หน้าเว็บ

4/18/2557

กฎหมายพิเศษเพื่อประชาชน

                                                                                              โดย....ชบาสีขาว

ตราบใดที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือผู้ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงยังคงอาศัยมวลชนเป็นเกราะกำบังซึ่งยากต่อการแยกแยะว่าใครคือผู้ก่อเหตุรุนแรงยากต่อการดำเนินการสืบหาตามจับกุมเพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมาย ตราบใดที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงไม่เข้าสู่กระบวนการตามนโยบายของฝ่ายความมั่นคงที่เปิดโอกาสให้ผู้หลงผิด หรือผู้มีความเห็นต่างจากรัฐเข้าพูดคุยเข้าต่อสู้ตามขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย นั้นหมายถึงความจำเป็นที่ต้องใช้กฎหมายพิเศษเข้าใช้แก้ไขปัญหา  ซึ่งเชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงเองก็ไม่ปรารถนาที่จะใช้กฎหมายพิเศษนั้นเท่าไรนัก  

ประเทศไทยได้มีบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงที่ตราเป็นพระราชบัญญัติพระราชกําหนด และประมวลกฎหมายทั้งสิ้น จํานวน 75 ฉบับ และมีการแบ่งระดับของความรุนแรงของสถานการณ์เป็น  3  ระดับ คือ สถานการณ์ปกติ สถานการณ์ในภาวะคับขัน และสถานการณ์สงคราม หากมีสถานการณ์หรือพฤติการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง จะใช้บทบัญญัติของกฎหมายที่แตกต่างกันตามสถานการณ์เช่น ในกรณีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ทั่วไปอยู่ในภาวะปกติกฎหมายที่นํามาใช้บังคับ คือ กฎหมายที่มีโทษทางอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  เมื่อปรากฏเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่เกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศและเป็นภัยต่อความสงบสุขของประชาชนทําลายหรือทําให้เสียหายแก่ชีวิตร่างกายทรัพย์สินของประชาชนหรือรัฐ กฎหมายที่นํามาใช้บังคับ คือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551และเมื่อปรากฏเหตุการณ์ขยายตัวลุกลามเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินหรือสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงหรืออาจทําให้ประเทศหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ไม่สามารถควบคุมได้กฎหมายที่นํามาใช้บังคับ คือ พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548   เมื่อปรากฏเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรจนกลายเป็นภาวะสงคราม หรือจลาจลกฎหมายที่นํามาใช้บังคับ คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457

                จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ผลสืบเนื่องมาจากการกระทำของขบวนการ BRN. และพฤติกรรมของกลุ่มองค์กรที่แสวงประโยชน์จากเหตุการณ์   ปลุกระดมบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปลุกกระแสต่อต้านรัฐสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรงของขบวนการ BRN. ซึ่งเท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบันคือกลุ่มนักศึกษาที่พยายามสร้างความมึนงงให้กับประชาชนทั้งที่เป็นมุสลิมและพุทธ นั่นคือกลุ่ม PerMAS ที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา    ณ ปัจจุบันหากจะถามว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จําเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีกฎหมายความมั่นคง  คําตอบที่สามารถตอบได้ทันทีคือ จําเป็นต้องมีกฎหมายความมั่นคง  แม้แต่รัฐอื่นๆ ในโลกปัจจุบันก็ยังมีความจําเป็นต้องมีกฎหมายในลักษณะนี้   เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม นานาอารยประเทศที่ใช้กฎหมายในการปกครองประเทศต่างก็มีกฎหมายความมั่นคงบังคับใช้ในระบบกฎหมายของประเทศตนเอง  

                ปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคภาคใต้   กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) รวมทั้งกลุ่มPerMAS  ได้รณรงค์ปลุกกระแสให้ยกเลิกการใช้กฏหมายพิเศษในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้  ตามที่ปรากฏบนภาพข่าวทั้งบนเว็บไซต์  สื่อสิ่งพิมพ์  และการจัดประชุมเสวนาโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่องรวมทั้งมีความพยายามในการนำเข้าไปสู่การเขียนรายงานประเทศไทย นำเสนอต่อองค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศซึ่งเนื้อหาเป็นการนำข้อมูลในแง่ลบบางด้านโดยไม่ครอบคลุมถึงความถูกต้องสมบูรณ์ ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่บวก   ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นในมุมกลับแล้วจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่ม ผู้ก่อเหตุรุนแรงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก็ไม่ทราบว่า กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) กำลังคิดอะไรอยู่  แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ สร้างผลกระทบต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และของฝ่ายความมั่นคงอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ปฏิบัติงานในพื้นที่

                กฏหมายพิเศษที่ใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปัจจุบันเท่าที่ศึกษา จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ใช้อยู่ด้วยกัน 3  ฉบับ คือ ฉบับที่ 1  พระราชบัญญัติกฏอัยการศึก พุทธศักราช 2457  เป็นกฏหมายที่เน้นความรวดเร็วเพื่อประโยชน์ในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้สงบโดยเร็ว ฉบับที่ 2  พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548  เป็นกฏหมายที่เน้นการป้องกันและปรับเปลี่ยนทัศนคติให้กับผู้หลงผิด ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการขยายผล ให้ข้อมูลกลุ่ม เครือข่ายและแนวร่วม ผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ และที่สำคัญจะเป็นกฏหมายที่มีความยุติธรรมโดยให้อำนาจทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร และอยู่ในอำนาจการควบคุมของศาลยุติธรรม และฉบับที่ 3  พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พุทธศักราช 2551  เป็นกฏหมายที่เน้นการเปิดโอกาสให้คนที่กระทำความผิดสามารถกลับตัวกลับใจเข้ามาร่วมพัฒนาประเทศได้ ซึ่งกฏหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการนำมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เนื่องจากเป็นพื้นที่พิเศษที่ต้องใช้การผสมผสานกฏหมายทั้งข้อดีและข้อเสียเข้าด้วยกัน

                รัฐบาลไทยมีนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ด้วยสันติวิธีอย่างชัดเจน และในห้วงที่ผ่านมา หน่วยงานในจังหวัดชายแดนใต้ ได้ใช้กฏหมายความมั่นคงอย่างระมัดระวังและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฏหมายนั้นๆ รวมทั้งเลือกใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ประโยชน์ต่อการสร้างความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่เป็นหลัก   การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่นั้นจะมีการตรวจสอบโดยศาล หากผู้ใดเห็นว่า มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ เจ้าหน้าที่จะถูกดำเนินการตามกฏหมายได้

                เห็นด้วยกับการใช้กฏหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนับว่าเกิดประโยชน์อย่างมาก โดยสามารถรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างดี สำหรับในด้านการใช้นั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นกฎหมายพิเศษก็ตาม  แต่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อพี่น้องประชาชนจะไม่ต่างกับกฏหมายปกติเลย    ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางการประกอบอาชีพ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา   หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวันก็ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่เพียงกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่  จะสังเกตได้จากการปิดล้อมตรวจค้นจะสามารถจับกุมกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือแนวร่วมได้เกือบทุกครั้ง ผลจากการใช้กฏหมายพิเศษทำให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว แน่นอน และไม่ผิดตัว

                ที่กล่าวมาทั้งหมด  เราลองมาวิเคราะห์กันอย่างจริงจังสิว่า  การใช้กฏหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใครได้รับผลประโยชน์หรือใครเสียผลประโยชน์  จากคำตอบของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ประชาชนได้ประโยชน์แน่นอน   แต่ผู้เสียผลโยชน์และเดือดร้อนที่เห็นชัดเจนคือขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรง


-------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น