หน้าเว็บ

12/18/2559

เมื่อผู้ก่อความไม่สงบกล่าว “จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงพื้นที่ปลอดภัย”


คณะผู้แทนของทางการไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวนกลับสู่โต๊ะเจรจาสันติภาพในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอในการสร้างเขตปลอดภัย ซึ่งหนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกล่าวว่า หน่วยกองกำลังปฏิบัติการในพื้นที่จะไม่ทำตามข้อตกลง

การพูดคุยชุดเล็กทางเทคนิค ครั้งล่าสุดของกระบวนการพูดคุยสันติสุข มุ่งหวังเพื่อให้หยุดความรุนแรงของความขัดแย้งที่มีมายาวนานกว่าสิบปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะจัดให้มีขึ้นใน เมืองยะโฮร์ บาห์รู ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 19-21 ธันวาคม ตามที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยกล่าว

เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลไทยกล่าวว่า การพูดคุยคาดว่าจะยังคงเป็นเรื่องของการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" ภายใต้การกำหนดพื้นที่และจุดในอำเภอที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งเป้าหมายคือยุติความรุนแรง และเร่งโครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน
สมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ก่อตั้งมา ครบรอบ 56 ปี ซึ่งมีกองกำลังมากและเข้มแข็งที่สุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เพิกเฉยต่อข้อตกลงที่ฝ่ายทางการไทย และกลุ่มมารา ปาตานีได้ริเริ่มความพยายามในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง

"รัฐบาลไทย ต้องการที่จะแยกเราจากชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ โดยใช้กระบวนการนี้" แหล่งข่าวบีอาร์เอ็นที่ไม่ต้องการเผยนาม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
นอกจากนี้ แหล่งข่าวบีอาร์เอ็นคนดังกล่าว ยังกล่าวอีกว่า หน่วยปฏิบัติการของขบวนการบีอาร์เอ็น จะไม่ยุติความรุนแรงในพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็น เขตปลอดภัยเพื่อหวังทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการเจรจาสันติสุข โดยมีกลุ่มมารา ปาตานี เป็นผู้แทน

'บีอาร์เอ็นตัวจริง'

คณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้มีการพบปะพูดคุยอย่างน้อยห้าครั้งแล้ว กับกลุ่มมารา ปาตานี กลุ่มองค์กรร่มของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ตั้งแต่ปีที่แล้ว และจะจัดให้มีการประชุมพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่คร่าชีวิตประชาชนอย่างน้อย 6,700 รายแล้ว นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
ซึ่งฝ่ายรัฐบาลไทย ในฐานะคณะผู้แทนการพูดคุย ยังไม่มีการกล่าวถึงการพูดคุยที่กำลังจะมีขึ้นครั้งนี้

"กลุ่มมารา ปาตานี ไม่ได้มีอิทธิพลใด ๆ ต่อหน่วยกองกำลังปฏิบัติการในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยจะยังคงดำเนินการในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างไม่เป็นทางการ ร่วมกันกับกลุ่มมารา ปาตานี ด้วยความหวังว่ากระบวนการพูดคุยนี้ จะสามารถดึง บีอาร์เอ็น ตัวจริงออกมาพูดคุยบนโต๊ะเจรจา" เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านนโยบายของไทย ในกรุงเทพฯ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

"เราเชื่อว่าชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ ในที่สุดก็จะต่อต้านกลุ่มบีอาร์เอ็น เพราะพวกเขาเหนื่อยหน่ายต่อการใช้ความรุนแรง และเห็นว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนกำลังทำสิ่งที่ขัดต่อความสงบสุข" เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ที่ไม่ประสงค์ออกนามกล่าว

"เท่าที่คนในโลกตระหนัก คือรัฐบาลไทยเป็นฝ่ายที่ต้องการจะพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่บีอาร์เอ็นไม่ต้องการ"

'สายสัมพันธ์'

ในคำแถลงการณ์ของ มารา ปาตานี ที่เบนาร์นิวส์ได้รับเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มารา ปาตานี ได้ย้ำถึง "ความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งปาตานี ผ่านกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับประเทศไทย"
โดยมีการออกคำแถลงการณ์ ในระหว่าง "การประชุม" สองวัน ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน จากประเทศไทยและต่างประเทศ" เพื่อทบทวนแนวทางการขับเคลื่อนของ มารา ปาตานี และเพื่อกำหนดทิศทางการเมืองขององค์กรในอนาคต" ซึ่งไม่มีข้อมูลอื่นเพิ่มเติมอีกในแถลงการณ์

องค์กรมาราปาตานี มีสมาชิกประกอบด้วย กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (National Revolutionary Front – BRN) กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปาตานี (Patani Islamic Liberation Front – BIPP) กลุ่มย่อยในขบวนการพูโล (Patani United Liberation Organization – PULO) สองกลุ่ม และ กลุ่มมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (Islamic Mujahideen Movement of Patani – GMIP)

นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกของมาราปาตานี ให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์เมื่อเดือนที่แล้ว ว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นมี "อิทธิพล" และมีสมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็นถึง 6 ราย อยู่ในคณะกรรมการควบคุมนโยบายขององค์กร

 “ในมาราปาตานี มีสมาชิกบีอาร์เอ็น... แต่มีสมาชิกบีอาร์เอ็นที่ไม่ต้องการเจรจากับทหาร สำหรับเรา จริงๆ แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของบีอาร์เอ็นที่เขาต้องแก้ไข

 “มีบางบุคคลในมาราปาตานีที่มีสายสัมพันธ์กับสมาชิกบีอาร์เอ็นแท้ๆ (สภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น) พวกเขามีการติดต่อกันโดยความสัมพันธ์นี้ หากว่าเราเข้าใจลักษณะของการปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ยกตัวอย่าง ในปี 1991 บีอาร์เอ็นได้เจรจาโดยตรงกับทหารกองทัพภาคที่สี่ แต่การเจรจาครั้งนั้น เป็นการเจรจาของปีกทหารของบีอาร์เอ็น ไม่ใช่กับสภาองค์กรนำของบีอาร์เอ็น

'อาชญากรรมที่ชั่วร้าย'

หนึ่งในสมาชิกหน่วยปฏิบัติการรบในพื้นที่ บอกกับเบนาร์นิวส์ว่า ในหน่วยของเขา เขาไม่ได้รับคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติการ
"คำสั่งที่เราได้รับในช่วงหลัง คือให้ระมัดระวังอย่างมาก ที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงต่อพลเรือนสมาชิกบีอาร์เอ็นหน่วยรบในพื้นที่บอก โดยกล่าวถึง การก่อความไม่สงบรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน ผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในเหตุการณ์


สุนัย ผาสุก จากองค์กรฮิวแมนไรส์วอทช์ แสดงความเห็นอย่างรุนแรง
"กลุ่มบีอาร์เอ็น จะมีความน่าเชื่อถืออย่างจริงจังได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาไม่รักษาคำพูดของตัวเอง ที่ผ่านมา 12 ปี กลุ่มก่อความไม่สงบบีอาร์เอ็น ได้ละเมิดกฎการทำสงครามอย่างเห็นได้ชัด โดยจงใจจะก่อความรุนแรงต่อประชาชน และการใช้กลยุทธวิธีที่ไม่มีการแยกแยะเป้าหมาย ระหว่างทหาร และพลเรือน การก่ออาชญากรรมอันเลวร้ายเช่นนี้ ต้องยุติทันที" สุนัย กล่าว

อูเซ็ง ดอเลาะ ชาวบ้านในจังหวัดปัตตานี บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า เขาต้องการมากกว่า พื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตปลอดภัย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ "เราไม่ต้องการแค่เขตปลอดภัยในบางพื้นที่ แต่ต้องการให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งหมด" อูเซ็งกล่าว

"ไม่เชื่อว่า มารา ปาตานี มีอำนาจที่แท้จริง มารา ปาตานี เป็นกลุ่มของชายสูงอายุทั้งหลาย ที่ใช้กลุ่มองค์กรร่มในการเจรจาต่อรอง เพื่อที่จะหาโอกาสกลับบ้าน" ซึ่งหมายถึง สมาชิกมารา ปาตานี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกประเทศ เนี่องจากกลับเข้าประเทศไทยไม่ได้

 กลุ่มหลักของบีอาร์เอ็น ไม่ยอมรับ มารา ปาตานี


ที่มา: www.benarnews.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น