หน้าเว็บ

10/21/2562

สิทธิมนุษยชนบนปลายด้ามขวาน


เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  แต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีสถิติเหตุรุนแรงทุกประเภททั้ง  ยิง  เผา  ระเบิด  โจมตีเจ้าหน้าที่ และอื่นๆ  เกิดขึ้นรวม 10,076 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 4,054 ราย บาดเจ็บอีกหมื่นกว่าราย มาถึงวันนี้แม้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงต่างๆ จะลดลงและดีขึ้นมากกว่าเมื่อก่อนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้สงบจบสิ้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะยังคงมีความพยายามจุดกระแส สร้างความสับสนของกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมบางกลุ่ม ผสมโรงด้วยกลุ่มการเมืองทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น ที่พยายามหยิบยกคำว่า “สิทธิมนุษยชน” ขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสอยู่ในเวลานี้

สิทธิมนุษยชน แยกคำเป็น 2 คำ คือคำว่า  “สิทธิ” หมายถึง อำนาจอันชอบธรรมตามกฎหมาย กับคำว่า “มนุษยชน” หมายถึง บุคคลทั่วไป เมื่อรวมกันจึงหมายถึง อำนาจอันชอบธรรมตามกฎหมายของบุคคลทั่วไป  เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัย และได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิตตามกฎหมายของแต่ละประเทศ

การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั่วไปซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุฯ จะไม่ได้รับผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันแต่ประการใด ยังคงใช้วิถีชีวิตได้อย่างปกติสุข เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย เพราะ มีอำนาจอันชอบธรรม/มีสิทธิมนุษยชนตามกฎหมาย  ในขณะที่กลุ่มผู้ก่อเหตุฯ จะถูกจำกัดความเคลื่อนไหว ทำให้โอกาสในการก่อเหตุร้ายทำได้ยากขึ้น  

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความพยายามของกลุ่มองค์กรฯ ที่เรียกร้อง “สิทธิมนุษยชน” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมานั้น  มุ่งที่จะเรียกร้องให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อเหตุร้าย ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่  ผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม และผู้ต้องสงสัยที่ถูกเชิญตัวเพื่อให้ปากคำ แทบทั้งสิ้น  ในทางตรงกันข้าม กลุ่มองค์กรฯ ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ ไม่เคยได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือหรือเรียกร้องสิทธิใดใดให้กับเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บ/เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อโดยเฉพาะพี่น้องไทยพุทธ บ้างเลย

คนส่วนใหญ่ในสังคมได้มองเห็นและมีความเคลือบแคลงสงสัยแล้วว่า.. กลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้อง “สิทธิมนุษยชน” และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เขาต้องการอะไรกันแน่..  ต้องการช่วยเหลือกลุ่มผู้ก่อเหตุฯ ให้ไม่สามารถก่อเหตุรุนแรงได้อย่างเสรี.. หรือว่าทำเพื่อให้กลุ่มตัวเองได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มองค์กรฯ ที่มีแนวคิดในการแทรกแซงก้าวกายกิจการภายในและความมั่นคงของประเทศไทย.. ใช่หรือไม่..  


............................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น