หน้าเว็บ

2/20/2560

อดีตอาร์เคเค เปิดใจ “เจ็บที่ถูกเขาหลอก-ร้องไห้คิดถึงลูกเมีย" ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน


"ก่อนเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ได้นั่งคิดทบทวนสิ่งที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่สมัยเรียน กับความจริงที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องจริง พวกเราถูกเขาหลอก ก็อยากบอกกับคนที่อยู่ข้างใน (หมายถึงในขบวนการ) หยุดได้แล้ว พวกเราถูกเขาหลอกมานานแล้ว ของจริงไม่ใช่แบบนั้น เขาหลอกเราทั้งหมดเลย เขามีเบื้องหลังที่มีผลประโยชน์ เขาใช้เราเป็นเครื่องมือเท่านั้น" 

เป็นคำบอกเล่าของอดีตอาร์เคเควัย 33 ปีที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ในเขต อ.กาบัง จ.ยะลา ถึงการเปลี่ยนแปลงความคิดจากที่เคยต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปลดปล่อยปัตตานีตามการปลูกฝังของครูอุสตาซตั้งแต่ในวัยเด็ก กระทั่งตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)

อดีตอาร์เคเครายนี้เป็น 1 ใน 300 คนของผู้เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ อ.ยะหา และกาบัง จ.ยะลา จากจำนวนผู้กลับใจขอกลับบ้านทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน 4,432 คน

อดีตอาร์เคเควัย 33 ปี มีหมายจับ ป.วิอาญา ในคดีความมั่นคง 2 หมาย เมื่อปี 2550 และปี 2552 ในข้อหาฉกรรจ์ ร่วมกันก่อการร้าย วางเพลิงเผาสถานที่ราชการ มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไมได้รับอนุญาต เขาติดต่อเข้ามอบตัวผ่าน นายยะฟาร์ ยะโก๊ะ กำนันตำบลบาละ อ.กาบัง เมื่อ 15 พ.ย.ปีที่แล้ว จากนั้นก็ได้ไปแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ทหาร และได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติกับครอบครัว

สาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน มาจากความคิดถึงครอบครัว บุตร ภรรยา รวมถึงเป็นห่วงแม่ที่กำลังเจ็บหนัก
"ผมเคยร่วมขบวนการจริง เคยซุมเป๊าะ (สาบานต่อหน้าคัมภีร์อัลกุรอาน) และเคยหนีไปอยู่บ้านภรรยา ต้องทิ้งให้ลูกอยู่กับพ่อและแม่ ทุกครั้งเมื่อเห็นลูกและภรรยาอยู่อย่างลำบาก ไม่มีเงิน ก็ต้องเสียน้ำตาทุกครั้ง คิดว่าทำไมเราไม่มีโอกาสดีๆ เหมือนคนอื่น"

"ระยะหลังแม่ไม่สบายหนัก ลูกของแม่ทั้ง 8คนได้กลับไปหาแม่ แตเราไม่ได้กลับเลย ได้แต่ร้องไห้ จะกลับไปหาแม่ก็กลัวเจ้าหน้าที่มาจับ ก็เลยสัญญากับตัวเองว่าถ้ามีโอกาสจะขอเข้ามอบตัว พอดีกำนันมาขอคุยกับพ่อและแม่ให้มอบตัว จึงตอบตกลง วันมอบตัวกำนันก็เอาตำแหน่งประกัน สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้ จนถึงทุกวันนี้ไม่มีการจับกุมหรือถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย เวลาไปไหนก็ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ดักจับระหว่างทาง"

ความกังวลของอดีตอาร์เคเคอย่างเขา นอกจากกลัวถูกเจ้าหน้าที่จับกุมแล้ว ยังกลัวถูกซ้อมทรมาน และไม่ได้รับประกันตัว ฉะนั้นแม้จะมีโครงการพาคนกลับบ้านมานานหลายปี แต่ก็ไม่เคยกล้าเข้าร่วมโครงการ กระทั่งกำนันกับผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 ให้คำมั่น จึงลองเสี่ยงดู

และเมื่อเข้าร่วมโครงการจริงๆ ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เคยรับรู้และหวาดกลัวมาตลอด...

"แรกๆ ตอนที่ออกมาก็ไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่จะทำตามที่พูด หรือทำตามที่เราขอ แต่เพราะแม่ไม่สบายมาก จึงคิดว่าเป็นไงเป็นกัน พอออกมาแล้วจนถึงวันนี้ได้เห็นแล้วว่าเจ้าหน้าที่เขาทำตามที่พูด ทำตามที่เราขอทุกอย่าง จากที่กังวลกลัวจะถูกจับ และกลัวว่าจะถูกซ้อมทรมาน พอออกมามอบตัว เจ้าหน้าที่ก็พาเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน กำนันประกันตัวก็ไม่ถูกจับ และไม่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานอย่างที่กังวลในตอนแรก"

"ถ้ายังอยู่ข้างใน ป่านนี้ก็คงต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เจอเจ้าหน้าที่ที่ไหนก็ต้องหนี ต้องร้องไห้คนเดียวทุกครั้งเมื่อนึกถึงลูกและภรรยาที่ต้องอยู่ไม่เหมือนกับครอบครัวอื่น ช่วงเทศกาลลูกเราไม่มีเสื้อผ้าดีๆ ใส่ ไม่มีอาหารดีๆ กิน ไม่มีโอกาสได้ไปกินไก่ตามร้านดีๆ เหมือนลูกคนอื่น เราทำได้แค่ร้องไห้กับตัวเอง แล้วเราจะทำไปเพื่ออะไร"

"ตอนไปหลบอยู่ที่บ้านภรรยา ลูกๆ ทั้ง 2 คนอยู่กับแม่ผมที่บ้านในกาบัง เราจะปลูกผักแล้วให้ภรรยาเอาไปขาย เงินที่ได้มาก็พอกินไปวันๆไม่สามารถทำให้ครอบครัวสบายหรืออยู่ดีเหมือนคนอื่น แถมยังต้องหลบเจ้าหน้าที่ ถือว่าความเป็นอยู่ลำบากมากหากเทียบกับคนทั่วไป"
สาเหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการปลดปล่อยปัตตานี อดีตอาร์เคเควัย 33 ปีบอกว่า เป็นเพราะถูกปลุกระดมในห้องเรียนทุกวันโดยครูอุสตาซ ทำให้เชื่อสนิทใจว่าต้องเอาปัตตานีคืน เพราะคนมลายูถูกเหยียบย่ำ ถูกกดขี่ ไม่ได้รับความเป็นธรรม สุดท้ายก็เข้าพิธีซุมเป๊าะ และอยู่ข้างในมาตลอด แต่เมื่ออายุมากขึ้น และได้คิดพิจารณาดีๆ แล้วก็พบว่าสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมาไม่ตรงกับความจริง

"ก่อนเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ได้นั่งคิดทบทวนสิ่งที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่สมัยเรียน กับความจริงที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่เรื่องจริง พวกเราถูกเขาหลอก ก็อยากบอกกับคนที่อยู่ข้างใน หยุดได้แล้ว พวกเราถูกเขาหลอกมานานแล้ว ของจริงไม่ใช่แบบนั้น เขาหลอกเราทั้งหมดเลย เขามีเบื้องหลังที่มีผลประโยชน์ เขาใช้เราเป็นเครื่องมือเท่านั้น"

"เมื่อเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ผมคิดว่าเป็นโครงการที่ดี ให้โอกาสกับคนที่หลงผิดได้กลับใจ แต่ถ้าจะให้ดีกว่านี้ เจ้าหน้าที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นมากกว่าที่เป็นอยู่ ต้องทำให้คนในขบวนการที่ลังเลใจได้เห็นและเชื่อมั่นจนยอมออกมาร่วมโครงการ ไม่ต้องหนีอีกต่อไป"

อดีตอาร์เคเครายนี้ ย้ำว่า ทุกวันนี้ได้อยู่กับครอบครัว กรีดยางตอนเช้า สายๆ ไปทำงานตัดผม ก็พอมีรายได้ สามารถดูแลครอบครัวให้อยู่ดีกินดีกว่าตอนที่หลบหนี จึงอยากฝากบอกคนที่ยังอยู่ข้างใน หรือยังลังเล ให้เข้าร่วมโครงการ จะได้ไม่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนเดิมอีก

ยะฟาร์ ยะโก๊ะ กำนันตำบลบาละ อ.กาบัง บอกว่า อาร์เคเครายนี้เป็นตัวจริง มีคดีติดตัว 2 คดี และตนเป็นเบอร์ 1 ที่เขาต้องการเอาชีวิต ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาได้พยายามช่วยเจรจามาตลอด ให้ออกมามอบตัว กระทั่งแม่ของเขาป่วย เขาจึงตัดสินใจ

เป้าหมายของขบวนการก่อความไม่สงบ ไม่ใช่แค่ต่อสู้กับรัฐ แต่ยังจัดการคนที่ทำตัวขัดขวาง และยังมีเป้าหมายยึดกุมเก้าอี้การเมืองท้องถิ่นอีกด้วย

"ผมเป็นเบอร์ 1 ที่ขบวนการต้องการ เพราะไม่ได้เป็นแค่กำนัน แต่ยังช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามขบวนการมาตั้งแต่ปี 2538 แรกๆ ก็สู้กับบีอาร์เอ็น จากนั้นก็อาร์เคเค จนไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายเพื่อจะหาแนวทางให้สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ก็เลยมาคุยถึงแนวทางให้เข้ามอบตัว ในพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบมีบุคคลเป้าหมาย 2 คนที่หลบหนีออกจากพื้นที่"

"ผมไปคุยกับครอบครัวของพวกเขา แรกๆ เขาหันหลังทันทีเมื่อผมคุยเรื่องมอบตัว ก็ทำบ่อยๆ จนกระทั่งแม่ของ 1 ใน 2 คนนี้ไม่สบาย ทำให้เขาตัดสินใจมอบตัว ตอนนี้กำลังพยายามติดต่ออีกคนหนึ่ง ยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ถ้าเราสามารถสร้างความปลอดภัย สร้างอาชีพ สร้างความเชื่อมั่นได้ คนอื่นๆ ก็จะออกมา ล่าสุดแม่ของอาร์เคเคอีกคนมาถามว่า ถ้าลูกเข้ามอบตัวจะถูกจับไหม คิดว่านี่คือสัญญาณที่ดี"
กำนันยะฟาร์ บอกด้วยว่า เรื่องความปลอดภัย อาชีพ และการได้ประกันตัว เป็น 3 เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้คนออกมามอบตัว หากรัฐทำได้ ก็จะมีคนยอมมอบตัวอีกจำนวนมาก
----------------

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น