หน้าเว็บ

6/25/2559

ข้อมูลจริง หรือ ลับลวงพราง ช่วงชิงซ้ำเติมความขัดแย้งไม่รู้จบในพื้นที่ จชต.



สถานการณ์ความรุนแรงในช่วง เดือนรอมฎอนปีนี้ มีเหตุการณ์ก่อการร้ายที่รุนแรงเพียงกี่เหตุการณ์ ซึ่งก่อนหน้าที่เข้าสู่เดือนถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมหลายฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยข่าวความมั่นคง ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าว่า จะเกิดเหตุของความรุนแรงมากขึ้น โดยมีสาเหตุจาก โต๊ะพูดคุยสันติสุขที่ต้องหยุดชะงัก เพราะฝ่ายไทยไม่ยอมลงนามใน โอทีอาร์ตามที่ กลุ่มมาราปาตานีต้องการ

       แต่สุดท้ายเหตุร้ายในช่วงเดือนรอมฎอนของปีนี้ก็ลดจำนวนการก่อเหตุลง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีในพื้นที่ เพราะไม่ต้องสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน รวมทั้งทรัพย์ทั้งของทางราชการและของประชาชน

       สาเหตุของสถานการณ์การก่อเหตุร้ายในช่วงเดือนรอมฎอนที่ลดลง อาจจะไม่ใช่เป็นความต้องการของ แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมา แนวร่วมในพื้นที่มีการเคลื่อนไหวที่จะพยายามก่อ เหตุร้ายรายวันเพื่อให้เห็นถึง ความขัดแย้งในพื้นที่จนเกิดความรุนแรงขึ้น

       ทั้งนี้ การที่สถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้เหตุร้ายลดลง และก็เป็นเช่นเดียวกับปี 2558 ที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการทำงานหนังของเจ้าหน้าที่ 2 ฝ่ายด้วยกัน

       ฝ่ายที่ทำงานหนักในพื้นที่เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้าย ทั้งในเขตเมือง และในอำเภอรอบนอก คือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าซึ่งมี พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์แม่ทัพภาคที่ 4 ทำหน้าที่ 

ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถือเป็น โต้โผใหญ่ในการใช้ยุทธวิธีทั้งการควบคุมพื้นที่ ควบคุมความเคลื่อนไหวของ แกนนำและ แนวร่วมและติดตามตรวจค้น ไล่ล่า กองกำลังติดอาวุธของ บีอาร์เอ็นในเทือกเขาต่างๆ ในพื้นที่

       ซึ่งถือว่าได้ผล เพราะมีการจับกุม ตรวจค้น ยึดอาวุธ และยุทโธปกรณ์ที่แนวร่วมใช้ในการก่อเหตุร้ายได้จำนวนหนึ่ง และสามารถทำให้การเคลื่อนไหวของแนวร่วมอยู่ในวงจำกัด จนสุดท้ายแนวร่วมต้องใช้วิธีการเดิมที่เคยใช้มาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน นั่นคือ ปฏิบัติการทางน้ำวางระเบิดเรือประมง เป็นการก่อเหตุร้ายเพื่อการ เลี้ยงกระแสเอาไว้

       และส่วนที่ 2 ที่อยู่เบื้องหลังในการทำให้เหตุร้ายลดลงคือ คณะพูดคุยสันติสุขที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผลทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังคงเดินหน้าในการพูดคุยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่มี การลงนามในร่างที่โออาร์ตามความต้องการของกลุ่มมาราปาตานีก็ตาม

       เพราะการที่ไม่ได้มีการลงนามในร่างทีโออาร์ ไม่ได้หมายความว่า การพูดคุยจะจบสิ้นไปแล้วตามที่มีการ ตีความหรือเข้าใจกัน เพราะฝ่ายของกลุ่มมาราปาตานีเองก็เข้าใจถึงสาเหตุของการที่ยังไม่สามารถลงนามในทีโออาร์ดังกล่าว

       เพราะหลังจากที่มีการพูดคุย และไม่ได้ลงนามในร่างทีโออาร์ในฉบับดังกล่าว กระบวนการพูดคุยที่มี พล.อ.อักษรา เป็นหัวหน้าคณะยังคงมีการประสานงาน และพูดคุย 3 ฝ่ายต่อเนื่อง แม้เป็นการพูดคุยแบบ ไม่เป็นทางการแต่สามารถที่จะ ขับเคลื่อนให้การพูดคุยมีความก้าวหน้า เพื่อที่จะทำการพูดคุยอย่าง เป็นทางการอีกครั้ง หลังจากที่ทุกฝ่าย หรือทุกกลุ่มมีความเข้าใจตรงกัน

       โดยข้อเท็จจริงของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่สันติสุขของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วิธีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการอาจจะมีประโยชน์ที่ดีกว่าการพูดคุยแบบเป็นทางการ ซึ่งบางครั้งการพูดคุยเพื่อ ออกทีวีให้ทั่วโลกเห็นนั้น อาจจะเป็นเพียงเรื่องของ การสร้างภาพเท่านั้น

       แต่อย่างไรก็ตาม การพูดคุยยังคงดำเนินต่อไป เพราะการพูดคุยคือ ทางออกจากความขัดแย้ง จากความรุนแรงที่ดีที่สุด เพราะเป็นการหยุดความรุนแรงโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ เสียชีวิต และไม่ต้องมีการบาดเจ็บล้มตายทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน

       และที่สำคัญนั่นคือ เป็นการ ประหยัดงบประมาณแผ่นดินซึ่งงบประมาณที่ว่านี้ไม่ได้เป็นของรัฐบาล ไม่ได้เป็นกองทัพ แต่เป็นเงินภาษีของคนไทยทุกคน และที่สำคัญวันนี้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างสนับสนุนให้รัฐบาล และกองทัพแก้ปัญหาความรุนแรง หรือ ดับไฟใต้”  ด้วย การพูดคุยมากกว่า การสู้รบ

       หากในที่สุดถ้าถึงจุดสุดท้ายแล้ว การพูดคุยหรือการใช้ ยุทธศาสตร์ทางการเมืองหรือ ยุทธการน้ำลายบนโต๊ะเจรจาไม่ได้ผล เพราะเกิดจาก ความไม่จริงใจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ซึ่งก็น่าจะไม่ใช่ ฝ่ายเราวิธีการดับไฟใต้ด้วยการใช้ การทหารคือวิธีการสุดท้ายที่ต้องทำ ซึ่งหากถึงวันนั้นจริงคงจะไม่มีใครในพื้นที่แสดงความ ไม่เห็นด้วยเพราะคนในพื้นที่ต่างต้องการเห็นความสงบเกิดขึ้น

       ยกเว้นก็แต่ผู้ที่แสวงหา กำไรหรือ แสวงหาผลประโยชน์บนหยาดเลือด คราบน้ำตา และซากศพของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ที่วันนี้ยังคง ลอยนวลอยู่บน ความร่ำรวยบนความ เสดสาของคนในพื้นที่

       นั่นคือ ภาพรวมของสถานการณ์ความรุนแรงที่มีแนวโน้มไปในทิศทางของการเป็น บวก
       แต่ก็ยังมีปรากฏการณ์เล็กๆ ในพื้นที่ ซึ่งเกิดจาก ความไม่เข้าใจกันระหว่างกลุ่มคนที่ทำงาน ด้านสิทธิมนุษยชนกับ กองทัพที่มีการทำรายงานสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของการ ซ้อมและ ทรมาน

       จนในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถที่จะ พูดคุยกันด้วย ภาษาดอกไม้รู้เรื่อง และลงเอยด้วยการที่กองทัพต้องพึ่ง กระบวนการยุติธรรมในการ พิสูจน์ความจริง ด้วยการ แจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
        
       น่าจะเป็น ครั้งแรกที่กองทัพดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่เคยมีเหตุของความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ตรงกัน โดยมี ชุดความจริงคนละชุดในมือของทั้ง 2 ฝ่าย

       ทางออกของเรื่องดังกล่าวนั้น เมื่อมาถึง จุดนี้คงยากที่จะไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อหาข้อยุติว่า สิ่งที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนทำรายงาน และเผยแพร่ไปทั่วเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ ในขณะที่กลุ่มผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเองก็ต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงให้กระบวนการยุติธรรมเห็นว่า  สิ่งที่ได้สืบค้น และนำไปเผยแพร่จนกองทัพเห็นว่าได้รับความเสียหายเป็นเรื่องจริง

       แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างคนทำงานในกลุ่มสิทธิมนุษยชนกับกองทัพ เป็นสิ่งที่ทำให้บรรยากาศของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อึมครึมมากขึ้นไปอีก

       แต่อีกทางหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ เป็นประโยชน์ต่อ ทุกฝ่ายเพราะถ้าพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ยังมีการซ้อมทรมานผู้ที่ถูกกล่าวหา และผู้ต้องหาจริง กองทัพจะต้องรับผิดชอบทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมาน ต้องรับผิดต่อกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ถูกฟ้องเป็นจำเลย และรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

       แต่ถ้าบทสรุปจากกระบวนการยุทธิธรรมว่า รายงานดังกล่าว เกินเลยจากข้อเท็จจริง คนทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนก็จะได้มองเห็น ความบกพร่องของกระบวนการในการทำหน้าที่ และนำไปสู่ การแก้ไขในที่สุด

       เพียงแต่ในขณะนี้ในระหว่างที่กระบวนการยุติธรรมเพิ่มเริ่มต้นและยังไม่จบ ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ควรที่จะ เคลื่อนไหวเพื่อชิง ความได้เปรียบ-เสียเปรียบจนสร้าง ความสับสนให้คนในพื้นที่ และสังคมส่วนร่วม

       เพราะวิธีการดังกล่าวคือ การ ซ้ำเติมสถานการณ์ในพื้นที่ให้มองดูเหมือนว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้น และกำลังจะเป็นเรื่อง บานปลายออกไปสู่ภายนอกประเทศ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด


-----------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น