หน้าเว็บ

12/23/2559

สังคมพหุวัฒนธรรมสิ่งที่ BRN กลัวยิ่งกว่าอาวุธ...

"Ibrahim"

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าสิ่งที่กลุ่มขบวนการ BRN กลัวยิ่งกว่าอาวุธไหนๆ คือความรักความสามัคคี การที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม (MULTICULTURAL-SOCIETY) หรือ สังคมที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย หลายท่านอาจจะไม่เห็นด้วย และคัดค้านตั้งคำถามอยู่ในใจว่าจริงหรือ? ฉะนั้นเรามาดูเหตุและผลกันว่าทำไม? BRN ถึงได้กลัวกันค่ะ

ย้อนกลับไปก่อนที่จะมีการ จุดคบไฟใต้ โดยกลุ่มขบวนการ BRB เมื่อต้นปี 2547 หากยังจำกันได้พี่น้องในพื้นที่ 3 จชต.และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ภายใต้ความแตกต่างด้านอัตลักษณ์ เชื้อชาติ และศาสนา รวมไปถึงขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ช่วยเหลือซึ่งกันแบ่งปันถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน

แต่หลังจากเหตุการณ์ วันเสียงปืนแตก กลุ่มขบวนการ BRN ทำการปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง การใช้ชีวิตอย่างสงบสุขของพี่น้องใน จชต.ได้แปรเปลี่ยนไป

สิ่งที่กลุ่มขบวนการ BRN กลัวที่สุดคือ การอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรมเพราะฉะนั้น หากสังเกตพฤติกรรมที่ผ่านมาสังคมพหุวัฒนธรรมเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ  ที่กลุ่มขบวนการมุ่งทำลายควบคู่กับการก่อเหตุสร้างความหวาดกลัวหวาดระแวงในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง

การสร้างความหวาดกลัว ความหวาดระแวงจึงเริ่มต้นขึ้น ผู้คนในชุมชนที่เคยมีความรักความสามัคคีกลมเกลียวกันค่อยๆ ถูกทำลายทีละน้อยทีละนิดจนกระทั่งเริ่มเลือนหายไปจากสังคม การแบ่งเค้าแบ่งเรา แบ่งฝักแบ่งฝ่ายมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง รูปแบบการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการจงใจมุ่งเป้าไปที่คนต่างศาสนา ศพแล้วศพเล่า  เริ่มถี่ขึ้นๆ เพื่อสร้างแรงกดดัน ความเกลียดชัง ของผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม มีการก่อเหตุย่ำยีจิตใจของผู้นับถือศาสนาพุทธ ด้วยการเข่นฆ่าพระภิกษุสงฆ์ขณะกำลังบิณฑบาต มีการทำลายพระพุทธรูป และโกฐเก็บกระดูกของบรรพบุรุษเพื่อสร้างความโกรธแค้นบีบคั้น

กลุ่มขบวนการ BRN ต้องการให้เกิด สังคมวัฒนธรรมเดียว (Monoculural society) ไม่ใช่ สังคมพหุวัฒนธรรม( Multicultural society หรือ สังคมที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย ไม่มีการเปรียบเทียบสังคมชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน ทั้งที่ความเป็นจริงคาบมหาสมุทรมลายูแห่งนี้เป็นสังคมที่มีความหลากหลาย เพราะประกอบไปด้วย คนจีน มลายู และไทย ที่อยู่ร่วมอาศัยมาตั้งแต่ในอดีตกาล

ในเมื่อกลุ่มขบวนการกลัวสังคมพหุวัฒนธรรมการเสี้ยมก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมจึงอุบัติขึ้น มีการยุแหย่สร้างเรื่องสร้างประเด็นกล่าวหารัฐบาลไทยคือ ตัวการทำลายอัตลักษณ์ ตัวตนความเป็นมลายู ถูกกลืนกินด้วยการยัดเยียดให้มีการเรียนการสอนภาษาไทยจนเยาวชนมลายูมุสลิมอ่านคัมภีร์อัลกุรอานไม่ออก

น่าแปลกใจที่สังคมสมัยใหม่โลกได้ก้าวไกลไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว หลายประเทศซึ่งไม่มีการเรียนการสอนวิชาภาษามลายู หรือแม้แต่ภาษาอาหรับแต่กลับชนะเลิศเมื่อมีการแข่งขันการอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน นักกอรีที่เป็นมุสลิมภาคกลางในประเทศไทยเรา ซึ่งไม่ใช่มลายูมุสลิม 3 จชต.ก็เคยชนะมาแล้ว

ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงข้ออ้างของกลุ่มขบวนการเพื่อต้องการทำลายในสิ่งที่ขบวนการกลัวคือ สังคมพหุวัฒนธรรมไม่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้สงบสุขและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพราะเมื่อไหร่ที่สังคมเข้มแข็ง ผู้คนมีความรักความสามัคคี ชุมชนสามารถดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับคนในชุมชนและครอบครัวตนเองได้ เมื่อนั้นสังคมจะโดดเดี่ยวกลุ่มขบวนการ และไม่สามารถทำการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ได้

คัมภีร์อัลกุรอาน แปลเป็นไทยแล้วมีความหมายว่า สังคมต้องการมิตรภาพและสันติภาพ ซึ่งเชื่อว่ามวลมนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้เป็นพี่น้องกัน สามารถที่จะร่วมกันสร้างมิตรภาพ และสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ทุกแห่งหนได้

ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีการเกิดไฟใต้ กลุ่มขบวนการ BRN ได้ทำลายกำแพงกั้นสังคมพหุวัฒนธรรมให้แตกสลาย สร้างความหวาดกลัวหวาดระแวงไปทั่วทุกหย่อมหญ้า รัฐบาล เร่งทำพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้ให้มี ความปลอดภัย สงบสันติพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในพื้นที่ ให้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาของทุกฝ่าย

เราจะต้องมุ่งให้สังคมไทย และสังคมในพื้นที่ จชต.ยอมรับและเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้ สังคมพหุวัฒนธรรม และร่วมกันแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งจะต้องพัฒนาศักยภาพของคน สังคม และเศรษฐกิจเพื่อดึงนักลงทุนมาประกอบการในพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นและหลักประกันความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยสันติสุข และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อสังคม ทั้งในและต่างประเทศ
เมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญของการอยู่ร่วมกันภายใต้ สังคมพหุวัฒนธรรม สร้างเกราะคุ้มกันสร้างกำแพงป้องกันมิให้กลุ่มขบวนการทำลาย สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในทุกระดับอย่างเป็นรูปธรรม ให้ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มทั้งในและนอกพื้นที่บนหลักพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยอีกไม่นานดอกสันติภาพจะเบ่งบานนำพาสันติสุขผลิดอดออกผล ณ ดินแดนปลายด้ามขวานแห่งนี้.
-----------------------




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น