การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจ “ลดความขัดแย้ง” ความหมายของพหุวัฒนธรรม คือ ความหลากหลายทาง วิถีชีวิต ความเชื่อ ศาสนาและประเพณีปฏิบัติ ที่มีความเหมือนและความต่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเน้นการยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้สังคมมีความสงบสุขและสันติได้
การใช้มิติพหุวัฒนธรรมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม มีส่วนสำคัญมาก และที่สำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรม ต้องอยู่ด้วยความเข้าใจบนพื้นฐานความเคารพซึ่งกันและกัน การได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมอื่น นอกเหนือจากวัฒนธรรมของเรา ทำให้ทราบว่า กลุ่มคนที่ไม่ได้มีวัฒนธรรมเหมือนเรา เขาอยู่กัน อย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร โดยมิได้สร้างความผิดเพี้ยนให้เกิดขึ้นต่อระบบศาสนาหรือวัฒนธรรมอื่นๆ ใดเลย
ในแต่ละศาสนา ก็มีวัฒนธรรม ความเชื่อ เทศกาล และกิจกรรม ที่ปฏิบัติแตกต่างกัน เช่นวันแห่งความรัก 14 ก.พ. วันดังกล่าวถือเป็นวันเฉลิมฉลองให้กับนักบุญของหมู่ชนคริสเตียน ซึ่งก็มีผู้คน หลายชนชาติ หลายศาสนา หลายวัฒนธรรม ร่วมกิจกรรมมากมาย เพื่อแสดงความรัก ความห่วงใยถึงคนที่เราปรารถนาดีและอยากให้เขามีความสุข หรือวันฮารีรายอ ซึ่งเป็นวันสำคัญของชาวมุสลิมทั่วโลก ที่ชาวมุสลิมได้เดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ญาติพี่น้องเพื่อขออภัยซึ่งกันและกัน
ซึ่ง เทศกาล วันสำคัญ หรือกิจกรรมต่างๆ ของชนชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ที่ต่างกันนั้นย่อมมีความเป็นมา รูปแบบการปฏิบัติ และผลที่ที่ได้รับ ซึ่งหากคนในสังคมได้เรียนรู้และมีความเข้าใจวัฒนธรรมอื่น ย่อมจะทำให้ทราบว่าทุกศาสนาวัฒนธรรมก็มุ่งหวังให้ผู้คนในสังคมที่มีความหลากหลายนั้น สามารถอยู่ร่วมกันและพัฒนาประเทศร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ขอให้ทุกศาสนาในพื้นที่ จงยึดมั่นแนวทางการอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุธรรม เช่นในอดีตที่ถึงต่างศาสนาก็ มีวิถีการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกัน คอยช่วยเหลือกันและกัน และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
.............................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น