5/14/2556

เงาแห่งสันติภาพที่เลือนลางกับข้อต่อรองที่มืดมน อาชญากรก็คืออาชญากร


 แล้วความเคลือบแคลงใจของหลายฝ่ายเกี่ยวกับบทบาทท่าทีและความจริงใจของผู้แทนขบวนการบีอาร์เอ็นก็ปรากฏชัดและแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงซึ่งแอบแฝงอยู่ภายใต้วาทะกรรม “สันติสนทนา” ด้วยเกมส์รุกที่เหนือชั้นของฮาซัน ตอยิบ และอับดุลการิม คอลิบ ผู้แทนบีอาร์เอ็นซึ่งได้แถลงข้อเสนอ 5 ข้อเผยแพร่ผ่านยูทูบก่อนวันที่จะมีการพูดคุยรอบที่ 3 เพียง 1 วัน  แน่นอนว่าด้วยข้อเสนอทั้ง 5 นั้น ได้สร้างกระแสความไม่เห็นด้วยและได้รับการปฏิเสธจากหลายฝ่าย  ขณะที่ระดับนโยบายรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเจรจาไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธอย่างชัดเจน

          ตามมาด้วยกระแสวิพากษ์แสดงทัศนะของนักวิชาการอีกหลายท่าน โดยเฉพาะท่านที่มีบทบาทชี้นำความเป็นไปในพื้นที่ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยเป็นนักวิชาการที่มีเชื้อสายมลายูและส่วนที่อยู่ในสถาบันส่วนกลาง  จากน้ำเสียงของท่านเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ได้แสดงทัศนะในเชิงสร้างสรรค์ พร้อมชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างมีนัยสำคัญที่น่าสนใจ  ภายใต้ความมุ่งหวังเดียวกันคือ ร่วมกันแสวงหาทางออกด้วยแนวทางสันติเพื่อให้ปัญหาที่ยื้ดเยื้อมานานจบลงโดยเร็ว

          ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ เริ่มตั้งแต่ให้ยอมรับประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา (ซึ่งจริงๆ เวลานี้ต้องเรียกว่าพูดคุย)  การให้มีพยานจากอาเซียน องค์การความร่วมมืออิสลามหรือเอ็นจีโอเข้ามาร่วมพูดคุย รวมถึงการที่ฝ่ายไทยต้องยอมรับว่าบีอาร์เอ็นไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกแต่เป็นขบวนการปลดปล่อยชาวปาตานีนั้น  หากพิจารณาถึงสาระแล้วไม่ใช่เรื่องใหญ่หากทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก  เพราะในทุกเวทีที่มีการเจรจาเพื่อสันติภาพในประเด็นความขัดแย้งใดๆ ก็จำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้เพื่อให้เกิดความพึงพอใจร่วมกันของคู่เจรจา แม้ว่าเจตนาของบีอาร์เอ็นต้องการที่จะยกระดับการพูดคุยเป็นการเจรจาที่สูงขึ้นก็ตาม

          แต่วันนี้กระบวนการสันติภาพยังอยู่ในขั้นตอนของการพูดคุยเพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายไทยและกลุ่มขบวนการยังไม่ถึงขั้นการเจรจา  ข้อเสนอข้างต้นจึงยังเป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ  เพราะหากกระบวนการมีการพัฒนาไปถึงขั้นการเจรจาแล้วข้อเสนอซึ่งวันนี้ยังพิจารณาร่วมกันได้จะกลายเป็น “ข้อต่อรอง ซึ่งหากถึงเวลานั้นจริงๆ  คู่เจรจาและองค์ประกอบข้างต้นจะเป็นองคาพยศสำคัญในการร่วมกันทำให้บรรลุวัตถุประสงค์สามารถนำไปสู่สันติภาพที่ต้องการ  หรือหนทางแห่งสันติภาพอาจพังทลายลงอย่างไม่เป็นท่าหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลง  ทั้งสองหนทางนี้มีความเป็นไปได้เท่าๆ กันซึ่งนับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่งโดยมีชะตากรรมของประชาชนในพื้นที่เป็นเดิมพัน

          โดยรวมแล้วก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณาร่วมกันพร้อมฟังเสียงของประชาชนเจ้าของประเทศด้วย ซึ่งนั้นเป็นวิถีแห่งประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
        ยกเว้นข้อเสนอข้อที่ 4  ที่ดูเหมือนนักวิชาการเหล่านั้นไม่ได้วิพากษ์และให้เหตุผลอย่างชัดเจนคือ       ต้องปล่อยตัวผู้แกนนำแนวร่วมในคดีความมั่นคงโดยไม่มีเงื่อนไข ที่ฟังอย่างไรก็รู้สึกคับข้องใจระคนสงสัยว่านี่คือข้อเสนอที่จะนำไปสู่สันติภาพได้กระนั้นหรือ  เพราะตั้งแต่เหตุการณ์รุนแรงที่ปะทุขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ต้นปี 47 เป็นต้นมา การเสียชีวิตของพลเรือน เจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบกฏหมาย ประชาชนทุกสาขาอาชีพทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิม  ไม่เว้นแม้แต่คนแก่ เด็กผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสาต้องสูญเสียชีวิตไปด้วยการก่อเหตุร้ายหลายรูปแบบ เป็นการก่ออาชญากรรมต่อพี่น้องประชาชนอย่างร้ายแรง  แล้วด้วยข้อเสนอข้อนี้หากรัฐบาลไทยยอมรับ แล้วปล่อยให้อาชญากรเหล่านั้นออกมาเดินลอย ชายเสมือนไม่ได้ก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนไว้  รัฐบาลไทยจะตอบคำถามนี้กับประชาชนโดยเฉพาะกับญาติพี่น้องของผู้สูญเสียเหล่านั้นได้อย่างไร

          ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นในข้อนี้จึงไม่ใช่หนทางไปสู่สันติภาพ  แต่เป็นความแข็งกร้าวที่ต้องการกดดันรัฐบาลไทยให้ยอมรับด้วยคิดว่ากลุ่มตนมีแต้มต่อที่สำคัญ กล่าวคือ หากไม่ยอมรับก็ก่อเหตุร้ายต่อไป  และแน่นอนว่าบีอาร์เอ็นนอกจากไม่เคยประกาศความรับผิดชอบต่อการกระทำแม้แต่ครั้งเดียวแล้ว ยังโยนความผิดให้ฝ่ายรัฐทุกครั้งหากเห็นว่าจะเสียมวลชน

          และหากการเสนอตนออกมาเป็นผู้แทนการพูดคุยของบีอาร์เอ็นมีความจริงใจตามที่กล่าวอ้างแล้ว การเปิดเผยตัวตนและขบวนการครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นการยอมรับว่าเหตุร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นบีอาร์เอ็นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและต้องรับผิดชอบต่อการก่อเหตุจนนำไปสู่การสูญเสียทั้งหมด ซึ่งผู้ที่ก่อเหตุซึ่งกำลังถูกคุมขังและขบวนการเสนอให้ปล่อยตัวนั้นย่อมต้องเกี่ยวข้องกับบีอาร์เอ็นด้วยเช่นกัน

          ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยการตัดสินใจเรื่องใดๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องต้องนำบทบัญญัติมายึดถือและนำมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการบังคับใช้กฏหมาย เพราะท้ายที่สุดแล้วประชาชนในพื้นที่จะตัดสินใจได้เองว่า ใครที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ใครที่ต้องการให้สันติสุขเกิดขึ้นในพื้นที่  ใครเป็นอุปสรรคขัดขวาง  และใครคืออาชญากร  เพราะอาชญากรก็คืออาชญากร

ซอเก๊าะ  นิรนาม

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ14 ตุลาคม 2556 เวลา 13:31

    รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและบทบาทมาตรการทางด้านกฎหมายให้เคร่งครัดกว่านี้ ในเมื่อเราเคยประกาศออกมาว่าเหตุการณ์ จชต.เป็นเรื่องภายในของเรา เราต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเราเองโดยไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่นในส่วนตัวผมคิดว่ามาเลเซียเขามีความจริงใจแค่ใหนในการแก้ไขปัญหาของเรา ในเมื่อกลุ่มเคลื่อนไหวทั้งหลายกลับไปกบดานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้งนั้น แล้วใครละครับเป็นมิตรที่แท้จริง

    ตอบลบ