำความรุนแรงต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

และล่าสุดศาลจังหวัดยะลาได้พิพากษาจำคุกตลอดชีวิตนายอับดุลเลาะ ปูลาหัวหน้าชุดปฏิบัติการ RKK รวมถึงครูฝึกหลักสูตรให้แก่ผู้ก่อเหตุรุนแรงรุ่นใหม่ เป็นบุคคลที่หน่วยงานภาครัฐต้องการตัวเนื่องจากมีหมายจับ ป.วิอาญา จำนวน 5 หมาย

โดยเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 ศาลจังหวัดยะลา ได้มีคำพิพากษาคดีก่อการร้าย เลขคดี 151/58 โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตนายอับดุลเลาะ ปูลาแกนนำผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา

เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้เปิดเผยว่า นายอับดุลเลาะ ปูลา เคยถูกจับกุมตัวมาแล้วถึง 2 ครั้งด้วยกัน

ครั้งที่ 1 ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2556 โดยสถานีตำรวจภูธรธารโต ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดน 441 รวบตัวนายอับดุลเลาะฯ ได้ในพื้นที่ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ส่งตัวดำเนินกรรมวิธีซักถาม ณ หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ตำบลวังพญา อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

พฤติกรรมของ นายอับดุลเลาะฯ เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ RKK และมีหน้าที่ในการควบคุมคอมมานโดในพื้นที่ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา

จากผลการซักถาม นายอับดุลเลาะฯ ยังเป็นครูฝึกหลักสูตร RKK ให้กับผู้ก่อเหตุรุนแรงรุ่นใหม่ สามารถปฏิบัติการได้ทั้ง มือปืน การลอบวางระเบิด และเป็นบุคคลตามหมายจับ ป.วิอาญา จำนวน 5 หมาย

นายอับดุลเลาะฯ ยังให้การยอมรับกับเจ้าหน้าที่ชุดซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 และให้การซัดทอดผู้ที่ร่วมก่อเหตุลอบวางระเบิดชุดปฏิบัติการลาดตระเวน หน่วยเฉพาะกิจยะลา 16 ในพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554

ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ออกหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งควบคุมตัวต่อ ณ ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 นายอับดุลเลาะ ปูลา ประกันตัว เจ้าหน้าที่จึงได้ส่งกลับภูมิลำเนาในเวลาต่อมา

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรธารโต ได้เชิญตัวนายอับดุลเลาะ ปูลา ผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดชุดสืบสวนสถานีตำรวจภูธรธารโต เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2557

เจ้าหน้าที่ส่งดำเนินกรรมวิธีซักถาม ณ หน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ผลการซักถามนายอับดุลเลาะ ปูลา ได้ให้การปฏิเสธเหตุลอบวางระเบิดชุดสืบสวนสถานีตำรวจภูธรธารโต แต่ให้ข้อมูลว่าน่าจะเป็นฝีมือกลุ่มของ นายซายูตี สูเด็ง เป็นผู้ลงมือก่อเหตุ
และในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557 นายอับดูลเลาะ ปูลา ได้ถูกปล่อยตัวกลับภูมิลำเนา ซึ่งอยู่ในระหว่างประกันตัว


และเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 ศาลชั้นต้นพิพากษา จำคุกตลอดชีวิต นายอับดุลเลาะ ปูลา และปัจจุบันฝากขังที่เรือนจำกลางจังหวัดยะลา

การดำเนินการติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุรุนแรงของเจ้าหน้าที่ ได้มีการปฏิบัติเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐได้เปิดช่องทางและเปิดโอกาสให้กับผู้หลงผิดในการเข้าร่วม โครงการพาคนกลับบ้าน หันหลังให้กับขบวนการกลับมารายงานตัวแสดงตนกับเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขไม่ต้องหลบซ่อนตัวหนีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ในปัจจุบันจากความเจริญทางเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การยืนยันตัวบุคคลด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรม หรือที่เราเรียกว่า นิติวิทยาศาสตร์ ได้มีบทบาทในการมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก อีกทั้งกล้องวงจรปิดตามสถานที่สำคัญต่างๆ จะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการมัดตัวส่งฟ้องศาล

หากผู้หลงผิดยังคงก่อเหตุไม่ยอมหันหลังให้กับขบวนการไม่วันใดก็วันหนึ่ง ประตูเรือนจำ พร้อมเปิดอ้าต้อนรับคนชั่วได้เข้าไปชดใช้เวรกรรมอย่างเช่น นายอับดูลเลาะ ปูลา กับคำพิพากษาของศาลจำคุกตลอดชีวิตหมดสิ้นอิสรภาพ...
--------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น