หน้าเว็บ

5/22/2559

ว่าด้วยไฟใต้ (จะดีขึ้น) หากผู้ก่อเหตุสำนึกผิด

‘Sareena’

สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นต่อเนื่องยืดเยื้อยาวนาน นับจากปี 2547 จนถึงปัจจุบันนับได้ 12 ปี มีผู้ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนถูกทำลายเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้ กลุ่ม ผกร.ยังคงเดินหน้าทำการก่อเหตุโดยไม่แยแสต่อความเดือดร้อนของประชาชนแต่อย่างใด และไม่มีที่ท่าที่จะยุติความรุนแรง

หากย้อนดูปรากฏการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้ จุดเริ่มต้นความชั่วร้ายครั้งแรกในการก่อเหตุของกลุ่ม ผกร.ทำการปล้นอาวุธปืนและสังหารเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตไปสี่นาย ในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ตามด้วยการลอบวางเพลิงเผาโรงเรียน      20 แห่ง ในพื้นที่ อ.แว้ง, อ.จะแนะ, อ.รือเสาะ, อ.ตากใบ, อ.สุไหงโกลก, อ.สุไหงปาดี, อ.ศรีสาคร และ อ.ระแงะ ในจังหวัดนราธิวาส และการมีการเผายางรถยนต์ก่อกวนในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา การลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ.เมือง จ.ปัตตานีในวันถัดมา และการเข้าโจมตีสถานีตำรวจภูธรตำบลอัยเยอร์เวง จ.ยะลา ส่งผลให้รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในทันทีด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายคณะเพื่อขับเคลื่อนวางแผนยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลกระทบจากการก่อเหตุของกลุ่มโจรใต้ไร้ซึ่งสำนึก ไร้อุดมการณ์ ไร้มนุษยธรรม และสุดโต่ง เปรียบเสมือนหนึ่งไซตอนที่ลอบทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะรับได้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก ผู้หญิง และประชาชนในพื้นที่ทั้งที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ต้องพิการตัดแขนขา กรณีบิดามารดาต้องเสียชีวิต เด็กต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมธาตุแท้ของโจรใต้ที่ไม่มีความปราณีและแยกแยะเป้าหมายในการก่อเหตุ มุ่งทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชนทั้งชาวไทยพุทธ มุสลิมกันถ้วนหน้า  ซึ่งการก่อเหตุของกลุ่มโจรใต้ ปัจจุบันนี้ที่ยังคงเดินหน้าสร้างสถานการณ์ไม่เว้นวัน หลายเหตุการณ์ หลายพื้นที่ยังคงวนเวียนคอยทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ทุกคนในพื้นที่รับไม่ได้

นอกจากนี้แล้ว ยังได้เกิดการถกแถลงกันอย่างแพร่หลายในสังคมไทยในประเด็นที่ว่า   เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร กลุ่มใดเป็นผู้ก่อการ และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป รวมทั้งเราควรจะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น บางฝ่ายมองว่าเป็นการขัดแย้งกันเองของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ บางฝ่ายมองว่าเป็นปัญหาทางด้านการเมืองในระดับประเทศ บางฝ่ายมองว่าเป็นเพียงโจรหรืออาชญากรรมข้ามชาติที่มีเครือข่ายอยู่ในภูมิภาคนี้ และแน่นอนบางท่านมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเดิมๆ ที่ยังมิได้ถูกขจัดให้หมดสิ้นไปอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือปัญหาของความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มขบวนการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

การสร้างความมั่นใจและสนับสนุนให้ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้นำปัญญาชน ผู้นำจิตวิญญาณ และพี่น้องมุสลิมส่วนใหญ่กล้าที่จะลุกขึ้นมาปฏิเสธความรุนแรง และสร้างกระแสต่อต้านการใช้ความโหดเหี้ยม โหดร้ายทารุณ โดดเดี่ยวกลุ่ม ผกร.แต่กลุ่มโจรใต้เหล่านี้โต้กลับด้วยการก่อเหตุสร้างความหวาดกลัว ปล่อยกระแสข่าวลือจะมีการลอบทำร้ายผู้ที่ไม่ให้การสนับสนุนฝ่ายตน และจัดการกับผู้มีความคิดต่างทั้งที่เป็นชาวไทยมุสลิมด้วยกันและต่างศาสนิก ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักคำสอนศาสนา และหลักมนุษยธรรมอย่างรุนแรง

ผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา ต้องปลุกเร้าผู้นำศาสนา ผู้รู้หาช่องทางสร้างความเข้าใจกับผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ชี้ให้เห็นถึงความถูกต้อง ความชั่ว ความดี อีกทั้งความเป็นไปได้และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรง ทั้งในแง่มุมของศาสนา ในมุมมองของอดีตนักต่อสู้ที่เคยร่วมขบวนการ และความเป็นจริงของโลกในปัจจุบัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการ สปาร์กตั้งข้อสงสัยในหมู่ผู้ก่อเหตุรุนแรงว่า สิ่งที่เขาเชื่อถูกต้องหรือไม่ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และมีทางเลือกอื่นๆ อีกหรือไม่?

แม้ว่าแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังอยู่อีกไกล รัฐได้จุดประกายฝันของประชาชนในพื้นที่ ผ่านมาสิบกว่าปีถึงแม้ยังห่างไกลความสันติสุข และไม่รู้ว่าจะเป็นจริงเมื่อไหร่ อีกเมื่อไหร่เหตุการณ์ความรุนแรงจะสงบ ไร้ซึ่งเสียงระเบิด สิ้นเสียงปืนมีแต่เสียงแห่งความสุขของประชาชนที่อยู่ร่วมกันอย่างฉันท์พี่น้อง

การตั้งความหวังเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมาย เป็นสิ่งที่ดีและน่าสนับสนุน ยิ่งได้เห็นการทุ่มเทการทำงานของท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเป็นพิเศษมากขึ้นภายใต้ โครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุขที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหา ผ่านพลังประชารัฐที่มีประชาชน กลุ่มผู้เห็นต่าง และภาครัฐมาร่วมแก้ไขปัญหาภายใต้หลักคิด ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมประเมินผล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชน และผู้เห็นต่างเจ้าหน้าที่รัฐร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้ง ลดความรุนแรง เสริมสร้างความสงบสุข และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และยั่งยืนต่อไป สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้แสงสว่างเห็นชัดเพิ่มมากขึ้น..และอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอยู่บนรากฐานของความจริง.


-----------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น