1/18/2555

ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน ใครได้ (เสีย) ประโยชน์

        
          จากการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  ที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงก่อเหตุร้ายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่เลือกหน้าแบบรายวัน   ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน   รัฐบาลจึงประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งต่อการป้องกันและปรับเปลี่ยนทัศนคติให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง  เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  ซึ่งเป็นการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง  ให้มีอำนาจในการจับกุม/ควบคุม โดยขออำนาจจากศาลได้คราวละไม่เกิน ๗ วัน  ถ้าจำเป็นต้องขยายเวลาการควบคุมเพื่อพิสูจน์ทางพยานหลักฐาน สามารถกระทำได้ครั้งละไม่เกิน ๗ วัน  รวมเวลาในการควบคุมได้ไม่เกิน ๓๐ วัน  ถึงแม้ว่าบทบัญญัติในกฏหมายจะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปทำการซักถามได้ก็ตาม  แต่ต้องได้รับอนุมัติจากศาลก่อนมิใช่ดำเนินการตามอำเภอใจ  ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนได้รับการอบรมให้ใช้กฏหมายเท่าที่จำเป็น  และต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน  รวมถึงต้องคำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกเชิญตัวและมุ่งหวังเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า ๒ ล้านคนเป็นหลัก 
           ในความเป็นจริงแล้ว  การเชิญตัวโดยใช้กฎหมายพิเศษหรือ พรก.ฉุกเฉินเป็นกฏหมายทางเลือก  เพื่อเปิดช่องทางในการพูดคุย ทำความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือถูกพาดพิงว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงเพื่อหาข้อเท็จจริง  หากพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็สามารถปล่อยตัวกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ  ทดแทนการใช้ ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งอาจต้องถูกดำเนินคดี   ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาการใช้ พรก.ฉุกเฉินได้ช่วยให้บุคคลไม่ต้องรับโทษแล้วหลายราย  นอกจากนี้ยังช่วยให้การติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดมารับโทษสามารถกระทำได้อย่างรวดเร็ว  ซึ่งหากมองในมุมของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นหากมีการใช้ พรก.ฉุกเฉิน ต่อไป  จะเป็นเหมือนมีกำแพงที่คอยขวางกั้นและจำกัดเสรีในการปฏิบัติของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นประชาชนบริสุทธิ์ทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องย่อมไม่มีผลกระทบกับการดำรงชีวิตอย่างแน่นอน
            จากข้อเท็จจริงข้างต้นจึงกลายเป็นคำถามว่า  การที่องค์กรภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ได้รณรงค์ปลุกกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้    ตามที่ปรากฏบนภาพข่าวทั้งบนเว็บไซต์, สิ่งพิมพ์ และการจัดประชุมเสวนาโดย องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่จังหัวดชายแดนภาคใต้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง รวมทั้งมีความพยายามในการนำเข้าไปสู่การเขียนรายงานประเทศไทยนำเสนอต่อองค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ  ซึ่งเนื้อหาเป็นการนำเสนอข้อมูลบางด้านโดยการบิดเบือนข้อเท็จจริง  เพื่อสร้างผลกระทบต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทย โดยการนำเสนอในเรื่องผิดพลาดในอดีต เช่น กรณีตากใบ กรือเซะ   ซึ่งหากมองว่าองค์กรเหล่านี้ทำเพื่อประชาชนแล้ว  การออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินทั้งๆ ที่รู้ดีว่าหากมีการยกเลิกจะเกิดผลเสียกับประชาชนส่วนใหญ่  ซึ่งไม่รู้ว่ามีวัตถุประสงค์อื่นใดแอบแผงหรือไม่  ในฐานะพี่น้องที่รักสันติควรจะต้องติดตามกันต่อไป
  
             ล่าสุดองค์กรที่กล่าวอ้างว่าเป็นองค์กรที่ทำเพื่อประชาชนข้างต้นได้นำกรณี นายนิเซ๊ะ  นิฮะ ซึ่งถูกควบคุมตัวตาม พรก.ฉุกเฉิน กรณีมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน  ซึ่งปัจจุบันได้ถูกปล่อยตัวแล้วออกมาเรียกร้องต่อสาธารณะชน  โดยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใน 30 วัน พร้อมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ นิฮะ และให้หน่วยงานมีหนังสือยอมรับผิดต่อความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมทั้งให้รัฐชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ถูกควบคุมตัว   เหตุผลหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ  เพราะนายนิเซ๊ะ นิฮะ มีน้องชายชื่อ นายนิเซ็ง  นิฮะ  ซึ่งเป็นผู้ช่วยทนายอาสาของศูนย์ทนายความมุสลิม   มีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา  ทำให้ต้องเร่งออกมาสร้างกระแสกดดันโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องตามกระบวนทางกฏหมาย  ทั้งๆ ที่กล่าวอ้างตนว่าเป็นนักกฏหมาย  โดยแอบอ้างว่าเป็นความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่  ทั้งๆ ที่เป็นความเห็นของคนเพียงไม่กี่คนมาตีแผ่สร้างกระแสสังคม เพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตนเองนั่นเอง 
             การกล่าวอ้างถึงความล่าช้าในขั้นตอนการสอบสวนและกระบวนการศาลทำให้การให้ความช่วยเหลือของศูนย์ทนายความมุสลิมไม่สามารถทำได้เต็มที่  ดูจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ถูกนำมาบิดเบือน   หากพิจารณาในข้อเท็จจริงแล้วก็น่าเห็นใจมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมที่เป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ  และยังเป็นเด็กๆ ที่ด้อยประสบการณ์การทำงานในกระบวนการยุติธรรม  ที่พยายามยกระดับกลุ่มของตนขึ้นสู่เวทีระดับชาติ  สร้างเครดิตเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากส่วนงานต่าง ๆ  ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานตามอุดมการณ์จอมปลอมได้อย่างเต็มที่   ทั้งๆ ที่ศาลก็เปิดโอกาสให้การดำเนินการตามขั้นตอนเป็นไปอย่างรวดเร็วโดยการเปิดศาลทั้ง 7 วันตลอดสัปดาห์  ซึ่งจากข้อเท็จจริงนี้จึงเห็นได้ว่าไม่ได้เกิดจากความล่าช้าหรือละเลยของกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างไร  หากแต่เป็นเพราะความไม่จริงใจในการช่วยเหลือประชาชนที่หลงผิดเข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการให้มีโอกาสหาทางออกทางกฏหมายตามที่รัฐเปิดโอกาสให้ใช้กระบวนการทางกฏหมายเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ที่ถูกกล่าวหาต่างหาก       
             อีกนัยหนึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อปี 2551   องค์กรเพื่อการพัฒนาประเทศของสหรัฐ หรือ USAID  ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 40 ล้านบาท   ตามโครงการ SPAN ซึ่งมีระยะเวลา 4 ปี เริ่มเมื่อ ก.พ.51 และจะสิ้นสุดโครงการใน ก.พ.55  โดยงบประมาณส่วนหนึ่งใช้ในทางเปิดโดยการจัดกิจกรรมในรูปแบบการชุมชน  เพื่อแสดงออกในภาพของการลงประชามติของสังคมต่อกรณีต่างๆ  ซึ่งก็ได้เปิดเวทีเสวนาและสื่อสารกับประชาชนหลายครั้ง  แต่มักเน้นกลุ่มเป้าหมายในสังคมชั้นนำและชั้นกลางทั้งในและต่างประเทศ   มากกว่าที่จะสื่อสารหรือเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนชั้นรากหญ้าได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของกระบวนการสันติภาพหรือเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองในอนาคต เช่น การเปิดเวทีเสวนาในโรงแรม สถาบันการศึกษา เชิญชวนประชาชนมารับฟังการพูดคุยโดยนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจแต่ผู้จัดสามารถบันทึกภาพและนำไปสร้างภาพการมีส่วนร่วมโดยรายงานกล่าวอ้างว่าเป็นความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่  เพื่อสร้างผลงานที่จะนำไปสู่การขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อไป   แต่ในความเป็นจริงแล้ว  ด้วยพื้นฐานของกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเป็นศูนย์ทนายความมุสลิมนั้น  ไม่รู้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุรุนแรงที่กำลังก่อเหตุร้ายรายวันหรือไม่  เพราะเห็นว่าให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ก่อเหตุร้ายมากกว่าจะช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง  และแน่นอนว่า  หากการเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ  นอกจากศูนย์ทนายความมุสลิมจะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อแบ่งสันกันระหว่างพวกพ้องแล้ว  ยังจะทำให้เหตุการณ์ใน จชต. ยังคงความรุนแรงอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน
            จากข้อเท็จจริงข้างต้นคงพอที่จะตอบคำถามได้ว่า  การเรียกร้องให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน หรือกฏหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบุคคลที่แสร้งทำตัวอยู่ในคราบนักบุญ บิดเบือนสร้างภาพความเดือดร้อนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง  โดยไม่คิดถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ส่วนใหญ่ผู้ซึ่งมีสิทธิอันชอบธรรมในความเป็นมนุษย์ ที่จะดำรงชีวิตอยู่ในบ้านเกิดอย่างสงบสุขได้เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ  ซึ่งในการเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ในครั้งนี้ผู้เสียประโยชน์ก็คือประชาชนในจังหวักชายแดนภาคใต้นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น