หน้าเว็บ

5/30/2559

‘ตัดตอน’แบ่งงานกันทำนำไปสู่การก่อเหตุคือความชั่วกลุ่มขบวนการโจรใต้

แบดิง โกตาบารู

เสียงเล่าจากปากสู่ปากในร้านน้ำชาที่มีการกล่าวถึงรูปแบบการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการโจรใต้ฟาตอนี ผู้เขียนเองได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่าสมาชิกขบวนการสุดโต่งเหล่านั้นมีการแบ่งมอบหน้าที่แต่ละส่วนงานแยกจากกัน โดยมีการตัดตอน และมีการขยายความต่อไปด้วยว่าสมาชิกแต่ละคนจะทราบเฉพาะแค่บทบาทหน้าที่ของตนเองเท่านั้นซึ่งในการก่อเหตุแต่ละครั้งไม่ได้เบ็ดเสร็จแค่คนเพียงหนึ่งคนแต่มีการร่วมมือเป็นขบวนการ
ผู้เขียนเองเคยได้ยินมาบ้างเหมือนกันแต่ไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร อีกทั้งคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวไม่สำคัญเท่าไหร่ในความรู้สึกนึกคิด แต่เมื่อได้ยินบ่อยครั้งเข้าเริ่มฉุกคิดว่ากลุ่มขบวนการโจรใต้มีการแบ่งมอบหน้าที่ในการก่อเหตุอย่างไร โดยเฉพาะการประกอบระเบิดแสวงเครื่องของกลุ่มขบวนการโจรใต้ และสิ้นสุดด้วยการนำไปใช้ในการก่อเหตุลอบทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์
การก่อเหตุสร้างสถานการณ์ของกลุ่มขบวนการโจรใต้เกิดจากอะไร ศรัทธา” “ความเชื่อหรืองมงายในสามคำนี้  ศรัทธามีศักดิ์ศรีเหนือกว่าคำอื่นทั้งหมด ส่วนความเชื่อมีศักดิ์ศรีน้อยกว่า ศรัทธา ส่วน งมงาย เป็นคำที่มีศักดิ์ศรีต่ำสุด
แต่ไม่น่าเชื่อว่าแกนนำกลุ่มขบวนการได้ใช้ ศรัทธา ของผู้คนที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือโดยการบิดเบือนหลักคำสอน ใช้ ความเชื่อ ว่าดินแดนปาตานีถูกรุกรานจากสยามและถูกยึดครอง และสุดท้ายเมื่อมี ศรัทธาและความเชื่อ ย่อมส่งผลให้สมาชิกแนวร่วมเกิดความ งมงายทำการเข่นฆ่าผู้คนแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์
ถึงแม้ยุคสมัยนี้เทคโนโลยี หรือความทันสมัยได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นในชีวิตประจำวันแต่มิได้ช่วยให้มนุษย์เลิก งมงายได้เลย กลับกลายเป็นช่องทางในการปลุกระดมบ่มเพาะสมาชิกแนวร่วมกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา ก่อเหตุสร้างสถานการณ์สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่าน เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมมือระเบิดรายหนึ่งได้ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี (ขอสงวนชื่อ นามสกุล) ผลการซักถามให้การยอมรับว่าเป็นสมาชิก ผกร. ฝ่ายซัมปูตัส หรือฝ่ายสนับสนุนด้านระเบิด ทำหน้าที่ในส่วนมาเซาะ ผลิตตัวระเบิดแสวงเครื่องใช้ในการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดปัตตานี อีกทั้งได้มีการสาธิตการประกอบระเบิดแสวงเครื่องให้ดู

สมาชิกโจรใต้ฟาตอนีรายนี้ได้เล่าว่าถูกชักชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ผกร.เมื่อปี 2546 ก่อนเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนพันพัฒนา 4 ฟังการบรรยายประวัติศาสตร์รัฐปัตตานี ได้ผ่านขั้นตอนการสาบานตน (ซูมเปาะห์) เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเต็มตัว โดยอุสตาซยา ซึ่งได้เสียชีวิตเมื่อ 28 เม.ย.47 ได้ผ่านการฝึกหลักสูตรหน่วยจรยุทธ์ขนาดเล็ก หรือหลักสูร RKK หลังจบการฝึกถูกจัดให้อยู่ในชุดปฏิบัติการของแกนนำในพื้นที่คลองใหม่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
ส่วนความเป็นมาในการผันตัวเองมาเป็นชุดปฏิบัติการฝ่ายซัมปูตัส หรือฝ่ายสนับสนุนด้านระเบิดให้กับกลุ่ม ผกร.ในพื้นที่ ได้รับคำสั่งจากแกนนำให้ไปเข้ารับการฝึกหลักสูตรการทำระเบิดแสวงเครื่อง ซึ่งรูปแบบการฝึกมี 2 ฝ่าย คือฝ่ายเทคนิค (วงจร) กับฝ่ายมาเซาะ (ผสมและประกอบระเบิดแสวงเครื่อง) และสมาชิกโจรใต้ฟาตอนีรายนี้เลือกฝึกในฝ่ายผสมและประกอบระเบิด โดยใช้บริเวณสนามฟุตบอลบ้านเปี๊ยะ ต.ดาโต๊ะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำการฝึกฝนร่วมกับสมาชิกอีก 2 คน
หลังจากทำการฝึกจบด้วยการปฏิบัติจำนวน 5 ครั้ง ต่อมาในปี 2558 ระดับแกนนำได้สั่งการให้กลุ่มซัมปูตัส ไปช่วยกันผลิตระเบิดแสวงเครื่อง โดยใช้บริเวณสวนทุเรียนในพื้นที่บ้านออลอปีแน  ต.ดาโอ๊ะ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งมีสมาชิกฝ่ายสนับสนุนระเบิดร่วมกันปฏิบัติจำนวน 7 คน
ผู้ถูกจับกุมได้เปิดเผยว่าตั้งแต่ทำหน้าที่ผสมและประกอบระเบิดแสวงเครื่องได้ร่วมกับสมาชิกรายอื่นๆ ทำการผลิตระเบิดแสวงเครื่อง จำนวน 9 ทุ่น หลังจากผลิตเสร็จ มีผู้ทำการขนย้ายโดยใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง แต่ไม่ทราบว่าไปส่งให้กับผู้ใด ส่วนในการผลิตใช้เวลาประมาณ 30 นาที ต่อ 1 ทุ่น
จากคำบอกเล่าของผู้ถูกจับกุมเมื่อถูกซักถามบวกกับข่าวในร้านน้ำชาจะเห็นได้ว่ากลุ่มขบวนการโจรใต้มีการแบ่งมอบหน้าที่แต่ละส่วนงานแยกจากกัน โดยมีการตัดตอน แต่ละคนจะทราบเฉพาะแค่บทบาทหน้าที่ของตนเองเท่านั้นซึ่งเป็นยุทธวิธีในการที่จะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่สาวไปถึงตัวผู้บงการชักใยอยู่เบื้องหลังในการกระทำความชั่ว โดยใช้ ศรัทธา” “ความเชื่อและ งมงายหลอกใช้ให้สมาชิกทำการก่อเหตุ มีการซูมเปาะห์ หรือสาบานตนให้เกรงกลัว สิบกว่าปีไฟใต้กี่พันชีวิตต้องสังเวย น้ำตาอีกกี่หยดถึงจะดับไฟใต้เพื่อไปสู่จุดหมายแห่งสันติสุข.

------------------------

5/22/2559

เผยความคิดเห็น “ประชาชนเห็นด้วย” ต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้

“Zamree”

เผยสำรวจสันติภาพชายแดนใต้รอบแรก ประชาชนยังหวังต่อกระบวนการพูดคุย เป็นการพาดหัวข่าวของสำนักสื่อหลายสำนัก กรณีเมื่อวันที่ 17 พ.ค.59 ผู้แทนของสถาบันทางวิชาการและองค์กรประชาสังคม 15 องค์กร ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จะมีความรู้สึกเช่นไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น มีการสุ่มตัวอย่างเจาะลึกถึงระดับครัวเรือนเพื่อนำความรู้สึก ความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงส่งผ่านไปให้รัฐบาล กลุ่มขบวนการ หรือกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐได้รับรู้

เนื้อหาใจความผลการสำรวจสันติภาพในครั้งนี้ จากการแถลงข่าวพอจับใจความสำคัญๆ โดย      ในภาพรวมประชาชนในพื้นที่ยังคงคาดหวังต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งเบื้องลึกประชาชนต้องการอะไร? มีความพึงพอใจมากน้อยแค่ไหน? และรูปแบบการบริหารปกครองที่ควรจะเป็นประชาชนต้องการแบบไหน? มาวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นต่อประเด็นกัน

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ซึ่งเป็นผู้แถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Peace Survey) ในครั้งนี้

ประเด็นแรก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี เปิดเผยว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่สนับสนุนการใช้การพูดคุย การเจรจาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ถึงร้อยละ 56.4

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงว่าประชาชนเห็นด้วยต่อกระบวนการพูดคุยต้องการขจัดปัญหาความขัดแย้งที่หมักหมมปัญหามานานหลายสิบปี ปฏิเสธความรุนแรง แสวงหาทางออกเพื่อนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่ จากการนัดพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งที่ 4 ของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกลุ่มมาราปาตานี เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ไม่ได้มีการลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับร่างกรอบการพูดคุยร่วม หรือร่างทีโออาร์ (TOR) ในวันดังกล่าว ผลที่ตามมามีการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ในหลายพื้นที่ จชต. แสดงให้เห็นว่ายังมีบางกลุ่มต้องการความรุนแรงไม่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้สงบสุข

ประเด็นที่สอง ภาพรวมของความพึงพอใจกับความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกเฉยๆ กับความก้าวหน้า ร้อยละ 39.8 พอใจร้อยละ 22.2 และไม่พอใจ ร้อยละ 12.2 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่า กระบวนการพูดคุยมีผลทำให้บรรยากาศและสภาพแวดล้อมในชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นถึงร้อยละ 46.6

เป็นเพราะอะไร? ประชาชนจึงรู้สึกเฉยๆ ต่อความก้าวหน้ากระบวนการพูดคุย ถ้าจะวิเคราะห์ในมุมมองของผู้เขียนอาจจะมาจากสาเหตุหลักใหญ่ 2 ประการด้วยกันกล่าวคือ สืบเนื่องจากประชาชนรากหญ้าในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ติดตามข่าวสารความคืบหน้ากระบวนการพูดคุย อีกทั้งประชาชนบางส่วนไม่รู้หนังสืออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการไม่เปิดเผยผลการพูดคุย และไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้เท่าที่ควร อย่างไรก็ตามผู้ตอบแบบสอบถามมีความพึงพอใจสูงกว่าไม่พอใจถึง 10%

ประเด็นที่สาม  ผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 51 ที่มีความหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้ากระบวนการพูดคุยที่ต่อเนื่องจะทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพในที่สุด

ความคาดหวังของประชาชนในอีก 5 ปีข้างหน้า หากมีกระบวนการพูดคุยที่ต่อเนื่องจะนำไปสู่ข้อตกลงและนำไปสู่สันติภาพในที่สุด ซึ่งการพูดคุยเพื่อหาทางออกของความขัดแย้งเป็นแนวทางที่ดีที่สุด สันติภาพไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังเข้าห้ำหั่นซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย  ความขัดแย้งหลายภูมิภาคในโลกนี้ไม่มีที่ใดได้มาซึ่ง สันติภาพจากสงคราม มีแต่การใช้การพูดคุยนำไปสู่ สันติภาพแทบทั้งสิ้นแต่ต้องใช้ระยะเวลา

สำหรับข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลและขบวนการต่อสู้ฯ ได้พูดคุยกันในขณะนี้มีผู้เลือกตอบในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่จำนวนมากที่สุดเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการพัฒนาการศึกษาตามลำดับ
ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้รัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ การแก้ไขปัญหายาเสพติด และการพัฒนาการศึกษา

การพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ รัฐบาลมุ่งพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชน การพัฒนาแหล่งน้ำ ไฟฟ้า ถนน ซึ่งมีการปรับปรุงถนน 37 เส้นทางในพื้นที่ จชต.และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โครงการสร้างงานและจ้างงานเร่งด่วนของ ศอ.บต. การสนับสนุนกลุ่มอาชีพ โครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทย-มาเลเซีย จังหวัดนราธิวาส แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย เพื่อมุ่งสู่ประชาคมอาเซียน

การแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ จชต. ได้มี โครงการญาลันนันบารูหรือ โครงการ ทางสายใหม่ให้โอกาสกับเยาวชนช่วงอายุ 14-25 ปี ที่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือเยาวชนที่มีความต้องการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สมัครใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ส่วนผู้ค้ายาเสพติดมีการสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่มีการระดมกวาดล้างจับกุมได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหายาเสพติดเป็นหนึ่งในภัยแทรกซ้อนที่เป็นตัวแปรต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล
การพัฒนาการศึกษา รัฐบาลมุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ จชต.เพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 รมช.ศึกษาฯ ลงพื้นที่ใน จชต. เพื่อเยี่ยมสถานศึกษา สนับสนุนโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะเป็นผลดีและโอกาสต่อเด็กนักเรียนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

ประเด็นที่สี่ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องการบริหารปกครองพื้นที่ จชต.ส่วนใหญ่อยากเห็นรูปแบบที่มีการกระจายอำนาจด้วยโครงสร้างการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่นี้ภายใต้กฎหมายของประเทศไทยร้อยละ 26.5 รองลงมาคือรูปแบบที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครองที่เหมือนกับส่วนอื่นๆของประเทศร้อยละ 22.2 ส่วนผู้ตอบแบบสอบถาม  ไม่อยากได้ คือ รูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ร้อยละ 25.1 และรูปแบบที่เป็นอิสระจากประเทศไทย ร้อยละ 22.9

การบริหารการปกครองที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการคือรูปแบบการปกครองพิเศษ ภายใต้กฎหมายของประเทศไทย ที่มีการกระจายอำนาจเหมือนกับพัทยา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ รูปแบบควรจะเป็นแบบไหนจะต้องอยู่ที่กระบวนการพูดคุย หาทางออกที่ดีที่สุดให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่อยากได้ หรือไม่เห็นด้วยคือการไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ เลย และไม่ต้องการเป็นเอกราชแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศไทย

เมื่อผลสำรวจที่ออกมาได้แสดงความรู้สึก ความต้องการของประชาชน เพื่อส่งผ่านไปถึงรัฐบาล กลุ่มขบวนการ และกลุ่มผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐได้รับรู้ โดยเฉพาะประเด็นไม่ต้องการเอกราชแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศไทยมีนัยสำคัญ ต่อท่าทีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา PerMAS และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมบางกลุ่มในห้วงที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีการปลุกกระแสการกำหนดใจตนเองเพื่อนำไปสู่การลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากรัฐบาลไทย ในเมื่อประชาชนไม่ต้องการก็จะต้องทบทวนบทบาทตนเองต่อการเรียกร้องดังกล่าว

ประเด็นสุดท้าย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ได้กล่าวทิ้งท้ายพื้นที่กลางเพื่อสร้างสันติภาพและแก้ปัญหาความขัดแย้ง ในพื้นที่กลางความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ต้องมาจากทุกฝ่าย การทำวิจัยครั้งนี้ก็เพื่อเสริมความเข้มแข็งของการสร้างพื้นที่กลาง นักวิชาการทุกปีกสถาบันทั้งในและนอกพื้นที่ ภาคประชาสังคม ทุกปีกความคิด
นโยบายรัฐไม่ได้ปฏิเสธพื้นที่กลางเพื่อสร้างสันติภาพและแก้ความขัดแย้ง จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้เปิดเวทีเพื่อเป็นพื้นที่กลางให้กับประชาชน สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาสังคม และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันระดมความคิดร่วมหาทางออกให้กับประเทศ เพื่อยุติความขัดแย้งนำไปสู่สันติสุขการอยู่ร่วมอย่างพหุวัฒนธรรมของประชาชนในพื้นที่

ส่วนนโยบายและทิศทางกระบวนการพูดคุย พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวว่า การพูดคุยสันติสุขถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดกรอบนโยบายและทิศทางด้วยตัวท่านเอง

ส่วนการดำเนินการในพื้นที่มีการประสานสอดคล้องกับระดับนโยบาย มีความมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อกระบวนพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มขบวนการ หรือกลุ่มผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

 “การพูดคุยสันติสุขเป็นเพียงกลุ่มงานหนึ่งในเจ็ดกลุ่มงานของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นกลุ่มงานสุดท้ายที่ช่วยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี และช่วยเติมเต็มให้การดำเนินการต่อหกกลุ่มงานที่เหลือมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นการพูดคุยจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด.



-------------------

ว่าด้วยไฟใต้ (จะดีขึ้น) หากผู้ก่อเหตุสำนึกผิด

‘Sareena’

สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นต่อเนื่องยืดเยื้อยาวนาน นับจากปี 2547 จนถึงปัจจุบันนับได้ 12 ปี มีผู้ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนถูกทำลายเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้ กลุ่ม ผกร.ยังคงเดินหน้าทำการก่อเหตุโดยไม่แยแสต่อความเดือดร้อนของประชาชนแต่อย่างใด และไม่มีที่ท่าที่จะยุติความรุนแรง

หากย้อนดูปรากฏการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้ จุดเริ่มต้นความชั่วร้ายครั้งแรกในการก่อเหตุของกลุ่ม ผกร.ทำการปล้นอาวุธปืนและสังหารเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตไปสี่นาย ในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ตามด้วยการลอบวางเพลิงเผาโรงเรียน      20 แห่ง ในพื้นที่ อ.แว้ง, อ.จะแนะ, อ.รือเสาะ, อ.ตากใบ, อ.สุไหงโกลก, อ.สุไหงปาดี, อ.ศรีสาคร และ อ.ระแงะ ในจังหวัดนราธิวาส และการมีการเผายางรถยนต์ก่อกวนในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา การลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ.เมือง จ.ปัตตานีในวันถัดมา และการเข้าโจมตีสถานีตำรวจภูธรตำบลอัยเยอร์เวง จ.ยะลา ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในทันทีด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายคณะเพื่อขับเคลื่อนวางแผนยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลกระทบจากการก่อเหตุของกลุ่มโจรใต้ไร้ซึ่งสำนึก ไร้อุดมการณ์ ไร้มนุษยธรรม และสุดโต่ง เปรียบเสมือนหนึ่งไซตอนที่ลอบทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะรับได้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก ผู้หญิง และประชาชนในพื้นที่ทั้งที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ต้องพิการตัดแขนขา กรณีบิดามารดาต้องเสียชีวิต เด็กต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมธาตุแท้ของโจรใต้ที่ไม่มีความปราณีและแยกแยะเป้าหมายในการก่อเหตุ มุ่งทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชนทั้งชาวไทยพุทธ มุสลิมกันถ้วนหน้า  ซึ่งการก่อเหตุของกลุ่มโจรใต้ ปัจจุบันนี้ที่ยังคงเดินหน้าสร้างสถานการณ์ไม่เว้นวัน หลายเหตุการณ์ หลายพื้นที่ยังคงวนเวียนคอยทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทุกคนในพื้นที่รับไม่ได้

นอกจากนี้แล้ว ยังได้เกิดการถกแถลงกันอย่างแพร่หลายในสังคมไทยในประเด็นที่ว่า   เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร กลุ่มใดเป็นผู้ก่อการ และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป รวมทั้งเราควรจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น บางฝ่ายมองว่าเป็นการขัดแย้งกันเองของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ บางฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาทางด้านการเมืองในระดับประเทศ บางฝ่ายมองว่าเป็นเพียงโจรหรืออาชญากรรมข้ามชาติที่มีเครือข่ายอยู่ในภูมิภาคนี้ และแน่นอนบางท่านมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ยังมิได้ถูกขจัดให้หมดสิ้นไปอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือปัญหาของความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มขบวนการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

การสร้างความมั่นใจและสนับสนุนให้ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้นำปัญญาชน ผู้นำจิตวิญญาณ และพี่น้องมุสลิมส่วนใหญ่กล้าที่จะลุกขึ้นมาปฏิเสธความรุนแรง และสร้างกระแสต่อต้านการใช้ความโหดเหี้ยม โหดร้ายทารุณ โดดเดี่ยวกลุ่ม ผกร.แต่กลุ่มโจรใต้เหล่านี้โต้กลับด้วยการก่อเหตุสร้างความหวาดกลัว ปล่อยกระแสข่าวลือจะมีการลอบทำร้ายผู้ที่ไม่ให้การสนับสนุนฝ่ายตน และจัดการกับผู้มีความคิดต่างทั้งที่เป็นชาวไทยมุสลิมด้วยกันและต่างศาสนิก ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักคำสอนศาสนา และหลักมนุษยธรรมอย่างรุนแรง

ผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา ต้องปลุกเร้าผู้นำศาสนา ผู้รู้หาช่องทางสร้างความเข้าใจกับผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ชี้ให้เห็นถึงความถูกต้อง ความชั่ว ความดี อีกทั้งความเป็นไปได้และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง ทั้งในแง่มุมของศาสนา ในมุมมองของอดีตนักต่อสู้ที่เคยร่วมขบวนการ และความเป็นจริงของโลกในปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการ สปาร์กตั้งข้อสงสัยในหมู่ผู้ก่อเหตุรุนแรงว่า สิ่งที่เขาเชื่อถูกต้องหรือไม่ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และมีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่?

แม้ว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังอยู่อีกไกล รัฐได้จุดประกายฝันของประชาชนในพื้นที่ ผ่านมาสิบกว่าปีถึงแม้ยังห่างไกลความสันติสุข และไม่รู้ว่าจะเป็นจริงเมื่อไหร่ อีกเมื่อไหร่เหตุการณ์ความรุนแรงจะสงบ ไร้ซึ่งเสียงระเบิด สิ้นเสียงปืนมีแต่เสียงแห่งความสุขของประชาชนที่อยู่ร่วมกันอย่างฉันท์พี่น้อง

การตั้งความหวังเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมาย เป็นสิ่งที่ดีและน่าสนับสนุน ยิ่งได้เห็นการทุ่มเทการทำงานของท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเป็นพิเศษมากขึ้นภายใต้ โครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุขที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหา ผ่านพลังประชารัฐที่มีประชาชน กลุ่มผู้เห็นต่าง และภาครัฐมาร่วมแก้ไขปัญหาภายใต้หลักคิด ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมประเมินผล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชน และผู้เห็นต่างเจ้าหน้าที่รัฐร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้ง ลดความรุนแรง เสริมสร้างความสงบสุข และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และยั่งยืนต่อไป สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้แสงสว่างเห็นชัดเพิ่มมากขึ้น..และอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอยู่บนรากฐานของความจริง.


-----------------