หน้าเว็บ

11/14/2560

สันติภาพที่ชายแดนใต้..กับความจริงใจในการพูดคุย


"แบมะ ฟาตอนี"



สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขาดความจริงใจในการพูดคุย การจับอาวุธลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยการใช้กำลังไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาและไม่ใช่หนทางนำมาซึ่งสันติสุขที่แท้จริง โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 “มารา ปาตานี” ได้ยื่นข้อเสนอ เพื่อต่อรองในการพูดคุย “สันติภาพชายแดนใต้” ซึ่งจากการที่กลุ่ม “มาราปาตานี” ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อต่อรัฐบาลไทย อ้างเพื่อนำไปสู่การเจรจาสันติภาพโดยให้ทางการไทยกำหนดการพูดคุยสันติภาพเป็นวาระแห่งชาติ,ให้ยอมรับองค์กรอยู่บนโต๊ะเจรจาและขอคุ้มครองทางกฎหมายแก่คณะพูดคุย..........เผยทุกอย่างขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนจะออกแนวทางไหน?จะเลือก “เอกราช” หรือจะเป็นการปกครองตนเองในรูปแบบเขตการปกครองพิเศษ หรือยังคงรูปแบบที่เป็นอยู่ดั่งเช่นในปัจจุบัน


การออกมาเปิดเผยและเรียกร้องของ มารา ปาตานี สอดรับกับ “ปีกการเมือง” ของกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม และ NGOs ปูพรหมลงพื้นที่ในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ ลึกๆ แล้วการทำกิจกรรมดังกล่าวย่อมมีอะไรแอบแฝง ต้องการอะไร? มากกว่าการสร้างการรับรู้ในเรื่องสันติภาพ ซึ่งหากคาดเดาการจัดเวทีในสถานที่ต่างๆ คงไม่เกินความคาดหมายเท่าไหร่นัก คงหนีไม่พ้นการโน้มน้าวชักจูงและชี้นำทางความคิด เพื่อปลุกระดมประชาชนเข้ามาเป็นมวลชนแนวร่วมทางการเมือง มุ่งไปสู่การกำหนดใจตนเองในการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากรัฐบาลไทย การเดินเกมส์ ซึ่งไร้ความจริงใจ ด้วยการใช้เล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงกลุ่ม “มาราปาตานี” หรือแม้กระทั่งปีกการเมือง องค์กรภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ มีความถนัดอยู่แล้ว การชี้โดยกล่าวอ้างทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชาชนจะเลือกเดินทางไหน? เป็นอะไรที่น่าคิด  ซึ่งการอ้างประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกชะตากรรมของตนเอง เสมือนหนึ่ง “มาราปาตานี” จะมีความมั่นใจว่าได้เปรียบรัฐบาล สามารถชี้นำสั่งการให้ประชาชนที่ได้มีการจัดตั้งตัดสินใจตามที่แกนนำกลุ่มขบวนการต้องการ


คงจำกันได้กับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญของคนไทยเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการโหวตโน ซึ่งในครั้งนั้นในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ไม่เห็นชอบ 61.84% จังหวัดปัตตานี ไม่เห็นชอบ 65.14% และจังหวัดยะลา ไม่เห็นชอบ 59.54% ผลที่ออกมากลับด้านกับผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 เพราะครั้งนั้นนราธิวาสรับร่างฯ 73.4% ปัตตานี รับร่างฯ 72.2% ขณะที่จังหวัดยะลา รับร่างฯ 69.6% เป็นที่น่าสังเกตุว่าก่อนเวลาเปิดหีบออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มโจรใต้ได้สร้างความหวาดกลัวเพื่อต้องการข่มขู่ไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ด้วยการลอบวางระเบิดขึ้นถี่ยิบ นับรวมได้กว่า 30 ลูก แต่ประชาชนก็ยังออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่ง “การสร้างสันติภาพ” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หาก “มาราปาตานี” และตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่มยุติความเคลื่อนไหว และที่สำคัญจะต้องมีความจริงใจในการพูดคุยกับรัฐบาลไทย ซึ่งที่ผ่านมารัฐได้ให้ความสำคัญกับประชาชน   คนไทยทุกคนที่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยอย่างเท่าเทียม การช่วยเหลือหรือการปฏิบัติไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือชนชั้นใดๆ จะมีแต่กลุ่มคิดต่างจากรัฐเท่านั้นที่ยังคงมุ่งเคลื่อนไหวชี้นำสร้างความแตกแยกว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติ ไม่ให้ความเป็นธรรมเพื่อหวังผลทางการเมือง


ความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนคนไทยทุกคนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชนเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลในลำดับต้นๆ ฉะนั้น “ผู้ที่ทำร้ายประชาชน” คือ “ผู้ทำลายสันติภาพ” กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นได้ทุกแห่ง หากไม่มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งกระบวนการสันติภาพจะเดินหน้าได้ก็ต่อเมื่อ “ผู้เห็นต่าง” เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่เห็นผลประโยชน์ส่วนตน และผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ท้ายสุด “ผู้สร้างสันติภาพตัวจริง” คือ “ผู้ที่เสียสละความสุขส่วนตน” เพื่อดูแลความปลอดภัยสร้างความสงบสุขให้กับพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ “ผู้ทำลายสันติสุข” ด้วยการก่อเหตุร้ายสร้างสถานการณ์รายวันนำไปสู่ความสูญเสีย…และอีกด้านหนึ่งก็คือการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐควรจะต้องมีความโปร่งใส ใช้อำนาจที่มีอยู่ด้วยความชอบธรรม ไม่กฎขี่ข่มเหงประชาชนด้วยการกระทำที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าหากทุกคนไม่มีความจริงใจ ตลบตะแลง แล้วอีกเมื่อไหร่? สันติภาพในชายแดนภาคใต้จะเป็นจริง...

------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น