11/28/2555

หุ่นยนต์สังหาร (คนเหล็ก 2029) คืนชีพ กับ แนวร่วมขบวนการก่อเหตุรุนแรงในภาคใต้


             
         เห็นข้อความบางตอนของการบรรยายปลุกระดมโดยกลุ่มก่อเหตุรุนแรงที่ถอดบันทึกจากคลิปมือถือ อดไม่ได้ที่จะนึกถึงการหลอมตัวฟื้นคืนชีพของหุ่นยนต์สังหารที่มีหน้าที่ไล่ล่า จอน คอนเนอร์ เด็กชายอายุ ขวบใน ภาพยนตร์เรื่องคนเหล็ก 2029 หลังจากถูกหุ่นยนต์ผู้พิทักษ์ทำลายครั้งแล้วครั้งเล่า

          เช่นเดียวกับการปลุกระดมของ ขบวนการโดยอาศัยการบิดเบือนเรื่องต่างๆ ที่มีผู้นำข้อเท็จจริงมาหักล้างจนหมดสิ้นแล้ว แต่ก็ยังอุตสาห์ที่จะนำมา ใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยล่าสุดผู้บรรยายใช้การสื่อสารออนไลน์สมัยใหม่เป็นคลิปใส่ในโทรศัพมือถือส่งต่อ ๆ กัน ดังที่พบจากผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ เนื้อหาการบรรยายยังคงใช้ประเด็นเก่า ๆ เช่นด้านประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนา และรัฐปัตตานีในอดีต และนำความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่สร้างภาพเป็นเจตนาร้ายต่อคนมลายูและศาสนาอิสลามเพื่อนำไปสู่เงื่อนไขการญีฮาดอันเป็นความจำเป็นและบังคับสำหรับมุสลิมทุกคน (ฟัรดูอีน) ซึ่งครั้งนี้ผู้บรรยายได้เน้นความเป็นฟัรดูอีนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การนำการญีฮาดมาเชื่อมโยงกับฟัรดูอีน เป็นการนำหลักตรรกมาอธิบายว่า เมื่อคนมลายูถูกรังแก ศาสนาอิสลามถูกทำลาย แผ่นดินถูกยึดครอง การญีฮาดก็เป็นฟัรดูอีนของคนมุสลิมทั้งหลาย แต่ในเมื่อเงื่อนไข ทั้งสามประการดังกล่าวไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ฟัรดูอีนในการญีฮาดก็ไม่เกิดขึ้น จึงเป็นตรรกที่นำมาซึ่งบทสรุปว่า การญีฮาดที่ผู้บรรยายพยายามเชิญชวนนั้นไร้ความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง

หากเปรียบเทียบการต่อสู้ระหว่างหุ่นยนต์ทั้งสองตัวที่ใช้อาวุธประหัตประหารโดยมุ่งไปที่ชีวิตเด็กชายจอนฯ เพียงคนเดียว ซึ่งเปรียบได้กับการต่อสู้เพื่อแย่งมวลชนในสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงที่อาศัยข้อเท็จจริง ด้านประวัติศาสตร์และศาสนาเป็นอาวุธเพื่อทำลายสติปัญญาเยาวชนจำนวนมาก

การปลุกระดมด้วยการบรรยายในคลิปดังกล่าวนี้ ผู้บรรยายอาศัยจิตวิทยาขั้นสูงด้วยการหว่านล้อมให้คล้อยตาม ร้องขอเชิงบังคับแถมข่มขู่ให้หวาดกลัว เรียกได้ว่าทั้งวิชามารและวาทศิลป์อย่างครบเครื่อง แต่ก็มีข้อที่น่าสังเกตสองประการจากเนื้อหาการบรรยายครั้งนี้

ประการที่หนึ่ง ผู้บรรยายได้ยอมรับเรื่องประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปไกลถึงยุคลังกาสุกะว่าดินแดนแห่งนี้ในอดีตไม่ใช่ดินแดนอิสลามอย่างที่เคยกล่าวอ้าง แต่ผู้บรรยายยังคงหาเหตุผลโยงใยถึงความเจริญรุ่งเรืองที่เกิดขึ้นหลังอิสลามถูกเผยแผ่ในสมัยพระยาอินทิรา ซึ่งเข้ารับอิสลามและเปลี่ยนชื่อเป็นสุลต่านอิสมาแอล ชาห์ จนกระทั่ง ถูกสยามยึดครองในเวลาต่อมา

ประการที่สอง ผู้บรรยายยอมรับว่าการฆ่านั้นคนผิดหลักศาสนาดังบทบัญญัติที่ว่าถ้าใครฆ่าคนหนึ่งคนเปรียบเสมือนได้ฆ่าคนทั้งโลกซึ่งการยอมรับในสองประเด็นดังกล่าวนี้เป็นผลสืบเนื่อง จากการนำข้อเท็จจริง ทั้งทางด้านศาสนาและประวัติศาสตร์มาหักล้างจนประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจยิ่ง และที่สำคัญที่สุดการยอมรับในสองประเด็นดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าในห้วงที่ผ่านมานั้น ทั้งการบรรยายในเรื่องศาสนาและเรื่องประวัติศาสตร์ รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ผู้บรรยายมีเจตนาที่จะบิดเบือนและหลอกลวงให้คนหลงผิดอย่างปฏิเสธไม่ได้

แม้จะจำนนด้วยข้อเท็จจริงตามที่กล่าวแล้วก็ตาม แต่ผู้บรรยายยังไม่ยอมยุติอย่างง่าย ๆ เช่นเดียวกับหุ่นยนต์สังหารที่มุ่งมั่นไล่ล่าเด็กน้อยอย่างไม่หยุดหย่อน โดยการสรรหาสำนวนโวหารมาเสริมเพื่อให้ได้ความหมายว่า แม้ว่าการฆ่าคนหนึ่งคนเปรียบเสมือนฆ่าคนทั้งโลกก็ตาม แต่เราต้องดูด้วยว่าห้ามไม่ให้ฆ่าใคร และเรากำลังฆ่าใคร เรากระทำเพื่อสิ่งใด” เหมือนจะบอกว่า ในโลกนี้ยังมีคนที่เขาสามารถเลือกฆ่าได้อย่างชอบธรรมและไม่ผิดศาสนา เท่านั้นยังไม่พอ ยังฝืนหลักศาสนาเรื่องการปฏิบัติต่อศพ ซึ่งตามหลักศาสนาไม่ว่าจะเป็นศพของผู้ใดก็ตามต้องปฏิบัติอย่างให้เกียรติเสมอกัน แต่พวกเขาได้กระทำการอย่างโหดเหี้ยม เชือด เผา ผิดหลักศาสนาอย่างร้ายแรง และหากจะเปรียบเทียบบัญญัตในการสงครามญีฮาด ซึ่งศาสดาได้เคยประกาศใช้ในอดีต กลับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะในสมัยศาสดานั้นเมื่อมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำสงคราม ศาสดาได้ประกาศเป็นกฎเกณฑ์อย่างชัดเจนว่า ห้ามทำร้ายคนชรา เด็ก และสตรี รวมทั้งห้ามทำลายต้นไม้ แม่น้ำลำธาร รวมทั้งสิ่งสาธารณ ประโยชน์ทั้งหลาย

มีผู้กล่าวไว้ว่าแท้จริงคำว่าญีฮาดเป็นคำที่สูงส่งในอิสลาม  น่าเสียดายวันนี้ คำ ๆ นี้ได้ถูกคนบางคนได้สร้างภาพแห่งความน่ากลัว สยดสยอง มาละเลงสี ให้กับความบริสุทธ์ของญีฮาดสูญเสียความงดงามไปอย่างไม่น่าให้อภัย พฤติกรรมของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ปฏิบัติในทางตรงข้ามกับบัญญัติทั้งหลาย รวมทั้งการบรรยายที่บิดเบือนบทบัญญัติต่าง ๆ อย่างเช่น การนำประโยคคำว่า ถ้าใครฆ่าคนหนึ่งคนเปรียบเสมือนได้ฆ่าคนทั้งโลกแล้วนำมาต่อด้วยประโยคที่ว่า แต่เราต้องดูด้วยว่าห้ามไม่ให้ฆ่าใคร และเรากำลังฆ่าใคร เรากระทำเพื่อสิ่งใด เท่ากับเป็นการปฏิเสธบทบัญญัติดังกล่าวอย่างชัดเจน การปฏิเสธบทบัญญัติใดบทบัญญัติหนึ่งในกุรอ่าน ก็มีค่าเท่ากับการปฏิเสธกุรอ่านทั้งเล่ม และการปฏิเสธกุรอ่าน เท่ากับการปฏิเสธหลักการอิสลามอย่างไม่มีเงื่อนไข ในทางศาสนาเรียกบุคคลดังกล่าวว่า ตกศาสนา” ซึ่งมุสลิมทั้งหลายต่างวิงวอนขอพรจากพระเจ้าให้ห่างไกลจากสิ่งนี้ 

ก่อนถึงวาระสุดท้ายหากหุ่นสังหารไม่ยอมวางอาวุธ เฉกเช่นเดียวกันผู้บรรยายคนเดิมไม่ยอมยุติการกระทำดังกล่าวและเดินออกมาเพื่อขออภัยโทษต่อพระเจ้า ในวันอาคีเราะห์หลังการพิพากษา จุดจบคงไม่ต่างไปจากหุ่นยนต์สังหารในภาพยนตร์คนเหล็ก 2029 ที่ร้องโหยหวนก่อนร่างจะแหลกสลายในกองไฟอันแดงเดือดจากเตาหลอมรุ่นพิเศษ ซึ่งเตรียมไว้สำหรับเขาโดยเฉพาะ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น