หน้าเว็บ

2/16/2560

“โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา”จำเป็นต้องสร้างจริงหรือ!!

"Ibrahim"

รัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังผลักดันให้เกิด โครงการไฟฟ้าถ่านหินเทพาหรือที่เรียกว่า โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดซึ่งมีการกำหนดพื้นที่ก่อสร้างใน อ.เทพา จ.สงขลา

โครงการไฟฟ้าถ่านหินเทพาหรือที่เรียกว่า โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดประกอบด้วยโครงการ 2 ส่วนด้วยกัน กล่าวคือ ส่วนของท่าเทียบเรือสำหรับการขนส่งถ่านหิน และส่วนของโรงงานผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีจำนวน 2 โรงด้วยกัน

ในขณะที่รัฐบาลเดินหน้าชี้แจงให้เห็นความสำคัญและเหตุผลในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา ต้องยอมรับเลยว่า
ย่อมไม่ราบรื่น และคงเป็นเช่นเดียวกับโครงการห่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคอื่นๆ หรือแม้กระทั่งท่าเทียบเรือขนถ่านถ่านหินที่ จ.กระบี่ ที่มีผู้เห็นด้วย และเห็นต่างได้มีการเคลื่อนไหว ซึ่งมีให้เห็นมาโดยตลอด

ท่ามกลางความเห็นต่างของฝ่ายต่อต้าน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชน ผู้ที่ถูกกำหนดว่าเป็น ผู้ที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย ในพื้นที่ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดแค่ไหน!!

สิ่งที่ตามมาของโครงการที่เป็นเรื่องของ พลังงาน” ไม่ว่าเป็นเรื่องของไฟฟ้า หรือเรื่องของก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันที่เคยเป็นบทเรียนในอดีตจะมี ความจริง เกิดขึ้น 2 ด้านเสมอ

ด้านแรกคือ ความจริงจากเจ้าของโครงการ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือฝ่ายของรัฐบาล ซึ่งมักถูกกล่าวหาจากกลุ่มเห็นต่างว่า ความจริง ไม่ได้กล่าวถึงทั้งหมดเป็นแค่บางส่วนหรือ บิดเบือน เพื่อประโยชน์ของเจ้าของโครงการ

ส่วน ความจริง ของกลุ่มเห็นต่างหรือฝ่ายต่อต้าน คือ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ รวมถึงบรรดานักวิชาการที่มีความรู้ในเรื่องของพลังงานที่มีความเห็นต่าง ซึ่ง ความจริง ของคนเหล่านี้จะ เห็นต่างโดยสิ้นเชิงกับ ความจริง ของเจ้าของโครงการ และรัฐบาล

แต่ปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด” ที่ อ.เทพานั้น พลังการต่อต้านจะมากกว่าที่อื่นๆ เพราะในอดีตประชาชนในพื้นที่เหล่านี้เคยต่อต้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย หรือที่วันนี้เรียกกันสั้นๆ ว่า บริษัททีทีเอ็มมาแล้ว ถึงขนาดการใช้วาทกรรมว่า มึงสร้าง กูเผา รวมทั้งการต่อต้านโรงไฟฟ้าจะนะที่ผ่านมา

ผู้เขียนอยากจะให้เห็นภาพรวมของการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้กันดูว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือ โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ที่ อ.เทพานั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือรัฐบาลมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน!! ที่จะต้องดำเนินการก่อสร้าง...

ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ในปี พ.ศ. 2562

ข้อถกเถียงสำคัญประการหนึ่งในความขัดแย้งเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ที่ จ.กระบี่ และที่ อ.เทพา จ.สงขลา คือ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ เพราะกำลังการผลิตสำรองในภาพรวมของทั้งประเทศในระยะ 10 ปีที่จะถึงนี้จะเหลือเกิน (ร้อยละ 30-40 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด) กว่ามาตรฐานในการวางแผนระบบไฟฟ้ามาก (ค่ามาตรฐานคือร้อยละ 15) ดังนั้น ข้อถกเถียงจึงมุ่งเป้ามาที่ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้เป็นสำคัญ


ทาง กฟผ. มีความเป็นห่วงว่า ระบบไฟฟ้าของภาคใต้จะไม่มั่นคงในปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น บทความนี้จึงจะฉายภาพระบบไฟฟ้าของภาคใต้ ทั้งกำลังการผลิตและความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2562 (หรืออีก 4 ปีข้างหน้า) เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญสำหรับการถกเถียงกันในเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป

ในปีพ.ศ. 2562 ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 3 โรงคือ โรงไฟฟ้าจะนะ 1 (710 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าจะนะ 2 (800 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้าขนอม (930 เมกะวัตต์ ซึ่งจะแล้วเสร็จแล้วใช้ทดแทนโรงไฟฟ้าขนอมเดิมในปี พ.ศ. 2559) รวมทั้งหมดมีกำลังการผลิต 2,440 เมกะวัตต์ ถือเป็นกำลังหลักของกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้

ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่งคือ เขื่อนรัชประภา (240 เมกะวัตต์) เขื่อนบางลาง (72 เมกะวัตต์) และเขื่อนบ้านสันติ มีกำลังการผลิตติดตั้ง 313 เมกะวัตต์ ไม่รวมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก

ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล 2 โรงคือ โรงไฟฟ้าน้ำมันเตากระบี่ (340 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้ากังหันแก๊สสุราษฎร์ธานี (234 เมกะวัตต์) รวมกัน 2 โรงเท่ากับ 574 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งมักจะเดินเครื่องเป็นโรงไฟฟ้าเสริม เพราะมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูง แต่ยังสามารถใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นได้

ภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ขายเข้าระบบแล้ว 221 เมกะวัตต์ (จากกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 249 เมกะวัตต์ เพราะบางส่วนจะใช้ในโรงงานของตนเอง) รวมกับที่ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วอีก 284 เมกะวัตต์ รวมเป็นการคาดการณ์กำลังการผลิตที่ขายเข้าระบบ 505 เมกะวัตต์ (ไม่ได้รวมผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็นสัญญารับซื้ออีก 197 เมกะวัตต์ ถ้ารวมด้วยกำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 702 เมกะวัตต์) (หมายเหตุ ข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ณ เดือนกรกฎาคม 2558)

เมื่อรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก 4 แหล่งเข้าด้วยกัน ภาคใต้จะมีกำลังการผลิตในระบบทั้งหมดในปีพ.ศ. 2562 เท่ากับ 3,832 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ภาคใต้ยังมีระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์จากภาคกลางที่ใช้งานอยู่แล้วในปัจจุบันหนึ่งวงจร (ส่งไฟฟ้าได้ 650 เมกะวัตต์) และที่กำลังดำเนินการสร้างใหม่อีก 500 กิโลโวลท์ (ส่งไฟฟ้าได้ 650 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2562) และสายส่งเชื่อมโยงไทย-มาเลเซีย ซึ่งส่งไฟฟ้าได้อีก 300 เมกะวัตต์ รวมระบบสายส่งที่มาช่วยเสริมหนุนกำลังการผลิตในพื้นที่ได้อีก 1,600 เมกะวัตต์ (แต่ยังมิได้รวมเข้าไว้ในกำลังการผลิตของภาคใต้ เพราะถือเป็นส่วนเสริม)

ในด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปีพ.ศ. 2557 เท่ากับ 2,468 เมกะวัตต์ โดยจังหวัดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้แก่ สงขลา (482 เมกะวัตต์) สุราษฎร์ธานี (370 เมกะวัตต์) ภูเก็ต (359 เมกะวัตต์) และนครศรีธรรมราช (331 เมกะวัตต์) ตามลำดับ โดย 4 จังหวัดนี้ ใช้ไฟฟ้ารวมกันเท่ากับ 62.5% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดทั้งภาค

จังหวัดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุดคือ นราธิวาส (71 เมกะวัตต์) สตูล (56 เมกะวัตต์) และระนอง (48 เมกะวัตต์) ข้อมูลความต้องการไฟฟ้าสูงสุดนี้ได้จากฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ต่อมาจึงเป็นการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ในปีพ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 5.7% ตามแนวโน้มที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้ในปีพ.ศ. 2562 จะเท่ากับ 3,256 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจะมีการปฏิบัติตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป้าหมายในการอนุรักษ์พลังงานของภาคใต้ในปีพ.ศ. 2562 เท่ากับ 170 เมกะวัตต์ ฉะนั้น หากภาคใต้ดำเนินการได้สำเร็จตามเป้าหมาย ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ในปีพ.ศ. 2562 ก็จะลดลงเหลือ 3,086 เมกะวัตต์

จากกำลังการผลิตทั้งหมดของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ 3,832 เมกะวัตต์ (ไม่รวมระบบสายส่ง) และความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้ 3,256 เมกะวัตต์ (ไม่หักลดการอนุรักษ์พลังงาน) ในปีพ.ศ. 2562 กำลังการผลิตสำรองทั้งหมดของภาคใต้จะเท่ากับ 576 เมกะวัตต์ หรือเท่ากับร้อยละ 17.7 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด โดยไม่รวมการเสริมหนุนจากระบบสายส่ง

แต่หากเราหักลดการอนุรักษ์พลังงานตามแผนฯ ด้วย (ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเหลือ 3,086 เมกะวัตต์) ภาคใต้จะมีกำลังการผลิตสำรองเป็น 746 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด แม้ว่า โดยทั่วไปในการวางแผนระบบไฟฟ้าของไทย เราจะถือว่า ระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคงเมื่อมีกำลังการผลิตสำรองเกินกว่าร้อยละ 15

ผู้เขียนเชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ หรือแม้แต่คนไทยทุกคนในภูมิภาคอื่นๆ คงไม่ขัดขวางในเรื่องของความจำเป็นของพลังงาน เพราะรู้ว่าความมั่นคงทางพลังงานเป็นความจำเป็น ทั้งในวันนี้ และในวันหน้า โดยเฉพาะกับพื้นที่ของภาคใต้ที่จะต้องมีความเสถียรของพลังงานรองรับการเจริญเติบโตของบ้านเมืองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในอนาคต

วันนี้ เราต้องการความมั่นคงในด้านพลังงาน เพื่อการพัฒนาประเทศ ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทย พ.ศ.2558 - 2563 มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในระยะ 5 ปี นับจากนี้ไป.

----------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น