หน้าเว็บ

8/21/2558

DNA…พิสูจน์ความจริง...หนทางสู่ใต้สันติสุข

DNA…พิสูจน์ความจริง...หนทางสู่ใต้สันติสุข
อิมรอน




เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดเหตุความไม่สงบอยู่บ่อยครั้ง การจะนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน แต่จะต้องยึดหลักความยุติธรรมเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งต้องตอบคำถามของสังคมได้อย่างไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการตรวจ DNA

ที่ผ่านมากลุ่มภาคประชาสังคมยื่นหนังสือให้หน่วยงานความมั่นคงชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใน 2 ประเด็น กล่าวคือ การตรวจ DNA โดยมิชอบ การใช้กฎหมายโดยไม่สุจริต และการโจมตีใส่ร้ายป้ายสี กล่าวหาอย่างเสียหายในสื่อสังคมออนไลน์ และกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไป ล้วนตั้งข้อสงสัยถึงการปฏิบัติของภาครัฐต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ท่านผู้ชมครับ ข้อมูลสถิติความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 31 พ.ค.2558  ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของการส่งตัวผู้ต้องหาดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาล คดีที่เกิดขึ้นทั้งหมดซึ่งเป็นคดีอาญามีมากถึง 163,085 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคงที่ 9,933 คดี ในจำนวนนี้ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด  7,634 คดี เจ้าหน้าที่รู้ตัวผู้กระทำผิด 2,299 คดี ในชั้นพนักงานสอบสวนส่งฟ้อง 1,904 คดี ชั้นอัยการส่งฟ้อง 827 คดี แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาชั้นศาลได้ยกฟ้อง 431 คดี คิดเป็นร้อยละ 60.79  จะเห็นได้ว่าหลักฐานไม่แน่นหนาพอ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจะได้รับการยกฟ้องซึ่งมีจำนวนสูงมาก

ท่านผู้ชมครับ คำถามที่ว่าการเก็บ DNA ของบุคคลของเจ้าหน้าที่นั้นกระทำได้หรือไม่  อย่างไร  และมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด  การตรวจ DNA ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นที่ถกเถียงของทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเจ้าหน้าที่บอกว่ากระทำได้ ฝ่ายที่ถูกกระทำออกมาเคลื่อนไหวกล่าวหาว่าเป็นการละเมิด

ที่ผ่านมา ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยจะต้องคำนึงถึงหลักสัดส่วนของกฎหมายมหาชน กล่าวคือ ชั่งน้ำหนักการคุ้มครองสิทธิของประชาชน กับอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้อยู่ในระดับพอดี ซึ่งพื้นที่ จชต. เหตุการณ์ความไม่สงบได้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เจ้าหน้าที่รัฐจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่เข้มข้นมากกว่าปกติ อาจไปกระทบสิทธิของประชาชนบ้างแต่ก็ใช้อย่างระมัดระวัง เช่นการตรวจเก็บ DNA บุคคลหรือการไม่ได้รับความสะดวกในการตรวจค้น

          ท่านผู้ชมครับ อำนาจในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่มาจากไหน? ก็มาจากกฎหมายปกติ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความซึ่งบังคับใช้ทั่วประเทศอยู่แล้ว ในมาตรา 17 กล่าวคือ พนักงานฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อจะทราบรายละเอียดแห่งความผิดหลังเกิดเหตุ ดังนั้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้อำนาจดังกล่าวได้ แต่อาจไปกระทบสิทธิของบุคคลบ้าง ต้องสมเหตุสมผล ไม่ใช่การที่เจ้าหน้าที่รัฐลุแก่อำนาจ ไปจับตัวใครก็ได้มาทำประวัติตรวจ DNA โดยไม่มีเหตุผล

          เจ้าหน้าที่อาจมีการใช้กฎหมายมาตรา 131/1 ป.วิ.อาญา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของพนักงานสอบสวน ที่จะต้องปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้ตรวจ DNA ให้สันนิษฐาน ว่าผลเป็นไปตามที่ตรวจพิสูจน์ คือเป็นผลร้ายต่อผู้ต้องหา ซึ่งจะเห็นได้ว่า มาตรา 17 เป็นเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อย (ก่อนเกิดเหตุ) ส่วนมาตรา 131/1 เป็นเรื่องของการสอบสวน(หลังเกิดเหตุ)

การเก็บ DNA ไว้ในฐานข้อมูลเป็นสิ่งที่ดี แม้กระทั่งภาครัฐเองได้ร่วมกับศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการเก็บ DNA เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะอาสาสมัครทหารพราน อาสาสมัครรักษาดินแดนและอื่นๆ รวมทั้งการจัดเก็บหลักฐานจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทุกกระบอกไว้เป็นหลักฐาน การที่ภาครัฐจัดเก็บข้อมูล ดีเอ็นเอของเจ้าหน้าที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา หรือบางเหตุการณ์ที่มีการกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ หรือใครเป็นผู้กระทำ

สิ่งที่เคลือบแคลงสงสัย  โดยเฉพาะการเก็บ DNA ของญาติผู้ต้องสงสัยตามกระบวนการทางกฎหมาย และประโยชน์ของ DNA ตามที่กล่าวมา  คงจะสามารถลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกันได้แล้วนะครับ  ดังนั้นผู้ที่ ถูกตรวจ DNA ทั้งๆ ที่มิได้กระทำความผิดก็สบายใจได้แล้ว หากท่านไม่ผิดใครก็ไม่สามารถยัดเหยียดความผิดให้ท่านได้  หรือใครคือผู้สร้างความเดือดร้อน สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตทรัพย์สินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะสามารถตรวจสอบได้จากฐานข้อมูล DNA
----------------------------------------------------



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น