หน้าเว็บ

1/30/2560

ทรัมป์เซ็นคำสั่งห้ามพลเรือนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ

โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งแบนพลเรือนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ ทำให้มีผู้โดยสารเครื่องบินหลายคนถูกห้ามขึ้นเครื่องบิน ขณะที่บริษัทกูเกิลรีบเรียกพนักงานกลับประเทศ และสหภาพต่างๆ ตัดสินใจยื่นฟ้องร้องคัดค้านคำสั่งนี้...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 แห่งสหรัฐอเมริกา ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร (executive order) ห้ามพลเรือนจาก 7 ประเทศมุสลิม ได้แก่ อิรัก, ซีเรีย, อิหร่าน, ลิเบีย, โซมาเลีย, ซูดาน และเยเมน เดินทางเข้าสู่สหรัฐฯ เป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน หรือจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเมื่อวันศุกร์ ดูเหมือนว่าคำสั่งล่าสุดของนายทรัมป์จะเป็นก้าวแรกของการห้ามเข้าประเทศอย่างเป็นวงกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่เปิดเผยว่าจะมีอีกกี่ประเทศที่จะโดยแบน แต่ย้ำว่ามาตรการนี้ก็เพื่อปกป้องอเมริกาให้ปลอดภัย และพวกเขาจะไม่ยอมให้มีความเสี่ยงใดๆ
คำสั่งนี้ยังรวมถึงให้กระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิ ทบทวนเป็นเวลา 30 วัน ว่าประเทศใดที่ไม่ให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ สำหรับการออกวีซาเข้าสหรัฐฯ แก่พลเรือนของพวกเขา และหยุดรับผู้อพยพเข้าสู่สหรัฐฯ เป็นเวลา 4 เดือนด้วย กับลดจำนวนผู้อพยพที่สหรัฐฯ จะรับในปี 2017 ลงจาก 110,000 คน เหลือ 50,000 คน ซึ่งในระหว่างนั้นกระทรวงต่างประเทศของนายทรัมป์จะตรวจสอบกระบวนการขอและคัดกรองผู้อพยพที่จะเข้าสหรัฐฯ ซึ่งเดิมก็เข้มงวดอยู่แล้ว แต่นายทรัมป์ระบุว่ายังมีช่องโหว่ให้ผู้ก่อการร้ายใช้
นอกจากนั้น คำสั่งยังเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศและความมั่นคงมาตุภูมิ, ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) พัฒนาและบังคับใช้กระบวนการคัดกรองผู้อพยพใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายลอบเข้าสู่สหรัฐฯ ด้วย

ชาวมุสลิมและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้อพยพออกมาชุมนุมต่อต้านนโยบายผู้อพยพของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในนครนิวยอร์ก
ทั้งนี้ คำสั่งแบนผู้อพยพของนายทรัมป์ เริ่มส่งผลกระทบให้เห็นแล้ว โดยบริษัท กูเกิล ผู้ให้บริหารเว็บไซต์สืบค้นชื่อดังของโลก ดำเนินการเรียกตัวพนักงานของบริษัทที่กำลังอยู่ระหว่างการเดินทางในต่างประเทศ ให้กลับสหรัฐฯ ทันที พร้อมทั้งแสดงความกังวลว่า คำสั่งนี้จะเป็นการปิดกั้นไม่ให้บุคคลากรที่มีความสามารถเข้ามาทำงานในสหรัฐฯ
ขณะที่เมื่อวันเสาร์ (28 ม.ค.) มีรายงานว่า ผู้โดยสารชาวอิรักหลายคนและชาวเยเมน 1 คนถูกห้ามไม่ให้โดยสารเที่ยวบินในกรุงไคโร ที่มีจุดหมายไปยังนครนิวยอร์ก แม้ว่าบางคนจะถือกรีนการ์ด หรือ บัตรประจำตัวผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรอย่างถูกกฎหมายในสหรัฐฯ ก็ตาม ขณะที่ทนายความของชาวอิรัก 2 คน ที่ถูกจับกุมตัวหลังจากเดินทางมานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ ทั้งที่ได้วีซาเข้าสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้องร้องประธานาธิบดีทรัมป์ และรัฐบาลของเขาแล้ว
ด้านสหภาพเสรีภาพพลเรือนอเมริกัน ระบุว่า พวกเขาได้ยื่นฟ้องร้องเพื่อคัดค้านคำสั่งแบนคนเข้าเมืองของประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว ส่วนสภาความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลาม ก็เตรียมยื่นฟ้องร้องด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน นักวิชาการชั้นนำในสหรัฐฯ จำนวนหลายพันคน รวมทั้งเจ้าของรางวัลโนเบล 12 คน ก็ร่วมลงนามคำร้องคัดค้านคำสั่งนี้

ที่มา: http://www.thairath.co.th/

1/29/2560

อนาคตของเอ็นจีโอที่รับเงินต่างชาติ

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ผู้เขียนแอบเชียร์ โดนัลด์ ทรัมป์ อยู่เงียบๆ ทั้งที่ไม่รู้จักชื่อเสียงประวัติของเขามาก่อน แต่รู้อย่างหนึ่งว่า หากฮิลลารี คลินตัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี นางคงบี้ไทยแบนติดดิน นางและพวกคงข่มขู่ไทยสารพัด แม้ไทยจะปรับตัวเก่ง แต่คงเหนื่อยกว่าหากต้องปรับตัวกับฮิลลารี นอกจากไทยแล้ว คนที่ดีใจที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง คือ ประธาราธิบดีปูติน แห่งรัสเซียนั่นเอง เพราะนโยบายของทรัมป์ที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงไม่ได้มองรัสเซียและปูตินเป็นศัตรู ตรงกันข้ามกลับเห็นว่าต้องคบกับปูตินไว้ เล่นเอาพรรคเดโมแครตและกลุ่มอำนาจที่เป็นมือที่มองไม่เห็น หรือรัฐบาลล่องหนที่ชักใยคุมรัฐบาลอเมริกาที่ผ่านๆ มาไม่พอใจอย่างมาก
ถึงกับ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ(คนละคนกับผู้อำนวยการซีไอเอ)ซึ่งตั้งขึ้นมาหลังเหตุการณ์ 9/11 ออกมาขู่ทรัมป์ว่า หากดำเนินนโยบายที่แตกต่างจากที่นักยุทธศาสตร์อเมริกันวางไว้โดยไปใกล้ชิดกับผู้นำรัสเซีย ขอให้ดูอดีตประธานาธิบดีเคนเนดีเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน พูดง่ายๆ คือ กล้าที่จะข่มขู่ประธานาธิบดีของตัวเองว่า หากคิดไปคบหาสมาคมกับรัสเซีย ก็อาจจะโดนแบบที่ประธานาธิบดีเคนเนดีเจอ
บารัก โอบามา โกรธรัสเซียเพราะเห็นว่ารัสเซียเชียร์ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป อีกทั้งคงได้รับรายงานว่า หน่วยข่าวรัสเซียสามารถเจาะข้อมูลของพรรคเดโมแครตและแอบเอาไปให้ทีมงานของทรัมป์ โอบามาจึงออกคำสั่งขับนักการทูตรัสเซียประจำสหรัฐหลายคนออกนอกประเทศ แต่ครั้งนี้ประธานาธิบดีปูตินไม่ตอบโต้ เพราะเห็นว่าอีกไม่กี่วันโอบามาก็จะพ้นตำแหน่งแล้ว สู้รักษาความสัมพันธ์อันดีกับทรัมป์ไว้ดีกว่า

แต่ใช่ว่าปูตินจะอยู่เฉย คนแบบปูตินมีฤทธิ์เดชไม่แพ้กัน แม้เขาไม่ขับนักการทูตในรัสเซีย แต่เขากลับไปตอบโต้ด้วยการขับไล่องค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ต่างชาติที่รับเงินจากจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงิน (คนเดียวกับโจมตีค่าเงินบาทไทยเมื่อปี 2540) ที่มาเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนฯ ในรัสเซีย โซรอสเป็นคนที่หนุนพรรเดโมแครตอย่างเปิดเผย และต้องการให้ฮิลลารีได้รับเลือกตั้งดป็นประธานาธิบดี ขณะเดียวกันก็ใช้ กองทุนสังคมเปิด(Open Soicety Foundations) ของตนสนับสนุนเอ็นจีโอท้องถิ่นและต่างประเทศล้มรัฐบาลประเทศที่ขัดใจอเมริกามาแล้วหลายแห่ง จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
ไม่ถึงกับต้องขับทูตอเมริกันออกไป เพียงแค่จัดการกับเอ็นจีโอทุกแห่งในรัสเซีย ที่รับเงินสนับสนุนจาก จอร์จ โซรอส ก็เท่ากับตบหน้าโอบามาและฮิลลารี ถือว่าเป็นการเล่นเกมที่ชาญฉลาดและสุขุมกว่าเยอะ
ขณะเดียวกันฮิลลารี ได้ประกาศขับไล่เอ็นจีโอต่างชาติและท้องถิ่นที่รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิของจอร์จ โซรอส เคลื่อนไหวอยู่ในฮังการี ในข้อหาบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ รัฐบาลมาซิโดเนีย รัฐเล็กๆ ที่แยกตัวจาดยูโกสลาเวีย ได้ประกาศห้ามเอ็นจีโอที่รับเงินจากมูลนิธิจอร์จ โซรอส ดำเนินกิจกรรมในบางประเทศในข้อหารับเงินต่างชาติมาบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ รัฐบาลมาซิโดเนียเปิดโปงว่า มูลนิธิจอร์จ โซรอส ได้เคลื่อนไหวร่วมกับ ยูเสด สถานทูตบางแห่งและรัฐบาลบางประเทศ ซึ่งไม่ต้องเอ่ยชื่อก็รู้ว่าคือสหรัฐอเมริกานั่นเอง ได้ให้เงินเอ็นจีโอและองค์กรทางสังคมหลายแห่งในการบ่อนทำลายประเทศ กดดันให้รัฐบาลมาซิโดเนียทำตามความต้องการของสหรัฐ ถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในและบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ
เวลานี้มีการจัดตั้ง ขบวนการเอสโอเอส(Stop Operation Soros Movement) หรือขบวนการปฏิบัติการหยุดยั้งการบ่อนทำลายจากกลุ่มโซรอส ขึ้นมาในมาซิโดเนียและเริ่มแพร่หลายไปในหลายประเทศ บรรดา เอ็นจีโอที่รับเงินจากจอร์จ โซรอส หรือรับเงินจาดยูเสด บ่อนทำลายประเทศของตัวเองอาจถูกจับหรือถูกขับออกนอกประเทศ
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอินเดียได้ระงับใบอนุญาตของเอ็นจีโอในประเทศที่รับเงินจากต่างชาติ รวมทั้งที่รับเงินจากจอร์จ โซรอส เพราะเกรงว่าจะมาบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศ รายงานข่าวบอกว่า เอ็นจีโออินเดียประมาณสองหมื่นแห่งต้องยุติกิจกรรมโดยสิ้นเชิง
ความเคลื่อนไหวของจอร์จ โซรอสนั้น เชื่อว่าทรัมป์ทราบดี ทั้งทรัมป์และโซรอสนับว่าเป็นคู่มวยที่ถูกคู่สูสีกัน เพราะร่ำรวยด้วยกันทั้งคู่ แต่ทรัมป์มีอำนาจทางการเมืองและกฎหมาย ดังนั้นโซรอส คงโค่นทรัมป์ไม่ได้ง่ายๆ
เรื่องเอ็นจีโอหรือนักการเมือง หรือสื่อมวลชนรับเงินจากต่างชาติมาทำงานนั้น รัฐบาลประเทศต่างๆ ตื่นตัวมากขึ้น ทรัมป์เองประกาศชัดเจนว่า ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหารทำหน้าที่เป็นล็อบบี้ยิสต์ภายใน 5 ปีหลังพ้นตำแหน่ง และห้ามทำหน้าที่ล็อบบี้ยิสต์ให้รัฐบาลต่างชาติ ตลอดชีวิต พูดง่ายๆ ก็คือ รับเงินเขามาแล้ว ความสัมพันธ์เปรียบเสมือน นายจ้างกับลูกจ้าง” ที่ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างต้องการ และบ่อยครั้งสิ่งที่นายจ้างต่างชาติต้องการอาจกระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ
รัฐบาลไทยน่าจะกำหนดให้เอ็นจีโอ ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยถึงพันองค์กร และส่วนใหญ่รับเงินจากต่างชาติมาทำงานเปิดเผยที่มาของเงิน เพื่อความโปร่งใสและแสดงความบริสุทธิ์ใจ หากทำเพื่อการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นคงไม่มีปัญหาอะไร เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าภาคประชาสังคมไทยไม่ค่อยมีเงิน แต่ถ้ารับเงินจากต่างชาติมาเพื่อดำเนินการในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับต่างชาติ หรือสอดคล้องกับนโยบายของต่างชาติ แต่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติไทย ก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเอ็นจีโอหลายแห่งที่รับเงินสนับสนุนจากอเมริกา เช่น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย (เอ็น.อี.ดี.) ยูเสด (ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากสถานทูต) ให้เคลื่อนไหวส่งผลกระทบต่อสถาบันสูงสุดและเสถียรภาพของรัฐบาล คาช. เราจะพบเห็นเจ้าหน้าที่สถานทูต และสถานกงสุลบางคนไปวุ่นวายอยู่แถวภาคเหนือ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้กระแสต่อต้านการรับเงินจากต่างชาติมาบ่อทำลายประเทศตนเองค่อนข้างสูง คนไทยจำนวนไม่น้อยหงุดหงิดกับเอ็นจีโอบางสำนักที่ต่อต้านรัฐบาลไปเสียทุกเรื่อง อย่างไรก็ดี ใครรับเงินต่างชาติมาอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่อช่วยให้พี่น้องคนไทยมีสภาพที่ดีขึ้น ก็ไม่ต้องกังวล แต่ควรเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินจากต่างประเทศ การใช้จ่ายเงินอย่างโปร่งใส สังคมตรวจสอบได้

-------------------

อดีตแกนนำ “บีไอพีพี” เสียชีวิตในวัย 82 ที่ประเทศมาเลเซีย


วันที่ 27 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอุสลาสอัซซุดดีน อับดุลเราะห์มาน อดีตแกนนำขบวนการแบ่งแยกรัฐปัตตานี(บีไอพีพี) ในช่วงปี ค.ศ.1977-1999 เสียชีวิตแล้วเมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 27 ม.ค. ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมาลายาประเทศมาเลเซีย 

และได้นำศพประกอบพิธีที่มัสยิดตามันฆูรู โกตาบารู และประกอบพิธีละหมาดศพที่มัสยิดดังกล่าวหลังละหมาดวันศุกร์หรือเวลาบ่ายของวันนี้ จากนั้นทำการฝังที่สุสานใกล้เคียงกับสถานที่ดังกล่าว ขณะเดียวกันนายกัสตูรี มะโกตา แกนนำขบวนการปูโล (PULO) ได้กล่าวในเฟซบุ๊ก แสดงความเสียใจกับครอบครัวของอดีตแกนนำขบวนการบีไอพีพี

1/23/2560

‘ขบวนการบีอาร์เอ็น’กับปัญหา‘ยาเสพติด’

"Ibrahim"

13 ปีไฟใต้ ปัญหาที่รุมเร้าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันไม่ได้มีแค่เฉพาะปัญหาความ     ไม่สงบที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหยิบยื่นให้กับประชาชนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมายาวนานนั้น กลับมีปัญหาอื่นๆ ซุกซ่อนอยู่ และเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหนึ่งในนั้นคือปัญหายาเสพติด 
จากสถิติการจับกุมคดียาเสพติดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา  ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวโดยการนำเสนอของสื่อต่างๆ นั้น จะเห็นได้ว่ามีการจับกุมนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ๆ ยึดของกลางได้เป็นจำนวนมากโดยยอดการจับกุมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
จากข้อมูลของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 พบว่ายาเสพติดประเภทพืชกระท่อม เป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นตลอดจนเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาคือ ยาบ้า โดยมี จ.นราธิวาส เป็นแหล่งพักยาขนาดใหญ่
แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือกลุ่มเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ซึ่งเป็นวัยที่มีความเสี่ยง ต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ที่กำลังเบ่งบานท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง และความขัดแย้ง
สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เอื้อต่อการแพร่กระจายหรือขนย้ายยาเสพติดหรือไม่?
เคยได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่าปัญหายาเสพติดที่กำลังระบาดอย่างหนักในพื้นที่ชายแดนใต้ มีผู้ที่มีความคิดต่างจากรัฐ หรือกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมบางกลุ่มได้ตั้งข้อสังเกตว่าเล็ดลอดเข้ามาได้อย่างไร? หรือหนักไปยิ่งกว่านั้นกลับกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐอาจจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง
นั่นเป็นมุมมองของกลุ่มคนที่จ้องทำลายและพยายามบิดเบือนโยนผิดให้เจ้าหน้าที่ แต่ความจริง เป็นเช่นไร?
ในมุมมองหนึ่ง ปัญหาความไม่สงบเป็นปัจจัยในการเพิ่มยาเสพติดด้วยเช่นกัน เพราะเจ้าหน้าที่ต้องทุ่มเทกำลังไปทำงานในเรื่องของการเฝ้าระวังการก่อเหตุร้าย ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการปราบปรามยาเสพติด ยังเกี่ยวโยงถึงประเด็นหนึ่งก็คือ บางพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ เป็นหมู่บ้านจัดตั้งของกลุ่มขบวนการ เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไม่ค่อยถึง เนื่องจากมีความไม่ปลอดภัย การจะเข้าไปขอความร่วมมือจากประชาชนให้รวมตัวกันต้านภัยยาเสพติดก็ทำได้น้อยลง
กลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น มีส่วนเกี่ยวข้องปัญหายาเสพติดหรือไม่?

เมื่อนักค้ายาเสพติดทำการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาเป็นจำนวนมากๆ จะมีแหล่งพักยา ซึ่งแหล่งใหญ่มีทั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และฝั่งประเทศมาเลเซีย
ในฝั่งไทยโดยเฉพาะหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นหมู่บ้านจัดตั้งของกลุ่มขบวนการ คือเป้าหมายหลักในการพักยาเสพติด เนื่องจากความยากลำบากในการเข้าถึง เพราะฉะนั้นคำถาม กลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น มีส่วนเกี่ยวข้องปัญหายาเสพติดหรือไม่? คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่านอกจากทำการก่อเหตุสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดอีกด้วย เรามาดูเหตุและผลกัน
ในหมู่บ้าน (กำปง) เล็กๆ ใครค้าใครเสพ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นย่อมรู้ดีว่ามีใครบ้าง โดยเฉพาะตัวการใหญ่นักค้ายาเสพติดรายสำคัญๆ
กลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นรู้เห็นเป็นใจกับนักค้ายาเสพติด เนื่องจากรายได้จากการค้ายาเสพติดเป็นท่อน้ำเลี้ยง เป็นเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงกลุ่มขบวนการในการจัดซื้อ จัดหาอาวุธปืน สารตั้งต้นประกอบวัตถุระเบิดนำไปสู่การก่อเหตุร้าย โดยเฉพาะเส้นทางการเงินที่มีการตรวจสอบหาความเชื่อมโยงจากนักค้ายาเสพติดรายใหญ่
กลุ่มและองค์กรปีกการเมืองของกลุ่มขบวนการทั้งหลายที่เรียกร้อง PATANI-MERDEKA          หันกลับไปเรียกร้อง  MERDEKA-ยาเสพติด ก่อนดีมั๊ย!! เพราะมัจจุราชตัวจริงที่ทำลายชีวิตทำลายอนาคตของลูกหลานเราคือ ยาเสพติด และให้จับตาดูกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น ให้การหนุนหลังสนับสนุนนักค้ายาเสพติดจริงหรือ? ทำไม? บีอาร์เอ็นถึงนิ่งดูดายทั้งๆ ที่รู้ว่าใคร? เป็นคนค้า หรือจะเป็นพวกเดียวกันหรือเปล่า..ฝากเป็นข้อคิดช่วยกันติดตามตรวจสอบกระชากไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังให้สังคมได้รับรู้.

----------------


1/20/2560

ปะทะรามัน ความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

   

กรณีการปะทะ ที่ อ.รามัน เมื่อ 16 ม.ค. 60 ที่ผ่านมา ทำให้ ผกร.เสียชีวิต 1 ศพ คือ นายกอเซ็ง มิยะ อายุ 40 ปี เป็นสมาชิก ผกร.ระดับปฏิบัติการ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความสูญเสีย ที่ไม่มีใครต้องการให้เกิด..ทุกคนเสียใจ เพราะเราคือคนไทยด้วยกัน ไม่ใช่ชัยชนะของเจ้าหน้าที่รัฐและความภาคภูมิใจใดๆ เลย 


การบังคับใช้กฎหมายเพื่อติดตามจับกุมกลุ่มคนร้ายของเจ้าหน้าที่เป็นความชอบธรรมในการปฏิบัติงาน เพื่อติดตามจับกุมตัวคนร้ายมาดำเนินคดี..แต่ไม่ชอบธรรมสำหรับกลุ่มขบวนการที่ใช้อาวุธในการต่อสู้เจ้าหน้าที่รัฐ จนกระทั่งนำมาสู่ความสูญเสีย



เมื่อ 16 ม.ค. 60 เจ้าหน้าที่เข้าพิสูจน์ทราบ ณ บ้านเลขที่ 34/5 หมู่ที่ 3 บ้านสะโลบาแต ตำบลกอตอตือร๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่เจ้าหน้าที่ก่อน เพื่อเปิดทางหนี
เจ้าหน้าที่จึงยิงป้องกันตัวจนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะนานประมาณ 10 นาที หลังจากเสียงปืนสงบลง เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ขั้นต้น พบศพผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต จำนวน 1 ราย ทราบชื่อคือ
นาย กอเซ็ง มิยะ อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่10/4 หมู่ที่ 6 บ้านตลาดล่าง ตำบลกายูบอเกาะ อำเภอ รามัน จังหวัดยะลา มีหมายจับ ป. วิ อาญา จำนวน 4 หมาย ดังนี้
1.หมายจับที่ 280/2549 ลง 27 กรกฎาคม 2549 คดียิงชุดรักษาความปลอดภัยครู ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เมื่อ 27 มิถุนายน 2549
2.หมายจับที่ 427/2549 ลง 11 ตุลาคม 2549 คดีร่วมกันก่อการร้ายพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและผู้อื่น เป็นอั้งยี่และซ่องโจร ร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิด ในพื้นที่จังหวัดยะลา เมื่อ 15 มิถุนายน 2559
3.หมายจับที่ 743/2551 ลง 28 สิงหาคม 2551 คดีร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงาน ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เมื่อ 9 มิถุนายน 2551
4.หมายจับที่ 271/2552 ลง 2 กันยายน 2552 คดีร่วมกันก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ร่วมกันมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุน เมื่อ 2 มีนาคม 2551
จากเหตุการณ์ดังกล่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน 4 ส่วนหน้า ขอชี้แจงดังนี้

1.การปฏิบัติงานในครั้งนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์กฎหมายนำ การทหารตาม การเมืองขยาย โดยการบังคับใช้กฎหมาย
2.สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือของประชาชนที่ช่วยกันแจ้งเบาะแส กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายกับการกระทำอันสุดโต่ง และต้องการให้พื้นที่เกิดสันติสุข จึงได้ร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายในพื้นที่ของตนเอง
3.สำหรับการปฏิบัติการในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำเกินกว่าเหตุ ซึ่งได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ของกฎหมายทุกอย่างแล้ว แต่จำเป็นต้องป้องกันตัวเนื่องจากผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เปิดฉากยิงปืนใส่เจ้าหน้าเพื่อเปิดทางหลบหนี
ทั้งนี้ พลโท ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอเชิญชวนให้ผู้ที่หลบหนีอยู่ เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน หรือร่วมแสดงตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยประสานหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ หรือติดต่อโดยตรงได้ที่หมายเลข 092 – 5324989 ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เพื่อที่จะได้ช่วยกันพัฒนาพื้นที่สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน.






1/14/2560

สะแปอิง บาซอ แกนนำบีอาร์เอ็นเสียชีวิตแล้วที่มาเลย์


ครอบครัว สะแปอิง บาซอ ยืนยันแล้วว่า สะแปอิงฯ แกนนำบีอาร์เอ็น ได้เสียชีวิตแล้วด้วยความสงบ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2560

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2560 ครอบครัวของอุสตาซสะแปอิง บาซอ ได้เปิดเผยกับ สำนักสื่อวาร์ตานีว่า อุสตาซสะแปอิง บาซอ ได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 เวลา 15.00 น.ตามเวลาที่มาเลเซีย ซึ่ง นายสะแปอิงฯ จากไปด้วยความสงบที่ประเทศมาเลเซีย


ทั้งนี้ แหล่งข่าวได้แจ้งว่าทางโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิจะมีการละหมาด ฆอเอ็บ โดย วัน และเวลา จะแจ้งให้ทราบต่อไป

‘BRN’กับ‘น้ำกระท่อม’

"Ibrahim"


ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นอกจากเรื่องการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนแล้วยังมีปัญหา ทับซ้อน อื่นๆ อีกที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และเพิ่มอุณหภูมิของความร้อนแรงให้เพิ่มมากขึ้น  และหน่วยงานความมั่นคงระบุว่า ภัยแทรกซ้อน ดังกล่าวคือ เรื่องการระบาดของการค้ายาเสพติด สินค้าลักลอบหนีภาษี และขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน

ปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนใต้ยังคงอยู่คู่กับสถานการณ์ความไม่สงบ และเป็นภัยแทรกซ้อน  ที่หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ โดยเฉพาะยาเสพติดประเภท น้ำกระท่อม     ซึ่งกำลังระบาดอย่างหนักในกลุ่มวัยรุ่นตลอดจนเยาวชนชายแดนใต้

ผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะ ผู้ร่วมกิจกรรมผู้นำการเปลี่ยนแปลง และได้รับข้อมูลบางส่วนจาก  ผู้นำศาสนาในพื้นที่ว่าในหมู่บ้าน ในชุมชนต่างๆ มี ตลาดขายน้ำ ซึ่งได้มีพ่อค้าหัวใสทำธุรกิจ ขายน้ำกระท่อมอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดภาค 9 (ศปส.ภาค 9) ระบุว่ายาเสพติดประเภทพืชกระท่อม เป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นตลอดจนเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้


เป็นที่รู้กันทั้งประเทศว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มียาเสพติดชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สี่คูณร้อย ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยรุ่น ทั้งชายและหญิง และยาเสพติดชนิดนี้มี สารตั้งต้น ที่มาจาก ใบกระท่อม โดยนำเอาใบกระท่อมมาต้มผสมกับยาแก้ไอ ยาแก้ไข้หวัดหลายยี่ห้อ และ น้ำดำ ซึ่งเป็นน้ำอัดลมยี่ห้อดัง รวมทั้งส่วนผสมอื่นๆ ตามแต่ความนิยมของผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องการ

เมื่อ ใบกระท่อมคือสารตั้งต้นที่ขาดไม่ได้ในการผลิตยาเสพติดสี่คูณร้อย ส่งผลให้ใบกระท่อมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการซื้อขายกันเป็นกิโลกรัมๆ ละ 20,000-30,000 บาท บางแห่งมีการแบ่งขายเป็นใบ ยิ่งเจ้าหน้าที่รัฐกวดขันจับกุมมาก ราคากลับยิ่งแพงขึ้น เนื่องจากตลาดมีน้อยส่วนความต้องการมีมาก

ในเมื่อตลาดมีความต้องการมาก แต่ใบกระท่อมในพื้นที่มีน้อย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใบกระท่อมจากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ ไล่ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงมาจนถึง จ.พัทลุง จึงกลายเป็นสินค้าผิดกฎหมายที่ถูก ซุกซ่อน มากับขบวนการขนส่งหลากหลายรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่ใบกระท่อมจากประเทศมาเลเซีย ได้มีการลักลอบนำเข้ามาขายในประเทศ

‘BRN’กับน้ำกระท่อมในการมอมเมาเยาวชน

ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ คนจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชน วัยรุ่น ทั้งว่างงาน และคนทำงาน ทั้งชายและหญิงกว่า ติดยาเสพติดสี่คูณร้อยอย่าง งอมแงม แบบขาดไม่ได้ จนกลายเป็นปัญหาในเรื่อง คุณภาพชีวิตเพราะการติดสารเสพติดไม่ว่าจะประเภทไหน ถ้าติดจนงอมแงมย่อมเป็นภัยอันตราย ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

เมื่อกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น ซึ่งเป็นคนว่างงานและติดสี่คูณร้อยอย่าง งอมแงม แบบขาดไม่ได้ กลับกลายเป็นช่องว่างให้กลุ่มขบวนการ BRN ชักนำชักจูงให้เข้าร่วมก่อเหตุสร้างสถานการณ์เพื่อแลกกับยาเสพติด มีหลายครั้งที่พบกลุ่มคนที่ขาดสติ ไม่กลัวตายบุกเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยมีด ด้วยมือเปล่าอย่างบ้าบิ่น สืบพบเบื้องหลังได้มีแกนนำให้กลุ่มคนเหล่านี้กินน้ำกระท่อมสี่คูณร้อย โดยทำการหลอกว่าเมื่อกินแล้วว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถมองเห็นตัวตน

ปัญหาภัยแทรกซ้อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหายาเสพติด สินค้าลักลอบหนีภาษี น้ำมันเถื่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้จากสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นเงินทุนสนับสนุนให้กลุ่มขบวนการใช้ในการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ อีกทั้งยังมอมเมาสิ่งชั่วร้ายให้กับเยาวชนลูกหลานพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้ จากการเข้มงวดจับกุมของเจ้าหน้าที่พบว่า มีโรงงานผลิตยาเสพติดสี่คูณร้อย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนแทบทุกหมู่บ้าน ทุกย่านตำบล และในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะ คลาคล่ำ ไปด้วยผู้ติดยาเสพติด กลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นคือผู้หนุนหลัง รู้เห็นเป็นใจให้สิ่งชั่วร้ายเหล่านี้ระบาด เพื่อต้องการซ้ำเติมปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงยิ่งขึ้น และจะพัฒนาได้ยากเย็นยิ่งขึ้นกว่าเดิม.

--------------------------

1/12/2560

ว่าด้วยเรื่องวาทกรรม“โจรใต้”

"Ibrahim"


วาทกรรม" แปลมาจากคำว่า discourse แนวคิดเรื่องวาทกรรมที่นักวิชาการไทยนำมาเผยแพร่ราว พ.ศ. 2524-2525 นี้เป็นของมิเชล ฟูโก้ (Michel Foucault) ซึ่งพยายามเชื่อมโยงเรื่องสำคัญ 3 เรื่องเข้าด้วยกันนั่นคือ ความรู้ อำนาจและความจริง กล่าวโดยรวมๆ ได้ว่าวาทกรรมเป็นการสร้างความรู้ การผลิตความรู้หรือการนิยามความรู้บางอย่างขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจในการกำหนดความจริง (จากบล็อก OK Nation http://www.oknation.net/blog/print.php?id=281466 )

การสร้างวาทกรรมในการรายงานข่าวนั้น ไม่ว่าจะเป็น โจรใต้ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันคือการตราหน้าแก่คนในสังคมนั้น เราจำเป็นต้องสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม มนุษย์จึงจะได้เห็นถึงคุณค่าของคนในสังคมผ่านการรายงานข่าวของเรา สื่อภาคพลเมืองคือผู้จุดประกายเรื่องราวให้สังคมได้นำไปขยายโดยหวังเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าให้สังคมต่อไป

นั่นคือคำพูดที่ออกจากปากของ นายทวีศักดิ์ ปิ อดีตบรรณาธิการสำนักสื่อวาร์ตานี ทำไมต้องมีสื่อภาคพลเมือง: บันทึกจากอิสานข้อคำถามจากสื่ออิสานถึงสื่อปาตานี

วาทกรรมหลายๆ วาทกรรมที่ก่อเกิด จนกระทั่งมีการพูดกันปากต่อปาก วาทกรรมเหล่านี้มาจากไหน? ใครเป็นคนต้นคิด

วาทกรรม โจรใต้ที่นายทวีศักดิ์ ปิ ได้จุดกระแสว่าเป็นการตราหน้าแก่คนในสังคม อีกทั้งเรียกร้องไปถึงการสร้างความเท่าเทียมในสังคมมนุษย์ ตกลงมันเป็นอย่างไร? ใครตราหน้าใคร?

กลุ่มขบวนการที่มีพฤติกรรมสุดโต่ง เข่นฆ่าผู้คนอย่างเลือดเย็น ไม่แยกแยะเป้าหมาย แม้กระทั่งเด็ก สตรี และคนชรา ทำการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ สร้างความเสียหายให้แก่บ้านแก่เมือง เมื่อมีการใช้คำว่า โจรใต้ทำไม? ถึงเป็นเดือดเป็นแค้นแทนกลุ่มขบวนการ ชี้ให้เห็นเป็นการตราหน้าแก่คนในสังคม แล้วกับการกระทำชั่วในการสร้าง ตราบาปของกลุ่มขบวนการต่อผู้ที่สูญเสียล่ะ!! อยากถามไปยัง นายทวีศักดิ์ ปิ อย่างไหน? ที่สมควรเรียกร้องมากกว่ากัน!!

หรือจะให้เปลี่ยนวาทกรรมจากคำว่าโจรใต้เป็นคุณโจรหรือนักรบฟาตอนีแทน ซึ่งเป็นวาทกรรมที่กลุ่มขบวนการและแนวร่วมยกย่องผู้ร้ายกลุ่มนี้มาตลอดไม่ใช่หรือ!!

ไม่น่าเชื่อว่า นายทวีศักดิ์ ปิ จะมีความคิดเยี่ยงนี้ ที่จริงแล้วผู้เขียนไม่อยากให้ราคาค่างวดสักเท่าไหร่? ไม่อยากตอบโต้ด้วยซ้ำ แต่ความรู้สึกลึกๆ บอกเลยไม่ใช่คำว่าโจรใต้คือโจรใต้วันยังค่ำเพราะพฤติกรรมมันบ่งบอกว่ากลุ่มคนไม่ดีกลุ่มนี้ไม่สมควรยกย่องให้เป็นนักรบ

วาทกรรมที่ใช้กันเคยชินได้แก่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กระบวนการพูดคุยสันติภาพซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการบัญญัติคำใหม่ขึ้นมาแทนเป็น กระบวนการพูดคุยสันติสุขมีการกล่าวถึง พื้นที่ปลอดภัยนำไปสู่สันติสุขที่ยั่งยืน ด้วยการก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านร่วมกันของทุกภาคส่วน

การช่วงชิงความหมายระหว่าง กบฏกับ ผู้ปลดปล่อยหรือ โจรใต้กับ ผู้ปลดปล่อยประชาชาติปาตานีที่จะถูกตอกย้ำอย่างซ้ำๆ ในวิถีแห่งชีวิตประจำวันจนสามารถติดตั้งและซึมลึกสู่วิถีชีวิตของผู้คนสามัญจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาเป็นที่ยอมรับ

การใช้วาทกรรมคำว่า ปาตานี(PATANI) ไม่ใช่ปีกการเมืองกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นหรอกหรือ? ที่ริเริ่มใช้วาทกรรมคำนี้

คำว่า ปาตานี”(PATANI) เริ่มพบเห็นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยองค์กรที่เรียกตัวเองว่า นักกิจกรรม ในพื้นที่ เช่น ปาตานีฟอรั่ม และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาและนักเรียนปาตานี หรือ PerMAS และล่าสุดคือการรวมตัวของกลุ่มผู้คิดต่างคือ กลุ่ม มารา ปาตานี จึงทำให้คำว่า ปาตานี

นอกจากนี้ยังมีวาทกรรมอีกมากมายที่ได้มีการคิดขึ้นมาใช้เพื่อทำการต่อสู้ ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในการกำหนดใจตนเองของกลุ่มปีกการเมืองบีอาร์เอ็น แต่น่าแปลกใจที่ นายทวีศักดิ์ ปิ ไม่ได้กล่าวถึง แต่กลับมาเรียกร้องวาทกรรม โจรใต้ แทนกล่าวหาว่าเป็นการตราหน้าแก่ผู้คนในสังคม จะด้วยเหตุผลกลใดมิทราบได้ แต่ที่แน่ๆ ความเชื่อมโยงขององค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสื่อภาคพลเมืองมีความสนิทแนบแน่นแทบเป็นเนื้อเดียวกัน จึงไม่แปลกที่เอื้อและสนับสนุนต่อกัน.
----------------------


1/10/2560

สถิติไฟใต้ ปี 59 เปรียบเทียบสถิติ 7 วันอันตรายห้วงปีใหม่

"แบดิง โกตาบารู"


เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน นับรวมระยะเวลาได้ 13 ปีเต็ม เมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา

จากการรวบรวมสถิติของ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Incident Database- DSID) ซึ่งเป็นประจำทุกปีที่สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้นำเสนอต่อสาธารณะ

ส่วนการรวบรวมสถิติเหตุการณ์ในพื้นที่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อ้างว่าทำการรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลจาก 4 แหล่งข่าวด้วยกัน กล่าวคือ (1) ส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศปร.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) (2) งานการข่าว ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) (3) ศูนย์ประสานงานเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ จังหวัดยะลา และ (4) หนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชน

จากผลการรวบรวมข้อมูล ในปี 2559 พบว่า มีจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 807 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต จำนวน 307 ราย และบาดเจ็บ จำนวน 628 ราย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 348 เหตุการณ์ รองลงมาคือ สาเหตุที่ยังไม่ชัดเจน/ยังไม่สามารถระบุได้ 268 เหตุการณ์ โดยมีรูปแบบการก่อเหตุสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1) การยิง 370 เหตุการณ์ 2)การระเบิด 197 เหตุการณ์ และ 3) การก่อกวน 105 เหตุการณ์

ในปี 2559 หากจำแนกพื้นที่การก่อเหตุในระดับจังหวัด พบว่า พื้นที่ที่มีจำนวนเหตุการณ์สูงที่สุด คือ จังหวัดปัตตานี จำนวน 309 เหตุการณ์ และมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงที่สุด คือ เสียชีวิต 106 ราย และบาดเจ็บ 259 ราย รองลงมาคือ จังหวัดนราธิวาส มีเหตุการณ์จำนวน 270 เหตุการณ์ เสียชีวิต 97 ราย และบาดเจ็บ 210 คน จังหวัดยะลา มีจำนวน 175 เหตุการณ์ เสียชีวิต 77 คน และบาดเจ็บ 96 ราย และจังหวัดสงขลา จำนวน 53 เหตุการณ์ เสียชีวิต 27 ราย และบาดเจ็บ 63 ราย

ส่วนในรายละเอียดอื่นๆ ผู้เขียนไม่ขอลงลึกไปอ่านต่อได้ที่ลิ้งเว็บไซต์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ http://www.deepsouthwatch.org/node/10037

หลักใหญ่ใจความของเหตุการณ์ปีที่ผ่านมาคือ จำนวนเหตุการณ์ 807 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต จำนวน 307 ราย และบาดเจ็บ จำนวน 628 ราย จากสถิติของการก่อเหตุรุนแรงในภาพรวมจะลดลงแทบทุปี ซึ่งก็เป็นนิมิตรหมายที่ดี ในการเปลี่ยนผ่าน จากการต่อสู้ด้วย อาวุธสู่แนวทาง สันติวิธี

สถิติไฟใต้ ปี 59 เปรียบเทียบสถิติ 7 วันอันตรายห้วงปีใหม่


จากข้อมูลของ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2560 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2560 ห้วง 7 วันอันตราย ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.59 – 4 ม.ค.60 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,919 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 478 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 4,128 คน


จะเห็นได้ว่าจำนวนเหตุการณ์ ยอดผู้เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บในห้วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2560 จะสูงกว่าสถิติเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชายแดนใต้ทั้งปี

ที่ผู้เขียนเปรียบเทียบให้เห็นตัวเลขและสถิติที่แตกต่างมิได้หมายความว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่น่ากลัว เดี่ยวพวกโลกสวยจะพากันโวยวายกล่าวหาผู้เขียนต้องการสื่ออะไร?

ยอดผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ใต้ในปี 2559 ที่ผ่านมามีจำนวนทั้งสิ้น 307 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตในห้วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2560 มีจำนวน 478 ราย

ผู้เขียนถามว่าหากเราพินิจวิเคราะห์เหตุการณ์ไหนจะน่ากลัวกว่ากัน..ก็คงไม่พ้นเหตุการณ์การสูญเสียในห้วงเทศกาลปีใหม่ 2560 เพราะมีผู้เสียชีวิตเยอะกว่าเพียงแค่ 7 วัน ส่วนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์จังหวัดชายแดนใต้เป็นยอดสะสมทั้งปี

ภาพความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นภาพที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เขียนและละเลงเลือดจนติดตาผู้คน ภาพข่าวความรุนแรงที่มีการนำเสนอของสื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่อื่นๆ กลัวและไม่กล้าที่จะเดินทางเฉียดมาในพื้นที่แห่งนี้ การใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ถามว่า กลัวมั๊ย!!” คงไม่มีใครที่ไม่กลัวแต่จะต้องปรับการใช้ชีวิตให้สามารถอยู่ได้ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด

สถิติตัวเลขการเกิดเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอบอกว่าไม่ใช่เหตุความมั่นคงทั้งหมด หลายๆ เหตุเป็นเรื่องความขัดแย้งส่วนตัว ปมขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ ธุรกิจผิดกฎหมาย อย่าลืมว่าผู้ก่อเหตุอาศัยสถานการณ์บังหน้าทำการก่อเหตุแล้วโยนให้เป็นเรื่องของความมั่นคงเพื่อเอาตัวรอดหนีการกระทำความผิด จะต้องเป็นหน้าที่ของผู้บังคับใช้กฎหมายแยกแยะวิเคราะห์ สืบสวนสอบสวนว่าเหตุไหนเรื่องส่วนตัว เหตุไหนเป็นเรื่องของเหตุความมั่นคง อย่าให้ผู้กระทำผิดคิดใส่ไฟพ่วงความรุนแรงสร้างสถานการณ์ให้น่ากลัวในสายตาคนทั้งประเทศอีกต่อไป...

--------------

1/07/2560

ธาตุแท้‘พูโล’กระสันอยากได้‘เอกราช’

"Ibrahim"


การพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ระหว่าง คณะพูดคุยรัฐบาลไทย กับ กลุ่ม MAJLIS SYURA PATANI หรือ Mara Patani (มาร่า ปาตานี) ที่ประกอบไปด้วย แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (คณะผู้ก่อการใน BRN) แนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี (BIPP) องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-dspp) องค์การปลดปล่อยสหปาตา นี (PULO-mkp) ขบวนการมูญาฮิดีนอิสลามปาตานี (GMIP) จะสำเร็จหรือไม่? ต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่ไม่มีใครคาดเดาได้

แต่ที่เป็นประเด็น การพูดคุยกับกลุ่ม Mara Patani (มาร่า ปาตานี) หลายๆ ฝ่ายได้ตั้งคำถามไปยังรัฐบาลไทยว่าได้พูดคุยถูกกลุ่มหรือไม่? เป็นตัวจริงเสียงจริงที่มีอำนาจสั่งการในเป็นที่หรือเปล่า และที่สำคัญกลุ่มฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีมีความจริงใจแค่ไหนในการพูดคุย

อย่างล่าสุด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ได้สัมภาษณ์ นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานองค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-mkp) ถึงทิศทางของขบวนการพูโลต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ นายกัสตูรีฯ ยังคงยืนยันเป้าหมายของขบวนการพูโล ยังคงเป็นเอกราชไม่เคยเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งเรียกร้องไปยังฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีไม่ว่ากลุ่มไหนควรคงไว้ซึ่งเป้าหมายเดิม นั่นคือการต่อสู้เพื่อ เอกราช

ไร้คำบรรยายใดๆ ทั้งสิ้นต่อพฤติกรรมของกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานีไม่ว่ากลุ่มไหน ในอดีตปัจจุบันนี้รวมไปถึงในอนาคต นิสัยกลับกลอกซ่อนเงื่อนไร้ซึ่งความจริงใจยังคงอยู่ไม่เคยเปลี่ยน
อยากจะถามไปยังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ว่าคนกลุ่มนี้เคยทำประโยชน์อะไรไว้บ้างให้กับสังคมส่วนรวม เคยทำให้สังคมเจริญขึ้นหรือเปล่า?

แต่ที่เห็นและจับต้องได้เป็นรูปธรรมชัดเจนโดยไม่ต้องมานั่งวิเคราะห์ให้เสียเวลาคือกลุ่มขบวนการปลดปล่อยปาตานีไม่ว่ากลุ่มไหน คือผู้ทำลายไม่ใช้ผู้สร้าง ผู้ที่ทำลายชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทำลายวิถีชีวิตของผู้คน ทำลายสังคมพหุวัฒนธรรม ทำลายเศรษฐกิจและสังคมจารีตประเพณีที่ดีงาม ฯลฯ ยัดเยียดความเดือดร้อนสารพัดสารเพให้กับคนในพื้นที่ จชต.
ลูกชายนายกัสตูรี มะห์โกตา
ระดับแกนนำสั่งการทุกกลุ่มหลบหนีอยู่ต่างประเทศ กินดีอยู่ดีมีเงินใช้ ส่งลูกหลานเรียนนอก ไม่ได้เรียนปอเนาะเหมือนลูกหลานพี่น้อง  ส่วนสมาชิกแนวร่วมช่างน่าอดสูต้องอยู่อย่างอดมื้อกินมื้อ ยามไม่สบายไม่มีแม้หยูกยารักษาต้องคอยหลบหนีเงื้อมมือกฎหมาย ลูกเมียต้องอยู่อย่างลำบาก เพราะโง่ให้มันหลอกใช้ฟรีๆ ทั้งที่มันไม่ใช่พระเจ้าสักหน่อย...

ถึงคราวที่พี่น้องปาตานีจะต้องรู้เท่าทันหูตาสว่างสักที ไม่ตกเป็นเครื่องมือให้กลุ่มขบวนการหลอกใช้อีกต่อไป รู้อะไรดีอะไรชั่ว ไม่ใช่หลงประเด็นให้กลุ่มขบวนการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ศาสนาหลอกใช้ไปวันๆ จุดอ่อนของคนในพื้นที่คือเรื่องการสื่อสาร การรู้ไม่จริง เมื่อรู้ไม่จริงจึงมักถูกกลุ่มขบวนการชักนำให้หลงเชื่อได้ง่าย ยุแหย่ให้เกลียดชังคนต่างศาสนา เกิดความแตกแยกในสังคม นำไปสู่ความหวาดระแวงต่อกัน

ความแตกต่างที่ชัดแจ้ง..


ในขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จชต.ได้เอ่อท่วมบ้านเรือนราษฎร เรือกสวนไร่นาได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร ข้าราชการพลเรือนให้ความสำคัญด้วยการบรรเทาความเดือดร้อนขั้นต้น ออกเยี่ยมเยียนแจกจ่ายหยูกยา และสิ่งของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคให้กับพี่น้องประชาชนปาตานี..
ขณะเดียวกันท่ามกลางสถานการณ์ที่พี่น้องเดือดร้อน นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานองค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-mkp) กลับมาเรียกร้องเคลื่อนไหวในเรื่อง เอกราชมันใช่หรือ? ถูกที่ถูกเวลาหรือ? ไม่เว้นแม้แต่ปีกการเมืองกลุ่มขบวนบีอาร์เอ็น อย่างกลุ่มนักศึกษา PerMAS และอีกหลายๆ กลุ่ม ไม่เคยใยดีต่อปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน กลับเดินหน้าเรียกร้องช่วยเหลือกลุ่มขบวนการโจรใต้ให้พ้นผิด..

ศักยภาพกลุ่มขบวนการโจรใต้ คือ มุ่งก่อเหตุสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน การดูแลสารทุกข์สุกดิบพี่น้องประชาชนกลุ่มขบวนการไม่รู้จัก แต่อย่ากระนั้นเลยแม้กระทั่งลูกน้องของตัวเองยังปล่อยให้อยู่อย่างอดๆ อยากๆ ดีไม่ดีเจ้าหน้าที่แจกข้าวของช่วยเหลือน้ำท่วมกลุ่มโจรใต้ก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้นที่รับของแจกรวมอยู่ด้วย
แล้วกลับคิดการใหญ่แบ่งแยกพื้นที่ จชต.เป็นเอกราช ประชาชนจะหวังฝากชีวิตนี้ไว้กับกลุ่มขบวนการได้หรือ?..เพราะพฤติกรรมของกลุ่มขบวนการโจรใต้คือ นิสัยเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ หลอกลวง บิดเบือนให้ผู้คนหลงเชื่อ...
-------------


1/04/2560

สร้างความแตกแยกในสังคมด้วยการเหยียดศาสนาอื่นเพื่ออะไร?

"Ibrahim"

"ศาสนาท่าน คือ ศาสนาท่าน..ศาสนาเรา คือ ศาสนาเรา"

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยอิสลาม และชาวไทยเชื้อสายจีน รวมๆ แล้วคือชาวไทย ถึงแม้จะมีความต่างในเรื่องของความคิด ความเชื่อ และศรัทธาที่มีต่อที่ตนเองนับถือแต่ในอดีตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างพหุวัฒนธรรม

ผู้คนต่างศาสนาต่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน การดำเนินชีวิตทุกคนมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ จุดมุ่งหมายของศาสนาแต่ละศาสนามุ่งสอนให้ศาสนิกกระทำแต่ความดี ละเว้นชั่ว

ส่วนในเรื่องของความเชื่อที่หลากหลาย แล้วแต่รายละเอียดปลีกย่อยของศาสนานั้นๆ ได้มีการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น อย่างเช่นความเชื่อของพี่น้องคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่ จชต.จะเคารพและนับถือเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นอย่างมาก ในทุกๆ ปีจะมีงานสมโภชศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอย่างยิ่งใหญ่ มีพิธีลุยน้ำลุยไฟ ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนที่นับถือเจ้าแม่ลิ้มเหนี่ยวจะมาร่วมพิธีดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ดราม่าไปตามๆ กันอีกแล้วเมื่อผู้ใช้เฟสบุ๊ค Musa Chemah ได้ทำการโพสต์ภาพพร้อมทั้งแสดงความเห็นเหยียดความคิดความเชื่อ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

ศาสนา..ความคิดความเชื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่สมควรหมิ่นหรือเหยียดซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม
นาย Musa Chemah ได้ทำการโพสต์ ศาลเจ้าแม่อุปโลกน์ ..... แห่งปัตตานีเจ้าแห่งนิทาน..เจ้าแห่งต่ำช้า(นาน) ณ. ดินแดนฟาตอนี ดารุสสาลาม.....แถวนี้รับตัดสินคดีความอะไร?


ในเวลาต่อมามีผู้ทักท้วงว่ากำลังดูถูกความเชื่อของผู้นับถือศาสนาอื่น สร้างความแตกแยกในสังคม 3 จชต. นายคนนี้เลยขู่มาว่า ตัวเองมีพี่เขยเป็นนายทหารยศนาวาเอก และอ้างถึง รอง เลขา ศอ.บต. ว่ารู้จักสนิทมาก เส้นใหญ่ถึงจะโพสต์ดูถูกศาสนาอื่นอย่างไร? ใคร? ก็ทำอะไรตัวเองไม่ได้ ชี้ให้เห็นว่าตนเองเส้นใหญ่ทำอะไร? ก็ได้ และในเวลาต่อมา นาย Musa Chemah ได้มีการแก้โพสต์แต่ก็ยังคงดูถูกศาสนาอื่นไม่เลิก

ในขณะที่รัฐบาลรณรงค์ให้คนในชาติรู้รักสามัคคี ลดปัญหาความขัดแย้งของคนกลุ่มต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันในสังคมกลับมีผู้ที่พยายามสร้างความร้าวฉานให้เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ

สันดานของผู้กระทำความผิดมักชอบแอบอ้างว่าตนเองรู้จักผู้มีชื่อเสียงในสังคม หรือมีหน้าที่การงานใหญ่โต เป็นญาติ เป็นคนสนิท ก็ว่ากันไปจะจริงหรือไม่จริง การกระทำเป็นเรื่องส่วนบุคคลอย่าพยายามลากศาสนาซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้นับถือเข้ามาเกี่ยวข้อง

อยากจะถามสังคมว่าจริงมั้ยที่ นาย Musa Chemah มีพี่เขยเป็นนายทหารยศนาวาเอก และอ้างถึง รอง เลขา ศอ.บต. ว่ารู้จักสนิทมาก ช่วยกันตรวจสอบหน่อย  ถ้าไม่จริงนาย Musa Chemah  แอบอ้าง แต่ถ้าหากจริงฝากไปถึง นายทหารยศนาวาเอก และ รอง เลขา ศอ.บต. ช่วยจัดการกับนายคนนี้หน่อย อย่าปล่อยให้ญาติถ่อยๆ ออกมาดูถูกศาสนาอื่นอย่างออกหน้าออกตา และหันกลับไปมองตัวเองว่า รากเหง้าตัวเองดีจริงแล้วหรือ?
--------------------