หน้าเว็บ

1/20/2555

ปมฆ่ามุคตาร์ กีละ ขวางการเมืองขัดแย้งขบวนการ แผนอุบาทว์ป้ายสีรัฐ


ถึงชั่วโมงนี้การสังหารมุคตาร์ กีละ นักการเมืองไฟแรงที่มีแนวโน้วจะก้าวขึ้นมาสู่เวทีการเมืองระดับชาติ ก็มีอันต้องจบชีวิตลงด้วยฝีมือของกลุ่มบุคคลที่เคยร่วมอุดมการณ์ คงเป็นประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานาว่า อะไรคือเหตุผลซึ่งนำไปสู่การสังหารเขาในครั้งนี้ ชนวนฆ่าเกิดจากเรื่องการเมืองหรือความเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อเหตุร้ายใน จชต. หรือใครคือผู้บงการ ตรงนี้สามารถวิเคราะห์ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างชัดเจน และที่แน่ๆ การสังหารมุคตาร์ครั้งนี้มีการวางแผนมาเป็นอย่างดีและไม่เพียงต้องการให้เขาจบชีวิตลงเท่านั้น การตายของเขายังได้ถูกเตรียมการที่จะนำมาเชื่อมโยงให้เกิดกระแสการประท้วงเพื่อสร้างเรื่องให้เกิดการเข้าใจผิดระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
พรรคประชาธรรม ทางเลือกใหม่ตัดทางกลุ่มอำนาจเดิม
มุคตาร์ กีละ ถึงแม้ว่าจะมีบทบาทโดดเด่นด้านการให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยการจัดตั้งมูลนิธิอาสาสมัครให้การบริการสาธารณะกุศล จนมีเครือข่ายจากกลุ่มองค์กรต่างๆ มากมาย แต่เมื่อเข้ามาต่อสู้ทางการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติในช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้รับการเลือกตั้ง จนเมื่อมาก่อตั้งพรรคประชาธรรมและส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการชูธงการเป็นพรรคการเมืองของชาวมลายูเพื่อชาวมลายู และสุดท้ายถึงแม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ก็สร้างกระแสทางการเมืองของประชาชนเชื้อสายมลายูใน จชต. ได้เป็นอย่างที่ดี ที่สำคัญพรรคประชาธรรมได้ทำให้ส่วนแบ่งคะแนนเสียงของพรรคใหญ่พรรคหนึ่งตกลงไปจนแพ้การเลือกตั้ง นี่ถือเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งทางการเมืองของ 2 กลุ่มให้เริ่มร้อนแรงขึ้น
เดินหน้าตามแนวทางสันติ หักเหลี่ยมขบวนการ
เป็นที่รู้กันดีว่ามุคตาร์ กีละ หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศก็ได้ใช้ความรู้ด้านกฏหมายให้การช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุในพื้นที่ จชต. โดยทางวงในของเจ้าหน้าที่ก็ทราบดีว่าเขามีส่วนร่วมกับขบวนการ ต่อมาได้เริ่มเข้าสู่สนามการเมืองโดยการสนับสนุนของนักการเมืองที่มีบทบาทสูงทั้งทางการเมืองในขณะนั้นและมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังขบวนการ และภายหลังได้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ การเมือง และส่วนหนึ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ การชิงไหวชิงพริบเพื่อแสดงบทบาทการเป็นผู้นำทางการเมืองของขบวนการก่อเหตุรุนแรง ประกอบกับมุคตาร์ กีละ มีแนวทางต่อสู้ที่แตกต่างกล่าวคือ ขบวนการนิยมความรุนแรงเพื่อควบคุมมวลชน แต่มุคตาร์ฯ นิยมการต่อสู้ตามแนวทางสันติ ทำให้เขาต้องแยกตัวมาดำเนินการทางการเมืองตามแบบของตัวเอง นอกจากนั้นยังมีบทบาทในการชักชวนแกนนำของขบวนการให้เข้ามาต่อสู้ร่วมกันแบบสันติวิธี นี่อาจเป็นสาเหตุให้ขบวนการเริ่มเพ็งเล็ง และกลัวว่าจะสูญเสียมวลชน สูญเสียผลประโยชน์ที่จะได้รับทั้งจากธุรกิจผิดกฏหมายที่อาจต้องหยุดชะงัก รวมทั้งเงินสนับสนุนจากต่างประเทศที่อาจต้องลดจำนวนลงหากเปลี่ยนแนวทางต่อสู้ การเร่งกำจัดมุคตาร์ กีละ จึงเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมก่อนที่จะสายเกินแก้
ผสานสองประเด็น ตัวเร่งจุดแตกหัก
อีกชนวนเหตุที่สำคัญคือ ภายหลังจากความขัดแย้งหลายด้านกับนักการเมืองขาใหญ่คนหนึ่งในนราธิวาส ที่ปัจจุบันต้องลดบาทตัวเองลงเนื่องจากสอบตกจากการเลือกตั้งคราวที่แล้วเพราะผลกระทบจากปรากฏการณ์ พรรคประชาธรรมซึ่งสร้างความบาดหมางมาแล้วแต่ต้น  ความขัดแย้งยิ่งปรากฏซ้ำเหมือนเติมเชื้อฟืนเข้ากองไฟเพราะเมื่อนักการเมืองคนนั้นประกาศจะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส  มุคตาร์ กีละ ก็ได้ออกมาประกาศเช่นเดียวกันว่า หากนักการเมืองนั้นลงสมัคร เขาก็จะลงสมัครเพื่อรับเลือกตั้งด้วยเช่นกัน การออกมาท้าท้ายครั้งนั้นยิ่งสร้างรอยร้าวลึกระหว่างคนทั้งสองให้มากยิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่าทั้งสองจะเคยมีความสนิทสนม เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกันมาอย่างยาวนาน แต่เรื่องของการเมืองนั้นใครก็รู้ว่า ฐานใครแน่นกว่าถึงจะผงาดขึ้นมาได้ ประกอบกับกระแสความนิยมที่ดีวันดีคืนของมุคตาร์ฯ อาจส่งผลทำให้นักการเมืองที่เพิ่งตกกระป๋องมาหมาดๆ ต้องอกหักซ้ำสอง แม้ว่าจะเป็นเพียงเวทีระดับจังหวัด ซึ่งหากเขาพ่ายแพ้จริงๆ แน่นอนว่าเส้นทางสายการเมืองของเขาคงต้องหริบหรี่ลงไปอีก ความขัดแย้งครั้งนี้บวกกับแนวทางการต่อสู้ที่ขัดกับขบวนการของมุคตาร์   จึงเป็นตัวเร่งให้จุดแตกหักเดินทางมาถึงเร็วขึ้น
ขอยืมมือขบวนการในอาณัติ ไม่ต้องสงสัยว่าใครสั่งเก็บ ฟันธง
เมื่อการล้ำเส้นขบวนการและความขัดแย้งระหว่างบุคคลถึงจุดสุกงอม การปล่อยให้มุคตาร์ฯ ยังดำเนินกิจกรรมต่อไปย่อมก่อผลเสียในหลายด้าน แผนการสังหารมุคตาร์ กีละ จึงถูกกำหนดขึ้นในคืนวันที่ 15 ธ.ค.54 โดยใช้กลุ่มกำลัง ที่อยู่ภายใต้การควบคุมและการดูแลช่วยเหลือของนักการเมืองอดีตเพื่อนซี้ของมุคตาร์ ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ บ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ  จ.นราธิวาส มีการประสานงานกันอย่างสอดคล้องทั้งผู้ที่คอยให้สัญญาณระหว่างมุคตาร์ไปดื่มน้ำชาและกำลังเดินออกจากบ้านเพื่อนบ้าน จนคนร้ายจำนวน 4 คน สามารถเข้ามาสังหารมุคตาร์ได้ต่อหน้าต่อตาเพื่อนบ้านที่เดินออกมาพร้อมกันอีก 3 คนได้โดยมุ่งเป้าไปที่มุคตาร์คนเดียวเท่านั้น ไม่ได้ทำร้ายคนอื่นๆ แล้วจึงขับรถจักรยานยนต์หลบหนี จนเกิดการปะทะกับชุดคุ้มครองหมู่บ้านทำให้คนร้ายเสียชีวิต 2 คน พร้อมอาวุธปืน 2 กระบอกที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วเป็นปืนที่ปล้นมาจากค่ายพระองค์ดำและยึดมาจากการโจมตีทหารพรานเมื่อปี 54 ซึ่งสามารถชี้ชัดได้ว่าการนำอาวุธที่ปล้นได้ไปในครั้งนั้นมาก่อเหตุ คนในขบวนการเท่านั้นที่สามารถนำออกมาใช้ปฏิบัติการได้ ดังนั้นงานนี้จึงเกี่ยวข้องกับขบวนการอย่างแน่นอน ที่สำคัญทั้ง 2 คนยังเป็นแนวร่วมระดับปฏิบัติการในพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ ซึ่งนักการเมืองคนหนึ่งซึ่งรู้กันทั่วไปว่าเป็นใครมีอิทธิพลและให้การช่วยเหลือดูแลมาโดยตลอดในห้วงที่ผ่านมาอีกด้วย
มือสังหารเป็นหลานมุคตาร์
คนร้าย 2 คนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ได้รับการยืนยันจากชาวบ้านในตำบลข้างเคียงและผู้นำศาสนาใน      จ.นราธิวาส ว่า 1 ใน 2 คนร้ายที่เสียชีวิต คือ นายดอรอโอ๊ะ ปิเย๊าะ มีศักดิ์เป็นหลานชายของนายมุคตาร์เอง และยังเคยเป็นจำเลยในคดีที่สร้างประวัติศาสตร์โสมมซึ่งคนไทยไม่เคยลืมคือการรุมทำร้ายครูจูหลง ปงกำมูล จนเสียชีวิต และยังเกี่ยวข้องกับคดียิงเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ แต่ศาลยกฟ้อง เพิ่งได้รับการปล่อยตัวไม่นานนี้เอง จากนั้นก็มาก่อเหตุสังหารนายมุคตาร์ ซึ่งมุคตาร์นั้นมีความรู้ทางกฎหมาย และได้ให้ความช่วยเหลือนายดอรอโอ๊ะหลานชายเรื่องคดีในช่วงก่อนหน้านี้ด้วยจนหลุดคดี แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มาก่อเหตุยิงนายมุคตาร์ ย่อมแสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาระหว่างนั้นมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าขบวนการอาจให้ข่าวกับนายดอรอโอ๊ะว่า การที่มุคตาร์ช่วยเหลือจนหลุดพ้นคดีมาได้นั้น เพราะต้องการขยายผลไปสู่การจับกุมคนอื่นๆในพื้นที่ต่อไป ทำให้เกิดการตัดสินใจร่วมกับพวกสังหารมุคตาร์ ซึ่งแม้ความสัมพันธ์ในฐานะเป็นญาติกันก็ไม่อาจช่วยได้
อย่าให้ตายเปล่า แผนชั่วป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐ
การสังหารนายมุคตาร์ในครั้งนี้ เป็นที่รู้กันว่าขบวนการได้วางแผนใส่ร้ายว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ เพราะก่อนเกิดเหตุ 2-3 วัน ได้มีการปล่อยข่าวในพื้นที่ว่าทหารพรานจะสังหารมุคตาร์ จนภายหลังการลอบสังหารและคนร้ายที่ยิงมุคตาร์ถูกชุดคุ้มครองหมู่บ้านยิงเสียชีวิต 2 ราย และหนึ่งในสองคนร้ายก็สวมเสื้อยืดลายพรางคล้ายทหารด้วย นอกจากนั้นระหว่างที่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าคนร้ายทั้ง 2 คนเป็นใคร ก็มีชาวบ้านมาพูดว่าคนตายเป็นทหารพราน และทหารพรานยิงมุคตาร์ ซึ่งข่าวลือนี้ได้แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วจนมีชาวบ้านพร้อมรถยนต์พยายามจะเข้าไปในจุดเกิดเหตุแต่ถูกเจ้าหน้าที่กั้นเอาไว้ ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งเป็นคนของพรรคประชาธรรมก็กำลังจะเตรียมแห่ศพของมุคตาร์เพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐในตอนเช้า จนเมื่อมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และยืนยันอย่างชัดเจนว่าคนตายเป็นคนที่อยู่ในบ้านกูจิงลือปะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แผนชั่วร้ายนั้นก็มีอันต้องจบลง โชคยังดีที่ชุดคุ้มครองหมู่บ้านสามารถตอบโต้จนคนร้ายตาย ไม่อย่างนั้นก็คงเข้าทางของขบวนการแบบที่เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ที่นอกจากจะกำจัดมุคตาร์ได้แล้วยังสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวสร้างความขัดแย้งของมวลชนขนาดใหญ่ตามสไตล์ความเลวไม่มีที่ติของขบวนการด้วย
การตายของนายมุคตาร์ กีละในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเสียบุคคลที่มีความจริงใจเพื่อพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมลายูใน จชต. เท่านั้น แต่อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญและทำให้ความเป็นไปของปัญหาความรุนแรงใน จชต. มีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากนี้ ทั้งด้านการเมืองของคนมลายูมุสลิมที่เขาสร้างแนวทางไว้ รวมทั้งการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐและกลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงที่นายมุคตาร์เคยมีบทบาทสำคัญในความพยายามที่จะเป็นตัว เชื่อมประสาน คนของพรรคประชาธรรมซึ่งเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์และยึดถือแนวทางเดียวกันกับมุคตาร์เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ รวมถึงคนอื่นๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแนวทางมาต่อสู้แบบสันติวิธีเท่านั้นที่จะสืบสานเจตนารมณ์ของมุคตาร์ กีละ ชะตากรรมและความหวังของชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนความสงบสุขใน จชต. จะเกิดมีขึ้นได้ด้วยแนวทางทางการเมืองเชิงสันติหรือไม่  ขึ้นอยู่กับพวกท่านแล้ว อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่....เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น