เพราะอาจจะกำลังสับสนกับสถานการณ์และแรงกดดันจากหลายด้าน โดยเฉพาะบนเวทีการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย ที่ประเทศมาเลเซียเลยทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มแสดงออกถึงของความไร้เอกภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น จนอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญนำไปสู่ความระส่ำระส่าย ตั้งแต่ระดับนำ ไปจนถึงระดับปฏิบัติการ
บวกกับแรงกดดันจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทั้งบุกจู่โจมแบบไม่ให้ตั้งตัว ตามโพยที่มีอยู่แต่เดิม ทั้งจับเป็นและจับตาย เพื่อป้องปรามไม่ให้ขบวนการเคลื่อนไหว กลายเป็น “ขบวนการกองโจรไร้สังกัด” ตั้งวงสร้างอำนาจในแต่ละเขตปกครองแบบของใครของมัน
สะท้อนภาพความ “ระส่ำ” จากกรณี ทหาร ฉก.ปัตตานี ทหารพรานที่ 41 ตำรวจ ศชต.ปิดล้อมและวิสามัญ “อับดุลรอฮิง ดาอีซอ” หรือ “เปเล่ดำ” พร้อมพวกรวม 4 ศพ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา เหตุเกิดที่ บ้านน้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ที่กลายเป็นประเด็นให้สื่อฯ และเครือข่าย “วิชาการ” ส่วนหนึ่ง ออกมาโจมตีถึง “ปฏิบัติการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐว่าเกินกว่าเหตุหรือไม่?” ทั้งๆ ที่มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตในปฏิบัติการครั้งนั้นถึงสองนาย และหนึ่งในนั้นเป็นนายตำรวจระดับชั้นยศพันตำรวจโท
ซึ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับ “ปฏิบัติการเกินกว่าเหตุ” เป็นจุดอ่อนสำคัญในการ “จูงใจมวลชน”ที่กำลังเริ่มจะจุดติดและกลายเป็นจุดสนใจ แต่จู่ๆ ไม่กี่วันหลังจากนั้นในวันที่ 19 ตุลาคม กลับมี “สื่อฯ” ที่เข้าไปทำข่าววางระเบิดในพื้นที่หมู่บ้านฮูลูปาเระ หมู่ 1 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ได้รับบาดเจ็บถึง 5 ราย พร้อมๆ กับ มีคำเตือนจากกลุ่มเคลื่อนไหวออกมาข่มขู่สื่อฯ จากกลุ่มเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อฯ ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะตกเป็นเป้าหมายหากอยู่ใกล้เจ้าหน้าที่รัฐสวนทางสร้างข่าวพุ่งปากกระบอกปืนเข้าหาสื่อฯ ซึ่งไม่ต่างจากการทุบหม่อข้าวตัวเอง เพราะทุกปฏิบัติการของกลุ่มเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ปฏิเสธเรื่องของการสร้างพื้นที่ข่าวได้ยากยิ่ง
ทั้งหมดกลายเป็น “ปฏิบัติการสวนทางน้ำของกลุ่มขบวนการ” กับการพุ่งเป้าเข้าชนสื่อฯ เต็มๆ ที่กลายเรื่อง “สร้างดาวคนละดวง” และเป็นภาพสะท้อนความไร้เอกภาพที่ชัดเจนที่สุดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ณ ห้วงเวลานี้
นอกจากปฏิบัติการที่ดูเหมือนจะ “ไม่เข้าขา” และบางครั้งถึงกับ “ขัดขากันเอง” ของ แกนกองกำลังในพื้นที่แล้ว สายสัมพันธ์ของเครือข่ายในแต่ละขบวนการ ที่ชัดเจนว่าเป็นอีกหนึ่งใน “จุดแยกสำคัญ” ที่แสดงให้เห็นถึงภาพของ “ความระส่ำระส่ายที่ชัดเจนยิ่งกว่าชัดเจน
กับท่าทีของ “ขบวนการพูโล” ที่หลายฝ่ายกำลังตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับบทบาท และท่าที ที่ดูเหมือนกำลังจะ “ตกรถไฟขบวนสันติภาพ” ออกมาชิงแถลงข่าวถึงเป้าหมายแห่งภารกิจ และความสัมพันธ์กับกลุ่ม บีอาร์เอ็น โดยระบุแสดงตนให้เห็นว่า เป็นผู้กอบกู้เอกราช ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย และไม่ได้มุ่งสังหารเป้าหมายประชาชนพลเรือน ร้ายแรงไปถึงการสั่งห้ามไม่ให้สมาชิกของขบวนการพูโล ในพื้นที่ยุ่งเกี่ยวกับการกระทำของแนวร่วมอาร์เคเค ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธในสังกัด กลุ่มบีอาร์เอ็น ในพื้นที่อย่างเด็ดขาด
ขณะที่ท่าทีของกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีถึง “สถานะของพูโล” ในสายตาแกนการเมือง (บางคน) ที่กำลังง่วนอยู่กับเงื่อนไขบนโต๊ะเจรจากับรัฐบาลไทย กับการปรามาสและ “ไม่ให้ราคา”
บนภาพความสัมพันธ์ที่แตกร้าวของขบวนการเคลื่อนไหว กับการก้าวไปคนละเส้นทาง รวมถึงในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งมีกระแสข่าวถึงกับ “มีการขีดเส้นแบ่งเขตเคลื่อนไหวกันอย่างชัดเจน”
ตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ใครพื้นที่มัน ไม่เว้นแม่แต่ระดับแกนการทหารในขบวนการเดียวกัน!!
กับปฏิบัติการที่เริ่มสะเปะสะปะ ประสานตั้งตัวกันไม่ติด ทำให้มวลชนจำนวนหนึ่งเริ่มถอยออกห่างไปที่ละก้าว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ชนวนแห่งการ “ชิงพื้นที่ด้วยความรุนแรงในอนาคต”
นอกจากนี้ ยังมี “กลุ่มแจ้งเกิด” กลุ่มใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง อย่าง กลุ่มนักศึกษาในนามสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMAS ที่ “ชิงธงนำ” จัดกิจกรรมในช่วงครบรอบ 9 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยเน้นให้เห็นภาพ “การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์” เสมือนหนึ่งจะเย้ยให้กับ “ความรุนแรง” ทีเกิดขึ้นเกือบทุกปีที่ครบรอบเหตุการณ์ที่ตากใบ กลายเป็น “คลื่นลูกใหม่” แห่งการเคลื่อนไหวในแบบสันติวิธีที่มวลชนเองก็เริ่มหันมาให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น ในฐานะคลื่นลูกใหม่ สะท้อนภาพแห่งสันติวิธี จากพลังของ นักศึกษาและภาคประชาสังคมที่มีรูปธรรมชัดเจนที่จับต้องได้ รวมถึงได้รับความสนใจจากฝ่ายรัฐบาล โดยตรง
โดยมีการตั้งข้อสังเกตกันวันคลื่นลูกใหม่ที่เน้นการต่อสู้แบบสันติวิธี อาจเป็นความหวังเป็นที่พึ่งให้กับมวลชน ได้มากกว่ากลุ่มเคลื่อนไหวเดิมที่เน้นความรุนแรง และกำลังอยู่ภาวะ “ระส่ำระส่าย”
ทั้งการตั้งข้อสังเกตถึง ความไร้เอกภาพของ “กลุ่มเคลื่อนไหวในพื้นที่” และ “สายสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน” ของแต่ละขบวนการ จนเข้าสู่ภาวะ “ระส่ำระส่าย” นำไปสู่การถอดรหัสครั้งใหม่ถึงอนาคต ของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้รวมถึงผลลัพท์แห่งการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินต่อไป ท่ามกลางรอยร้าวลึกในสายสัมพันธ์ของทุกองคาพยพในกลุ่มเคลื่อนไหว ตั้งแต่ ระดับเครือข่าย รวมถึงในแต่ละระดับชั้น อันเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
เพราะแรงกระเพื่อมของกลุ่มเคลื่อนไหว ที่สั่นสะเทือนไปถึงรากในครั้งนี้ อาจเป็นช่องว่างสำคัญในปฏิบัติการกวาดล้างของภาครัฐ ทั้งโดยวิธีทางการทหาร และวิธีแบบพลเรือน !!
ทั้งปฏิบัติการจู่โจมตรวจค้น จับเป็น และจับตาย รวมถึงการเปิดประตูสันติวิธี “พาคนกลับบ้าน” ซึ่งล้วนแล้วแต่ “คืบหน้า” จาก “แรงกระเพื่อม” ในครั้งนี้ ล้วนคืนกลับมา เป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่มีนัยยะไปถึงความได้เปรียบของรัฐบาลไทยบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ ครั้งที่จะถึงนี้และครั้งต่อๆ ไป
จากเสียงสะท้อนของ พลโท พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ที่ยอมรับและออกมาเปิดเผยถึงสภาพการณ์ของกลุ่มเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นว่า “สัญญาณที่จะเกิดปัญหาความรุนแรงในช่วงนี้ (ครบรอบ 9 ปี เหตุการณ์ตากใบ) ค่อนข้างเบาบาง เพราะหน่วยปฏิบัติการก่อเหตุถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินการตอบโต้ ปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมได้ ทำให้กองกำลังส่วนนี้เกิดปัญหาและมีความเคลื่อนไหวน้อยลง และแนวโน้มของสถานกาณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้”
และทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่จะละสายตาไม่ได้ และกำลังจะทวีความสำคัญกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่อาจจะนำไปสู่เส้นทางแห่งสันติภาพในอนาคตได้เร็วกว่าที่คาดคิดไว้ พร้อมๆ กับการสูญสลายกลายเป็น “กองโจร” รักษาพื้นที่ของกลุ่มเคลื่อนไหว จนกลายเป็น “เป้าย่อย” ให้เจ้าหน้ารัฐปราบปรามกวาดล้างได้สำเร็จในที่สุด ...และนำไปสู่ “ความล่มสลาย” ของกลุ่มเคลื่อนไหวทั้งองคาพยพ
ที่มา ทับ ภารณ ฟาตอนีออนไลน์