หน้าเว็บ

6/25/2559

ข้อมูลจริง หรือ ลับลวงพราง ช่วงชิงซ้ำเติมความขัดแย้งไม่รู้จบในพื้นที่ จชต.



สถานการณ์ความรุนแรงในช่วง เดือนรอมฎอนปีนี้ มีเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รุนแรงเพียงกี่เหตุการณ์ ซึ่งก่อนหน้าที่เข้าสู่เดือนถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมหลายฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยข่าวความมั่นคง ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าว่า จะเกิดเหตุของความรุนแรงมากขึ้น โดยมีสาเหตุจาก โต๊ะพูดคุยสันติสุขที่ต้องหยุดชะงัก เพราะฝ่ายไทยไม่ยอมลงนามใน โอทีอาร์ตามที่ กลุ่มมาราปาตานีต้องการ

       แต่สุดท้ายเหตุร้ายในช่วงเดือนรอมฎอนของปีนี้ก็ลดจำนวนการก่อเหตุลง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีในพื้นที่ เพราะไม่ต้องสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน รวมทั้งทรัพย์ทั้งของทางราชการและของประชาชน

       สาเหตุของสถานการณ์การก่อเหตุร้ายในช่วงเดือนรอมฎอนที่ลดลง อาจจะไม่ใช่เป็นความต้องการของ แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมา แนวร่วมในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวที่จะพยายามก่อ เหตุร้ายรายวันเพื่อให้เห็นถึง ความขัดแย้งในพื้นที่จนเกิดความรุนแรงขึ้น

       ทั้งนี้ การที่สถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้เหตุร้ายลดลง และก็เป็นเช่นเดียวกับปี 2558 ที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการทำงานหนังของเจ้าหน้าที่ 2 ฝ่ายด้วยกัน

       ฝ่ายที่ทำงานหนักในพื้นที่เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้าย ทั้งในเขตเมือง และในอำเภอรอบนอก คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าซึ่งมี พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์แม่ทัพภาคที่ 4 ทำหน้าที่ 

ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถือเป็น โต้โผใหญ่ในการใช้ยุทธวิธีทั้งการควบคุมพื้นที่ ควบคุมความเคลื่อนไหวของ แกนนำและ แนวร่วมและติดตามตรวจค้น ไล่ล่า กองกำลังติดอาวุธของ บีอาร์เอ็นในเทือกเขาต่างๆ ในพื้นที่

       ซึ่งถือว่าได้ผล เพราะมีการจับกุม ตรวจค้น ยึดอาวุธ และยุทโธปกรณ์ที่แนวร่วมใช้ในการก่อเหตุร้ายได้จำนวนหนึ่ง และสามารถทำให้การเคลื่อนไหวของแนวร่วมอยู่ในวงจำกัด จนสุดท้ายแนวร่วมต้องใช้วิธีการเดิมที่เคยใช้มาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน นั่นคือ ปฏิบัติการทางน้ำวางระเบิดเรือประมง เป็นการก่อเหตุร้ายเพื่อการ เลี้ยงกระแสเอาไว้

       และส่วนที่ 2 ที่อยู่เบื้องหลังในการทำให้เหตุร้ายลดลงคือ คณะพูดคุยสันติสุขที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผลทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังคงเดินหน้าในการพูดคุยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่มี การลงนามในร่างที่โออาร์ตามความต้องการของกลุ่มมาราปาตานีก็ตาม

       เพราะการที่ไม่ได้มีการลงนามในร่างทีโออาร์ ไม่ได้หมายความว่า การพูดคุยจะจบสิ้นไปแล้วตามที่มีการ ตีความหรือเข้าใจกัน เพราะฝ่ายของกลุ่มมาราปาตานีเองก็เข้าใจถึงสาเหตุของการที่ยังไม่สามารถลงนามในทีโออาร์ดังกล่าว

       เพราะหลังจากที่มีการพูดคุย และไม่ได้ลงนามในร่างทีโออาร์ในฉบับดังกล่าว กระบวนการพูดคุยที่มี พล.อ.อักษรา เป็นหัวหน้าคณะยังคงมีการประสานงาน และพูดคุย 3 ฝ่ายต่อเนื่อง แม้เป็นการพูดคุยแบบ ไม่เป็นทางการแต่สามารถที่จะ ขับเคลื่อนให้การพูดคุยมีความก้าวหน้า เพื่อที่จะทำการพูดคุยอย่าง เป็นทางการอีกครั้ง หลังจากที่ทุกฝ่าย หรือทุกกลุ่มมีความเข้าใจตรงกัน

       โดยข้อเท็จจริงของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่สันติสุขของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วิธีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการอาจจะมีประโยชน์ที่ดีกว่าการพูดคุยแบบเป็นทางการ ซึ่งบางครั้งการพูดคุยเพื่อ ออกทีวีให้ทั่วโลกเห็นนั้น อาจจะเป็นเพียงเรื่องของ การสร้างภาพเท่านั้น

       แต่อย่างไรก็ตาม การพูดคุยยังคงดำเนินต่อไป เพราะการพูดคุยคือ ทางออกจากความขัดแย้ง จากความรุนแรงที่ดีที่สุด เพราะเป็นการหยุดความรุนแรงโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ เสียชีวิต และไม่ต้องมีการบาดเจ็บล้มตายทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน

       และที่สำคัญนั่นคือ เป็นการ ประหยัดงบประมาณแผ่นดินซึ่งงบประมาณที่ว่านี้ไม่ได้เป็นของรัฐบาล ไม่ได้เป็นกองทัพ แต่เป็นเงินภาษีของคนไทยทุกคน และที่สำคัญวันนี้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างสนับสนุนให้รัฐบาล และกองทัพแก้ปัญหาความรุนแรง หรือ ดับไฟใต้”  ด้วย การพูดคุยมากกว่า การสู้รบ

       หากในที่สุดถ้าถึงจุดสุดท้ายแล้ว การพูดคุยหรือการใช้ ยุทธศาสตร์ทางการเมืองหรือ ยุทธการน้ำลายบนโต๊ะเจรจาไม่ได้ผล เพราะเกิดจาก ความไม่จริงใจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งก็น่าจะไม่ใช่ ฝ่ายเราวิธีการดับไฟใต้ด้วยการใช้ การทหารคือวิธีการสุดท้ายที่ต้องทำ ซึ่งหากถึงวันนั้นจริงคงจะไม่มีใครในพื้นที่แสดงความ ไม่เห็นด้วยเพราะคนในพื้นที่ต่างต้องการเห็นความสงบเกิดขึ้น

       ยกเว้นก็แต่ผู้ที่แสวงหา กำไรหรือ แสวงหาผลประโยชน์บนหยาดเลือด คราบน้ำตา และซากศพของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ที่วันนี้ยังคง ลอยนวลอยู่บน ความร่ำรวยบนความ เสดสาของคนในพื้นที่

       นั่นคือ ภาพรวมของสถานการณ์ความรุนแรงที่มีแนวโน้มไปในทิศทางของการเป็น บวก
       แต่ก็ยังมีปรากฏการณ์เล็กๆ ในพื้นที่ ซึ่งเกิดจาก ความไม่เข้าใจกันระหว่างกลุ่มคนที่ทำงาน ด้านสิทธิมนุษยชนกับ กองทัพที่มีการทำรายงานสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของการ ซ้อมและ ทรมาน

       จนในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถที่จะ พูดคุยกันด้วย ภาษาดอกไม้รู้เรื่อง และลงเอยด้วยการที่กองทัพต้องพึ่ง กระบวนการยุติธรรมในการ พิสูจน์ความจริง ด้วยการ แจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
        
       น่าจะเป็น ครั้งแรกที่กองทัพดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่เคยมีเหตุของความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน โดยมี ชุดความจริงคนละชุดในมือของทั้ง 2 ฝ่าย

       ทางออกของเรื่องดังกล่าวนั้น เมื่อมาถึง จุดนี้คงยากที่จะไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อหาข้อยุติว่า สิ่งที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนทำรายงาน และเผยแพร่ไปทั่วเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ในขณะที่กลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเองก็ต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงให้กระบวนการยุติธรรมเห็นว่า  สิ่งที่ได้สืบค้น และนำไปเผยแพร่จนกองทัพเห็นว่าได้รับความเสียหายเป็นเรื่องจริง

       แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างคนทำงานในกลุ่มสิทธิมนุษยชนกับกองทัพ เป็นสิ่งที่ทำให้บรรยากาศของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อึมครึมมากขึ้นไปอีก

       แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ เป็นประโยชน์ต่อ ทุกฝ่ายเพราะถ้าพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ยังมีการซ้อมทรมานผู้ที่ถูกกล่าวหา และผู้ต้องหาจริง กองทัพจะต้องรับผิดชอบทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน ต้องรับผิดต่อกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องเป็นจำเลย และรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

       แต่ถ้าบทสรุปจากกระบวนการยุทธิธรรมว่า รายงานดังกล่าว เกินเลยจากข้อเท็จจริง คนทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนก็จะได้มองเห็น ความบกพร่องของกระบวนการในการทำหน้าที่ และนำไปสู่ การแก้ไขในที่สุด

       เพียงแต่ในขณะนี้ในระหว่างที่กระบวนการยุติธรรมเพิ่มเริ่มต้นและยังไม่จบ ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ควรที่จะ เคลื่อนไหวเพื่อชิง ความได้เปรียบ-เสียเปรียบจนสร้าง ความสับสนให้คนในพื้นที่ และสังคมส่วนร่วม

       เพราะวิธีการดังกล่าวคือ การ ซ้ำเติมสถานการณ์ในพื้นที่ให้มองดูเหมือนว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น และกำลังจะเป็นเรื่อง บานปลายออกไปสู่ภายนอกประเทศ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด


-----------------------

6/13/2559

มูลความจริง ทำไม? จนท.รัฐต้องฟ้องดำเนินคดี 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ซอเลาะห์ บินคอลีฟ


จากกรณีที่ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพ หรือ LEMPAR ได้ออกแถลงการณ์พิเศษ จี้ภาครัฐให้ความเป็นธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากการที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้แจ้งความดำเนินคดีกับ 3 นักสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้ มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน โดยเลือกที่จะไม่ดำเนินคดีกับองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แต่เลือกที่จะดำเนินคดีกับองค์กรสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ ทำให้นักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ ซึ่งส่งผลต่อบรรยากาศความเชื่อใจของภาคประชาสังคมต่อกระบวนการสันติสุข


เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายมนุษยชนปาตานี เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร (มีผู้เคลื่อนไหวหลายองค์กรร่ำรวยผิดปกติ) ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีองค์กรเหล่านี้กว่า 420 องค์กร ปีหนึ่งๆ รับเงินทุนสนับสนุนมหาศาล แต่กลับมีองค์กรบางองค์กรไม่น่าจะเป็นคนไทย และไม่สมควรเอาดินในผืนดินไทยกลบหน้าศพยามตายไปด้วยซ้ำ มีความพยายามนำประเด็นข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ นำชื่อเสียงของประเทศที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนไปนำเสนอให้กับฝรั่งตาน้ำข้าวเพื่อแลกเศษเงินตรา โดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ทั้งๆ ที่สามารถดำเนินการได้ และเจ้าหน้าที่รัฐก็พร้อมให้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งในบางกรณี ก็ได้แสดงเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงที่สร้างความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ด้วยความทุ่มเทเสียสละ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐและทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเวทีสากล


ย้อนรอยไปดูที่ต้นเหตุความอัปยศที่เกิดขึ้นของ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายมนุษยชนปาตานี ได้เก็บข้อมูลและจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558 ออกเผยแพร่สู่สาธารณชน และมีการแถลงข่าว ณ มหาวิทยาลัยของรัฐในเวลาต่อมา
จุดเริ่มต้นของความอดสู 
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 นางสาวอัญชนา หีมมิน๊ะห์ ประธานกลุ่มด้วยใจได้ยื่นหนังสือให้ พลเอก อักษราเกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฯ และ พลโท วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4  ณ ค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส เกี่ยวกับสถานการณ์การซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับปากจะทำการตรวจสอบให้ข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะนำออกมาเผยแพร่
แถลงข่าวอันเป็นเท็จไม่รอผลการตรวจสอบจากรัฐ
เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ได้ตอกย้ำต่อสังคมได้รับรู้โดย กลุ่มเครือข่ายองค์กรที่จัดทำรายงาน ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ได้ร่วมกันแถลงข่าวและเปิดตัวหนังสือ รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2557– 2558” ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และต่อมาภายหลังได้มีการนำไปเผยแพร่ ผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวในรายงานแม่ทัพภาคที่ 4 ขอให้รอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่จะนำเสนอ แต่กลุ่มองค์กรดังกล่าวไม่รอผลการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่  ชิงแถลงข่าวเปิดตัวรายงานดังกล่าวต่อสังคม นำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียง ของหน่วยงานที่ตกเป็นจำเลย
หน่วยงานรัฐตกเป็นจำเลยของสังคม
เมื่อรายงานได้ถูกเผยแพร่ออกไป แม่ทัพภาคที่ 4 จึงได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยความโปร่งใส เพื่อนำมาสู่การลงโทษผู้กระทำความผิด และใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างความเชื่อมั่นโดยเร่งด่วนต่อไป รวมทั้งได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย
ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 54 ราย ระบุตัวตนได้เพียง 18 ราย
คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากรายงานดังกล่าว จำนวน 54 ราย พบว่าสามารถตรวจสอบ และระบุตัวบุคคลได้เพียง 18 ราย ซึ่งผลจากการตรวจหลักฐานที่หน่วยนำมาชี้แจง ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการควบคุมตัวไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อได้ว่ามีการซ้อมทรมานแต่อย่างใด ทั้งนี้ก็ได้เชิญ คุณอัญชนาฯ มาร่วมประชุมหารือ เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2559 รวมทั้งได้ประสานขอข้อมูลบุคคลที่กล่าวอ้างกับผู้จัดทำรายงานอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏแต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคคล และองค์กรที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด และได้  บ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด โดยอ้างว่า ลืมบ้าง กำลังตรวจสอบข้อมูลบ้าง และอีกหลาย ๆ เหตุผล ที่จะไม่ให้   ข้อมูลดังกล่าวแก่เจ้าหนาที่รัฐ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมที่จะให้ ผู้จัดทำรายงานเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตลอดเวลา
เปิดศูนย์ซักถามนำสื่อมวลชนเข้าตรวจสอบ
กอ.รมน.ภาค 4 สน.เปิดให้สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมต่างๆ ได้เข้าไปสังเกตการณ์ และสัมภาษณ์ผู้ต้องสงสัยต่อกระบวนการซักถามของเจ้าหน้าที่รัฐในค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อให้เห็นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความโปร่งใส เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีการซ้อมทรมาน และข่มขู่ครอบครัวผู้ต้องสงสัยแต่อย่างใดตามกล่าวอ้าง และพร้อมที่จะให้ตรวจสอบได้ อีกทั้งได้เชิญนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา  หีมมีนะ เข้ามาพูดคุย และขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อที่จะร่วมกันหาวิธีแก้ไข  หากมีการดำเนินการซ้อมทรมานจริง จะได้ลงโทษผู้ที่กระทำการดังกล่าว แต่ทั้งสองคนก็ไม่ได้ให้ความร่วมมืออีกเช่นเคย
อัญชนาฯ ตอกย้ำด้วยกล่าวหา จนท.ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ต้องสงสัยเหตุบุกยึด รพ.เจาะไอร้อง
จากเหตุการณ์ล่าสุด กรณีที่มีกลุ่มคนบุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง นางสาวอัญชนา ฯ ก็ได้กล่าวอ้างว่าจากการสัมภาษณ์ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัวที่มาร้องเรียนว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทำให้ ชาวบ้านไม่สบายใจ และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมานผู้ต้องหา เช่น แช่ห้องเย็น อยู่ห้องมืด ซึ่งจากคำพูดเหล่านี้ ได้ยินมานานมาก และทุกๆครั้งที่มีการนำมาเผยแพร่ก็จะมี ข้อความเช่นนี้อยู่เสมอ
กอ.รมน.แจงมูลเหตุการณ์ฟ้อง 3 NGOs
กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการประสานความร่วมมือกับองค์กรที่จัดทำรายงาน เพื่อร่วมกันตรวจสอบความจริงให้ปรากฏ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือแต่อย่างใด จึงถือเป็นการเจตนาจงใจปกปิดข้อมูลโดยใช้เหยื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำรายงานมิใช่การนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเยี่ยวยา และหาแนวทางแก้ไขตามที่กล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังมีบางประเด็นที่สำคัญเช่น โดนให้เปลือยกายในห้องเย็นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทหารพรานหญิงและโดนทหารพรานหญิงเอาหน้าอกมาแนบที่ใบหน้าถือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีอย่างร้ายแรง เพื่อธำรง และรักษาไว้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี
กอ.รมน.ภาค 4 สน. จึงจำเป็นต้องอาศัย กลไกทางกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่การแสวงหาความจริงร่วมกันในชั้นศาลด้วยการเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวน โดยเชื่อมั่นว่าหากพยานหลักฐานมีอยู่จริง ผู้จัดทำรายงานต้องนำมาเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล แต่หากข้อมูลไม่มีอยู่จริง หรือมีเจตนาบิดเบือนผู้จัดทำรายงาน ก็สมควรได้รับโทษตามกฎหมายในฐานะที่เป็นผู้ละเมิดสิทธิ ทำลายเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และสิทธิขั้นพื้นฐานของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเสียสละ และหน่วยงานของรัฐที่พยายามมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อลดเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรง พร้อมทั้งขอยืนยันว่ารัฐจะให้ความคุ้มครองทางกฎหมายต่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม แต่รัฐไม่สามารถเพิกเฉยหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น หรือกระทำผิดกฎหมายได้ ดังนั้น การออกมาเรียกร้องของกลุ่ม LEMPAR และ ฮิวแมนไรท์วอทช์ โดยขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจะสุ่มเสี่ยงต่อการส่งเสริม และสนับสนุนการใช้กฎหมู่ให้อยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งจะเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป.

------------------------