1/28/2556

“โรฮิงญา” ชนเผ่าไร้สัญชาติ กับความเมตตาที่ไร้พรมแดนของชาวไทยพุทธ-มุสลิม




ข่าวการหลั่งไหลเข้ามาทางภาคใต้ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องชาวมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งทางภาคตะวันตกของเมียนมาร์  พร้อมกับภาพเรือมนุษย์ลำน้อยที่แออัดยัดทะนานลอยลำอยู่กลางทะเลมาขึ้นฝั่งในหลายพื้นที่ทางตอนใต้ของไทย  และได้ถูกเจ้าหน้าที่ ตม. ไทยจับกุมในข้อหาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย โดยให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ควบคุมในพื้นที่ทั้ง อ.สะเดา จ.สงขลา จำนวนกว่าหนึ่งพันคน บางส่วนได้ถูกนำมาดูแลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยในขณะนี้นั้น กำลังเป็นจับตามองของหลายฝ่ายทั้งในและนอกประเทศว่ารัฐบาลไทยจะทำอย่างไรกับโรฮิงญากลุ่มนี้ 

ภายใต้กระแสการวิพากษ์ในมุมมองต่างๆ พร้อมเสนอแนวทางออกรวมทั้งการตั้งข้อเรียกร้องหลายประการจากองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรของพี่น้องมุสลิมว่าต้องให้การดูแลช่วยเหลือ  ไม่เว้นแม้แต่ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าเมืองมาเองที่ยังร้องขอต่อรัฐบาลไทยว่าอย่าส่งกลับไปเมียนมาร์  ด้วยเหตุผลว่า  ถ้าส่งกลับไปพวกเขาต้องถูกฆ่าตาย

แน่นอนว่าจากแรงกดดันข้างต้นจะส่งผลให้รัฐบาลไทยในวันนี้อยู่ภาวะ “กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก” เพราะขนาดเมียนมาร์เองยังบอกว่าชาวโรฮิงญาไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยของตน  แต่เป็นพวกที่หลบหนีเข้ามาจากบังคลาเทศ  ขณะที่บังคลาเทศก็ไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของตน  ซึ่งก็คงต้องหาทางออกที่เหมาะสมกันต่อไปเพราะรัฐบาลไทยเองนั้นก็เคยประสบปัญหาใกล้เคียงในลักษณะนี้มาแล้วไม่ว่าจะเป็นม้งอพยพหรือเขมร  แต่ที่แน่ๆ  ถึงตอนนี้ภาระรับเลี้ยงดูคนกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 แต่ในเรื่องร้ายๆ เกี่ยวกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญาก็มีแง่มุมดีๆ ที่เกิดขึ้นก็คือ  น้ำจิตน้ำใจของคนไทยที่ร่วมกันบริจาคอาหาร  เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ได้หลั่งไหลมาจากทุกทิศทาง  ภาพของเด็กนักเรียนชาวไทยนำอาหารไปมอบให้กับพวกเขาตั้งแต่วันแรกๆ ของการถูกควบคุมตัวซึ่งถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชนได้สร้างความประทับต่อผู้ได้พบเห็น        ไม่เพียงเท่านั้นยังมีกลุ่มบุคคล  หน่วยงานของรัฐและองค์กรต่างๆ ยื่นมือเข้ามาร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องมุสลิมจากชายแดนใต้ ที่ให้ความช่วยเหลือโดยการตั้งจุดรับบริจาคในหลายจุดทั่วพื้นที่

ภาพเหล่านี้ได้บ่งบอกให้สังคมทั่วไปและสังคมโลกได้รับรู้ถึงความเป็นคนไทยที่มีจิตใจโอบอ้อมอารีมีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา 

อีกภาพหนึ่งที่สวยงามคือ  ในยามที่เกิดความขัดแย้งหรือความเดือดร้อนในกรณีใดๆ  เมื่อถึงเวลาที่จะต้องร่วมมือร่วมใจโดยใช้พื้นฐานของความเป็นคนไทยด้วยกันแล้ว  การร่วมแรงร่วมใจกันของทุกฝ่ายจะเกิดขึ้นเสมอโดยลืมความขัดแย้งนั้นไปจนหมดสิ้น  เฉกเช่นเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทยในเวลานี้  ที่ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมต่างร่วมใจกันให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาด้วยความเมตตาสงสารอย่างน่าชื่นชม

สำหรับชาวโรฮิงญาแล้วนี่อาจเป็น “ฝันดี” ของพวกเขาในช่วงเวลาหนึ่ง  เพราะเขาเหล่านั้นยังอยู่ในฐานะของ  ผู้หลบหนีเข้าเมือง  ไม่ใช่  ผู้ลี้ภัยสงคราม  และตามกฏหมายแล้วต้องถูกผลักดันออกจากประเทศไทยภายใน 3 เดือนซึ่งเป็นได้สองทางคือ  กลับไปยังประเทศต้นทางหรือส่งไปประเทศที่สาม  โดยเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องดำเนินการแก้ปัญหาให้ถูกทางต่อไป  และไม่ว่าผลออกมาจะดีหรือร้ายก็เป็นเรื่องที่ชาวโรฮิงญาต้องยอมรับมัน

เห็นภาพของความร่วมมือร่วมใจของพวกเราคนไทย   โดยเฉพาะพี่น้องทั้งไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ณ เวลานี้แล้ว  ส่วนตัวผู้เขียนเองอยากให้ภาพความรัก  ความเอื้ออาทร  ความร่วมมือกันในลักษณะนี้ของคนในพื้นที่คงอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ของเราต่อไปอีกตราบนานเท่านาน  เพราะมันจะช่วยทำให้ “ฝันร้าย” ของคนในพื้นที่นี้จบลงเสียที  เพราะประชาชนเบื่อหน่ายกับการก่อเหตุรุนแรงจนเกินจะทนแล้ว  เห็นด้วยมั้ย

ซอเก๊าะ   นิรนาม

1/17/2556

9 ปี 9 ไป สานใจสู่สันติ จุดเปลี่ยนเพื่อสันติภาพ จชต.



คำกล่าวที่ว่าในเมฆหมอกแห่งความชั่วร้ายยังมีประกายแห่งความหวังเสมอนั้น  ถึงชั่วโมงนี้คงสามารถนำมาใช้เปรียบเปรยกับเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยได้อย่างใกล้เคียงที่สุด  ด้วยความเดือดร้อนสูญเสียทั้งคนใกล้ชิดและพี่น้องร่วมชาติ  ตลอดจนการสูญเสียโอกาสในทุกๆ ด้านของพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้น   ตลอดเวลา9 ปีที่ผ่านมาไม่อาจประมาณออกมาเป็นจำนวนนับได้  แต่วันนี้ดูเหมือนว่าเมฆหมอกนั้นกำลังจะจางหายไปพร้อมกับน้ำตาแห่งความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนที่กำลังจะเหือดแห้งลงเช่นกัน

ด้วยในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมาได้ปรากฏความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนที่จะยุติเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ลง  ทั้งในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.  และองค์กรภาคประขาสังคมต่างๆ  ที่เห็นได้ชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นฝ่ายความมั่นคงโดย พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์  แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนโดยการชูนโยบายพาคนกลับบ้าน เพื่อโน้มน้าวให้ผู้เห็นต่างจากรัฐวางอาวุธและหันมาร่วมมือกันตามแนวทางสันติ  ซึ่งดูจะได้รับการตอบรับมาด้วยดีตามลำดับ   สังเกตได้จากการออกมารายงานตัวของผู้เห็นต่างเป็นระยะๆ  ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการถึงแกนนำ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ม.ค.55 ที่ผ่านมา  ภาพของเส้นทางแห่งสันติยิ่งถูกย้ำชัดด้วยการจัดกิจกรรมเสวนา “สานใจสู่สันติ” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมซีเอสปัตตานี  มีผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งล้วนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและรับทราบปัญหาที่เป็นรากเหง้าของเหตุการณ์รุนแรงจากหลายฝ่ายเข้าร่วมกันถกแถลง ได้แก่ อาจารย์ศรีสมภพ  จิตร์ภิรมย์ศรี จาก มอ.คณะรัฐศาสาตร์ มอ.ปัตตานี ในฐานะ ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้  นายแวดือราแม  มะมิงจิ  ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาและเป็นที่ยอมรับในบทบาทการสร้างสันติภาพในพื้นที่  นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอดจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  นายเสริมสุข  กษิติประดิษฐ์  รวมทั้งที่เป็นไฮไลท์ของการเสวนาซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวแทนของผู้เห็นต่างซึ่งปัจจุบันยอมวางอาวุธแล้วหันมาต่อสู้ตามแนวทางสันติคือ นายยะยา  การูมอ  อดีตอุสตาซโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิผู้ซึ่งเคยหลบหนีไปพร้อมๆ กับนายสแปอิง  บาซอ  แกนนำคนสำคัญ

ตัวแทนสื่อแจงผู้เห็นต่างต้องคำนึงถึงประชาชน

โดยในมุมมองของสื่อมวลชน นายเสริมสุข  กษิติประดิษฐ์  แสดงทัศนะว่าจากการติดตามทำข่าวมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา  ได้เห็นความพยายามของหลายฝ่ายในอันที่จะแก้ปัญหานี้  แต่ด้วยความไม่ชัดเจนทางนโยบายของรัฐบาลในห้วงที่ผ่านมาหรือแม้แต่รัฐบาลปัจจุบันก็ยังคงไม่มีความชัดเจนอยู่เช่นเดิม  ส่วนปฏิบัติในพื้นที่ต่างหากที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหานี้  โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนและมีแนวโน้มว่าจะรังสรรค์สันติภาพให้เกิดขึ้นได้จริงคือ  ความพยายามของทั้งส่วนที่มีบทบาทในการพัฒนาคือ ศอ.บต.  ที่ลงพื้นที่เข้าถึงและเข้าใจประชาชนมาเป็นอย่างดี  ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้หันมาใช้การเจรจาเพื่อสันติภาพมากขึ้น  การแสดงออกอย่างชัดเจนของแม่ทัพภาคที่ 4  ที่ไม่ต้องการใช้การต่อสู้ด้วยอาวุธแต่ต้องการให้มาพูดคุยกันเป็นทางออกที่ดี  และจะส่งผลให้ผู้ที่ยังเห็นต่างออกมาพูดคุยกันมากขึ้น  นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างกลุ่มอาเจะห์ในอินโดนีเซียที่สามารถพูดคุยกับรัฐบาลอินโดนีเซียได้จนเหตุการณ์คลี่คลายลง  เพราะกลุ่มอาเจะห์ยังคิดถึงประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการสู้รบด้วย

“ผู้นำของกลุ่มอาเจะห์ถามผมว่าเหตุการณ์ในภาคใต้ของไทยเป็นอย่างไร  ผมก็เล่าให้เค้าฟัง  เค้าก็แสดงความแปลกใจว่าทำไมกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในประเทศไทยต้องทำร้ายประชาชนแบบไม่แยกแยะ  ทำร้ายครูทำร้ายเด็ก  แล้วจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างไร”  นายเสริมสุขฯ  กล่าวในที่สุด

อดีตอุสตาสวอนเลิกสู้รบ  หันมาใช้แนวทางสันติ

นายยะยา  การูมอ  ซึ่งได้เปิดใจบอกเล่าถึงเส้นทางการต่อสู้อย่างยาวนานซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะชนะจนต้องออกมารายงานตัวร่วมสร้างสันติว่า ตนได้เข้าสู่กระบวนการของภาครัฐด้วยสาเหตุหลักคือ  มีความไว้วางใจต่อนโยบายของทางกองทัพ  เพราะมีรูปธรรมและความชัดเจนมากยิ่งขึ้น  ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องครอบครัวที่ต้องดูแล  โดยคนในเครือข่ายได้มาชี้แนะให้เข้าพบแม่ทัพภาคที่ 4 และเริ่มเห็นกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นสิ่งที่พึงได้  สามารถนำกลับบ้านได้จริง “ผู้ผิดอย่างผมคิดว่า การแก้ปัญหาตรงจุดนี้ควรจะทำต่อไป ยกตัวอย่างสมมุติว่า เรามีเชือก ๒ เส้น และมีปมอยู่ตรงกลาง เชือด ๒ เส้นนี้มี ๔ มุม ให้ท่านประธานแวดือราแมถือ ๑ มุม ส่วนผมถืออีก ๑ มุม ท่านอาจารย์ศรีสมภพถือ ๑ มุม คุณเสริมสุขถืออีก ๑ มุม ทุกคนต่างถือกันคนละมุม แล้วต่างคนต่างดึงเชือกเส้นนั้น สังเกตว่าจะมีโอกาสที่จะแก้ปมที่มัดได้หรือไม่ แล้วถ้าต่างคนต่างดึงเชือก มันไม่มีวันที่จะแก้มัดหรือปมนั้นได้เลย แต่ถ้าหากทั้ง ๔ ท่านมีท่านใดท่านหนึ่งยอมที่จะหย่อนเชือกให้ลดลงบ้าง ผมว่าการที่จะแก้มัดแก้ปมนั้นจะง่ายมากขึ้น”  นอกจากนี้นายยะยาฯ ยังได้เสนอแนวความคิดในทัศนะของผู้ที่เคยร่วมในขบวนการฯ ถึงกระบวนการสร้างสันติภาพว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมหันมาพูดคุยกัน  เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจต้องปฏิบัติงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้  ตนเชื่อว่าไม่นานเหตุการณ์จะดีขึ้น  และพร้อมที่จะชักชวนกลุ่มคนที่หลงผิดที่ยังคงใช้ความรุนแรง  ขอให้ช่วยกันบอกช่วยกันคุยให้คนที่ยังสู้อยู่กลับมาต่อสู้ด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง 

ผู้นำศาสนาชี้ต้องพูดคุย  เคารพสิทธิ

มุมมองของผู้นำศาสนา นายแวดือราแม  มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี  กล่าวว่าวันนี้ทุกคนอยากให้เกิดสันติภาพ แต่การสร้างสันติภาพจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ส่วนของตนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในหลายกรณี  ตลอดจนเป็นตัวกลางระหว่างผู้ได้รับผลกระทบกับฝ่ายความมั่นคงในการประสาน  ซึ่งก็ได้นำปัญหาต่างๆ เสนอต่อแม่ทัพภาคที่ 4 มาโดยตลอด  และได้รับความโอกาสพร้อมกับความเมตตาจากท่านเสมอมา ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น มั่นใจเพิ่มมากขึ้น  “ต้องขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่ควรกดดันเขา ในส่วนของท่านแม่ทัพภาคที่ ๔ ก็จะช่วยในเรื่องของการพูดคุยทางด้านกฎหมาย โดยมีหน่วยงานหลายฝ่าย ทั้งทนายความ และส่วนต่าง ๆ มาช่วย ถ้าเขาพร้อมก็จะเปิดโอกาสให้ แล้วพาเขาไปหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องรอจังหวะที่แน่นอนจากเสียงกระแสต่าง ๆ ซึ่งเป็นความหวังของเจ้าหน้าที่ในการสร้างเอกภาพ ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ให้ความเคารพเกี่ยวกับเรื่องสิทธิอะไรต่าง ๆ ทั้งทางด้านความคิด อย่าใช้ความรุนแรงในการประสานกัน”

ทำลายกำแพงความเกลียดชัง  ทุกฝ่ายพร้อมแล้ว  ขึ้นอยู่กับประชาชน

พลโทอุดมชัยฯ แม่ทัพภาคที่ 4  ในฐานะหัวเรือใหญ่ฝ่ายความมั่นคงที่ช่วงหลังๆ มานี่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนที่จะสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นโดยใช้แนวทางสันติ  ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตและวิจารณ์อย่างฟันธงว่ามุ่งมั่นมากกว่าอดีตแม่ทัพคนใดๆ ในช่วงที่ผ่านมา  ประกอบกับกิจกรรมครั้งนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อย้ำถึงเจตนารมณ์ของแม่ทัพท่านนี้ว่างานนี้เอาจริง  ได้ให้ความเห็นในช่วงท้ายของการจัดกิจกรรมว่า  พื้นฐานของเหตุรุนแรงส่วนหนึ่งเกิดจากความเกลียดชังซึ่งเกิดมากจากภาพลักษณ์ในอดีต  หรือส่วนหนึ่ง ขบวนการ BRN ได้สร้างขึ้นจากการถ่ายทอดประวัติศาสตร์และความเชื่อเพื่อให้เยาวชนเกลียดชังกับพี่น้องอีกส่วนหนึ่ง  เมื่อถึงจุดที่รั้งไว้ไม่อยู่ก็เปลี่ยนเป็นความรุนแรงและคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประชาชน  ส่วนของฝ่ายความมั่นคงนั้นได้พยายามแก้ไขร่วมกับกลุ่ม BRN ส่วนที่ใม่ต้องการความรุนแรงเพื่อลดระดับลงให้มากที่สุด  และนโยบายของรัฐบาลก็มีความชัดเจนที่จะขับเคลื่อนและส่งเสริมคนที่ยุติความรุนแรงมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมตามระบอบประชาธิปไตยผมได้นัดหลายภาคส่วนมาพบเจอ มาฟังพร้อมกันว่าบ้านเราต้องการสานใจสู่สันติ ต้องการลดความเกลียดชังกลับไปแล้วต้องไปพากลับมากลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เราจะอำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่ ในเรื่องระบอบประชาธิปไตยให้การสนับสนุนกลับมาสู่อ้อมอก มาช่วยกันลดความเกลียดชังมาสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในปีนี้ และทุกอย่างขึ้นอยู่ที่พวกเราว่าจะปฏิบัติหรือไม่ ทางผมพร้อม ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมคณะทุกภาคส่วนก็พร้อม พี่น้องพร้อมหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับตัวพี่น้องประชาชนทุกคนที่จะตัดสินใจว่าจะให้ปีนี้เป็นปีแห่งความสันติสุขหรือไม่  แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวในท้ายที่สุดซึ่งดูจะเป็นวัตถุประสงค์หลักของกิจกรรม
         
          อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะเสียงสะท้อนจากวงนอกว่าการเสวนา “สานใจสู่สันติ” ครั้งนี้จะเป็นกิจกรรมที่มองดูอย่างผิวเผินก็เป็นเพียงการพูดคุยเพื่อหาทางออกของปัญหาของคนเพียงไม่กี่คน  และในช่วงหลายขวบปีที่ผ่านมานั้นก็ได้ทำขึ้นหลายครั้งหลายหน  และสุดท้ายก็ไม่เกิดผลในทางที่หลายฝ่ายคาดหวัง  แต่ในมุมมองของผู้เขียนเองในฐานะที่ได้ติดตามสถานการณ์ในสามจังหวัดแห่งนี้มาตั้งแต่เริ่มเหตุรุนแรง  กลับเห็นว่าการเสวนา “สานใจสู่สันติ” ครั้งนี้มีความพิเศษแตกต่างจากที่ผ่านมา  ด้วยเพราะมีองค์ประกอบที่จะเป็นปัจจัยส่งเสริมหลายประการ 

          ประการแรกด้วยบทบาทของผู้นำศาสนาที่คนในพื้นที่ให้ความเคารพนับถือเชื่อฟังตามวิถีของพี่น้องมุสลิม ได้เข้ามาร่วมคิดร่วมทำและประสานกันกับทุกฝ่ายด้วยความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้พี่น้องในพื้นที่เห็นถึงข้อดีร่วมกันในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น  ประการที่สองคือ ด้วยเค้าลางของความร่วมมือจากฝ่ายขบวนการเองที่เริ่มมองเห็นผลกระทบโดยตรงจากการปฏิบัติโดยใช้ความรุนแรงที่ผลนั้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต  หากยังส่งผลระยะยาวไปถึงประชาชนในพื้นที่ทุกคนและผู้แทนที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นครั้งนี้คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่ “ตัวจริง”  ประการสุดท้ายคือความตั้งใจจริงของฝ่ายความมั่นคงที่จะแก้ปัญหาโดยใช้แนวทางสันติแทนการต่อสู้ด้วยอาวุธ  แม้ว่าแม่ทัพภาคที่ 4 ท่านนี้อาจต้องพ้นหน้าที่ไปในไม่ช้า  แต่หากผู้ที่มาสานต่อจะได้ยืนยันแนวทางนี้ต่อไปความสงบสุขที่ทุกคนคาดหวังก็คงอยู่ไม่ไกล

ทิ้งท้ายไว้ด้วยคำกล่าวที่ว่า   ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ  ดูจะไม่เกินจริงและเป็นที่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในสามจังหวัดภาคใต้นี้หากประชาชนในพื้นที่ร่วมมือกัน

ซอเก๊าะ   นิรนาม

1/10/2556

ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ร่วมกันประกอบพิธีละหมาดฮายัต เพื่อแสดงเจตจำนงยุติความรุนแรง



เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 ที่มัสยิดในทุกพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา  พี่น้องประชาชนชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามได้รวมพลังกันประกอบพิธีละหมาดฮายัตเพื่อขอพรจากเอกองค์อัลเลาะฮ์ ช่วยดลบันดาลให้ยุติความรุนแรงและเกิดสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ร่วมกันประกอบพิธีละหมาดฮายัต หลังจากการละหมาดญุมุอะฮฺ (ละหมาดวันศุกร์) นอกจากนี้มวลชนมุสลิมเครือข่ายโครงการญาลันนันบารู หรือเครือข่ายแก้ไขปัญหายาเสพติดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ประกอบด้วย ผู้นำศาสนา, ผู้บริหารสถานศึกษาปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม, เยาวชนโครงการญาลันนันบารู, นักศึกษาปอเนาะสานใจป้องกันภัยยาเสพติด และนักเรียนอาสาป้องกันยาเสพติด กว่า 1,000 คน ได้ร่วมกันละหมาดฮายัต “สานใจสู่สันติ” เพื่อความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งการแสดงออกดังกล่าวของพี่น้องประชาชน ถือเป็นการแสดงออกร่วมกันเพื่อปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2547 กระทั่งปัจจุบันได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สูญเสียโอกาส ในการดำรงชีวิตและการพัฒนาในทุกรูปแบบ ส่งผลกระทบ                  ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจและสังคม อย่างกว้างขวาง ซึ่งความสูญเสียดังกล่าวล้วนเกิดจากการกระทำอย่างโหดเหี้ยมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งมีความสุดโต่ง ทั้งแนวความคิดและการกระทำอย่างไร้มนุษยธรรม รวมทั้งได้ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ ต้องสังเวยชีวิตและบาดเจ็บทุพลภาพกว่า 10,000 ชีวิต ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ ล้วนแต่มีสิทธิที่จะมีชีวิตและลมหายใจ ณ ดินแดนปลายด้ามขวานทองของไทยแห่งนี้
ความพยายามในการหยิบยกเงื่อนไข เรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ และ อัตลักษณ์ มาบิดเบือนและแอบอ้างว่าเป็นดินแดน ดารุลฮัรบี ที่ต้องทำญิฮาด  แต่แท้จริงแล้ว เป็นเพียงการหลอกลวงให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่ต้องการอำนาจ แต่ขาดอุดมการณ์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะสิ่งที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามดำเนินการมาตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา คือ การข่มขู่ขู่เข็ญ คุกคาม และทำร้ายพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้ตกอยู่ในความหวาดกลัวและยอมจำนน พร้อมทั้งได้สร้างสถานการณ์ความขัดแย้งให้เกิดความหวาดระแวงต่อกันของพี่น้องชาวไทยที่ต่างกันเพียงแค่ความเชื่อทางศาสนา ทำให้สังคมพหุวัฒนธรรมอันงดงามแห่งนี้เกิดมลทินและรอยร้าว
การเกิดเหตุร้ายตลอด 9 ปีเต็มที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ประจักษ์แล้วว่า ไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง  แก่ประเทศชาติ บ้านเมือง ประชาชนในพื้นที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่ปกติสุข        ขาดโอกาสในการพัฒนา ทั้งด้านการศึกษา ด้านการประกอบอาชีพ ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม อย่างที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันท่ามกลางความทุกข์ยากลำบากเหล่านี้ นอกจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังแล้ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป คงถึงเวลาแล้วที่พี่น้องประชาชนทุกคนก็จะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา              และกล้าที่จะปฏิเสธการก่อเหตุรุนแรงในทุกโอกาสอย่างเปิดเผย เพื่อกดดันให้ผู้ก่อเหตุ วางอาวุธ ยุติการก่อเหตุรุนแรง    หันมาต่อสู้กับภาครัฐด้วยสันติวิธี ภาครัฐเองเปิดโอกาสให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงทุกคนออกมาพูดคุย เพื่อหาทางยุติปัญหา    ซึ่งมีผู้ที่มีส่วนร่วม ในการก่อเหตุรุนแรงส่วนหนึ่งได้ใช้โอกาสนี้แล้ว ส่วนผู้ที่พยายามต่อสู้ด้วยวิธีการที่รุนแรงต่อไป             ขอตั้งคำถามว่า การก่อเหตุรุนแรงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายผิดหลักศาสนา ไม่เคารพต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นหรือไม่...เป็นวิธีการสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองได้หรือไม่...ถ้ายังกระทำการอยู่ต่อไป จะไม่มีโอกาสได้รับชัยชนะในการต่อสู้อีกเลย แต่ถ้าหันมาต่อสู้ด้วยสันติวิธี โอกาสแห่งชัยชนะย่อมเปิดกว้างสำหรับทุกคน