12/23/2557

แนวทางการต่อสู้ของขบวนการ BRN

อิมรอน

ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดมาอย่างยาวนานไม่จบสักที ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มขบวนการมีการสร้างคนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเก่าๆ ที่ปลดระวางในการต่อสู้ ด้วยการฝังชิปปลูกฝังแนวความคิด บิดเบือนประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังได้มีการกำหนดแนวทางในการต่อสู้กับรัฐไทยอย่างชัดเจน

          แผนภูมิด้านบนคือแนวทางการต่อสู้ของขบวนการ BRN ซึ่งได้มีการปลูกฝังแนวความคิดประกาศจุดยืนฐานอิสลาม สมาชิกแนวร่วมจะต้องเป็นคนมลายู มีความคิดที่ก้าวหน้า รุกเร้าให้มีการก่อเหตุรุนแรงให้มากขึ้น โดยให้ในแต่ระดับมีเอกภาพในการควบคุมสมาชิกด้วยกันเอง

จุดยืนฐานอิสลาม
          จุดยืนฐานอิสลาม คือจุดยืนสำหรับการต่อสู้ของขบวนการ BRN จะต้องยืนอยู่บนฐานใน 2 เรื่องหลักด้วยกัน คือ
          1. ดารุลฮัรบี หมายถึง ปัตตานีเป็นดินแดน หรือประเทศที่ต้องทำการขับไล่ผู้รุกรานให้ออกไปจากแผ่นดินปาตานี
          2. อิสลามนูซันตารา การต่อสู้จะต้องนำพาปาตานีไปสู่อิสลามนูซันตารา คือเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกประเทศหนึ่งที่ปกครองแบบอิสลาม

คนที่ต่อสู้จะต้องเป็นคนมลายูปาตานี
          คนที่ต่อสู้จะต้องเป็นคนมลายูปาตานี คนมลายูปาตานีจะต้อง 5(NO)ไม่ กับคนสยาม กล่าวคือ

          1. NO INFORMATION
          จะต้องไม่ยอมรับสื่อ หรือข่าวสารใดๆ ที่มาจากฝ่ายรัฐบาลไทย หรือเจ้าหน้าที่รัฐไทย ต้องไม่ยอมรับ ไม่เห็นด้วย และต่อต้านข่าวสารทุกชนิดที่มาจากรัฐไทย

          2. NO COMPROMISE
          ไม่ยอมให้อภัย ไม่สมานฉันท์ ไม่คืนดี ไม่ให้คำมั่นสัญญา ไม่เจรจา ไม่ประณีประณอม จะต้องการให้มีการเจรจาเกิดขึ้น

          3. NO ASSIMILATE
          จะต้องไม่อยู่ร่วมกันอย่างเด็ดขาด ไม่กลมกลืนทางวัฒนธรรม ไม่ปรองดองกับสยาม ซึ่งสยามมีความพยายามทำลายความเป็นชนชาติมลายู ทำลายศาสนาอิสลาม

          4. NO AUTONOMY
          จะต้องไม่เอาเขตปกครองพิเศษ หรือ AUTONOMY อย่างเด็ดขาด เขตปกครองพิเศษไม่ใช่เป้าหมายการต่อสู้ขององค์กร ขบวนการ BRN มีเป้าหมายเดียวเท่านั้นคือเอกราช

          5. NO PALIAMENT
          จะต้องไม่ยอมรับกฎหมายไทย เพราะกฎหมายไทยเป็นกฎหมายของคนสยาม เป็นกฎหมายของชาวไทยพุทธ จะมาบังคับใช้กับคนมลายู และบังคับคนที่นับถือศาสนาอิสลามไม่ได้

ความคิดก้าวหน้า
          ความคิดก้าวหน้า คือ การสู้รบของมลายูอิสลามปาตานี จะสู้รบภายใต้แนวทางของขบวนการ BRN ยอมรับแนวทางการปฏิวัติของขบวนการอย่างเต็มที่ ไม่ยอมรับการเจรจา ไม่ยอมรับการประณีประณอม

การก่อเหตุให้รุนแรงและมากขึ้น
          การก่อเหตุให้รุนแรงและมากขึ้น จะต้องทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย คือ Merdaka (เอกราช) เท่านั้น การก่อเหตุรุนแรงจะต้องกระทำต่อเป้าหมาย 3 เป้าหมาย ด้วยกันคือ

          1. เป้าหมายอ่อนแอ ต้องกระทำทันที เช่น ทหาร, ตำรวจ, อ.ส., ทพ., เจ้าหน้าที่รัฐที่กลับบ้านโดยไม่ระมัดระวังตัว รวมไปถึงสายข่าว หรือมุนาฟิกในหมู่บ้าน สมาชิกของขบวนการ BRN ทุกคนจะต้องมีหน้าที่ในการสอดส่องดูแลเป็นหูเป็นตา รายงานให้สมาชิกปฏิบัติการ RKK ทราบทันที เพื่อทำลายให้หมดสิ้นไป

          2. เป้าหมายเข้มแข็ง ก็จะต้องกระทำเช่นเดียวกัน เพื่อแสดงศักยภาพให้มวลชนยอมรับว่าเราเหนือกว่ากองกำลังฝ่ายรัฐ เพื่อให้มวลชนศรัทธาต่อขบวนการ BRN มากกว่าศรัทธารัฐบาลไทย เป้าหมายเข้มแข็ง เช่น ทหาร, ตำรวจ, อส. และเจ้าหน้าที่ที่ลาดตระเวนเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่ หรือกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในฐานปฏิบัติการต่างๆ

          3. เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ คือเมื่อกระทำไปแล้วเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ศรัทธา ต่อรัฐบาลไทย หรือทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นศรัทธาต่ออำนาจรัฐไทย เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกพื้นที่ และในระดับโลก เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ เช่น ครู, พระ, วัด, โรงเรียน, คนไทยพุทธ รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ในชุมชน หรือทำลายแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ

เอกภาพในทุกระดับ
          1. เอกภาพในการปฏิบัติ
          2. เอกภาพในการขับเคลื่อนองค์กร
          3. เอกภาพในการใช้ยุทธวิธี

          สมาชิกของขบวนการ BRN ทุกคนจะมีสิทธิเสรีในการปฏิบัติการอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องการปฏิบัติการ การขับเคลื่อนองค์กร ทั้งองค์กรนำ, องค์กรมวลชน และองค์กรทางทหาร รวมถึงการปฏิบัติการทางยุทธวิธีต่างๆ ทุกคนจะมีเอกภาพในการปฏิบัติ แต่จะต้องอยู่ภายในกรอบ แนวทางการขับเคลื่อนขบวนการ BRN จนกว่าเราจะบรรลุจุดมุ่งหมาย นั่นคือเอกราช (Merdaka) เท่านั้น

          จากรายละเอียดข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีการกำหนดกรอบแนวทางในการต่อสู้ของขบวนการ BRN ประเด็นหลักๆ คงหนีไม่พ้นการบิดเบือน การปลูกฝังแนวความคิดที่ผิดๆ ให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะก้าวขึ้นมาทดแทนคนรุ่นเก่า พร้อมทั้งติดเขี้ยวเล็บทางความคิดปลุกปั่นเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ให้สมาชิกแนวร่วมนำไปเป็นเงื่อนไขในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ 

          ข้อความหลายบรรทัดมีการกล่าวถึงการไม่ยอมรับการเจรจา ไม่ยอมรับการประณีประณอมจากรัฐบาลไทย ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีท่านปัจจุบันได้ให้ความสำคัญในการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ เปิดเวทีให้กับกลุ่มที่มีความคิดต่างจากรัฐมาพูดคุยกัน แทนที่จะใช้กำลังในการก่อเหตุ ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีใดๆ เลยต่อองค์กรเลย ต่อประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในการลงทุนของนักธุรกิจ

          ปี 2558 เป็นปีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม AEC (Asean Economic Community) มีการแข่งขันกันในด้านการค้าการลงทุน หากกลุ่มขบวนการยังยืดเยื้อเดินหน้าในการสร้างสถานการณ์เช่นวันนี้อยู่ นักลงทุนต่างชาติก็ไม่กล้าที่จะมาลงทุนในพื้นที่แห่งนี้ แทนที่จะเกิดการจ้างงานให้กับพี่น้องปาตานีได้มีงานมีการทำ

          แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลยังได้มีการกระตุ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนในจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมารองรับ AEC ด้วยการพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลจังหวัดปัตตานี เป็นนิคมร่วมดำเนินงานระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท ฟาตอนี อินดัสทรี จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.น้ำบ่อ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี บนเนื้อที่ 173 ไร่เศษ

          พร้อมทั้งดึงบริษัทขนาดกลาง และขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในนิคมดังกล่าว อีกทั้งมีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนราธิวาสขึ้นมาเพื่อการพัฒนาเสริมสร้างความมั่นที่ยั่งยืนให้กับพื้นที่ต่อไป คาดว่าจะมีการจ้างงานเกิดขึ้นให้กับคนในพื้นที่ได้มีงานทำ กระตุ้นเศรษฐกิจด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวด้านชายแดน เพื่อการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายด่านพรหมแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของพี่น้องปาตานีจังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้....   

------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น