รายงานพิเศษ

10 ปีไฟใต้...ผบช.ศชต.บอกต้นตอปัญหาคือความไม่เข้าใจ บึ้มนอก3จังหวัดแค่รับจ๊อบ!

          ข้อดีของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ข้อหนึ่งที่ทำให้หลายคนมองว่าเดินถูกทาง แม้แต่ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ก็คือ การที่ภาครัฐเริ่มส่งคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเข้าใจพื้นที่ลงไปทำงานมากขึ้น
yongyuthh
          โดยเฉพาะหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคงทั้งตำรวจ ทหาร ล้วนเป็นผู้ที่เคยผ่านงานหรือเชี่ยวชาญพื้นที่ชายแดนใต้มาทั้งสิ้น
          มุมมองนี้สะท้อนชัดประการหนึ่งจากการแต่งตั้ง พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ขึ้นเป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) เมื่อครั้งการปรับย้ายวาระประจำปีเดือนตุลาฯที่ผ่านมา
          เพราะ พล.ต.ท.ยงยุทธ คือลูกหม้อคนหนึ่งของ ศชต. เคยเป็นผู้การนราธิวาส (ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส) รองผบช.ศชต. และขึ้นเป็นผู้บัญชาการในที่สุด
          ฝีไม้ลายมือในการทำงานของ พล.ต.ท.ยงยุทธ ก็ไม่ใช่ขี้ไก่ เขาเป็นชาวลพบุรีโดยกำเนิด จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานเมื่อปี 2519 รับราชการครั้งแรกที่ สน.พระราชวัง กรุงเทพฯ เคยอาสาไปปฏิบัติหน้าที่ในถิ่นทุรกันดารอย่าง สภ.กิ่งอำเภอดอนตาล อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร และได้ต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างกล้าหาญ ต่อต้านกลุ่มมิจฉาชีพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกลุ่มอิทธิพลที่ปลูกและค้ากัญชาจนถูกลอบยิง
          ต่อมาย้ายไปรับราชการที่ จ.ชลบุรี ได้เข้าไปสางคดีที่มีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องกลุ่มอิทธิพลระเบิดหินบนเกาะสีชัง และออกโฉนดที่ดินกว่า 2,000 ไร่โดยมิชอบ จนสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาล กระทั่งได้รับรางวัล "คนไทยตัวอย่าง ประจำปี 2537" ของมูลนิธิธารน้ำใจ
          ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา พล.ต.ท.ยงยุทธ ปฏิบัติราชการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทั่งก้าวขึ้นเป็น ผบช.ศชต. เบอร์ 1 ของกองทัพ "สีกากี" ในพื้นที่ปลายสุดด้ามขวาน
          "3 เดือนแรกในตำแหน่ง ผบช.ศชต. (ไตรมาสสุดท้ายของปี 2556) ผมก็ได้พยายามหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ความจริงผมก็ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2547 คิดว่าหน่วยงานรัฐทุกหน่วยก็ร่วมกันแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และ กอรมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับนโยบายมาถ่ายทอดให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติในพื้นที่"
          ในมุมมองของ พล.ต.ท.ยงยุทธ เขาเห็นว่านโยบายในภาพรวมที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ แต่จะให้เห็นผลต้องใช้เวลา
          "เห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์ความไม่สงบลดลง แต่ยังเกิดเหตุอยู่ ยังไม่จบ เพราะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ความรู้สึกนึกคิดของผู้ก่อเหตุอาจได้รับการปลูกฝังไว้ในทางที่ไม่ถูกต้อง"
          พล.ต.ท.ยงยุทธ อธิบายปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาว่า ปัญหาความไม่เข้าใจคือปัจจัยหลักที่ยังทำให้พื้นที่แห่งนี้เกิดเหตุรุนแรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความไม่เข้าใจกันระหว่างประชาชนเองก็ดี หรือความเข้าใจผิดที่มีต่อเจ้าหน้าที่ รวมทั้งตัวผู้ก่อเหตุเอง
          "ทางแก้ปัญหาคือเราต้องพยายามทำงานด้านเสริมสร้างความเข้าใจ ทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และปัญหาในภาพรวม คิดว่าถ้าคนเข้าใจกัน ก็จะยุติเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นได้ ในปีนี้เราจะพยายาม เน้นเรื่องการทำความเข้าใจ แม้กระทั้งผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เราสามารถทำความเข้าใจได้ ที่เรียกตัวมาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) หรือที่ถูกจับกุมได้ เราก็พยายามใช้แนวทางทำให้เขากลับมาอยู่เป็นปกติสุขในสังคม"
          ย้อนกลับมาเรื่องสถิติเหตุรุนแรง พล.ต.ท.ยงยุทธ บอกว่า หากพิจารณาตามตัวเลข จะพบว่าจำนวนเหตุรุนแรงลดลงมาโดยลำดับ ความสูญเสียลดลง แต่ยังไม่จบ ยังมีเหตุเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะทหาร ตำรวจที่ยังเป้าหมายในการก่อเหตุโดยใช้วิธีการลอบวางระเบิดมากที่สุด
          "บางครั้งเจ้าหน้าที่เราเกิดความสูญเสียพร้อมกัน ก็เลยทำให้ดูเหมือนตัวเลขจะมาก แต่ความจริงเหตุการณ์ลดลง และจากสถิติเรื่องความมั่นคงเกิดน้อยมาก จากจำนวนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน มีหมื่นกว่าครั้ง แต่เป็นเหตุการณ์ความมั่นคงแค่ 8 พันเศษๆ ถือว่าเหตุรุนแรงลดลงมาก ผมเชื่อสถานการณ์ขณะนี้ ประชาชนที่ได้รับการปลูกฝังความคิดความเชื่อมีอีกไม่มาก"
yongyuthh1
          ในฐานะตำรวจที่ต้องยืนอยู่ตรงกันข้ามกับขบวนการธุรกิจผิดกฎหมาย ผบช.ศชต.มองว่า กลุ่มขบวนการเหล่านั้น ทั้งน้ำมันเถื่อน สินค้าเถื่อน และยาเสพติด เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เหตุรุนแรงในพื้นที่ยังเกิดขึ้นอยู่
          "หลายครั้งเป็นเรื่องความขัดแย้ง สูญเสียผลกระโยชน์  ยาเสพติดก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เช่น เหตุการณ์ที่เกิดนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชัดเจนว่าเป้าหมายไม่เหมือนสามจังหวัด ไม่ใช่เรื่องของการขยายพื้นที่ปฏิบัติการ แต่เป็นเรื่องของการรับจ๊อบกัน (ได้รับการว่าจ้าง) โดยอาศัยมือผู้ก่อเหตุจากในพื้นที่ไปก่อเหตุที่อื่น อย่างที่ อ.สะเดา จ.สงขลา (เหตุระเบิด 3 จุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ธ.ค.2556) เรารู้อยู่แล้วว่ามีการลักลอบขนน้ำมันเถื่อน ของหนีภาษี แล้วก็มีการปราบปราม"
          "ส่วนของเรื่องยาเสพติดในพื้นที่ก็มีเป็นปกติ มีการแพร่ระบาดเหมือนจังหวัดอื่นๆ เราก็ดำเนินการทั้งบำบัดรักษา อบรม และปราบปราม มีการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทหาร ตำรวจ เราต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้านปราบปรามเราก็จับกุมผู้ค้าได้เป็นระยะๆ ตลอดมา แต่ก็ยังมีคนทำผิดอยู่ เรื่องนี้อยู่ที่ว่าถ้าเยาวชนหรือคนไม่ไปเสพ คนขายก็ขายไม่ได้ ก็ต้องไปดูที่ต้นตอปัญหา ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลลูกหลานของเรา ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน"
          เมื่อถามถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินการเกือบ 1 ปีกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่ปัจจุบันหยุดชะงักไปนั้น พล.ต.ท.ยงยุทธ บอกว่า ตัวเขาสนับสนุนให้มีการพูดคุยเจรจา
          "การเจรจาหรือการพูดคุยเป็นเรื่องของการที่ทำให้คนเกิดความเข้าใจกัน ชาวบ้านในพื้นที่ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมาตลอด และเข้าใจด้วย เพราะชาวบ้านล้วนต้องการความสงบสุข ถือเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหวังมาตลอด เพราะเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรง ทำให้ชาวบ้านอยู่อย่างยากลำบาก ไปไหนมาไหนก็อันตราย การเจรจาอาจเป็นหนทางที่จะทำให้ความเข้าใจเกิดขึ้น พอคนเข้าใจกันก็ไม้ต้องไปก่อเหตุ"
          "ผมเชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายมีความเข้าใจและร่วมมือกัน ก็คงยุติปัญหาในพื้นที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสันติสุขก็จะเกิดกับประชาชนได้จริงๆ"

////////////////////////////


ถก BRN แค่ละคร...จบตอนคือ "ปกครองพิเศษ" จับตา "ดินแดนกันชน"


"ผมขอใช้คำว่า 'ประชุมประจำเดือน' ไม่ใช่การพูดคุยสันติภาพ เพราะการพูดคุยกันจริงๆ มันไม่ใช่แบบนี้"
akanit
          เป็นวาทะร้อนๆ ของ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ที่ดูประหนึ่งไม่ให้ราคากับกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ เอาเสียเลย ทั้งๆ ที่ได้พูดคุยอย่างเป็นทางการกันไปแล้ว 3 ครั้ง และกำลังนัดพูดคุยครั้งใหม่ในเดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้
          เป็นการพูดคุยครั้งที่ 4 ที่ยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะออกมาในรูปใด เพราะผู้นำเหล่าทัพของไทยเพิ่งปฏิเสธข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นอย่างไร้เยื่อใยไปเมื่อไม่นานมานี้เอง
          แต่ในมุมมองของ พล.อ.อกนิษฐ์ เขาอ่านเกมพูดคุยสันติภาพอย่างปรุโปร่ง และทำนายบทจบเอาไว้เรียบร้อย ซึ่งเป็นบทจบแห่งการสมประโยชน์ทางการเมือง หาใช่บทจบของความขัดแย้ง ณ ดินแดนปลายด้ามขวานไม่
          พล.อ.อกนิษฐ์ เป็นนายทหาร ตท.12 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนปัจจุบัน เขาเคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ประสานงานชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และมีความเชี่ยวชาญชายแดนด้านไทย-มาเลเซียเป็นพิเศษ เพราะเคยเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ หรือ Peace Process เพื่อแก้ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา หรือ จคม.จนประสบความสำเร็จ
          ที่สำคัญเขายังเคยเป็นตัวจักรสำคัญในการ "พูดคุยลับ" กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่ม ทั้งบีอาร์เอ็นและพูโล ตั้งแต่ปี 2534 ด้วย ถึงขนาดเจ้าตัวพูดถึงท่าทีของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐแบบรู้เท่าทันว่า "เคยเห็นน้ำตาของพวกนี้มานักต่อนักแล้ว" 
          แม้จะพลาดหวังจากเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 4 และไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนใดๆ ในศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศปก.กปต.ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ประสบการณ์ของเขาก็ยังเป็นประโยชน์ในการให้คำปรึกษากับผู้บังคับบัญชาที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง ผบ.ทบ.
          และแน่นอนย่อมเป็นประโยชน์กับการอ่านสถานการณ์ชายแดนใต้ กับอนาคตของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งเขามองว่าเป็นเกมแห่งอำนาจและผลประโยชน์แทบจะล้วนๆ!
          @ กองทัพออกมาประกาศชัดเจนว่าไม่รับ 5 ข้อเรียกร้องของกลุ่มบีอาร์เอ็น การพูดคุยสันติภาพจะเดินหน้าต่ออย่างไร?
          เราก็ทราบๆ กันอยู่ว่ามันเป็นการตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซีย ดังนั้นตัวละครจึงมีอยู่ 3 ตัว คือ ไทย มาเลเซีย และกลุ่มขบวนการ (หมายถึงขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน) แต่การที่มาเลเซียเปิดตัวครั้งนี้เท่ากับเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีกลุ่มขบวนการพักพิงอยู่ในมาเลเซีย
           @ มาเลเซียต้องการอะไรที่เปิดเกมเล่นอย่างเปิดเผยเช่นนี้?
          ถ้าติดตามคำบรรยายเวลาเราเชิญ นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด หรือ นายอับดุลเลาะห์ อาห์มัด บาดาวี อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มาพูด ทั้งสองท่านจะบอกว่าปัญหาชายแดนภาคใต้ต้องแก้ด้วยการให้เป็น autonomy (การปกครองตนเอง) ในช่วงรัฐบาลก่อน (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) รัฐมนตรีกลาโหมของมาเลเซียก็มาพูดกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียก็พูดกับรัฐมนตรีต่างประเทศของเราว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องแก้ให้เป็น autonomy และวันที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สมัยยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพบ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนปัจจุบัน เขาก็บอกให้แก้ด้วย autonomy อีก
          คำถามคือทำไมมาเลเซียคิดว่าการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องทำเป็น autonomy แล้วจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งผมไม่รู้ว่ามีการตกลงอะไรกันระดับรัฐบาลหรือไม่ แต่ถ้าจำได้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย) ออกมาพูดเรื่องเขตปกครองพิเศษ เราก็ดูเนื้อหาที่เขาพูด มันเหมือนมีการตกลงกันลับๆ แล้วว่าจะให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่งไปสอดคล้องกับเรื่อง autonomy ที่มาเลเซียพูด นี่คือสาเหตุที่มาเลเซียให้ความร่วมมือ 
          @ ตอนที่ พล.ท.ภราดร ออกมาพูด ก็โดนหลายฝ่ายในประเทศไทยต่อต้านพอสมควร
          พอสังคมวิจารณ์มาก พล.ท.ภราดร ถึงออกมาบอกว่ายังอีกไกล แต่ความจริงแล้วมันมีการเดินงานเป็นขั้นเป็นตอน ฝ่ายการเมือง (ของไทย) ในพื้นที่ก็เดินสายชี้แจงประชาชนเกี่ยวกับเขตปกครองพิเศษ มีการเสนอร่างกฎหมายนครรัฐปัตตานี หรือปัตตานีมหานครขึ้นมา มันเป็นกระบวนการของเขา
          @ มอง 5 ข้อเรียกร้องของนายฮัสซัน ตอยิบ อย่างไร?
          ทั้ง 5 ข้อสะท้อนวิธีคิดเชิงประวัติศาสตร์ เขายังยึดติดอยู่กับประวัติศาสตร์ ถ้าทุกพื้นที่ในโลกเอาประวัติศาสตร์มาเป็นหลักในการคิด ก็คงต้องรบกันทั่วโลก มีคนโต้แย้งผมว่าเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว เรื่องเขตแดนจึงไม่มีความหมาย ดูสหภาพยุโรปสิ ผมก็เถียงว่าเฮ้ย...เข้าใจผิด ไม่มีประเทศไหนเขายอมให้ละเมิดทางดินแดนกันหรอก ถามว่าในยุโรปถ้าเอากำลังทหารข้ามเส้นเขตแดนมันจะรบกันไหม เรื่องความร่วมมือกันมันแค่เรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องการทหาร เรื่องอธิปไตย หรือบูรณภาพแห่งดินแดนเขาจะสงวนไว้ ไม่มีใครละเมิดกันหรอก
          มาถึงตรงนี้ถามว่าข้อเรียกร้องของนายฮัสซัน ตอยิบ 5 ข้อมีความสำคัญไหม มันไม่มีใครเสนอข้อเรียกร้องต่ำๆ หรอก ข้อเสนอที่เราไม่รับก็คุยกันไปเรื่อยๆ เขาจะคุยกันไปจนถึงเวลาที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เรื่องการพูดคุยตรงนี้มันต้องจบ ผมทำนายเลยว่าจะมีการผลักดันพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเขตปกครองพิเศษก่อนที่จะเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งนายนาจิบก็เคยพูดว่าทุกอย่างต้องจบก่อนประชาคมเซียน ในช่วงเดือน ธ.ค.2558
          ส่วนการพูดคุยตอนนี้ก็หยุดบ้างเดินบ้าง แต่สุดท้ายมันต้องจบก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะมาเลเซียเขาตั้งธงไว้แล้ว อีกสักพักก็เดินต่อ เหมือนดูละคร วันนี้จบแค่นี้ วันรุ่งขึ้นต่ออีกตอน สัปดาห์หน้าก็มีต่ออีก ทุกคนคือตัวละคร ทุกคนมีบทบาทต่างกัน ความจริงแล้วผมอยากใช้คำว่าประชุมประจำเดือนมากกว่า (หัวเราะ) ไม่ใช่การพูดคุยสันติภาพหรอก เพราะการพูดคุยมันไม่ใช่วิธีการอย่างนี้ ถ้าการพูดคุยต้องมาจับเข่ากัน มาสุมหัวกัน มีปัญหาตรงไหนก็ช่วยกันแก้ แต่นี่ไม่ใช่
          @ พล.ท.ภราดร เคยให้สัมภาษณ์ว่าช่วงที่ผ่านมาโต๊ะพูดคุยสันติภาพตกลงจะเริ่มออกแบบเขตปกครองพิเศษกันด้วย?
          เกมนี้มาเลเซียบังคับวิถีได้ แล้วมาเลเซียได้ประโยชน์เต็มๆ จะเป็นแค่ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย หรือเป็นคนกลางก็ไม่สำคัญ แต่เขาคุมเกมได้หมด ไม่ต้องมีข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นก็คุมได้หมดอยู่แล้ว (การให้มาเลเซียขยับสถานะเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย เป็นข้อเรียกร้องข้อหนึ่งของบีอาร์เอ็น) ใครจะไปพบฮัสซัน ตอยิบ ต้องขออนุญาตมาเลเซียก่อน การเสนอข้อเรียกร้องผ่านคลิปวีดีโอเผยแพร่ทาง YouTube มาเลเซียไม่รู้เลยหรือ ฉะนั้นต้องดูให้ดีว่ามาเลเซียมีสถานะเป็นกลางจริงหรือไม่ 
           @ มาเลเซียได้ผลประโยชน์อะไรหากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นเขตปกครองพิเศษ?
          เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของเขา ลองนึกภาพประเทศมาเลเซีย ทางตะวันตกมีเขตปกครองพิเศษ คือ อาเจะห์ (อินโดนีเซีย) ทางตะวันออก คือ มินดาเนา อีก 2 ปีก็จะเป็นเขตปกครองพิเศษ (มินดาเนาคือเกาะทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ซึ่งมีปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดน และมาเลเซียเข้าไปเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยเจรจา) ทางใต้ติดประเทศสิงคโปร์ไม่มีปัญหา
          ทางเหนือคือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ถ้าทางเหนือเป็นเขตปกครองพิเศษอีก มันจะเป็นดินแดนกันชนให้มาเลเซีย มันจะเป็นเขตปกครองพิเศษที่เป็นมุสลิมล้อมรอบมาเลเซีย ลดปัญหาการกระทบกระทั่งตามแนวชายแดน โดยเฉพาะกับรัฐที่มีอัตลักษณ์หรือวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นี่คือยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของเขา
          ตอนนี้เราต้องมาถามกันว่าถ้าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษแล้ว สถานการณ์ความรุนแรงมันจะยุติหรือไม่ อย่าลืมว่าขบวนการเขาไม่ได้เรียกร้องเขตปกครองพิเศษ เขาเรียกร้องเอกราชมาตลอด ฉะนั้นเขตปกครองพิเศษมันไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของเขา ถ้าเป็นเขตปกครองพิเศษก็ไม่มีหลักประกันว่าสถานการณ์มันจะยุติ แต่มาเลเซียเขาได้ประโยชน์แล้ว เขาก็จะบอกว่าเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย ลองหันไปดูอาเจะห์ก็ยังทะเลาะกันเอง มันไม่ต่างกัน
          สรุปก็คือสถานการณ์ขณะนี้ พูดคุยสันติภาพก็ว่ากันไป พอถึงเวลาก็เขตปกครองพิเศษ เกมนี้มาเลเซียคือผู้บังคับวิถี และได้ประโยชน์เต็มๆ ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของฮัสซัน ตอยิบ พอเสนอมาทุกคนก็เป็นเดือดเป็นแค้น จริงๆ แล้วมันก็เป็นละครฉากหนึ่งที่มันต้องเล่นกันไป มันก็เล่นลื่นไหลกันไปเรื่อย วันนี้ฉากนี้ อีกวันก็อีกฉากหนึ่ง และฉากสุดท้ายเขาเตรียมไว้แล้ว คือเขตปกครองพิเศษ
           @ ช่วงนี้ก็เลยเหมือนกับอยู่ในช่วงของการชิงความได้เปรียบว่าใครจะเสนออะไร เหมือนที่นายฮัสซัน ตอยิบ มาเสนอขอเพิ่ม อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุติความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนโดยไทยไม่ทักท้วง อย่างนั้นหรือเปล่า?
          ตอนที่มีการเสนอข้อเรียกร้อง แล้วระบุว่า 5 อำเภอของ จ.สงขลา หลายคนตีความว่าอำเภอที่ 5 คือ อ.หาดใหญ่ แต่ผมบอกตั้งแต่วันแรกเลยว่าเขาต้องการ อ.สะเดา เพราะมีชายแดนติดกับมาเลเซีย ข้อเรียกร้องพวกนี้ผมรู้ดี ได้ยินได้ฟังมาหลายรอบแล้ว เห็นน้ำตาพวกนี้มาเยอะ ได้คุยกับหลายกลุ่มหลายพวก เพราะสู้กันมาตั้งแต่ปี 2519
          @ ขอให้ช่วยขยายความเรื่อง "ดินแดนกันชน" มาเลเซียจะได้อะไรจากการมีดินแดนกันชน?
          คนที่พูดภาษาเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน วัฒนธรรม ความคิดความเชื่อเหมือนกัน มันพูดกันง่าย เข้าใจกันง่าย มาเลเซียถึงกล้าเปิดเกม ยอมเปิดตัวเต็มที่ เขามองผลลัพธ์สุดท้ายไว้แล้วว่าจะได้อะไร
          ถามว่านายกฯนาจิบประกาศนโยบาย 3 ไม่ คือ 1.ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง 2.ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน 3.ไม่ยอมกับการใช้มาเลเซียเป็นที่พักพิงเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อวามไม่สงบ ฟังดูก็ดี แต่มันอยู่ที่การปฏิบัติ คุณพูดแล้วคุณปฏิบัติหรือเปล่าล่ะ มันสำคัญตรงนี้ คุณไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่คุณให้ขบวนการใช้พื้นที่ของคุณเป็นแหล่งพักพิง ไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน แต่คุณต้องการให้เป็น autonomy 
          มีหลายอย่างที่มาเลเซียทำได้แต่ไม่ทำ เรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เรามาคุยกันใหม่ไหม เพราะมีสนธิสัญญาที่ทำไว้สมัยรัฐบาลสยามกับสหราชอาณาจักรในยุคที่อังกฤษปกครอง มันยังมีผลบังคับใช้อยู่ แต่เอามาปัดฝุ่นกันใหม่ได้ไหม เพราะมันไม่ทันสมัย หรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียว่าด้วยความร่วมมือชายแดน พ.ศ.2543 เอามาแก้ไขได้ไหม นี่มาเลเซียสามารถเล่นบทบาทอื่นได้เยอะ แต่มาเลเซียไม่เอา 
          ผมอยากจะถามมาเลเซียกลับไปว่าสมัยที่ไทยช่วยแก้ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) แล้วเรารับคนที่เป็นภัยกับประเทศของเขามาสร้างหมู่บ้านจุฬาภรณ์ให้อยู่อย่างถาวร เพื่อดูแลไม่ให้กลับไปเป็นภัยกับประเทศมาเลเซียอีกนั้น ถึงวันนี้มาเลเซียจะทำอย่างนั้นให้เราบ้างได้ไหม ดูแลคนพวกนี้ (ขบวนการแบ่งแยกดินแดนชายแดนใต้) ไม่ให้มาเป็นภัยกับเราเหมือนที่เราเคยให้เขาได้ไหม
          @ ทหารไม่เห็นด้วยกับเขตปกครองพิเศษ?
          รัฐธรรมนูญมาตรา 78 เปิดช่องให้ตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ได้ แต่มันตรงกับข้อเรียกร้องของขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือเปล่า และถ้าจะให้ปกครองพิเศษ ถามว่า จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ โคราช พร้อมกว่าไหม แล้วจังหวัดเหล่านั้นไม่มีการต่อสู้ด้วยอาวุธ ฉะนั้นต้องดูให้ดีว่าอะไรเป็นโจทย์ในการคิด 
          ทหารไม่เห็นด้วยกับเขตปกครองพิเศษแน่ เพราะมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ (ว่าด้วยแนวนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐและหน้าที่ของทหาร) เรามองว่าเขตปกครองพิเศษจะทำให้มีบันไดอีกขึ้นหนึ่งที่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ทหารจึงต้องระแวดระวัง ทหารปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญ คืออย่าให้เกิดการเสียดินแดน การสูญเสียอำนาจอธิปไตยแห่งดินแดน มันเป็นหน้าที่ของทหาร ถ้าทหารไม่ทำแล้วใครจะทำ แล้วยังจะมาบอกว่าทหารสายเหยี่ยว ทหารสายพิราบ ถ้ามาพูดเรื่องนี้ทหารไม่มีสาย มันเป็นหน้าที่รับผิดชอบ ทหารคนไหนที่พูดเป็นอย่างอื่นต้องถือว่าคุณไม่ใช่ทหาร
          ผมเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ ให้ชุมชนท้องถิ่นปกครองกันเอง แต่ต้องไม่มีบันไดอีกขั้นหนึ่งไปสู่การแบ่งแยกดินแดน
          มีทหารยศพลเอก เป็นทหารนักวิชาการ บอกว่าทำไมต้องคิดว่าเป็นเขตปกครองพิเศษแล้วจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน กทม.มีฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร แล้วมารวมกันเป็นเขตปกครองพิเศษคือ กทม. ไม่เห็นแบ่งแยกดินแดน ผมถามว่าฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระ นครแต่ก่อนเขาสู้รบกันไหม เขาพร้อมที่จะรวมกันเพื่อพัฒนา แล้วมันอยู่ใจกลางประเทศ ไม่ได้มีดินแดนติดกับประเทศอื่น ไม่ทราบว่าคนพูดเอาสมองส่วนไหนคิด
          @ ในคณะพูดคุยสันติภาพก็มีทหารอยู่ด้วย และบอกว่าเขตปกครองพิเศษมีความเป็นไปได้
          คณะพูดคุยคิดอย่างไร คนพื้นที่เขาก็รู้ เขาดูออก คนที่มาทำงานมีวาระซ่อนเร้นอะไรไหม หวังอะไรกันบ้าง เราก็รู้ นี่เขาถึงบอกว่ารัฐบาลไม่จริงใจ การทำอย่างนี้พอบรรลุเป้าหมายของตัวเองแล้วก็ไป แต่ปัญหายังอยู่ ปัญหาจะแก้เสร็จหรือไม่เสร็จไม่รู้ แต่ตัวเองบรรลุเป้าหมายแล้ว คนที่ออกหน้ามีวาระของตัวเอง เขามีธงไว้แล้ว เอาตัวพวกนี้มาเล่น ชาวบ้านเขาอ่านออก อย่าไปมองว่าเขาคิดไม่เป็น
          @ ทหารค้าน 5 ข้อเรียกร้อง ค้านเขตปกครองพิเศษ แต่ถ้าเขาล็อคไว้แล้วว่าต้องเป็นเขตปกครองพิเศษ ทหารจะทำอย่างไร?
          ผมออกมาพูดตรงนี้ ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าต่อก็เป็นเรื่องของรัฐบาล ทหารต้องเตือนว่าอะไรจะเกิด ต้องพูดให้สังคมตระหนักรู้ แต่ถ้ารัฐบาลจะทำต่อ เราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่สังคมต้องรู้
          @ แต่ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ไปไกลแล้ว มีการออกแบบโมเดลปกครองพิเศษเอาไว้ 5-6 โมเดล
          เท่าที่ทราบมีถึง 9 โมเดลแล้ว แต่ประชาชนระดับรากหญ้าไม่รู้เรื่องเลย มีแต่นักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติที่รับรู้ การไปเปิดเวทีก็มีการเปิดจริง และเปิดหลายเวทีจริง แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่ไปร่วมเวทีก็หน้าเดิมๆ พูดเรื่องเดิม ต้องถามว่าเป็นการแอบอ้างประชาชนหรือไม่ มีเขตปกครองพิเศษแล้วสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นไหม อยู่ดีกินดีขึ้นหรือเปล่า เก็บภาษีเลี้ยงตัวเองได้หรือยัง
          @ ที่บอกว่าเขตปกครองพิเศษจะเป็นบันไดไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคืออะไร จะมีการลงประชามติเพื่อกำหนดอนาคตตนเอง (Self-determination) ตามกฎบัตรของยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) หรือไม่?
          มันทำได้ทั้งนั้น ทำได้ทุกอย่าง ยกตัวอย่างวันนี้รัฐบาลไทยบอกสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่เข้าข่าย armed conflict (ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ หรือการขัดกันด้วยอาวุธ) เพราะถ้าเป็น armed conflict ยูเอ็นจะเข้ามาแทรกแซงได้ ใครจะรู้ถ้าเป็นเขตปกครองพิเศษแล้วอาจมีการทำให้เป็น armed conflict ก็ได้ เสร็จแล้วก็โหวต ยูเอ็นส่งกำลังเข้ามา ถ้าถึงจุดนั้นใครจะไปรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
          แม้ตลอดมาไทยบอกว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ armed conflict แต่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามี Year book (รายงานประจำปี) ค.ศ.2013 ของต่างประเทศ บอกว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าข่ายเป็น armed conflict ในรายงานเขาไล่มาเลยว่าตรงไหนบ้างที่เป็น armed conflict ซึ่งมีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราด้วย และยังเขียนว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็น separatist (ผู้แบ่งแยก) นี่คือมุมมองที่ต่างชาติเขามอง ส่วนตัวเราเองมองอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
          ที่ผ่านมากาชาดสากลก็พยายามเข้ามาขอตั้งสำนักงานถาวรในพื้นที่ โดยอ้างว่าเป็น armed conflict แต่เราบอกว่าไม่ใช่ จึงเข้ามาตั้งสำนักงานถาวรไม่ได้ เข้ามาได้แค่เป็นครั้งคราว ถ้ายอมให้กาชาดสากลเข้ามาตั้งสำนักงานถาวร ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
          กาชาดสากลดูข้อมูลจากตัวเลขสถิติเหตุรุนแรง เราก็บอกว่าข้อมูลอาจจะไม่ตรงกัน สถิติที่ทำๆ กันเชื่อถือได้แค่ไหน ตัวเลขคนตายเชื่อได้หรือไม่ แต่สังคมตระหนกกับข้อมูลพวกนั้นไปแล้ว ตัวเลขสถิติที่บางสำนักในพื้นที่ทำอยู่ ไม่ได้แยกแยะสาเหตุการเสียชีวิตอย่างชัดเจน แค่ตายผิดธรรมชาติ (ถูกฆ่าตาย) เขานับรวมหมด ตัวเลขมันจึงสูงมาก ทั้งที่บางเรื่องเป็นอาชญากรรมธรรมดา นครศรีธรรมราช หรือจังหวัดใหญ่ๆ อีกหลายจังหวัดก็มีอาชญากรรมขนาดนี้ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องพูดความจริง สถิติที่ทำโดยบางสำนักในพื้นที่ไม่ได้ทำให้คนตระหนักรู้ แต่ทำให้คนตระหนกมากกว่า
          @ ถ้าให้เสนอไปยังรัฐบาลได้ จะเสนอให้เลิกพูดคุยหรือไม่?
          ไม่ต้องเลิก เพราะผมเห็นด้วยกับการพูดคุย แต่การพูดคุยที่ทำอยู่นี้เป็นนวัตกรรมใหม่ในกระบวนการสันติภาพ เพราะไม่มีชาติไหนในโลกเขาทำกัน เขามีแต่คุยลับไปสักระยะ เมื่อตกลงกันได้แล้วค่อยเปิดเผย แต่นี่เปิดหมดทุกอย่าง ถือว่ากำลังเขียนทฤษฎีใหม่ที่ไม่มีใครทำ ฉะนั้นจึงต้องปรับวิธีการ
          @ การพูดคุยแบบเปิดทำให้มีแรงกดดันมาก แม้แต่ฝ่ายขบวนการเอง บางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับเขตปกครองพิเศษ เพราะเป้าหมายต้องการเอกราช ตรงนี้จะแก้อย่างไร?
          ถือเป็นสิ่งที่ท้ายทายฮัสซัน ตอยิบ ว่าจะทำความเข้าใจกับคน 2 กลุ่มที่มีความเชื่อเรื่องญิฮาด กับคนที่มีความเชื่อเรื่องเอกราชรัฐปัตตานี ต้องการทวงคืนดินแดน ซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร เป็นความท้าทายของลุงฮัสซัน ตอยิบ ที่จะคุยกับหลานๆ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มประจักษ์แล้วว่าฮัสซัน ตอยิบ คุยกับคน 2 กลุ่มนี้ไม่ได้ และมันก็ไม่จบ
          @ มีวิธีใดบ้างที่พอจะแก้ปัญหาได้?
          มีวิธีอยู่ ยังไม่สายเกินไป ถึงแม้จะเลวร้ายขนาดนี้ ผมอยากให้หยุดทบทวนตัวเองก่อน ทุกภาคส่วนต้องหยุดทบทวน ทีมพูดคุยสันติภาพก็ต้องหยุด เพราะที่ผ่านมามีคนทักท้วงว่าเข้าผิดซอยแต่เขาก็ไม่หยุด ผมอยากให้หยุดทบทวนก่อน ถ้าทบทวนแล้วมันถูกค่อยเดินต่อก็ได้ แต่ขอให้หยุดคิด หยุดทบทวน เพราะมันยังมีอีกหลายวิธีที่จะทำ
          @ โครงสร้าง ศปก.กปต.ของรัฐบาลเวิร์คหรือไม่?
          ศปก.กปต.เป็นเวทีหนึ่งเท่านั้น ถามว่าอำนาจตามกฎหมายอยู่ตรงไหน อำนาจตามกฎหมายมันไปอยู่ที่ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) กับ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ซึ่งถือกฎหมายคนละฉบับ เดิม ศอ.บต.อยู่ในกรอบของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ในรัฐบาลประชาธิปัตย์ไปออกกฎหมายให้ ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) เพื่อดึงงบภาคใต้ไปใช้ เมื่อกฎหมายมี 2 ฉบับโดยหน่วยงานที่มีสถานะเท่าเทียมกัน ก็เกิดการชิงอำนาจกันระหว่างทหารกับพลเรือน พอตกลงกันไม่ได้ รัฐบาลชุดนี้ก็ตั้ง ศปก.กปต.ขึ้นมาแก้ปัญหา
          พรรคประชาธิปัตย์คิดว่าคุมอำนาจเต็ม แต่ตัวเองกลับแพ้เลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยก็เลยได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากกฎหมาย ศอ.บต. ฉะนั้นเรื่องเอกภาพมันจึงเป็นไปไม่ได้ 
/////////////////////////////////////////

หลากความเห็น"บีอาร์เอ็น"ยื่นเงื่อนไขใหม่ "ปณิธาน" ชี้เป็นไปได้ "ฮัสซัน" หารันเวย์

เงื่อนไขใหม่ของขบวนการบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ที่ประกาศผ่านคลิปวีดีโอเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์ล่าสุด โดยเฉพาะที่ให้ทางการไทยถอนทหาร-ตำรวจพ้นพื้นที่ชายแดนใต้แลกกับการยุติก่อเหตุรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน และให้นำข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เสนอไปก่อนหน้านี้เข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภา มิฉะนั้นจะไม่มีการพูดคุยเจรจาครั้งต่อไปนั้น แทบทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นข้อเสนอที่ยอมรับได้ยาก


"อังคณา"บอกถ้าถอนทหาร บีอาร์เอ็นต้องวางปืน

นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมที่ถูกอุ้มหายนานกว่า 9 ปี มองว่า ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ไม่น่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะที่ให้รัฐบาลถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากพื้นที่ จะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับประชาชนในพื้นที่หรือไม่ เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ถอนกำลังออกไปแล้ว กลุ่มผู้ก่อการจะหยุดก่อเหตุจริงๆ

กรณีลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นที่อาเจะห์ (ปัจจุบันเป็นเขตปกครองพิเศษของอินโดนีเซีย) ซึ่งเคยมีการต่อสู้เพื่อตั้งรัฐใหม่แยกจากอินโดนีเซีย กรณีของอาเจะห์ รัฐบาลอินโดนีเซียถอนทหารในวันเดียวกับที่กลุ่มขบวนการต่อสู้ (กลุ่ม GAM) วางปืนให้เห็นต่อหน้าองค์กรระหว่างประเทศที่เข้าไปเป็นสักขีพยาน ทั้งสหภาพยุโรป หรือองค์การสหประชาชาติ แต่ในสามจังหวัดของไทยยังไม่เห็นมีการวางอาวุธ

"หากจะให้ถอนกำลังทหารตำรวจ แต่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังสามารถขับรถกระบะถือปืนเอ็ม 16 ยิงคนได้อย่างเสรี อย่างนี้ไม่ใช่ข้อตกลงสันติภาพ" นางอังคณา ระบุ

ยังไม่ใช่ขั้นตอนส่งข้อเรียกร้องเข้าสภา

ประธานมูลนิธิยุติธรรมสันติภาพ กล่าวต่อว่า เงื่อนไขที่ให้นำข้อเรียกร้องที่เสนอก่อนหน้านี้ 5 ข้อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไทยนั้น ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เพราะเรื่องที่จะข้าสภาต้องเป็นข้อสรุปที่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว และนำเสนอให้สภาอนุมัติเป็นขั้นตอนสุดท้าย แต่ขณะนี้ยังเป็นแค่ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นฝ่ายเดียว หากนำเข้าสภาแล้วมี ส.ส. หรือ ส.ว.ถามว่าการยอมรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นจะทำให้พื้นที่สงบอย่างไร หรือถามว่าคนที่รัฐไปคุยมาเป็นตัวของคนสามจังหวัดจริงหรือไม่ ใครจะตอบได้

เช่นเดียวกับเงื่อนไขที่ให้นายกรัฐมนตรีลงนามด้วยตนเอง ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะระดับนายกฯต้องลงนามกับผู้นำตัวจริงของบีอาร์เอ็นเท่านั้น แต่ นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นแค่ผู้ประสานงาน และถึงวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าผู้นำสูงสุดที่แท้จริงของบีอาร์เอ็นคือใคร

"อนุศาสน์"ลั่นไม่มีรัฐบาลไหนในโลกรับได้

นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สายสรรหา ชาว จ.ปัตตานี กล่าวว่า การยื่นเงื่อนไขเพิ่มเติมของกลุ่มบีอาร์เอ็นแสดงให้ว่าทางกลุ่มไม่ได้ความจริงใจมากพอที่จะร่วมมือลดเหตุรุนแรงอย่างแท้จริง มีแต่ข้อเสนอให้รัฐบาลไทย หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 จะพบว่ารัฐบาลมีข้อเสนออย่างเดียวคือให้ลดความรุนแรง แต่บีอาร์เอ็นก็ยังทำไม่ได้ เป้าหมายอ่อนแอยังตกเป็นเหยื่อตลอด กรณี 6 ศพ (สังหารหมู่ 6 ศพที่ร้านชำในตัวเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 1 พ.ค.56) ก็ยังกล่าวหาว่ารัฐอยู่เบื้องหลังด้วย

"เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเหตุการณ์ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีความหวังว่าช่วงรอมฎอนความรุนแรงจะลดน้อยลง แต่เงื่อนไขใหม่ที่เสนอมานี้ ต้องบอกว่าไม่มีรัฐบาลไหนในโลกยอมรับได้ คิดว่าส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างความชอบธรรมให้ตัวเองและหาพวก หรือไม่หาเสียงกับคนในพื้นที่ ปัญหาเกิดจากความผิดพลาดที่เราไปให้เวทีกับเขา ไปผูกมัดตัวเราเองจนเข้าทางเขา และเขาก็ใช้โอกาสอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันเราเองก็ไม่มีกรอบการพูดคุยเจรจาที่ชัดเจน ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นปฏิบัติอยู่นอกเหนือข้อตกลงตลอดเวลา"

จี้รัฐสังคายนา – ทีมเจรจาพิจารณาตัวเอง

นายอนุศาสน์ เรียกร้องให้รัฐบาลสังคายนาการพูดคุยเจรจาเสียใหม่ เพราะที่ผ่านมาถือว่าผิดพลาด ปล่อยให้บีอาร์เอ็นชิงความได้เปรียบและหาความชอบธรรมฝ่ายเดียวโดยไม่สนใจว่าการเจรจาจะคืบหน้าหรือไม่ ฉะนั้นคณะพูดคุยสันติภาพต้องพิจารณาตัวเอง

"ในฐานะคนในพื้นที่ ผมอยากเห็นความรุนแรงลดลงอย่างแน่นอน อยากเห็นการเจรจานำไปสู่ข้อตกลงและความสงบ ไม่ใช่แค่ช่วงเดือนรอมฎอนเท่านั้น แต่เป็นทุกเดือน และตลอดไป ผมพร้อมให้โอกาสสันติภาพ แต่ดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านมามันไม่ได้เป็นไปอย่างที่พูด" ส.ว.จากปัตตานี กล่าว

"ปณิธาน" เชื่อเป็นไปได้ "ฮัสซัน" หาทางลง

ประเด็นที่น่าหยิบยกขึ้นมาพิจารณานอกเหนือจากการ "รับ-ไม่รับ" เงื่อนไขใหม่และข้อเรียกร้องเดิมของบีอาร์เอ็นก็คือ เบื้องหลังของท่าทีทั้งหมดนี้ กลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ ต้องการอะไร เพราะย่อมรู้กันดีว่าเงื่อนไขที่เสนอมา เกือบทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลไทยจะยินยอม

ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า เรื่องนี้มองได้ 3 ประเด็น คือ

1.การยื่นเงื่อนไขใหม่ เป็นความต่อเนื่องจาก 5 ข้อเรียกร้องเดิม ซึ่งหลังจากยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อแล้ว บีอาร์เอ็นค่อนข้างได้เปรียบ เสมือนหนึ่งเป็นผู้วางกรอบการพูดคุย แม้รัฐบาลไทยจะประกาศว่าไม่รับข้อเรียกร้อง แต่ก็เกือบรับในช่วงแรก และจากท่าทีก็ถูกตีความเหมือนกับรับไปแล้ว ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้เปรียบ และการพูดคุยกันครั้งล่าสุด (13 มิ.ย.) ก็มีการพูดคุยกันตามกรอบของข้อเรียกร้อง 5 ข้อนี้ ล่าสุดบีอาร์เอ็นจึงยื่นเงื่อนไขใหม่ตามมาอีก

2.ยังคงมีคำถามว่ากลุ่มของนายฮัสซันได้รับการยอมรับจากกองกำลังในพื้นที่จริงหรือไม่ สะท้อนว่าในองค์กรบีอาร์เอ็นก็มีปัญหาเช่นกัน การยื่นเงื่อนไขใหม่ด้วยบริบทที่หนักแน่น แข็งกร้าวกว่าเดิมของกลุ่มนายฮัสซัน ก็ถือเป็นการเรียกความเชื่อมั่นจากกองกำลังในพื้นที่ให้หันมาสนับสนุนกลุ่มของตน พร้อมทั้งแสวงหาความเป็นตัวแทนของคนในพื้นที่

3.ต่อเนื่องจากข้อ 2 คือเมื่อสถานะของนายฮัสซันอาจจะไม่ได้รับการยอมรับมากนักจากหลายๆ กลุ่มในพื้นที่ การยื่นข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้ยากแต่ได้ใจกลุ่มต่อต้านรัฐไทยแบบนี้ ก็อาจจะเป็น exit strategy หรือการหาทางออกให้กับตัวเอง หรืออาจจะเรียกว่าหาทางลงจากหลังเสือของนายฮัสซันก็ได้

"สถานะของนายฮัสซันที่ไม่สามารถคุมกองกำลังในพื้นที่ได้จริง เป็นเรื่องเก่าที่รู้กันอยู่แล้ว และทุกฝ่ายก็น่าจะเห็นตรงกัน เช่นเดียวกับการล้มโต๊ะเจรจาที่น่าจะเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาในกระบวนการพูดคุยหนนี้ ฉะนั้นเมื่อพูดคุยกันมา 3-4 รอบแต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร และนายฮัสซันเองก็เปิดเผยหน้าตาผ่านสื่อไปหมดแล้ว เขาเองก็อาจจะต้องมานั่งคิดว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร การเสนอข้อเรียกร้องแบบแรงๆ และอีกฝ่ายปฏิบัติไม่ได้แน่ๆ ก็อาจจะเป็นทางออกที่สวยงามจากกระบวนการนี้"

แนะเปิดแนวรุก "คุยตรง" กับกลุ่มในพื้นที่

ดร.ปณิธาน ซึ่งรับรู้การเจรจาสันติภาพดับไฟใต้ในรัฐบาลชุดที่แล้ว และยังติดตามสถานการณ์ชายแดนใต้อย่างใกล้ชิด เสนอว่า ทางออกของรัฐบาลนอกจากการตั้งคณะทำงานชุดเล็กไปพูดคุยแทน และทอดเวลาการพูดคุยเจรจาออกไปก่อน ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานะที่ไม่ค่อยมั่นคงของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ด้วยแล้ว รัฐบาลน่าจะปรับวิธีการด้วยการเปิดวงพูดคุยตรงกับบรรดาแกนนำกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่ด้วย

"ผมคิดว่าคณะทำงานชุดเล็กเป็นเรื่องจำเป็น โดยต้องถึงฝ่ายปฏิบัติในพื้นที่ซึ่งมีประสบการณ์กับการพูดคุยลักษณะนี้อยู่แล้วไปร่วมทีมด้วย และไม่ใช่คุยแต่กับกลุ่มของนายฮัสซันเท่านั้น แต่เป็นกลุ่มอื่นๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ เราอาจให้ฝ่ายปฏิบัติเปิดชื่อของแกนนำเหล่านี้ แล้วรุกเข้าไปพูดคุยกับเขาเลย ที่ผ่านมาเรามีฐานข้อมูลอยู่แล้วจากหมายจับและ หมาย พ.ร.ก.(ออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แต่วิธีการคือเข้าไปปิดล้อมตรวจค้นแล้วจับกุม หรือยิงเขาตาย ฉะนั้นถ้ายกคนกลุ่มนี้ขึ้นมา เปิดชื่อเปิดตัวแล้วไปหาเขา พูดคุยกับเขา แทนการปิดล้อมจับกุม น่าจะเป็นการเปิดแนวรุกทางการเมืองใหม่โดยไม่ต้องรอการเจรจากับกลุ่มนายฮัสซันอย่างเดียว"

ดร.ปณิธาน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาทีมเจรจาก็พยายามรุกกลับทางการเมือง เช่น กรณีที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และนำข้อสังเกตต่างๆ กลับไปยันทางฝ่ายบีอาร์เอ็น ซึ่งถือว่าทำได้ดี แต่ยังไม่ส่งผลสะเทือนมากพอ การพูดคุยตรงกับกลุ่มในพื้นที่น่าจะช่วยได้ และสามารถใช้พลังมวลชนกดดันคนเหล่านั้นหากพูดคุยแล้วสถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่ดีขึ้น

ฝ่ายมั่นคงชี้เงื่อนไขใหม่ตอกย้ำ 5 ข้อเรียกร้อง

ด้านความเห็นของฝ่ายความมั่นคง แหล่งข่าวจากหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ เผยว่า หน่วยได้มีการหารือกันถึงเงื่อนไขใหม่ของบีอาร์เอ็นเช่นกัน แต่เป็นเพียงกรอบกว้างๆ เพราะมองว่าเงื่อนไขที่ยื่นมาใหม่ยังไม่มีเนื้อหาอะไรใหม่หรือหลุดไปจากกรอบข้อเรียกร้องเดิม 5 ข้อ

เช่น การให้ถอนกำลังทหาร ตำรวจจากนอกพื้นที่ ออกจากดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นการตอกย้ำเรื่อง "สิทธิความเป็นเจ้าของ" ที่บีอาร์เอ็นพยายามสื่อผ่านข้อเรียกร้อง 5 ข้อ หรือการให้อาสารักษาดินแดน หรือ อส.ที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ต้องประจำการช่วงเดือนรอมฎอน ก็เป็นการส่งสัญญาณเรื่องการเคารพอัตลักษณ์และวิถีปฏิบัติตามหลักศาสนา

"เรามองว่าเงื่อนไขดูแปลกๆ อย่างเรื่องให้ อส.มุสลิมไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ จริงๆ แล้วเราก็ให้สิทธิ อส.มุสลิม และกำลังพลที่เป็นมุสลิมได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มที่อยู่แล้ว หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอน ช่วงเทศกาลฮารีรายอก็ให้ลาหยุด หนำซ้ำปัจจุบันเฉพาะพื้นที่นี้้ยังกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการด้วย"

แหล่งข่าวบอกด้วยว่า เงื่อนไขที่ให้ยุติการปิดล้อมตรวจค้นจับกุม รวมทั้งตั้งด่านสกัดบนถนนนั้น เป็นสิ่งที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กำหนดเป็นแผนปฏิบัติอยู่แล้วทุกปี เพื่ออำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนได้ปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มที่ และปีนี้แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ได้แถลงแผนดังกล่าวไปแล้ว เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่ให้การสนับสนุนมาก ทำให้บีอาร์เอ็นเสียมวลชน จึงต้องเสนอเงื่อนไขข้อนี้ขึ้นมาเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกดดันจากบีอาร์เอ็น

"เราอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนอยู่แล้ว และได้ลดระดับการปิดล้อมตรวจค้นในช่วงเดือนรอมฎอนของทุกปี โดยเน้นภารกิจเชิงรับในแง่ของการรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ไม่ใช่การถอนทหาร หรือลดกำลังทหาร หรือไม่มีการปิดล้อมตรวจค้นโดยสิ้นเชิง เพราะหากมีสถานการณ์ร้ายเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติ มิฉะนั้นจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้" แหล่งข่าว ระบุ

นักสิทธิฯหนุนสภาถก 5 ข้อบีอาร์เอ็น

ขณะที่ความเห็นของนักสิทธิมนุษยชน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของนายฮัสซันเป็นการกดดันทางการเมือง ซึ่งความเป็นจริงก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 5 ข้อมีลักษณะเป็นนามธรรม มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่รัฐบาลไทยจะรับไปพิจารณา รวมทั้งการเรียกร้องให้มีการยอมรับสถานะของกลุ่มตนเอง รายละเอียดของกฎหมายยังไม่เปิดช่องให้สามารถกระทำได้ และข้อเรียกร้องต่างๆ จริงๆ แล้วต้องให้ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน 

"สำหรับเงื่อนไขใหม่ที่จะให้ถอนทหารออกจากพื้นที่นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะทหารยังคงทำหน้าที่ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอยู่ ทางที่ดีควรจะเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นรูปธรรมมากกว่าการเรียกร้องให้ถอนทหาร เพราะการยกเลิกกฎอัยการศึกจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานตามกรอบของกฎหมายปกติเนื่องจากกฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่ใช้ในสภาวะสงคราม ไม่เอื้อต่อการเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ"

ส่วนการยื่นเงื่อนไขให้นำข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่เสนอไว้ก่อนหน้านี้เข้าที่ประชุมรัฐสภาของไทยนั้น น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า ด้านหนึ่งก็เห็นด้วย เพราะการพูดคุยหรือการเจรจาสันติภาพไม่ใช่งานของหน่วยงานรัฐหน่วยใดหน่วยหนึ่งไปทำ หากนำเข้าหารือในสภาก็จะได้รับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนประชาชนอย่างหลากหลาย และควรยกระดับการพูดคุยเจรจาให้เป็นวาระแห่งชาติ การนำเข้าที่ประชุมสภาจะทำให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

น.ส.พรเพ็ญ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลตัดสินใจยุติการพูดคุยสันติภาพก็คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย และทางภาคประชาสังคมก็ต้องหาทางผลักดันให้มีการพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ เพราะประชาชนทั่วไปให้ความคาดหวังกับการเจรจาครั้งนี้มาก แม้จะเริ่มต้นจากฝ่ายการเมือง หรือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียก็ตาม นอกจากนี้ อยากให้คู่เจรจามีความอดทนอดกลั้นมากกว่านี้

"การที่บางฝ่ายออกมาพูดให้ยุติการเจรจา เป็นเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เพราะไม่ใช่เสียงของประชาชน และไม่ได้เป็นตัวแทนที่ดีของประชาชน เนื่องจากคนในพื้นที่ต้องการให้ยุติความรุนแรง" น.ส.พรเพ็ญ ระบุ

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะมีการนำข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นเข้าไปหารือในที่ประชุมรัฐสภา เพราะเป็นข้อเรียกร้องระดับประเทศ ควรนำไปพูดคุยกันในหมู่ผู้แทนประชาชนเพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ถือเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ด้วย ส่วนจะประชุมลับหรือเปิดเผยเป็นการตัดสินใจของสภา

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////

บีอาร์เอ็นอาจไม่ได้เรียกไทย "นักล่าอาณานิคมสยาม"

ไม่เฉพาะข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นเท่านั้นหรอกที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงและกองทัพประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า "ยอมรับไม่ได้" ตั้งแต่ได้ยินและถอดความคำแถลงกันมาเมื่อปลายเดือน เม.ย.2556



       ทว่ายังมีคำเรียกขาน "รัฐไทย" ว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" อีกที่ไม่เฉพาะฝ่ายความมั่นคงไทยเท่านั้น แต่คนไทยทั่วๆ ไปก็คงยอมรับยาก

ก็ประวัติศาสตร์ไทยมีแต่เรื่องที่ไทยเสียเปรียบ เสียดินแดนจากยุคล่าอาณานิคม แต่บีอาร์เอ็นกลับมาต่อว่าไทยว่าเป็น "นักล่าอาณานิคม" เสียนี่ ทำเอาบรรยากาศการ "พูดคุยสันติภาพ" ชักจะไม่ค่อยสันติภาพสักเท่าไหร่

ข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ พร้อมคำว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" นี้ ทางบีอาร์เอ็นกลุ่ม นายฮัสซัน ตอยิบ แถลงผ่านคลิปวีดีโอทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ครั้งแรกเมื่อปลายเดือน เม.ย.ก่อนการพูดคุยสันติภาพรอบ 2 เพียงไม่กี่วัน และมาแถลงย้ำอีก 2 ครั้งช่วงปลายเดือน พ.ค. ก่อนการพูดคุยสันติภาพรอบ 3

แน่นอนว่านายฮัสซันและพวกแถลงเป็นภาษามลายู จากนั้นก็มีผู้แปลถอดความออกมาเป็นภาษาไทย ทั้งที่แปลโดยระบุชื่อผู้แปล และการแปลแบบไม่ระบุชื่อ แต่ส่งต่อๆ กันทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงที่แปลสรุปๆ เสนอผ่านสื่อสารมวลชนกระแสหลักด้วย

คำว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม" เริ่มมาจากจุดนั้น

แม้จนถึงวันนี้ สังคมไทยได้พูดและแชร์วลีนี้ต่อๆ กันไปจนเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่า "เชื่อกันไปแล้ว" ว่าบีอาร์เอ็นใช้คำที่มีความหมายนี้ ทว่า ศ.ดร.รัตติยา สาและ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลายูศึกษาชื่อดัง ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กลับเสนอมุมมองที่แตกต่าง และให้ข้อคิดในเรื่อง "การแปล" เอาไว้อย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะการแปลในเรื่องที่ละเอียดอ่อนในบริบทของการพูดคุยเพื่อสันติภาพของสองชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาแตกต่างกัน...

ศ.ดร.รัตติยา อธิบายว่า การแปลเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนซึ่งต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะนักแปลหรือล่ามสามารถทำให้คนทะเลาะกันและทำให้คนดีกันได้ด้วย นักแปลจึงต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหาและรายละเอียดเรื่องวัฒนธรรม ตลอดจนวิธีคิดของเจ้าของภาษาต้นทาง การแปลงานบางอย่างผู้แปลต้องเก็บคำให้ละเอียดและต้องแปลด้วยคำในภาษาปลายทางที่ให้ความหมายระดับเดียวกันให้มากที่สุด เพราะคำบางคำหากแปลด้วยคำที่ต่างระดับ ก็ให้ความรู้สึกที่ไม่ดีได้

เช่น คำว่า 'penjajah Siam' (เปินฌาฌัฮ เสียม ; คำที่บีอาร์เอ็นใช้ในการแถลง) คือ "เจ้าปกครองสยาม" หรือ "ผู้ยึดครองสยาม" คงไม่ใช่ระดับคำ "นักล่าอาณานิคมสยาม"

คิดว่าการแปลไม่ควรกระทำแค่ดูตัวอักษรอย่างผิวเผิน นอกจากนั้นถ้าเป็นงานที่ถอดเสียงมาจากการพูดคุย ก็จำเป็นต้องฟังเสียงด้วย เพราะน้ำเสียงคนพูดสามารถสื่อความหมายเชิงลึกได้ ลักษณะน้ำเสียงที่ต่างกันบางเสียงมีความหมายแฝง การแปลอาจสร้างความรุนแรงได้ คือรุนแรงเพราะการใช้คำผิดระดับ หรือไม่ก็แปลด้วยน้ำเสียงที่ผิดระดับ บางคนใช้น้ำเสียงเรียบๆ ไม่ได้รุนแรง แต่ใช้คำแรง บางครั้งการใช้น้ำเสียงก็ช่วยลดความรุนแรงได้ หรือเวลาพูด เสียงอาจฟังว่าแรง แต่จริงๆ เขาใช้คำที่ธรรมดามาก

ดังนั้นต้องฟังเสียงและฟังคำควบคู่กันอย่างตั้งใจ ถึงจะได้ความหมายที่ตรงและสื่อด้วยภาษาปลายทางที่ถูกต้องได้ เพราะเสียงบอกอารมณ์ของผู้พูด

"คน 2 คนพูด คนหนึ่งเราฟังได้ แต่อีกคนพูดเรื่องเดียวกันเราฟังไม่ได้ เพราะข้อจำกัดของการใช้ภาษาปลายทาง ฉะนั้นผู้แปลบางคนฟังภาษาต้นทางรู้ แต่อ่อนภาษาปลายทาง หรือเข้าถึงภาษาต้นทาง แต่เวลาถ่ายทอดคำศัพท์ของภาษาปลายทางกลับจำกัด ฉะนั้นต้องคิดเยอะๆ"

ศ.ดร.รัตติยา บอกอีกว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีประชาชนเป็นผู้ติดตามผล การแปลงานระดับนี้ โดยเฉพาะผู้ที่แปลถ่ายทอดบนโต๊ะพูดคุย ผู้แปลต้องเข้าถึงทั้งสองภาษาอย่างมีจิตวิญญาณที่สมดุลทั้งไทยและมลายู

"การเปิดโต๊ะคุยกันเป็นโอกาสดีมากแล้วที่ทั้งสองฝ่ายได้เปิดใจคุยกันอย่างตรงไปตรงมา หากมีคำพูดใด เป็นคำ หรือวลี หรือประโยคที่ฟังแล้วกำกวม หรืออาจกลิ้งได้ในภายหลัง ก็สมควรที่จะสร้างความชัดเจนที่โต๊ะนั้นเลย ไม่อย่างนั้นอาจถอดรหัสคำพูดไม่ได้ตรงความหมาย"

"สำหรับการคัดล่ามไปใช้ในงานระดับนี้ สำคัญที่สุดต้องเป็นผู้ที่รักษาความลับได้ดี สุขุม รอบคอบ และอ่อนไหว ล่ามไม่มีหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง หน้าที่การให้ข้อมูลเป็นเรื่องของประธานคณะเจรจาหรือไม่ก็ผู้ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ล่ามต้องเข้าถึงความหมายของภาษาต้นทางและภาษาปลายทางอย่างผู้รู้ และไม่ใช่คนเดียว ต้องไม่ใช่เป็นคนที่พูดภาษามลายูเป็นอย่างเดียว แต่ต้องใช้ภาษาไทยได้อย่างแตกฉานด้วย จึงจะไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง ที่สำคัญคือจะได้สร้างความไว้วางใจแก่ทุกคน ทุกฝ่าย" ศ.ดร.รัตติยา กล่าว

เป็น "สาร" และ "น้ำเสียง" ที่เต็มไปด้วยความห่วงใย อยากให้เกิดความเข้าใจ และอยากให้สันติภาพได้ก้าวเดิน...

////////////////////////////////////////////

สันติวิธี หนทางสู่สันติภาพที่แท้จริง

โดย ดร.อิสมาอีลลุตฟีย์ จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะล




          สืบเนื่องจากรัฐบาลและกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ แสดงเจตจำนงพูดคุยเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นอำนวยความสะดวก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งตัวแทนทั้งสองฝ่ายได้มีการพบปะพูดคุยครั้งแรก เพื่อกำหนดกรอบการพูดคุย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และทั้งสองฝ่ายมีกำหนดจะพบปะพูดคุยเพื่อสันติภาพอีกครั้ง ในวันที่ 29 เมษายน 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิด สันติภาพ ในพื้นที่ต่อไป
                ในระหว่างที่กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกำลังดำเนินไปท่ามกลางความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคุกรุ่น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติในครั้งนี้อย่างหลากหลาย ในการนี้ เพื่อให้กระบวนการการพูดคุย หรือ การเจรจา เพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วประเทศปรารถนา สามารถดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุถึงข้อตกลงสันติภาพ ข้าพเจ้า ในฐานะที่เป็นประชาชน นักวิชาการและนักการศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอมีส่วนร่วมเสนอแนะแนวคิดที่เป็นหนทางในการส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจา เพื่อสันติภาพให้มีความก้าวหน้าและประสบผลสำเร็จ ดังนี้

1.  การพูดคุย เจรจา : เส้นทางสู่ความสันพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจกัน
                การที่ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ รวมทั้งรัฐบาลมาเลเซีย ได้ริเริ่มกระบวนการสันติวิธีสู่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการหันมาพูดคุย หรือ เจรจา ถือว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
กล้าหาญและน่าชมเชย สร้างความหวังแก่ประชาชนในพื้นที่ เพราะ การแก้ปัญหาโดยสันติวิธีเป็นหนทางเดียวที่สามารถนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริง ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่า ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนทุกศาสนาและชาติพันธ์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องมุสลิม จำเป็นต้องรีบตอบรับหรือขานรับ ร่วมมือและสนับสนุนทันที เมื่อการพูดคุย หรือ การเจรจาเพื่อสันติภาพถูกเรียกร้องหรือริเริ่ม แม้นการริเริ่มหรือการเรียกร้องจะมาจากฝ่ายที่เห็นต่างจากเราก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อขานรับคำเชิญชวนของคัมภีร์อัลกุรอาน ความว่า


           “และหากพวกเขาโอนอ่อน เพื่อสันติภาพ(เพื่อสงบศึก)แล้ว ก็จงอ่อนโอนตามเพื่อการนั้นด้วย และจงมอบหมายภารกิจเพื่ออัลลอฮฺ(พระเจ้า)เถิด แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ(พระเจ้า)เป็นผู้ทรงได้ยิน และผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง
และถ้าพวกเขาปรารถนาจะลวงเจ้า(โดยสัญญาสันติภาพนั้น) ดังนั้น อัลลอฮฺ(พระเจ้า)ทรงเพียงพอแล้วสำหรับเจ้า พระองค์คือผู้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยกำลังของผู้ศรัทธา
(ความหมายของกุรอาน 8 : 61 – 62 )

ในส่วนของฝ่ายรัฐบาล จำเป็นต้องส่งสัญญาณ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้ความเข้าใจแก่ข้าราชการและบุคลากรของรัฐทุกหน่วยงาน ให้มีความรู้ ความเข้าใจในยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติภาพ หรือ นโยบายการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจในนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐ สามารถนำยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลสู่ภาคปฏิบัติอย่างเป็นเอกภาพ
                สำหรับภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้นำและนักการศาสนา ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษาและสตรี ควรเข้ามามีส่วนร่วม และสนับสนุนกระบวนการพูดคุยหรือเจรจาเพื่อสันติภาพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดการความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับสันติวิธี ตลอดจนการจัดเวทีพูดคุยสานเสวนาประชาชนในภาคส่วนต่างๆในเรื่องสันติภาพและการกระจายอำนาจ เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากพลังของภาคส่วนต่างๆเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญ ที่ค้ำชูและผลักดันให้กระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบผลสำเร็จ

2. ความยุติธรรม คือ รากฐานของสันติภาพ
                คัมภีร์อัลกุรอานหลายโองการได้ค้ำชูและปูทางสำหรับแบบแผนของสันติภาพ และยังได้สนับสนุนให้ใช้กระบวนการสันติวิธี ในการเรียกร้องคืนสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าของสิทธิ ห้ามละเมิดหรือรุกรานผู้อื่น พร้อมกันนั้น ต้องดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ทำดีกับมวลมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลาย
                แม้กระทั่งกับข้าศึกในสงคราม เมื่อใดที่พวกเขาตอบรับการเจรจา ประนีประนอม ความยุติธรรมต้องอยู่เหนืออารมณ์และความรู้สึกส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ทางเครือญาติและมิตรสหายหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่า

ดังพระดำรัสของพระเจ้า ความว่า
บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเป็นผู้ธำรงความเที่ยงธรรม ในการเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ(พระเจ้า) แม้จะเป็นอันตรายต่อตัวสูเจ้าเอง หรือ พ่อแม่ ญาติสนิทของสูเจ้าก็ตาม แม้เขาจะมั่งมีหรือยากจนก็ตาม...

(ความหมายของคัมภีร์อัลกุรอาน 4 : 135)

ศาสนาอิสลามสอนให้อำนวยความยุติธรรม กับข้าศึกหรือศัตรู ความว่า

บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงเป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ในการเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ(พระเจ้า) และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า” (ความหมายของคัมภีรกุรอาน 5: 8)

สรุปแล้ว การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน เป็นรากฐานสำคัญที่ค้ำชูและปูทางสำหรับกระบวนการสร้างสันติภาพ
ฉะนั้น ในกระบวนการพูดคุยหรือเจรจา เพื่อยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องถือว่า การอำนวยความยุติธรรมในทุกมิติและทุกด้าน ต้องเป็นวาระที่สำคัญของการพูดคุยหรือเจรจา พร้อมกับมีมาตรการในการอำนวยการความยุติธรรมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงจะทำให้กระบวนการพูดคุยหรือเจรจาเพื่อสันติภาพประสบผลสำเร็จ

                แน่นอน สำหรับพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในเรื่องอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ ผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ย่อมมีมุมมอง ความคิด ความเข้าใจในเรื่องสันติวิธี สันติภาพและความยุติธรรมที่หลากหลายและแตกต่างกัน

                ดังนั้น เพื่อให้กระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาได้รับการตอบรับ สนับสนุนจากประชาชนทุกภาคส่วน ทุกศาสนาและชาติพันธุ์ ข้าพเจ้าจึงเสนอ ให้รัฐจัดให้มีคณะกรรมการยุติธรรมและสมานฉันท์ภาคประชาชนชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้แทนประชาชนจากศาสนิกและชาติพันธุ์ต่างๆ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน ผู้แทนสตรี โดยคณะกรรมการชุดนี้มีบทบาทในการสนับสนุน ตรวจสอบและติดตามกระบวนการสันติวิธีสู่สันติภาพและการอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สานเสวนาในเรื่องสันติวิธีและการอำนวยความยุติธรรมในมิติและด้านต่างๆแก่ประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ เข้าถึง มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจยุทธศาสตร์และแนวนโยบายของรัฐในการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี พร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันและสนับสนุนกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจา เพื่อให้เกิดสันติภาพที่แท้จริง

3. ความยุติธรรมทางสังคม เพื่อการสร้างสันติภาพ
                หนึ่งในรูปแบบที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการอำนวยการความยุติธรรมแก่ประชาชน เพื่อเกื้อหนุนและส่งเสริมให้การเจรจา หรือ พูดคุยเพื่อสันติภาพประสบผลสำเร็จ และสอดคล้องกับหลักการอิสลาม ก็คือ การให้ความยุติธรรมในทางสังคม ภาครัฐไม่ควรละเลยการให้หลักประกันทางสังคม ด้วยการช่วยเหลือและเยียวยาแก่บรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีประสิทธิภาพ ยุติธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาในด้านจิตใจ การศึกษา คุณภาพชีวิตและรายได้ของครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

4. สันติภาพ คือวัตถุประสงค์หลักของศาสนบัญญัติ
                บทบัญญัติต่างๆในศาสนาอิสลาม มีจุดมุ่งหมาย เพื่อปกป้องศาสนา เกียรติ ศักดิ์ศรี สติปัญญา ชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน นั่นเอง
ดังนั้น ในทัศนะของอิสลามแล้ว ถือว่า การพูดคุย เจรจาหาทางออกด้วยความจริงใจและมีวิทยปัญญา ปราศจากผลประโยชน์ เพื่อหาทางยุติการใช้ความรุนแรง และการละเมิดในทุกรูปแบบ หลีกเลี่ยงมิให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สินของบุคคลและส่วนรวม ถือเป็นสิ่งที่อิสลามเรียกร้อง และเป็นการปูทางไปสู่สันติภาพ อันเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของศาสนาอิสลาม ในทางตรงกันข้าม ความเสียหายไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ และการพัฒนาประเทศ
 
5. การพูดคุย หรือ เจรจา คือ วิธีการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีที่ทุกฝ่ายต้องเชื่อมั่น มิใช่การทดลอง
                สำหรับมุสลิมส่วนใหญ่ มีความศรัทธาและยึดมั่นในแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆโดยสันติวิธี หรือ โดยการพูดคุย เจรจากัน ด้วยสติปัญญาและเหตุผล บริสุทธิ์ใจเพื่อที่จะให้เกิดสันติภาพที่แท้จริง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะ สันติภาพ เป็นทั้งหลักการศรัทธาและหลักการปฏิบัติของศาสนาอิสลาม ดังนั้น การอดทน
อดกลั้น ต่อปัญหาอุปสรรคและนสิ่งท้าทายต่างๆในกระบวนการพูดคุย หรือ เจรจาเพื่อสันติภาพ แม้ต้องใช้ระยะเวลานานนับสิบปีกว่าจะบรรลุข้อตกลง ย่อมดีกว่า การทนปล่อยให้สถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบเกิดขึ้นเพียงปีเดียว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ไม่ว่าความรุนแรงหรือความไม่สงบทีเกิดขึ้น ณ ที่ใดก็ตาม มันได้ทำลายความปกติสุขในชีวิตและสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน ภาพพจน์และชื่อเสียงของประเทศและประชาชนเป็นอย่างมาก ตลอดจนมันมีผลกระทบต่อเจริญเติบโตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการศึกษาของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
                สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจมีผู้มีส่วนได้เสียบางส่วน ที่ยังเป็นห่วง วิตกและกังวลว่า เมื่อการเจรจาเพื่อสันติภาพบรรลุผลแล้ว พวกเขาจะดำเนินชีวิตในพื้นที่อย่างไร?
                การตอบโจทย์ในข้อห่วงใยเหล่านี้ มันเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐและสื่อต่างๆ รัฐและสื่อต้องมีบทบาทในการสื่อสาร เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจในยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ทั้งต่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะนโยบายของรัฐในการสร้างสันติภาพและนำยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจในรูปแบบที่เหมาะสม ตามกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการถ่ายทอดประสบการณ์ในการจัดการความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น มีวัฒนธรรมและนิยมแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธี อันเป็นหนทางเดียวที่สามารถนำไปสู่สันติภาพทั้งในพื้นที่ ในประเทศและประชาคมโลก
 
6. การมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสันติภาพของประชาชน : หนทางสู่สันติภาพที่ยั่งยืน
                ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของของกระบวนการสันติวิธีสู่สันภาพที่ยั่งยืน ก็คือ ภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ตลอดภาคประชาชนที่เป็นศาสนิกและชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ค้ำชูและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติวิธีสู่สันติภาพ ยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสันติภาพ กระบวนการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และความยุติธรรมไม่ตรงกัน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเสนอให้ รัฐบาลกำหนดนโยบายเร่งด่วน เกี่ยวกับการจัดให้มีการเรียน การสอน การฝึกอบรม ด้านสันติศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ตลอดจนจัดให้มีหลักสูตร สื่อและกิจกรรมการฝึกอบรม ให้ความรู้เกี่ยวกับสันติศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี แทนที่ค่านิยมการแก้ปัญหาโดยใช้กำลังและความรุนแรง



         สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอวิงวอนและขอพรต่อเอกองค์อัลลอฮฺ(พระเจ้า) ทรงโปรดประทานให้การพูดคุย หรือ เจรจา เพื่อสันติภาพในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ ทรงประทานสันติภาพที่ยั่งยืนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า(อาคีเราะฮฺ) 


//////////////////////////////////////////////////////////

   “อาราฟัต” กับชีวิตที่ไม่เคยท้อแท้

      เปิดโลกการศึกษามุสลิม เป็นเรื่องราวโรงเรียนดารุสสาลาม จังหวัดนราธิวาส แหล่งผลิตนักศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือในจังหวัดอื่นของประเทศไทย ที่นับถือศาสนาอิสลามออกสู่สังคม หนึ่งในจำนวนนักศึกษาทั้งหมดประมาณ 5,000 คน คือ น้อง "อาราฟัต สามะยะซา" ปัจจุบันเป็นนักศึกษา ม.4 ผู้มากับความอดทน คิดดี ทำดี กตัญญูรู้คุณต่อบุพการี สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนในด้านต่างๆ เพียงเพราะฐานชีวิตครอบครัวที่ดี แม้ชีวิตการเป็นอยู่จะไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองก็ตาม น้องอาราฟัตเล่าว่าครอบครัวของตนเองเป็นครอบครัวเล็กๆ มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน พ่อชื่อนายอาหะมะ สามะยะซา อายุ 46 ปี อาชีพ ลูกจ้างชั่วคราวไปรษณีย์ ใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส แม่ชื่อ นางซูวิตา หะยีดอเลาะ ทำงานบ้านค้าขายเล็กๆ น้อยๆ โดยมีพี่สาวชื่อ น.ส.ตัสนิม เรียนอยู่ มศว. ประสานมิตร ปี 3 ได้ทุนเพชรในตม น.ส.อับตีซัม เรียนอยู่สงขลานครินทร์ (ปัตตานี) ได้ทุน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร น้องสาวชื่อ นูรไฮฟา เรียนอยู่ ม.1 ร.ร.ดารุสสาลาม และมีน้องผู้หญิงอีก 2 คน อายุ 3 ขวบ กับ 11 เดือน อาราฟัต ต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 06.30 น. ระยะทางจากบ้าน 10 กว่ากิโลเมตร เพื่อให้ถึงสถานีรถไฟแล้วนั่งรถไฟไปลงที่สถานีตันหยงมัสเพื่อเข้าสู่รั้วโรงเรียน เป็นอย่างนี้มา 4 ปีแล้ว ตั้งแต่จบประถมจากโรงเรียนศรีทักษิณ ใน อ.รือเสาะ แต่เขาไม่เคยท้อกับชีวิตที่เติบโตในวัยเรียนด้วยการเดินทางไปกลับด้วยรถไฟ ซึ่งต้องแย่งกันขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาเพราะเป้าหมายคือ การได้ศึกษาทั้งศาสนา และสามัญในโรงเรียนที่ตัวเองเลือกแล้ว

       โรงเรียนดารุสสาลามเปิดโอกาสให้น้องอาราฟัตเรียนในสิ่งที่เขาชอบเขาถนัดเป็นที่มาของความสุขในการเรียน ที่เสริมเพิ่มพลังให้เกิดความเข้มแข็ง การใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนต้องเรียนหนัก ทั้งศาสนาและสามัญ ผ่านกิจกรรมของโรงเรียนที่หลากหลายกอปรกับการได้ออกไปเยือนโรงเรียนต่างๆ ทำให้ น้องอาราฟัต เก็บประสบการณ์และการเรียนรู้ทั้งในชั้นเรียนและนอกสถานที่ การคบหาเข้าร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาในโรงเรียนอื่นไม่ว่าจะศาสนาใด ยิ่งทำให้มุมมองของการเรียนเสริมสร้างสติปัญญาและแนวคิดใหม่ๆ ให้แก่ตัว น้องอาราฟัต มาโดยตลอด เขาไม่เคยท้อที่จะเรียนรู้และจะก้าวต่อไป เพราะชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่จำความได้ แม่และพ่อไม่เคยท้อกับชีวิตให้เห็น คำพูดของแม่คือบทเรียนชีวิต ที่ทำให้ต้องเก็บมาคิดเสมอ เพราะทุกคำพูดคือความรักที่แท้จริง น้องอาราฟัต ไม่อยู่หอพักเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ เพียงเหตุผลสั้นๆ ที่น้องบอกมา คือยังมีน้องสาวอีกคนที่เพิ่งเข้าเรียน ม.1 และไม่อยากให้น้องต้องลำบาก โดยตัวเองขอเรียนไปกลับเพราะจะได้ช่วยแบ่งเบาภาระเลี้ยงดูน้องๆ อีกสองคน ช่วยขายของและช่วยทุกอย่าง ที่สำคัญไม่อยากจากแม่ไปไหน เพราะรู้ว่าพ่อกับแม่เหนื่อยมากับลูกๆ ตลอด น้องอาราฟัต ได้รางวัล Science Show จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, รางวัลประกวด "ภาษาไทย ภาษาถิ่น" จากกระทรวงวัฒนธรรม, เกียรติบัตรตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมการแสดง งานวันเด็ก ที่ทำเนียบรัฐบาล, เกียรติบัตรผ่านการอบรมนักจัดรายการเยาวชนสืบสานศาสนา จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส, เกียรติบัตรทูต "แนะแนว" โครงการทูตแนะแนวสัญจร, เกียรติบัตรการแข่งขันเล่าเรื่องจากภาพเป็นภาษาไทย, เกียรติบัตรนักเรียนดีเด่นของเทศบาลตำบลรือเสาะ, รางวัลการแข่งขันโต้วาที, รางวัลการแข่งขันอ่านทำนองเสนาะ ปีนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในสภานักเรียนปี 2556 ของโรงเรียนดารุสสาลาม ฯลฯ

         คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกทางเดินให้แก่ตัวเองได้ เพราะ น้องอาราฟัต มีข้อคิดดีๆ ในการดำเนินชีวิตว่า "สลัดความจน ค้นความเป็นตัวของตัวเองออกมาให้โอกาสตัวเองสักครั้ง สักวันเราคงได้ดี ฐานชีวิตที่ดี มีค่า ย่อมมาจากฐานศีลธรรมในหัวใจ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ขอเป็นกำลังใจกับน้องๆ ที่ครอบครัวหรือแม้แต่ตัวเองที่ประสบกับปัญหาเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำเอาแบบอย่างชีวิตของ “น้องอาราฟัต” ไปใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับชีวิตของตนเองใช้สติ ปัญญามีความอดทนอดกลั้นมีความมานะ ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วันหนึ่งเราจะยิ้มได้ด้วยหัวใจว่า "ชาติของเรา" เป็นชาติที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เพราะทุกคนรักชาติอย่างแท้จริง พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า "...เราไม่อาจทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ หน้าที่ของเราคือ ส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และยับยั้งคนไม่ดีไม่ให้สร้างความเสียหาย…….ความรักสามารถเปลี่ยนได้ทุกสิ่ง" เพราะฉะนั้น เรามาช่วยกันภาวนาให้ทุกคนรู้จัก "รักชาติ" กันเถอะ เพื่อทำให้ประเทศชาติของเราพบกับแสงสว่างแห่ง “รู้รักสามัคคี” ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เพราะทุกคนคือคนไทยใต้ร่มธงไตรรงค์.. 

ที่มา คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 24-02-2556


/////////////////////////////////////////////////////

สงครามปฏิวัติกับองค์กรอาชญากรรมค้ายาเสพติด


           สงครามปฏิวัติ คำนี้ดูเหมือนจะเป็นที่กล่าวถึงในยุคของสภาวะโลกปัจจุบัน นับตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุด จนถึงการหมดยุดสมัยของสงครามเย็น ซึ่งนักวิชาการด้านการทหาร และความมั่นคงที่ได้ศึกษาความหมายของสงครามปฏิวัตินั้น ได้กล่าว่าทฤษฎีนั้นได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และสภาวะการณ์ที่ต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของใครก็ตามเช่น  คาร์ล มาร์กช, เลนิน หรือประธาน เหมาเจ๋อตุง  แต่หากมองดูอย่างลึกซึ่งแล้วสงครามปฏิวัติคือสงครามประชาชน ซึ่งมีแต่การระดมมวลชนเท่านั้นจึงจะสามารถสร้างพลังอันยิ่งใหญ่ของสงครามปฏิวัติขึ้นมาได้ โดยมีปัจจัยทางการเมืองของกลุ่มต่อต้านโดยใช้กองกำลังติดอาวุธเข้าทำการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย หรืออำนาจของกลุ่มที่เริ่มก่อการสงครามปฏิวัติ แต่สุดท้ายแล้ว การถูกทำลาย และความเสียหายกับเกิดขึ้นกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นโดยตรง ไม่ว่าทางใดก็ตามโดยเฉพาะประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ นับว่าน่าสงสารที่สุดกับสถานการณ์เหตุการณ์บริเวณนั้นโดยเฉพาะเด็ก และเยาวชนในพื้นที่ช่วงชิง หรือต่อสู้ที่กลายเป็นเด็กด้อยโอกาส กำพร้า  อนาถา  หรือแม้ถูกใช้เป็นเครื่องมือถึงขั้นบ่มเพาะ ปลุกระดมให้จับอาวุธ เข้าร่วมสงครามด้วยวิธีใดก็ตามเพื่อให้กลุ่มของตนบรรลุเป้าหมายการเมืองตามที่ต้องการ
          ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทำให้เกิดรูปแบบของสงครามที่มีขบวนการปฏิวัติต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล ทุกพื้นที่ของโลกจะต้องมีขบวนการที่เกิดขึ้น ๓ กระบวนการเป็นแนวร่วมอยู่ในพื้นที่ต่อสู้ หรือพื้นที่แย่งชิงเสมอคือ ขบวนการการค้ายาเสพติด  ขบวนการค้าอาวุธสงคราม และขบวนการค้าของเถื่อน โดยมีปัจจัยร่วมคือการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ และอิทธิพลมืด (มาเฟีย) ร่วมด้วยเสมอ
          เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยก็น่าจะอยู่ในองค์ประกอบของสงครามปฏิวัติโดยมีกลุ่มขบวนการ BRN – COORDINATE เป็นองค์กรนำในการใช้มวลชน (ประชาชน) เข้าสู่การต่อสู้โดยใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อนต่อสู้กับรัฐไทย เป้าหมายเพื่อแยกตัวปกครองตนเอง และสิ่งที่มีความจำเป็นขององค์กรต่อสู้ในสงครามมวลชนที่สำคัญคือทุนทรัพย์ที่ต้องใช้อย่างมหาศาล ในการขับเคลื่อนกำลังทหาร (RKK) และดูแลองค์กรนำ (DPP) ในต่างประเทศ    การเคลื่อนย้ายเดินทางเข้า – ออก แต่ละครั้งต้องใช้เงินในการขับเคลื่อน แล้วมาจากไหนละ
          แรงขับเคลื่อนสำคัญที่เป็นตัวปลุกระดมของขบวนการก่อเหตุรุนแรงในประเทศไทยคือ เรื่องศาสนาอิสลามซึ่งหลักสำคัญในอิสลาม นั้นจะปฏิเสธเรื่องของยาเสพติดอย่างสินเชิงเพราะเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาดหรือ (ฮารอม) แต่ด้วยความจำเป็น หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในขบวนการก่อเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงตรวจพบทั้งพยาน หลักฐาน ตั้งแต่ระดับกำลังปฏิบัติการทหาร (RKK) ถึงระดับองค์กรนำ (DPP) ผู้ควบคุมสั่งการล้วนเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด การฟอกเงิน  การค้าของเถื่อน ค้าอาวุธ และการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติที่ได้กล่าวไว้แต่ต้น ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในสงครามปฏิวัติแบ่งแยกรัฐปาตานี
          ย้อนอดีตเหตุระเบิดครั้งใหญ่ อำเภอสุไหงโก – ลก ๑๓ กันยายน ๕๔ เกิดขึ้นหลังจากหน่วยงานความมั่นคงจับกุม นายอัสรี   ยูโส๊ะ  พร้อมยาบ้า ๑.๕ หมื่นเม็ด และกวาดล้างอย่างหนักถึงปัจจุบัน จนเจ้ามือหวยเถื่อน หวยมาเลเซีย บ่อนการพนัน เจ้าพ่อเงินกู้ แทบหากินไม่ได้จนเกิดเหตุระเบิดล่าสุด เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม ๕๕ ต้อนรับรอมฎอนที่ผ่านมา นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดย DSI, ปปส. ยังตรวจพบหลักฐานสำคัญที่ต้องใช้กฎหมายของ ปปช. เข้าตรวจสอบพิเศษคือพบมีเงินหมุนเวียนจากการฟอกเงินธุรกิจผิดกฎหมาย ยาเสพติด น้ำมันเถื่อนที่มีการส่งให้กับกลุ่มแกนนำสั่งการก่อเหตุรุนแรงในมาเลเซีย โดยฟอกเงินผ่านร้านทอง ร้านขายสินค้าเสื้อผ้า ส่งเข้าทางมาเลเซีย ไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๓๐ ล้านบาท จนนำไปสู่การจับกุมร้านทอง บ้านเกาะตา อ.สุไหงปาดี และร้านประเสริฐอาภรณ์ เทศบาลอำเภอสุไหง โก – ลก ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 
            ขบวนการก็ใช่จะน้อยหน้า อิทธิพลมีตั้งระดับผู้ใหญ่บ้านถึงนักการเมืองท้องถิ่น เมื่อ ๘ กุมภาพันธ์ ๕๕ หลังการจับกุม กำนันดัง ตำบลลุโบ๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายมะรอนิง  จาโก ก็เกิดเหตุระเบิด ระเบิดบริเวณสี่แยกหน้าสาธารณสุข จังหวัดปัตตานี วันที่  ๙  กุมภาพันธ์ ๕๕  ทันที ส่งผลมีผู้บาดเจ็บ  ๑๕  คน เสียชีวิต ๑ คน ที่สำคัญกลิ่นยาบ้ามิทันจางหาย จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร โกตาบารู เข้าจับกุมนายซอบรี   หะยีสามะแอ และ นายอาลียะ  แยการีสง  พร้อมยาบ้าเกือบ ๔  หมื่นเม็ด ปืนเอ็ม ๑๖ จำนวน ๑ กระบอก และปืนลูกซองยาว ๕ นัด จำนวน ๑ กระบอก ซึ่งนายซอรี   หะยีสามะแอ มีพี่ชายที่เป็นกลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงระดับมือประกอบระเบิดระดับพระกาฬที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต้องการตัวคือนายไฟซอล   หะยีสามะแอ หลังจากนั้น  ๒๕  กรกฎาคม ๕๕ ตำรวจภูธรโกตาบารู ชุดจับกุมยาเสพติดโดนระเบิดคาร์บอมระหว่างเดินทางกลับจากคุ้มครองรักษาความปลอดภัย ครู เสียชีวิต  ๕  นาย บาดเจ็บ ๑ นาย
           ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองท้องถิ่น คดีที่ถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนแกล้งลืมคือ ผู้ก่อเหตุรุนแรงลอบสังหาร นายมุกตาร์   กีละ   หัวหน้าพรรคประชาธรรม ผู้ซึ่งประชาชนรู้ดีว่าคนผู้นี้รณรงค์ต่อต้านเรื่องยาเสพติดในพื้นที่อย่างหัวชนฝาไม่ยอมใครและเป็นที่ชื่นชอบจนนำมาซึ่งฐานเสียงที่มากขึ้นจนมีแนวโน้มจะชนะถึงระดับประเทศ และต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือของขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งถูกชาวบ้านยิงตายในเวลาใกล้เคียงพร้อมอาวุธปืนโดยผู้สังหารนายมุกตาร์ฯ นั้นเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงกลุ่มบ้านกูจิงรือปะนั่นเอง
           และหลักฐานสำคัญที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงให้ความมั่นใจว่า ขบวนการกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเชื่อมโยงกับขบวนการค้ายาเสพติด คือการเข้าจับกุม และยึดทรัพย์เครือข่ายของตระกูล เปาะดาเอาะ ซึ่งมีทรัพย์สินทั้งบ้าน ที่ดิน รถยนต์ และทองคำ มากกว่า ๔๐๐ ล้านบาท   และพบหลักฐานสำคัญคือการโอนเงินจากขบวนการยาเสพติดให้กับผู้นำขบวนการก่อเหตุรุนแรงในประเทศมาเลเซียปีละไม่ต่ำกว่า ๖๐ ล้านบาท โดยใช้นามว่า “อาเยาะซู” และมีการเดินทางไปมอบเงินด้วยตัวเองถึงมือ มะแซ  อูเซ็ง  ทุกปี
             ทั้งนี้หน่วยงานความมั่นคงยังพบหลักฐานการซื้ออาวุธให้กลุ่มกองกำลัง RKK และการจ่ายค่าตอบแทนเป็นยาเสพติดโดยปืน ๑ กระบอกที่ได้จากเจ้าหน้าที่แลกยาบ้าได้ ๑ ถุง หรือเงินสดในราคา ๒๐,๐๐๐  บาท และการที่หน่วยงานความมั่นคงต้องนำ ปปช. และ DSI มาร่วมด้วยเพราะพบหลักฐานในเรื่องการออกเงินกู้  การกว้านซื้อที่ดิน หวยเถื่อนทั้งมาเลเซีย และไทย น้ำมันเถื่อน บ่อนการพนัน และอาวุธ ซึ่งทั้งหมดฟอกเงินผ่านธนาคาร, ร้านค้าทองคำ, ร้านรับแลกเงิน, ร้านขายผ้า และในมาเลเซียคือธุรกิจร้านกาแฟหรือเครือข่ายขายตรง ทั้งหมดคือผลประโยชน์ที่กลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงได้รับปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า  ๑,๐๐๐  ล้านบาท
            เมื่อกองกำลังปฏิวัติมีอาวุธในมือ มีกำลังทหารที่สั่งการเคลื่อนไหวอย่างเสรี มีระเบิด เป็นอาวุธทุกครั้งที่มีการก่อเหตุ ฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจทหาร บ้านเมือง จะโฟกัส ไปที่กลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรง ทั้งไล่ติดตาม แม้ตั้งด่านตรวจก็เพ่งเล็งที่ตัวบุคคลเป้าหมาย จึงเปิดโอกาสให้กลุ่มค้ายาเสพติดเคลื่อนไหว โยกย้ายจำหน่ายได้เสรีจนธุรกิจยาบ้าเฟื่องฟูที่สุดในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ใครเอาของไปไม่จ่ายก็ตาย ใครแจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปจับเครือข่ายคนนั้นตาย เมื่อการสังหารเจ้าหน้าที่เอาอาวุธมาแลกยาได้ ประชาชนไม่กล้าปิดปากเงียบ เมื่อมีจำนวนเงินมากมหาศาลจากการค้ายาบ้าก็ปล่อยเงินกู้ร้อยละ ๒๐ ใครเปี้ยวตาย เปิดบ่อนการพนัน ค้าหวยเถื่อน  น้ำมันเถื่อน รวมถึงเงินทุนซื้อเสียงเมื่อมีการเลือกตั้งทุกระดับโดยมี RKK เป็นกองกำลังสนับสนุนเหมือนกับพรรคฝ่ายค้านพรรคหนึ่งในประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะการบังคับ ข่มขู่  กว้านซื้อที่ดินสวนยางพาราโดยมีนอมินีบังหน้า    ซึ่งมีข้อมูลค่ามหาศาลแบบไม่มีใครกล้าขวาง
      สุดท้ายการกระทำของกลุ่มขบวนการก่อเหตุรุนแรงที่อ้างว่าปฏิวัติเพื่อประชาชนนั้น หาใช่อุดมการณ์หรือนักรบของประชาชนวีระบุรุษฟาตอนีแต่ประการใด หากนั่นคือองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ (Organnized Crime) หรือ มาเฟีย (Mafia) หรือกลุ่มคนหรือสมาชิกกลุ่มคน ที่อยู่อาศัยเงื่อนไขบางประการรวมตัวกันขึ้นประกอบมิจฉาชีพ ในการทำมาหากินเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง และสุดท้ายก็คือคนมาลายู ลูกหลานมาลายูมุสลิมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้แหละที่จะทุกข์ร้อน     เจ็บซ้ำอย่างแสนสาหัส ประชาชนต้องลำบากทุกข์เข็ญหาได้ประโยชน์ใดเลยจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มเผด็จการมุสลิมที่อ้างว่าทำเพื่อคนมาลายู แต่ที่สาหัสคือลูกหลานมลายูต้องตกเป็นทาสยาเสพติด ขาดการศึกษาหมดอนาคต สุดท้ายก็ตกเป็นเครื่องมือของขบวนการที่อ้างว่าทำเพื่อมาลายูปัตตานี
               จากปัญหาที่ซับซ้อนในมิติขององค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ที่มีขบวนการแบ่งแยกดินแดน และกองกำลังทหารติดอาวุธ RKK ขับเคลื่อนควบคุมประชาชน หน่วยงานความมั่นคงจึงกำหนดยุทธศาสตร์     การแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อนเป็น ๑ ในยุทธศาสตร์ แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และจากความพยายามของฝ่ายความมั่นคงร่วมกัน      ทุกภาคส่วนที่ลงความเห็นจากทุกเวทีเสวนา ทุกกลุ่มชุมชนที่ว่าขณะนี้ปัญหายาเสพติดเป็นภัยคุกคามระดับต้นฯ ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกภาคอื่นก็ด้วยปัจจัยของกลุ่มขบวนการที่สนับสนุนที่กล่าวมาข้างต้น ล่าสุดจากการขับเคลื่อนร่วมกันของรัฐบาล และผู้นำศาสนาในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สงขลา และ สตูล ที่มองเห็นปัญหาว่าลูกหลานกำลังออกห่างจากศาสนา และมัวเมาในยาเสพติดจนตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้หวังดี จึงได้รวมตัวกันกำหนดปฏิญญาปัตตานี ๒๕๕๕ ณ โรงแรม ปาร์ควิว รีสอร์ท อำเภอเมืองจังหวัดปัตตานี โดยใช้ศาสนาอิสลาม เป็นข้อปฏิบัติ และข้อห้าม
                จากภัยคุกคามของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ภัยของยาเสพติด จนเป็นองค์กรอาชญากรรมสร้างความทุกข์ร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับประชาชน  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของประเทศ องค์กรภาคประชาสังคม (NGO), องค์กรท้องถิ่น, ประชาชนทั่วประเทศ และพี่น้องมุสลิมมาลายู ต้องตื่นจากหลุมพราง และกับดักของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนเสียที หันหน้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาพิษภัยของ ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยความจริงใจ ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดแต่เพียงลำพัง เพราะผลลัพธ์สุดท้ายผู้ที่ได้เสียจากการแก้ไขปัญหาหรือปล่อยปะละเลยไม่สนใจ เอาแต่โยนความผิดให้ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายเดียว ผู้ที่ต้องรับกรรมประสบแต่ความทุกข์ยากลำบาก คือประชาชนพี่น้อง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนมลายูมุสลิม ลูกหลานมลายูทั้งหลายที่ถูกหลอกใช้ครอบงำ โดยขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่จะเข้ามาปกครอง มาลายูปัตตานีด้วยระบบเผด็จการมุสลิม
บินหลาดง  ยะลา

/////////////////////////////////////////////////////

   อย่าลืมว่าความคิดก็เป็นอาวุธเช่นกัน” จากซาปาติสตา ถึงแนวร่วมก่อการ จชต.

              ขณะที่เฝ้าติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด ด้วยต้องติดตามความเคลื่อนไหว แปลเปลี่ยนของกระแสโลก ซึ่งสภาวการณ์ที่มนุษยชาติเชื่อมโยงกันได้แบบ Real Time ไม่ว่าจะเป็นกระแสของวิกฤติค่าเงินยูโรในโลกตะวันตก ถึงสถานการณ์จอมืดในประเทศไทยจากการถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลยูโร 2012 ที่การเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนในการได้ชมถ่ายทอดฟุตบอลอย่างเสรี รวมถึงเฝ้าติดตามสถานการณ์ในโลกมุสลิมอาหรับ ที่ยอดผู้เสียชีวิตในประเทศซีเรียจากการสู้รบของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลประธานาธิบดี บาซาร์ อัล-อัสซาด มุสลิมเผด็จการ จนทำให้มียอดพลเรือนผู้เสียชีวิตสูงถึง 8,000 คน ซึ่งยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงอย่างง่าย วกกลับมาที่เหตุการณ์ประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และอัญมนี  ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองของทั่วโลก ในการเปิดประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการทหารมาอย่างบาวนานของรัฐบาลพม่า เข้าสู่การเริ่มต้นของระบบประชาธิปไตย โดยมีตัวละครที่สำคัญคือนางอองซาน ซูจี ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิการปกครองในระบบประชาธิปไตยให้กับชนกลุ่มน้อยรัฐบาลพม่าด้วยสันติวิธีมาอย่างยาวนานจนสำเร็จในที่สุด ที่เกิดเหตุการณ์สังหาร ระหว่างพลเรือนพม่าที่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลามชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 50 ศพ และ บาดเจ็บกว่า 54 คน เมื่อลองมานั่งทบทวนถึงเหตุการณ์ต่างๆทั้งในอดีต และปัจจุบัน ที่เกิดการสู้รบของกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างกัน จนนำไปสู้การจับอาวุธขึ้นต่อสู้ เพื่อต้องการเอาชนะให้ได้มาซึ่งความถูกต้องตามความคิดของกลุ่มตนเอง รวมถึงการสร้างเหตุรุนแรง เข่นฆ่าซึ่งกันและกันเพื่อเรียกร้องให้นานาประเทศหันมาสนใจ และสนับสนุนกลุ่มของตนเอง เช่น ประเทศติมอร์ตะวันออก ประเทศซูดาน ประเทศลิเบีย สุดท้ายความสูญเสียกลับเป็นพลเมืองที่บาดเจ็บล้มตาย และความเสียหายของสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรม ที่ถูกทำลายด้วยอาวุธ
              แต่ถ้าเราหันกลับมามองความสำเร็จจากการต่อสู้ของนางอองซาน ซูจี หรือบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโลก มหาตมา คานธี ที่ต่อสู้กอบกู้เอกราชให้พ้นจากการปกครองของอังกฤษ ด้วยแนวทางสันติวิธี ใช้การปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจ ความคิด ให้กับประชาชน ให้สนับสนุนเพื่อร่วมกันต่อสู้ รวมถึงให้กระแสโลกหันกลับมามองและสนับสนุน จนนำไปสู่ชัยชนะของประชาอย่างแท้จริงในที่สุด เหตุนี้เองจึงทำให้เห็นได้ว่าความคิด และปัญญา นั้นคืออาวุธที่สำคัญในการต่อสู้ เพื่อเรียกร้องในความเป็นภราดรภาพ โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ
          ขอหยิบยกบทความฉบับหนึ่ง โดผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า “ยิบโซ” จาก เว็บไซต์ WWW.Fatoni online.com  เมื่อ Monday 09 Apr 2012 เรื่อง อย่าลืมว่าความคิดก็เป็นอาวุธเช่นกัน” จากซาปาติสตา ถึงแนวร่วมก่อการ จชต.
          "หากเจ้าไม่สามารถเลือกเหตุผลและกำลังได้พร้อมกันสองอย่าง จงเลือกเหตุผลก่อนเสมอ แล้วปล่อยให้ศัตรูเลือกกำลังไป ในบางสนามรบ พละกำลังเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ชัยชนะก็จริง แต่เหตุผลต่างหากที่จะทำให้เราได้ชัยชนะในการต่อสู้โดยรวม คนที่มีพละกำลังไม่มีทางค้นหาเหตุผลจากความแข็งแกร่งของตนเอง ในขณะที่เราสามารถค้นพบความแข็งแกร่งจากเหตุผลได้เสมอ...อย่าลืมว่าความคิดก็เป็นอาวุธเช่นกัน"  เป็นคำกล่าวของ ดอน อันโตนีโอ อาจารย์และพ่อบุญธรรมของรองผู้บัญชาการมาร์กอส ผู้นำกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา ประเทศเม็กซิโกเป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อ ซาปาติสตา หรือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา นำเอาการรบที่ใช้อาวุธแห่งอุดมการณ์ที่เต็มไปด้วยเหตุผล ความคิด และการใช้สมองมากกว่าพละกำลัง นำไปสู่ชัยชนะเหนือรัฐบาลเม็กซิโกเมื่อ 18 ปีก่อนเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์โลกจารึก เกิดขึ้นเมื่อรุ่งสางของวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1994 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา บุกเข้ายึด 6เมืองในรัฐเชียปาส ประเทศเม็กซิโก ประกอบด้วยเมืองมาร์การิตัสเมืองอัลตามิราโนเมืองลา เรอัลลิดัด เมืองชานัล เมืองโอโกซินโก และเมืองซาน คริสโตบัล เดอ ลาส กาซัส ปฏิบัติการครั้งนี้ใช้กองกำลังอินเดียนแดงชาวพื้นเมืองประมาณ 600 คน ร่วมกับสมาชิกที่เป็นพลเรือนอีกประมาณ 3,000 คน เข้ายึดที่ทำการเทศบาลของแต่ละเมือง โดยแทบไม่มีการเสียเลือดเนื้อ อาวุธที่พวกเขาใช้มีตั้งแต่ปืนอาก้า-47 ไปจนถึงปืนปลอมที่ทำจากไม้! ซาปาติสตา หรือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา เป็นกลุ่มปฏิวัติติดอาวุธที่มีฐานที่มั่นในป่าลึก ลากันดอน” ในรัฐเชียปัส ซึ่งเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดของประเทศเม็กซิโก ประชาชนที่นั่นถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง (เผลอๆ อาจเป็นชั้นที่สาม สี่ หรือที่โหล่สุดๆ ของเม็กซิโกด้วยซ้ำ) พวกเขาเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ถูกชนชาติอื่นมารุกราน ฉกฉวยทรัพยากรของพวกเขาไป ไม่เพียงเท่านั้นชาวพื้นเมืองดั้งเดิมอย่างพวกเขายังถูกเหยียดหยาม และถูกลิดรอนสิทธิทั้งในทางวัฒนธรรม การเมือง และสังคมอีกด้วย นี่จึงกลายเป็นความเหมือนที่แตกต่างของอดีตรัฐปัตตานีอันรุ่งเรืองของชนชาวมุสลิมที่ต่อมาก็รู้สึกถึงการถูกกดขี่จากคนของรัฐเช่นกัน ต่างกันที่ว่า ชนชาวพื้นเมืองในรัฐเชียปัสมีวิธีแสวงหาอิสรภาพที่ไร้ความรุนแรง หากแต่ลุ่มลึกและกล้าหาญกว่านั้นการก่อกบฏและการปฏิวัติของชาวพื้นเมืองในเชียปาสปะทุขึ้นหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญและอยู่ในความทรงจำมากที่สุดคือ การปฏิวัติภายใต้การนำของ ปานโช วีญ่า และเอมีเลียโน ซาปาตา โดยเฉพาะซาปาตาที่เป็นผู้นำชาวพื้นเมืองและชูคำขวัญ "ที่ดินและอิสรภาพ" เป็นการเคลื่อนไหวสำคัญที่นำเม็กซิโกไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1911 โดยทำให้เม็กซิโกมีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิของชาวพื้นเมือง การปฏิรูปที่ดิน และคำมั่นสัญญาอื่น ๆ ทว่า...ในกาลต่อมามันไม่เคยปรากฏเป็นจริงในทางปฏิบัติ ขบวนการซาปาติสตา อันหมายถึง "ผู้เจริญรอยตามซาปาตา"  จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่พวกเขาควรจะได้รับจากภาครัฐซึ่งได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบยึดอำนาจ พวกเขาเพียงเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้วมาปฏิบัติอย่างจริงจังเท่านั้นเอง นี่คือฐานแห่งอุดมการณ์ที่ซาปาติสตายึดมั่น และได้ใจชาวพื้นเมืองทุกคนจนเข้ามาเป็นแนวร่วมด้วยอย่างไร้ข้อกังขารัฐเชียปาสเป็นรัฐที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเม็กซิโก เป็นแหล่งผลิตกาแฟ ปศุสัตว์ และโกโก้ สามารถผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ในปริมาณมากและมีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ไม่ต่างอะไรกับภาคใต้ของไทย แต่ในจำนวนประชากร 3.7 ล้านคนในปี ค.ศ. 1994  (เกือบ 50% ของประชากรทั้งหมดที่นั่น)อยู่ในภาวะทุพโภชนาการ อีก75% มีรายได้ต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำสุดของประเทศเม็กซิโก และ 56% อ่านเขียนไม่ได้
          ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา ขบวนการซาปาติสตาได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลเม็กซิโก โดยมีชนพื้นเมืองเป็นแนวร่วม และมีผู้สนับสนุนอื่นๆ ในเขตเมือง และจากนานาชาติโดยผ่านเว็บไซต์ ที่น่าสนใจก็คือ วิธีการก่อกบฏของพวกเขาปราศจากความรุนแรง ถึงขนาดที่นักท่องเที่ยวในเมืองซาน คริสโตบัล ที่ถูกพวกเขายึดได้ในรุ่งสางของวันขึ้นปีใหม่ ค.ศ.1994 ต่างไม่รู้สึกแตกตื่นตกใจแม้แต่น้อย แม้ถนนบางสายถูกปิด แต่ก็มีคำรับรองจากขบวนการว่า ในเขตที่กองกำลังซาปาติสตายึดครองนั้น นักท่องเที่ยวและประชาชนทุกคนจะมีความปลอดภัยเต็มที่ พวกเขายังทิ้งท้ายด้วยอารมณ์ขันว่า "ขออภัยในความไม่สะดวก แต่นี่คือการปฏิวัติ" ในวันนั้น รองผู้บัญชาการมาร์กอส - ผู้นำขบวนการซาปาติสตาได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติถึงมูลเหตุของการปฏิวัติครั้งนี้ว่า...."วันนี้คือวันเริ่มต้นข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ซึ่งที่แท้แล้วคือคำสั่งประหารชาวพื้นเมืองในเม็กซิโก ประชากรที่เป็นส่วนเกินในแผนการนำประเทศไปสู่ความทันสมัยของประธานาธิบดีซาลินาส เด กอร์ตารี กอมปันเญอโร เราจึงตัดสินใจก่อการขึ้นในวันนี้ เพื่อตอบโต้ต่อประกาศิตความตายที่ข้อตกลงการค้าเสรีหยิบยื่นให้แก่พวกเรา และเพื่อเรียกร้องอิสรภาพและประชาธิปไตยของพวกเรา" (ถอดความจาก zapatistarevolution.com)ครั้งนั้นแทนที่สื่อจะได้เจอกองกำลังติดอาวุธแบบที่เคยๆ มีมาคือ อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งปวง ไม่ก็อ้างว่า วิถีทางของตัวเองเป็นหนทางเดียวในการแก้ปัญหา หรืออ้างถึงอะไรให้ดูดีเพื่อการปฎิวัติ แต่ผู้นำซาปาติสตากลับไม่ทำเช่นนั้น เขาให้สัมภาษณ์ว่า "เราหวังว่าประชาชนคงเข้าใจเจตนารมณ์ที่ผลักดันให้เราก่อการครั้งนี้ เป็นเจตนาอันชอบธรรม และเส้นทางที่เราเลือกเป็นเพียงวิถีทางหนึ่ง ไม่ใช่วิถีทางเดียว ทั้งเราก็ไม่คิดว่ามันเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดด้วย เราขอเชื้อเชิญให้ประชาชนลงมือกระทำเช่นเดียวกัน โดยไม่ใช่ลุกขึ้นจับอาวุธ แต่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อที่จะมีรัฐบาลเสรีประชาธิปไตยที่แท้จริงในเม็กซิโก...เราไม่ต้องการเผด็จการรูปแบบไหนทั้งนั้น และไม่ต้องการอะไรในระดับโลกอย่างลัทธิคอมมิวนิสต์สากลด้วย"  สง่างามและกล้าหาญอย่างที่เราไม่เคยได้ยิน (และอาจไม่มีวันได้ยิน) ผู้นำหรือแกนนำขบวนการใดๆ ในประเทศไทย ยืดอกแบบลูกผู้ชายที่มีศักดิ์ศรีออกมากล่าวเช่นนี้เป็นแน่ นอกจากหลบอยู่ในมุมมืดคอยกล่อมใช้จ้างวานเด็กหนุ่มที่กล้าเฉพาะตอนลอบฆ่าคนกับวางระเบิดป่วนเมืองไปวันๆ เท่านั้น
นึกภาพไม่ออกเลยว่า ถ้าผู้นำขบวนการกับบรรดาเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาระดับปัญญาชนมือระเบิดจากชายแดนใต้ ออกมาจากมุมมืด แล้วรบแบบเผชิญหน้ากัน ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ เหตุผล และความคิด ดังคำที่ ดอน อันโตนิโอ กล่าวไว้ข้างต้น ในแบบที่ขบวนการซาปาติสตาทำสำเร็จมาแล้ว....จะเป็นเช่นไร
พวกเขาจะกล้าเผชิญหน้าแบบนั้นไหม?  ยิ่งมาดูเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเราตลอดหลายปีที่ผ่านมา เป้าหมายการฆ่าเจ้าหน้าที่ผิดทิศผิดทางไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นฆ่าชาวบ้านด้วยกันเอง อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งเกิดเหตุระเบิดที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี โดยฝีมือของคนร้ายจากกลุ่มไม่หวังดี(กับใครทั้งนั้น) ทำให้นักเรียนหญิงมุสลิมเสียชีวิตไป 1 ราย บาดเจ็บสาหัสอีกหนึ่ง หรือคาร์บอมบ์กลางเมืองยะลา ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 10 ราย บาดเจ็บอีกเป็นร้อย และสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อบ้านเรือนประชาชน ไปจนถึงคาร์บอมบ์ที่โรงแรมลี การ์เด้นท์ กลางเมืองหาดใหญ่ สร้างความพินาศทางเศรษฐกิจที่นั่นแบบย่อยยับในช่วงที่กำลังจะดีขึ้น นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเวลาใกล้ๆ กันภายในเดือนเดียวเท่านั้น ที่คนร้ายก่อเหตุลอบวางระเบิดแบบมุ่งหมายไปยังผู้บริสุทธิ์  ซึ่งก่อนหน้านั้นก็เกิดขึ้นอยู่แล้ว แทบไม่เว้นวัน โดยไม่สนใจประชาชนผู้บริสุทธิ์ว่าจะได้รับอันตรายหรือไม่เพียงใด หวังแค่ต้องการสร้างความหวาดกลัว สร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้นไปวันๆ เท่านั้น นี่คือความเหมือนที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงในทางอุดมการณ์ ความกล้าหาญ และการใช้มันสมองขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมาย ขณะที่กลุ่มก่อการร้าย จชต.ปฏิบัติการคล้ายพวกแก๊งสเตอร์เข้าไปทุกที จนห่างไกลจากคำว่าอุดมการณ์แบบกู่ไม่กลับ แนวร่วมภาคประชาชนโดยเฉพาะมุสลิมด้วยกันก็ดูจะยิ่งถอยออกห่าง และไม่เห็นด้วยกับวิธีการรุนแรงมากขึ้น ความต่างที่น่าทึ่งอีกประการก็คือ แม้สมาชิกในขบวนการซาปาติสตา จะเป็นแค่พลเมืองยากจนที่ไร้การศึกษา ไม่ได้เรียนจบนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์มาอย่างผู้นำหรือสมาชิกกลุ่มก่อการจชต.ในไทย ทว่า การเคลื่อนไหวของพวกเขากลับได้รับการยกย่องและขานรับในระดับสากล โดยไม่ต้องวางแผนก่อการเพื่อหวังพึ่งพาองค์กรต่างชาติให้เข้ามาวุ่นวายภายในประเทศ กระบวนยุทธของซาปาติสตาที่ติดอาวุธทางความคิด ทำให้ นิวยอร์ก ไทมส์” เรียกขานขบวนการเคลื่อนไหวนี้ว่า เป็นการปฏิวัติในแบบโพสต์โมเดิร์นนั่นเพราะ ซาปาติสตา เป็นกลุ่มปฏิวัติที่หลีกเลี่ยงการติดอาวุธมาตั้งแต่กองทัพรัฐบาลเม็กซิโกเข้าปราบปรามการลุกฮือของพวกเขาด้วยกำลัง ในปี พ.ศ. 2537 กลุ่มซาปาติสตาหันมาใช้ยุทธศาสตร์การต่อสู้แบบใหม่อย่างทันควันและชาญฉลาด โดยดึงการสนับสนุนจากชาวเม็กซิโกและกลุ่มสังคมนิยม-อนาธิปไตย (socialist-anarchist) จากนานาชาติ ด้วยการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และระดมแรงสนับสนุนจากกลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มศิลปินนักดนตรี และกลุ่มนักต่อสู้เพื่อสังคมต่าง ๆ
ซึ่งต่างจากกลุ่มเอ็นจีโอในชายแดนใต้ของไทยเราที่หลับหูหลับตาโจมตีแต่ปฎิบัติการผิดพลาดของทหารและฝ่ายรัฐ แต่กลับไม่กล้าแตะต้องหรือเรียกร้องให้กลุ่มก่อการร้ายที่ทำพลาดอยู่บ่อยครั้ง และรุนแรงขึ้นทุกทีจนชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ต้องตายเป็นเบือ ให้ออกมารับผิดชอบอะไรบ้าง เอ็นจีโอเหล่านี้ถนัดแต่แอคชั่นเพื่อให้ได้มาซึ่งแรงหนุนจากต่างชาติ โดยนัยว่าเป็น ทุน” เพื่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมและช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อไฟใต้ทั้งที่ความจริงก็คือ พวกเขาขลาดกลัวเกินกว่าจะพูดความจริงและนำเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา บ้านเราจึงเต็มไปด้วยของปลอมๆ ไปหมด ทั้งพวกอุดมการณ์ปลอม ทหารปลอม และเอ็นจีโอปลอมหันกลับมาดูกระบวนยุทธของจริงดีกว่า ที่ทำให้ซาปาติสตามีผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามาเป็นแนวร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเพราะจุดยืนที่ชัดเจนของพวกเขาคือ การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในที่ดินที่พวกเขาอาศัยอยู่ดังคำขวัญแรกของซาปาติสตา ที่ว่า “Ya Basta!” (พอกันที!)ที่มาจากคำแถลงการณ์ฉบับแรกจากแนวป่าลากันดอน โดยรองผู้บัญชาการมาร์กอสผู้นำซาปาติสตาที่ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวเพื่อแสดงจุดยืนอันชัดเจนของพวกเขาว่า พวกเขาเป็นขบวนการปฏิวัติที่ไม่ได้แสวงหาอำนาจเพื่อตนเอง ไม่ต้องการต่อรองกับรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
 แต่พวกเขาเป็นขบวนการปฏิวัติ ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน นี่คือการปฏิวัติเพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม... วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2537 กองทัพซาปาติสตา ได้ประกาศเขตการปกครองอิสระ ซึ่งประกอบไปด้วย เขตเทศบาล 38 แห่ง โดยเขตการปกครองอิสระของซาปาติสต้า ดำรงอยู่เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2547 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา จึงประกาศว่า กองทัพขอมอบอำนาจการปกครองให้แก่ชุมชนชาวพื้นเมือง โดยที่การตัดสินใจของชุมชน ไม่ต้องขึ้นกับกองทัพซาปาติสตาอีกต่อไป....นี่คือตำนานการต่อสู้ยุคใหม่ที่ติดอาวุธทางความคิด ห้าวหาญในอุดมการณ์ที่แน่วแน่ และได้รับการยอมรับนับถือ รวมถึงได้ใจมวลชนแบบของจริง! (ขอขอบคุณข้อมูลจาก ยิบโซ WWW.Fatoni online.com  เมื่อ Monday 09 Apr 2012)
กลับมาวิเคราะห์หยั่งลึกในภาพของการปฏิบัติของขบวนการโจรก่อการร้าย แบ่งแยกดินแดนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้บ้านเราบ้าง กลุ่มก่อการใช้วิธีสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนโดยใช้ความแตกต่างของชาติพันธุ์ ศาสนา มาตุภูมิ คือ คนชาติพันธุ์มลายู นับถือศาสนาอิสลาม ในดินแดนปัตตานีที่ถูกรุกราน โดยชนชาติสยามที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม การปกครองที่ไม่เป็นธรรม การกดขี่ ข่มเหงรังแก ใช้การต่อยอดตำนานที่มีอยู่แล้วใช้ศาสนาที่ถูกบิดเบือนใช้ตำนานที่สร้างขึ้นใหม่ เล่าขานกันรุ่นต่อรุ่น ปลูกฝังเล่าขานในครอบครัว ในชุมชนมุสลิม ในโรงเรียนตาดีกา  ในโรงเรียนปอเนาะ ในมัสยิด หรือแม้นกระทั่งเพลงที่ใช้กล่อมเด็กตั้งแต่ยังแบเบาะ รวมถึงการอิงศาสนาที่ให้ผู้ต่อสู้ทำการพลีชีพ เพื่อให้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า เป็นนักรบของพระเจ้า(ซะฮีด) รวมถึงการผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐจากความไม่รู้ในระยะเริ่มต่อสู้ จนถึงความจำกัดในสภาวะแวดล้อมของสถานการณ์ จนนำไปสู้การปลุกระดม ของฝ่ายก่อการ ซึ่งแท้จริงเพื่อให้เกิดการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ ให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์ เรียกร้องให้สังคมโลก ให้สนับสนุนความคิด และกลุ่มของตนเองเป็นจุดยืน ซึ่งจะนำไปสู่การปกครองสู่ระบบเผด็จการของกลุ่มตน ไม่ได้เกิดภราดรภาพที่แท้จริงกับประชาชนเลย สุดท้ายในสงครามที่ต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชน และประชาคมโลก ไม่เคยมีสงครามไหนที่ชนะด้วยการใช้อาวุธ และความรุนแรง ซึ่งมีแต่การสร้างความสูญเสีย ความเลวร้ายอันเกิดกับประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ชัยชนะที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการใช้สันติวิธี การต่อสู้ด้วยสติปัญญา ความรู้ ความคิด ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้ก็จะเกิดกับประชาชนอย่างแท้จริง  
สันติ  รายา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น