’ก่อการร้ายเต็มรูปแบบ“ ตอนนี้น่าจะยังไม่ใช่ แต่ต่อไปก็ไม่แน่...ถ้ากลุ่มผู้ก่อการมีโอกาส!!!!
ทั้งนี้ ถามว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กลุ่มผู้ก่อความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็น “ผู้ก่อการร้าย” หรือไม่? บางฝ่ายอาจตอบว่าใช่ บางฝ่ายอาจตอบว่าแค่คล้าย ๆ หรือบางฝ่ายอาจตอบว่าไม่ใช่ นั่นก็ว่ากันไป แต่จะอย่างไรก็ตาม ที่แน่ ๆ คือ การ ’เข้าใจสถานการณ์ไฟใต้“ ของทุกฝ่าย ของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ น่าจะเป็นประโยชน์ในการ ’สกัดการเกิดสถานการณ์ก่อการร้ายเต็มรูปแบบ“
และหากจะโฟกัสกันที่การปฏิบัติการของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งมักเป็นไปในรูปแบบ “กองโจร” ก็มีบทความเรื่อง “การปราบปรามการก่อความไม่สงบ–รู้จักกับกองโจรในการก่อความไม่สงบ”ในเว็บไซต์ ทอทหาร ที่ฉายภาพให้เห็น-ให้เข้าใจได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาในบทความนี้โดยสังเขปคือ...การปฏิบัติการของกองโจรจะเป็นการดำเนินการที่ใช้เวลา ใช้ยุทธวิธีที่มีลักษณะการจู่โจมอย่างรุนแรงในระยะสั้น ๆ แล้วถอนตัวอย่างรวดเร็ว โดยส่วนใหญ่แล้วกองโจรจะใช้การเข้าตีโฉบฉวยและการซุ่มโจมตีเป็นหลัก
“กองโจร” นั้น มักจะมีลักษณะของการปฏิบัติการทางยุทธวิธีดังนี้คือ...โจมตีต่อที่หมายล่อแหลมด้วยกำลังที่เหนือกว่า, หลีกเลี่ยงการเข้าปะทะโดยตรงอย่างแตกหักกับกำลังปราบปรามที่เหนือกว่า, รวมกำลังอย่างรวดเร็วเพื่อเข้าปฏิบัติการ แล้วกระจายกำลังออกเพื่อหลีกเลี่ยงการโต้ตอบ, ปะปนอยู่กับประชาชน รวมถึงมีการดำรงความริเริ่มอยู่เสมอ และดำเนินกลยุทธ์เพื่อจู่โจมกำลังปราบปรามโดยอาศัยข่าวกรองที่ถูกต้อง-มีการวางแผนอย่างละเอียด...ซึ่งกับสถานการณ์ ’ไฟใต้“ ก็อยู่ในขอบข่ายลักษณะเหล่านี้
เป็นลักษณะการปฏิบัติการที่เจ้าหน้าที่ระวังยาก
และกับการตอบโต้การปราบปรามก็จะยากตาม
บทความในเว็บไซต์ ทอทหาร ซึ่งเขียนโดยนักวิชาการสายความมั่นคง ยังขยายความลักษณะของการปฏิบัติการทางยุทธวิธีของกองโจร ไว้อีกว่า...อาจจะมีได้ทั้งในแบบ รบด้วยวิธีรับ ซึ่งโดยปกติแล้วกองโจรจะไม่ทำ เพราะกองกำลังมีขนาดเล็กและไม่มีอาวุธหนักสนับสนุน แต่ถ้าจะต้องทำก็จะเลือกพื้นที่ที่ได้เปรียบกำลังฝ่ายปราบปราม ถ้าถูกปิดล้อมก็จะตีฝ่าวงล้อม สลายตัวออกเป็นรายบุคคล หรือหลบซ่อนปะปนกับประชาชน
อาจเป็นแบบ ปฏิบัติการรบกวน โดย ซุ่มโจมตี ตีโฉบฉวย เข้าตีด้วยกำลังขนาดเล็ก ปฏิบัติการต่อเส้นทางคมนาคม ฯลฯ ซึ่งเป็นแบบที่ฝ่ายรัฐฝ่ายปราบปรามต้องตั้งรับ หมดโอกาสที่จะเป็นฝ่ายรุก และเปิดโอกาสให้กองโจรสามารถขยายตัว อาจขยายไปเป็นการปฏิบัติการรบด้วยยุทธวิธีของสงครามตามแบบได้
หรืออาจจะเป็นแบบ เข้าตีด้วยกำลัง เมื่อกองโจรมีการจัดตั้งเป็นหน่วย รวบรวมกำลังได้จำนวนมาก โดยกำลังจะได้รับการฝึกการใช้อาวุธมาเป็นอย่างดี การปฏิบัติการแบบนี้จะเข้าตีต่อหน่วยเจ้าหน้าที่ที่อยู่โดดเดี่ยว หรือหากไม่โดดเดี่ยวก็จะใช้ปฏิบัติการอื่น ๆ เสริม เช่น ปฏิบัติการต่อเส้นทางคมนาคม เพื่อแบ่งแยกหน่วยที่ต้องการเข้าตีออกจากหน่วยอื่น ๆ ตัวอย่างการปฏิบัติลักษณะแบบนี้คือ การปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาที่ 4
นอกจากนี้ ก็อาจจะเป็นแบบ ใช้วิธีการก่อการร้าย ซึ่งหากใช้กับสถานการณ์ที่เหมาะสมจะช่วยให้กองโจรบรรลุเป้าหมายได้ โดยเทคนิคที่นำมาใช้ก็ได้แก่ วางระเบิด ลอบสังหาร ฆาตกรรม ทรมาน ลักพาตัว ขู่ขวัญ ข่มขู่ว่าจะเปิดเผยความลับหรือแบล็กเมล์ เพื่อให้บุคคลกระทำการที่เป็นประโยชน์ต่อกองโจร ซึ่งเทคนิคเหล่านี้กองโจรจะใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งทางอ้อม ในการบีบบังคับ กระตุ้น ยั่วยุ และในการคุกคาม
’การคุกคามจะใช้เพื่อก่อให้เกิดความหวาดกลัวกับบุคคล ครอบครัว เพื่อน ทำให้ประชาชนไม่กล้าให้ความร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาล...“ ’การกระตุ้น ยั่วยุ เป็นการดำเนินการที่ต้องการให้ฝ่ายรัฐบาลเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรง เพื่อให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจและเอาใจออกห่างจากรัฐบาล โดยมีเป้าหมายคือกำลังทหารของรัฐบาล ผู้นำ หรือตำรวจ“…ในบทความระบุ ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์
และอีกประเด็นหนึ่งจากบทความชิ้นนี้ ที่ยึดโยงกับสถานการณ์ “ไฟใต้” ซึ่งก็น่าคิด คือ...’หลาย ๆ ท่านอาจจะไม่รู้จักกองโจรดีพอ ทำให้เกิดแนวความคิดต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปในรูปของความรุนแรง และนำไปสู่การสร้างกระแส และอาจนำไปสู่ความแตกแยกในประเทศชาติในที่สุด“
“ต้องเข้าใจไฟใต้” จุดนี้ก็ “สำคัญต่อการดับไฟใต้”
ก็มีผลถึงการที่ “ประชาชนจะสนับสนุนเจ้าหน้าที่”
มีผลต่อการ “สกัดการก่อการร้ายเต็มรูปแบบ!!!!!”.
ที่มา สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th/article/223/138109