มุคตาร์ กีละ เหยื่อแห่งความโสมม
สิ้นเสียงปืนดังกึกก้องที่บ้านลูโบ๊ะกาเยาะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อในที่ 15 ธ.ค.54 ชีวิตของมุคตาร์ กีละ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นที่รักของชาวบ้าน ชอบช่วยเหลือและต่อสู้เพื่อชาวมุสลิมมลายูอย่างแท้จริงก็มีอันต้องจบสิ้นลงอย่างกระทันหัน ไม่มีแม้โอกาสที่จะได้ทำในสิ่งที่เขาหวังตั้งใจมาโดยตลอดว่าจะทำเพื่อสังคม เพื่อบ้านเกิดที่เขารักและเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องมุสลิมได้อีกต่อไป
เป็นที่ทราบดีว่า มุคตาร์ กีละ นักการเมืองหนุ่มใหญ่ ไฟแรง ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวในฐานะรองประธานกลุ่ม PNYS ที่แม้แต่ระหว่างที่เป็นนักศึกษาอยู่นั้น การเดินทางกลับมาบ้านเกิดแต่ครั้ง มุคตาร์มักจะชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่ตามกำลังและความสามารถที่นักศึกษาจะทำได้อยู่เสมอ หลังจบการศึกษาและไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศหลายปี ก็ได้กลับมาประกอบอาชีพส่วนตัวและเป็นทนายความ และเริ่มเคลื่อนไหวในฐานะผู้ประสานองค์กรสันติภาพเพื่อ จชต. มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนทุกระดับที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในด้านกฏหมาย ทำให้มีเครือข่ายกับองค์กรต่างๆ อย่างกว้างขวาง เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิฮิลาลอะห์มัร ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิฮิลาลอับ-ยัฎ ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัครกู้ภัยและองค์กรสาธารณกุศลในพื้นที่ จชต. ให้การช่วยประชาชนอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับ
แม้ว่ามุคตาร์ กีละ จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ จชต. ในลักษณะให้ความช่วยเหลือด้านกฏหมาย แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่นิยมความรุนแรงและต้องการต่อสู้ในแนวทางสันติ ในปี 2548 มุคตาร์ กีละ ได้ร่วมกับบุคคลในเครือข่ายจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใน จชต. โดยใช้ชื่อว่า พรรคสันติภาพไทย และส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในปี 2550 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งเขายังต่อสู้ต่อไปด้วยจิตใจมุ่งมั่นด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งมาจัดตั้งพรรคการเมืองอีกครั้งในนาม พรรคประชาธรรม โดยชูธงเป็นพรรคของคนมลายูเพื่อคนมลายู ประกาศนโยบายมุ่งแก้ปัญหาความไม่สงบใน จชต. ซึ่งผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.54 ที่แม้ว่าจะไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ทำให้สามารถสร้างกระแสการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อชาวมลายูได้ดีในระดับหนึ่ง
และเนื่องจากผลคะแนนที่สนับสนุนพรรคประชาธรรมนั้นส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งในพื้นที่ จชต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่งซึ่งเคยอยู่ในกลุ่มการเมืองเดียวกัน และเคยเป็นเพื่อนสนิทที่ไปมาหาสู่กันตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาที่ต้องมีอันพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งนี่อาจเป็นการสร้างรอยแค้นให้กับผู้สมัครคนนั้นซึ่งนำไปสู่การสังหารเขาหรือไม่ นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย
ด้วยความเป็นปัญญาชนมุสลิม มีนิสัยโอบอ้อมอารี มีความจริงใจที่จะกลับมาช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเกิด มีความโดดเด่นทางความคิด ที่สำคัญคือเข้าถึงได้ง่าย ทำให้มุคตาร์ กีละ เป็นที่รักของชาวบ้านไม่เฉพาะแต่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส แต่เป็นประชาชนทั่วไปในพื้นที่ จชต. เลยทีเดียว การเสียชีวิตของมุคตาร์ครั้งนี้จึงสร้างความเศร้าโศกเสียใจมาสู่ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก ระคนสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องสังหารบุคคลที่ช่วยเหลือสังคมช่วยเหลือชาวบ้านมาโดยตลอด
แต่ไม่ว่ามุคตาร์ กีละ ซึ่งได้รับการยอมรับนับถือจากชาวบ้านว่าเป็นคนดีจะถูกสังหารโดยการบงการของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด การเสียชีวิตของเขาในครั้งนี้ได้สร้างกระแสความเคลื่อนไหวที่สำคัญ กระแสที่อาจเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อของคนมลายูมุสลิมที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรง ที่จะลุกขึ้นมารวมพลังต่อต้าน สืบสานเจตนารมณ์การต่อสู้ตามแนวทางสันติและไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรงของเขาต่อไป การฆ่าฟันกันได้ไม่เว้นแม้แต่คนมุสลิมมลายูด้วยกัน พี่น้องมุสลิมเราส่วนใหญ่ไม่มีใครหรอกที่จะเห็นดีด้วย ใครก็ตามที่บงการฆ่าเขา อัลเลาะห์จะเป็นผู้ตัดสินลงโทษเอง อีกไม่นานหรอก อามีน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น