หน้าเว็บ

7/17/2557

สองศาสนา สองวัฒนธรรมผสานสัมพันธ์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ


สองศาสนา สองวัฒนธรรมผสานสัมพันธ์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
                                 -----------------------------------------------------------------
                                                                                      โดย..บินหลา  ปัตตานี
          ในห้วง ๔ เดือน โดยประมาณตั้งแต่ เดือน มิ.ย.-ก.ย. จะเป็นห้วงเดือนแห่งบุญของทั้งศาสนาอิสลาม และศาสนาพุทธ กล่าวคือของศาสนาอิสลามจะเป็นห้วงของการบวชหรือถือศีลอด ของศาสนาพุทธจะเป็นห้วงของการเข้าพรรษาซึ่งศาสนิกของทั้งสองศาสนา จะบำเพ็ญบุญมุ่งกระทำความดีอยู่ในหลักปฏิบัติของแต่ละศาสนา
              ในปี ฮ.ศ.๑๔๓๕ เดือนรอมฎอนอยู่ในห้วง ๒๙ มิ.ย.-๒๗ พ.ค.๕๗ ผู้นับถือศาสนาจะถือศีลอดหรือปอซอและปฏิบัติตามหลักของศาสนาอิสลามใน ๒๘ ก.ค.๕๗ จะเป็นวันฮารีรายออีดิลฟิตรี หรือวันอีดเป็นวันออกจากการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม จะมีการจัดงานรื่นเริงฉลองกัน ซึ่งมีประเพณีปฏิบัติกัน ๓ วัน คือวันแรก จะเป็นวันพบปะ พี่น้องมุสลิมจะเดินทางกลับบ้านหาครอบครัว วันที่ ๒ เป็นวันหาญาติ จะเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้อง ในวันที่ ๓ จะเป็นวันฉลอง จะเดินทางไปท่องเที่ยวกัน ในวันรายอ อีดิลฟิตรี จะมีการปฏิบัติสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการจ่ายซะกาตหรือการจ่ายภาษีศาสนา เพื่อนำไปให้กับผู้มีสิทธิได้รับ ๘ ประเภท อาทิ คนจน และคนขัดสน หลังวันรายออีดิลฟิตรีจะมีการถือศีลอดต่ออีก ๖ วัน ในหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามไม่ได้บังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติแต่ถ้าผู้ใดสามารถปฏิบัติได้ต่ออีก ๖ วัน จะถือว่าถือศีลอดทั้งปีเป็นประเพณีที่ พี่น้องมุสลิมปฏิบัติกันไม่มีระบุในหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ในวันที่ ๗ จะเป็นวันออกจากศีลอดเรียกว่า รายอแน อิสลามิกชน จะทำอาหารเลี้ยงกัน ทำบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไปเยี่ยมและทำความสะอาดที่ฝังศพหรือกุโบร์และอ่านคัมภีร์อัลกุรอาน หลังจากวันรายอแน จะเป็นห้วงของการเดินทางไปอมเราะห์และ ประกอบพิธีฮัจญ์ ณ นครเมกกะ ถือเป็นความฝันสูงสุดของผู้นับถือศาสนาอิสลาม หลังจากห้วงการทำพิธีฮัจญ์ จะเป็นวันรายออีดิลฮัฎฮา เป็นการเฉลิมฉลองในการทำฮัจญ์ ซึ่งในปี ๒๕๕๗ ตรงกับวันที่ ๔ ต.ค.๕๗ จะมีการทำ กุรบ่าน หรือการเชือดสัตว์พลี เพื่ออัลลอฮ เนื้อสัตว์ที่ทำกรุบ่านจะแจกจ่ายแก่คนยากจน และเพื่อนบ้านซึ่งจะทำหลังละหมาดอีดิลอัฎฮาแล้ว โดยสามารถทำกุรบ่านได้อีก ๓ วัน หลังวันอีดอัฎฮา เรียกว่าวันตัชรีท

         ในห้วงเดียวกันของศาสนาพุทธ จะมีวันสำคัญคือ อาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาซึ่งในปี พ.ศ.๒๕๕๗ ในวันที่ ๑๑ ก.ค.๕๗ ตรงกับวันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของศาสนาพุทธ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๘ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรก ทำให้มีพระรัตนตรัยครบสมบูรณ์เป็นครั้งแรกคือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ สำหรับเทศกาลเข้าพรรษาอยู่ในห้วงวันที่ ๑๒ ก.ค.- ๘ ต.ค.๕๗ โดยวันที่ ๑๒ ก.ค. เป็นวันเข้าพรรษาวันที่ ๘ ต.ค. เป็นวันออกพรรษา เป็นห้วงที่พระสงฆ์จะจำพรรษาอยู่กับวัด ณ ที่ใดที่หนึ่ง เป็นเวลา ๓ เดือน พระสงฆ์จะประพฤติปฏิบัติธรรมและศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ศาสนิกชนผู้นับถือศาสนาพุทธ จะมุ่งในการบำเพ็ญกุศล อยู่ในศีลในธรรม ทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม และนำบุตรหลานเพศชายที่อายุครบ ๒๐ ปี บวชในห้วงนี้ด้วย นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่สำคัญเช่นการถวายผ้าอาบน้ำฝน การหล่อเทียนพรรษา การถวายเทียนพรรษา และการตักบาตรเทโว สำหรับใน จชต. ในวันออกพรรษาจะมีประเพณี ชักพระหรือ ลากพระซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา
จะเห็นว่าห้วงรอมฎอนของศาสนาอิสลาม และห้วงเข้าพรรษาของศาสนาพุทธอยู่ในห้วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกันคือ มุ่งให้ศาสนิกชนตั้งอยู่ในการทำความดี ปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา รู้จักเสียสละและให้ทานกับผู้ที่ด้อยกว่า แม้สองศาสนา วิธีการและรายละเอียดอาจต่างกัน แต่เป้าหมายสุดท้ายเหมือนกันคือสั่งสอนให้คนเป็นคนดี

      จะเห็นว่าคนโบราณหรือบรรพบุรุษของพวกเราทั้งสองศาสนา ได้มีวิสัยทัศน์หรือกุศโลบายที่ดีที่จะให้พี่น้องไทยพุทธและมุสลิมปฏิบัติศาสนกิจของแต่ละศาสนาที่สอดคล้องกัน ถึงแม้จะต่างศาสนาและวัฒนธรรมแต่ก็ประสานกลมกลืนกันอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข จะเห็นว่าในอดีตพี่น้องไทยพุทธ และมุสลิมจะไปร่วมงานบุญกันโดยตลอด เช่น พี่น้องไทยพุทธนำของหวานและอาหารไปมอบให้พี่น้องมุสลิมในการเปิดปอซอและรับประทานอาหารร่วมกัน พี่น้องมุสลิมมาร่วมงานบุญพรรษา เป็นต้น นอกจากนี้ยังร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมและวันสำคัญของพี่น้องทั้งสองศาสนาอย่างสม่ำเสมอซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจของผู้ที่ได้พบเห็น
     วิถีชีวิตที่ผสมผสานกลมกลืนบรรยากาศและภาพความสุขของพี่น้องทั้งสองศาสนาได้ผ่านพ้นไป เมื่อกลุ่มขบวนการเข้ามาปลุกระดมบ่มเพาะ สร้างความแตกแยกระหว่างพี่น้องไทยพุทธและมุสลิมตลอดจนใส่ร้าย จนท.รัฐ โดยใช้อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์,ภาษาและศาสนามาบิดเบือนสร้างเงื่อนไขให้เกิดความแตกแยกในสังคม และก่อเหตุสร้างสถานการณ์เข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ทั้งไทยพุทธและมุสลิมตลอดจนผู้นำศาสนาอิสลามที่ให้การสนับสนุน จนท.รัฐ เพื่อให้เกิดความหวาดกลัวไม่กล้าสนับสนุนหรือให้ข่าวสารกับ จนท. และในบางครั้งยังบิดเบือนว่า จนท. กระทำเพื่อให้ประชาชนเกลียดชัง จนท.
     ในเรื่องของพี่น้องไทยพุทธและมุสลิมไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาและร่วมงานประเพณีวัฒนธรรมของกันและกันนั้น สอบถามจากผู้นำศาสนาหลายๆ ท่านและจากคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดในหลายๆ จังหวัด แล้วยืนยันว่าไม่ผิดหลักศาสนาอิสลาม ในหลายๆ เรื่องสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ เช่น พี่น้องมุสลิมใส่บาตรพระสงฆ์ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ในหลักศาสนาอิสลามถือว่าเป็นการบริจาคทานหรือ ศอดาเกาะฮ

     ตัวอย่างดีๆ ในปัจจุบันที่สื่อให้เห็นว่าสองศาสนาอาจมีความแตกต่างกัน แต่ไม่ทำให้เกิดความแตกแยกเพราะทุกศาสนาสอนให้ทำความดี ไม่เข่นฆ่าชีวิตผู้อื่น ไม่เบียดเบียนและสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นมีความเมตตาปราณี และเสียสละต่อผู้อื่นเหมือนกัน ตัวอย่างการอยู่ร่วมกันแบบพหุสังคมวัฒนธรรม เช่น พระครูโสภิต โพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีมหาโพธิ์ จ.ปัตตานี กับ ยะโก๊ะ มิหนา อิหม่าม ประจำมัสยิดบ้านสามยอด ม.๘ ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เพื่อนรักกัน ไม่มีแยกศาสนา อยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมและร่วมกันทำความดีในการพัฒนาพื้นที่และอบรมสั่งสอนให้ประชาชนในพื้นที่เป็นคนดีของสังคม 

       และกรณีของ พระวีระ สิทธิฤทธิ์กวิน พระลูกวัดตานีนรสโมสร อ.เมือง จ.ปัตตานี กับคุณตา อุเส็ง เจ๊ะหลา จิตอาสาชาวไทยมุสลิม อายุ ๗๘ ปี อาศัยอยู่ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี กิจวัตรประจำของคุณตาอุเส็ง จะนำสามล้อคู่ใจคอยตามรับ-ส่งพระวีระออกบิณฑบาต และช่วยเหลือในการยกสิ่งของต่างๆ ด้วยความสมัครใจโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน เป็นการเชื่อมมิตรภาพของทั้งสองศาสนา ซึ่งไม่มีใครตำหนิติเตียน ชาวบ้านรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจต่อภาพที่เห็นแม้ทั้งสองอาจฟังกันไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะถนัดคนละภาษา แต่สื่อกันได้ด้วยการทำความดี การปฏิบัติของคุณตาอุเส็งฯ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ได้ขัดต่อหลักศาสนา


      เพราะศาสนามุสลิมสอนให้มุสลิมเรียนรู้ศาสนารอบข้างและวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ปิดกั้นตนเอง ศาสนาอิสลามถือว่าความเมตตาเป็นสิ่งที่สำคัญ ภาพความปรองดองของสองศาสนาระหว่างศาสนาพุทธและอิสลามซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสังคม จชต. เพราะการอยู่ในสังคม การอยู่ในความดีงาม ความเมตตาไม่ได้จำกัดเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และปฏิบัติต่อคนในศาสนาเดียวกันเท่านั้น สามารถกระทำความดีและมีเมตตาต่อคนศาสนาอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบันเรามักไม่ค่อยเห็นภาพเช่นนี้ เนื่องจากประชาชนได้แต่คิดแต่ไม่กล้าทำเพราะกลัวอันตรายจาก ผกร. ถ้า ผกร.หมดไป มิตรภาพและความสงบสุขจะกลับคืนมาสู่พี่น้องใน จชต. อีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น