4/16/2559

บทพิสูจน์ “กลุ่มด้วยใจ”

ซอเลาะห์ บินคอลีฟ
จากความเคลื่อนไหวใน เฟสบุ๊ค ของนางอัญชนา หีมมีน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ ในสื่อสังคมออนไลน์ จะเห็นได้ว่ามักจะเป็นการหยิบยกเอาประเด็นที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินการเข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นการสร้างความยากลำบากให้กับครอบครัวผู้ต้องสงสัย เนื่องจากคนที่ถูกเชิญตัวเป็นคนที่คอยหาเงินมาดูแลครอบครัว เมื่อเสาหลักของครอบครัวถูกเชิญตัวไปซักถาม ทำให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ตกต่ำลง สร้างความลำบากเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีการเสนอข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมานผู้ต้องหา มาโดยตลอด โดยปราศจากการค้นหาความจริงว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติ เช่นนั้นจริงหรือไม่

          จะเห็นได้ว่านางสาวอัญชนา หีมมีน๊ะ ได้เสนอข้อมูลที่มีความบิดเบือนปราศจากการพิสูจน์ โดยมักจะใช้คำกล่าวอ้างจากคำสัมภาษณ์ ของญาติผู้ถูกควบคุมตัว และผู้ถูกควบคุมตัว ยกตัวอย่างเช่นกรณี การเปิดตัวหนังสือ รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2557 - 2558”  ซึ่งเป็นการนำข้อมูลเก่า ๆ และบิดเบือนข้อเท็จจริงมานำเสนอ เพื่อที่จะโน้มน้าว และสื่อให้คนในสื่อสังคมออนไลน์ที่ยังไม่มีข้อมูลที่แท้จริง เห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยม  ไร้มนุษยธรรม

          จากเหตุการณ์ล่าสุด กรณีที่มีกลุ่มคนบุกยึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง นางสาวอัญชนา ฯ ก็ได้กล่าวอ้างว่าจากการสัมภาษณ์ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัวที่มาร้องเรียนกับตนเองว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่มีการเชิญตัวผู้ต้องสงสัยมีบางอย่างที่ทำให้ ชาวบ้านไม่สบายใจ และกังวลใจ สร้างความลำบากให้กับครอบครัว และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมานผู้ต้องหา ในกรณีต่างๆ ซึ่งถ้าผู้อ่านได้ติดตามมาโดยตลอด พอจะลองวิเคราะห์ได้ว่าก็จะเป็นกรณีเดิมๆ เช่น แช่ห้องเย็น อยู่ห้องมืด ให้คำพูดข่มขู่ ซึ่งจากคำพูดเหล่านี้ ได้ยินมานานมาก และทุกๆครั้งที่มีการนำมาเผยแพร่ก็จะมี ข้อความเช่นนี้อยู่เสมอ



          ในหลาย ๆ ครั้ง ที่นางสาว อัญชณา ฯ ได้ออกมาประณามการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ทางเจ้าหน้าที่รัฐที่มีผลกระทบกับสิ่งที่ นางสาวอัญชณา ฯ กล่าว ก็ไม่ได้ออกมาโต้เถียง เพียงแต่ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการเชิญนักข่าว สำนักต่างๆ เข้าไปดูในศูนย์ซักถามว่าไม่ได้เป็นจริงตามที่ นางสาว อัญชนา ฯ กล่าวอ้าง และทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่อยากจะเอาเรื่อง เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็น แต่ถึงคราวนี้ทางเจ้าหน้าที่ คงจะทนไม่ไหว จึงได้จัดกิจกรรมให้ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัวกรณีเหตุการณ์โรงพยาบาลเจาะไอร้อง และกลุ่มด้วยใจได้พบกับผู้ถูกเชิญตัวที่ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อที่จะได้สอบถามความเป็นอยู่ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ถูกเชิญตัว และเป็นการสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ภายใต้อำนาจ หน้าที่และกฎหมายที่ถูกต้อง ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่อย่างใด


          เมื่อ นางสาวอัญชนา ฯ ได้เข้าพบปะกับครอบครัว และผู้ถูกเชิญตัว แล้วคงมีความเข้าใจมากขึ้น จึงได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบกับข้อมูลที่ออกไปโดยไม่ได้มีการตรวจสอบ ผ่าน เฟสบุ๊คของตนว่า

          เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559 กลุ่มด้วยใจได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรมให้ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัวกรณีเหตุการณ์โรงพยาบาลเจาะไอร้อง และกลุ่มด้วยใจได้พบกับผู้ถูกเชิญตัวที่ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร ทางกลุ่มด้วยใจก็ตอบตกลงในทันทีเพราะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่เจ้าหน้าที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวของผู้ถูกเชิญตัวที่มีความทุกข์ ความห่วงกังวล กับการพลัดพรากจากผู้นำครอบครัว หรือ ลูกๆ ได้พบทั้งผู้ถูกเชิญตัวและเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ภายใต้อำนาจ หน้าที่และกฎหมาย

       
          ย้อนไปเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2559 กลุ่มด้วยใจได้พบกับครอบครัวผู้ที่ถูกเชิญตัวจำนวนหนึ่งมาพูดคุยถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลในครอบครัวของพวกเขา หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 ทางกลุ่มด้วยใจจึงได้ไปเก็บข้อมูลและให้ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาที่พวกเขาเจอ คือ การบังคับใช้กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน กฎหมายอาญา และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผลจากการพูดคุยแลกเปลี่ยน และสอบถามทำให้ทราบว่ามีผู้ที่ถูกควบคุมจากการให้ข้อมูลของชาวบ้านที่มาในวันนั้น จำนวน  23 คน
          - การควบคุมตัวมีบางครอบครัวที่ถูกควบคุมเป็นพี่น้องกัน มี 3 คน 1 ครอบครัว และ 2 คน มี 1 ครอบครัว เป็น น้าและ หลาน 1 ครอบครัว
          - บางกรณีถูกเคยถูกควบคุมตัวมาแล้ว 4 ครั้ง 3 ครั้ง ลดหลั่นกันมา
          - สถานที่ที่ควบคุมตัวมีที่เขาตันหยง จังหวัดนราธิวาส ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี และ ศชต จังหวัดยะลา และมีประเด็นที่ครอบครัวกังวลใจ คือ
          - การแจ้งสถานที่ควบคุมตัว และ การเคลื่อนย้าย ผู้ถูกเชิญตัว บางกรณีมีการแจ้งให้ครอบครัวทราบ บางกรณีไม่ได้แจ้งให้ครอบครัวทราบ
          - บางกรณีเมื่อไปเยี่ยมสามีพบว่าเขามีอาการมือสั่น
          - บางกรณีบอกว่า ถูกอยู่ในห้องที่มืด
          - บางกรณีอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิ 17 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 9 ชั่วโมง
          - บางกรณีเพิ่งจะไปเยี่ยมและพบว่า สามีไม่มีแรงที่จะเดินหรือยืนเลย
          - บางกรณีได้พบหรือเยี่ยมเจ้าหน้าที่บอกว่าได้แค่สลาม และบอกว่ากำลังสอบสวนอยู่
          - บางกรณีบอกว่า เจ้าหน้าที่เข้ามาในบ้าน และวางกระสุนปืนในบ้านตอนที่เข้ามาตรวจค้น ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้ามา 5 คน แต่ให้เจ้าบ้านพาตรวจแค่คนเดียวทำให้พวกเขาเกิดความกลัวถึงความโปร่งใสในการทำงาน        
          - เวลาที่เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นในบ้านที่มีเด็กและผู้หญิง มีการจี้ปืนไปที่ศีรษะของผู้หญิงที่นำเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้น หรือจี้ปืนตามหลังเขา

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 กลุ่มด้วยใจจึงได้เชิญครอบครัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวจำนวน 28 ครอบครัว มาพูดคุยและยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อห่วงกังวลที่ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัวได้รับทราบ และพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงความสภาพปัญหาที่ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัวเผชิญหลังผู้นำครอบครัวถูกควบคุมตัว จึงได้รับทราบถึงข้อห่วงกังวลเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้
- การเซ็นเอกสารโดยที่ไม่ได้อ่านหรือตรวจทานเพราะ เจ้าหน้าที่บอกให้เซ็นแล้วจะได้รับการปล่อยตัว
- บางกรณีเจ้าหน้าที่ที่เขาตันหยงได้บอกภรรยาผู้ที่ถูกควบคุมตัวว่า 3 วันนี้ไม่ต้องมาเยี่ยมเพราะเขาจะดำเนินการสอบสวน

วัตถุประสงค์ที่ทางกลุ่มด้วยใจได้พบปะ พูดคุย กับ ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัว ก็เพื่อ สร้างความเข้าใจในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และจำแนกแยกแยะถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการบังคับใช้กฎหมาย และ เพื่อ ให้ครอบครัวผู้ถูกเชิญตัวได้มีกำลังใจ พลังใจ ในการเผชิญกับการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเข้าใจและไม่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่ขับเคลื่อนความรุนแรงให้คงอยู่


เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 เวลาประมาณ 13:30 น กลุ่มด้วยใจจึงเดินทางไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร และได้พบกับเจ้าหน้าที่ทหารที่ติดต่อมา และได้พบกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการเยี่ยมญาติ ซึ่งสถานที่ที่ให้ครอบครัวได้พบกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวนับได้ว่ามีการพัฒนาไปในทางที่ดีมาก มีห้องน้ำที่เพียงพอ มีสถานที่ละหมาดแยก ชายหญิง และมีห้องเยี่ยมญาติที่ทางญาติและครอบครัวได้พบกันอย่างเป็นส่วนตัว ที่นี้เราได้พบกับผู้ต้องที่ถูกเชิญตัวด้วยกรณีเจาะไอร้องเพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งเขามีความเป็นอยู่ที่ดี แต่อยากกลับบ้านเพราะเป็นห่วงภรรยาและลูกที่ยังไม่ถึง 1 ขวบ


หลังจากนั้นจึงได้เดินทางเข้าไปในอาคารที่เรียกว่าห้องมหาราชซึ่งอยู่ด้านในสุด และได้พบกับผู้ที่ถูกเชิญตัวและครอบครัวจำนวน 7 คน เพราะบางคนได้ถูกส่งตัวไปยัง ศชต. บางคนยังอยู่ที่เขาตันหยง และบางคนได้รับการปล่อยตัวแล้ว ซึ่งในโอกาสนี้เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงถึง
- ความจำเป็นในการควบคุมตัวและขั้นตอนในการเยี่ยมญาติให้กับกลุ่มด้วยใจและญาติได้รับทราบและในประเด็นนี้ ทางเจ้าหน้าที่และผู้ที่ถูกเชิญตัวได้ร่วมกันชี้แจงถึงข้อกังวลใจที่ในประเด็นการเยี่ยมญาติคือ
- กรณีที่ญาติไม่ทราบถึงการย้ายตัวไปของผู้ที่ถูกเชิญตัวอาจมีสาเหตุมาจาก เบอร์โทรศัพท์ที่ญาติได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้
- เวลาในการเยี่ยมซึ่งยังมีกรณีที่ครอบครัวได้แค่สลามจริงแต่เกิดขึ้นเพียงวันเดียวหลังจากนั้นก็ได้รับความสะดวกสบายในการเยี่ยมญาติ
          - สำหรับกรณีที่ควบคุมตัวที่เขาตันหยงและเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ต้องมาเยี่ยม 3 วัน นั้น ทางกลุ่มด้วยใจจะแจ้งรายชื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบและทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบต่อไป
          - ในกรณีที่บอกว่า ถูกอยู่ในห้องที่มืด นั้น ในจำนวนที่ได้พูดคุยทุกคนปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่ในห้องมืด
          - และในกรณีอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิ 17 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 9 ชั่วโมงนั้นผู้ที่ถูกเชิญตัวที่มาในวันนี้  ก็ได้ปฏิเสธเช่นเดียวกันว่าไม่มี
          - สำหรับกรณีที่พบว่าสามีไม่มีแรงที่จะเดินหรือยืนเลยนั้นเนื่องจากบางคนที่ถูกเชิญตัวเป็นโรคแขนขาอ่อนแรงจึงทำให้ไม่มีแรงแต่ก็สามารถมาพบปะกับญาติได้ทุกวัน
          - ในกรณีที่บอกว่า เจ้าหน้าที่เข้ามาในบ้านและวางกระสุนปืนในบ้านตอนที่เข้ามาตรวจค้น ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้ามา 5 คน แต่ให้เจ้าบ้านพาตรวจแค่คนเดียวทำให้พวกเขาเกิดความกลัวถึงความโปร่งใสในการทำงานนั้นทางกลุ่มด้วยใจจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบอีกครั้งว่าเกิดขึ้นกับกรณีไหนและจะมีการตรวจสอบเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อไป
          - เวลาที่เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นในบ้านที่มีเด็กและผู้หญิง เจ้าหน้าที่ไปตรวจค้น หรือจี้ปืนตามหลังเจ้าบ้าน ในกรณีนี้ผู้ที่ถูกเชิญตัวที่พบในวันนี้ได้เล่าว่าในวันนั้น เขานอนอยู่ในบ้านกับน้องๆซึ่งเป็นเด็กๆหลายคน เพราะแม่ไปทำงานที่มาเลเซีย เจ้าหน้าที่จึงได้ให้น้องๆออกไปนอกบ้านและใช้ปืนจี้ที่หลังของเขาผ่านโล่ในมือเจ้าหน้าที่เพื่อค้นบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้อธิบายถึงความจำเป็นในปฏิบัติการ เพื่อป้องกันความสูญเสียของเจ้าหน้าที่ และทางเจ้าหน้าที่ก็ได้กล่าวขอโทษต่อครอบครัวของเขาที่ปฏิบัติการได้สร้างความตกใจให้กับเด็กๆ ในบ้าน


          นอกจากนี้ทางครอบครัวผู้ที่ถูกเชิญตัวก็ได้แสดงออกถึงความรู้สึกและได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ได้จัดกิจกรรมในวันนี้อีกทั้งได้จัดรถเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และเป็นความน่ายินดี อีกประการเมื่อเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ทราบว่าในวันนี้จะมีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกเชิญตัวจำนวน 7 คน

ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้สอบถามถึงข้อมูลเรื่องกรณีทรมานจำนวน 54 รายที่ปรากฏในรายงานร่วมของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และ องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชน ปาตานี เพื่อนำไปตรวจสอบ และทางกลุ่มด้วยใจก็จะได้นำไปเสนอต่อองค์กรร่วมจัดทำรายงานต่อไป ซึ่งจากกรณีข้อร้องเรียนเรื่องการทรมานได้มีข้อเสนอร่วมกันดังนี้
          - ทางองค์กรร่วมจัดทำรายงานสถานการณ์การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้จะดำเนินการในการสนับสนุนการตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆที่ปรากฏในรายงานโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูลและความยินยอมของผู้ให้ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
          - เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและองค์กรร่วมจัดทำรายงานสถานการณ์ฯ จะดำเนินการกำหนดมาตรการและกลไกการร้องเรียนและการป้องกันการกระทำทรมานในระดับพื้นที่ต่อไป

  นับได้ว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างมาก  สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในการป้องกันการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้

          กลุ่มด้วยใจขอแสดงความชื่นชมเจ้าหน้าที่ทหารที่อำนวยความสะดวกให้กับครอบครัวและผู้ที่ถูกเชิญตัวได้พบปะกัน เพื่อลดความกังวลใจและสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การสร้างกลไกในการตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องการทรมาน และ การสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในการยุติการทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

          จากคำยืนยันของนางสาว อัญชนา ฯ ประธานกลุ่มด้วยใจ ที่ได้เคยเผยแพร่ข้อมูลว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมานผู้ต้องหา ทำให้สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนมั่นใจว่านางสาวอัญชนา ฯ ไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ข่มขู่ บังคับให้ลงข้อมูลแต่อย่างใด สังเกตได้จากสีหน้าที่ยิ้มแย้มของนางสาวอัญชนา ฯ

          ผู้เขียนจึงอยากประชาสัมพันธ์ให้ญาติ และครอบครัว รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ อย่ากังวลหรือหวาดวิตก ต่อกระบวนการซักถามผู้ต้องสงสัย ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ซึ่งพิสูจน์ได้จากคำยืนยันจาก นางสาว อัญชนา และสื่อมวลชน องค์กรภาคประชาสังคมที่เคยเข้าเยี่ยมชมศูนย์ซักถามแล้วว่าไม่มีการทำร้ายผู้ต้องสงสัย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการซ้อมทรมานแต่ประการใด ส่วนผู้ต้องสงสัยเมื่อผ่านขั้นตอนวิธีการแล้วพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่จะทำการปล่อยตัวเพื่อกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวโดยเร็วที่สุด ส่วนคนผิดก็ต้องว่าไปตามผิดต้องรับโทษทัณฑ์กับสิ่งที่ตัวเองได้ก่อขึ้น ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่กำลังหลบหนีอยู่ สามารถเข้ารายงานตัวแสดงตนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจเข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน โดยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้ภูมิลำเนาของท่าน หรือผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่นได้ตลอด 24 ชั่วโมง
*****************


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น