หน้าเว็บ

7/22/2560

โจรใต้อดอยาก!! ขาดการเหลียวแลจากแกนนำ..ถึงกับต้องปล้นกิน

"แบมะ ฟาตอนี"


เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ จากการก่อเหตุร้ายรายวันของขบวนการมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในพื้นที่ หลายครอบครัวหอบลูกหลานไปตั้งรกรากพื้นที่อื่นเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่ในขณะเดียวกันผู้คนส่วนใหญ่มีความรักความผูกพันกับแผ่นดินถิ่นเกิดที่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษไม่คิดโยกย้ายไปไหน แต่ได้ปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์

ท่ามกลางเสียงปืนเสียงระเบิด..รอคอยสันติสุขที่จะกลับคืนมาอีกครั้ง
ท่ามกลางความเงียบสงัดเกือบเที่ยงคืนของวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลายครอบครัวต่างพักผ่อนหลับนอน ถนนหนทางรถที่สัญจรผ่านไป-มาแทบไม่มีนานๆ จะมีสักคัน แต่ครอบครัวของ 2 แม่ลูก นางอารีย์ สมประกอบ และนายธรรมรัตน์ สมประกอบ ยังคงเปิดร้านขายของชำเพื่อบริการลูกค้าที่นอนดึกบ้านหัวสะพาน ต.ไกรทอง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี


ในขณะที่อีก 40 นาทีเที่ยงคืน ได้มีชายฉกรรจ์ 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์มาจอดหน้าร้าน แล้วทำทีจะซื้อบุหรี่ ขณะที่ นางอารีย์ฯ กำลังเดินจะหยิบบุหรี่ หนึ่งในคนร้ายได้กระโดดข้ามกำแพงเข้ามาภายในร้าน ก่อนชักปืนพกสั้นกระหน่ำยิง 2 แม่ลูก หลายนัดจนได้รับบาดเจ็บ ก่อนคนร้ายหลบหนีได้กระชากกระเป๋าคาดเอวที่ตัว นางอารีย์ฯ ไปด้วย ซึ่งในกระเป๋ามีเงินสดร่วม 1 แสนบาท

จากการกระทำที่อุกอาดดังกล่าวของโจรใต้ที่กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะการเลือกเป้าหมายต่อกลุ่มไทยพุทธซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย เป็นการสร้างความหวาดกลัว ความหวาดระแวงต่อกันของผู้คนในพื้นที่ จชต.


อีกทั้งพฤติกรรมของโจรใต้ที่ทำการปล้นทรัพย์และประทุษร้ายต่อชีวิตของประชาชน สื่อไปถึงกลุ่มขบวนการที่ปล่อยให้ลูกน้องอดยากต้องปล้นเขากิน ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช้ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น สิ่งที่ยืนยันว่ากลุ่มขบวนการไม่เหลียวแลทอดทิ้งลูกน้อง คือคำพูดที่หลุดจากปากผู้ที่ละทิ้งอุดมการณ์และความเชื่อผิดๆ ที่ขบวนการยัดเยียดให้ทำการก่อเหตุ เลือกทางเดินสายใหม่ด้วยการรายงานตัวแสดงตนเพื่อเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านเป็นจำนวนมากไปก่อนหน้านี้

สมาชิกโจรใต้หลายรายต่างให้ข้อมูลและพูดไปในแนวทางเดียวกันว่าสุดจะทนต่อความยากลำบากที่ได้รับ ไม่อยากอดมื้อกินมื้อ คอยหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่หลับนอนในป่าภูเขาแทนการอยู่ร่วมกับครอบครัวที่อบอุ่น อีกทั้งผู้ที่กระทำผิดมีหมายจับคดีความมั่นคงไม่เคยได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากขบวนการ บาดเจ็บล้มตายต้องอยู่กันตามยถากรรม

แกนนำสั่งการเสวยสุขอยู่เมืองนอก มีบ้านหลังใหญ่โตโอ่อ๋าอยู่อาศัย มีรถหรูขับขี่ แต่บรรดาสมาชิกแนวร่วมซึ่งเป็นมือเป็นเท้าที่แกนนำสั่งใช้งานต้องทนอยู่ในสภาพแร้นแค้นอดมื้อกินมื้อ ต้องปล้นชาวบ้านกิน...โดยเฉพาะลูกหลานคนยากคนจนแกนนำขบวนการสร้างค่านิยมให้เรียนทางด้านศาสนาสถาบันปอเนาะเอกชน แต่ลูกหลานตัวเองกลับส่งเสียเรียนต่อเมืองนอกเมืองนา...แล้วบรรดาสมาชิกที่ยังจงรักภักดี เป็นทาสรับใช้ขบวนการอยู่...ต่อสู้เพื่ออะไร? ลูกเมียอันเป็นที่รักได้อะไร? จากขบวนการ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ คือใคร? ไม่ใช่ระดับแกนนำหรอหรือ?

----------------------

7/18/2560

เพื่อนผู้เห็นต่างอยากกลับบ้าน...

"แบมะ ฟาตอนี"


การให้โอกาสต่อผู้กระทำความผิดให้กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ถือได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่หลงผิดมีที่ยืนในสังคม กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย พัฒนาถิ่นเกิด อีกทั้งให้คนเหล่านี้กลับมาอยู่กับครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่งแทนการหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐ

โครงการพาคนกลับบ้านเป็นโครงการหนึ่งของหน่วยงานความมั่นคงที่เปิดโอกาสให้กับผู้ที่หลงผิดได้รายงานตัวแสดงตน โดยความสมัครใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ในห้วงที่ผ่านมามีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยและโจมตีโครงการพาคนกลับบ้านคือผู้เห็นต่างจากรัฐที่ไม่ต้องการสูญเสียสมาชิก ไม่อยากให้บรรดาสมาชิกหันหลังให้กับขบวนการ และที่สำคัญไม่อยากเสียมวลชนที่หันมาสนับสนุนโครงการของรัฐแทนการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา..

ผู้เขียนได้รับข้อมูลทางลับ ว่ามีผู้หลงผิดจำนวนมากติดต่อขอเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน โดยรัฐยินดีนำออกนอกพื้นที่ทั้งครอบครัว จัดหาที่ทำกินเปลี่ยนข้อมูลบุคคลให้ใหม่ โดยสัญญาให้มีการมอบอาวุธให้กับทางการ

เพื่อพิสูจน์ความจริงตามที่ได้รับข้อมูลทางลับเท็จจริงแค่ไหน? หรือเป็นแค่ข่าวลวง ข่าวโคมลอยที่ตั้งใจปล่อยเพื่อต้องการหวังผลอะไรบางอย่าง จึงนำไปสู่การนักหมายพบปะพูดคุยเพื่อยืนยันจากปากแกนนำอาร์เคเค..ที่มีการโอดครวญว่าอยู่อย่างลำบาก ต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุนอดมื้อกินมื้อ ถูกแกนนำทอดทิ้งไร้การเหลียวแล

ผู้เขียนเดินทางไปยังจุดนัดพบแห่งหนึ่งในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอยู่ใกล้เทือกเขาตะเว ต้องเดินทางบนถนนลูกรัง เมื่อมาสุดถนนต้องเดินเท้าลัดเลาะตามทางเล็กๆ ไปตามไหล่เขา ต้องผ่านลำน้ำไหลเอื่อยๆ ใสเย็น สภาพพื้นที่ทั่วไปอุดมสมบูรณ์ มีเรือกสวนผลไม้สลับสวนยางพาราเป็นระยะๆ รู้สึกร่มรื่นกับธรรมชาติอย่างบอกไม่ถูก ใช้เวลาเดินทางร่วม 4 ชั่วโมงก็ถึงที่นัดหมาย

จุดหมายปลายทางคือกระต๊อบหลังเล็กๆ ณ ตรงนั้นมีชายฉกรรจ์ 4 คน นั่งรออยู่ก่อนแล้ว หนึ่งในนั้นกล่าวแนะนำตนเองว่าเป็นแกนนำระดับสั่งการ มีชื่อเรียกในขบวนการว่าเจ๊ะฆูมังซึ่งอดีตเคยเป็นครูสอนตาดีกาแห่งหนึ่งในอำเภอเจาะไอร้อง หลังเข้าร่วมขบวนการรับผิดชอบในปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธอาร์เคเคในพื้นที่เจ๊ะฆูมัง ได้กล่าวว่าตนเองและลูกน้องได้เดินเท้าลงจากฐานบนเทือกเขาตะเวมาตั้งแต่เมื่อวานเพื่อมาคุยตามที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้า

เจ๊ะฆูมังได้เล่าการใช้ชีวิตอยู่บนฐานเทือกเขาตะเว ต้องอยู่อย่างยากลำบาก โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่ดุร้ายต้องระวังเป็นพิเศษ อีกทั้งต้องคอยหลบหนีเจ้าหน้าที่ที่มีการปฏิบัติการไล่ล่า การจะใช้ชีวิตในป่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ส่วนฐานที่ตั้งอยู่เน้นพื้นที่จุดใกล้แหล่งน้ำ และเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ สามารถหาของป่ามากินได้เพื่อประทังชีวิตและเพื่อความอยู่รอด

ส่วนการทำหน้าที่หรือภารกิจที่มุ่งให้เกิดความวุ่นวายและการสูญเสียนั้นจะรอรับคำสั่งให้ทำงาน เจ๊ะฆูมังกล่าวว่าจะรู้จักเพียงผู้สั่งการเพียงคนเดียวเท่านั้น ส่วนผู้สั่งการในขบวนการลำดับที่ใหญ่กว่านั้นจะไม่มีการเปิดเผยชื่อตำแหน่งรู้เพียงว่าเป็นผู้กว้างขวางใหญ่โต

เขายังเล่าต่อไปว่า..สาเหตุที่ตนเองและพวกออกมาให้ข้อมูลเปิดใจคุยครั้งนี้..เพราะตนเองและสมาชิกท่านอื่นๆ ในกลุ่มต้องทนกับความลำบาก เนื่องจากถูกกลุ่มขบวนการทอดทิ้งไม่เหลียวแล นอกจากต้องอดทนกับสภาพความเป็นอยู่แล้วยังไม่มั่นใจถึงอนาคตที่จะได้รับว่าคุ้มหรือไม่โดยมีเพื่อนหลายคนเริ่มปรึกษากันถึงทางเดินใหม่ และตกลงปลงใจจะขอเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านเพื่อกลับไปใช้ชีวิตอยู่อย่างสันติสุขกับครอบครัว..

“เจ๊ะฆูมัง”หยิบยาสูบมวนใบจากขึ้นมาจุดสูบ ก่อนจะระบายความในใจต่อว่า การที่ตนเองต้องมาอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ อย่างนี้ไม่ได้มีผลดีอะไรกับทุกคนและครอบครัวเลย การจะไปไหนมาไหนหรือไปมาหาสู่ครอบครัวก็เกรงกลัวเจ้าหน้าที่จะมาจับกุม ซึ่งมันไม่ใช่หนทางที่ดีและทำให้ตนเองและครอบครัวมีความสุขใดๆ เลย ขณะเดียวกันเมื่อใครในกลุ่มมีคดีติดตัว ที่ผ่านมาขบวนการไม่เคยหยิบยื่นความช่วยเหลือแต่อย่างใด

เจ๊ะฆูมังทำท่าครุ่นคิดพร้อมถอนหายใจเฮือกใหญ่ ก่อนจะกล่าวถึงผู้บงการ และคอยสั่งการใหญ่ในขบวนการให้รับรู้ว่าสิ่งที่สมาชิกทุกคนได้ทำและต่อสู้อยู่ในปัจจุบันนี้ เปรียบได้เหมือนคนอยู่บนเรือที่ลอยไปกับกระแสน้ำ ทั้งอนาคตหรือปัจจุบันพวกเรายังไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร? หากสักวันหนึ่งต้องถูกจับ หรือเกิดอะไรขึ้น คนในขบวนการไม่เคยหยิบยื่นความช่วยเหลือเข้ามาเลย แต่ที่ทุกคนยังทำและเชื่อเพราะสิ่งที่ขบวนการปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ด้วยการส่งผู้นำศาสนาบิดเบือนหลักคำสอน และโน้มน้าวว่าการฆ่าคนได้บุญและได้ขึ้นสวรรค์..เนื่องจากต่อสู้เพื่อศาสนา

เจ๊ะฆูมังยังได้กล่าวความคิดอันแรงกล้าในการต่อสู้ของตนเองว่าไม่เคยคิดหลบหนี สู้เพื่อขบวนการ แต่เมื่อความจริงทั้งหมดถูกเปิดเผย อุดมการณ์และความคิดที่ตนเองเชื่อมาโดยตลอดนั้นมันไม่ใช่  การสั่งให้มวลสมาชิกทำการก่อเหตุด้วยการลอบยิง ลอบวางระเบิด ลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ผู้สั่งการไม่เคยคิดและคำนึงถึงความถูกต้อง มีแต่จะสั่งการให้สร้างความรุนแรงยิ่งๆขึ้นไป เพื่อหวังผลด้านการเมืองจนมีความรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ไม่ถูกต้องและผิดหลักคำสอนของศาสนา

เขายังเชื่อว่าหากวันใดตนเองต้องตายจากไปกับการต่อสู้ คงเป็นรูปแบบเดิมๆ ที่ขบวนการยกย่องเป็นวีรบุรุษไม่มีการอาบน้ำศพ ทำการโฆษณาชวนเชื่อว่าทำการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และพี่น้องประชาชน.. แล้วอนาคตของครอบครัว พ่อแม่ และลูกเมียของพวกเราล่ะ..โดยเฉพาะลูกหลานที่จะเติบโตขึ้นมาในวันข้างหน้า..เขาจะเลือกทางเดินและใช้ชีวิตเป็นอยู่อย่างไร?

เจ๊ะฆูมังได้กล่าวทิ้งท้าย..ฝากไปยังเพื่อนๆ ทั้งที่อยู่ในขบวนการ หรือผู้ที่คิดอยากจะเข้าไปร่วมนั้นจงคิดให้หนัก เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่าไปหลงเชื่อขบวนการ เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ได้รับผลกระทบคือครอบครัวเราเอง ที่ต้องอยู่อย่างลำบากไม่ได้รับการเหลียวแลจากขบวนการเลย และไม่เคยหยิบยื่นความช่วยเหลือใดๆ ให้กับสมาชิก

จะเห็นได้ว่าจากข้อมูลทางลับ มีผู้หลงผิดจำนวนมากติดต่อขอเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านนั้นมีมูลความจริง ซึ่งคาดว่าแนวร่วมส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตคนในครอบครัว มากกว่า เอกราชจอมปลอม ของนายทุนที่หลอกใช้มาแสนนานโดยที่ไม่ตอบแทนอะไร? นอกจากคำขู่และมอบความตาย...ในไม่ช้าหรือเร็วเราจะได้เห็นข่าวดีที่ผู้หลงผิดเหล่านี้จำนวนมากหันหลังให้กับความรุนแรง ละทิ้งขบวนการ..เดินทางกลับบ้านเพื่อร่วมพัฒนาชาติไทย.

---------------------

7/17/2560

โจรใต้สุดโต่ง..กราดยิงไทยพุทธบาดเจ็บ-เด็กและคนชราก็ไม่เว้น

"กะ กันดา"


การก่อเหตุของกลุ่มโจรใต้ในลักษณะยั่วยุสร้างความโกรธแค้นเกลียดชัง เพื่อต้องการให้เกิดความแตกแยกในเรื่องของผู้นับถือศาสนายังคงเป็นความพยายามหลักและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อหวังผลนำไปสู่สงครามประชาชน

ช่วงหัวค่ำของคืนวันเสาร์ที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมาชุมชนไทยพุทธ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสาย 43 ปัตตานี หาดใหญ่ บ้านดอนยาง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ชาวบ้านหลายสิบคนนั่งคุยกันอยู่หน้าบ้าน เป็นปกติประจำทุกค่ำคืน แต่ที่พิเศษหน่อยสำหรับวันนี้เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์หลายครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกันพ่อแม่ลูก บ้างก็จับจ่ายซื้อข้าวของมีทั้งร้านจำหน่ายอาหาร ร้านจำหน่ายแก๊ส และร้านขายของเบ็ดเตล็ด

ท่ามกลางเสียงรถราที่ยังคงวิ่งกันเป็นระยะๆ อยู่นั้น ซึ่งถนนสาย 43 ดังกล่าวเป็นเส้นทางสายหลักที่ประชาชนในพื้นที่ จชต.ใช้สัญจรเชื่อมต่อไปยังอำเภอหาดใหญ่และจังหวัดอื่นๆ กลับมีรถจักรยานยนต์ 2 คัน ชายฉกรรจ์ 4 คนอาวุธครบมือเข้ามาจอดย่านชุมชนไทยพุทธ คนร้าย 2 คนที่ซ้อนท้ายไม่พูดพล่ามทำเพลงทำการกราดยิงไปยังกลุ่มชาวบ้านที่นั่งพูดคุยและจับจ่ายซื้อสินค้าอยู่แบบไม่ทันได้ตั้งตัว

โจรชั่วไร้ศาสนาทำการเหนี่ยวไกปืน ปล่อยกระสุนจากลำกล้องจนหมดเม็ก หวังผลต้องการก่อเหตุสร้างสถานการณ์เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งไม่เคยมีความบาดหมางและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กันมาก่อน เมื่อสิ้นเสียงปืนความโกลาหลวุ่นวาย เสียงโอดโอยของผู้บาดเจ็บ ข้าวของตกระเนระนาด เจ้าหน้าที่พยาบาล และชาวบ้าน ช่วยกันปฐมพยาบาล นำผู้บาดเจ็บ 7 ราย ส่งรักษาตัวโรงพยาบาลหนองจิกและโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร

เดชะบุญที่ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต แต่พฤติกรรมของกลุ่มโจรใต้ เป็นการกระทำที่อุกอาจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ไร้ซึ่งมนุษยธรรม ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ไม่มีทางสู้ ไม่มีการแยกแยะกลุ่มเป้าหมายเด็ก คนชรา ซึ่งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และยิ่งไปกว่านั้นยังมีเด็กอายุแค่ 4 ขวบ ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำดังกล่าวอีกด้วย


การก่อเหตุครั้งแล้วครั้งเล่าของกลุ่มโจรใต้ เป็นการกระทำที่ไร้อุดมการณ์ มุ่งกระทำต่อพลเรือน เป็นกลุ่มโจรชั่วนอกศาสนา ไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด ไม่ยอมเปิดเผยตัวตนแฝงตัวอยู่ในเงามืด ทำการลอบกัดทีเผลอ อาศัยเครื่องแต่งกายผู้หญิงอำพรางปิดบังใบหน้า แล้วมวลสมาชิกยังสมควรยกย่องอยู่อีกหรือ!!...น่าสมเพชกับแนวทางการต่อสู้ที่กระทำตัวเยี่ยงโจร ไม่ใช่นักรบที่แกนนำอุปโลกน์ขึ้นมาเพื่อหลอกใช้..เมื่อหมดประโยชน์ก็ไร้ค่า เป็นได้แค่อาญิงตัวหนึ่งที่ต้องหนีหัวซุกหัวซุนไร้แผ่นดินจะอยู่ ไร้การเหลียวแลจากนายใหญ่...แล้วยังต้องการจะเป็นทาสรับใช้ขบวนการอยู่อีกหรือ?..ฝากไปยัง NGOs กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมนักเคลื่อนไหวทั้งหลาย เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นทีไรไม่เคยเห็นเงาหัว..รึมัวแต่คิดคอยช่วยเหลือโจรใต้อยู่ฝ่ายเดียว..ก็ไม่รู้นะ!!

---------------------------

7/16/2560

จุดจบ!! โจรใต้ระเบิดบิ๊กซีปัตตานี..ผู้หลบหนีผวาหนักรอคิวมัจจุราชพรากวิญญาณ

"แบมะ ฟาตอนี"


กลุ่มโจรใต้ระส่ำหนักหลังเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มก๊วนโจรใจบาปที่ทำการปล้นฆ่า นายนุสน ขจรคำ เจ้าของรถกระบะแล้วนำประกอบระเบิดห้างบิ๊กซี ปัตตานี มีผู้ได้รับบาดเจ็บครึ่งร้อยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุหาข่าวเชิงลึกจนกระทั่งจับกุมตัว นายสุฮัยมี สะมาแอ ผู้สั่งการปล้นทรัพย์และฆ่า นายนุสน ขจรคำ ก่อนนำรถไปวางระเบิด ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนหลายราย

นายสูไฮมี สะมะแอ ยอมรับสารภาพร่วมวางแผน และฆ่าชิงรถยนต์กระบะนำไประเบิดห้างบิ๊กซี เพื่อสร้างสถานการณ์ สร้างความแตกแยกทางศาสนา ที่สำคัญกลุ่มโจรใจบาปกลุ่มนี้ใช้มัสยิดซึ่งเป็นบ้านของพระเจ้าในการวางแผนและทำการก่อเหตุ

เจ้าหน้าที่ติดตามเกาะติดแบบจิกไม่ปล่อย กลุ่มโจรใจบาปกลุ่มนี้มาดำเนินคดีรับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายให้ได้ และแล้วเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ได้แจ้งเบาะแสมีกลุ่มคนใช้บริเวณหลังมัสยิดทำการไม่เหมาะสม ในพื้นที่บ้านปะกาฮะรัง ม.5 ต.ปะกาฮะรัง  อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มโจรใต้เข้ามากบดานหรือวางแผนก่อเหตุ เจ้าหน้าที่จึงสนธิกำลังตำรวจทหารเข้าทำการตรวจสอบ คนร้ายเห็นเจ้าหน้าที่ไหวตัวทันเปิดฉากยิงกรุยทางเพื่อหลบหนีในที่สุด นายสุดิง มามะ มือระเบิดบิ๊กซีปัตตานีเสียชีวิตคาที่ ส่วน นายมะนาเซ ไซดี และนายยูโซะ แมะตีเมาะ ผู้ต้องหาตามหมายจับหนีรอดไปได้

ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ ควบคุมตัวผู้ที่ให้ที่พักพิงฯ ผู้ก่อเหตุรุนแรง 2 คน คือ นายเปายี ตาสะเมาะ และ นายอับดุลเลาะ เจ๊ะมะ ซึ่งเป็นราษฏร ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อทำการซักถามหาเบาะแสความเชื่อมโยง
ผลการซักถาม นายเปายี ตาสะเมาะ ให้การว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง และแนวร่วมให้การสนับสนุนที่พักพิงแก่ผู้ก่อเหตุรุนแรงจริง เข้าร่วมขบวนการเมื่อปี 2554 โดยการสาบานตนเข้าร่วมขบวนการ กับ นายมะนาเซ  ไซดี ที่กำลังหลบหนีอยู่ รวมถึงยืนยันว่ารถจักรยานยนต์ที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดได้ที่บ้านพักของตนเอง คือรถจักรยานยนต์ที่ใช้ก่อเหตุลอบวางระเบิดห้างบิ๊กซี ปัตตานี และยังให้ข้อมูลแหล่งซุกซ่อนอาวุธ ซึ่งตนเองได้รับมาจาก นายมะนาเซ  ไซดี และได้นำไปเก็บรักษาไว้หลังทำการก่อเหตุ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว นายเปายี ตาสะเมาะ ไปชี้จุดที่ซุกซ่อนอาวุธ บริเวณพื้นที่ป่า ม.4 ตำบลปะกาฮารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งในขณะขุดปืน นายเปายี ตาสะเมาะ ได้อาศัยจังหวะหยิบปืนพกสั้น ขนาด .38 ที่ซุกซ่อนไว้ในพงหญ้าใกล้บริเวณดังกล่าว ยิงใส่เจ้าหน้าที่ 1 นัด แล้ววิ่งหลบหนีไปทางริมคลองชลประทาน และกระโดดลงน้ำข้ามคลองไปยังฝั่งตรงข้าม เจ้าหน้าที่ได้ไล่ติดตามจนมาพบ นายเปายี  ตาสะเมาะ ได้ใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่อีก 2 นัด เจ้าหน้าที่ได้ยิงตอบโต้ หลังจากเสียงปืนสงบเข้าไปตรวจสอบพบว่า นายเปายี  ตาสะเมาะ เสียชีวิต

นายเปายี  ตาสะเมาะ คือกุญแจสำคัญ เป็นผู้เก็บข้อมูลความลับของผู้ก่อเหตุห้างบิ๊กซี ปัตตานี ต้องจบชีวิตลงเพราะมีความเกรงกลัวต่อการร่วมรับผิดชดใช้ในสิ่งที่ตนเองได้กระทำมา

เป็นอันว่ากลุ่มโจรใต้ใจบาปที่ก่อกรรมทำชั่ว ปล้นฆ่าชิงทรัพย์นำรถยนต์ประกอบระเบิดทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ เวรกรรมตามทัน ชีวิตต้องดับดิ้นถึง 2 ราย ในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้ที่กำลังหลบหนีหนาวๆ ร้อนๆ รอวันมัจจุราชมาพรากวิญญาณ...

จุดจบ!! ของโจรใต้ไม่ตายก็ติดคุก ต้องอยู่อย่างยากลำบากถูกทอดทิ้งขาดการเหลียวแลจากระดับแกนนำสั่งการ ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ได้มีผลดีต่อครอบครัวเลย โดยเฉพาะผู้ที่มีคดีความติดตัวขบวนการไม่เคยหยิบยื่นความช่วยเหลือใดๆ เลย การบิดเบือนหลักคำสอนศาสนา เพื่อให้สมาชิกหลงเชื่อปฏิบัติตาม ถึงขั้นซึมซับยินยอมเสียสละแม้ชีวิตตน เพราะสิ่งที่ทำจะเป็นบุญและได้ขึ้นสวรรค์นั้น...มันถูกต้องแล้วหรือ? ในเมื่อศาสนาทุกศาสนาสอนไม่ให้ผู้คนทำผิด สอนไม่ให้ฆ่าคนฆ่าผู้บริสุทธิ์ แม้มดตัวเดียวหากฆ่าก็เป็นบาป แต่แกนนำกลับบังคับให้ใช้แต่ความรุนแรง..แล้วยังทำการก่อเหตุไปเพื่ออะไร?...
-------------------------


7/11/2560

ULTRA คือคนกลุ่มไหน?..ของ BRN

"แบมะ ฟาตอนี"


ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (มลายู: Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani หรือ BRN ก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2503 โดยอุสตาซ อับดุลการิม ฮัสซัน ได้จัดตั้งหน่วยทหารใช้ชื่อว่า กองกำลังติดอาวุธปลดแอกอิสลามปัตตานี
เมื่อปี พ.ศ.2520 ได้เกิดความแตกแยกภายในองค์กร แตกออกเป็น บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต บีอาร์เอ็น คองเกรส และ บีอาร์เอ็น อูลามา ทำการต่อสู้มาอย่างยาวนาน เป้าหมายเดียวกันคือต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากรัฐบาลไทย จุดเริ่มต้นของความรุนแรงเชื้อปะทุของไฟใต้ถูกจุดเมื่อปี 2547 กลุ่มขบวนการคอยราดน้ำมันบนกองเพลิงหล่อเลี้ยงไฟใต้ไม่ให้มอดดับมาจวบจนปัจจุบัน

ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ BRN หยิบอาวุธทำการต่อสู้ มุ่งก่อเหตุด้วยการลอบยิง ลอบระเบิดเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีการก่อกวนลอบวางเพลิงสถานที่ราชการ กล้อง cctv ทำลายระบบไฟฟ้า เครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์ สร้างความเดือดร้อนครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่เคยแสดงตัวรับผิดชอบว่าเป็นฝีมือของกลุ่มไหน

ในขณะที่ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ BRN แสดงกำลังใช้ความรุนแรงเพื่อแสดงศักยภาพต่อกรกับอำนาจรัฐอยู่นั้น กลับมีกลุ่มองค์กรซึ่งเป็นปีกการเมืองกลุ่มขบวนการ     ใช้ยุทธวิธีโลกล้อมไทยเคลื่อนไหวงานการเมือง ใช้แนวทางการต่อสู้ที่ไม่ใช้กำลัง (non violent)

ผู้ที่เคลื่อนไหวเป็นปีกการเมืองกลุ่มขบวนการ เป็นคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้านิยมความรุนแรงยิ่งกว่า BRN หรือเรียกว่า Ultra BRN กลุ่มคนเหล่านี้มีแนวทางการต่อสู้ด้วยการปลุกระดมประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยความเป็นชาติพันธ์ อัตลักษณ์ ภาษา และศาสนาเดียวกัน แสดงสิทธิการเป็นเจ้าของสร้างความรู้สึกร่วมถูกสยามล่าอาณานิคมดินแดนปัตตานีถูกยึดครองจากสยาม อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง แต่กลับถูกรัฐไทยกลืนกินทำลายความป็นอัตลักษณ์มลายู กล่าวหาเจ้าหน้าที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง และต้องการสื่อให้เห็นว่าพื้นที่ จชต.เป็นพื้นที่ขัดแย้งด้วยอาวุธ
ทั้งหมดที่กล่าวมากลุ่ม Ultra BRN ต้องการสื่อไปยังองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อต้องการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ หวังยืมมือองค์กรเหล่านั้นเข้ามาแทรกแซงจัดการปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปสู่การกำหนดใจตนเอง (Right to Self-Determination) ที่มีติมอร์ตะวันออก มินดาเนาเป็นต้นแบบ

กลุ่ม Ultra BRN ตัวพ่อที่เป็นที่รู้จักกันได้แก่ นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก นายสุไฮมี ดูละสะ นายอาฟาน วัฒนะ ซึ่งบุคคลเหล่านี้เคยมีบทบาทขับเคลื่อนในกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี (PerMAS) มาก่อน นอกจากนี้ยังมี นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาหรือที่รู้จักกันในนาม LEMPAR (Lembaga Patani Raya untuk kedamaian dan pembangunan) และยังมีอีกหลายกลุ่มที่ทำงานสอดรับซึ่งกันและกัน มีจุดร่วมและเป้าหมายเดียวกันนั่นคือเอกราช

การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากปกป้องดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังต้องต่อสู้กับกลุ่ม Ultra BRN ซึ่งเป็นปีกการเมืองขบวนการ BRN ที่ปลุกระดมประชาชนให้การสนับสนุนแนวทางของตน มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง พูดความจริงแค่บางส่วน พูดความจริงไม่หมด เฉพาะในส่วนที่ฝ่ายตนได้เปรียบ อย่างเช่นข้อกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทําสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องการกำหนดใจตนเองซึ่งหากตีแผ่ความจริงแล้วพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถกระทำได้

การไม่รู้แล้วหลงเชื่อข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง คือความเขลาที่ไม่น่าให้อภัย เพราะฉะนั้นจงระวัง!! และคิดไตร่ตรองให้จงหนักกับการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่ม Ultra BRN มิเช่นนั้นจะตกเป็นเครื่องมือให้กับคนเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว...จะกลายเป็นคนที่เนรคุณต่อแผ่นดินเกิด ให้ความร่วมมือผู้ที่บ่อนทำลายบ้านเกิดเมืองนอนของเราเอง...แล้วลูกหลานเราจะอยู่อย่างไร!!!

------------------------------------

7/10/2560

ส่องพฤติกรรม พรเพ็ญ-อัญชนา...หลังหน่วยงานความมั่นคงถอนฟ้องคดีหมิ่น

"แบมะ ฟาตอนี"


สถานการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่จุดคบไฟใต้เมื่อต้นปี 2547 จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลา 13 ปีของการเกิดเหตุ ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ 12,538 คน และเสียชีวิต 6,847 คน

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง มุ่งก่อเหตุด้วยการลอบยิง ลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ กลุ่มเป้าหมายอ่อนแอประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยไม่มีการแยกแยะเป้าหมาย กระทำต่อเด็ก สตรี หรือแม้แต่ผู้นำศาสนา ได้สร้างความเศร้าสลดใจแก่ชาวไทยทั้งประเทศ

ในขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงดำเนินอยู่ ความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนย่อมมีผลกระทบต่อทุกคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ที่ใดมีเหตุการณ์ความรุนแรงองค์กรภาคประชาสังคมย่อมก่อเกิด เป็นกลไกหนึ่งที่เกิดจากการผลักดันขององค์กรต่างชาติ ซึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากกว่า 400 องค์กร ได้รับการสนับสนุนเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนในพื้นที่ ที่ผ่านมาองค์กรหลายองค์กรเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ  การดำเนินการขององค์กรภาคประชาสังคมมีทั้งที่ส่งเสริมเกื้อหนุนรัฐบาลเป็นผลดีต่อประชาชน  แต่ในขณะเดียวกันกลับมีบางองค์กรที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหนุนหลัง เคลื่อนไหวย้อนแย้งการแก้ปัญหาของรัฐบาล หาข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานเพื่อรายงานไปยังองค์กรต่างประเทศ

การเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมในลักษณะดังกล่าว มีการจัดทำรายงานอันเป็นเท็จ โจมตีการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล นำไปเปิดเผยต่อเวทีสาธารณะ แพร่กระจายข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ จนในที่สุดหน่วยงานความมั่นคงมีการฟ้องร้องดำเนินคดี

อย่างเช่น กรณีสามนักสิทธิฯ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาประกอบด้วย....       นายสมชาย หอมลออ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ในความผิดร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการถอนฟ้อง และประกาศยุติการดำเนินคดีนักสิทธิฯ ทั้งสามอย่างไม่มีเงื่อนไข

การดำเนินการถอนฟ้องสามนักสิทธิฯ ของหน่วยงานความมั่นไม่ได้สร้างสามัญสำนึกใดๆ เลยต่อคนกลุ่มนี้ ยิ่งไปกว่านั้นนอกจากไม่สำนึกแล้วกลับเดินหน้าโจมตีเล่นงานเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง โดยมิได้กลัวเกรงต่อผลการกระทำความผิด เป็นเสมือนหอกข้างแคร่คอยทิ่มแทงทีเผลอ

หากจะขุดคุ้ยพฤติกรรมของผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นนักสิทธิฯ.... ใคร?..แตะต้องไม่ได้นั้น มองผิวเผินน่ายกย่องเสียสละตนเองทำงานเพื่อสังคม อุทิศแรงกายแรงใจเพื่อส่วนรวม...

ความจริงเป็นเช่นไร? น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ น่าจะรู้ตัวดีกว่าใครๆ  คำว่านักสิทธิ? เป็นเช่นไร? กระทำเพื่อตนเองหรือเพื่อส่วนรวม? เป็นอาชีพหรือแค่อุทิศแรงกาย โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ แล้วความกระสัน!! อยากได้ตำแหน่งโน่นนี่ละ!! อีกทั้งเงินทุนในการขับเคลื่อนองค์กรไหลมาเทมาใช้ชีวิตติดหรูอยู่ในปัจจุบัน เดินทางไปต่างประเทศเป็นว่าเล่น จึงไม่แปลกใจที่ใครต่อใครอยากเป็นกันนักหนาไอ้นักสิทธิฯ

ย้อนกลับไปดูผลงานชิ้นโบว์แดงของ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เคยถูกกองทัพบก โดยกรมทหารพรานที่ 41 ฟ้องหมิ่นประมาทและเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย ถัดมาร่วมกับ นายสมชาย หอมลออ น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ ถูกหน่วยงาน  ความมั่นคงฟ้องดำเนินคดี สืบเนื่องจากการเผยแพร่การรายงานการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเท็จ ทั้งสองกรณีในเวลาต่อมามีการถอนฟ้องเพื่อให้สำนึกผิด แต่ยังคงเดินหน้าเผยแพร่ไม่ยี่หระกลับโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐหนักกว่าเดิม กรณีเคลื่อนไหวไร้การตรวจสอบข้อเท็จจริงกับการหายตัวของ นายดาโห๊ะ มะถาวร She กลับกล่าวหาว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารอุ้มหายมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รับผิดชอบ..เมื่อความจริงปรากฏเป็นเช่นไร? กลับหงายเงิบเสียหน้าไปตามๆ กัน แต่ยังแถไปแบบหน้าด้านๆ นี่แหละ!! คือสันดานของ She

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา น.ส.อัญชนา หีมมีหน๊ะ ยังสร้างราคาให้กับตนเองด้วยการออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยุติการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

เพราะอะไร? เพราะบุคคลเหล่านี้มีอคติต่อเจ้าหน้าที่ เคยถูกหน่วยงานรัฐฟ้องดำเนินคดี ทั้งที่เป็นความผิดของตนเองในการรายงานข้อมูลเท็จ เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง กล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ โดยไร้การตรวจสอบข้อเท็จจริง เป็นพวกไร้สมอง อ้างตนเป็นนักสิทธิฯ อ้างทำงานเพื่อเด็กและสตรีหากินบนความเดือดร้อนของผู้สูญเสีย ผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปูทางตนเองเพื่อไปสู่องค์กรระหว่างประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 3-21 ก.ค.60 ไปโผล่หัวอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และประเทศฝรั่งเศส

เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้ผู้เขียนและประชาชนคิดอย่างไร?องค์กรภาคประชาสังคมซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และไม่แสวงหาผลกำไรใดๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่จริงหรือ? ในเมื่อพฤติกรรมของผู้ที่อ้างตัวเป็นนักสิทธิฯ เป็นแบบนี้ แล้วเราจะหวังอะไรกับนักสิทธิฯ กำมะลอ การประกาศเป็นตัวแทนของประชาชน ทำงานเพื่อส่วนรวม..แท้จริงแล้วเป็นแค่ลมลวงที่ออกจากปาก..จุดหมายคือกระทำเพื่อตัวเองมาโดยตลอด....

------------------------

7/08/2560

คดีตัวอย่างให้ที่พักพิงโจรใต้..ศาลจังหวัดยะลาสั่งจำคุกสองผัวเมีย

"แบมะ ฟาตอนี"


ศาลจังหวัดยะลาได้พิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก นายสือดี มาหะมะ และนางสีตีพาตีเมาะ เซ็งกะจรี คนละ 3 เดือน ปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี ซึ่งเป็นคดีดำที่ 1980/2560 และ คดีแดงที่ 1972/2560 ลง 7 ก.ค.2560 ในข้อหาให้ที่พักพิง นายลุกมาน มะดิง แกนนำโจรใต้ผู้มีหมายจับ ป.วิอาญาเข้าไปหลบซ่อนตัว

จากกรณีดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมาย หลังจากได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า มีผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคงได้เข้ามาเคลื่อนไหวและหลบซ่อนตัวอยู่ภายในบ้านเลขที่ 163 ม.4 ต.บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งมี นายสือดี มาหะมะ และนางสีตีพาตีเมาะ เซ็งกะจรี เป็นเจ้าของบ้าน

ในการปฏิบัติเจ้าหน้าที่ได้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย หลีกเลี่ยงเงื่อนไขนำไปสู่การกระทำที่เกินกว่าเหตุ ใช้วิธีการเจรจาเพื่อให้ นายลุกมาน มะดิง ยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งใช้เวลานับหลายชั่วโมง อีกทั้งได้ให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ภายในบ้านได้ออกมามอบตัว แต่คนร้ายกลับปาระเบิดชนิดขว้างใส่เจ้าหน้าที่ และเกิดการยิงปะทะกันขึ้น ส่งผลให้   นายลุกมาน มะดิง แกนนำโจรใต้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว นายสือดี มาหามะ และนางสีตีมาตีเยาะ เซ็งกะจรี สองสามีภรรยา ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านหลังดังกล่าว ไปทำการซักถามที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 41 เนื่องจากให้ที่พักพิงแก่ นายลุกมาน มะดิง แกนนำโจรใต้ ได้เข้าพักอาศัยและหลบซ่อนตัว และในเวลาต่อมามีการส่งตัวฟ้องศาลจังหวัดยะลาเพื่อเป็นคดีตัวอย่าง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อผู้ที่กระทำความผิด

สำหรับเจ้าของบ้าน ซึ่งให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงได้เข้าพักพิง ถือว่าเป็นความผิดโดยให้ที่พักพิงต่อบุคคลซึ่งมีหมายจับเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ข้อหา ให้ที่พักพิงผู้กระทำความผิดทางอาญา อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4,000 บาท และหากผู้ใดให้ที่พักพิง และให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง อาจจะเข้าข่ายเป็นเครือข่ายของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็นความผิดฐานก่อการร้าย อั่งยี่ หรือซ่องโจรอีกด้วย

สำหรับคดีนี้ นายสือดี มาหะมะ และนางสีตีพาตีเมาะ เซ็งกะจรี ให้การรับสารภาพ ศาลจึงตัดสินลดโทษจำคุก นายสือดี มาหะมะ และนางสีตีพาตีเมาะ เซ็งกะจรี เหลือคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 

จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในห้วงที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามนโยบายของ พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 กฎหมายนำ การทหารตาม การเมืองขยายส่งผลให้การแก้ปัญหาในพื้นที่สถิติการเกิดเหตุลดน้อยลง ควบคู่กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วยโครงการ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดี มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

การใช้ กฎหมายนำ ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นรูปแบบการบังคับใช้กฎหมายต่อที่กระทำความผิดซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีหมายจับคดีความมั่นคง อีกทั้งจะใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้ให้ที่พักพิง ผู้สนับสนุนผู้ก่อเหตุรุนแรงอย่างจริงจัง ตามเจตนารมณ์ของแม่ทัพภาคที่ 4 และให้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง นายสือดี มาหะมะ และนางสีตีพาตีเมาะ เซ็งกะจรี ที่ถูกศาลจังหวัดยะลาติดสินจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา เนื่องจากให้การรับสารภาพ..ต่อจากนี้ ใคร?...ก็ตามให้โจรพักอาศัยบ้านหากเจ้าหน้าที่มีหลักฐานเจอดีแน่!!!

----------------------

7/06/2560

‘ลุกมาน มะดิง’ หมดประโยชน์ถูกกำหนดให้ตาย...ใส่ร้ายเจ้าหน้าที่

"แบมะ ฟาตอนี"


ความตาย นายลุกมาน มะดิง ผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับและเป็นที่ต้องการตัวอันดับต้นๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ก่อเหตุรุนแรงคนนี้มีหมาย ป.วิอาญาติดตัวถึง 5 หมาย เคยก่อกรรมทำชั่วในพื้นที่มาแล้วอย่างโชกโชน..... 

แต่กลับ ถูกกำหนดให้ตาย เมื่อไร้ประโยชน์ต่อขบวนการ

นายลุกมาน มะดิง ได้ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญเสียชีวิตภายในบ้านญาติในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา หลังเกิดเหตุเมื่อกระแสข่าวการตายได้แพร่สะพัดออกไป กลับมีบุคคลบางกลุ่มพยายามปลุกกระแสใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ กระทำเกินกว่าเหตุตอกย้ำด้วยการเผยแพร่สภาพบ้านหลังเกิดเหตุได้รับความเสียหาย

ผลจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่จนกระทั่งนำไปสู่ความสูญเสียเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่กระนั้นแล้วจากการฟังข่าวมาเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการในครั้งนี้ มีการวางแผนอย่างรัดกุม เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก เชิญผู้นำศาสนาในพื้นที่ทำการเกลี่ยกล่อมเพื่อให้นายลุกมานมอบตัวแต่ก็ไร้ผล..ย้อนกลับไปก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ให้โอกาส เดินทางไปพบกับครอบครัว นายลุกมาน ถึง 3 ครั้ง 3 ครา เพื่อให้คนใกล้ชิดช่วยพูดให้เข้ามอบตัวกับทางการแต่ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ ทั้งสิ้น

ความตาย นายลุกมาน มะดิง ใคร? กำหนดใคร?.. คือผู้อยู่เบื้องหลังในการวางแผนทั้งหมดและกำหนดพื้นที่สังหาร อีกทั้งปล่อยกระแสข่าวใส่ร้ายเจ้าหน้าที่กระทำการเกินควรหลังเกิดเหตุ

ผู้เขียนได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากแหล่งข่าวในพื้นที่ให้ข้อมูลถึงที่มาของความตายนายลุกมาน มะดิง สาเหตุเกิดจากฝ่ายตรงข้ามได้ให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือกับเจ้าหน้าที่ต่อความเคลื่อนไหวของนายลุกมาน ที่มากบดานยังบ้านญาติ ซึ่งได้มีการกำหนดพื้นที่สังหารไว้แล้ว โดยยืมมือเจ้าหน้าที่กำจัด นายลุกมานฯ ต้องตาย เนื่องจากหมดประโยชน์

น่าสงสัยกันมั๊ย!! อยู่ดีๆ มีการแจ้งความเคลื่อนไหว นายลุกมาน มะดิง มาหลบซ่อนพักพิงบ้านญาติในพื้นที่ ต.บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา ทั้งที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ควานหาตัวแทบเป็นแทบตายแต่ไร้วี่แววความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นมานานนับสิบกว่าปี มีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน และ มีความเชื่อมโยงกับปัญหาภัยแทรกซ้อนในพื้นที่ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และเป็นการยากที่จะปฏิเสธ ในการปฏิบัติของกลุ่มขบวนการ มีการตัดซอยแบ่งงานกันทำ หน้าที่ใครหน้าที่มัน เพื่อตัดตอนในการสืบสาวไปถึงตัวผู้บงการตัวจริง เช่นเดียวกับสมาชิกบางคนที่หมดประโยชน์จะมีการกำจัดทิ้งโดยยืมมือเจ้าหน้าที่รัฐ หลอกล่อให้เข้าทำการติดตามจับกุม ปล่อยข่าวมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในมือ ผลลัพธ์อย่างที่เห็น ความตายนายลุกมาน มะดิงเป็นความตั้งใจของกลุ่มขบวนการ

ขบวนการบีอาร์เอ็น กระทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุ และรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตน แสดงความมีตัวตนในการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ขณะเดียวกันทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐ กล่าวหามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน บิดเบือนประวัติศาสตร์ปัตตานี ความไม่ได้รับความเท่าเทียมในสังคม การบังคับใช้กฎหมายที่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อใส่ร้ายเจ้าหน้าที่สร้างความเกลียดชัง นำไปสู่ความแตกแยกในสังคม ทำลายการอยู่ร่วมพหุวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่

แท้จริงแล้วกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มที่ไร้อุดมการณ์ เป็นกลุ่มโจรที่มุ่งแสวงแต่เรื่องผลประโยชน์ เป็นนักรบหน้าตัวเมียมุดผ้าถุง หลบซ่อนตัวอยู่ในที่มืดไม่กล้าเปิดเผยตัว ที่สำคัญเป็นกลุ่มคนบาป บิดเบือนได้แม้แต่ศาสนาฆ่าได้แม้ผู้นับถือศาสนาเดียวกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งเข่นฆ่ากันเองภายในองค์กร...ฝากไปยังผู้ที่หลงผิดทำงานรับใช้ให้กับกลุ่มขบวนการอยู่...ศพต่อไปอาจจะเป็นคุณ!! หากยังไม่หันหลังให้กับองค์กรชั่วองค์กรนี้..แล้วลูกเมียคุณจะอยู่กับใคร?

7/03/2560

ความตายของ‘นายลุกมัน มะดิง’กับความรับผิดชอบของกลุ่มขบวนการ

"กะ กันดา"


ว่อนเน็ต!! แชร์สนั่นโซเชียลกับคลิปฝังศพโจรใต้ อ้างสละชีพเพื่อพระเจ้าหวังปลุกระดม จากกรณีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา กำลังเจ้าหน้าที่ร่วม 3 ฝ่าย ได้ทำการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่ ต.บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา และได้เกิดการปะทะทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 1 ราย
ผู้ที่เสียชีวิตคือ นายลุกมาน มะดิง ซึ่งมีหมายจับ ป.วิอาญา จำนวน 5 หมาย ได้เข้ามาหลบซ่อนตัวบ้านญาติในพื้นที่ บ้านปีแยะ ม.6 ต.บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา ขณะทำการปิดล้อมตรวจค้น นายลุกมาน มะดิง ได้ใช้อาวุธปืนยิง และขว้างระเบิดมือใส่เจ้าหน้าที่ จึงทำให้เกิดการปะทะขึ้น จนเป็นเหตุให้นายลุกมาน มะดิง อายุ 29 ปี เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

ชีวิตเด็กหนุ่มคนหนึ่งหลังจากเข้าร่วมกลุ่มขบวนการถูกปลูกฝังอุดมการณ์ที่ผิดๆ ด้วยการบิดเบือนหลักคำสอนศาสนาให้ทำการก่อเหตุเข่นฆ่าผู้คนถูกออกหมายจับ ทำให้ขาดอิสระในการใช้ชีวิตประจำวันต้องคอยหลบซ่อนตัว หลบหนีการติดตามจับกุมจากเจ้าหน้าที่

นายลุกมาน มะดิง เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับปฏิบัติการ และเป็นบุคคลตามหมายจับ จำนวน 5 หมาย ถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ร่วมกันทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์ ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน และข้อหาร่วมกันทำและมีซึ่งวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต

ชีวิตนายลุกมาน มะดิง ต้องปิดฉากลงด้วยวัยเพียงแค่ 29 ปี ซึ่งยังไม่ถึงวัยอันควรที่จะต้องจากครอบครัวไป อีกทั้งลูกยังเป็นเด็กเล็กอยู่ต้องมากำพร้าพ่อ ภรรยาจะต้องเลี้ยงดูตามลำพังขาดเสาหลักของครอบครัว แล้วใคร!! จะมาเหลียวแล

ความเดือดร้อนของครอบครัว นายลุกมาน มะดิง ลูกเมียที่อยู่ข้างหลังใครจะรับผิดชอบ ถามหาความรับผิดชอบจากกลุ่มขบวนการหรือ? ที่ผ่านๆ มามีแต่หลอกใช้ หลอกให้ไปตาย หลายคนต้องติดคุกติดตารางชดใช้กรรมเวร และบางส่วนต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ อาศัยป่าเขาเป็นที่หลับนอน อดมื้อกินมื้อ ไม่มีโอกาสกลับมาอยู่กับครอบครัวอย่างเช่นคนปกติ

พฤติกรรมของกลุ่มขบวนการทอดทิ้งสมาชิกร่วมอุดมการณ์ ไม่เคยดูดำดูดีในยามที่เดือดร้อน จะมีแต่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่เข้าไปคอยดูแลช่วยเหลือดูแลหาทางออกให้ ไม่เคยมีสักครั้งที่กลุ่มขบวนการหยิบยื่นความช่วยเหลือ ความมีน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ให้กับครอบครัวผู้สูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป

การเสียชีวิตของ นายลุกมาน มะดิง น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับเด็กหนุ่มอีกหลายชีวิตที่กลุ่มขบวนการหลอกใช้อยู่ และเชื่อว่ายังมีอยู่หลายคนที่ยังหลบหนีการติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่ไม่กล้าที่จะพบหน้าผู้คนต้องจากบ้านจากลูกเมียญาติพี่น้อง การก่อเหตุเข่นฆ่าผู้คนของสมาชิกแนวร่วมโจรใต้ จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ถือว่าเป็นบาป ผิดหลักศาสนาอย่างร้ายแรง เป็นคนชั่ว แต่แกนนำกลุ่มขบวนการที่เสวยสุขอยู่เมืองนอก กลับชั่วช้าสุดโต่งยิ่งกว่าผู้ก่อเหตุในฐานะผู้สั่งการ..ธาตุแท้ของกลุ่มขบวนการไม่เคยรับผิดชอบใดๆ เลยต่อชีวิตของสมาชิกแนวร่วมของตนเอง..เมื่อเป็นเช่นนี้!! สมาชิกผู้หลงผิดและครอบครัวอันเป็นที่รัก  ยังจะภักดีกับกลุ่มขบวนการเลวนี้อยู่อีกหรือ!!
---------------------





7/01/2560

จุดยืนองค์กรภาคประชาสังคมกับการนำกฎหมายชารีอะฮ์มาใช้ใน จชต.

"แบมะ ฟาตอนี"


บทบาทภาคประชาสังคม หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า NGOs ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงความขัดแย้งที่เกิดจากเงื่อนไขของผู้เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสำคัญในการขับเคลื่อนสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ส่งผลให้เกิดกลุ่มต่างๆ มากมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทำงานด้านต่างๆ ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา วัฒนธรรม  เยียวยา ทรัพยากรและด้านอื่นๆ 400 กว่าองค์กร

หากมองถึงตัวเลขกลมๆ จำนวนองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมดที่มีอยู่ หากสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้อย่างจริงจัง ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐ ผลักดัน ตรวจสอบในเชิงนโยบาย พบปัญหาร่วมกันเสนอแนะหาทางออกส่งผลดีต่อทุกฝ่ายต่อภาพรวมในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืน

จำนวนองค์กรภาคประชาสังคมทั้งมดที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อแยกแยะจัดหมวดหมู่แบ่งออกเป็น 12 กลุ่มด้วยกันกล่าวคือ 1) ผู้หญิง 107 องค์กร, 2) การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 88 องค์กร, 3) สื่อสาธารณะ 43 องค์กร, 4) เยียวยา 35 องค์กร, 5) เยาวชน 33 องค์กร, 6) วิชาการ 31 องค์กร, 7) พัฒนาชุมชน 31 องค์กร, 8) สาธารณสุข 14 องค์กร, 9) ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 11 องค์กร, 10) เครือข่าย 10 องค์กร, 11) เศรษฐกิจ 10 องค์กร, 12) สิทธิมนุษยชน 6 องค์กร

จากข้อมูลขั้นต้นจะเห็นได้ว่า องค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวเพื่อเป็นปากเสียงเป็นตัวแทนและเรียกร้องสิทธิสตรีมีถึง 107 องค์กร หรือมีมากกว่านี้ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาองค์กร ภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้
หากวิเคราะห์เจาะลึกถึงสาเหตุการจดทะเบียนองค์กรภาคประชาสังคมที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีที่มีมากกว่าร้อยองค์กร มีนัยเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรที่สร้างแรงจูงใจให้มีการเคลื่อนไหว
หากมองปัญหาแบบชาวบ้านๆ การขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิสตรีขององค์กรภาคประชาสังคมมาจากสาเหตุความไม่เท่าเทียมในสังคม โดนกดขี่ข่มเหง และถูกเอารัดเอาเปรียบจากฝ่ายชาย เนื่องจากทนเห็นสภาพปัญหาไม่ไหว หรือผู้ที่ขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาสังคมเคยเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำ   มีประสบการณ์โดยตรงเลยผันตัวเองเพื่อทำการเรียกร้องต่อสู้ให้กับสตรีโดยรวม

พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่เพศชายกดขี่ข่มเหงรังแก และเอารัดเอาเปรียบตลอดจนการละเมิดสิทธิสตรีรุนแรงหรือ? จึงมีองค์กรภาคประชาสังคมที่มาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนเองก็ไม่กล้าฟันธงเดี๋ยวจะกลายเป็นประเด็นดราม่าเกิดขึ้น แต่..หากไม่มีมูล หมาไม่ขี้ ไม่มีไฟ...ย่อมไม่มีควัน ฉันใดก็ฉันนั้น!!!
การออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีให้กับคนส่วนใหญ่ในสังคมขององค์กรภาคประชาสังคมถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก แต่ในขณะเดียวกันองค์กรภาคประชาสังคมบางองค์กร ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน กลับมีความต้องการให้นำกฎหมายชารีอะฮ์มาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

หน้าฉากโปรไฟล์สวยหรูเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่มุ่งขับเคลื่อนในเรื่องบทบาทและสิทธิสตรี แต่หลังฉากกลับสนับสนุนกฎหมายชารีอะฮ์ โดยเฉพาะสตรีที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างเช่นในประเทศซาอุดีอาระเบียสตรีนางหนึ่ง ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดคอ ข้อหาฆาตกรรมสามีตัวเองด้วยการจุดไฟเผาบ้าน และในประเทศอินโดนีเซีย คู่รัก 6 คู่ ถูกลงโทษเฆี่ยน 23 ครั้ง หน้ามัสยิดกลางเมืองบันดาห์อาเจะห์ หลังถูกตัดสินให้มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายชารีอะห์ที่ห้ามไม่ให้ชายหญิงอยู่ใกล้ชิดกันก่อนแต่งงาน

กฎหมายชารีอะฮ์ มีบทลงโทษที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ และยังมีการลงโทษด้วยความโหดร้ายและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ความพยายามของคนบางกลุ่ม สอดรับกับความเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคมที่ต้องการนำกฎหมายชารีอะฮ์มาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้...ถามพี่น้องมุสลิมในพื้นที่สักคำหรือยังว่ามีความต้องการมั๊ย!!!  หรือใช้วิธีการเดิมๆ ด้วยการยัดเยียด..นี่คือหน้ากากจอมปลอมขององค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้ที่แทบจะเดินชนกันตาย แต่หาสาระและเป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชนแทบไม่ได้...แล้วจะมีองค์กรภาคประชาสังคมไว้ทำไม?
----------------------------