หน้าเว็บ

1/24/2555

บิดเบือนป้ายสี นี่หรือสื่อมวลชนอินโดนีเซีย



การสังหารมุคตาร์ กีละ นักการเมืองที่มีทีท่าอนาคตไกลด้วยนโยบายพรรคการเมืองของชาวมลายู เพื่อคนมลายู ซึ่งมีที่มาไปอย่างชัดเจนและเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าการลอบสังหารเขามีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในเรื่องการเมืองเชิงสร้างสรรค์ที่เขาพยายามอย่างที่สุดที่จะทำให้เกิดมีขึ้นใน จชต. บวกรวมไปกับเรื่องความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อเหตุรุนแรงที่กำลังสร้างบาปกรรมให้กับประชาชนใน จชต. อย่างไม่หยุดหย่อนในทุกวันนี้ นอกเหนือจากการความพยายามที่จะใส่ร้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการวางแผนเป็นอย่างดี แต่ต้องมีอันล้มลงอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากคนร้ายที่ลอบสังหารมุคตาร์ กีละ ถูกชุดคุ้มครองหมู่บ้านยิงตอบโต้จนเสียชีวิต 2 ราย ซึ่งยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเป็นกลุ่มก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ที่ก่อเหตุร้ายมาอย่างโชกโชน รวมถึงกรณีรุมทำร้ายผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างครูจูหลิงอย่างทารุณจนเสียชีวิตที่กลายเป็นตำนานความโสมมและติดตรึงอยู่ในใจคนทั่วโลกจนถึงขณะนี้

ล่าสุดมีการกล่าวอ้างอย่างขาดจรรยาบรรณของสื่อมวลชนอินโดนีเซียที่ประโคมข่าวการสังหารมุคตาร์ กีละว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือแปลตรงๆ ว่าเจ้าอาณานิคมไทย ทั้งๆ ที่รู้ดีจากการชี้แจงและให้ข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาของรัฐบาลไทยว่าคนร้ายที่เสียชีวิตจากการตอบโต้ของชุดคุ้มครองหมู่บ้านเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการและมีเจตนาป้ายสีโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่รัฐ การนำเสนอข่าวสารดังกล่าวจึงไม่สามารถมองเป็นอย่างอื่นได้นอกจากจะมีเจตนาแอบแฝงบางประการซึ่งก็ฟันธงได้เลยว่าเป็นการสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่กำลังกระทำทารุณกรรมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อยู่ในขณะนี้ แล้วเหตุผลใดล่ะที่สื่อมวลชนอินโดนีเซียต้องส่งเสริมกลุ่มคนที่ก่อเหตุร้ายนี่เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ และรัฐบาลอินโดนีเซียต้องตอบมายังรัฐบาลไทยอย่างชัดเจนด้วยว่าเหตุใด

การให้การสนับสนุนด้วยการบิดเบือนข่าวสารและเผยแพร่อย่างไร้จรรยาบรรณครั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมากจากการที่รัฐบาลอินโดนีเซียสนับสนุนให้มีการประชุมของกลุ่มขบวนการพูโล ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ก่อเหตุร้ายในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยมาโดยต่อเนื่องอย่างเปิดเผยและมีการนำเสนออย่างกว้างขวางโดยสื่อมวลชนอินโดนีเซียในเว็บไซต์ “ซัวรา อิสลาม ด็อตคอม” http://www.suara-islam.com/ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการนำเสนอบิดเบือนได้อย่างน่าสะอิดสะเอียนว่าทางการไทยใช้วิธีเข่นฆ่าประชาชน ลิดรอนสิทธิมุนษยชนทุกวิถีทางเพื่อดำรงความเป็นเจ้าอาณานิคม ซึ่งการนำเสนอในลักษณะนี้สำหรับในโลกปัจจุบัน ในโลกที่มีการมุ่งเน้นและพัฒนาความรู้ จริยธรรมและจิตใจคนเป็นอย่างดีไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ที่เจริญแล้วย่อมต้องสำนึกได้ว่าสิ่งที่ได้ทำไปมันถูกต้องตามครรลองหรือมันผิดแต่อยากจะทำ คงเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าน่าสงสารที่เอาคนมีปัญญาแค่หางอึ่งมาเป็นปากเป็นเสียง ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ด้วยปลายปากกา

ความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะสร้างความสงบสุข สร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ลองถามคนในพื้นที่ดูก็จะรู้ว่าเขารับทราบเป็นอย่างดีถึงความจริงใจ มุ่งมั่นของรัฐบาลไทยและทำมาโดยต่อเนื่อง มุ่งหวังเพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองอันเป็นที่รัก การเข้ามาก้าวก่ายป้ายสีในลักษณะนี้ถือว่าล้ำเส้นในฐานะเพื่อนบ้านหรือไม่ จริงอยู่ว่าสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ให้มวลชนรับทราบแต่การนำเสนอโดยไม่รับผิดชอบก็เป็นเรื่องน่าขยะแขยงของคนที่ได้รับเกียรติทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้านหรือ watch dog  น่าจะลืมไปแล้วหรือยังถึงหน้าที่ที่ตนควรทำ


กรณีการบิดเบือนข่าวการลอบสังหารนายมุคตาร์ กีละ ในประเทศไทยน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ชี้วัดให้เห็นว่ามาตรฐานของสื่อมวลชนอินโดนีเซียอยู่ในระดับไหน โลกเค้าไปถึงไหนแล้วอย่าดักดาน เห็นแก่พวกพ้องโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่ควรจะเป็นอยู่เลย มองภาพของความเป็นจริง พิจารณาถึงสิ่งที่ควรทำแล้วมาร่วมมือกันสร้างสันติภาพในภูมิภาคบ้านเราดีกว่ามั้ย หรือว่าความคิดดีๆ แบบนี้ไม่เคยมีในใจมาก่อนเลย

1/23/2555

This is an Indonesian mass media.



This is an Indonesian mass media.
The killing of Mr.Mukta Kela who will be a great politician in the future life, with the policy of “ political of Malayan for Malayan” It was cleared to all that his murdered was cause of controversy from his political policy effort will create such a good will to the people in southern provinces of Thailand. He also had controversy among his friends with the same ideology those involving with the rioters movement and make bad sin to the southern people of Thailand ,and the plan to try convey guilty to the Thai official will collapse.  At the assassinated Mr.Mukta Kela site , the village protection force had fired back and kill 2 persons those identified who created a lot of problems in the area and they also killed a small lady teacher Ms. Juling with harrow murder which was the  bad legend known in worldwide.
Finally the garble of the Indonesian mass media quoted that Mr.Mukta Kela was killed by Thai forces, even though the 2 of the rioters were killed at the site. The Indonesian medias made this news up is just to garble to make miss understanding to their people, in the other hand, no doubt to identify that they support the riot movement in the south of Thailand. In this case the Indonesian government should have clearly answer to Thai government. To support the garbling the mass media without ethics like this, or because Indonesian support the meeting of Pulo movement. The Pulo movement creating the unrest in the south of Thailand openly and continuously, together with bringing the news and cheerful of their activities in website www.suara-islam.com .   Last December they quoted that Thai kill the people and get rid of human right. Producing the news this way will not make believe to worldwide every country is watched, especially human right abuse. As so called civilized country should know it is right or wrong and more over, it will destroy the country relationship. 
 
Thai government is trying to keep peace in the area the effort is still continue. The garble information that some country is trying to involve by supporting mass media is unacceptable for the person who has an honor to be a “watch dog” might forget the mission.
In the case of gable the news of killing Mr.Mukta  Kela in Thailand  should be a case study of the standard of Indonesian mass media. Currently every country in the world should coordinate to create peace or you don’t have this in mind,do you?

1/20/2555

ปมฆ่ามุคตาร์ กีละ ขวางการเมืองขัดแย้งขบวนการ แผนอุบาทว์ป้ายสีรัฐ


ถึงชั่วโมงนี้การสังหารมุคตาร์ กีละ นักการเมืองไฟแรงที่มีแนวโน้วจะก้าวขึ้นมาสู่เวทีการเมืองระดับชาติ ก็มีอันต้องจบชีวิตลงด้วยฝีมือของกลุ่มบุคคลที่เคยร่วมอุดมการณ์ คงเป็นประเด็นที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานาว่า อะไรคือเหตุผลซึ่งนำไปสู่การสังหารเขาในครั้งนี้ ชนวนฆ่าเกิดจากเรื่องการเมืองหรือความเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อเหตุร้ายใน จชต. หรือใครคือผู้บงการ ตรงนี้สามารถวิเคราะห์ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างชัดเจน และที่แน่ๆ การสังหารมุคตาร์ครั้งนี้มีการวางแผนมาเป็นอย่างดีและไม่เพียงต้องการให้เขาจบชีวิตลงเท่านั้น การตายของเขายังได้ถูกเตรียมการที่จะนำมาเชื่อมโยงให้เกิดกระแสการประท้วงเพื่อสร้างเรื่องให้เกิดการเข้าใจผิดระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
พรรคประชาธรรม ทางเลือกใหม่ตัดทางกลุ่มอำนาจเดิม
มุคตาร์ กีละ ถึงแม้ว่าจะมีบทบาทโดดเด่นด้านการให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยการจัดตั้งมูลนิธิอาสาสมัครให้การบริการสาธารณะกุศล จนมีเครือข่ายจากกลุ่มองค์กรต่างๆ มากมาย แต่เมื่อเข้ามาต่อสู้ทางการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติในช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้รับการเลือกตั้ง จนเมื่อมาก่อตั้งพรรคประชาธรรมและส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการชูธงการเป็นพรรคการเมืองของชาวมลายูเพื่อชาวมลายู และสุดท้ายถึงแม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ก็สร้างกระแสทางการเมืองของประชาชนเชื้อสายมลายูใน จชต. ได้เป็นอย่างที่ดี ที่สำคัญพรรคประชาธรรมได้ทำให้ส่วนแบ่งคะแนนเสียงของพรรคใหญ่พรรคหนึ่งตกลงไปจนแพ้การเลือกตั้ง นี่ถือเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งทางการเมืองของ 2 กลุ่มให้เริ่มร้อนแรงขึ้น
เดินหน้าตามแนวทางสันติ หักเหลี่ยมขบวนการ
เป็นที่รู้กันดีว่ามุคตาร์ กีละ หลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศก็ได้ใช้ความรู้ด้านกฏหมายให้การช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุในพื้นที่ จชต. โดยทางวงในของเจ้าหน้าที่ก็ทราบดีว่าเขามีส่วนร่วมกับขบวนการ ต่อมาได้เริ่มเข้าสู่สนามการเมืองโดยการสนับสนุนของนักการเมืองที่มีบทบาทสูงทั้งทางการเมืองในขณะนั้นและมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังขบวนการ และภายหลังได้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ การเมือง และส่วนหนึ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ การชิงไหวชิงพริบเพื่อแสดงบทบาทการเป็นผู้นำทางการเมืองของขบวนการก่อเหตุรุนแรง ประกอบกับมุคตาร์ กีละ มีแนวทางต่อสู้ที่แตกต่างกล่าวคือ ขบวนการนิยมความรุนแรงเพื่อควบคุมมวลชน แต่มุคตาร์ฯ นิยมการต่อสู้ตามแนวทางสันติ ทำให้เขาต้องแยกตัวมาดำเนินการทางการเมืองตามแบบของตัวเอง นอกจากนั้นยังมีบทบาทในการชักชวนแกนนำของขบวนการให้เข้ามาต่อสู้ร่วมกันแบบสันติวิธี นี่อาจเป็นสาเหตุให้ขบวนการเริ่มเพ็งเล็ง และกลัวว่าจะสูญเสียมวลชน สูญเสียผลประโยชน์ที่จะได้รับทั้งจากธุรกิจผิดกฏหมายที่อาจต้องหยุดชะงัก รวมทั้งเงินสนับสนุนจากต่างประเทศที่อาจต้องลดจำนวนลงหากเปลี่ยนแนวทางต่อสู้ การเร่งกำจัดมุคตาร์ กีละ จึงเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมก่อนที่จะสายเกินแก้
ผสานสองประเด็น ตัวเร่งจุดแตกหัก
อีกชนวนเหตุที่สำคัญคือ ภายหลังจากความขัดแย้งหลายด้านกับนักการเมืองขาใหญ่คนหนึ่งในนราธิวาส ที่ปัจจุบันต้องลดบาทตัวเองลงเนื่องจากสอบตกจากการเลือกตั้งคราวที่แล้วเพราะผลกระทบจากปรากฏการณ์ พรรคประชาธรรมซึ่งสร้างความบาดหมางมาแล้วแต่ต้น  ความขัดแย้งยิ่งปรากฏซ้ำเหมือนเติมเชื้อฟืนเข้ากองไฟเพราะเมื่อนักการเมืองคนนั้นประกาศจะลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส  มุคตาร์ กีละ ก็ได้ออกมาประกาศเช่นเดียวกันว่า หากนักการเมืองนั้นลงสมัคร เขาก็จะลงสมัครเพื่อรับเลือกตั้งด้วยเช่นกัน การออกมาท้าท้ายครั้งนั้นยิ่งสร้างรอยร้าวลึกระหว่างคนทั้งสองให้มากยิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่าทั้งสองจะเคยมีความสนิทสนม เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกันมาอย่างยาวนาน แต่เรื่องของการเมืองนั้นใครก็รู้ว่า ฐานใครแน่นกว่าถึงจะผงาดขึ้นมาได้ ประกอบกับกระแสความนิยมที่ดีวันดีคืนของมุคตาร์ฯ อาจส่งผลทำให้นักการเมืองที่เพิ่งตกกระป๋องมาหมาดๆ ต้องอกหักซ้ำสอง แม้ว่าจะเป็นเพียงเวทีระดับจังหวัด ซึ่งหากเขาพ่ายแพ้จริงๆ แน่นอนว่าเส้นทางสายการเมืองของเขาคงต้องหริบหรี่ลงไปอีก ความขัดแย้งครั้งนี้บวกกับแนวทางการต่อสู้ที่ขัดกับขบวนการของมุคตาร์   จึงเป็นตัวเร่งให้จุดแตกหักเดินทางมาถึงเร็วขึ้น
ขอยืมมือขบวนการในอาณัติ ไม่ต้องสงสัยว่าใครสั่งเก็บ ฟันธง
เมื่อการล้ำเส้นขบวนการและความขัดแย้งระหว่างบุคคลถึงจุดสุกงอม การปล่อยให้มุคตาร์ฯ ยังดำเนินกิจกรรมต่อไปย่อมก่อผลเสียในหลายด้าน แผนการสังหารมุคตาร์ กีละ จึงถูกกำหนดขึ้นในคืนวันที่ 15 ธ.ค.54 โดยใช้กลุ่มกำลัง ที่อยู่ภายใต้การควบคุมและการดูแลช่วยเหลือของนักการเมืองอดีตเพื่อนซี้ของมุคตาร์ ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ บ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ  จ.นราธิวาส มีการประสานงานกันอย่างสอดคล้องทั้งผู้ที่คอยให้สัญญาณระหว่างมุคตาร์ไปดื่มน้ำชาและกำลังเดินออกจากบ้านเพื่อนบ้าน จนคนร้ายจำนวน 4 คน สามารถเข้ามาสังหารมุคตาร์ได้ต่อหน้าต่อตาเพื่อนบ้านที่เดินออกมาพร้อมกันอีก 3 คนได้โดยมุ่งเป้าไปที่มุคตาร์คนเดียวเท่านั้น ไม่ได้ทำร้ายคนอื่นๆ แล้วจึงขับรถจักรยานยนต์หลบหนี จนเกิดการปะทะกับชุดคุ้มครองหมู่บ้านทำให้คนร้ายเสียชีวิต 2 คน พร้อมอาวุธปืน 2 กระบอกที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วเป็นปืนที่ปล้นมาจากค่ายพระองค์ดำและยึดมาจากการโจมตีทหารพรานเมื่อปี 54 ซึ่งสามารถชี้ชัดได้ว่าการนำอาวุธที่ปล้นได้ไปในครั้งนั้นมาก่อเหตุ คนในขบวนการเท่านั้นที่สามารถนำออกมาใช้ปฏิบัติการได้ ดังนั้นงานนี้จึงเกี่ยวข้องกับขบวนการอย่างแน่นอน ที่สำคัญทั้ง 2 คนยังเป็นแนวร่วมระดับปฏิบัติการในพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ ซึ่งนักการเมืองคนหนึ่งซึ่งรู้กันทั่วไปว่าเป็นใครมีอิทธิพลและให้การช่วยเหลือดูแลมาโดยตลอดในห้วงที่ผ่านมาอีกด้วย
มือสังหารเป็นหลานมุคตาร์
คนร้าย 2 คนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ได้รับการยืนยันจากชาวบ้านในตำบลข้างเคียงและผู้นำศาสนาใน      จ.นราธิวาส ว่า 1 ใน 2 คนร้ายที่เสียชีวิต คือ นายดอรอโอ๊ะ ปิเย๊าะ มีศักดิ์เป็นหลานชายของนายมุคตาร์เอง และยังเคยเป็นจำเลยในคดีที่สร้างประวัติศาสตร์โสมมซึ่งคนไทยไม่เคยลืมคือการรุมทำร้ายครูจูหลง ปงกำมูล จนเสียชีวิต และยังเกี่ยวข้องกับคดียิงเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ แต่ศาลยกฟ้อง เพิ่งได้รับการปล่อยตัวไม่นานนี้เอง จากนั้นก็มาก่อเหตุสังหารนายมุคตาร์ ซึ่งมุคตาร์นั้นมีความรู้ทางกฎหมาย และได้ให้ความช่วยเหลือนายดอรอโอ๊ะหลานชายเรื่องคดีในช่วงก่อนหน้านี้ด้วยจนหลุดคดี แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มาก่อเหตุยิงนายมุคตาร์ ย่อมแสดงให้เห็นว่าช่วงเวลาระหว่างนั้นมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าขบวนการอาจให้ข่าวกับนายดอรอโอ๊ะว่า การที่มุคตาร์ช่วยเหลือจนหลุดพ้นคดีมาได้นั้น เพราะต้องการขยายผลไปสู่การจับกุมคนอื่นๆในพื้นที่ต่อไป ทำให้เกิดการตัดสินใจร่วมกับพวกสังหารมุคตาร์ ซึ่งแม้ความสัมพันธ์ในฐานะเป็นญาติกันก็ไม่อาจช่วยได้
อย่าให้ตายเปล่า แผนชั่วป้ายสีเจ้าหน้าที่รัฐ
การสังหารนายมุคตาร์ในครั้งนี้ เป็นที่รู้กันว่าขบวนการได้วางแผนใส่ร้ายว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ เพราะก่อนเกิดเหตุ 2-3 วัน ได้มีการปล่อยข่าวในพื้นที่ว่าทหารพรานจะสังหารมุคตาร์ จนภายหลังการลอบสังหารและคนร้ายที่ยิงมุคตาร์ถูกชุดคุ้มครองหมู่บ้านยิงเสียชีวิต 2 ราย และหนึ่งในสองคนร้ายก็สวมเสื้อยืดลายพรางคล้ายทหารด้วย นอกจากนั้นระหว่างที่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าคนร้ายทั้ง 2 คนเป็นใคร ก็มีชาวบ้านมาพูดว่าคนตายเป็นทหารพราน และทหารพรานยิงมุคตาร์ ซึ่งข่าวลือนี้ได้แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วจนมีชาวบ้านพร้อมรถยนต์พยายามจะเข้าไปในจุดเกิดเหตุแต่ถูกเจ้าหน้าที่กั้นเอาไว้ ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งเป็นคนของพรรคประชาธรรมก็กำลังจะเตรียมแห่ศพของมุคตาร์เพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐในตอนเช้า จนเมื่อมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และยืนยันอย่างชัดเจนว่าคนตายเป็นคนที่อยู่ในบ้านกูจิงลือปะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แผนชั่วร้ายนั้นก็มีอันต้องจบลง โชคยังดีที่ชุดคุ้มครองหมู่บ้านสามารถตอบโต้จนคนร้ายตาย ไม่อย่างนั้นก็คงเข้าทางของขบวนการแบบที่เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ที่นอกจากจะกำจัดมุคตาร์ได้แล้วยังสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวสร้างความขัดแย้งของมวลชนขนาดใหญ่ตามสไตล์ความเลวไม่มีที่ติของขบวนการด้วย
การตายของนายมุคตาร์ กีละในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเสียบุคคลที่มีความจริงใจเพื่อพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมลายูใน จชต. เท่านั้น แต่อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญและทำให้ความเป็นไปของปัญหาความรุนแรงใน จชต. มีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากนี้ ทั้งด้านการเมืองของคนมลายูมุสลิมที่เขาสร้างแนวทางไว้ รวมทั้งการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐและกลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงที่นายมุคตาร์เคยมีบทบาทสำคัญในความพยายามที่จะเป็นตัว เชื่อมประสาน คนของพรรคประชาธรรมซึ่งเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์และยึดถือแนวทางเดียวกันกับมุคตาร์เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ รวมถึงคนอื่นๆ ที่ต้องการเปลี่ยนแนวทางมาต่อสู้แบบสันติวิธีเท่านั้นที่จะสืบสานเจตนารมณ์ของมุคตาร์ กีละ ชะตากรรมและความหวังของชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนความสงบสุขใน จชต. จะเกิดมีขึ้นได้ด้วยแนวทางทางการเมืองเชิงสันติหรือไม่  ขึ้นอยู่กับพวกท่านแล้ว อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่....เท่านั้น

1/18/2555

ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ใครได้ (เสีย) ประโยชน์

        
          จากการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงก่อเหตุร้ายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่เลือกหน้าแบบรายวัน   ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน   รัฐบาลจึงประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งต่อการป้องกันและปรับเปลี่ยนทัศนคติให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง  เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  ซึ่งเป็นการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง  ให้มีอำนาจในการจับกุม/ควบคุม โดยขออำนาจจากศาลได้คราวละไม่เกิน ๗ วัน  ถ้าจำเป็นต้องขยายเวลาการควบคุมเพื่อพิสูจน์ทางพยานหลักฐาน สามารถกระทำได้ครั้งละไม่เกิน ๗ วัน  รวมเวลาในการควบคุมได้ไม่เกิน ๓๐ วัน  ถึงแม้ว่าบทบัญญัติในกฏหมายจะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปทำการซักถามได้ก็ตาม  แต่ต้องได้รับอนุมัติจากศาลก่อนมิใช่ดำเนินการตามอำเภอใจ  ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับการอบรมให้ใช้กฏหมายเท่าที่จำเป็น  และต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน  รวมถึงต้องคำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกเชิญตัวและมุ่งหวังเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า ๒ ล้านคนเป็นหลัก 
           ในความเป็นจริงแล้ว  การเชิญตัวโดยใช้กฎหมายพิเศษหรือ พรก.ฉุกเฉินเป็นกฏหมายทางเลือก  เพื่อเปิดช่องทางในการพูดคุย ทำความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือถูกพาดพิงว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงเพื่อหาข้อเท็จจริง  หากพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็สามารถปล่อยตัวกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ  ทดแทนการใช้ ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งอาจต้องถูกดำเนินคดี   ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาการใช้ พรก.ฉุกเฉินได้ช่วยให้บุคคลไม่ต้องรับโทษแล้วหลายราย  นอกจากนี้ยังช่วยให้การติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดมารับโทษสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งหากมองในมุมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นหากมีการใช้ พรก.ฉุกเฉิน ต่อไป  จะเป็นเหมือนมีกำแพงที่คอยขวางกั้นและจำกัดเสรีในการปฏิบัติของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นประชาชนบริสุทธิ์ทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องย่อมไม่มีผลกระทบกับการดำรงชีวิตอย่างแน่นอน
            จากข้อเท็จจริงข้างต้นจึงกลายเป็นคำถามว่า  การที่องค์กรภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ได้รณรงค์ปลุกกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้    ตามที่ปรากฏบนภาพข่าวทั้งบนเว็บไซต์, สิ่งพิมพ์ และการจัดประชุมเสวนาโดย องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่จังหัวดชายแดนภาคใต้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง รวมทั้งมีความพยายามในการนำเข้าไปสู่การเขียนรายงานประเทศไทยนำเสนอต่อองค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ  ซึ่งเนื้อหาเป็นการนำเสนอข้อมูลบางด้านโดยการบิดเบือนข้อเท็จจริง  เพื่อสร้างผลกระทบต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทย โดยการนำเสนอในเรื่องผิดพลาดในอดีต เช่น กรณีตากใบ กรือเซะ   ซึ่งหากมองว่าองค์กรเหล่านี้ทำเพื่อประชาชนแล้ว  การออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินทั้งๆ ที่รู้ดีว่าหากมีการยกเลิกจะเกิดผลเสียกับประชาชนส่วนใหญ่  ซึ่งไม่รู้ว่ามีวัตถุประสงค์อื่นใดแอบแผงหรือไม่  ในฐานะพี่น้องที่รักสันติควรจะต้องติดตามกันต่อไป
  
             ล่าสุดองค์กรที่กล่าวอ้างว่าเป็นองค์กรที่ทำเพื่อประชาชนข้างต้นได้นำกรณี นายนิเซ๊ะ  นิฮะ ซึ่งถูกควบคุมตัวตาม พรก.ฉุกเฉิน กรณีมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน  ซึ่งปัจจุบันได้ถูกปล่อยตัวแล้วออกมาเรียกร้องต่อสาธารณะชน  โดยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใน 30 วัน พร้อมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ และให้หน่วยงานมีหนังสือยอมรับผิดต่อความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมทั้งให้รัฐชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ถูกควบคุมตัว   เหตุผลหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ  เพราะนายนิเซ๊ะ นิฮะ มีน้องชายชื่อ นายนิเซ็ง  นิฮะ  ซึ่งเป็นผู้ช่วยทนายอาสาของศูนย์ทนายความมุสลิม   มีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา  ทำให้ต้องเร่งออกมาสร้างกระแสกดดันโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามกระบวนทางกฏหมาย  ทั้งๆ ที่กล่าวอ้างตนว่าเป็นนักกฏหมาย  โดยแอบอ้างว่าเป็นความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่  ทั้งๆ ที่เป็นความเห็นของคนเพียงไม่กี่คนมาตีแผ่สร้างกระแสสังคม เพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตนเองนั่นเอง 
             การกล่าวอ้างถึงความล่าช้าในขั้นตอนการสอบสวนและกระบวนการศาลทำให้การให้ความช่วยเหลือของศูนย์ทนายความมุสลิมไม่สามารถทำได้เต็มที่  ดูจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ถูกนำมาบิดเบือน   หากพิจารณาในข้อเท็จจริงแล้วก็น่าเห็นใจมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่เป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ  และยังเป็นเด็กๆ ที่ด้อยประสบการณ์การทำงานในกระบวนการยุติธรรม  ที่พยายามยกระดับกลุ่มของตนขึ้นสู่เวทีระดับชาติ  สร้างเครดิตเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากส่วนงานต่าง ๆ  ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานตามอุดมการณ์จอมปลอมได้อย่างเต็มที่   ทั้งๆ ที่ศาลก็เปิดโอกาสให้การดำเนินการตามขั้นตอนเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยการเปิดศาลทั้ง 7 วันตลอดสัปดาห์  ซึ่งจากข้อเท็จจริงนี้จึงเห็นได้ว่าไม่ได้เกิดจากความล่าช้าหรือละเลยของกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างไร  หากแต่เป็นเพราะความไม่จริงใจในการช่วยเหลือประชาชนที่หลงผิดเข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการให้มีโอกาสหาทางออกทางกฏหมายตามที่รัฐเปิดโอกาสให้ใช้กระบวนการทางกฏหมายเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกกล่าวหาต่างหาก       
             อีกนัยหนึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อปี 2551   องค์กรเพื่อการพัฒนาประเทศของสหรัฐ หรือ USAID  ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 40 ล้านบาท   ตามโครงการ SPAN ซึ่งมีระยะเวลา 4 ปี เริ่มเมื่อ ก.พ.51 และจะสิ้นสุดโครงการใน ก.พ.55  โดยงบประมาณส่วนหนึ่งใช้ในทางเปิดโดยการจัดกิจกรรมในรูปแบบการชุมชน  เพื่อแสดงออกในภาพของการลงประชามติของสังคมต่อกรณีต่างๆ  ซึ่งก็ได้เปิดเวทีเสวนาและสื่อสารกับประชาชนหลายครั้ง  แต่มักเน้นกลุ่มเป้าหมายในสังคมชั้นนำและชั้นกลางทั้งในและต่างประเทศ   มากกว่าที่จะสื่อสารหรือเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนชั้นรากหญ้าได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของกระบวนการสันติภาพหรือเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองในอนาคต เช่น การเปิดเวทีเสวนาในโรงแรม สถาบันการศึกษา เชิญชวนประชาชนมารับฟังการพูดคุยโดยนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจแต่ผู้จัดสามารถบันทึกภาพและนำไปสร้างภาพการมีส่วนร่วมโดยรายงานกล่าวอ้างว่าเป็นความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่  เพื่อสร้างผลงานที่จะนำไปสู่การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อไป   แต่ในความเป็นจริงแล้ว  ด้วยพื้นฐานของกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเป็นศูนย์ทนายความมุสลิมนั้น  ไม่รู้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุรุนแรงที่กำลังก่อเหตุร้ายรายวันหรือไม่  เพราะเห็นว่าให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ก่อเหตุร้ายมากกว่าจะช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง  และแน่นอนว่า  หากการเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ  นอกจากศูนย์ทนายความมุสลิมจะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อแบ่งสันกันระหว่างพวกพ้องแล้ว  ยังจะทำให้เหตุการณ์ใน จชต. ยังคงความรุนแรงอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน
            จากข้อเท็จจริงข้างต้นคงพอที่จะตอบคำถามได้ว่า  การเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน หรือกฏหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคลที่แสร้งทำตัวอยู่ในคราบนักบุญ บิดเบือนสร้างภาพความเดือดร้อนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง  โดยไม่คิดถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ส่วนใหญ่ผู้ซึ่งมีสิทธิอันชอบธรรมในความเป็นมนุษย์ ที่จะดำรงชีวิตอยู่ในบ้านเกิดอย่างสงบสุขได้เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ  ซึ่งในการเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ในครั้งนี้ผู้เสียประโยชน์ก็คือประชาชนในจังหวักชายแดนภาคใต้นั่นเอง

คัดค้าน พรก.ฉุกเฉิน ใครได้ประโยชน์ ความจริงที่ต้องรู้

           ปัจจุบันการใช้กฎหมายพิเศษหรือ พรก.ฉุกเฉินซึ่งเป็นกฏหมายทางเลือกที่เปิดช่องทางในการพูดคุย ทำความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือถูกพาดพิงว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงเพื่อหาข้อเท็จจริง  ทดแทนการใช้ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งอาจต้องถูกดำเนินคดี   ที่รัฐบาลประกาศใช้อยู่ใน จชต. นอกจากจะช่วยให้การติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดมารับโทษสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็วแล้ว  ยังช่วยยืนยันความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกพาดพิงให้ไม่ต้องรับผิดหากพบว่าไม่เกี่ยวข้อง  โดยมุ่งหวังเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า ๒ ล้านคนเป็นหลัก  ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ทราบดีว่าไม่มีผลกระทบกับการดำรงชีวิตอย่างแน่นอนหากไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่

            แต่จากการที่องค์กรภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ได้รณรงค์ปลุกกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้    โดยจงใจนำเสนอข้อมูลบางด้านเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง  เพื่อให้ประชาชนและองค์กรนานาชาติกดดันรัฐบาลให้ยกเลิกการใช้ พรก.ฉุกเฉิน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกล่าวอ้างว่าเป็นองค์กรหลักที่ให้ความช่วยเหลือในคดีความมั่นคง  ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับขบวนการหรือผู้ก่อเหตุรุนแรงเกือบทั้งสิ้น  จากความพยายามดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายมองเห็นความสัมพันธ์กันระหว่างองค์กรเหล่านี้กับผู้ก่อเหตุรุนแรงได้อย่างชัดเจน  และทำให้เห็นว่าความจริงแล้วต้องการช่วยเหลือเฉพาะผู้กระทำผิดและผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตาม พรก.ฉุกเฉินเท่านั้น    มิได้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับในฐานะผู้มีสิทธิอันชอบธรรมที่ต้องการดำรงชีวิตอย่างสงบสุขเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
             ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ต.ค.๕๔ ที่ผ่านมา ได้มีประชาชนร้องเรียนมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเป็นเอกสารระบุว่า มีทนายความของศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานีเรียกรับเงินจากชาวบ้านเพื่อช่วยดำเนินการทางคดี   ไม่รับผิดชอบต่อลูกความ ผิดนัดศาล และไม่ช่วยยื่นเรื่องเพื่อดำเนินการทางคดีให้ลูกความ  ยิ่งเป็นสิ่งบ่งชัดขัดต่อคำกล่าวอ้างต่อสังคมว่าให้การช่วยเหลือประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  และพาดพิงถึงความล่าช้าในขั้นตอนการสอบสวนและกระบวนการศาลทำให้การให้ความช่วยเหลือของศูนย์ทนายความมุสลิมไม่สามารถทำได้   นี่ต่างหากที่เป็นธาตุแท้ที่แฝงอยู่ในอุดมการณ์แอบแฝง
             แม้การใช้ พรก.ฉุกเฉิน และกฏหมายพิเศษใน จชต. จะไม่สามารถทำให้เหตุการณ์ สงบลงได้โดยสิ้นเชิงในทันที  แต่หากลองนึกถึงภาพความเป็นไปในพื้นที่ถ้ามีการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ตามกระแสของกลุ่มคนซึ่งเป็นแนวร่วมที่แอบแฝงอยู่ในองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ที่พยายามทุกวิถีทางที่จะสนับสนุนการปฏิบัติของผู้ก่อเหตุรุนแรงแล้ว  การเข่นฆ่าข่มขู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ตามอำเภอใจเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจที่กล่าวอ้างว่าทำเพื่ออุดมการณ์ย่อมสามารถทำได้อย่างเสรี  โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถเข้าแก้ไขปัญหาและจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบหากยกเลิก พรก.ฉุกเฉินแล้ว  เหตุการณ์เลวร้ายลง  จะปล่อยให้ประชาชนตาดำๆ ใน จชต. ก้มหน้ารับกรรมทั้งที่สามารถป้องกันหรือบรรเทาลงได้ด้วย พรก.ฉุกเฉินหรือ  อย่ามัวแต่เห็นแก่พวกพ้องและผลประโยชน์ส่วนตนเลย  ออกมาทำรณรงค์ในทางสร้างสรรค์  สร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมืองน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

1/14/2555

มุคตาร์ กีละ เหยื่อแห่งความโสมม

มุคตาร์  กีละ  เหยื่อแห่งความโสมม

สิ้นเสียงปืนดังกึกก้องที่บ้านลูโบ๊ะกาเยาะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อในที่ 15 ธ.ค.54 ชีวิตของมุคตาร์ กีละ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นที่รักของชาวบ้าน  ชอบช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อชาวมุสลิมมลายูอย่างแท้จริงก็มีอันต้องจบสิ้นลงอย่างกระทันหัน  ไม่มีแม้โอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่เขาหวังตั้งใจมาโดยตลอดว่าจะทำเพื่อสังคม  เพื่อบ้านเกิดที่เขารักและเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องมุสลิมได้อีกต่อไป


เป็นที่ทราบดีว่า  มุคตาร์  กีละ  นักการเมืองหนุ่มใหญ่  ไฟแรง  ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวในฐานะรองประธานกลุ่ม PNYS ที่แม้แต่ระหว่างที่เป็นนักศึกษาอยู่นั้น  การเดินทางกลับมาบ้านเกิดแต่ครั้ง มุคตาร์มักจะชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ตามกำลังและความสามารถที่นักศึกษาจะทำได้อยู่เสมอ  หลังจบการศึกษาและไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศหลายปี  ก็ได้กลับมาประกอบอาชีพส่วนตัวและเป็นทนายความ  และเริ่มเคลื่อนไหวในฐานะผู้ประสานองค์กรสันติภาพเพื่อ จชต. มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนทุกระดับที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในด้านกฏหมาย  ทำให้มีเครือข่ายกับองค์กรต่างๆ อย่างกว้างขวาง  เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิฮิลาลอับ-ยัฎ  ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครกู้ภัยและองค์กรสาธารณกุศลในพื้นที่ จชต. ให้การช่วยประชาชนอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับ
แม้ว่ามุคตาร์ กีละ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ จชต. ในลักษณะให้ความช่วยเหลือด้านกฏหมาย แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่นิยมความรุนแรงและต้องการต่อสู้ในแนวทางสันติ ในปี 2548 มุคตาร์ กีละ ได้ร่วมกับบุคคลในเครือข่ายจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใน จชต. โดยใช้ชื่อว่า พรรคสันติภาพไทย และส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในปี 2550 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งเขายังต่อสู้ต่อไปด้วยจิตใจมุ่งมั่นด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งมาจัดตั้งพรรคการเมืองอีกครั้งในนาม พรรคประชาธรรม  โดยชูธงเป็นพรรคของคนมลายูเพื่อคนมลายู  ประกาศนโยบายมุ่งแก้ปัญหาความไม่สงบใน จชต. ซึ่งผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.54  ที่แม้ว่าจะไม่ชนะการเลือกตั้ง    แต่ก็ทำให้สามารถสร้างกระแสการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อชาวมลายูได้ดีในระดับหนึ่ง 
และเนื่องจากผลคะแนนที่สนับสนุนพรรคประชาธรรมนั้นส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งในพื้นที่ จชต.  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งซึ่งเคยอยู่ในกลุ่มการเมืองเดียวกัน และเคยเป็นเพื่อนสนิทที่ไปมาหาสู่กันตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาที่ต้องมีอันพ่ายแพ้การเลือกตั้ง  ซึ่งนี่อาจเป็นการสร้างรอยแค้นให้กับผู้สมัครคนนั้นซึ่งนำไปสู่การสังหารเขาหรือไม่  นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย
ด้วยความเป็นปัญญาชนมุสลิม มีนิสัยโอบอ้อมอารี มีความจริงใจที่จะกลับมาช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเกิด มีความโดดเด่นทางความคิด ที่สำคัญคือเข้าถึงได้ง่าย  ทำให้มุคตาร์  กีละ  เป็นที่รักของชาวบ้านไม่เฉพาะแต่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส  แต่เป็นประชาชนทั่วไปในพื้นที่ จชต. เลยทีเดียว  การเสียชีวิตของมุคตาร์ครั้งนี้จึงสร้างความเศร้าโศกเสียใจมาสู่ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ระคนสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องสังหารบุคคลที่ช่วยเหลือสังคมช่วยเหลือชาวบ้านมาโดยตลอด
แต่ไม่ว่ามุคตาร์ กีละ ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือจากชาวบ้านว่าเป็นคนดีจะถูกสังหารโดยการบงการของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด  การเสียชีวิตของเขาในครั้งนี้ได้สร้างกระแสความเคลื่อนไหวที่สำคัญ กระแสที่อาจเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของคนมลายูมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรง ที่จะลุกขึ้นมารวมพลังต่อต้าน  สืบสานเจตนารมณ์การต่อสู้ตามแนวทางสันติและไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรงของเขาต่อไป  การฆ่าฟันกันได้ไม่เว้นแม้แต่คนมุสลิมมลายูด้วยกัน  พี่น้องมุสลิมเราส่วนใหญ่ไม่มีใครหรอกที่จะเห็นดีด้วย  ใครก็ตามที่บงการฆ่าเขา อัลเลาะห์จะเป็นผู้ตัดสินลงโทษเอง อีกไม่นานหรอก      อามีน...  

1/13/2555

ผลประโยชน์บนความเป็นธรรม

   
หลังการตัดสินใจไม่เข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของผู้ต้องหาฯชุดแรก 4 คนประกอบด้วย นายมะซับรี กะบูติง นายซุบิร์ สุหลง นายสะแปอิง แวและ และนายอับริก สหมานกูด ซึ่งได้ยืนยันต่อศาลนาทวีว่าไม่สมัครใจเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 6 เดือน แต่จะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ได้สร้างความกังขาอย่างมากมายให้เกิดขึ้นแก่หน่วยงาน องค์กรภาคประชาชน และหน่วยงานด้านความยุติธรรมที่ได้สนับสนุนการใช้มาตรา 21 มาตลอดห้วง 6 เดือนตั้งแต่เริ่มให้ผู้ต้องหาทั้ง 4 เข้าสู่กระบวนการ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาเหล่านั้น ทั้งๆ ที่ กระบวนการทั้งหมดซึ่งมี 6 ขั้นตอน ได้ถูกดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการทั้ง 4 ฝ่ายมาตามลำดับ และการขอคำสั่งศาลเป็นขั้นตอนที่ 5 หากผู้ต้องหาทั้ง 4 คนไม่สมัครใจเข้าร่วมกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น เหตุใดจึงมาปฏิเสธในชั้นศาลซึ่งเกือบเป็นขั้นตอนสุดท้าย ?

         ขอย้อนข้อมูลให้ทราบอย่างสั้นๆ อีกนิดว่ามาตรา 21 นั้น เป็นกฏหมายทางเลือกที่อาจเรียกได้อย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า “การนิรโทษกรรม” กับผู้ที่ได้พิสูจน์แล้วว่าได้กระทำผิดไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่หลงผิดได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองตามขั้นตอน ให้โอกาสที่จะได้กลับตัวเป็นคนดีของสังคมด้วยการเข้ารับการอบรมด้านศาสนาและอาชีพเพียง ๖ เดือนแทนการถูกจำขัง ซึ่งนอกเหนือจากการที่จะได้ใช้เวลาในการศึกษาด้านศาสนาตามวิถีของมุสลิมที่ดีแล้ว ยังจะได้รับการฝึกฝนอาชีพเป็นความรู้ไว้ประกอบอาชีพหลังจากการฝึกอบรมด้วย หากพิจารณาดูให้ดีกระบวนการตามมาตรา 21 เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดกลับตัวกลับใจ แต่การต่อสู้คดีภายใต้ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหามากขนาดนี้  
           เป็นที่รู้กันว่างานนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งเป็นองค์กรนำในเรื่องการต่อต้านการใช้กฏหมายพิเศษใน จชต. และอยู่เบื้องหลังความพยายามล้มมาตรา 21 มาโดยตลอดได้เผยแพร่ใบแจ้งข่าวชี้แจงกรณีผู้ต้องหาปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 ซึ่งก็เป็นเพียงข้ออ้างลอยๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่ามีข้อเท็จจริงเพียงใด และเกิดจากความต้องการของผู้ต้องหาจริงหรือไม่

             คำชี้แจงของ 2 มูลนิธิระบุว่า ผู้ต้องหาทั้ง 4 ได้ร้องขอความช่วยเหลือมายังมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม โดยอ้างว่าถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการโดยไม่สมัครใจและไม่เข้าใจขั้นตอน และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดอาญาตามที่ถูกกล่าวหา พร้อมทั้งขอเข้าสู่กระบวนการต่อสู้ในคดีอาญาตามปกติเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนต่อไป 
             อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่ามูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้แสดงบทบาทในการเป็นองค์กรนำต่อต้านการใช้กฏหมายพิเศษใน จชต. มาโดยตลอด ซึ่งก่อนที่รัฐบาลจะประกาศต่ออายุการใช้ พรก.ฉุกเฉินเมื่อเดือน ธ.ค.54 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 มูลนิธิก็ใช้ความพยายามทั้งทางเปิดและวิชามารหลอกล่อมากมาย นำเอาผู้ได้รับผลกระทบออกมาสร้างกระแสให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินให้จงได้ โดยหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงเหตุรุนแรงในพื้นที่ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องคง พรก.ฉุกเฉินไว้ แต่สุดท้ายก็แพ้ภัยตัวเองเพราะมีประชาชนผู้เสียหายร้องเรียนมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมว่าเรียกรับเงินจากชาวบ้านเพื่อช่วยดำเนินการทางคดี  ซึ่งขัดแย้งกับคำแถลงของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมว่าให้การช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ด้วยขั้นตอนที่ล่าช้าของกระบวนการศาลต่างหากที่ทำให้ส่งผลเสียมากมาย ทั้งที่จริงแล้วเรื่องทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุผลอะไร ชาวบ้านทั่วไปที่เดือนร้อนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลแล้วมูลนิธิกระหายเงินในคราบนักบุญนี้ เสนอตัวเข้ามาช่วยเค้ารู้และโดนแบบนี้กันทั่วหน้า ซึ่งงานนี้มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมก็ “เสียรังวัด” ไปเยอะที่โดนสาวไส้ ถึงขนาดออกมาฟาดหัวฟาดหางจะฟ้องร้องผู้ที่มาร้องเรียน ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกลัวจะโดนหางเลขไปด้วยก็เลยต้องหัวหดลดบทบาทลง จนถึงกับต้องดันกลุ่มนักศึกษาให้ออกโรงคัดค้าน พรก.ฉุกเฉินแทน แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 3 เดือนในวันที่ 20 ธ.ค.54

             เช่นเดียวกัน การเข้ามาแสดงบทบาททำทีจะให้การช่วยเหลือผู้ต้องหาของ 2 มูลนิธิในครั้งนี้ใครก็เดาได้ว่าย่อมมีอะไรแอบแฝงตามสไตล์ “ไม่ยุ่งถ้าไม่มีผลประโยชน์” เช่นเดิม แล้วผลประโยชน์ที่ว่านี้คืออะไร ? น่าคิดมั้ยล่ะ  
             ย้อนกลับมาที่คำชี้แจงของ 2 มูลนิธิฯ ว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 ได้ร้องขอความช่วยเหลือมาเองและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมีความเป็นห่วงว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คนอาจต้องเผชิญกับการคุกคาม บีบคั้น จากการปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 โดยเจ้าหน้าที่หรือบุคคลต่างๆ นั้น ลองพิจารณาอย่างเป็นกลางโดยใช้สติรอบคอบดูว่า จะมีเหตุผลใดที่ผู้ต้องหาซึ่งกำลังจะพ้นความผิดหลังเข้ารับการการอบรมเพียง 6 เดือน แล้วก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขดังเดิม ต้องเรียกร้องให้มาช่วยเหลือเพื่อนำพวกเขาเข้าสู่กระบวนการตาม ป.วิอาญา ซึ่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาลที่แน่นอนว่าต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เสียค่าใช้จ่ายขณะต่อสู้คดี เสียเวลาประกอบอาชีพ และยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ประกอบกับมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการติดคุกตามเหตุแห่งความผิดที่อาจจะติดคุกสิบถึงยี่สิบปี และด้วยเหตุผลนี้คำถามคือ ใครกันแน่ที่เป็นผู้ดึงเอาผู้ต้องหาทั้ง 4 ออกมาจากกระบวนการตามมาตรา 21 ใครกันแน่ที่ไปคุกคาม บีบคั้นเขาเหล่านั้น

             ข้อกล่าวอ้างที่ว่าผู้ต้องหาไม่ทราบขั้นตอนและถูกบังคับ ซ้อมทรมานนั้นยิ่งมีความเป็นไปไม่ได้มากที่สุด เพราะเมื่อครั้งที่ผู้ต้องหากลุ่มนี้ถูกจับกุมทั้งหมด 8 ราย แต่มีการตัดสินใจเข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 เพียงแค่ 4 ราย ส่วนอีก 4 รายไม่สมัครใจ และขอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ซึ่งการตัดสินใจของผู้ต้องหาทั้งหมดเกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้ผ่านขั้นตอนการชี้แจงกระบวนการนี้ให้ทั้งตัวผู้ต้องหาเองและญาติได้เข้าใจอย่างชัดเจนแล้ว และให้ผู้ต้องหาตัดสินใจว่าจะเลือกใช้กฏหมายใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการนี้ไม่มีการข่มขู่บังคับอย่างแน่นอน ไม่อย่างนั้นผู้ต้องหา 4 คนที่ตัดสินใจใช้กฏหมาย ป.วิอาญา คงต้องเข้ามาร่วมในกระบวนการมาตรา 21 ตั้งแต่แรกแล้ว อีกประการหนึ่งคือการเข้ากระบวนการนี้ประโยชน์เกิดขึ้นกับผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ไม่ได้เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานใด และนี่คือแนวทางการแก้ไขด้วยสันติวิธี เพื่อป้องกันเงื่อนไขด้านความยุติธรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต 
           ที่ผ่านมาความพยายามของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในการอาศัยช่องโหว่บนชะตากรรมของผู้ต้องหาและประชาชนผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ในกรณีต่างๆ เพื่อหาผลประโยชน์ทั้งทางตรงคือเม็ดเงินบริจาคจากองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งภายในและภายนอกประเทศที่หลับหูหลับตาบริจาคให้โดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริง   และทางอ้อมคือเรียกรับจากคู่กรณีในคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จชต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่กรณีที่เป็นประชาชนและหน่วยงานของรัฐ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งตอนแรกทางราชการได้ชดใช้ให้จำนวนกว่า 3 ล้านบาทและญาติก็ยินดีที่จะรับเงินชดเชยจำนวนนั้น แต่ภายหลังเมื่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเข้ามาแทรกแซงและเรียกร้องเพิ่มเติมเป็นจำนวนกว่า 5 ล้านบาท ทำให้คดีต้องเสียเวลายืดยาวออกไปอีก จึงเป็นคำถามว่า เงินส่วนที่เกินนั้นใครจะเรียกร้องเอาบุญคุณ และคงหนีไม่พ้นเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชาของทนายความใช่หรือไม่

           การกลับคำให้การและขอถอนตัวจากกระบวนการตามมาตรา ๒๑ ดังกล่าวถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหา แต่การเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาทั้ง 4 ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ปุถุชนย่อมคิดได้ด้วยสามัญสำนึก ความพยายามใดๆ ที่ 2 มูลนิธิฯ กำลังทำอยู่ ใครก็ไม่มีสิทธิห้ามปราม แต่หากเรื่องนั้นไปก้าวล่วงโดยผิดศีลธรรม นำชะตาชีวิตของเขาเหล่านั้นมาแสวงหาประโยชน์เพื่อกลุ่มบุคคลหรือองค์กรใดๆ คงเป็นเรื่องน่าอับอายและไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่มีความรู้จะหากินบนความทุกข์ยากของผู้ที่เรียกได้ว่าเป็นพี่น้องร่วมศาสนา จริยธรรมของพวกท่านหายไปไหน หรือว่ามันไม่เคยมีอยู่เลย

1/03/2555

ทำแท้ง มาตรา 21 มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ เหลือบสังคมกลัวบ้านเมืองจะสงบสุข

           จากสถิติการกระทำความผิดในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีผู้กระทำความผิดและหลบหนีคดีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่  และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่หลงผิดหรือกระทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองตามขั้นตอน เพื่อกลับมาร่วมกันพัฒนาถิ่นฐานบ้านเมือง  พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑  มาตรา ๒๑  จึงได้ถูกประกาศใช้ในพื้นที่ ๔ อำเภอในจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอจะนะ  นาทวี เทพา  สะบ้าย้อย  และจังหวัดปัตตานีในพื้นที่อำเภอแม่ลาน  ทั้งนี้เพื่อเป็นกฏหมายทางเลือกให้ผู้หลบหนีคดีแต่ได้กลับตัวกลับใจเข้ามามอบตัวต่อทางราชการด้วยความสมัครใจและได้รับความเห็นชอบจากศาล  และพร้อมที่จะเข้ารับการอบรมตามที่กำหนดไม่เกิน ๖ เดือนแทนการจำขัง  ซึ่งเมื่อผ่านการอบรมแล้วผู้ต้องหาเหล่านั้นก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขดังเดิม

           ห้วงที่ผ่านมาผู้ต้องหาชุดแรกจำนวน ๔ คน ประกอบด้วย นายมะซับรี  กะบูติง นายซุบิร์  สุหลง  นายสะแปอิง  แวและ  และนายอับริก  สหมานกูด ได้สมัครใจเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา ๒๑ โดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้ารับการอบรมแทนการจำขัง  ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติ โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ  ซึ่งการดำเนินงานมีความก้าว หน้ามาโดยลำดับ จนถึงวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้องเพื่อให้ผู้ต้องหายืนยันต่อศาลว่า จะเข้ารับการอบรมแทนการจำขัง ปรากฏว่า ทนายความของผู้ต้องหาทั้ง ๔ ซึ่งเป็นทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้แถลงต่อศาลว่าจะไม่ขอรับการอบรมตามมาตรา ๒๑ และขอต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ 

           การกลับคำให้การและขอถอนตัวจากกระบวนการตามมาตรา ๒๑ ดังกล่าวโดยทั่วไปแล้วถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหาเอง  แต่กรณีของผู้ต้องหาทั้ง ๔ ซึ่งก่อนหน้านี้มีความสมัครใจและให้การรับสารภาพตามเงื่อนไขของมาตรา ๒๑ แล้ว กลับตัดสินใจเลือกที่จะต่อสู้คดีโดยใช้ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา ขณะที่ผู้ต้องหารายหนึ่งระบุว่าช่วงแรกไม่เข้าใจว่ากระบวนการเป็นอย่างไร  เมื่อได้รับการอธิบายจากทนายความแล้วจึงเปลี่ยนใจ  นั่นแสดงให้เห็นว่าทนายความเป็นผู้ชี้นำให้ผู้ต้องหากลับคำให้การ  จึงกลายเป็นคำถามว่า      ทนายความจากมูลนิธิทนายความมุสลิมซึ่งเป็นผู้รู้กฏหมาย  และรู้ดีว่าจากการรับสารภาพของ ผู้ต้องหาในขั้นต้น หากต่อสู้คดีตามกฏหมาย ป.วิอาญา อาจนำไปสู่การถูกพิพากษาให้จำคุกตามเหตุแห่งการกระทำผิดได้   แล้วทำไมถึงต้องชี้นำให้ผู้ต้องหาใช้หนทางนี้  ทั้งๆ ที่หน้าที่ของทนายความตามจรรยานั้นต้องช่วยเหลือลูกความให้ได้รับประโยชน์และความเที่ยงธรรมสูงที่สุดแม้ว่าจะเป็นผู้กระทำผิดก็ตาม  

            เป็นที่ทราบกันดีถึงความพยายามของผู้ก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะใช้ทุกวิถีทางทั้งการเกลี้ยกล่อมและข่มขู่เพื่อให้แกนนำแนวร่วมอยู่ภายใต้การควบคุม  ไม่ให้หันไปให้ความร่วมมือกับทางราชการ  สำหรับผู้ต้องหาทั้ง ๔ ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นผู้ที่อยู่ในขบวนการแต่กลับตัวกลับใจมาพิสูจน์ตัวเองโดยใช้กระบวนการทางกฏหมาย  และมาตรา ๒๑ ก็เป็นกฏหมายที่ให้โอกาสกับผู้หลงผิดได้มากที่สุดในขณะนี้      จึงเป็นไปได้ว่าหากปล่อยให้ผู้ต้องหาชุดแรกนี้ผ่านกระบวนการไปได้  จะเป็นเหตุให้สมาชิกอื่นๆ  หันมาให้ความร่วมมือกับทางราชการมากขึ้น  และแน่นอนว่าด้วยจำนวนแกนนำแนวร่วมที่ลดลงด้วยการสมัครใจเข้าสู่กระบวนการตาม มาตรา ๒๑ ย่อมส่งผลกระทบต่อขบวนการเป็นอย่างมาก จึงเป็นสาเหตุที่จะต้องทำให้กระบวนการนี้สะดุดลงด้วยวิธีที่น่ารังเกียจเดิมๆ คือ ข่มขู่ผู้ต้องหาทั้ง ๔ และครอบครัวของเขาเหล่านั้นไม่ให้เข้าสู่กระบวนการ  ซึ่งฟังดูสอดคล้องกับความต้องการของทนายความจากมูลนิธิทนายความมุสลิมที่พยายามจะทำแท้งมาตรา ๒๑ นี่ให้ได้  โดยไม่สนใจว่าลูกความในความดูแลของตนนั้น ในท้ายที่สุดของการตัดสินคดีตาม ป.วิอาญา จะต้องติดคุกหรือไม่อย่างไร  หรือว่ากลุ่มคนสองกลุ่มที่มีความต้องการคล้ายๆ กันนี้  จะเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่แบ่งงานกันทำก็เป็นเรื่องน่าคิด

             หันมามองในมุมของผู้ต้องหาทั้ง ๔ ที่ขณะนี้เปรียบเสมือน “เหยื่อ” ของความพยายามล้มกระบวนการคืนคนดีสู่สังคมโดยมาตรา ๒๑ ในครั้งนี้   ความพยายามของกลุ่มบุลคลที่ทำให้เขาเหล่านั้นต้องปฏิเสธโอกาสที่จะได้กลับตัวเป็นคนดีของสังคมด้วยการเข้ารับการอบรมด้านศาสนาและอาชีพเพียง ๖ เดือน  ซึ่งนอกเหนือจากการที่จะได้ใช้เวลาในการศึกษาด้านศาสนาตามวิถีของมุสลิมที่ดีแล้ว  ยังจะได้รับการฝึกฝนอาชีพตามที่ตนเองถนัดและต้องการ  เพื่อเป็นความรู้ติดตัวไว้ประกอบอาชีพหลังได้รับการปล่อยตัวด้วย   แต่กลับต้องมาต่อสู้คดีตามกระบวนยุติธรรมปกติ  ซึ่งในขั้นต้นอาจไม่ได้รับการประกันตัวเนื่องจากเป็นคดีที่มีผู้เสียชีวิต  และโดยปกติต้องใช้ระยะเวลายาวนานหลายปีซึ่งมากกว่าระยะเวลา ๖ เดือนที่เข้ารับการอบรมอย่างแน่นอน  ซ้ำร้ายกว่านั้น  หากศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิดจริงและพิพากษาให้จำคุก  ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการตัดสินใจครั้งนี้   มูลนิธิทนายความมุสลิมจะรับผิดชอบต่อชีวิตของเหยื่อทั้ง ๔ ที่ต้องถูกจองจำอยู่ในคุกเป็นสิบหรือยี่สิบปีได้หรือไม่  

             น่าเสียดายที่มาตรา ๒๑ ซึ่งเป็นกฏหมายที่ดีที่ทางราชการประกาศใช้เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างผู้หลงผิดกับเจ้าหน้าที่ และค่อยๆ ช่วยกันนำความสงบสุขกลับมาสู่พื้นที่อย่างยั่งยืน  กลับมีกลุ่มคนไร้สมองพยายามที่จะทำให้เสื่อมคุณค่าลงไป  ทุกอย่างกำลังไปได้ดีแล้ว  อย่าทำลายบ้านเมือง ทำลายบ้านเกิดที่พวกเรารักต่อไปอีกเลย  หรือหากไม่รู้สึกรู้สาอะไรก็อย่าเอาเท้าราน้ำเลยนะ....ขอร้อง

แวดือราแม มะมิงจิ ผู้นำศาสนาวอนโจรเลิกก่อเหตุเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข

จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังคงมีเหตุการณ์ที่ผู้ก่อเหตุรุนแรง ยังคงมุ่งกระทำเพื่อให้เห็นว่า พื้นที่ต่างๆยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ คนร้ายก่อเหตุยิงคณะครู โรงเรียนบ้านละหาน อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นเหตุทำให้ครูได้รับบาดเจ็บ ผู้ก่อเหตุรุนแรงลอบวางระเบิดชุดปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยพระสงฆ์ ถนนเจริญประดิษฐ์ ๒ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นเหตุให้มีพระสงฆ์ เจ้าหน้าที่และประชาชนได้รับบาดเจ็บ 
       เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ในฐานะที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกศาสนิก ทุกศาสนา อบรมสั่งสอนพัฒนาคนให้เป็นคนดี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรู้สึกเสียใจอยากจะให้บ้านเมืองของเราอยู่ในความสงบสุขและมีความสามัคคีเหมือนกับในอดีต ณ ตอนนี้ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ได้อย่างลึกซึ้งถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ให้ถือว่าเป็นบทเรียน ถือนำเอามาแก้ไข อยากให้เจ้าหน้าที่ใช้ความอดทนเข้าต่อสู้ ใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา อย่าเพิ่งท้อถอย ช่วยกำกับดูแลเรื่องความสงบ ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อจะทำให้บ้านเมืองของเรามีความสงบสุขร่มเย็น ขณะเดียวกันในทุกวันศุกร์ อยากขอเชิญชวนประชาชนให้ช่วยกันละหมาดตามศาสนกิจเพื่อให้บ้านเมืองกลับมาสู่ความสงบเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา
    ทางด้านนายยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ยิงครู ยิงผู้นำศาสนาหรือกระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนเองไม่อยากให้มีเหตุการณ์ที่รุนแรงเกิดขึ้นจนถึงการหลั่งเลือด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนนี้ ถือเป็นเดือนซุลฮิจญะฮ์ของศาสนาอิสลาม เป็นเดือนแห่งการต้องห้ามกระทำสิ่งไม่ดี เพราะฉะนั้น ขอวิงวอนต่อผู้ที่กำลังหลงผิด ให้คิดใหม่ทำใหม่ ปรับเปลี่ยนความคิด เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบสุขและยั่งยืนต่อไป