หน้าเว็บ

3/15/2562

เบื้องหลังเงินอุดหนุน รร.เอกชนสอนศาสนา จชต.เข้าบัญชีใคร?


"Ibrahim"

หลายท่านคงได้ติดตามข่าวการทุจริตของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาใน จชต. ซึ่งก่อนหน้านี้ โรงเรียนบากงพิทยา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถูกตรวจพบมีการทุจริตงบอุดหนุนจากรัฐในโครงการอุดหนุนรายหัวนักเรียน และค่าตอบแทนครู เงินเสี่ยงภัย เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ และสวัสดิการอื่นๆ ของครู รวมไปถึงค่าอาหารกลางวัน และอุปกรณ์การเรียนของนักเรียน ส่งผลให้มีการตรวจสอบโรงเรียนอื่นๆ อีกหลายโรง ซึ่งปรากฎผลไม่ได้ต่างจากโรงเรียนบากงพิทยา ล่าสุดสรรพากร เตรียมจ่อเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ข้อหาเลี่ยงภาษี มีความผิดกฎหมายอาญา หากไม่จ่าย อาจต้องยึดทรัพย์
 โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ จชต. ได้รับการแนะนำให้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิเพื่อขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐได้ 100%  แต่เงินอุดหนุนกลับโอนให้โรงเรียนผ่านบัญชีบุคคล ไม่ได้โอนให้มูลนิธิ จึงไม่อาจยกเว้นภาษีได้
เมื่อสืบค้น ความหมายของมูลนิธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 110 ได้บัญญัติความหมายของมูลนิธิไว้ว่า มูลนิธิได้แก่ ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์ เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างอื่นโดยมิได้มุ่งหาประโยชน์มาแบ่งปันกัน และได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ การจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิ ต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นมา
หากจะมองเจตนาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ในการโอนเงินอุดหนุนจากรัฐ เข้าบัญชีบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบัญชีเจ้าของโรงเรียน บุคคลอื่นใด หรือผู้ได้รับใบอนุญาต แต่ไม่ยอมโอนเข้าบัญชีมูลนิธิ อาจมีเหตุผลในเรื่องของการรายงานรายรับ-รายจ่ายประจำปีของมูลนิธิ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ถือว่าเป็นการส่อทุจริตตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว
การทุจริตงบอุดหนุนจากรัฐของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาเอง  คงไม่ได้กระทำเพียงลำพัง แต่อาจจะมีการทำเป็นขบวนการ มีเจ้าหน้าที่ สช. และผู้ใหญ่ใน สช.บางคน รู้เห็นเป็นใจ สมรู้ร่วมคิด น่าจะมีเปอร์เซ็นต์เงินทอนคืน เป็นค่าตอบแทน
การโอนเงินอุดหนุนจากรัฐ เข้าบัญชีบุคคลแทนการโอนเข้าบัญชีมูลนิธิของโรงเรียน เมื่อมีการโอนเข้าบัญชีบุคคลใด ผู้นั้นเป็นผู้มีรายได้ มีหน้าที่ต้องชำระภาษี หากตรวจพบว่า ไม่ได้มีการเสียภาษีประจำปี เป็นหน้าที่ของสรรพากร จะต้องเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกับบุคคลดังกล่าว ซึ่งหากไม่เสียภาษีภายในกำหนดเวลา หรือ ชำระไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน หรือ เจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา ตามมาตรา 37 แห่งกฎหมายประมวลรัษฎากร

นอกจากนี้ตามมาตรา 12 ยังให้เจ้าพนักงานสามารถยึด อายัด ทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องศาล หากบุคคลใดมีหนี้ภาษีค้างกับกรมสรรพากร จะออกหนังสือเตือน 2 ครั้ง (30 วัน ) หากไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วน เจ้าพนักงานจะยึด อายัดทรัพย์สินได้ทันที คอยติดตามผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโกงกินงบสนับสนุนจากภาครัฐของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาใน จชต. จะเจอวิบากกรรมอะไร!! และการบังคับใช้กฎหมายที่ตรงไปตรงมา เพื่อเอาผิดกลุ่มบุคคลเหล่านี้ให้ถึงที่สุด และจะเป็นบรรทัดฐานให้กับสังคมต่อไป.
--------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น