1/04/2563

ทำไม? ทหารต้องเข้าไปทำกิจกรรมในสถานศึกษา



เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ดังนั้น การปลูกฝังความคิดความเชื่อให้กับเด็กในวันนี้ ย่อมจะส่งผลให้เด็กในวันนี้ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพของชาติบ้านเมืองและสังคมได้  คนเราจะดีหรือไม่ดีนั้น โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นผลมาจากการเลี้ยงดู การอบรมบ่มนิสัย การปลูกฝังความคิดความเชื่อ และอื่นๆ  ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญและเป็นตัวกำหนดทิศทางในการดำเนินชีวิตให้กับเด็กแต่ละคนว่าจะเป็นไปในแนวทางใดแทบทั้งสิ้น

ปี พ.ศ.2535  มีการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ  ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้และในประเทศมาเลเซีย เพื่อทำงานร่วมกันตามแนวทางการปฏิวัติฯ ทฤษฎีบันได 7 ขั้น (มะแซ  อุเซ็ง) โดยได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นห้วงของการจัดตั้งและดำเนินงาน เพื่อสร้างความพร้อมของคน องค์กร และอุดมการณ์ (มี 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 การสร้างจิตสำนึกมวลชน , ขั้นที่ 2 การจัดตั้งมวลชน , ขั้นที่ 3 การจัดตั้งองค์กร , ขั้นที่ 4 การจัดตั้งกองกำลัง , ขั้นที่ 5 การสร้างอุดมการณ์ชาตินิยม) และส่วนที่ 2 เป็นขั้นการปฏิวัติ เพื่อความสำเร็จของการกู้ชาติปัตตานี (มี 2 ขั้น คือ ขั้นที่ 6 การเตรียมพร้อมปฏิวัติ และขั้นที่ 7 การจัดตั้งการปฏิวัติ หรือก่อการปฏิวัติ)  เพื่อให้เกิดเป็นสงครามประชาชนขึ้นในพื้นที่..

นับจากปี พ.ศ.2535 มาถึงวันนี้ พ.ศ.2563  เป็นเวลา เกือบ 30 ปีแล้ว  ที่แนวคิดเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดปลูกฝังให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ผ่านอุสตาสหรือครูสอนศาสนาบางคนบางกลุ่ม ทั้งในโรงเรียนตาดีกาและปอเนาะบางแห่ง  จนเกิดเป็นผลผลิตคนรุ่นใหม่ในวันนี้ หลายกลุ่ม หลายพวกที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวรวมตัวกันต่อต้านขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ สร้างกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดความเกลียดชัดระหว่างคนที่ในพื้นที่ที่มีความเชื่อถือศรัทธาตามหลักศาสนาที่แตกต่าง ด้วยการสร้างเรื่องราวความเป็นเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่ต่างกัน  เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกโดยใช้ความเป็นพวกเป็นกลุ่ม รวมถึงมีการบิดเบือนหลักศาสนาอิสลาม เช่น มุสลิมสามารถเข่นฆ่าทำลายชีวิตผู้คนต่างศาสนาได้ หรือแม้แต่คนมุสลิมด้วยกันก็ยังฆ่าได้ ถ้าคนนั้นไปให้การช่วยเหลือสนับสนุนคนต่างศาสนาแม้ว่าคนนั้นจะเป็นพ่อแม่ของตัวเองก็ตาม  อะไรเหล่านี้เป็นต้น

แม้ว่าวันนี้  ทุกภาคส่วนจะเห็นความสำคัญของปัญหาดังที่กล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงในการที่จะเข้าไปสอดส่องดูแลพฤติกรรมของอุสตาสหรือครูสอนศาสนา ให้ได้ครบทุกคนทุกสถานศึกษา ทั้งตาดีกาและปอเนาะ นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบาก เกินกว่าหน่วยงานปกติจะสามารถเข้าไปดำเนินการได้  ทำให้การปลูกฝังความคิดความเชื่อที่ผิดเพี้ยนต่างๆ  จากอุสตาสหรือครูสอนศาสนาบางคนบางกลุ่ม จึงยังคงมีอยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  

ด้วยภาระหน้าที่และความรับผิดชอบต่อแผ่นดิน เพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชน จึงเป็นคำตอบว่า.. ทำไม่ทหารจึงต้องเข้าไปชี้แจงแนะนำความเป็นจริงสิ่งที่ถูกต้องในสถานศึกษาทั้งตาดีกาและปอเนาะ รวมถึงสถานศึกษาอื่นในระบบการศึกษาของไทย ซึ่งทหารตำรวจได้เข้าจัดกิจกรรมเพื่อความรักความสามัคคีสร้างระเบียบวินัยและให้ความรู้นอกเหนือจากหลักสูตร ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย   จึงทำให้การปลูกฝังที่ผิดเพี้ยนที่ได้ดำเนินการกันมาของกลุ่มคนที่มีแนวคิดในการสร้างความสับสนวุ่นวาย สร้างความแตกแยกตามแนวคิดของมะแซฯ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องประสบปัญหาไม่สามารถปลุกระดมบ่มเพาะได้อย่างเสรีเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา..  คนกลุ่มนี้จึงได้เรียกร้อง โจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ต่างๆ นาๆ ว่าเข้าไปวุ่นวายบ้างล่ะ เข้าไปข่มขู่กดดันบ้างล่ะ สารพัดที่จะตีไข่ใส่ไฟให้ร้ายกับเจ้าหน้าที่.. 

แท้ที่จริงแล้ว..  คนกลุ่มนี้ ต้องการกลับเข้าไปปลุกระดม ปลูกฝังความคิดความเชื่อ ให้เกิดการแบ่งแยกโดยใช้ความแตกต่างทางด้านศาสนาและชาติพันธุ์ตามที่เขากล่าวอ้างสร้างเรื่องราวขึ้นมา  เพราะในความเป็นจริงแล้ว  บนแผ่นดินไทยนี้ พี่น้องทุกคนล้วนมีความแตกต่าง ทั้งเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ภาษา และความเชื่อถือศรัทธา อย่างหลากหลายในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย แต่ทุกคนที่เกิดมาบนแผ่นดินนี้ก็ล้วนแต่เป็นคนไทยเหมือนกัน..  ดังนั้นการปลูกฝังความคิดความเชื่อที่ถูกต้องให้กับเด็กในวันนี้จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เด็กในวันนี้ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพของชาติบ้านเมือง และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุขต่อไป..

...............................

1/03/2563

นักสิทธิ์ฯ ใช้การสูญเสียออกมาชี้นำเรียกร้อง..ให้เกิดความเกลียดชัง..



คนบางกลุ่ม นักสิทธิ์ฯ บางคน ได้ใช้การสูญเสียออกมาชี้นำเรียกร้อง..ให้เกิดความเกลียดชัง.. หวังแต่จะให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม..

ทุกการสูญเสียล้วนนำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจ ทั้งจากคนในครอบครัว คนในชุมชน และคนในสังคม  ไม่ว่าการสูญเสียนั้นจะเกิดมาจากสาเหตุใดก็ตาม  บนโลกใบนี้ความสูญเสียเกิดขึ้นทุกวันเวลาในทุกประเทศทั่วทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งรวมถึงในประเทศไทย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ มีคนบางกลุ่มบางพวก นักสิทธิ์ฯ บางคนบางกลุ่ม  มีความพยายามปลุกกระแส ออกมาชี้นำเรียกร้องในทำนองให้ชาวบ้านต่อต้านและเป็นคู่ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่  จากกรณีเกิดการเข้าใจผิดเจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เคลื่อนไหวอยู่บนเทือกเขาตะเว ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส  ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนทั่วไปขึ้นไปบนเขาตะเวอย่างเด็ดขาด เพราะอยู่ระหว่างการกวาดล้างไล่ล่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ที่เคลื่อนไหวและหลบซ่อนตัวอยู่บนเขา ซึ่งมีทั้งป้ายประกาศ  และการประกาศผ่านผู้นำชุมชนในพื้นที่ไปแล้ว

แต่ก็มีการฝ่าฝืนประกาศดังกล่าว ลักลอบขึ้นไปตัดไม้จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความเข้าใจผิด เจ้าหน้าที่คิดว่าชาวบ้านเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง จึงมีการใช้อาวุธเป็นเหตุให้ชาวบ้านที่ลักลอบขึ้นไปตัดไม้ เสียชีวิต 3 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ที่ปฏิบัติการในเรื่องนี้ก็ต้องยอมรับความจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรม โดยไม่การละเว้นหรือเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด  ส่วนการดูแลช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตนั้น ได้มีการดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบข้อกำหนดต่างๆ ของทางราชการเรียบร้อยแล้ว  ผ่านกระบวนการของสภาสันติสุขตำบล โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจาก 37 คน จากทุกสาขาอาชีพในพื้นที่ ซึ่งมีความเป็นกลางได้รับความเชื่อถือจากทุกฝ่าย และได้รับการแต่งตั้งจาก ศอ.บต. เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จนชาวบ้านและครอบครัวผู้สูญเสียยอมรับและเห็นชอบร่วมกันไปแล้ว

วันนี้ ยังคงมีคนบางกลุ่มบางพวก นักสิทธิมนุษยชนบางคนบางกลุ่ม ได้พยายามออกมาชี้นำเรียกร้อง มีการพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนของคนในพื้นที่  แต่คนกลุ่มนี้ก็พูดอยู่ด้านเดียวอีกเหมือนเดิม..  คือมุ่งจะเรียกร้องหรือเคลื่อนไหวให้เฉพาะกลุ่มโจร และผู้ที่สูญเสียจากการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่เท่านั้น  คนกลุ่มนี้ไม่เคยออกมาเรียกร้องให้กับพี่น้องผู้บริสุทธิ์ที่ต้องสูญเสียจากการกระทำของกลุ่มโจรใต้เลยแม้แต่ครั้งเดียว  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวบ้าน 15 ศพ ที่ ต.ลำพะยา ที่ผ่านมาเป็นสิ่งยืนยันการกระทำได้ชัดเจน เพราะแสดงความเคลื่อนไหวเพียงแค่หนังสือประณามผู้ก่อเหตุและเสียใจกับเหตุการณ์เท่านั้น ไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอะไรเลย

แต่ความพยายามในการนำความสูญเสียที่เกิดขึ้นบนเทือกเขาตะเว ออกมาชี้นำเรียกร้อง ทั้งที่คนในพื้นที่และครอบครัวผู้สูญเสีย ยอมรับความจริงและเข้าใจกันหมดแล้ว จากกลุ่มคนพวกนี้ โดยใช้เรื่องสิทธิมนุษยชน มาเป็นข้ออ้างอีกนั้น  แท้ที่จริงแล้วคืออะไร.. เขาต้องการผลงานและผลประโยชน์ให้กับกลุ่มของตัวเองใช่หรือไม่  และที่สำคัญคือ คนกลุ่มนี้ต้องการให้เกิดความเกลียดชังระหว่างพี่น้องมุสลิมในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ใช่หรือไม่.. ต้องการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในพื้นที่.. ใช่หรือไม่   อยากรู้จริงๆ ว่ากลุ่มคนพวกนี้.. ไม่ต้องการให้พี่น้องประชาชนเขาได้อยู่กันด้วยความสงบสุขกันบ้างเลยหรือไง..

----------------------